Bitcoin
Didier

Didier

คนธรรมดาทั่วไป

บิตคอยน์กับการออมเชิงเทคนิคอล ใช้ได้จริงหรือเพ้อฝัน ?

สุดท้ายแล้ว เป้าหมายในการออมของเราคืออะไร เราต้องการสะสม เพิ่มพูน ในสิ่งนั้นใช่หรือไม่ มันมีอะไรอื่นอีกไหม ที่มันสามารถทำได้ดีกว่านั้น โดยที่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัย และเจตจำนงดั้งเดิม

เมื่อกล่าวถึงการลงทุนในบิตคอยน์ เราสามารถลงทุนได้หลากหลายวิธี เช่น การซื้อเครื่อง ASIC (Application-Specific Integrated Circuit) หรือที่คนในวงการบิตคอยน์เรียกกันติดปากว่าเครื่องขุด เพื่อทำการขุดให้ได้มาซึ่งบิตคอยน์ที่ไม่มีประวัติหรือมีประวัติน้อยมาก, การซื้อจากผู้คนที่ต้องการขายผ่านกระดานเทรด, การเทรดแบบเก็งกำไรด้วยการใช้หลักการทางเทคนิคอลหรือปัจจัยพื้นฐาน และการออมในระยะยาว เป็นต้น

แต่เรื่องราวหลักๆ ที่ผมจะหยิบมาพูดวันนี้ คือเรื่องการลงทุนในบิตคอยน์ด้วยการออมในระยะยาว ซึ่งการออมในสินทรัพย์ต่างๆ โดยทั่วไปนักลงทุนส่วนใหญ่จะนิยมใช้วิธีการ DCA (Dollar-Cost Averaging) คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย ค่อยๆ ซื้อสะสมด้วยจำนวนเงินคงที่และช่วงเวลาที่กำหนดไว้ชัดเจนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนาน

Table of Contents

บิตคอยน์กับการออม

แล้วการออมมันเป็นวิธีการลงทุนที่ใช้ได้ผลกับบิตคอยน์เหรอ? แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่ง (และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน) ที่ใช้วิธีการแบบนี้กับบิตคอยน์ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเรียกตัวเองว่า “Bitcoiner” ผู้ที่รักในการออมบิตคอยน์ แต่พวกเขาจะมีการใช้ศัพท์ที่แตกต่างกันกับการออมในสินทรัพย์ทั่วๆ ไป ที่เรียกว่าการ “Stack Sats” คือ การทะยอยซื้อสะสมบิตคอยน์ทีละเล็กละน้อย ซึ่งเป็นวิธีการที่คล้ายกันกับการ DCA ซึ่ง Sats ในที่นี้ คือ ซาโตชิ เป็นคำที่ใช้เรียกหน่วยย่อยของบิตคอยน์ (คล้ายๆ กับที่ ‘สตางค์’ เป็นหน่วยย่อยของ ‘บาท’ หรือ ‘เซ็นต์’ เป็นหน่วยย่อยของ ‘ดอลลาร์’)

หลักการที่สำคัญที่สุดของการออมในสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม คือ การแบ่งเงินส่วนเหลือจากที่หามาได้มาลงทุน โดยที่เราเป็นคนกำหนดจำนวน และจำกัดความเสี่ยงด้วยตนเอง ห้ามใส่เงินในจำนวนที่เกินตัว ห้ามนำเงินร้อน เงินจำพวกที่เราไม่สามารถเสียได้และเงินที่มีต้นทุนสูง อย่างเช่น เงินกู้ มาลงทุนโดยเด็ดขาด เพราะยิ่งผ่านไปนานเท่าไร “เวลา” จะกลายเป็นศัตรูกับคุณมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะการออมคือเกมระยะยาว แต่คุณจะไม่สามารถรอได้!

การลงทุนด้วยการออม โดยหลักการแล้วควรต้องใช้ “เงินเย็น” หรือเงินที่ไม่ได้มีความต้องการใช้ในระยะเวลาอันใกล้ นำมันมาเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์เพื่อให้เราสามารถถือได้ในระยะยาว การออมจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น การออมในบิตคอยน์ดูเหมือนเป็นรูปแบบการลงทุนที่ง่ายและไม่ซับซ้อน แค่ต้องใช้วินัยและระยะเวลาในการลงมือทำ โดยใช้วิธีการซื้อสะสมในจำนวนที่เท่าๆ กัน ในความถี่ที่เรากำหนดไว้ชัดเจน เช่น ซื้อทุก 1 อาทิตย์, ซื้อทุก 1 เดือน เป็นต้น 

