ผู้เขียน : Brandon Quittem
บทความต้นฉบับ : Bitcoin is The Mycelium of Money // เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2020
เกี่ยวกับผู้เขียน : ผู้ก่อตั้ง @SwanBitcoin | เป็นโฮสต์รายการ Bitcoin Meetups in Minneapolis @BitcoinersMPLS | เป็นที่ปรึกษาที่ @sazmining
เราต่างก็เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับศักยภาพอันน่าทึ่งของบิตคอยน์ ตัวผมเองก็สนับสนุนแนวคิดเงินที่มั่นคง และระบบที่สามารถรองรับการขยายตัวของสังคมได้ แต่ดราม่านี้ต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าจะรู้ผล แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากบิตคอยน์ไม่สามารถอยู่รอดได้นานพอ เพื่อที่ตัวมันจะแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่?
ต้องขอขอบคุณ ซาโตชิ ที่ได้ศึกษาบทเรียนจากความล้มเหลวในการพยายามสร้างเงินของภาคเอกชนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ โค้ดของบิตคอยน์จึงได้รับการออกแบบเพื่อให้มีความสามารถในการอยู่รอดขั้นสูงสุด
ในบทนี้เราจะมาสำรวจภาพรวมของสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์พร้อมต่อการเติบโต และความสามารถในการเอาตัวรอดของบิตคอยน์ผ่านมุมมองของฟังไจ
ในส่วนบทความซีรีส์นี้ของผมมี 4 ตอนดังนี้ครับ :
- ตอนที่ 1 : บิตคอยน์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้ศูนย์กลาง (เหมือนไมซีเลียม)
- ตอนที่ 2 : บิตคอยน์เป็นสิ่งมีชีวิตเชิงสังคม (เหมือนเห็ด)
- ตอนที่ 3 : บิตคอยน์คือแอนตี้ไวรัส (เหมือนยา) → ซึ่งคือตอนนี้ที่คุณกำลังอ่านอยู่
- ตอนที่ 4 : บิตคอยน์คือตัวเร่งวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (เหมือนการพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิต)
ไปลุยกันเลยครับ!
สารบัญบทความ
ผึ้ง ไรวาร์โรอา และสารสกัดจากเห็ด
ในปี 1997 ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเชื้อราผู้มีความอยากรู้อยากเห็นนามว่า “พอล สแตเม็ตส์” (Paul Stamets) ได้สังเกตเห็นพฤติกรรมอันแปลกประหลาดของผึ้ง เขาพบว่าเหล่าฝูงผึ้งจงใจที่จะเลือกดื่มน้ำที่มีสปอร์ของเห็ด “อืม.. ช่างเป็นอะไรที่น่าสนใจ” พอลคิด..
15 ปีต่อมา พอลก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ พวกผึ้งกำลังตายอย่างรวดเร็วด้วย “โรครวงผึ้งล่มสลาย” หรือโรค CCD ที่ย่อมาจาก Colony Collapse Disorder ผึ้งบางส่วนกำลังจะตายจากการติดเชื้อไวรัสอันตรายซึ่งได้รับมาจากตัวไร “วาร์โรอา” (Varroa Mite) ซึ่งเป็นพาหะของไวรัสอันตรายอย่าง ไวรัสปีกพิการ หรือ Deformed Wing Virus และไวรัสแอลเอสวี หรือ Lake Sinai Virus
การใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมการเกษตรยุคใหม่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผึ้งอ่อนแอลง จนไม่สามารถปกป้องตัวเองจากตัวไรวาร์โรอาได้ เมื่อผึ้งบินไปตามที่ต่าง ๆ มันจะพาตัวไรนี้ไปติดยังผึ้งตัวอื่น ๆ ด้วย ส่งผลให้ประชากรผึ้งลดจำนวนลงไปมากถึง 70% นับตั้งแต่ปี 2005
แล้วใครจะไปสนใจผึ้งกันล่ะ?
ผึ้งเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งทำหน้าที่ผสมเกสรในแหล่งอาหารส่วนใหญ่ของเรา เช่น อโวคาโด, อัลมอนด์ ฯลฯ ถ้าเราเสียผึ้งเหล่านี้ไปจะส่งผลกระทบตามมาอย่างมากมายนับไม่ถ้วน เช่น เกิดคนตกงานจำนวนมาก, ระบบนิเวศพังทลาย และเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร
ภาพอธิบายถึง : สินค้าทางการเกษตรที่ขายในห้างสรรพสินค้าจะมีความหลากหลายและมีปริมาณที่มากขึ้น หากมีผู้ผึ้งคอยช่วยผสมเกสรในแหล่งเพาะปลูกอาหาร ดังคำกล่าวที่ว่า “No-bees-no-dinner” หรือแปลเป็นไทยว่า “หากไร้ฝูงผึ้งเราก็ปราศจากอาหารมื้อเย็น”
กลับมาที่คุณพอลผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อราของเราซึ่งได้ทำการค้นพบครั้งสำคัญในปี 2012 เขาพบว่าฟังไจเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับผึ้ง พวกผึ้งจะรับรู้โดยสัญชาตญาณว่าต้องดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของฟังไจ พอลจึงได้ทำการทดสอบสมมุติฐานของเขาโดยใช้ยาต้านไวรัสซึ่ง “สกัดมาจากเห็ด” โดยผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าเราสามารถลดความรุนแรงของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสปีกพิการ (หรือ Deformed Wing Virus) และลดปัญหาผึ้งตายยกรังได้มากถึง 80%
นโยบายทางการเงินในปัจจุบันเปรียบได้กับ “ตัวไรวาร์โรอา”
ระบบการเงินในปัจจุบันซึ่งวางรากฐานอยู่บนธนาคารกลาง เปรียบได้กับตัวไรวาร์โรอาน่ารำคาญที่กำลังทำลายตลาดทุนของเรา
- ตัวไรวาร์โรอานั้นยากที่จะถูกกำจัด – เช่นเดียวกับสกุลเงินเฟียตที่เรืองอำนาจอยู่บนการผูกขาด และควบคุมตลาด
- พวกมันแพร่เชื้อไวรัสไปยังทุกสิ่งที่มันได้สัมผัส – เหมือนตลาดที่ถูกบิดเบือน, การเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง และการติดสินบนเจ้าหน้าที่
- ผลกระทบที่ตามมา คือ เกิดการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม, คนมีพฤติกรรมเห็นแก่ผลตอบแทนระยะสั้นกันมากขึ้น, ผลิตผลของมนุษยชาติถูกจำกัด และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะขึ้นภายหลัง
บิตคอยน์เป็นยาต้านไวรัส (เหมือนสารสกัดจากเห็ด) ที่ช่วยป้องกันการล่มสลายของอาณาจักรผึ้ง
บิตคอยน์เป็นดังสารสกัดจากเห็ดที่คอยป้องกันการแผ่ขยายอำนาจทางการเงินอันแสนชั่วร้าย ซึ่งเปรียบได้กับตัวไรไวร์โรอา บิตคอยน์จะพาพวกเราไปสู่ยุคใหม่แห่งความรุ่งโรจน์ (เสมือนการช่วยเหลือผึ้งที่จะมีผลพลอยได้เป็นการช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร)
ก้าวสู่ยุครุ่งเรืองที่เกินจะคาดเดา
เรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งความไม่แน่นอนที่ยังไม่เคยปรากฏในอารยธรรมของมนุษย์มาก่อน ระบบเงินเฟียตกำลังสั่นคลอนโลก และระบบทางสังคมของเรากำลังเริ่มพังทลาย
ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางอังกฤษ ในปัจจุบันได้กลายเป็นเจ้าหนี้กองมหึมาของรัฐบาลตัวเองไปแล้ว เหล่าธนาคารกลางทั้งหลายกำลังเผชิญกับทางตัน
เราได้เห็นการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของธนาคารกลางยุโรปซึ่งกำลังผลักดันนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ เราจะอนุญาตให้ระบบธนาคารบ้าอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการฝากเงินเฟียตดิจิทัลของเราใน คุกวงแหวน* ของพวกเขาอีกอย่างงั้นหรือ?
*หมายเหตุผู้แปล – คุกวงแหวน คือ คุกรูปทรงวงกลมที่มีห้องขังของนักโทษรายล้อมและมีหอผู้คุมเดียวตั้งอยู่ตรงกลาง สำหรับใช้ดูแลนักโทษทั้งหมด
ส่องกล้องมองจีน
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังประสบกับความระส่ำระสาย และยังคงไม่ฟื้นตัว รอได้รับการเยียวยามาอย่างยาวนาน มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเคลื่อนย้าย และความพยายามในการแสวงหาผลตอบแทนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจอันซบเซา ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนพุ่งสูงขึ้น คราวนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อตลาดปรับฐาน ผู้คนคงจะหนีตายกันจ้าละหวั่น มันคงดีกว่าถ้าหากพวกเราได้เตรียมแผนสำรอง (อย่างบิตคอยน์) เอาไว้
แล้วที่อเมริกาล่ะ?
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีหนี้สินอยู่มากกว่า 22 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือ ประมาณ 682 ล้านล้านบาท) แต่อย่าคิดว่าอเมริกาจะผิดนัดชำระหนี้ เพราะ “อลัน กรีนแสปน” (Alan Greenspan) อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐเคยกล่าวเอาไว้ว่า “สหรัฐฯ สามารถจัดการกับหนี้อะไรก็ได้ เพราะเราสามารถพิมพ์เงินออกมาจ่ายได้เสมอ”
บทความ “This is Water” ของเบ็น ฮันท์ (Ben Hunt) ได้ช่วยอธิบายว่าเพราะอะไรการบิดเบือนและกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ หรือใช้นโยบายสร้างเงินออกมาง่าย ๆ นั้น ในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การลดทอนประสิทธิภาพด้านการผลิต และเปลี่ยนบริษัทมากมายในตลาดให้กลายสภาพเป็น “บริษัทซอมบี้*” ได้ สถานการณ์เดียวกันนี้เคยเป็นสัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นก่อนวิกฤตการทางการเงินในปี 2008-2009 มาแล้วเช่นกัน
*หมายเหตุผู้แปล – บริษัทซอมบี้ คือ บริษัทที่มีหนี้สินเกินตัวและไม่มีปัญญาใช้หนี้ แต่ที่ยังดำรงอยู่ได้เป็นเพราะการสนับสนุนจากธนาคารและรัฐบาล ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วแต่ยังเดินได้
ทฤษฎีกำแพงแห่งการวิวัฒนาการ
ทฤษฎีกำแพงแห่งการวิวัฒนาการถูกสร้างขึ้นมาหลังพบว่าเราล้มเหลวในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในจักรวาลนี้ พวกเขาอยู่ที่ไหนกัน?
ทฤษฎีนี้ทำนายเอาไว้ว่า : ในระหว่างกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต มักจะมีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้แทบมองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการก้าวข้ามมันไป สิ่งที่คอยขวางกั้นอยู่ คือ “กำแพงแห่งการวิวัฒนาการ” หรือ “The Great Filter” นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น จะเป็นอย่างไรหากทุกครั้งที่อารยธรรมขั้นสูงสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาได้ มันจะนำไปสู่จุดจบจากการทำลายตัวเองใช่ไหม? ในสถานการณ์สมมุตินี้ จึงมีโอกาสเชิงสถิติน้อยมากที่มนุษย์จะดำรงอยู่ได้นานหลังการประดิษฐ์คิดค้นอาวุธนิวเคลียร์
ทำไมรัฐชาติหรือธุรกิจยักษ์ใหญ่จึงต้องการโจมตีผู้ท้าชิงในระบบการเงิน
สรุปได้สั้น ๆ ว่า : ผู้ใดมีทองคำ ผู้นั้นสร้างกฎ
ประโยชน์หลักสองประการของการควบคุมอุปทานเงิน คือ ความสามารถในการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าสู่ระบบ ซึ่งถือเป็นการเก็บภาษีทางอ้อม* และ สร้างปรากฏการณ์คันทิลลอนเอฟเฟกต์ (Cantillon effect หรือที่ออกเสียงแบบต้นฉบับฝรั่งเศสว่า “ก็องติญง”)
*หมายเหตุผู้แปล – เมื่ออุปทานเงินเพิ่มขึ้น มูลค่าเงินต่อหน่วยก็จะลดลง ทำให้เงินที่เรามีจับจ่ายใช้สอยได้น้อยลงเรื่อย ๆ ไม่ต่างกับการโดนเก็บภาษีนั่นเอง
คันทิลลอนเอฟเฟกต์ อธิบายถึงความไม่เท่าเทียมในการกระจายอุปทานเงิน เมื่อธนาคารกลางพิมพ์เงินใหม่ออกมา ใครที่อยู่ใกล้กับแหล่งผลิตเงิน เช่น ธนาคารต่าง ๆ และเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็จะได้รับประโยชน์จากเงินสร้างง่ายเหล่านี้ก่อน กว่าที่เงินก้อนนี้จะเริ่มกระจายไปสู่มือประชาชน ราคาสินค้าก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นไปแล้ว
คัลทิลลอนเอฟเฟกต์ ส่งผลให้เกิดการดูดเอาความมั่งคั่งจากคนจนไปสู่คนรวย
ผมไม่สนว่าหุ่นเชิดที่อยู่บนบัลลังก์เพื่อปกครองอังกฤษ ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินนี้จะเป็นใคร เพราะผู้ที่คุมอุปทานของเงินต่างหากคือคนคุมจักรวรรดิอังกฤษ และเป็นผมเองที่ควบคุมอุปทานของเงินอังกฤษ
- นาธาน เมเยอร์ ร็อธส์ไชลด์ (Nathan Mayer Rothschild)
รัฐบาลพร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องอำนาจการผูกขาดของตัวเอง
เช่นเดียวกับ อีโกลด์ (E-gold) ในยุค 1990 สกุลเงินดิจิทัลต่างแข่งกันเติบโตในช่วงเวลาแห่งความสงบ ทว่าจนถึงจุดหนึ่งเมื่อผู้ครองอำนาจรู้สึกไม่ชอบใจ พวกเขาก็จะออกมาจัดการมันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เหตุการณ์เหล่านี้มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในหน้าประวัติศาสตร์
ระหว่างปี 2006-2008 ภายใต้รัฐบัญญัติรักชาติ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขยายคำจำกัดความของ “ใบอนุญาตในการเป็นตัวกลางการซื้อขายหลักทรัพย์” เพื่อจัดการกับ อีโกลด์ โดยในช่วงเวลาที่ อีโกลด์ รุ่งเรืองที่สุดนั้น มันเคยมีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โชคไม่ดีนักที่รัฐบาลอเมริกาได้ฉวยโอกาสโจมตีไปยังจุดอ่อนจากการเป็นระบบรวมศูนย์ของอีโกลด์ และทำให้มันต้องปิดตัวลงไปในที่สุด
เราได้อะไรเป็นบทเรียน? อ๋อ.. พวกรัฐบาลไม่ชอบการแข่งขัน
อันที่จริง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐแคลิฟอร์เนียนามว่า เชอร์แมน (Sherman) ได้เคยออกมาเรียกร้องให้มีการแบนบิตคอยน์ในทุกรูปแบบมาแล้ว เชอร์แมนตระหนักถึงภัยคุกคามได้อย่างน่าประหลาดใจ เขาเข้าใจภารกิจที่แท้จริงของบิตคอยน์ นั่นก็คือการสร้างระบบการเงินใหม่ของโลกที่จะไม่มีกลุ่มอำนาจใดสามารถใช้มันเป็นอาวุธได้
ได้เวลาแห่งยุทธวิธีใหม่ : จงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยับยั้งได้
ในปี 1984 นักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังชาวออสเตรียน ฟรีดริช ออกุสต์ ฟอน ฮาเย็ก (Friedrich August von Hayek) ได้วางรากฐานให้กับการวิวัฒนาการของบิตคอยน์ไว้โดยไม่รู้ตัว นั่นคือ ทำให้มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจยับยั้งได้
“ผมไม่เชื่อว่าเราจะมีเงินที่ดีได้อีกครั้ง เว้นแต่ว่าเราจะสามารถเอาอำนาจการควบคุมของรัฐบาลออกไปให้ได้เสียก่อน เราไม่อาจใช้กำลังไปยึดเอามันมาได้ สิ่งที่เราทำได้คือใช้วิธีอ้อม ๆ บางอย่างที่พวกเขาจะไม่สามารถยับยั้งได้”
- ฟรีดริช ฮาเย็ก (Friedrich Hayek)
ด้วยวิสัยทัศน์อันเฉียบคมของฮาเย็ก เท่ากับว่าเขาได้ทำนายการเกิดขึ้นของบิตคอยน์เอาไว้ล่วงหน้าถึง 25 ปี
เห็นได้ชัดว่าซาโตชิคงได้อ่านหนังสือของฮาเย็ก และเข้าใจดีถึงกำแพงเเห่งวิวัฒนาการที่จะคอยขัดขวางสกุลเงินดิจิทัล
ในปี 2009 ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ได้เปิดตัวประดิษฐกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิด “เงินที่ไม่อาจยับยั้งได้” ของฮาเย็ก บิตคอยน์ได้ถูกออกแบบมาให้ก้าวข้าม “กำแพงเเห่งวิวัฒนาการ” มาตั้งแต่วันแรก
หลายคนปฏิเสธแนวคิดของเงินดิจิทัลทันที เพราะความล้มเหลวในช่วงทศวรรษ 1990 ผมหวังว่ามันจะเป็นความล้มเหลวที่ชัดเจน ว่ามันเกิดจากการที่มีศูนย์กลางคอยควบคุมระบบเหล่านั้น ผมคิดว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ลองระบบเงินที่ไม่มีศูนย์กลาง ระบบที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจกัน
- ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto)
เพื่อให้บิตคอยน์ได้แสดงศักยภาพจนกลายเป็นที่ประจักษ์ มันต้องมีความทนทานที่แม้กระทั่งการโจมตีจากรัฐบาลก็ไม่สามารถทำลายมันลงได้ รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้ใครก็ตามสามารถเข้ามาควบคุมระบบทั้งหมดของมันได้อีกด้วย
คล้ายกับฟังไจ : สิ่งมีชีวิตที่มีความทนทานมากที่สุดในโลก
มากกว่า 1,300 ล้านปีของการวิวัฒนาการ ฟังไจได้บรรลุศิลปะแห่งการมีชีวิตรอดได้อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่ฟังไจไม่เหมือนกับพืชชนิดอื่น คือ มันไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแสงแดด ในทางตรงข้ามมันสามารถสร้างหรือหาอาหารเองได้ ฟังไจไม่มีศูนย์กลางซึ่งคุณสมบัตินี้ทำให้มันสามารถต้านทานการโจมตีได้ กระทั่งเมื่อถูกรบกวนอย่างหนัก ฟังไจก็จะขโมยรหัสพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศรอบ ๆ ตัวมัน และนำมาปรับใช้เพื่อความอยู่รอดได้ (เหมือนการส่งต่อยีนข้ามสายพันธุ์)
นับตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนได้เริ่มวิวัฒนาการขึ้นบนโลกของเรา เราได้พบกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งทำให้ 75-96% ของสิ่งมีชีวิตบนโลกต้องล้มหายตายจากไป
ในภัยพิบัติแต่ละเหตุการณ์ ฟังไจได้ก้าวขึ้นมารับช่วงสืบทอดโลกด้วยคุณสมบัติในการต่อต้านการถูกทำลายตามธรรมชาติของพวกมัน และเพื่อให้บิตคอยน์สามารถเอาตัวรอดผ่าน “กำแพงแห่งวิวัฒนาการ” ได้ด้วยเช่นกัน บิตคอยน์จึงได้เลียนแบบกลยุทธ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราสามารถพบเห็นกลยุทธ์ดังกล่าวได้ในอาณาจักรฟังไจ
บิตคอยน์จะก้าวข้ามกำแพงแห่งวิวัฒนาการนี้ได้หรือไม่?
คุณจะฆ่าบิตคอยน์ได้อย่างไร? ปิดอินเทอร์เน็ตอย่างนั้นหรือ? ออกกฎหมายห้ามนำมาใช้งาน? หรือจะเก็บภาษีบิตคอยน์อย่างบ้าคลั่ง?
สกุลเงินดิจิทัลใด ๆ ที่ไม่สามารถเอาตัวรอดจากการโจมตีระดับชาติได้ล้วนไร้ความหมาย พวกมันทำได้เพียงชะลอความตายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น
ซาโตชิได้ทำการออกแบบบิตคอยน์ให้เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นยอดที่จะสามารถก้าวข้าม “กำแพงแห่งวิวัฒนาการ” และต่อต้านการคอร์รัปชันได้ เป้าหมายอันสูงส่งนี้ต้องเริ่มต้นเส้นทางด้วยการแยกบิตคอยน์ออกจากสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทฯ) และ “โปรเจกต์บล็อกเชน” อื่นๆ ทั้งหมด
มันเป็นการรับประกันว่าบิตคอยน์จะรอดจากกำแพงแห่งวิวัฒนาการนี้ได้ใช่ไหม?
