Table of Contents
Internet is communication technology
มันเริ่มต้นขึ้นด้วยสายเคเบิ้ลที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มีการพยายามวางสายเคเบิ้ลใต้น้ำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างประเทศไอร์แลนด์ไปยังสหรัฐอเมริกา แต่มนุษย์ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่านับครั้งไม่ถ้วน มีบริษัทมากมายล้มละลายจากธุรกิจนี้
จนกระทั่ง 10 ปีให้หลัง ความพยายามก็ประสบผล
วันที่ 27 ก.ค. 1866 พระราชินีวิกตอเรียส่งข้อความผ่านสายเคเบิ้ลไปยังประธานาธิบดีแอนดรูว จอห์นสันได้สำเร็จ ต้นกำเนิดของการรับส่ง data ข้ามไปอีกมุมโลกก็อุบัติขึ้น และมันคือร่างแบเบาะของระบบอินเทอร์เน็ต..
The Cable
ในยุคสมัยดังกล่าว การส่งข้อความผ่านทางเรืออาจกินเวลา 10 วัน เป็นอย่างน้อย แต่การมาถึงของสายเคเบิ้ลข้ามมหาสมุทรช่วยให้การส่งข้อความใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที จนมีคำโฆษณาที่ว่า “ย่นสองสัปดาห์มาอยู่ในสองนาที” จากนั้นความเร็วในการส่งข้อความก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการส่งรหัสมอร์สก็กลายมาเป็นการส่งข้อความปกติได้ และในที่สุดเราก็สามารถส่งข้อความหลายข้อความได้ในครั้งเดียว
ในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 19 บริเตน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาก็เชื่อมต่อถึงกันหมดผ่านสายเคเบิ้ล ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การค้า และการเมือง ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกส่งผ่านเคเบิ้ลได้
ในยุคนั้น ทองคำยังถูกใช้เป็นเงิน และตั๋วแลกทองคำก็ยังถูกใช้แทนเงิน แม้คุณจะส่งทองคำหรือตั๋วแลกทองคำผ่านสายเคเบิ้ลข้ามมหาสมุทรไม่ได้ แต่คุณยังส่ง “คำสัญญา” ให้แก่บุคคลอื่นในอีกทวีปได้ และตั้งแต่วินาทีที่ข้อความของควีนวิกตอเรียส่งผ่านสายเคเบิ้ลไปถึงอเมริกาสำเร็จ คือวินาทีที่ทั้งสองประเทศต่างมีความเชื่อใจกัน จนก่อให้เกิดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดอลลาร์กับสกุลเงินปอนด์ และมีการประกาศถึงการเกิดขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนนี้อย่างเป็นทางการผ่านหนังสือพิมพ์ The Times ในวันที่ 10 สิงหาคม 1866
และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมทุกวันนี้เราถึงเรียกอัตราแลกเปลี่ยน GBPUSD (Great Britain pound/US dollar) ว่า “the cable”
Promises & Writing
อดัม สมิธ นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า “เงินทุกชนิดคือความเชื่อใจ” ไม่เชื่อคุณก็ลองหยิบธนบัตรออกมาดูสักใบสิ คุณจะเห็นคำพูดประมาณว่า “ฉันสัญญาว่าจะชำระหนี้ให้ผู้ถือธนบัตรนี้”
เงินคือคำมั่นสัญญา แต่ก็แน่นอนว่าคำสัญญานั้นไม่จีรัง ต่างจากทองคำที่ยืนยง และสองสิ่งนี้เป็นเงินที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งหนึ่งคือลมปาก ในขณะที่สิ่งหนึ่งนั้นจริงแท้
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มแรกของความรุ่งเรืองในอารยธรรมมนุษย์ เราก็ใช้ “เงินลมปาก” (promissory money) กันมาตลอด ตั้งแต่สมัยเมโสโปเตเมียเราก็ใช้เหรียญดินเหนียวที่เป็นรูปโคนหรือวงกลม เพื่อแสดงถึงจำนวนแกะหรือข้าวสาลีที่จะชำระหนี้ให้ จนในที่สุดเราก็ค้นพบวิธีที่ดีกว่าการปั้นและเผาดินเหนียวเป็นรูปต่าง ๆ นั่นคือวิธีการพิมพ์ภาพลงไปในเหรียญดินเผาแทน
และนี่เองคือจุดกำเนิดของ “ระบบการเขียน”
ในสมัยจีนโบราณ ผู้คนจะเขียนบันทึกหนี้ลงบนหนังสัตว์ จนกระทั่งมีการคิดค้นกระดาษ พวกเขาก็เขียนบันทึกหนี้ลงกระดาษแทน และในยุคปัจจุบันนี้ เงินลมปากก็เปลี่ยนรูปแบบมาถูกเขียนบันทึกและแลกเปลี่ยนกันบนระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลที่สาม (third parties)