แต่แท้จริงแล้ววิธีในการออมมีแค่นี้หรือเปล่า? และมันใช้ได้ผลกับการลงทุนในบิตคอยน์เหรอ? ถ้าหากว่าเรามีความรู้ทางด้านการเทรดเชิงเทคนิคอล หรือพอจะมีความรู้ทางกราฟเทคนิคอยู่บ้างเล็กน้อย เราสามารถนำมันมาประยุกต์ใช้กับการออมที่แสนเรียบง่ายนี้ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่ เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟัง

 

เนื้อหาในวันนี้ได้รับแรงบันดาลใจ, องค์วิชาความรู้, แนวทางการปฏิบัติและข้อมูลเชิงสถิติต่างๆ มาจาก อ. พิริยะ สัมพันธารักษ์ ใน CDC Bitcoin Talk ตอนที่ 140 และเรามาเริ่มต้นเข้าประเด็นด้วยการยกคำพูดบางช่วงบางตอนที่ อ.พิริยะ ได้พูดไว้ว่า

"จากตอนนี้ที่มีกระแส Stay Humble & Stacking Sats ของกลุ่ม Bitcoiner ในแง่นึงผมก็ชอบกระแสนี้ ที่เป็นการบอกว่า ถ้าคุณไม่มีความสามารถ ไม่มีสกิลทางด้านการเทรด คุณก็ควรที่จะไม่พยายามมาเทรด"

“บิตคอยน์ควรจะเป็นเงินที่รักษามูลค่าของตัวมันเองได้ดีเพียงพอ ที่จะทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเทรดหรือการลงทุนเพื่อทำกำไรในตลาด เขาจะต้องสามารถที่จะเก็บเงินของเขาและเงินของเขาไม่เสื่อมเสียไม่เสื่อมสลาย ไม่ถูกยึดไม่ถูกอายัดหรือไม่ถูกทำให้เฟ้อจนมันเสื่อมมูลค่าลงไปได้”

“เพื่อให้คนเหล่านั้น ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นช่างไม้ จะเป็นช่างประปา จะเป็นศิลปิน จะเป็นสถาปนิก หรือจะเป็นวิศวกร เขาสามารถที่จะโฟกัสในการทำงานของเขาได้ โดยไม่ต้องมาเรียนรู้ศาสตร์ของการลงทุน เสมือนเป็นอาชีพที่สองเหมือนอย่างในปัจจุบัน”

“เราสามารถที่จะค่อยๆ เก็บออมไปเรื่อยๆ ได้ และผลของการเก็บออมมันคือผลของวินัย การทำซ้ำ และระยะเวลา ในที่สุดเราก็จะมีบิตคอยน์ในจำนวนที่มากกว่าที่เราจะมานั่งรอ ค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ หาจังหวะ เพราะว่าเอาเข้าจริงแล้วมันยากมากที่จะหาจังหวะที่ถูกต้องในตลาด ถ้าคุณไม่ได้มีวิชา ไม่ได้มีความรู้และไม่ได้มีสกิล”

“เพราะฉะนั้นผมยังยืนยันสำหรับผู้คนที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถทางด้านการเทรด ไม่มีวินัยในการเทรด การ Stack Sats ดูเหมือนว่ามันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเก็บออมบิตคอยน์ในทุกๆ สถานการณ์ มันปลอดภัย มันมีความผันผวนน้อย ถ้าเราเข้าใจและเราใช้เงินที่เราเสียได้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น คุณก็จะไม่มีความกระวนกระวายใจที่จะส่งผลให้คุณตัดสินใจผิดพลาด สำหรับคนที่เข้าใจแล้วคุณเก็บเป็นเงินบาทเฉพาะเท่าที่เสียได้ คุณก็จะไม่มีความกระวนกระวายใจเช่นเดียวกัน”

Piriya Sambandaraksa

นอกจากคำกล่าวนี้ของ อ. พิริยะ เนื้อหาในไลฟ์ยังอัดแน่นไปด้วยวิธีการออมบิตคอยน์ในหลากหลายรูปแบบ พร้อมทั้งแสดงข้อมูลเชิงสถิติให้เห็นถึงผลตอบแทนในแต่ละวิธีการ โดยผมจะสรุปให้ผู้อ่านได้เข้าใจและเห็นภาพ ดังนี้

คำเตือน: ให้ดูเป็นแนวทางในปัจจุบันและอนาคต เพราะการย้อนเวลากลับไปทำมันเป็นสิ่งที่เพ้อฝัน และเป็นไปไม่ได้ อย่าไปยึดติดอะไรมันมาก และไม่ได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุน

การออม VS ใส่เงินตู้มเดียวในบิตคอยน์

*อ้างอิง จากราคาบิตคอยน์ในปัจจุบัน ที่ราคา 19,027.17

การออมในที่นี้ หมายถึง การซื้อบิตคอยน์สะสมในจำนวนที่เท่าๆ กัน ในความถี่ที่เรากำหนดไว้ชัดเจน

1. เริ่มลงทุน 100$ ทุกอาทิตย์ ณ จุดยอดดอยปี 2013 ที่ราคาประมาณ 1200$ จนถึงปัจจุบัน

(หน่วย: ดอลลาร์)

สมมติว่าเราตั้งโจทย์จะเก็บออมบิตคอยน์ด้วยเงิน 100$ ทุกสัปดาห์ จนถึงปัจจุบันรวมเป็นเงินทั้งหมด 46,300$

ใส่เงินตู้มเดียว

ใช้เงินทั้งหมดซื้อเป็นก้อนเดียวแล้วถือมาจนทุกวันนี้ จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

ได้บิตคอยน์รวมทั้งหมด 37.4 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -85.3%

ผลตอบแทนเท่ากับ 1437%

การออม

ได้บิตคอยน์ทั้งหมด 45.92 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -62.45%

ผลตอบแทนเท่ากับ 1787%

จะเห็นว่าการเก็บออมให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและลดความเสี่ยงจากการขาดทุนได้มากกว่า ซึ่งจุดขาดทุนสูงสุดเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะการขาดทุนมีผลต่อสภาพจิตใจ ยิ่งเราขาดทุนมากเท่าไร มันยิ่งส่งผลให้เรายิ่งหมดความอดทนในการถือ ทำให้หลายคนยอมตัดใจขายทิ้งเพราะทนรับกับการขาดทุนไม่ไหว

ดังนั้น การออมถือว่าเป็นวิธีการลงทุนที่ไม่เลวเลย และการซื้อด้วยเงินเป็นก้อนไม่ได้ทำให้เรามีบิตคอยน์เยอะกว่าเสมอไป มันขึ้นอยู่กับว่าคุณซื้อที่ราคาไหน และผู้คนมักจะเข้ามาลงทุนในบิตคอยน์แถวๆ จุดยอดดอยเป็นส่วนใหญ่เสียด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวิถีแมงเม่า

2. เริ่มลงทุน 100$ ทุกอาทิตย์ ณ จุดต่ำสุดของปี 2015 ที่ราคา 182$ จนถึงปัจจุบัน

(หน่วย: ดอลลาร์)

ออมบิตคอยน์ ด้วยเงิน 100$ ทุกอาทิตย์เหมือนเดิม แต่ก้อนเงินรวมจะน้อยกว่าเพราะใช้เวลาสั้นกว่า เท่ากับ 40,500$

ใส่เงินตู้มเดียว

ได้บิตคอยน์รวมทั้งหมด 222.52  เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -0%

ผลตอบแทนเท่ากับ 10,354.49%

อื้อหือ…

การออม

ได้บิตคอยน์ทั้งหมด 34.3 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -20.12%

ผลตอบแทนเท่ากับ 1511.5%

วิธีการในข้อนี้เป็น Extreme case ทั้ง 2 เคส เป็นไปได้ยากมากๆ ที่ใครสักคนจะเริ่มออมได้ตรงกับช่วงที่ราคาอยู่ในจุดต่ำสุด ซึ่งคุณคงเทพมากหากทำเช่นนั้นได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว คนทั่วไปมักจะเริ่มบริเวณราคากลางๆ หรือเริ่มใกล้ๆ กับจุดราคาสูงสุด อย่างเช่นข้อต่อไป

3. เริ่มลงทุน 100$ ทุกอาทิตย์ ณ จุดกลางๆ ในปี 2014 ที่ราคาประมาณ 500$ จนถึงปัจจุบัน

(หน่วย: ดอลลาร์)

ออมบิตคอยน์ 100$ ทุกอาทิตย์เหมือนเดิม และก้อนเงินลงทุนรวมจะเท่ากับ 43,500$

ใส่เงินตู้มเดียว

ได้บิตคอยน์รวมทั้งหมด 76.27 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -68.05%

ผลตอบแทนเท่ากับ 3236.52%

การออม

ได้บิตคอยน์ทั้งหมด 41.27 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -56.36%

