DALL·E 2023-01-18 00.59.17 - In bankrupt Lebanon digital art (1)
Picture of SecretmanDF

SecretmanDF

วิกฤตในเลบานอน

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศเลบานอน คนในประเทศเขารับมือกันอย่างไร? ถ้าคุณอยากรู้ล่ะก็เข้ามาอ่านกันได้เลย

ที่มาของบทความ

 ในประเทศที่ล้มละลายอย่างเลบานอน ชาวท้องถิ่นต่างพากันขุดบิตคอยน์ และใช้เหรียญ “เทเธอร์” (USD Tether) เพื่อซื้อสินค้า ส่วนเงินฝากในบัญชีธนาคารที่ระบุตัวเลขไว้ว่า 1 ดอลลาร์ เมื่อถอนออกมาจะมีมูลค่าเหลือเพียงแค่ 15 เซนต์เท่านั้น

ใจความสำคัญ

  • ระบบธนาคารของเลบานอนที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียด้านความมีเสถียรภาพ และเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน แต่หลังจากที่เลบานอนได้เผชิญหน้ากับความวุ่นวายครั้งใหญ่ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) และธนาคารต่าง ๆ ใช้วิธีลดภาระหนี้ของตัวเอง (Haircut) โดยการบังคับลดมูลค่าเงินดอลลาร์ของประชาชนที่ได้ฝากเอาไว้
  • เพื่อจะเอาชีวิตรอดจากระบบการเงินที่ล้มเหลว ชาวเลบานอนบางคนเริ่มขุดบิตคอยน์ หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อเก็บรักษาความมั่งคั่งของตัวเอง เงินดิจิทัลที่ตรึงมูลค่าไว้กับเงินดอลลาร์อย่าง เหรียญดิจิทัลเทเธอร์ (Tether) ได้รับความนิยมในการนำมาใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อซื้อสินค้า

เมื่อ จอร์โจ้ อาบู เกเบรล (Georgio Abou Gebrael) ชายหนุ่มวัย 27 ผู้มีอาชีพสถาปนิก ซึ่งอาศัยอยู่ในเบท เมรี (Beit Mery) หมู่บ้านเล็ก ๆ ทางทิศตะวันออกของกรุงเบรุต (Beirut) ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับบิตคอยน์ครั้งแรกในปี 2016 เขาคิดว่ามันดูเหมือนเป็นสิ่งที่หลอกลวง

จนกระทั่งในปี 2019 เมื่อเลบานอนประสบปัญหาทางการเงิน หลังผ่านเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการบริหารงบประมาณของประเทศที่ผิดพลาด บิตคอยน์ที่เขาเคยคิดว่าเป็นสิ่งที่ลวงโลก เงินดิจิทัลที่ไร้ศูนย์กลาง ไม่มีพรมแดน และอยู่เหนือการควบคุมของนายธนาคาร หรือนักการเมืองคนไหน กลับกลายเป็นทางรอดของเขา

ในปี 2020 ช่วงฤดูใบไม้ผลิ เกเบรลตกงาน และจำเป็นจะต้องคิดหาทางเพื่อหารายได้โดยด่วน

เกเบรล ได้อธิบายถึงประสบการณ์ของเขาเอาไว้ว่า

“ธนาคารต่างพากันปิดตัว และชาวท้องถิ่นถูกระงับไม่ให้ถอนเงินจากบัญชีธนาคาร การถ่ายโอนเงินโดยใช้ระบบการเงินระหว่างประเทศในตอนนั้น ก็ไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีเท่าไรนัก เนื่องจากบริการเหล่านั้นมักจะมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนจากเงินดอลลาร์มาเป็น “เงินปอนด์เลบานอน” (Lebanese pound) เสียก่อน โดยจะได้อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับอัตราปกติแล้วถือว่าต่ำกว่ามาก

“ผมจะเสียเงินไปประมาณครึ่งหนึ่งกับการใช้บริการส่งเงินระหว่างประเทศพวกนี้ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงหันมาใช้ บิตคอยน์ แทน เนื่องจากมันเป็นวิธีการส่งเงินที่ยอดเยี่ยม”

เกเบรล ได้พบกับประกาศหางานแบบฟรีแลนซ์ ในโพสต์อันหนึ่งบนเว็บไซต์เรดดิต (reddit) ซึ่งงานนั้นได้เปิดช่องทางให้สามารถเลือกรับค่าจ้างเป็นบิตคอยน์ได้ งานชิ้นแรกที่สถาปนิกหนุ่มได้รับ คือ งานถ่ายหนังโฆษณาสั้นให้กับบริษัทผลิตยางรถยนต์แห่งหนึ่ง เกเบรลได้รับค่าจ้างเป็นบิตคอยน์ที่มีมูลค่า 5 ดอลลาร์ ถึงแม้ว่าจำนวนเงินจะน้อยนิด แต่เขาก็ตกหลุมรักมันเข้าแล้ว

รูปของเกเบรลที่รับงานถ่ายหนังโฆษณาสั้นให้บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ และรับค่าจ้างเป็นบิตคอยน์ที่มีมูลค่า 5 ดอลลาร์

รายได้ของเกเบรลในปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งมาจากงานฟรีแลนต์ ซึ่งกว่า 90% นั้นได้รับค่าจ้างเป็นบิตคอยน์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเขาได้จากงานประจำใหม่ในบริษัทรับออกแบบ โดยที่จะให้ค่าจ้างเป็นสกุลเงินดอลลาร์ นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากบิตคอยน์ ในการเพิ่มช่องทางที่แสนสะดวกสบายสำหรับการหารายเลี้ยงชีพแล้ว บิตคอยน์ได้กลายมาเป็น “ธนาคาร” ของเขา

“เมื่อผมได้เงินดอลลาร์จากบริษัทรับออกแบบ ผมจะถอนเงินออกมาถือไว้ด้วยตัวเองทั้งหมด” เกเบรลกล่าวต่อ

ทุก ๆ วันเสาร์เขาจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับซื้อบิตคอยน์ และเงินส่วนที่เหลือ เขาเก็บไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเพื่อปรับปรุงที่พักอาศัย

เกเบรลไม่ได้เป็นคนเดียวในเลบานอน ที่มองหาทางเลือกอื่น ๆ สำหรับการหารายได้ สำหรับการเก็บออม และสำหรับการใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเลบานอนเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบธนาคารล้มเหลวมาเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 สกุลเงินท้องถิ่นสูญเสียมูลค่าไปกว่า 95% ค่าแรงขึ้นต่ำหากนำมาเทียบให้เป็นสกุลเงินดอลลาร์แล้ว พบว่ามีมูลค่าลดลงจาก $450 เหลือเพียง $17 ต่อเดือนเท่านั้น เงินบำนาญของประชาชนแทบจะไร้มูลค่าไปเลย อัตราเงินเฟ้อของเลบานอนในปี 2022 มันสูงเกิดกว่า 100% ไปแล้ว ถือเป็นอันดับที่สองรองจากประเทศซูดานเท่านั้น ส่วนเงินในบัญชีธนาคารก็เป็นได้เพียงตัวเลขบนหน้ากระดาษ

เรย์ ฮินดิ  (Ray Hindi) ผู้ที่เกิดและเคยอาศัยในเลบานอนจนถึงอายุ 19 ปี ก่อนที่จะย้ายไปอาศัยที่ต่างประเทศ และตอนนี้มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัทผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีฐานการดำเนินงานอยู่ในเมืองซูริก (Zurich) สวิตเซอร์แลนด์ ได้เล่าเอาไว้ว่า

“บางคนยังไม่เชื่อว่าธนาคารล้มละลาย แต่มันคือความจริงที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว”

“สถานการณ์ในประเทศเลบานอนไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนักตั้งแต่ปี 2019 ธนาคารยังคงจำกัดการถอนเงิน และเงินฝากก็กลายเป็นแค่ตัวเลขหลักฐานที่แสดงหนี้ของธนาคาร (IOUs) ที่คุณสามารถถอนมันออกมาได้ แต่มูลค่าของมันจะถูกลดลง 15% จากนั้นเป็น 35% และในวันนี้เงินฝากก็ถูกลดมูลค่าลง 85% แล้ว”

“ถึงกระนั้น บางคนก็ยังจ้องมองสมุดบัญชีของตัวเองอย่างเชื่อมั่นว่า มันยังมีโอกาสที่ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ” เรย์ ฮินดิ กล่าวเสริม