Remove 3rd Parties
หลายพันล้านคำมั่นสัญญาถูกส่งให้กันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในทุกวินาที ทำให้นอกจากเงินลมปากจะต้องพัฒนาตัวเองไปกับเทคโนโลยีการสื่อสารแล้ว หลายต่อหลายครั้งตัวมันเองนี่แหละที่เป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดันให้เทคโนโลยีการสื่อสารต้องพัฒนาตัวเองด้วย
และตอนนี้ “บิตคอยน์” ร่วมกับระบบบล็อกเชน ทำการดึง “บุคคลที่สาม” (third parties) ออกไปจากเทคโนโลยีดังกล่าวโดยสิ้นเชิง
นี่คือหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำไมมันถึงพิเศษที่สุด บิตคอยน์เป็นเครือข่ายการสื่อสารของเงินที่ได้รับการคุ้มครองด้วยหลักคณิตศาสตร์ และยังได้รับการคุ้มครองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังและทำลายยากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จักอย่างบล็อกเชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น ทำไมคุณถึงจะไม่อยากมีส่วนในเทคโนโลยีพลิกโลกตัวนี้ สักนิดก็ยังดี?
เพราะการเป็นเจ้าของบิตคอยน์แม้เพียงเล็กน้อย ก็หมายถึงการมีส่วนแบ่งในเทคโนโลยีใหม่ของเงิน
และเทคโนโลยีเงินนั้นเมื่อเกิดแล้ว มันจะไม่มีวันถอยหลังกลับอีกต่อไป…
Money evolves like language
ประเด็นหลักของเรื่องนี้ก็คือ ถ้าคุณต้องการส่ง “คำสัญญา” ที่สำคัญมาก ๆ คุณก็ต้องการเครื่องมือการสื่อสารที่ดี แล้วเงินคืออะไรล่ะ มันก็คือ “รูปแบบ” หนึ่งของการสื่อสารนั่นเอง
ไม่เชื่อลองฟังสิ่งนี้..
มีคำกล่าวว่าถ้าจะดูสันดานนักการเมือง อย่าดูว่าเขาพูดอะไร แต่ให้ดูว่าเขาทำอะไร เพราะสิ่งที่บอกตัวตนของเราได้มากที่สุดก็คือสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่สิ่งที่เราพูด โดยเฉพาะสิ่งที่เราทำกับเงินนั้นยิ่งบอกตัวตนเราได้ดีที่สุด และสิ่งที่เราทำกับเงินนั้นยังสื่อสารถึง “มูลค่า” (value) ซึ่งไม่ใช่แค่การสื่อสารคุณค่าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น แต่เป็นการสื่อสารไปทั้งระบบเศรษฐกิจ
คุณจะบอกได้ยังไงว่าของสักชิ้นควรมีราคาเท่าไหร่? หรือของชิ้นไหนควรมีมูลค่าแค่ไหน?
คำตอบของคำถามนี้ก็ถูกสื่อสารรับส่งกันอยู่เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว และระบบเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามสัญญาณต่าง ๆ ที่มันได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องว่าควรผลิตอะไร ผลิตอย่างไร ผลิตทำไม หรือผลิตที่ไหน
เงินจึงเป็นดั่งภาษาในการสื่อสาร
เงินเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไม่มีใครควบคุมมันได้อย่างแท้จริง ธนาคารกลางที่ไหนก็คุมมันไม่ได้ ระบบเงินเฟียตที่เราใช้ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ถูกวางแผนให้เกิดขึ้น มันเกิดเพราะเงินต้องเปลี่ยนแปลง และผู้คนนับพันล้านก็มีส่วนให้มันเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ใช้งานมัน ผู้สถาปนาระบบเงินเฟียตไม่ได้วางแผนว่าเงินเฟียตจะมีสภาพเหมือนทุกวันนี้ พวกเขาแค่ใช้งานระบบนี้เพียงเพื่อเอาตัวรอดจากปัญหาทางการเงินที่พวกเขาเจอในเวลานั้น
และเช่นเดียวกันภาษาที่เราพูดทุกวันนี้ ก็ไม่ได้มีใครวางแผนให้เราใช้ภาษาใดเป็นหลักในการสื่อสาร เพราะภาษานั้นถูกคิดค้นและกำหนดกฎเกณฑ์ได้ยาก มันแค่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการใช้งานของผู้คนทั่วโลกก็เท่านั้น
เช่นภาษาอังกฤษแต่ก่อนและตอนนี้ก็แตกต่างกัน
Why do we not speak Mandarin?