ผลตอบแทนเท่ากับ 1705.59%

จากข้อ 2 และข้อ 3 จะสังเกตเห็นว่าการออมจะไม่สามารถเอาชนะการใส่เงินตู้มเดียว ซึ่งให้ผลตอบแทนที่มากกว่าในกรณีที่เราไม่ได้ซื้อที่ยอดดอย แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงจากการขาดทุนได้มากกว่า 

ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าการเก็บออมนั้น คุณจะไม่สามารถทำกำไรได้เพ้อฝันมากมายอะไรนัก แต่หัวใจสำคัญของการทะยอยเก็บออม คือ การสร้างผลตอบแทนโดยที่ลดความเสี่ยงลง ซึ่งเราจะเห็นว่าการออมช่วยลดความเสี่ยงลงในทุกกรณี

สรุปข้อมูลเชิงสถิติของการเริ่มต้นออมใน 3 ช่วงเวลา

เปรียบเทียบการออมทั้ง 3 ช่วง ผลปรากฏว่าการออมที่ยอดดอยปลายปี 2013 ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ถึงแม้ว่าเริ่มออมจากจุดยอดดอยก็ตาม ดังนั้น เราอาจจะสรุปได้ว่า “ระยะเวลา” คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดกับผลตอบแทนจากการออม

4. การนำเทคนิค Rebalance มาช่วยในการออมบิตคอยน์

Rebalance คือ การแบ่งเงินเป็น 2 ฝั่งเท่าๆ กัน คือ บิตคอยน์ครึ่งหนึ่งและดอลลาร์ครึ่งหนึ่ง โดยพยายามปรับให้มูลค่าทั้งสองฝั่งเท่ากันเสมอ เมื่อบิตคอยน์ราคาขึ้น เราก็จะทำการขายออกเพื่อเติมให้ฝั่งของดอลลาร์มีมูลค่าเท่ากัน เช่นเดียวกันกับเมื่อบิตคอยน์ราคาลดลง เราก็จะนำดอลลาร์ไปซื้อบิตคอยน์เพิ่ม เพื่อให้ทั้งสองฝั่งกลับมามีมูลค่าในเชิงดอลลาร์เท่ากันเสมอ

และถ้าเรานำเทคนิคนี้มาช่วยในการออมจะเกิดอะไรขึ้น?

เริ่มต้นการออม ณ จุดกลางๆ ในปี 2014 เป็นเงิน 100$ ทุกอาทิตย์ ที่ราคาประมาณ 500$ จนถึงปัจจุบัน เป็นเงินรวม 43,500$ และกำไรที่ได้นำมาทบต้นทบดอก

ได้บิตคอยน์ทั้งหมด 5.79 เหรียญ 

บวกกับดอลลาร์ 110,228 ดอลลาร์ 

รวมเป็น 220,456 ดอลลาร์

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -32.87%

ผลตอบแทนเท่ากับ 406.8%

ผลที่ได้คือ ถึงแม้จะมีกำไร แต่ถือว่าค่อนข้างห่วย เราจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงลดลงไปอย่างมาก แต่กำไรก็ลดลงอย่างมากด้วยเช่นกัน ผลตอบแทนมันค่อนข้างนิ่งและน้อย

ดูเหมือนว่าการนำเทคนิค Rebalance มาช่วย จะเพิ่มความยุ่งยากในการเก็บออมและไม่ได้เพิ่มผลประโยชน์มากนัก เมื่อเทียบกับการออมแบบธรรมดาทั่วไป

5. การนำ CDC Action Zone V.3 เข้ามาช่วยในการออม

CDC Action Zone V.3 คือ อินดิเคเตอร์ที่ทางชมรม โฉลกดอทคอม ได้แจกให้ใช้ฟรีใน Trading View เหมาะสำหรับใช้ในตลาดที่มีเทรนด์ชัดเจน หลักการของอินดิเคเตอร์ตัวนี้ คือ การนำเส้น EMA 12 และ 26 มาไขว้กัน เป็นหลักการเดียวกันกับที่ใช้ในอินดิเคเตอร์ MACD ซึ่งจุดเด่นของอินดิเคเตอร์ตัวนี้ คือ ความสามารถในการเอาตัวรอดได้ในทุกสภาพตลาด ป้องกันการขาดทุนได้ดี แม้ว่าจะไม่ได้ทำกำไรสูงสุดก็ตาม

แทนที่เราจะเก็บออมทุกเวลา เราเก็บออมเฉพาะบางช่วงเวลาได้ไหม?

