international-bitcoiners-pitch-in-on-notre-dame-restoration-effort
Picture of ljungdurst

ljungdurst

A senior copywriter and football columnist turned junior bitcoiner—thanks to inspirations from "Ajarn Piriya" his Architectural and Planning Faculty's senior turned bitcoin grandmaster who's been advocating the given subject for almost a decade. Now his life's calling is clear: orange-pilling the world.

สถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างยุคบิตคอยน์ควรเป็นแบบไหน?

สิ่งปลูกสร้างที่ยืนยงนั้นบ่งบอกความยั่งยืนในผลงานชั้นเลิศของมนุษย์ และงานสถาปัตยกรรมสไตล์บิตคอยน์ควรสะท้อนปรัชญาชั้นเลิศของตัวมัน

แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับเรื่อง Establishing The Architectural Styles of  Bitcoin ของคุณ Frances Hogan Steffian นักเขียน นักลงทุนบิตคอยน์ และภรรยาของสถาปนิกระดับมือรางวัล

งานสถาปัตยกรรมสไตล์บิตคอยน์ควรจะเป็นแบบไหน?

ในประวัติศาสตร์ของเรา เหล่าอาคารที่ตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลาต่างบ่งบอกถึงคุณค่าที่ฝังลึกอยู่ในความคิดและความเชื่อของมนุษย์ได้อย่างดี ซึ่งหากบิตคอยน์ตระหนักถึงศักยภาพของตัวมันในการพลิกโฉมระบบการเงินของโลก รวมถึงการที่มีชุมชนบิตคอยน์ผุดขึ้นแทบทุกหัวระแหงในโลก ณ เวลานี้ เราจะนำเอาแนวคิดและปรัชญาของบิตคอยน์ไปแสดงออกผ่านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง* (Built Environment) เกิดใหม่เหล่านี้ได้อย่างไร?

*หมายเหตุผู้แปล : “สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง” หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสร้างขึ้นโดยมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งแวดแวดล้อมแบบนามธรรม (เช่น ประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย เศรษฐกิจ ศาสนา ฯลฯ) และสิ่งแวดล้อมแบบรูปธรรม (เช่น อาคาร บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง สวนสาธารณะ ฯลฯ)

ความทรงพลังของงานสถาปัตยกรรม

อย่าประเมินพลังของงานสถาปัตยกรรมต่ำเกินไปนัก สิ่งนี้ยืนยงผ่านกาลเวลา มันบอกเล่ามุมมองของผู้สร้างที่มีต่อโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของสถาปนิกผู้ออกแบบเองหรือแนวคิดในแต่ละยุคสมัย ที่ปรากฏผ่านสิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ใช้เวลายาวนานในการสร้างสรรค์ขึ้น เพราะทุกครั้งที่ย่ำเท้าเข้าสู่สเปซทางสถาปัตยกรรม มันประทับฝังประสบการณ์ทางอารมณ์บางอย่างที่สะท้อนแนวคิดซึ่งผู้สร้างและสถาปนิกเบื้องหลังตั้งใจมอบเอาไว้ให้

Baba Vida medieval fortress build on the banks of the Danube in Vidin, Bulgaria

ตัวอย่าง เช่น ป้อมปราการในยุคกลางนั้นบอกเราว่าผู้คนที่นี่จะมีที่ซุกหัวนอนและได้รับการปกป้อง ซึ่งปกติแล้วป้อมปราการพวกนี้ไม่ได้เกิดจากแนวคิดของผู้สร้างหรือสถาปนิกแค่รายเดียว แต่ตัวมันเองค่อย ๆ วิวัฒน์ไปตามยุคสมัย ดังนั้นสาส์นที่มันต้องการสื่อจึงไม่สามารถถูกควบคุมได้ และมักเป็นสาส์นที่สัตย์ซื่อจริงใจ ป้อมปราการยุคโบราณยังแสดงให้เราเห็นถึงแนวคิดที่ทั้งยอดเยี่ยมและยอดแย่ในการออกแบบระบบรักษาความปลอดภัย การสร้างครอบครัว การบังคับใช้กฎเกณฑ์ การควบคุมประชาชน ความคลั่งไคล้ในลัทธิวัตถุนิยม และชัยชนะของมนุษย์เหนือสภาพแวดล้อมรอบตัว

แล้วสิ่งปลูกสร้างชั้นเลิศของมนุษย์แสดงออกถึงอะไรบ้าง?