ภาษาอังกฤษที่เราใช้กันทุกวันนี้แตกต่างจากยุคของเชคสเปียร์สหรือดิคเค่นส์อย่างสิ้นเชิง เรามีคำให้ใช้งานน้อยลง โครงสร้างเทนส์ต่าง ๆ ก็น้อยกว่า หลักไวยากรณ์ก็ไม่ซับซ้อนเท่า แต่มันกลับเป็นภาษาที่คนใช้กันไปทั่วโลก เครือข่ายของมันเติบโตไปทั่วโลก
ภาษาจีนกลาง (Mandarin) มี Native speaker เยอะกว่าภาษาอังกฤษ 3-4 เท่า แต่ภาษาอังกฤษกลับมีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า ถึงขั้นที่ว่าในไม่ช้าทุกคนในโลกจะพูดภาษาอังกฤษได้ มันจะกลายเป็นเครือข่ายภาษาที่ครอบครองโลก
ในขณะที่ภาษาอื่น ๆ จะค่อย ๆ ล้มหายตายจาก ภาษาคอร์นิชสูญพันธุ์ไปแล้ว ทุกวันนี้แทบไม่มีคนพูดเวลช์หรือแกร์ลิก ไหนจะสำเนียงพื้นถิ่นของฝรั่งเศสและอิตาลีที่ค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลา และไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาษาในอัฟริกา เอเชีย และอเมริกันพื้นเมืองอีกจำนวนมหาศาลที่กำลังต่อคิวสูญพันธุ์ (ถ้ามันยังอยู่ให้สูญพันธุ์น่ะนะ)
คำถามก็คือ “ภาษาขยายสเกลได้ขนาดไหน?”
ภาษาอังกฤษมีศักยภาพพร้อมที่จะกลายมาเป็นภาษาเดียวของโลก มันเป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วในตอนนี้ ซึ่งไม่มีทางเลยที่ภาษาจีนกลางจะทำได้ และยิ่งไม่มีทางเลยที่ภาษาแกร์ลิก นีอาโปลิตัน หรือสวาฮีลีจะทำได้
คำถามต่อมาคือ “แล้วมีเงินกี่ประเภทที่มนุษย์เคยใช้ในประวัติศาสตร์?” :
เปลือกหอย, ฟันวาฬ, โลหะ, กระดาษ, บุหรี่, ปลากระป๋อง, เหล้าคอนญัค, ดอลลาร์ซิมบัมเว, ไรช์มาร์กส์, เดนารี่, ฟาร์ธิง, ชิลลิ่ง, หรือแม้แต่ชิตคอยน์ ซึ่งเงินเกือบทั้งหมดที่เราเคยใช้นั้นตายไปหมดแล้ว และเงินที่ยังไม่ตายก็จะตาย หลงเหลือแค่ทองคำเท่านั้นที่จะได้ไปต่อ เพราะมันคงทนถาวรตลอดกาล
แต่พอมองไปที่สายเคเบิ้ลข้ามมหาสมุทรแล้ว คุณก็จะเห็นปัญหา คุณส่งทองคำผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไม่ได้ สิ่งที่คุณส่งได้มีแค่ทองคำกระดาษผ่านบุคคลที่สาม
Money for the Internet
ดอลลาร์สหรัฐคือเงินทุนสำรองของโลก คุณส่งดอลลาร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ แต่มันเป็นเรื่องยากสุด ๆ สำหรับคนที่ไม่ใช่อเมริกันชนที่จะมีบัญชีธนาคารที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์ และด้วยความที่ค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนเงินสกุลอื่นเป็นดอลลาร์ก็แสนแพง ไหนจะการโอนเงินข้ามประเทศที่อาจใช้เวลาหลายวัน และผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกก็ยังไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ มันทำให้พวกเขาถูกกีดกันออกจากระบบการเงินโดยสิ้นเชิง
ดอลลาร์ คือ สกุลเงินประจำชาติอเมริกาที่ถูกใช้ไปทั่วโลก ประเทศของคุณจะเลือกใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักก็ได้ (หลายประเทศทำแบบนั้น) แต่มันแปลว่าคุณจะต้องก้มหัวให้กับนโยบายทางการเงินของอเมริกาอย่างไม่มีทางเลือก การเมืองของอเมริกาจะชี้นำประเทศของคุณ นี่คือเหตุผลว่าประเทศที่มีวาระทางการเมืองชัดเจนเป็นของตนเองจะปฏิเสธการใช้ดอลลาร์เป็นสกุลหลักและมีสกุลเงินประจำชาติเป็นของตัวเอง
เพราะเงินนั้นถูกกีดกันได้
แต่ภาษาไม่สามารถถูกกีดกันโดยเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศ อย่างน้อยก็ภาษาอังกฤษละหนึ่ง และถ้าจะมีสกุลเงินที่ไม่ขึ้นกับการเมืองใด ๆ และไร้พรมแดนอย่างแท้จริงเหมือนกับโครงข่ายอินเทอร์เน็ต สกุลเงินนั้นก็จะขยายสเกลไปในทิศทางที่ไม่มีสกุลเงินประจำชาติสกุลไหนทำได้ เครือข่ายของมันจะขยายตัวไปอย่างเป็นธรรมชาติ
…และมันจะขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง
Bitcoin is English
คุณไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้งานบิตคอยน์ สิ่งที่คุณต้องการก็แค่มือถือสักเครื่องที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และโลกเราอยู่ในจุดที่ใครที่อยากมีมือถือก็สามารถหามาครอบครองสักเครื่องได้ไม่ยาก นี่แปลว่าแม้แต่คนที่เข้าไม่ถึงบริการธนาคารก็สามารถใช้งานบิตคอยน์ได้
สาระสำคัญอยู่ตรงนี้.. “หากเงินคือภาษา บิตคอยน์ก็คือภาษาอังกฤษ”
“บิตคอยน์” มีศักยภาพในการขยายตัวแบบที่สกุลเงินไหนก็ไม่มีทางทำได้ และแม้เราจะเห็นราคาของมันร่วงในช่วงนี้ แต่ตัวเลขอัตราแฮช (hash rate) ของระบบบิตคอยน์กลับพุ่งขึ้นเป็นสองเท่าจากปีที่แล้ว หรือพูดง่าย ๆ คือ ระบบของบิตคอยน์เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล
มาลองฟังเรื่องสั้นสนุก ๆ กันสักเรื่องดีกว่า :
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้เอง ณ ตอนนั้นเงินปอนด์ยังได้รับการยอมรับไปทั่วโลกยิ่งกว่าดอลลาร์ นักข่าวสาวอเมริกันนามว่า “เนลลี่ บิลลี่” ต้องการเลียนแบบนิยาย “80 วันรอบโลก” ของจูลส์ เวิร์นส์ แต่นักข่าวสาวรายนี้เธอใช้เวลาเพียง 72 วันก็เดินทางรอบโลกได้สำเร็จ โดยเธอพกเงินปอนด์ไปด้วยเพื่อใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ก็ไม่ลืมพกดอลลาร์ไปบ้างเล็กน้อยเพื่อทดสอบว่าเงินอเมริกันนี้เป็นที่รู้จักนอกแผ่นดินลุงแซมมั้ย
เธอออกเดินทางจากมหานครนิวยอร์กไปทางทิศตะวันออก แต่เธอไม่เห็นเมืองไหนรับเงินอเมริกันเลยจนกระทั่งถึงเมืองโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา ที่ซึ่งทองคำมูลค่า 20 ดอลลาร์ถูกใช้เป็นเครื่องประดับ พ่อค้ายอมรับเงินดอลลาร์ของเธอก็จริง แต่เงินอเมริกันของเธอมีมูลค่าแค่ 40% ของมูลค่าบนธนบัตร
ใช่แล้ว ตอนนี้มันยังเป็นเรื่องยาก (แต่ยังเป็นไปได้) ที่จะทำให้ผู้คนยอมรับบิตคอยน์ว่าจับต้องได้ แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างนั้น เนื่องจากบิตคอยน์คือเงินของระบบอินเทอร์เน็ต
และแม่คุณเอ๋ย มันขยายตัวได้แบบที่คุณคาดไม่ถึงเลยล่ะ.
หมายเหตุ : แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับ https://bitcoinmagazine.com/culture/bitcoin-is-the-language-of-the-internet เผยแพร่ครั้งแรกที่ : https://ljungdurst.wordpress.com
One comment
ดีมากๆเลย