5.1 ออมเฉพาะตอนตลาดขาลง เมื่อระบบแดง

เริ่มต้นการออม ณ จุดกลางๆ ในปี 2014 เป็นเงิน 100$ ทุกอาทิตย์ ที่ราคาประมาณ 500$ ต่อหนึ่งบิตคอยน์จนถึงปัจจุบัน เป็นเงินรวม 43,500$

โดยวิธีการคือ 

  1. เมื่อระบบแดงเราจะเริ่มทำการออมสะสมบิตคอยน์เป็นเงิน 100$ ทุกอาทิตย์
  2. เมื่อระบบเขียวเราจะหยุดซื้อบิตคอยน์และทำการออมสะสมเป็นเงินเฟียตหรือ USDT ไปเรื่อยๆ
  3. เมื่อระบบกลับมาแดง ให้นำเงินทั้งหมดที่เก็บสะสมไว้ในข้อ 2. มาซื้อบิตคอยน์ทั้งก้อน ในครั้งเดียว
  4. กลับไปเริ่มข้อ 1. ใหม่ หมายความว่าเริ่มกลับมาออมสะสมบิตคอยน์ต่อ
(หน่วย: ดอลลาร์)

ได้บิตคอยน์ทั้งหมด 40.42 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -55.78%

ผลตอบแทนเท่ากับ 1668.3%

เมื่อมองดูหลักการแบบเผินๆ การทยอยซื้อเมื่อตลาดขาลง ยิ่งซื้อยิ่งดึงต้นทุนลงต่ำ ยิ่งน่าจะสามารถทำกำไรได้มากขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้วได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการออมแบบธรรมดา ณ ช่วงเวลาเดียวกันเสียอีก (41.27 btc) และความเสี่ยงแทบจะไม่ต่างกัน ดังนั้น การทยอยซื้อในตลาดขาลงไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก

5.2 ออมเฉพาะตอนตลาดขาขึ้น เมื่อระบบเขียว

เริ่มต้นการออม ณ จุดกลางๆ ในปี 2014 เป็นเงิน 100$ ทุกอาทิตย์ ที่ราคาประมาณ 500$ ต่อหนึ่งบิตคอยน์จนถึงปัจจุบัน เป็นเงินรวม 43,500$ 

วิธีการนี้ทำคล้ายๆ กับข้อ 5.1 แต่ทำในแบบตรงกันข้าม โดยจะออมเฉพาะตอนระบบเขียวหรือตลาดเป็นขาขึ้นเท่านั้น โดยวิธีการคือ 

  1. เมื่อระบบเขียวเราจะเริ่มทำการออมสะสมบิตคอยน์เป็นเงิน 100$ ทุกอาทิตย์
  2. เมื่อระบบแดงเราจะหยุดซื้อบิตคอยน์และทำการออมสะสมเป็นเงินเฟียตหรือ USDT ไปเรื่อยๆ แทน
  3. เมื่อระบบกลับมาเขียว ให้นำเงินทั้งหมดที่เก็บสะสมไว้ในข้อ 2. มาซื้อบิตคอยน์ทั้งก้อน ในครั้งเดียว
  4. กลับไปเริ่มข้อ 1. ใหม่ หมายความว่าเริ่มกลับมาออมสะสมบิตคอยน์ต่อ
(หน่วย: ดอลลาร์)

ได้บิตคอยน์ทั้งหมด 41.57 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -46.71%

ผลตอบแทนเท่ากับ 1718.33%

ผลกำไรเพิ่มขึ้นแต่ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับการออมธรรมดา ณ ช่วงเวลาเดียวกัน คือ มีบิตคอยน์เพิ่มขึ้น 0.3 เหรียญ เพิ่มขึ้น 18% แต่ข้อดีของวิธีการนี้ คือ ความเสี่ยงลดลงจากการออมปกติถึง 10% ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าเป็นวิธีการออมที่ดีกว่าแบบปกติ แม้จะไม่มากนักก็ตาม แต่มันเริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่าความรู้ด้านการเทรดสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มผลกำไรให้กับการออมได้

5.3 ออมเฉพาะตอนระบบเขียว และขายทิ้งเมื่อระบบแดง

เริ่มต้นการออม ณ จุดกลางๆ ในปี 2014 เป็นเงิน 100$ ทุกอาทิตย์ ที่ราคาประมาณ 500$ ต่อหนึ่งบิตคอยน์จนถึงปัจจุบัน เป็นเงินรวม 43,500$ และกำไรที่ได้นำมาทบต้นทบดอก

วิธีการนี้จะแตกต่างกับข้อ 5.1 และ 5.2 เพราะเราจะทำการขายบิตคอยน์ทั้งหมดที่ได้มาจากการออมเมื่อระบบแดง