มนุษย์นั้นหลายครั้งก็ปรารถนาที่จะเปลี่ยนผ่านจากกายหยาบที่มีข้อจำกัดทางร่างกายหลายประการ ไปสู่การใช้ชีวิตในอีกระดับของความงาม ความเสรี และความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า ดูได้จากตัวอย่างของงานออกแบบภายในของมหาวิหารแพนธีออนแห่งกรุงโรม ที่มีช่องวงกลม (Ocolus) ณ จุดกึ่งกลางโดมเปิดสู่ท้องฟ้าภายนอก

ช่องวงกลมภายในแพนธีออน

ดีไซน์นี้ตอกย้ำถึงความเวิ้งว้างกว้างใหญ่ของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง ที่ดูห่างไกลความเข้าใจของมนุษย์เสียเหลือเกิน หรือคุณอาจนึกถึงทัชมาฮาลแสนวิจิตรในประเทศอินเดีย ที่มอบประสบการณ์ราวกับได้ย่างกรายเข้าสู่โลกอีกมิติที่เหมือนกับคุณกำลังเดินอยู่ท่ามกลางสรวงสวรรค์ ทั้ง ๆ ที่มันตั้งอยู่บนโลกเดียวกันกับเรา

นี่ช่างคล้ายคลึงกับโลกที่ดีกว่าที่บิตคอยเนอร์มากมายเฝ้าใฝ่ฝันถึง

แล้วจะถ่ายทอดปรัชญาของบิตคอยน์สู่สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment) ได้อย่างไร?

พัคยุนมี (Yeonmi Park) สุภาพสตรีชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีออกนอกประเทศได้สำเร็จ เคยสร้างความตื่นตะลึงในงานประชุม Bitcoin Conference 2022 ด้วยการพูดถึงประเด็นว่าทำไมความเป็นส่วนตัวและความเป็นเอกราชทางการเงินนั้น จึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับใช้ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน คลิปที่เธอพูดนี้กลายเป็นไวรัลไปทั่วอินเทอร์เน็ต แม้แต่แจ็ก ดอร์ซีย์ก็ทวีตถึงเรื่องนี้

ชัยชนะของพัคยุนมีเหนืออาชญากรรมค้ามนุษย์แสดงให้เห็นถึงความหวังอันยิ่งใหญ่ที่เหล่าบิตคอยเนอร์ใฝ่หา ความฝันที่จะทำลายห่วงโซ่แห่งทาสสภาพของระบบการเงินที่ล่ามคนทั้งโลกเอาไว้ และบิตคอยเนอร์ทั้งหลายยังปรารถนาถึงการสะสมความมั่งคั่งได้อย่างเป็นส่วนตัวและมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งหากทั้งโลกนี้จะใช้งานบิตคอยน์กันอย่างจริงจัง มูลค่าของมันคงสูงชนิดที่ใครก็ยากจะจินตนาการไหว

ดังนั้นนี่จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่จะพิจารณาถึงสาส์นหรือข้อความที่งานสถาปัตยกรรมยุคบิตคอยน์ต้องการจะสื่อ รวมถึงวิธีการที่เราต้องการจะถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้สู่สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment) ว่าควรมีรูปแบบอย่างไร ซึ่งจากที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น เราอาจเริ่มต้นกันที่คอนเซ็ปต์อย่างเรื่องเสรีภาพ การคืนอำนาจให้กับผู้คน ความมั่นคงยั่งยืน การรักษาความเป็นส่วนตัว และความงามสง่าที่แท้จริง

อย่างไรก็ตามงานสถาปัตยกรรมยุคบิตคอยน์นั้นไม่ควรมีรากฐานหรืออิงกับอารยธรรมใดอารยธรรมหนึ่งเป็นหลัก เพราะบิตคอยน์นั้นทั้งช่วยปลดแอกและรวมโลกทั้งใบเข้าไว้ด้วยกัน แปลว่าสไตล์ของสถาปัตยกรรมบิตคอยน์ในเอเชียย่อมแตกต่างจากสไตล์ที่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกากลาง เพราะพวกเราจะร่วมกันสร้างเรื่องราวที่หลากหลายและประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่หลายหลาก

ณ ขณะนี้กำลังมีชุมชนบิตคอยน์เกิดขึ้นทั่วโลก โดยที่รู้จักกันดีที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศในแถบอเมริกากลาง แต่ก็ยังมีชุมชนบิตคอยน์ในอีกหลายพื้นที่ผุดขึ้นไม่หยุดเช่นกัน

