สำหรับใครหลายคนที่ได้เริ่มต้นเก็บออมบิตคอยน์กันแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธี บิตคอยน์กับการออมเชิงเทคนิคอล ใช้ได้จริงหรือเพ้อฝัน? หรือด้วยวิธีการทำงานที่มีผลตอบแทนเป็นบิตคอยน์ก็ตาม เราอาจจะเริ่มสงสัยต่อว่า แล้วเราต้องมีบิตคอยน์จำนวนเท่าไหร่กันนะ?
มีบิตคอยน์เท่าไหร่ถึงจะ “พอ” ?
เมื่อพูดถึงคำว่า “พอ” แล้วเนี่ย “พอ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนต่างมีการตีมูลค่าในใจไม่เหมือนกัน (อ่านประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ที่บทความ Subjective Value)
ในเมื่อแต่ละคนมีความพอใจไม่เหมือนกัน งั้นเราจะลองตั้งประเด็นอื่นที่มีความชัดเจนกว่านี้และสามารถคำนวณได้ อย่างเช่น “อยากเป็นตัวท็อปในโลกยุค Bitcoin Standard ต้องมีบิตคอยน์เท่าไหร่?”
สมมติว่าตัวท็อปคือ 1%
หนึ่งในความดีงามอย่างหนึ่งของบิตคอยน์ (แต่เหล่า Keynesian มักจะก่นด่า!) คือ การที่มันมีจำนวนอุปทานจำกัด ซึ่งก็คือ 21 ล้านบิตคอยน์ ดังนั้นมันจึงง่ายต่อการคำนวณว่าเราอยากเป็นตัวท็อปกี่เปอร์เซนต์ในโลกยุค Bitcoin Standard
ยกตัวอย่างเช่น การจะเป็นคน 1% ในโลกยุค Bitcoin Standard นั้น คำนวณได้จากจำนวนอุปทานทั้งหมดของบิตคอยน์ (21 ล้านบิตคอยน์) หารด้วยจำนวน 1% ของประชากรทั้งโลก ซึ่งในปัจจุบันจำนวนประชากรมีทั้งหมดประมาณ 8 พันล้านคน (Source: https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/176128)
เมื่อนำมาแทนค่าตามสมการ* จะได้ว่า
(21,000,000 ÷ 8,000,000,000) x 100 = 0.2625
(*สมการนี้เราจะสมมติว่ามี 21 ล้านบิตคอยน์เต็ม ๆ โดยไม่มีเหรียญไหนสูญหายไประหว่างทาง)
จากสมการจะเห็นว่า :
เมื่อเรามี 0.2625 บิตคอยน์ เราจะเป็นคน 1% ของโลกที่ได้ครอบครองบิตคอยน์
ตัวเลข 0.2625 บิตคอยน์นี้เป็นเพียงตัวเลขกลาง ๆ ที่เอาไว้ให้เราตั้งเป็นหลักไมล์ให้กับตัวเองว่าจะเก็บเท่านี้ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวน (หรือลดลง) ในภายหลังก็ได้เมื่อเราสามารถตอบคำถามได้ว่า “พอ” สำหรับเราคือเท่าไหร่ แต่เบื้องต้นมันก็ดูเท่ดีนิด ๆ เหมือนกันที่เราสามารถพูดกับตัวเองได้ว่า “เราก็เป็นคน 1% ที่ว่านี้นะเว้ย!”
เมื่อเรามาถึงจุดนี้กันแล้ว บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว 99% ของคนที่เหลือล่ะจะเป็นอย่างไร?
คน 99% ที่เหลือนั้น เมื่อตีเป็นตัวเลขประชากรออกมาจะหมายความว่ามีประชากรกว่า 7 พันล้านคนที่ไม่ได้ถือครองบิตคอยน์อย่างนั้นหรือ? คำตอบคือ “ไม่อาจทราบได้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะ ‘ใช่’ ” (ตามความเห็นของผู้เขียนเท่านั้น) เนื่องจากในอนาคต บิตคอยน์อาจจะมีอุปทานที่มีการซื้อขายในตลาดน้อยลงเรื่อย ๆ และอาจมีราคาที่พุ่งสูงจนคนทั่วไปซื้อไม่ได้
แล้วถ้าอย่างนั้น ในปัจจุบันนี้มีคนถือครองบิตคอยน์อยู่เท่าไหร่กันแน่ล่ะ?
คำตอบแน่ชัดนั้นตอบยาก เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าคน ๆ หนึ่งจะมีกี่แอดเดรส แต่จากการประมาณการเมื่อปี 2021 นั้นคาดว่ามีคนประมาณ 106 ล้านคนที่ถือครองบิตคอยน์อยู่ และตารางด้านล่างคือสัดส่วนของแอดเดรสต่อการถือครองบิตคอยน์ค่ะ
แค่ 0.2625 บิตคอยน์ก็เป็นคน 1% ได้แล้วหรอ?
จากการคำนวณข้างต้นมานี้อาจทำให้เรามีความรู้สึกว่า “อ้าว!? แค่นี้ก็เป็นคน 1% ของโลกได้หรอ?” นั่นเป็นเพราะเราอาจจะกำลังเปรียบเทียบกับการเป็นคน 1% ในโลก Fiat Standard อยู่
การเป็นคน 1% ของโลก Fiat Standard นั้นต้องมีเงินประมาณ 400,000 ดอลลาร์ หรือตีเป็นเงินไทยจะเท่ากับ “14,000,000 บาท” (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) ในขณะที่วันนี้การเป็นคน 1% ในโลก Bitcoin Standard นั้นใช้เงินน้อยกว่ามาก
สมมุติว่าเราซื้อ 0.2625 บิตคอยน์ไปเลย “วันนี้” (ตามกราฟข้างล่าง) เราจะต้องใช้เงินประมาณ 4,600 ดอลลาร์ หรือประมาณ 160,000 บาท (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์)
แต่แน่นอนว่าในอนาคตนั้นการจะเป็นคน 1% ในโลก Bitcoin Standard คงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เช่น ในอีก 10 ปีข้างหน้า สมมติว่าราคาบิตคอยน์ขึ้นไปถึง 1,000,000 ดอลลาร์ตรงตามการพยากรณ์ของ “โมเดล PlanB” (ตามกราฟด้านล่าง) ทำให้จากที่ตอนนี้เราต้องใช้เงิน 4,600 เหรียญ ก็จะกลายเป็นว่าเราต้องใช้เงินมากถึงราว ๆ 260,000 เหรียญ หรือประมาณ 9,000,000 บาท เพื่อซื้อ 0.2625 บิตคอยน์ในตอนนั้น
พอมองแบบนี้เราอาจเห็นว่าการเก็บให้ถึง 0.2625 บิตคอยน์ในอนาคตนั้น อาจจะใช้เงินเยอะไม่ต่างจากการเป็นคน 1% ในโลก Fiat Standard ในปัจจุบัน
แต่นั่นก็หมายความว่าบิตคอยน์นั้นมีค่ามากขึ้น และควรค่าต่อการถือในระยะยาวมากกว่าเงินเฟียตที่เฟ้อขึ้นทุกวันด้วยเช่นกัน
เหมือนกับที่บางคนรู้สึกเสียดายว่า 10 ปีก่อนหน้านี้ทำไมไม่ซื้อบิตคอยน์ไว้นะ แต่วันนี้เรายังมีโอกาสให้ตัวเราในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ขอบคุณตัวเองว่า “โชคดีจังนะที่วันนั้นได้ซื้อบิตคอยน์เอาไว้” กันดีกว่าค่ะ 🙂
Source : https://twitter.com/100trillionUSD
1% เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
บางท่านอาจจะสงสัยว่า “เฮ้!? ก็ในเมื่อ 1% ของโลก Fiat Standard มันใช้เงินเยอะกว่า มันก็น่าจะมีมูลค่ามากกว่าอยู่แล้วสิ?”
คำตอบคือ “ใช่ ถ้าเทียบในกรอบเวลาระยะสั้น”
แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานเข้า เงินจำนวนเท่าเดิมในโลก Fiat Standard ก็จะมีมูลค่าไม่เท่าเดิมเสียแล้ว หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ อย่างที่คนชอบพูดกันก็คือ “ของมันแพงขึ้น” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “เงินมันเสื่อมมูลค่าลง” นั่นเอง
เช่น ข้าวมันไก่เมื่อ 10 ปีที่แล้วราคา 25 บาท มาวันนี้ข้าวมันไก่จานเดิม ซึ่งร้านค้าใจดีไม่ลดปริมาณลง แต่กลับเพิ่มราคาเป็น 55 บาท นี่หมายถึงไก่แพงขึ้นหรอ? ก็ใช่..และมันหมายถึง “อำนาจในการจับจ่ายใช้สอย” ของเงินในมือเราก็ลดลงด้วยเหมือนกันยังไงล่ะ
นั่นหมายถึงว่าแม้เราจะสามารถเป็นคน 1% ในโลก Fiat Standard ได้ในวันนี้ แต่ในวันหน้า ถ้าเงินของเราไม่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เราก็จะหลุดจากการเป็นคน 1% นั้นไปทันที
Thai baht against BTC
ในขณะที่บิตคอยน์นั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เพราะเมื่อเราเก็บ 0.2625 บิตคอยน์ได้ครบเมื่อไหร่ เราก็จะเป็นคน 1% ของโลก Bitcoin Standard อยู่วันยังค่ำไปตลอดกาล เพราะจำนวนบิตคอยน์นั้นมี “อุปทานที่จำกัดตายตัว” (Fixed Total Supply) เอาไว้ที่ 21 ล้านเหรียญอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปวิ่งตามเงินเฟ้อหรืออะไร และที่สำคัญอีกอย่างคือคนอื่นไม่มีทางรู้ด้วยว่าเรามีบิตคอยน์อยู่จำนวนเท่าไหร่แน่ นับว่าเป็นทางเลือกการเก็บออมที่มีความมั่นคงและมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าเงินเฟียตเห็น ๆ
แต่ก็แน่นอนว่ามันต้องแลกกับการที่เราจำเป็นต้องมีความรู้ในการเก็บรักษาบิตคอยน์ เพื่อให้เรานั้นสามารถ “Be your own bank” ได้ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายนี้ การเป็นคน 1% หรือการถือครองบิตคอยน์จำนวน 0.2625 บิตคอยน์นั้นเป็นเพียงตัวเลขกลาง ๆ ที่หลายคนยึดถือเป็นหมุดหมายในใจ ว่าอย่างน้อยในโลกเงินเฟียตที่อ่อนแอและแปรปรวนเหมือนทะเลคลั่ง เราก็ยังมีเรือชูชีพสีส้มลำเล็ก ๆ เอาไว้ให้รอดตายในวันที่พายุโหมกระหน่ำ
และถ้าใครอยากจะสร้างเรือชูชีพหรือยานอวกาศสีส้มเอาไว้ล่ะก็ “Stay humble and keep stacking sat.” กันเถอะค่ะ!