โดยวิธีการคือ 

  1. เมื่อระบบเขียวเราจะทำการออมสะสมบิตคอยน์เป็นเงิน 100$ ทุกอาทิตย์
  2. เมื่อระบบแดงเราจะทำการขายบิตคอยน์ที่ออมไว้ทั้งหมด
  3. ระหว่างที่ระบบยังแดงอยู่ เราจะหยุดซื้อบิตคอยน์และทำการออมสะสมเป็นเงินเฟียตหรือ USDT ไปเรื่อยๆ แทน
  4. เมื่อระบบกลับมาเขียว ให้นำเงินทั้งหมดที่เก็บสะสมไว้ในข้อ 3. มาซื้อบิตคอยน์ทั้งก้อน ในครั้งเดียว
  5. กลับไปเริ่มข้อ 1. ใหม่ หมายความว่าเริ่มกลับมาออมสะสมบิตคอยน์ใหม่
(หน่วย: ดอลลาร์)

ได้บิตคอยน์ทั้งหมด 60.57 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -9.09%

ผลตอบแทนเท่ากับ 2549.56%

การทำตามระบบของ Action Zone คือ ซื้อเมื่อเขียวและขายเมื่อแดง บวกกับการออมเฉพาะช่วงตลาดขาขึ้น ผลลัพท์ที่ได้นั้นน่าสนใจ เพราะผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากประมาณ 50% เมื่อเทียบการออมแบบปกติ และที่สำคัญจุดขาดทุนสูงสุดเพียงแค่ 9.09%

แต่การขายบิตคอยน์ทั้งหมดเพื่อถือดอลลาร์, สกุลเงินเฟียตอื่นๆ หรือการถือเป็น Stablecoin เช่น USDT, USDC ในปริมาณมากช่วงที่ระบบแดง อาจทำให้เหล่า Bitcoiner ไม่ถูกใจจนอาจไม่สนใจวิธีนี้ก็เป็นได้…

5.4 สำหรับ Bitcoiner ที่ทำใจขายบิตคอยน์ทั้งหมดเพื่อถือเฟียตไม่ได้ ลองขายซักครึ่งนึงดีไหม?

(หน่วย: ดอลลาร์)

วิธีการออมเหมือนกับข้อ 5.3 เพียงแต่เราจะทำการขายบิตคอยน์แค่ครึ่งเดียวจากทั้งหมด ผลลัพท์ที่ได้ คือ

ได้บิตคอยน์ทั้งหมด 57.79 เหรียญ

จุดขาดทุนสูงสุด เท่ากับ -26.86%

ผลตอบแทนเท่ากับ 2427.94%

การขายออกครึ่งหนึ่งถือว่าให้ผลกำไรสูงเกินคาด สูงกว่าการออมแบบปกติมาก ได้บิตคอยน์จำนวนลดลงแค่ประมาณ 3 เหรียญ เมื่อเทียบกับวิธีการขายทิ้งทั้งหมดเมื่อระบบแดง ถือว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับ Bitcoiner

สรุปข้อมูลสถิติของการนำ Action Zone V.3 เข้ามาช่วยในการออม ทั้ง 4 รูปแบบ

การทำตามวิธีการในข้อ 5.3 สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น ดีที่สุดทั้งในแง่ของจำนวนบิตคอยน์ที่ได้และจุดขาดทุนสูงสุดที่น้อยมากๆ แต่สำหรับ Bitcoiner แล้ว คงส่ายหัวให้กับวิธีนี้และอาจจะสบายใจกับวิธีการข้อ 5.4 มากกว่า

การใช้ CDC Action Zone V.3 มาช่วยในการออมให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

เพียงแต่อย่าเริ่มออมตอนตลาดแดง ให้เริ่มต้นซื้อตอนระบบเขียวหรือตอนตลาดเป็นขาขึ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและลดความเสี่ยงได้มากกว่า การทำตามระบบเขียวซื้อ-แดงขาย บวกด้วยการทะยอยเก็บออม สามารถทำกำไรได้ดีกว่าการใส่เงินตู้มเดียวเสียอีก เว้นซะแต่ว่าคุณเก่งมาก ทุ่มหมดหน้าตักที่จุดราคาต่ำสุด

การมีความรู้และวินัยในการทำตามระบบสามารถเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ แม้แต่กับการออมก็ใช้ได้ผลเช่นเดียวกัน ส่วนจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราใช้