ในประเทศเอลซัลวาดอร์มีการสร้างชุมชนบิตคอยน์ริมชายหาดในเอลซอนเต้ (El Zonte) และมีแผนจะสร้างเมืองแห่งใหม่บริเวณภูเขาไฟคอนชากัวที่ไม่ปะทุแล้ว นอกจากนี้เรายังมีชุมชนบิตคอยน์ริมทะเลสาบ (Lago Bitcoin) ในประเทศกัวเตมาลา ชุมชนป่าบิตคอยน์ (Bitcoin Jungle) ในประเทศคอสตาริก้า รวมถึงชุมชนบิตคอยน์อีกมากมายในทวีปแอฟริกาและในประเทศไทย ซึ่งผู้คนจากชุมชนบิตคอยน์เหล่านี้ต่างก็เข้าร่วมงาน Global Bitcoin Fest พร้อมหน้าพร้อมตากันเมื่อเดือนกันยายนปี 2021 ที่ผ่านมา

สถาปัตยกรรมสไตล์บิตคอยน์ควรถ่ายทอดความงามและความปรารถนาถึงชีวิตที่แง่งาม เพราะนี่คือประเด็นหลักของการออกแบบทางสถาปัตยกรรม

ไม่มีอารยธรรมมนุษย์ที่ไหนจะเก็บรักษาอาคารหรือสิ่งสิ่งปลูกสร้างหน้าตาอัปลักษณ์เอาไว้ มนุษย์เราต้องการแสดงออกถึงวิสัยทัศน์และความเชื่อที่มีนั้นให้อยู่ยั้งยืนยงข้ามกาลเวลา

ชุมชนบิตคอยน์หลายแห่งในตอนนี้ก็แสดงออกชัดเจนว่าพวกเขาคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมากขนาดไหน แผนพัฒนาเมืองบิตคอยน์ (โดยเฉพาะในเอลซอนเต้) มีแนวคิดการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเน้นย้ำเรื่องวิสัยทัศน์ของการใช้ชีวิตที่สงบสุขในชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง

แต่ว่ามันแสดงออกถึงความงามและความเชื่อมั่นในตนเองของบิตคอยเนอร์แล้วหรือยัง?

สิ่งสำคัญของบิตคอยน์คือการกระจายอำนาจและไม่มีตัวกลางแทรกแซงควบคุม ทุกคนที่เข้าร่วมในระบบเศรษฐกิจของบิตคอยน์ต่างก็ใช้งานมันได้อย่างเท่าเทียม บิตคอยน์นั้นมีความ “เสมอภาค” และเป็นของ “ชนชั้นรากหญ้า” ในสังคมอย่างแท้จริง

เมื่อพิจารณาถึงความพยายามของสถาปนิกชื่อดังในการออกแบบเพื่อถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ให้เป็นรูปฟอร์มทางสถาปัตยกรรม ชื่ออย่าง เลอคอร์บูซิเยร์, มีส์ ฟาน เดอ โรห์ และวอลเตอร์ โกรเปียส คือสถาปนิกชั้นนำที่เคยพยายามทำสิ่งเหล่านี้มาแล้ว พวกเขาโด่งดังเพราะการสร้างสเปซที่ทุกคนเข้าถึงได้ สเปซที่ไม่ได้จำกัดไว้ให้เฉพาะเหล่าอีลีทหรือชนชั้นสูง และพวกเขาเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ใคร ๆ ก็หาซื้อได้

นอกจากนี้งานดีไซน์ก็มุ่งเน้นในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน พวกเขาสร้างประสบการณ์การใช้งานสเปซทางสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่แค่จะออกแบบให้สวยโดยละทิ้งหลักการทางสถาปัตย์ วัตถุประสงค์ของสถาปนิกสไตล์โมเดิร์นเหล่านี้ คือการใช้วัสดุธรรมดาสามัญเพื่อสร้างประสบการณ์ชั้นยอดและเหนือระดับที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อสัมผัสมันได้

แล้วสไตล์แบบไหนที่สถาปัตยกรรมยุคบิตคอยน์ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง?

เราลองไปดูอาคารสำนักงาน FED หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กันก่อน ตัวอาคารขนาดมหึมานี้ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกตัวเองเล็กจิ๋วไร้ความสำคัญ แถวหน้าต่างแคบสูงที่เรียงรายพร้อมการตกแต่งที่ราบเรียบ สร้างความรู้สึกไม่ต้อนรับและแสดงถึงความแข็งกร้าวที่ใครหน้าไหนก็ผ่านเข้าไปไม่ได้ แม้ FED เองจะอธิบายว่าอาคารนี้เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบยุคคลาสสิกที่ลดทอนรายละเอียดลง แต่อาคารที่สร้างเสร็จในปี 1937 หลังนี้มีความเป็นสถาปัตยกรรมแบบลัทธิฟาสซิสต์อยู่แทบทุกอณูของมัน

Marriner S. Eccles Federal Reserve Board Building

ใกล้ ๆ กับสำนักงาน FED มีสวนสาธารณะชื่อดังที่เรียกว่า “เนชันแนล มอลล์” ตั้งอยู่ มันได้รับการออกแบบมาเพื่อให้แขกผู้มาเยือนประทับใจกับความยิ่งใหญ่และกว้างขวางของเมืองหลวงอเมริกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่สวนขนาดใหญ่นี้ดูจะกลืนกินผู้คนที่มาเยี่ยมชมเข้าไปได้ทั้งหมด มันสื่อถึงแนวคิดที่ว่าประชาชนนั้นไม่ว่าจะรวมตัวกันได้ยิ่งใหญ่แค่ไหน สถาบันของรัฐก็สามารถกดขี่ให้พวกเขาตัวเล็กไร้พลังได้ดังเดิม ขนาดอันมโหฬารของสวนนี้อาจทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็อาจสร้างความรู้สึกอีกแบบเช่นกัน นั่นคือความรู้สึกว่าคุณนั้นด้อยค่าไร้กำลังที่จะช่วยเหลือตัวเองได้

National Mall

แต่เราต้องระมัดระวังเรื่องการแปลความหมายของสถาปัตยกรรมแนวบิตคอยน์ไปในทางไม่ดี เช่น อาจมีพวกเกลียดบิตคอยน์ล้อเลียนความผันผวนรุนแรงของราคาบิตคอยน์ว่าช่างเหมาะเหลือเกินกับการสร้างเมืองบิตคอยน์อยู่บนภูเขาไฟ และการจะตอบโต้แนวคิดแบบนั้น เราต้องแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพเปี่ยมประสิทธิผล, ความมั่นคงยั่งยืน, ความทนทานต้านกาลเวลา, ความงดงามที่แท้จริง และสันติสุขจากการควบคุมและใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนใต้พิภพของภูเขาไฟที่ไม่ปะทุแล้ว

ตลอดศตวรรษที่ 20 นั้นมีแต่การทำลายล้างวัฒนธรรมท้องถิ่นในทุกพื้นที่ทั่วโลก ถึงเวลาแล้วที่จะเก็บเศษซากที่ยังเหลือและประกอบรวมกันใหม่ให้เป็นอนาคตของเรา เราต้องดึงคุณค่าเหล่านี้กลับมาให้ได้ แม้จะเป็นเพียงความสำเร็จก้าวเล็ก ๆ ก็ยังดี เราต้องเป็นนักอุดมคติที่สุดขั้วในการวางวิสัยทัศน์ถึงสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างที่เราต้องการใช้ชีวิตในวันข้างหน้า

และด้วยงานสถาปัตยกรรมสไตล์บิตคอยน์ เรามีโอกาสอันดีที่จะแสดงออกถึงผลงานสร้างสรรค์ชั้นเลิศจากการทำงานหนักของมนุษยชาติ และโอกาสที่จะได้ร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์อันละเมียดละไมให้กับอนาคตของพวกเราทุกคน

ข้อเขียนต้นฉบับเป็นความคิดเห็นของคุณ Frances Hogan Steffian แต่เพียงผู้เดียว และไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับ BTC Inc., Bitcoin Magazine หรือ Right Shift แต่อย่างใด

ljungdurst
ljungdurst

A senior copywriter and football columnist turned junior bitcoiner—thanks to inspirations from "Ajarn Piriya" his Architectural and Planning Faculty's senior turned bitcoin grandmaster who's been advocating the given subject for almost a decade. Now his life's calling is clear: orange-pilling the world.

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Economic

อะไรคือภาษาของระบบอินเทอร์เน็ต? (The Language of the Internet)

“Data” คือ “ข้อมูล” ที่ถูกแปลให้อยู่ใน “รูปแบบ” ที่ถูกส่งต่อและประมวลต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบที่ว่าก็คือ “ภาษา” ..ถ้า “data” เป็นเหมือนกระแสเลือดหล่อเลี้ยงอินเทอร์เน็ตทั้งโลก แล้วอะไรคือ “ภาษา” ของระบบอินเทอร์เน็ต?

Read More »