แม้จะสูญเสียเงินออม และเงินบำนาญที่เก็บมาทั้งชีวิต ทั้งพ่อและแม่ของ เกเบรลที่มีอาชีพรับราชการนั้นก็ยังคงมีความหวัง ว่าสักวันระบบการเงินจะสามารถปรับโครงสร้างแล้วกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม ในขณะที่เกเบรลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้แก่พวกท่านทั้งคู่

ส่วนผู้ที่หมดศรัทธาในระบบการเงินอย่างสิ้นเชิงแล้ว พวกเขาต่างพากันไปใช้สกุลเงินดิจิทัลแทน

ภาพถ่ายทางอากาศ ชายหาดริมทะเลในเขตมานาร่า (Manara) ที่อยู่ใกล้เมืองเบรุต

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านท้องถิ่นหลายคนแล้วพบว่า หลายคนได้พิจารณาใช้สกุลเงินดิจิทัลเพื่อเป็นหนึ่งในวิธีเอาตัวรอด บางคนเริ่มที่จะทำเหมืองขุดโทเคนดิจิทัลเป็นช่องทางสร้างรายได้ และในช่วงที่ยังหางานทำอยู่ หลายคนใช้เทเลแกรม (Telegram) สำหรับนัดหมายกันเพื่อแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลเทเธอร์* กับเงินดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าต่าง ๆ ถึงแม้ว่าการยอมรับสกุลเงินดิจิทัลจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ของแต่ละบุคคล แต่ชาวท้องถิ่นแทบทุกคนได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเงินดิจิทัลซึ่งใช้งานได้ดีกว่าเงินปอนด์เลบานอน

หมายเหตุผู้แปล : เหรียญเทเธอร์ (USDT ,Tether) คือ เงินดิจิทัลที่ตรึงมูลค่ากับสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งมีความหมายว่า มูลค่าของ 1 เหรียญเทเธอร์จะมีมูลค่าเท่ากับเงิน 1 ดอลลาร์เสมอ

“บิตคอยน์ได้มอบ ความหวัง ให้แก่พวกเราจริง ๆ นะ ทั้งชีวิตตั้งแต่ผมเกิดมา ผมได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ บิตคอยน์ช่วยให้ผมยังสามารถอาศัยอยู่ที่นี่ต่อได้” – เกเบรลกล่าว

ภาพกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ในปี 1956 ที่ครั้งหนึ่งในอดีตเคยได้รับฉายาว่า “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง”

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือแม้กระทั่งในปี 1975 ที่สงครามกลางเมืองของประเทศเลบานอนได้เริ่มต้นขึ้น กรุงเบรุตยังสามารถเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญที่รุ่งเรือง จนได้รับฉายาว่า “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง” กลุ่มคนร่ำรวยจากทั่วโลกต่างพากันมาที่เมืองหลวงของเลบานอนแห่งนี้ มันทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรที่พูดภาษาฝรั่งเศษ (Francophone population) เกิดร้านคาเฟ่บริเวณริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนขึ้นมากมาย และการขยายตัวในส่วนของภาคธนาคารที่ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก (Resilience) และการมุ่งเน้นความเป็นส่วนตัวของลูกค้า

แม้กระทั่งในยุค 1990 ในช่วงที่ประเทศเลบานอนเพิ่งจะผ่านพ้นกับเหตุการณ์สงครามกลางเมืองอันแสนโหดร้าย ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 15 ปี ระบบธนาคารของเลบานอนก็ยังสามารถแข่งขันกับธนาคารที่ให้บริการการเงินระหว่างประเทศ อย่างธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารของหมู่เกาะเคแมน ในฐานะการเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่ามหาเศรษฐี ในการนำเงินมาฝากไว้เพื่อรับดอกเบี้ย โดยธนาคารในเลบานอนจะมอบความเป็นส่วนตัวให้ และมอบดอกเบี้ยตอบแทนเป็นสกุลเงินดอลลาร์ในอัตราที่สูงถึง 15-31% อ้างอิงข้อมูลจาก แดน อัสซี่ (Dan Azzi) นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้บริหารธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สาขาเลบานอน

ในทางกลับกัน ประเทศเลบานอนก็ได้รับผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินที่หลั่งไหลกันเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเงินเหล่านี้รัฐบาลได้เอาไปใช้ฟื้นฟูประเทศหลังสงครามกลางเมือง

แต่การฝากเงินแบบนี้จะมีข้อผูกมัดบางอย่าง ที่ธนาคารจะระบุเป็นเงื่อนไขเมื่อเอาเงินมาฝาก เช่น กำหนดจำนวนเงินฝากขึ้นต่ำ และ ห้ามถอนเงินฝากก่อนจะครบระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป เป็นต้น

ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระบบฝากเงินนี้สามารถดำเนินไปได้เป็นอย่างดี ผู้ที่มีส่วนร่วมในระบบมีความพอใจกันทุกคน เพราะมันทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังธนาคารต่าง ๆ ในเลบานอนเป็นจำนวนมาก ส่วนผู้ที่นำเงินมาฝากก็พอใจกับตัวเลขเงินฝากในบัญชีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลเองสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารเหล่านั้นมาใช้จ่ายอย่างไร้วินัย

 รัฐบาลได้นำเงินบางส่วนมาตรึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินปอนด์เลบานอนกับเงินดอลลาร์ แม้ว่ามันจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงเกินกว่ามูลค่าการแลกเปลี่ยนที่แท้จริงไปมากก็ตาม แต่มันก็ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ระบบเงินสร้างง่ายนี้ และทำให้ผู้คนเชื่อมั่นที่จะนำเงินมาฝากในธนาคารมากขึ้นไปอีก

การท่องเที่ยวและเงินทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูหลังสงคราม รวมไปถึงเงินลงทุนโดยตรงจากกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่แห่งอ่าวอาหรับ ทำให้เลบานอนสามารถสร้างความมั่นคงให้งบดุลของ “ธนาคารกลางแห่งเลบานอน” (Banque du Liban*) นอกจากนี้คนหัวกระทิของเลบานอนที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ ก็นิยมส่งเงินดอลล่ากลับมาที่บ้านเกิด มันได้ช่วยเพิ่มปริมาณดอลลาร์ในระบบให้แก่เลบานอน

หมายเหตุผู้แปล ธนาคารกลางของเลบานอน มีชื่อเฉพาะว่า “แบ๊งก์ ดู ลิบาน” (Banque du Liban)

ธนาคารโลกได้เปิดเผยข้อมูลตัวเลขจีดีพี (GDP) ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเลบานอน โดยมีจุดสูงอยู่ที่ 26% ในปี 2004 และยังสามารถทรงตัวในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องแม้จะเจอกับวิกฤติการเงินระดับโลกในปี 2008 แต่อย่างไรก็ตาม ยอดการใช้จ่ายเงินของประชาชนในประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศรรษที่ 2010 เนื่องจากเกิดความไม่สงบในแถบภูมิภาคนี้ และการขึ้นมามีอำนาจของกลุ่ม “ฮิซบุลลอฮ์” (Hezbollah) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองการทหารที่นับถืออิสลามนิกายชีอะฮ์ และเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่าน ซึ่งกลุ่มฮิซบุลลอฮ์นี้เป็นศัตรูกับผู้บริจาคเงินรายใหญ่ของเลบานอนบางส่วนอีกด้วย

ตู้กดเงินสด (ATM) ที่ถูกกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลทำลาย ในกรุงเบรุต เลบานอน

หลังจากที่เลบานอนได้ผ่านช่วงเวลาสงครามกลางเมือง รัฐบาลได้พยายามใช้เงินในการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ มันทำให้ทุนสำรองของรัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นเวลาหลายปีแล้วที่ประเทศเลบานอนมีปริมาณการนำเข้าสินค้าสูงกว่าการส่งออก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เลบานอนประสบปัญหาขาดดุลการค้าระหว่างประเทศอย่างรุนแรง

ในปี 2016 ผู้ว่าธนาคารกลางของเลบานอน ริอัด ซาลาเมฮ์ (Riad Salameh) ซึ่งในอดีตเคยทำงานให้กับธนาคารเมอร์ริล ลินช์ (Merrill Lynch) ในช่วงต้นของยุค 90 เขาพยายามที่จะชะลอการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการตัดสินใจเพิ่มแรงจูงใจการฝากเงินไว้กับธนาคาร โดยให้ดอกเบี้ยกับผู้ที่ฝากเงินดอลลาร์ไว้ในธนาคารอย่างมหาศาล ซึ่งในเวลานั้นดอกเบี้ยที่สูงมากขนาดนี้เป็นที่น่าดึงดูดใจอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากการฝากเงินไว้กับธนาคารอื่นในโลก

มูฮาหมัด เอล ชามา (Mohamad El Chamaa) นักข่าวที่ทำงานให้สื่อท้องถิ่น ลอริยองต์ ทูเดย์ (L’Orient Today) วัย 27 ปี ได้บอกกับซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า คนที่ฝากเงินดอลลาร์แล้วเปลี่ยนเงินนั้นไปเป็นสกุลเงินปอนด์เลบานอนนั้น จะเป็นผู้ที่ได้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงที่สุด

ยุคของเงินสร้างง่ายได้ปิดฉากลงในเดือนตุลาคม ปี 2019 เมื่อรัฐบาลได้ออกกฏหมายขึ้นภาษีสินค้าทุกประเภทอย่างกะทันหัน ไล่ไปตั้งแต่ก๊าซหุงต้ม ยาสูบ ไปจนถึงบริการโทรศัพท์ผ่านแอพพลิเคชั่นวอตส์แอปป์ (WhatsApp) ผู้คนเริ่มออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน ซึ่งต่อมาเหตุการณ์นี้ได้รู้จักกันในชื่อ “การปฎิวัติ 17 ตุลาคม” (October 17 Revolution)

ในช่วงต้นปี 2020 เมื่อประชาชนได้เริ่มออกมาเดินประท้วง ในขณะนั้นเองรัฐบาลเลบานอนก็ได้เริ่มผิดนัดชำระหนี้สาธารณะเป็นครั้งแรก และไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดการระบาดของโรคโควิดไปทั่วโลก นอกจากนั้นแล้วยังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สถานการณ์ที่ยิ่งแย่ลงไปอีก คือในเดือนสิงหาคมปี 2020 ได้เกิดเหตุระเบิดโกดังเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate) ที่ตั้งอยู่ในท่าเรือกรุงเบรุต ประชาชนกล่าวโทษว่า สาเหตุของการระเบิดเกิดจากการขาดความเอาใจใส่ของรัฐบาล เหตุระเบิดครั้งนี้ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 200 คน และสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ตีมูลค่าแล้วเป็นจำนวนถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ออกมาแสดงความไม่พอใจในตัวรัฐบาล และผู้นำทางเมืองทั้งหลาย ในกรุงเบรุต เลบานอน ในวันที่ 8 สิงหา 2020 หลังจากเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ ในท่าเรือของกรุงเบรุต

ธนาคารหลายแห่งได้เริ่มจำกัดการถอนเงิน จากนั้นไม่นานเมื่อทั้งโลกได้เกิดการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ ธนาคารก็ปิดทำการลง ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) ได้เริ่มก่อตัว สกุลเงินท้องถิ่นที่เคยสามารถตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 1,500 ปอนด์เลบานอนต่อ 1 ดอลลาร์มาเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี  ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนอัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็น 40,000 ปอนด์เลบานอน ต่อ 1 ดอลลาร์

หลังจากที่ธนาคารต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการ พวกเขาปฏิเสธที่จะแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นเงินปอนด์เลบานอนในอัตราเดียวกับท้องตลาด โดยให้แลกเปลี่ยนในอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ดังนั้นเงินดอลลาร์ที่มีอยู่ในบัญชีธนาคารก็แทบจะกลายเป็น “สิ่งไร้ค่า” ขึ้นมาในทันที

อดีตนายธนาคารเลบานอน แดน อัสซี่ (Dan Azzi) ได้มอบชื่อเล่นของเงินรูปแบบใหม่นี้ว่า “เงินลอลลาร์” (Lollars*) ซึ่งหมายถึงเงินดอลลาร์ที่ฝากไว้ในบัญชีของธนาคารเลบานอนก่อนหน้าปี 2019 หากผู้ฝากอยากจะถอนเงินนี้ออกมา มันจะมีมูลค่าเหลือเพียง 15% ของมูลค่าเดิมเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกประเมินโดยชาวท้องถิ่น และ ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในเลบานอน

*หมายเหตุผู้แปล : Lollars มีที่มาจากตัวย่อของคำว่า Laughing Out Loud (lol) รวมกันกับคำว่า Dollar แปลตรง ๆ จะมีความหมายว่า “เงินดอลลาร์ที่น่าขบขัน” เพราะมันแทบจะไม่เหลือมูลค่า

ในขณะที่ธนาคารจะให้แลกเปลี่ยนตามอัตราปกติ หากเป็นเงินดอลลาร์ที่ฝากไว้หลังจากปี 2019 ซึ่งเงินดอลลาร์นี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า เฟรชดอลลาร์ (Fresh dollars)

สำหรับชาวเลบานอนหลาย ๆ คน มันเป็นจุดที่พวกเขาเริ่มตระหนักได้แล้ว ว่า เงินชนิดไหนที่ใช้งานได้ดีมากกว่ากัน

“ฉันส่งเงินให้กับพ่อของฉัน โดยใช้บัญชีธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ ไปยังบัญชีของพ่อที่เลบานอน แน่นอนว่าเงินที่ส่งมานี้จัดเป็น เฟรชดอลลาร์ เพราะมันเพิ่งจะถูกส่งมาจากต่างประเทศ แต่พ่อของฉันก็คงต้องรับความเสี่ยงจากธนาคารที่ทำหน้าที่ตัวกลางในการรับส่งเงินอยู่ดี”

มูฮาหมัด เอล ชามา วัย 27 ปี  ผู้ที่กำลังศึกษาปริญาโท สาขาการออกแบบชุมชนเมืองที่มหาวิทยาลัย อเมริกัน ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เบรุต (American University of Beirut) และเขามีอาชีพเป็นนักข่าวสื่อท้องถิ่น ลอริยองต์ ทูเดย์ (L’Orient today) ได้รายงานต่อสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่าเขาได้ฝากเงินจำนวน 3000 ดอลลาร์ที่ได้จากการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีใหม่ ๆ ไว้ตอนที่ธนาคารได้ออกกฎต่าง ๆ ในการถอนเงินเหล่านี้

“หนึ่งในสิ่งที่ผมเสียใจมากที่สุดในชีวิต คือการไม่ได้ได้ถอนเงินเหล่านั้นออกมาเก็บไว้เองทั้งหมดก่อนที่วิกฤติจะเริ่มต้นขึ้น ตอนนั้นผมเองก็เริ่มเห็นสัญญาณเตือนบางอย่างแล้ว เนื่องจากธนาคารเริ่มคิดค่าบริการจำนวนหนึ่งหากจะถอนเงินออกมาเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งในตอนนั้นผมก็คิดว่ามันแปลก ๆ และยังนั่งขำอยู่เลย” – เอล ชามา กล่าว

นับหลังจากวันที่ เอล ชามา ได้ถอนฝากเงินออกจากบัญชี โดยเงินดังกล่าวมีมูลค่าเหลือเพียงแค่ 10-15% ของมูลค่าที่แท้จริงเท่านั้น เขาก็ไม่ได้นำเงินไปฝากไว้กับธนาคารอีกเลย เขาเลือกเก็บเงินไว้ในรูปเงินสด แต่ก็อาจจะใช้บริการธนาคารบ้าง เพื่อไว้จ่ายค่าบริการรับฝากข้อมูล และบริการฟังเพลงออนไลน์

ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ได้แสดงเงิน 1 ดอลลาร์ เทียบกับเงินปอนด์เลบานอน ท่ามกลางการอ่อนค่าลงของสกุลเงินประจำชาติอย่างต่อเนื่อง

เอล ชามา เข้าถึงเงินในบัญชีได้แค่ในบางช่วงเวลา และในเดือนกันยายน ธนาคารก็ได้ปิดตัวลง เกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศขึ้นแทบจะทุกวัน ซึ่งการที่ไฟดับนั้นส่งผลทำให้การถอนเงินโดยใช้ตู้เอทีเอ็มเป็นเรื่องยากลำบากขึ้นไปอีก

ต่อมาการปล้นธนาคารกลายเป็นเรื่องปกติ ที่ชาวบ้านท้องถิ่นใช้เพื่อจะถอนเงินของตัวเองออกจากธนาคารเพื่อนำเงินไปใช้ เช่น เพื่อใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บางคนปล้นธนาคารโดยใช้อาวุธเด็กเล่น บางคนใช้ปืนไรเฟิลสำหรับล่าสัตว์ และบางคนอาจใช้วิธีจับตัวประกัน ผู้ที่ก่อเหตุปล้นธนาคารอาจเป็นถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในประเทศ อย่าง ซินเธีย ซาราซีร์ (Cynthia Zarazir) ที่เป็นสมาชิกรัฐสภาของเลบานอน ได้ขอเข้าถึงเงินฝากในบัชญีของตัวเองเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งผู้เป็นอตีตเอกอัครราชทูตของเลบานอน อย่าง จอร์ช เอซ ไซแอม (Georges H. Siam)

“ปัจจัยที่เป็นต้นตอของปัญหาไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไปมากนัก และเหตุการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ” – เรย์ ฮินดิ กล่าว

ธนาคารโลก (World Bank) ได้กล่าวถึงวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินของเลบานอนไว้ว่า นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1850 เป็นต้นมา โลกของเราไม่เคยพบกับปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้ องค์กรสหประชาชาติได้ประมาณตัวเลขของชาวเลบานอนที่ได้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความยากจน พบว่ามีจำนวนมากถึง 78%

นักวิเคราะห์ของ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ได้ประมาณมูลค่าความเสียหายของธนาคารท้องถิ่นในเลบานอนไว้สูงถึง 6.5-7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจีดีพี (GPD) ของเลบานอนถึง 4 เท่า มันส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศถึง 178% ถ้าหากนับเฉพาะในปี 2022 มันเป็นระดับเงินเฟ้อที่มีความรุนแรงมากกว่าทั้งประเทศเวเนซูเอลล่าและประเทศซิมบับเวเลยทีเดียว แต่พวกผู้นำในรัฐบาลก็ยังเผยแพร่ข้อมูลขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าประเทศเลบานอนนั้นล้มละลายอย่างเป็นทางการแล้วหรือยัง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประชุมหารือเรื่องเงินกู้ให้กับเลบานอน เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นในวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่นี้ ตัวเลขการกู้ยืมอาจสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ และมันก็ตามมาด้วยข้อผูกมัดจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง เนื่องจากรัฐสภาไม่สามารถหาคนเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา

กลุ่มผู้ประท้วงได้เผชิญหน้ากับตำรวจเลบานอนที่ยืนรักษาความปลอดภัยอยู่หน้าธนาคารกลาง ในเดือนธันวาคม 2018

การหาเลี้ยงชีพโดยการขุดเหรียญดิจิทัล (Mine-to-earn)

2 ปีก่อนหน้านี้  อาหมัด อาบู ดาเฮอร์ (Ahmad Abu Dahe)  และเพื่อน ๆ ของเขาได้เริ่มขุดเหรียญดิจิทัลที่มีชื่อว่า อีเธอร์เรียม (Ethereum) ด้วยเครื่องขุดจำนวน 3 ตัว โดยใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ

ในตอนนั้น อีเธอร์เรียม ยังเป็นเหรียญที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนชนิดหนึ่ง โดยมีเหรียญในระบบที่ชื่อว่า เหรียญอีเทอร์ (Ether token) และมีการใช้กระบวนการ พรูฟ-ออฟ-เวิร์ก (Proof of Work) ที่ต้องอาศัยนักขุด (Miner) จากทั่วโลกร่วมมือกัน ในการใช้คอมพิวเตอร์กำลังสูงในการประมวลผลแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ สำหรับตรวจสอบและบันทึกธุรกรรมในระบบ และกระบวนการนี้ยังเป็นการสร้างเหรียญอีเทอร์ขึ้นมาอีกด้วย นี่เป็นกลไกการทำงานแบบเดียวกันที่ทำให้ บิตคอยน์ ยังมีความปลอดภัยมาถึงทุกวันนี้

การขุดบิตคอยน์นั้นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาสูง ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคอยู่พอสมควร และต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ผู้ขุดแต่ละคนจะมีต้นทุนส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่จะมีตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ได้กำไรมากขึ้น นั่นคือต้นทุนของราคาค่าไฟฟ้า ผู้ขุดจะต้องพยายามค้นหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีราคาถูกมากที่สุด

อาบู ดาเยอร์ ได้ใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ จากโครงการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำจากแม่น้ำลิทานี  (Litani) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองเบรุต พวกเขาบอกว่าในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติเงินเฟ้อ มันสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

“เพราะฉะนั้นแล้ว พวกเรามีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกสุด ๆ ไปเลยล่ะครับ และเราจะได้ เฟรชดอลลาร์ จากการขุดเหรียญดิจิทัลนี้”

อาหมัด อาบู ดาเยอร์ (Ahmad Abu Daher) และเครื่องขุดเหรียญดิจิทัลจำนวน 3 ตัว โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานน้ำจากแม่น้ำลิทานี ในเมืองซารูรีเย่ (Zaarouriyeh) ที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาชูฟ (Chouf) ทางตอนใต้ของเมืองเบรุต

เมื่อตอน อาหมัด อาบู ดาเยอร์ ยังมีอายุ 22 ปี เขาได้เล็งเห็นช่องทางสร้างรายได้จากการขุดเหรียญดิจิทัล หลังจากนั้นเขาและเพื่อน ๆ ก็ได้ขยายเหมืองขุดอยู่เรื่อย ๆ จนมันกลายเป็นเหมืองขุดเหรียญขนาดใหญ่ โดยหลังจากที่ได้เครื่องขุดจากประเทศจีนในราคาที่ถูกสุด ๆ เนื่องจากรัฐบาลจีนในตอนนั้นกำลังปราบปรามการทำเหมืองขุดเหรียญดิจิทัลในประเทศ เขาเริ่มเปิดบริการรับฝากอุปกรณ์ขุดเหรียญดิจิทัลให้คนทั่วประเทศเลบานอน โดยอาจจะเป็นคนที่มีเครื่องขุดซึ่งไม่มีเวลาดูแลเครื่อง แต่ยังต้องการรายได้ที่สม่ำเสมอ คนที่อาจไม่ได้มีความความเชี่ยวชาญในการใช้งาน รวมไปถึงคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานราคาถูกและมีความเสถียรได้ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นไฟฟ้าเป็นทรัพยากรที่ทุกคนต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเทศที่มีปัญหาไฟฟ้าดับอยู่ตลอดแทบทุกวันอย่างเลบานอน นอกจากนี้ อาบู ดาเยอร์ ก็มีลูกค้าจากต่างประเทศอีกด้วย เช่น ซีเรีย ตุรเคีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ

อาบู ดาเยอร์ ได้เล่าต่อว่า เป็นเวลากว่า 26 เดือนแล้ว นับตั้งแต่ที่พวกเขาเริ่มทำธุรกิจนี้ และธุรกิจได้เติมโตขึ้นอย่างมาก แค่ในเดือนกันยายนนี้เขาก็ได้กำไรมากกว่า 2 หมื่นดอลลาร์เลยทีเดียว ครึ่งหนึ่งของรายได้มาจากธุรกิจการขุดเหรียญดิจิทัล ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมาจากการขายเครื่องขุดเหรียญ และจากกำไรในการเทรดเหรียญดิจิทัล

เมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนในประเทศ ทางรัฐบาลก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ จนในเดือนมกราคม 2022 ตำรวจได้บุกเข้าจับกุมเหมืองขุดเหรียญดิจิทัลพลังงานน้ำขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเมืองเจซซีน (Jezzine) และได้ยึดของกลางเป็นอุปกรณ์ขุดเหรียญดิจิทัลจำนวนมาก หลังจากนั้นไม่นานผู้มีอำนาจก็ได้เข้ามาควบคุมการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำนี้ โดยให้เหตุผลว่าการขุดเหมืองเป็นการใช้ไฟฟ้ามหาศาล มันเป็นการสิ้นเปลืองและใช้พลังงานโดยเปล่าประโยชน์

แต่ อาบู ดาเยอร์ ได้บอกกับซีเอ็นบีซีว่า เขาไม่กังวลว่าจะถูกบุกจับกุม หรือกังวลว่ารัฐบาลจะขึ้นราคาค่าไฟฟ้าจนไม่สามารถทำธุรกิจขุดบิตคอยน์ได้

เครื่องขุดบิตคอยน์ยี่ห้อ Antminer รุ่น L3++ ที่กำลังทำงานอยู่ในเหมืองขุดบิตคอยน์ของ อาบู ดาเยอร์ ในเทือกเขาชูฟ เมืองมัคฮารียา (Mghayriyeh)

“พวกเราได้เข้าไปพูดคุยกับตำรวจอยู่บ้างแล้ว และเราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับ พวกตำรวจนะ เพราะเราได้ขออนุญาตผลิตไฟฟ้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พวกเราไม่ได้สร้างปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบกับโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำนี้เลย” – อาบู ดาเยอร์ กล่าว

อาบู ดาเยอร์ เล่าว่าได้ติดตั้งมาตรวัดไฟฟ้าของทางการ เพื่อให้ทราบข้อมูลไฟฟ้าที่เครื่องชุดใช้ เพื่อนำไปคำนวนค่าธรรมเนียมในการผลิตไฟฟ้า ส่วนนักขุดคนอื่น ๆ อาจจะแอบใช้ไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมาย และไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียม

“สรุปคือปัญหาของนักขุดคนอื่น ๆ เกิดจากการไม่จ่ายค่าธรรมเนียมในการผลิตไฟฟ้า พวกคนเหล่านี้กำลังสร้างปัญหาให้แก่โครงสร้างพื้นฐานของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ”

เมื่อ 3 ปีก่อน ราวาด เอล ฮัจ (Rawad El Hajj) ชายวัย 27 ปี ที่จบปริญญาทางด้านการตลาด และอาศัยอยู่ที่เมืองบาจรา (Bajra) ทางตอนใต้ของกรุงเบรุต เขาได้รู้จักกับธุรกิจการทำเหมืองขุดของ อาบู ดาเยอร์ ผ่านน้องชายของเขา

ราวาด เอล ฮัจ ได้เล่าถึงแรงจูงใจในการเริ่มขุดเหรียญของเขาเอาไว้ว่า  “พวกเราเริ่มทำเหมืองขุด เพราะว่าไม่มีตำแหน่งงานในเลบานอนมากพอสำหรับทุกคน”

ราวาด เอล ฮัจ บอกกับซีเอ็นบีซีว่า เขาเริ่มต้นลงทุนเล็ก ๆ โดยการซื้อเครื่องขุดสองเครื่อง จากนั้นเขาธุรกิจการขุดก็ได้ขยายตัวขึ้นทุก ๆ เดือน

รูปของราวาด เอล ฮัจ หนุ่มวัย 27 ปี ที่ได้เข้ามาร่วมขุดเหรียญดิจิทัลกับ อาบู ดาเยอร์

ราวาด เอล ฮัจ ไม่ได้ใช้บริการของ อาบู ดาเยอร์ เนื่องจากปัญหาเรื่องระยะทาง เขาจึงได้จ้างบุคคลภายนอกให้มาดูแลเครื่องขุดของเขาแทน โดยบอกกับซีเอ็นบีซีว่าเขาใช้เครื่องขุดของเขาทั้ง 11 ตัว เพื่อขุดเหรียญ  ไลท์คอยน์ (Litecoin) และ โดชคอยน์ (Dogecoin) ซึ่งเฉลี่ยแล้วเขาจะได้ผลตอบแทนทั้งหมดประมาณ 0.02 bitcoin หรือคิดเป็น $426 ต่อเดือน (ตามมูลค่าบิตคอยน์ ณ เวลานั้น–ผู้แปล)

เศาะลาฮ์ อัล ซาทาเร  (Salah Al Zaatare) สถาปนิกหนุ่ม ผู้อาศัยอยู่ที่เมืองซิดอน (Sidon) ซึ่งอยู่ห่างกับ ราวาด เอล ฮัจ ไปทางทิศใต้ราว 20 นาที ก็มีเรื่องราวที่คล้ายกัน เขาบอกกับซีเอ็นบีซีว่าได้เริ่มขุดเหรียญ ไลท์คอยน์ (Litecoin) และ โดชคอยน์ (Dogecoin) เพื่อหารายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ตอนนี้เขามีเครื่องขุดจำนวน 10 เครื่องที่ฝากไว้กับ อาบู ดาเยอร์ เครื่องขุดของ อัล ซาทาเร เป็นเครื่องรุ่นใหม่ เขาจึงสามารถหารายได้มากกว่า ราวาด เอล ฮัจ ที่ประมาณ 8500 ดอลลาร์ต่อเดือน

อัล ซาทาเร ได้ถอนเงินทั้งหมดออกจากธนาคารก่อนจะเกิดวิกฤติในปี 2019 และถือไว้เป็นเงินสด จนกระทั่งตัดสินใจที่จะใช้เงินออมของเขาลงทุนในอุปกรณ์ขุดเหรียญเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

“ผมเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ เพราะผมคิดว่ามันจะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีอันหนึ่ง” เขากล่าวกับซีเอ็นบีซี

ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาล แสดงให้เห็นว่ามีประชากรในเลบานอนเพียงแค่ประมาณ 3% เท่านั้นที่ได้ค่าจ้างเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ดังนั้นการทำเหมืองขุดจึงเป็นโอกาสที่หาได้ยาก หากประชาชนต้องการจะครอบครอง เฟรชดอลลาร์

“ถ้าคุณสามารถหาเครื่องขุดได้ และ มีพลังงานมาป้อนให้กับเครื่องขุดได้ คุณก็จะได้เงิน” กล่าวโดย นิโคลัส เชเฟอร์ (Nicholas Shafer) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ผู้ที่กำลังค้นคว้าเรื่องอุตสาหกรรมการขุดเหรียญดิจิทัลในเลบานอน

อาบู ดาเยอร์ เองก็เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย อเมริกัน ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เบรุต (American University of Beirut) เมื่อ 6 เดือนก่อน เขาได้ทดลองหาประโยชน์ในด้านอื่น ๆ จากธุรกิจขุดเหรียญดิจิทัล เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์สำหรับจบการศึกษา เขาได้ลองนำความร้อนจากธุรกิจการขุดเหรียญดิจิทัลมาให้ความร้อนแก่บ้านเรือน และโรงพยาบาลในช่วงฤดูหนาว

แต่…การขุดเหรียญดิจิทัลเพื่อหาเลี้ยงชีพก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน

แม้แต่เกเบรลก็เคยคิดจะขุดเหรียญเหมือนกัน แต่เมื่อพิจารณาราคาเครื่องขุด ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้า การควบคุมอุณหภูมิเครื่องขุดให้เหมาะสม และการซ่อมบำรุงเครื่องขุด เพื่อที่จะได้สิ่งที่เขาต้องการแล้ว มันดูจะเป็นจะเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสำหรับเขาเท่าไหร่

“การซื้อบิตคอยน์ตรง ๆ ดูจะเป็นวิธีได้บิตคอยน์ที่มันง่ายกว่าสำหรับผม” – เกเบรลกล่าว

เครื่องขุดเหรียญดิจิทัล AntMiner รุ่น L3++ ที่กำลังทำงานอยู่ ในเหมืองขุดแห่งหนึ่งของ อาหมัด อาบู ดาเยอร์  ในหมู่บ้านซารูรีเย่

การใช้เหรียญเทเธอร์ (Tether) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

ถ้าหากเกเบรลต้องการเงินสดสำหรับซื้อของกินของใช้หรือข้าวของจำเป็นอื่น ๆ สิ่งที่เขาจะทำอย่างแรก คือเข้าไปที่เว็บไซต์ออนไลน์ที่ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล ที่มีชื่อว่า “ฟิคโฟลท” (FixedFloat) แล้วเปลี่ยนบิตคอยน์บางส่วนที่ได้รับจากงานฟรีแลนซ์ มาเป็นเหรียญเทเธอร์ (หรืออีกชื่อคือเหรียญ USDT) ซึ่งเป็นเหรียญดิจิทัลที่ตรึงมูลค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นเขาจะเข้าไปยังกลุ่มเทเลแกรม (Telegram) เพื่อนัดหมายแลกเปลี่ยนเหรียญเทเธอร์เป็นเงินดอลลาร์จริง ๆ ถึงแม้ว่าเทเทอร์จะถูกตรึงมูลค่าไว้กับเงินดอลลาร์ทำให้ไม่สามารถมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่มันก็มีคุณสมบัติที่สำคัญกว่า นั่นคือการเป็นสกุลเงินที่ชาวเลบานอนยังให้ความเชื่อมั่น

แต่ละสัปดาห์เกเบรลต้องหาใครสักคนหากต้องการจะแลกเปลี่ยน และเมื่อพบคนที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนกับเขาแล้ว เขาก็จะนัดเจอกัน และเนื่องจากคนเหล่านั้นมักจะเป็นคนแปลกหน้า ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยแล้ว เขาจึงมักจะเลือกสถานที่สาธารณะอย่าง ร้านกาแฟ หรือห้องโถงชั้นล่างตามที่พักอาศัยที่มีไว้ใช้สำหรับรับรองแขก

“มีครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกกลัว เพราะการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นตอนกลางคืน คนที่นัดหมายให้ผมขึ้นไปเจอบนอพาร์ทเม้นท์ของเขา ผมได้ปฏิเสธไป แล้วบอกกับเขาให้ลงมาแลกเปลี่ยนกันที่ริมถนนแทน สุดท้ายแล้วการแลกเปลี่ยนครั้งนั้นก็เป็นไปด้วยดี”

ช่องทางแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้ถูกรับรองโดยกฎหมายนี้ กลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนเหรียญเทเธอร์เป็นเงินดอลลาร์ เงินที่เป็นสกุลเงินหลักที่ถูกใช้งานในระบบเศรษฐกิจของเลบานอนอย่างแพร่หลาย

“มันเป็นเรื่องที่ง่ายดายในเลบานอน หากคุณต้องการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลกับเงินสด เพราะมีหลายคนที่ต้องการจะเปลี่ยนด้วย ” เอล ฮัจ ได้บอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของเขาเอง

การแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในกลุ่มเทเลแกรมที่เกเบรลใช้อยู่นี้  ในแต่ละครั้งมูลค่าการแลกเปลี่ยนมีตั้งแต่ไม่กี่ดอลลาร์ ไปจนถึงหลายแสนดอลลาร์

นอกจากนี้ เครือข่ายของเทเลแกรมที่ถูกใช้เป็นที่นัดหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลกับสกุลเงินเฟียตนี้ มันยังคล้ายคลึงกับระบบการส่งเงินข้ามพรมแดนระหว่างประเทศที่หลายคนใช้ส่งผ่านเงินกันข้ามประเทศ จนเกิดเป็นเครือข่ายส่งเงินที่ซับซ้อนขึ้นมา เรารู้จักกันมันในชื่อ ระบบโพยก๊วน (Hawala System) ซึ่งถูกใช้โดยชาวอาหรับและมุสลิมที่ค้าขายกันในเส้นทางการค้าสายไหมในช่วงศตวรรษที่ 18

กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเลบานอน ได้ปิดทางเข้าตู้เอทีเอ็มในกรุงเบรุตด้วยเทปกาว ในช่วงที่มีการเดินชุมนุมประท้วงระบบธนาคารในวันที่ 11 กันยายน 2019

อาบู ดาเยอร์ ได้ให้บริการสำหรับแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัล ควบคู่กันไปกับธุรกิจการทำเหมืองขุดเหรียญดิจิทัล และเขาคิดค่าบริการ 1% สำหรับคนที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลกับเขา

“เราเริ่มให้บริการแลกเปลี่ยนเหรียญเทเธอร์ พราะมีคนต้องการแลกเปลี่ยนเหรียญนี้เป็นจำนวนมาก” อาบู ดาเยอร์ ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ในตอนนั้นเขายังตกใจอยู่เลย เพราะไม่คิดว่าคนจะต้องการมาใช้บริการแลกเปลี่ยนกับเขามากขนาดนี้

บางคนก็พยายามจะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วยเหรียญเทเธอร์โดยตรง ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการจะเสียค่าบริการในการแลกเปลี่ยน หรือไม่ก็ต้องการเลี่ยงความยุ่งยากในการนัดแลกเปลี่ยนกับคนแปลกหน้า

รูปชายคนหนึ่งที่ยื่นอยู่ที่หน้าร้านที่ให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ในเลบานอน 1 ตุลาคม 2019

ถึงแม้ว่าในเลบานอนนั้น จะพิจารณาการซื้อขายด้วยเงินดิจิทัลให้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ธุรกิจต่าง ๆ ก็เริ่มที่จะโฆษณากันอย่างแข็งขัน ว่าพวกเขารับเงินดิจิทัลเป็นช่องทางในการจ่ายเงินในโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงอินสตาแกรม

“เนื่องจากรัฐบาลมีปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่จะมาสนใจปัญหาที่ว่า ร้านค้าบางร้านเริ่มรับการชำระเงินด้วยเงินดิจิทัล การใช้งานเหรียญเทเธอร์ก็เริ่มแพร่หลาย มีร้านกาแฟ ร้านอาหาร และแม้แต่ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ยอมรับเทเธอร์เป็นช่องทางการชำระเงิน ดังนั้นมันสะดวกมาก หากผมต้องการจะใช้จ่ายด้วยบิตคอยน์ที่ผมมี โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเงินเฟียต ” – เกเบรลกล่าว

เอล ชามา ได้ให้ข้อมูลว่าธุรกิจท้องถิ่นในภูมิภาคชูฟ (Chouf) ก็เริ่มที่จะรับชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของการทำเหมืองขุดเหรียญดิจิทัล

อาบู ดาเยอร์ ก็ได้บอกกับซีเอ็นบีซีผ่านวอตส์แอปป์ว่า เจ้าของร้านอาหารวัย 26 ปี ชื่อว่า จาวาด สแน็ก (Jawad Snack) ในเมืองซิดอน ได้บอกกับเขาว่า อาหารในร้านถูกชำระด้วยเงินดิจิทัลเป็นสัดส่วนประมาณ 30%

การรับชำระเงินเป็นเหรียญเทเธอร์หรือเงินดอลลาร์นั้นมีประโยชน์มาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของเงินปอนด์เลบานอนนั้นพุ่งสูง โดยเมื่อเขารับเงินเหรียญเทเธอร์มา เขาก็จะเปลี่ยนมันเป็นเงินเฟียตโดยใช้ตลาดที่ไม่ผ่านการรับรองทางกฎหมาย ซึ่งปกติก็จะเป็น อาบู ดาเยอร์ เพราะว่าพวกเขาอาศัยอยู่ใกล้กัน

อาบู ดาเยอร์  ก็จะใช้เหรียญเทเธอร์ที่ได้มาเพื่อชำระค่าเครื่องขุดเหรียญที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ก็ยังต้องจ่ายเป็นเงินปอนด์เลบานอน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเช่าสถานที่ ในขณะที่บางส่วนจ่ายเป็นเงินดอลลาร์ เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับระบบทำความเย็น และค่าใช้จ่ายสำหรับระบบรักษาความปลอดภัย

โรงแรมและบริษัทที่ให้บริการนำเที่ยวบางแห่ง ก็เริ่มรับชำระเป็นเหรียญเทเธอร์และรวมถึงช่างซ่อมรถคนหนึ่งในเมืองซิดอน ที่เขาก็รับค่าซ่อมรถเป็นเหรียญเทเธอร์อีกด้วย

รูปแสดง แผนที่หน่วยการบริหารและการปกครองของเลบานอน

รายงานจากผลวิจัยที่ได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลในบล็อกเชน ได้แสดงให้เห็นการเติบโตของการใช้เงินดิจิทัลในการแลกเปลี่ยนจากบุคคลถึงบุคคล (p2p) ในเลบานอนนั้น เพิ่มขึ้นปีละ 120% เลยทีเดียว ถ้าเรานับเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือ การใช้งานเงินดิจิทัลในเลบานอนก็จะถูกจัดอยู่ในอันดับ 2 เป็นรองแค่เพียงตุรเคีย แต่ถ้ารวมทั้งโลก เลบานอนจะอยู่อันดับที่ 56

การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ก็มีส่วนสำคัญ เพราะแม้ว่าเลบานอนจะประสบปัญหาไฟฟ้าดับที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการทอินเตอร์เน็ตอยู่บ่อยครั้ง แต่จากสถิติอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าประชาชนประมาณ 80% ยังสามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตได้ ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมีเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นของตัวเอง และปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็มากพอที่จะทำให้พวกเขาสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตต่อไปได้

“วิธีเก็บเงินที่ง่ายที่สุด นั่นคือการเก็บมันไว้ในโทรศัพท์มือถือ”  – อาบู ดาเยอร์ กล่าว

หญิงชาวเลบานอนยืนอยู่กับตู้เย็นที่ว่างเปล่าในที่พักของเธอ ในเมืองท่าตริโปลี (Tripoli) ทางตอนเหนือของกรุงเบรุต เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2020

การใช้บิตคอยน์เป็นธนาคาร

ในปี 2017 มาร์เซล ยูเนส (Marcel Younes) เภสัชกรคนหนึ่ง ที่มีอาชีพเป็นผู้แทนยาให้กับบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) สาขาเบรุต ได้พยายามสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวเองด้วยการซื้อขายบิตคอยน์

แต่จากนั้นไม่นานยูเนสก็เลิกสนใจซื้อขายและติดตามราคา แล้วหันมาศึกษาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีเป็นแนวคิดพื้นฐานของเงินดิจิทัลทั้งหลาย ซึ่งรวมไปถึง…บิตคอยน์

เมื่อเขาเริ่มศึกษาต่อไป เขาได้สังเกตเห็นความคล้ายคลึงของเลบานอน กับเวเนซุเอลาและอาร์เจนตินา

เมื่อกลางปี 2019 ยูเนสจึงได้ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝาก เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ธนาคารจะเริ่มระงับการถอนเงินของลูกค้าทั้งหมด

“ต้องขอบคุณบิตคอยน์ เพราะหลังจากที่ผมเข้าใจมันแล้ว ทำให้ผมหวาดวิตก และเป็นกังวลกับเงินที่ฝากไว้ในธนาคาร ผมจึงถอนเงินออกจากธนาคารมาเก็บไว้เองทั้งหมด” – ยูเนส กล่าว

ยูเนสบอกกับซีเอ็นบีซีว่า เริ่มแรกเขาเปลี่ยนเงินเก็บ 15% มาเป็นบิตคอยน์ และส่วนที่เหลือเก็บไว้ในรูปแบบเงินสด แต่วันนี้สัดส่วนบิตคอยน์ของเขาเพิ่มมาเป็น 70% แล้ว

“จริง ๆ แล้วผมเคยบอกทุกคนในครอบครัวนะครับ ว่าได้โปรด…ถอนเงินออกมาเก็บไว้เองเหมือนกับผม อย่าเก็บมันไว้ในธนาคาร แต่ก็ไม่มีใครเชื่อผมเลย อาจจะเป็นเพราะผมเป็นเภสัชกร อาชีพที่ไม่ได้เกี่ยวของกับการธนาคาร”  – ยูเนสกล่าว

รอยขีดเขียนบนกำแพง (Graffiti) ที่ระบุคำว่า “ไวรัส” และ “หัวขโมย” บนกำแพงของธนาคารสาขาย่อยของแบงค์ ออฟ เบรุต (Bank of Beirut) ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของเลบานอน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2020

ยูเนสเกิดที่ประเทศโปแลนต์ แต่ในปี 1998 เขาได้ย้ายมาอยู่ที่เลบานอนพร้อมกับครอบครัว สมาชิกในครอบครัวของเขาส่วนใหญ่ทำงานให้กับระบบธนาคารของเลบานอน

“ครอบครัวของผมเชื่อว่า การดำเนินงานทุกอย่างของธนาคารเป็นไปได้ด้วยดี  ดังนั้นพวกเขาบอกให้ผมจงเชื่อมั่นว่าทุกอยากนั้นเรียบร้อยดี” – ยูเนสกล่าว

แต่แล้ว…หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ครอบครัวของเขาก็สูญเสียทรัพย์สินทั้งหมด

พ่อตาของเขาวัย 75 ปี ซึ่งท่านเกษียณมานานหลายปีแล้วก็สูญเสียเงินออมทั้งชีวิตที่เขาฝากไว้กับธนาคาร

“ครอบครัวของผมก็เหมือนกับครอบครัวอื่น ๆ ในเลบานอนที่ได้รับผลกระทบจากการลดมูลค่าของเงินที่ได้ไว้ฝากในธนาคาร และวิกฤติการเงินในประเทศ” – ยูเนสกล่าว

ผลกระทบของปัญหาการอ่อนค่าของเงินปอนด์เลบานอนทำให้รายได้ของประชาชนลดลง

“ยกตัวอย่างป้าของผมที่มีอาชีพเป็นครู ซึ่งเงินเดือนในตอนนี้มีมูลค่าเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์เพียง 50 ดอลลาร์ ส่วนพ่อของเขาที่มีอาชีพเป็นหมอซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี เงินเดือนก็มีมูลค่าลดลงเหลือราว ๆ 500 ดอลลาร์ การอ่อนค่าของเงินปอนด์เลบานอนนั้นค่อย ๆ เกิดขึ้นกินระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งเมื่อนับรวมกันแล้ว เงินปอนด์เลบานอนถือว่าเสื่อมมูลค่าลงกว่า 95% เลยทีเดียว” – ยูเนสกล่าว

ยูเนส ได้ก่อตั้งกลุ่ม “บิตคอยน์ ดู ลิบาน” (Bitcoin du Liban) ซึ่งเป็นการล้อเลียน Banque du Liban (ธนาคารกลางเลบาอน) กลุ่มของเขามีจุดมุ่งหมายที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับบิตคอยน์ในประเทศเลบานอน โดยใช้วิธีต่าง ๆ เช่น การนัดหมายแบบเจอหน้ากัน การสัมมนาออนไลน์ และการพูดคุยให้ความรู้ในกลุ่ม บิตคอยน์ ดู ลิบาน ในเทเลแกรมอีกด้วย

ผู้ชายถือสมาร์ทโฟน ที่แสดงภาพนิ่งที่ได้จากคลิปวีดีโอ แสดงให้เห็นภาพชายถืออาวุธคนหนึ่ง ก่อนหน้าภาพเหตุการณ์นี้ เขาเข้าไปในธนาคารพร้อมกับถือปืนกลและน้ำมัน เพื่อเรียกร้องขอถอนเงินที่เขาฝากเอาไว้จำนวน 209,000 ดอลลาร์ แต่เมื่อถอนเงินไม่ได้ เขาจึงได้จับตัวเจ้าหน้าที่ธนาคารและลูกค้าในธนาคารเป็นตัวประกัน

ข่าวจากหลายสำนักระบุว่า ผู้คนทั่วเลบานอนต่างพากันหวาดกลัวที่จะฝากเงินไว้กับธนาคาร รวมถึงการเก็บเงินไว้ที่บ้าน เพราะมีความเสี่ยงที่โจรจะเข้ามาปล้น ซึ่ง อเล็กซ์ แกลดิสไตน์ (Alex Gladistein) หัวหน้าเจ้าหน้าที่กลยุทธ์ของมูลนิธิด้านสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทำนองนี้ว่า มันได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่เด่นชัดของบิตคอยน์ข้อหนึ่ง

ในแวดวงของบิตคอยน์ มีวลีที่ศักดิ์สิทธ์มากอยู่อันหนึ่ง นั่นคือ “Not you keys, not your coins.” หรือถ้าคุณไม่ได้ถือกุญแจเอาไว้เอง เหรียญนั้นก็จะยังไม่ใช่เหรียญของคุณ ” มันหมายถึง “สิทธิความเป็นเจ้าของ” เงินดิจิทัลที่แท้จริงนั้น เกิดจากการที่คุณเป็นผู้ที่ถือ “รหัสลับ” ที่ทำให้คุณสามารถโอนย้ายเงินจากประเป๋าเงินดิจิทัลนั้น ๆ ได้ด้วยตัวของคุณเอง

“ถ้าคุณเก็บเงินไว้ในธนาคารในเลบานอน มันอาจจะหายไปได้ทั้งหมด ใครจะรู้ว่าคุณจะเห็นเงินเหล่านั้นอีกเมื่อไหร่ และตอนนั้นมันจะมีมูลค่าเหลืออยู่แค่ไหน”

ในขณะที่บิตคอยน์มีราคาขึ้นลงในตลาดซื้อขายทั่วโลก แต่ถ้าคุณถือบิตคอยน์ไว้เอง คุณจะยังมีสินทรัพย์นั้นอยู่เสมอ และคุณสามารถใช้งานได้ตามที่คุณเห็นสมควร คุณสามารถส่งมันไปได้ทุกที่ในโลก มันเป็นคุณสมบัติแสนพิเศษที่ไม่มีในระบบเงินเฟียต” – อเล็กซ์ แกลดิสไตน์กล่าว

มีหลายวิธีในการเก็บเหรียญดิจิทัลด้วยตัวคุณเอง อย่างเช่นการเก็บไว้ในเว็บเทรดเหรียญดิจิทัลอย่าง คอยน์เบส (Coinbase) ไบแนนซ์ (Binance) หรือแม้แต่ เพย์แพล (Paypal) ที่มีบริการเก็บรักษาเหรียญให้ลูกค้า ส่วน อาบู ดาเยอร์ ได้ฝากเหรียญดิจิทัลไว้กับบริการออนไลน์อย่าง คูคอยน์ (KuCoin) และ ไบแนนซ์ อัล ซาทาเรก็ฝากไว้กับไบแนนซ์เช่นกัน

เมื่อผู้ใช้งานเริ่มเข้าใจเทคโนโลยีของเหรียญดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบางครั้งพวกเขาก็จะอยากกำจัดตัวกลางออกไป แล้วถือเหรียญดิจิทัลด้วยตัวเองไว้ในอุปกรณ์เฉพาะทางสำหรับเก็บเหรียญดิจิทัล (Hardware wallet)

ยกตัวอย่างเกเบรลที่เลือกวิธีที่แน้นความเป็นส่วนตัว และมีความปลอดภัย เขาได้รับความรู้นี้มาจากการศึกษาวิธีเก็บรักษาบิตคอยน์ด้วยตัวเอง และเขาก็ได้เก็บบิตคอยน์ไว้ในอุปกรณ์เก็บเหรียญดิจิทัลที่มีขนาดเล็กเท่าหัวแม่โป้ง ที่มีชื่อว่า เทรเซอร์ (Trezor)

รูปแสดง ชายคนหนึ่งที่กำลังถืออุปกรณ์เฉพาะทางสำหรับเก็บเหรียญดิจิทัล (หมายเหตุผู้แปล : นำรูปมาจากต้นฉบับซึ่งเป็นอุปกรณ์เก็บเหรียญที่ชื่อว่า ledger นะครับ)

นอกเหนือไปจากเรื่องความปลอดภัยที่ได้จากการถือกุญแจที่ใช้สำหรับเข้าถึงเงินด้วยตัวเอง และไม่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์กับอินเตอร์เน็ตแล้ว เกเบรลกล่าวว่าสิ่งที่น่าดึงดูดของการใช้งานอุปกรณ์นี้ คือการที่เขาไม่ต้องระบุตัวตนว่าเป็นเจ้าของกระเป๋าบิตคอยน์นั้น ๆ ซึ่งเพิ่มความเป็นส่วนตัวและช่วยปกป้องเขาจากการถูกระงับบัญชีจากรัฐบาล เขายกตัวอย่างประเทศแคนาดา ที่รัฐบาลได้ระงับการใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัลของประชาชนที่ไปยุ่งเกี่ยวกับการประท้วงของกลุ่มผู้ที่ขับรถบรรทุก “ฟรีดอม คอนวอย(Freedom Convoy)

กราฟที่แสดงราคามันดูลายตาไปหมดเลย  มันเหมือนกับเป็นบ่อนพนันขนาดใหญ่ และเขาอยากให้คุณเอาเงินเข้ามาเล่นพนันในนั้น” เกเบรลได้เล่าประสบการณ์ของเขาที่ไม่ดีนักกับตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการรวมศูนย์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.coinatmradar.com ระบุเอาไว้ว่าในประเทศเลบานอนมีตู้เอทีเอ็มบิตคอยน์จำนวน 6 เครื่อง โดย 5 เครื่องอยู่ในกรุงเบรุต ส่วนอีก 1 เครื่องอยู่ที่เมืองอามชิต (Aamachit) ซึ่งช่องทางในการเข้าถึงบิตคอยน์ในเลบานอน คือได้มันมาจากการขุดโดยตรง ได้เป็นค่าจ้างจากทำงาน และได้จากการซื้อบิตคอยน์ด้วยเหรียญเทเธอร์

พ่อค้าแล่ปลาใช้โทรศัพท์มือถือให้แสงสว่างขณะทำงานแล่เนื้อปลาในตลาดสด เนื่องจากแบตเตอรี่ไฟฉายแบบพกพานั้นหมด ในกรุงเบรุต เลบานอน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2021

เมื่อพูดเรื่องการรักษาความมั่งคั่งโดยใช้บิตคอยน์ ทรัพย์สินที่มีความชัดเจนว่ายังมีราคาที่ผันผวนอยู่ โดยที่ราคาของบิตคอยน์นั้นลดลงไปแล้วมากกว่า 70% นับตั้งแต่ปีที่แล้ว

ยูเนสย้ำกับซีเอ็นบีซีว่าเขาไม่กังวลเรื่องของราคาที่ผันผวนของบิตคอยน์ โดยกล่าวไว้ว่า “มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองในช่วงเวลาที่นานขนาดไหน เพราะถ้าย้อนกลับไปสัก 2-3 ปีก่อน ราคาบิตคอยน์ก็อยู่ที่ประมาณ 3,500 ดอลลาร์” 

ตอนที่ยูเนสซื้อบิตคอยน์ครั้งแรกที่ราคาประมาณ 20,000 ดอลลาร์ ดังนั้นจนถึงวันนี้เขาจึงแทบจะไม่ได้กำไรอะไรเลย เป็นความจริงที่ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่คือ การเดิมพันกับระบบการเงินใหม่ เป็นการลงทุนในเงินดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

บิตคอยน์เป็นระบบที่ไม่มีใครสามารถทำลายได้ ระบบที่ไม่ต้องขออนุญาตใครเพื่อใช้งาน และไม่มีใครสามารถกีดกันการใช้งานของคุณได้ ไม่มีใครที่จะสามารถจะลดคุณค่าของบิตคอยน์ของคุณ ด้วยนโยบายการเงินของบิตคอยน์ที่มีอุปทานจำกัดจำนวนสูงสุดไม่เกิน 21 ล้านเหรียญ

“เงิน” เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเชื่อใจของคนที่เข้ามาใช้ สำหรับประชาชนในเลบานอน บิตคอยน์เป็นเหมือน “เรือชูชีพ” เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤติการเงิน แต่สำหรับผู้คนในประเทศอื่นที่ระบบการเงินยังใช้งานได้ดีอยู่ บิตคอยน์อาจเป็นสิ่งที่ดูไม่น่าสนใจเอาซะเลย

แต่กับ เอล ชามา มันต่างออกไป แม้ว่าเขาจะเข้าไปทำข่าวที่เหมืองขุดเหรียญดิจิทัลของอาบู ดาเยอร์อยู่ตลอด เขาก็ยังไม่ได้เชื่อมั่นในเงินดิจิทัล

“ผมรู้สึกดีใจนะ ที่ไม่ได้เชื่อมั่นอะไรกับมันมาก คุณลองดูราคาบิตคอยน์และอีเธอร์เรียมในวันนี้ดูสิครับ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มันมีมูลค่าเหลือแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง”

“ผมยังมีสิ่งที่ทำให้กังวลเกี่ยวกับเงินดิจิทัลอยู่บ้าง เนื่องจาก วอร์เร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ได้เคยพูดไว้ว่า เงินดิจิทัลพวกนี้ไม่มีมูลค่าในตัวของมันเอง (Intrinsic value) วิธีเดียวที่คุณจะได้ประโยชน์จากมันคือการหาทางขายต่อให้ผู้อื่น ดังนั้นสำหรับผมแล้วมันจึงดูไม่เข้าท่าเอาซะเลย” – เอล ชามากล่าว

บทสรุปจากผู้แปล

ก่อนอื่นผมขอเกริ่นถึงที่มาของการแปลนี้ก่อนละกันนะครับ มันเกิดมาจากที่คุณ Pawee Wachira ได้เอาบทความนี้มาโพสต์ในกลุ่ม Siamese Bitcoiner และได้แนะนำให้ทีมงาน Right Shift นำมาแปล หลังจากผมได้เข้าไปอ่าน ก็เห็นด้วยว่ามันเป็นบทความที่น่าจะมีประโยชน์ จึงเอามาแปลให้เพื่อนๆ ชาวบิตคอยน์ได้อ่านกัน

ต้องขอขอบคุณคุณ Pawee Wachira อีกครั้งที่แนะนำบทความนี้นะครับ ส่วนใครมีบทความไหนน่าสนใจอยากให้ผมแปลก็แนะนำกันมาได้ครับ

ในความคิดของผม เลบานอนไม่ได้เป็นประเทศแรกที่ประสบกับปัญหาเงินเฟ้อจากการพิมพ์เงิน จากการบริหารเงินที่ผิดพลาดของมนุษย์ และคงไม่ใช่ที่สุดท้ายในโลก เพราะเหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในโลก แม้แต่ในประเทศของเรา แล้วคุณมีวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดวิกฤติเหล่านี้แล้วรึยัง ก็ขอฝากบทความนี้ย้ำเตือนทุกคนไว้ด้วยนะครับ

Secretman DF

SecretmanDF

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

One comment

  1. รับ sats ไป!! แปลได้เยี่ยมเลยครับ ไม่ต้องให้เครดิตผมก็ได้ ผมแค่เอาลิ้งค์บทความมาแชร์เอง เขิลเลย แหะๆ

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Psychology
SecretmanDF

Personal challenge

สิ่งที่มีความจำกัดอย่างแท้จริงของมนุษย์ที่เป็นความสัจจริงนั่นก็คือ “เวลาของมนุษย์เอง” เพราะไม่มีมนุษย์คนใดที่จะมีชีวิตอยู่ยงคงกระพันไปตลอดได้ น่าเสียดาย ที่มนุษย์ใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไปกับสิ่งที่ตัวเองไม่มีความสุข ไม่มีโอกาสทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตของเขาต้องการอะไร..

Read More »