ถ้าถามว่าแล้วเราควรเริ่มออมตอนไหนดี? การเริ่มที่ราคาต่ำๆ ให้ผลตอบแทนดีกว่าเสมอ เช่น เริ่มลงทุนเมื่อราคาบิตคอยน์ลดลงจากจุดสูงสุด 78.6%-88.7% จะเป็นช่วงราคาที่ได้เปรียบที่สุด แต่ในระยะยาวอาจไม่มีผลมากนัก แต่มันก็ดีกว่าการเริ่มต้นที่ยอดดอย

มาถึงตรงนี้ ชาว Bitcoiner คงพึงพอใจมากขึ้น เมื่อเราทำใจถือเฟียตเยอะๆ ไม่ได้ ถือเฟียตเยอะเกินไปมันทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เราก็แค่ขายบิตคอยน์ออกไปในจำนวนที่เรารับได้ แน่นอนว่าเมื่อขายน้อยผลตอบแทนก็น้อยลงตามถ้าเทียบกับการขายทิ้งทั้งหมด หรือเราจะออมอย่างเดียวและจะไม่ขายมันเลยแม้แต่ Sat เดียวก็สามารถทำได้ เพราะถึงแม้ผลตอบแทนจะน้อยลง แต่ยังไงๆ มันก็ยังเยอะอยู่ดี

เอาล่ะ ผมคงจะยกตัวอย่างวิธีการออมพอหอมปากหอมคอเพียงเท่านี้ก่อน ใครสนใจอยากดูว่าการออมในช่วงเวลาอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เช่น ปี 2017 2020 ผลลัพท์ที่ได้มันจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญวิธีการที่ให้ผลกำไรสูงสุดไม่ได้อยู่ในบทความนี้ สามารถเข้าไปรับชมต่อได้ในไลฟ์ CDC Bitcoin Talk ตอนที่ 140

Stacking sats

การลงทุนด้วยการออมก็ใช้ได้ผลกับบิตคอยน์

จากข้อมูลสถิติทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าการออมใช้ได้ผลค่อนข้างดีมากกับบิตคอยน์ ถึงแม้มันจะมีความผันผวนที่สูงมากก็ตาม และการนำวิชาการลงทุนเชิงเทคนิคอลบางวิธีเข้ามาช่วยในการออม ก็สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้สูงกว่าการออมแบบปกติได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณมีวินัยในการทำตามระบบอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ทำไม่ได้ การออมในบิตคอยน์แบบปกติธรรมดาก็เพียงพอแล้ว เพราะการดื้อไม่ยอมทำตามระบบ สุดท้ายแล้วมันอาจสร้างความเสียหายให้คุณมากกว่า!

การออมบิตคอยน์หรือการ Stack Sats แบบที่ 1, 2 และ 3 นั้นให้ผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกัน และอยู่ในระดับที่สูงมาก แม้ว่าราคาและระยะเวลาที่เริ่มลงทุนจะแตกต่างกัน 

ผู้อ่านคงจะต้องพิจารณาและตัดสินใจด้วยตัวเองว่าวิธีการออมแบบใดที่ถูกจริตกับเรา แล้วเริ่มทำมันหรือคนที่ทำไปแล้วก็สามารถใช้ไอเดียจากตรงนี้ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการออมได้ เพราะข้อมูลเชิงสถิติต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้พิสูจน์แล้ว ว่ามันเป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนได้ดี ค่อนข้างปลอดภัย มีระดับความผันผวนที่น้อยเมื่อเทียบกับรูปแบบการลงทุนอื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการเลือกที่จะออมในสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง สามารถอยู่รอดได้อย่างดีข้ามผ่านกาลเวลา

แม้ว่าวิธีการลงทุนแบบ Buy & Hold หรือการใส่เงินตู้มเดียว ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นเวอร์วังอลังการสุดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่ค่อนข้าง “เพ้อฝัน” ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยาก แต่ถ้าหากทำได้ ยินดีด้วย คุณก็คือยอดมนุษย์ดีๆ นี่เอง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในโลกใบนี้ ถ้าสามารถทำแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ โลกใบนี้คงไม่มีคนยากจนอีกต่อไป

การที่เรากล้าใส่เงินตู้มเดียว มองในอีกแง่มุมมันอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงการมีอยู่ของ “ความโลภ” ในจิตใจเราที่มากเกินไป รวมถึงยังแสดงออกถึงการเป็นคนมีความอดทนต่ำ 