ไม่จำเป็น.. เราแทบไม่มีทางรู้ได้เลย จนกว่าจะถึงวันที่บิตคอยน์โดนรุมโจมตีจากการร่วมมือกันของนานาประเทศ อย่างไรก็ตาม บิตคอยน์เป็นเพียงสกุลเงินเดียวในตอนนี้ที่มีโอกาสจะทำได้สำเร็จ ลองมาดูแนวโน้มเชิงบวกจากชุดเครื่องมือในการเอาตัวรอดของบิตคอยน์กันดีกว่า
- บิตคอยน์ไม่สามารถถูกควบคุมได้
ไม่มีบุคคลหรือองค์กรใดเป็นผู้รับผิดชอบ มันแสดงออกอย่างเสรีผ่านทางโค้ด แต่ละประเทศต่างกำลังแข่งขันกันออกมาตรการควบคุมของตัวเอง - ทฤษฎีเกมปกป้องบิตคอยน์จากการถูกรุมโจมตีทั่วโลก
แต่ละประเทศต่างก็มีการแข่งขันกันเองอยู่ตลอดเวลา จึงไม่น่าจะได้เห็นการร่วมมือกันของประเทศชั้นแนวหน้า หากอเมริกาห้ามใช้บิตคอยน์ จีนจะมีแรงจูงใจให้หันมายอมรับบิตคอยน์ ประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากระบบสกุลเงินดอลลาร์ในปัจจุบันก็จะมีแรงจูงใจให้หันมายอมรับบิตคอยน์เช่นเดียวกัน - พรูฟ-ออฟ-เวิร์กของบิตคอยน์ปกป้องการบันทึกธุรกรรมไว้ด้วย “เกราะป้องกันจากพลังงาน”
โดยเชื่อมโยงบิตคอยน์เข้ากับสิ่งที่มีมูลค่าจริงทางเศรษฐกิจอย่างพลังงาน ทางเดียวที่จะสามารถแก้ไขบันทึกธุรกรรมได้คือการ “ทำงานทั้งหมดขึ้นมาใหม่” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือต้องจ่ายเงินจำนวนเท่ากันในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้า (ที่มา @danheld) - บิตคอยน์สร้างความลุ่มหลงศรัทธาในเหล่าผู้สนับสนุน
เหล่าสาวกหัวแข็งที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์คอยทำหน้าที่เป็นดั่งระบบภูมิคุ้มกันให้กับบิตคอยน์ การมีชีวิตรอดผ่านสงครามขนาดบล็อก (NYA/S2X: New York Agreement / Segwit 2X) แสดงให้เห็นถึงบทบาทดังกล่าว ชาวบิตคอยน์จะคอย “ยิงคุ้มกัน” ให้ จนกว่าบิตคอยน์จะวิ่งฝ่าเหล่าศัตรูไปได้ (ที่มา: Bitcoin Sign Guy) - บิตคอยน์สามารถหลบเลี่ยงการกีดกันของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้
บิตคอยน์มีเครือข่ายทางเลือกสำหรับใช้ทดแทนระบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เครือข่ายแบบเมซ, วิทยุสมัครเล่น และระบบดาวเทียม หรือแม้กระทั่งอาจกำหนดเส้นทางส่งธุรกรรมผ่านเครือข่ายของไมซีเลียม (ซึ่งในทางทฤษฎีมันมีความเป็นไปได้นะ) - บิตคอยน์เป็นแนวคิด และแนวคิดไม่มีวันตาย
บิตคอยน์แพร่กระจายเหมือนไวรัสทางความคิด แม้ตัวระบบในปัจจุบันจะ “ถูกฆ่าตาย” แต่แนวคิดจะยังคงอยู่ตลอดไป “เจ้าสโนว์เเครช* (Snow Crash) นี่มันเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์, เป็นยาเสพติด หรือเป็นลัทธิกันแน่? แล้วมันจะต่างกันตรงไหน?” (ที่มา : @nealstephenson)
(*หมายเหตุผู้แปล : สโนว์แครช (Snow crash) เป็น ชื่อของไวรัสคอมพิวเตอร์ ที่เป็นไวรัสกึ่งยาเสพติดที่อวตารของผู้ใช้สามารถเสพได้ในเมตาเวิร์ส การเสพยาเกินขนาดในเมตาเวิร์สจะทำให้อวตาร ‘ล่ม’ (Crash) ในเมตาเวิร์ส ก่อนที่ผู้ใช้จะเห็นชุดภาษาโปรแกรมเป็นเส้นสายสีขาวดุจหิมะและเสียชีวิตลงในโลกแห่งความจริง ― นิยายจากผู้แต่ง Neal Stephenson เรื่อง Snow Crash
ที่มา https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100996)
ทฤษฎีเกมทางเลือก : ฮันนีแบดเจอร์ (Honey Badger) อยู่ที่นี่แล้ว
บิตคอยน์จำเป็นต้องโน้มน้าวมหาอำนาจเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เพื่อให้เล็งเห็นว่าการยอมรับมันนั้นมีประโยชน์คุ้มค่ากว่าความเสี่ยงจากการพยายามโจมตีมัน
ทฤษฎีเกมนี้คล้ายกับการมีป้ายติดไว้หน้าบ้านของคุณซึ่งระบุเอาไว้ว่า “ที่นี่ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย” หรือ “ระวังสุนัขดุ” ไม่สำคัญเลยว่าคุณจะมีสุนัขหรือระบบรักษาความปลอดภัยเหล่านั้นจริง ๆ หรือไม่ แค่ภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็สามารถยับยั้งความคิดของบรรดาผู้รุกรานได้แล้ว
บิตคอยน์เองก็มีป้ายแขวนไว้เช่นกัน ซึ่งระบุไว้ว่า “ระวังฮันนีแบดเจอร์*” ป้ายนี้จะคอยเตือนสติประเทศต่าง ๆ ว่าพวกเขาไม่มีทางกำจัดบิตคอยน์ได้ง่าย ๆ
หากเหล่ารัฐชาติพยายามจะทำลายคู่แข่งทางการเงินอย่างบิตคอยน์ พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับการทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งมันเป็นอันดับแรก ๆ แต่หากพวกเขาเลือกที่จะคอยเฝ้าดูมันไปนานเท่าไร บิตคอยน์ก็ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น
*หมายเหตุผู้แปล – ตัวฮันนี่แบดเจอร์ (honey badger) นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความอึดตายยากและความแข็งแกร่งสมบุกสมบันยิ่งกว่าอะไร ด้วยลักษณะอันน่าทึ่งของมันทำให้ถูกเอามาเปรียบเทียบกับบิตคอยน์ (Bitcoin) ได้เป็นอย่างดี
“อุตสาหกรรมบล็อกเชน” คือ การเบี่ยงเบนความสนใจ
สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การเข้าใจว่าเหล่าผู้นิยมชมชอบในเทคโนโลยีบล็อกเชน, สเตเบิ้ลคอยน์, โทเคนแทนหลักทรัพย์ หรือบล็อกเชนสำหรับใช้งานในองค์กรต่าง ๆ ล้วนไม่ใช่คู่แข่งของบิตคอยน์ พวกเขาจัดเป็นสายพันธุ์ข้างเคียงที่พยายามสร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มลูกค้าเฉพาะของตัวเอง
โดยทั่วไปเเล้ว “อุตสาหกรรมบล็อกเชน” คือการเบี่ยงเบนความสนใจ (หรือ Red Herring) ซึ่งนำพาธุรกิจและรัฐบาลทั้งหลายไปสู่บทสรุปอันผิดพลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความสับสน และกลายเป็นสิ่งที่คอยคุ้มกันบิตคอยน์โดยไม่ได้ตั้งใจ
นี่หมายความว่าเราไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับพวกที่นิยมในบล็อกเชนใช่หรือเปล่า? เปล่าเลย.. พวกเขาแค่เห่อตามกระแสผิด ๆ คิดไปเองว่าบล็อกเชน (ที่เทียบเท่าแค่ดอกเห็ด) ยิ่งใหญกว่าบิตคอยน์ (ซึ่งเทียบเท่าเครือข่ายไมซีเลียม)
เราควรจะพยายามให้ความรู้กับพวกเขาเสียก่อน เพราะคนส่วนใหญ่เดิมทีก็ไม่ได้เกิดมาเป็นชาวบิตคอยน์ แต่ก็อย่างที่ผมเคยได้กล่าวไป หากใครตั้งใจจะเข้ามาหลอกลวงผู้อื่น คนเหล่านั้นก็สมควรได้รับความพินาศย่อยยับ
“อุตสาหกรรมบล็อกเชน” มีส่วนช่วยบิตคอยน์ได้อย่างไร
กลุ่มผู้นิยมในบล็อกเชนมักมีความเชื่อมโยงกับทรัพยากรของภาครัฐ พวกเขาสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ขึ้นมา สร้างความสับสนให้กับหน่วยงานกำกับดูแล และกล่อมพวกนายธนาคารให้หลับใหล
ธนาคารอย่าง เจพี มอร์แกน (JP Morgan) จะฝึกฝนนักพัฒนาบล็อกเชนหลายร้อยคน ซึ่งในที่สุดนักพัฒนาเหล่านั้นจะได้พบกับบิตคอยน์ และบอกลาการพัฒนาเหรียญน่าเบื่อของธนาคารเพื่อหันไปเข้าร่วมในการปฏิวัติอย่างสันติแทน เจพี มอร์แกนกำลังสนับสนุนทุนให้แก่ความพินาศของตัวเองใช่หรือไม่? …เป็นบทกวีที่ช่างไพเราะเสียจริง ๆ
อีกไม่นาน มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) จะจับเอา “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ไปใส่ไว้ในมือของทุกคน บางทีสกุลเงิน “ซักบักส์” (ZuckBucks) อาจจะพยายามแข่งกับเงินดอลลาร์อยู่ก็เป็นได้แทนที่จะเเข่งกับบิตคอยน์ แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใด นี่จะช่วยให้คนเริ่มคุ้นเคยกับเงินของภาคเอกชนบนโทรศัพท์มือถือของพวกเขา เหมือนแอปพลิเคชันอย่างวีแชท (Wechat) และอาลีเพย์ (Alipay) การถูกสั่งห้ามโดยรัฐบาลในความพยายามครั้งแรกของซักบักส์ที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างแพร่หลายนั้น ช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าบิตคอยน์ต่างหากคือสิ่งที่ควรถูกนำมาใช้ตั้งแต่แรก (เพราะบิตคอยน์ไม่อาจถูกยับยั้ง หรือสกัดกั้นได้ /ผู้แปล)
เหล่านักพัฒนาบล็อกเชนและบรรดานักต้มตุ๋นต่างกล่าวอ้างว่าบิตคอยน์นั้นล้าสมัย และไม่สามารถขยายขีดความสามารถเพิ่มเติมได้ เหมือนตุ๊กตาบีนนี่เบบี้ (Beanie Babies) และมายสเปซ (MySpace) ที่ต่างก็ตกยุคไปแล้ว พวกเขาวาดภาพให้บิตคอยน์เป็นเหมือนฟังไจ ที่เป็นมิตรแต่มีประโยชน์ใช้สอยจำกัด แต่ข้อดีคือ “บิตคอยน์นำบล็อกเชนมาให้เรา*”
*หมายเหตุผู้แปล – กล่าวคือ นักพัฒนาบล็อกเชนและพวกนักต้มตุ๋นมักจะอ้างว่า บิตคอยน์ทำงานช้า, รองรับธุกรรมได้น้อยและมีค่าธรรมเนียมที่สูง ประโยชน์เพียงอย่างเดียวของบิตคอยน์ คือ การสร้างนวัตกรรมที่ชื่อว่า “บล็อกเชน” ขึ้นมาให้พวกมันได้ต่อยอด ซึ่งความเป็นจริงคือเรื่องเหลวไหลทั้งสิ้น ความเป็นจริงก็คือ บล็อกเชนจะไร้ค่าทันทีหากมันไม่ได้ทำงานอยู่บนบิตคอยน์
ในขณะที่วัฒนธรรมบล็อกเชนยังเอาแต่วิ่งไล่งับหางตัวเอง บิตคอยน์กลับเติบโตขึ้นอย่างเงียบ ๆ อยู่ใต้ดิน หลอมรวมตัวเองเข้ากับ “ราก” ของระบบการเงินดั้งเดิม, สร้างความทนทาน, รวบรวมเหล่าอาสามัคร, แทรกตัวเองเข้าสู่จิตใจของบรรดาผู้สงสัยใคร่รู้ราวกับเห็ดถั่งเช่า และเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อเผชิญหน้ากับ “กำแพงแห่งวิวัฒนาการ”
หากพวกเราโชคดีพอ เหล่าผู้นิยมในบล็อกเชนจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของผู้มีอำนาจในโลกได้นานพอ เพื่อประวิงเวลาให้บิตคอยน์ได้กลายเป็นสิ่งที่ “Too Big to Fail” หรือ “ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกทำลายได้”
โปรดติดตามอ่านบทสรุปของซีรีส์นี้ในตอนถัดไป ซึ่งจะถูกเผยแพร่ตามมาในเร็ว ๆ นี้ ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในบิตคอยน์ และสนับสนุนผลงานของพวกเรา Right Shift เสมอมา อย่าลืมแบ่งปันบทความที่มีเนื้อหาสาระดี ๆ ให้คนที่คุณรักกันนะครับ
รายชื่อทีมงานร่วมแปลบทความ
- อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์ (ปิรันย่า)
- จักรพันธ์ วันดี (ตั้ม)
- จัตตุพร ใจกล้า (นิว)
- สิรภพ นิลบดี (ขิง)
- วัชรพงศ์ ฤทธิ์คัมภีร์ (อิสร)
- ปิยะพงษ์ ภู่ขำ (จิงโจ้)
- ภัทรพล นวลใย (อั๋น)
2 Comments
รอตอนที่ 4 ครับมันส์มาก
ขอบคุณมากครับ เร็วๆ นี้