เพราะฉะนั้น เราจะมั่นใจได้แค่ไหนว่าเราจะไม่มือลั่นขายบิตคอยน์ไปในระหว่างทาง อาจจะเนื่องด้วยความกลัวหรือความโลภก็ตามแต่ มันส่งผลให้เราอดใจไม่ไหวที่จะขายมันไปตอนที่กำไร 100% หรือ 200% ทั้งๆ ที่สุดท้ายแล้วบิตคอยน์จะขึ้นไปทำกำไรในระดับ 10,000% 

หรือกรณีที่ขาดทุน ทุ่มซื้อหมดหน้าตักแล้วหลังจากนั้นราคาก็ลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเป็นปีๆ เราจะสามารถอดทนได้แค่ไหน? ที่จะไม่ยอมขายมันทิ้งเพื่อรักษาเงินที่เหลืออยู่ ผู้คนส่วนใหญ่ในตลาดมักจะยอมแพ้และตัดใจขายมันทิ้งไป ณ จุดราคาต่ำสุดเสมอ ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นเราขาดทุน 70-80% ที่ผมกล้าพูดแบบนี้ไม่ใช่เพราะอวดเก่ง แต่เพราะผมเคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาแล้วและพบเห็นผู้คนจำนวนมากที่ลงเอยด้วยการขาดทุนหนักไม่ต่างกันตลอดระยะเวลา 6 ปีที่อยู่ในตลาด

การออมในแง่ของจิตวิทยานั้นแตกต่างกันมาก เพราะมันเทียบเท่ากับการ "สะสมความอดทน" ของผู้ออม ด้วยการค่อยๆ ซื้อทีละเล็กละน้อยในจำนวนและความถี่ที่เท่าๆ กันอย่างมีวินัยและต่อเนื่อง ก้อนเงินยิ่งมันใหญ่มากขึ้นเท่าไร มันยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอดทนที่มากขึ้นเท่านั้น และเมื่อถึงวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า การที่จะถือหรือจะสะสมต่อไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร…จริงไหม?

บิตคอยน์ถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่ในการเก็บรักษามูลค่า (Store of Wealth) และต้านทานเงินเฟ้อ แต่ ณ เวลานี้ บิตคอยน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แม้มันจะผ่านมาสิบกว่าปีแล้วก็ตาม ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลหลายสิบปีหรือหลักร้อยปีรอมันอยู่ ทำให้ยังมีความผันผวนของราคาในระดับที่สูง ยังไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของบิตคอยน์ควรอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ในอนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ว่าสุดท้ายแล้วมันอาจมีความผันผวนในระดับที่พอๆ กับทองคำ และในปัจจุบันมันยังทำหน้าที่เป็นตัวเก็บรักษามูลค่าได้ไม่ดีนัก (เมื่อคุณพยายามเทียบมันกับดอลลาร์)

Didier

ถ้าเปรียบมูลค่าของเงินดอลลาร์ยิ่งใหญ่เหมือนมหาสมุทร มูลค่าของบิตคอยน์นั้นก็เทียบเท่ากับลำคลองเล็กๆ เท่านั้นเอง และเมื่อมีเงินจำนวนมากที่เปรียบเสมือนกับปริมาณน้ำห่าใหญ่ถูกเทใส่ลงไป ก็ย่อมแน่นอนว่ามันจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับลำคลองเล็กๆ ได้อย่างมหาศาล ในขณะที่มหาสมุทรแทบจะไม่เกิดแรงกระเพื่อมเท่าไหร่นัก

แต่สุดท้ายแล้ว เป้าหมายการออมในบิตคอยน์ของเหล่า Bitcoiner นั้นอาจแตกต่างและตรงกันข้ามกับวิถีของคนส่วนใหญ่ พวกเขาไม่ได้มองว่าวิธีการไหนให้ผลตอบแทนสูงที่สุด แต่พวกเขาเพียงแค่รู้สึกไม่มั่นคงและนอนตาไม่หลับหากถือเงินเฟียตมากเกินไปต่างหาก

ดังคำกล่าวของ อ. พิริยะ ที่ว่า

"ถ้าเราเข้าใจและเราใช้เงินที่เราเสียได้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นคุณก็จะไม่มีความกระวนกระวายใจที่จะส่งผลให้คุณตัดสินใจผิดพลาด สำหรับคนที่เข้าใจแล้วคุณเก็บเป็นเงินบาทเฉพาะเท่าที่เสียได้ คุณก็จะไม่มีความกระวนกระวายใจเช่นเดียวกัน"

อ้างอิงข้อมูลจาก

CDC Bitcoin talk ตอนที่ 140

Didier

คนธรรมดาทั่วไป

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts