DALLE_2022-11-21_22.55.24_-_war_between_spartan__digital_art_1200x720px
ITSsara

ITSsara

สงครามวัฒนธรรมของบิตคอยน์ : อะไรที่ฆ่าคุณไม่ได้ จะทำให้คุณแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ดูเหมือนว่ายังคงมีความสับสนอยู่มากเกี่ยวกับรูปแบบการกำกับดูแลเครือข่ายบิตคอยน์ ผมจะมาไขความกระจ่างในรูปแบบการกำกับดูแลอย่างไม่เป็นทางการของบิตคอยน์ (Bitcoin’s informal governance) ซึ่งมักถูกเรียกว่า “สงครามวัฒนธรรม หรือ Culture War”

ในบทความนี้เราจะมาสำรวจ “ความขัดแย้ง” ภายในชุมชนบิตคอยน์ บทเรียนที่ได้รับจากการฟอร์ก (Fork) ที่ล้มเหลว และเน้นย้ำถึงประโยชน์ของการกำกับดูแลอย่างไม่เป็นทางการของบิตคอยน์ซึ่งไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงมากนัก รวมถึงการลดขนาดพื้นที่โจมตี (Attack surface) การขัดเกลาใจความสำคัญ (Core message) และการลดต้นทุนการได้มาของผู้ใช้งานหน้าใหม่ (User acquisition cost)

บิตคอยน์ คือ ฉันทามติทางสังคมซึ่งถูกควบคุมโดยโปรโตคอล

วิธีหนึ่งที่จะอธิบายเครือข่ายบิตคอยน์คือ “กลุ่มคนที่ตั้งกฎหลวม ๆ ขึ้นมาเพื่อการอยู่ร่วมกัน” เนื่องจากผู้ใช้งานอยู่ร่วมกันตามกฎที่ถูกบังคับใช้ผ่านโค้ดของบิตคอยน์ โดยกฎที่ยอมรับโดยทั่วกันในหมู่ผู้ใช้งาน ได้แก่ นโยบายทางการเงินที่ไม่เปลี่ยนแปลง (อุปทานจำกัดเพียง 21 ล้านบิตคอยน์) การทำธุรกรรมที่ไม่มีใครระงับได้ และความง่ายในการตรวจสอบ

กฎของบิตคอยน์ : 1. ไม่มีการยึดทรัพย์ 2. ไม่มีการเซ็นเซอร์ 3. ไม่มีเงินเฟ้อ 4. ทุกคนสามารถพิสูจน์กฎทั้ง 3 ข้อนี้ได้
// ที่มา :
Hasu’s Unpacking Bitcoin’s Social Contract

ความเห็นต่างในบิตคอยน์คือ “สงครามวัฒนธรรม”

แม้แต่ชาวบิตคอยเองก็ไม่ได้เห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่อง ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องปกติที่จะมีอุดมการณ์บางอย่างที่ไม่ลงรอยกัน เช่น “การมีระบบชำระเงินที่ถูกและเร็วบนเลเยอร์ที่ 1 (Base layer) ของบิตคอยน์” ปะทะกับ “การกระจายอำนาจของผู้รันโหนด (Node)

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันล่ะ?
และนั่นคือสงครามวัฒนธรรม…

เราไม่มีกระบวนการที่เป็นกิจลักษณะอย่างการลงคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงโปรโตคอลของบิตคอยน์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะกลายเป็นความโกลาหล แม้อาจจะดูเป็นแบบนั้นก็ตาม ผมจะอธิบายกระบวนการทั่วไปในการเปลี่ยนแปลงบิตคอยน์อย่างง่ายให้ฟัง (แต่ถ้าคุณอยากเจาะลึกลงไปในประเด็นนี้ ผมขอแนะนำบทความนี้ของ ปีแอร์ โรชาร์ด)

โดยปกติแล้ว ความขัดแย้งต่าง ๆ จะถูกโต้เถียงกันในขั้นแรกบนทวิตเตอร์ ฟอรัมออนไลน์ หรือเมลลิ่งลิสต์ ผู้ใช้งานบิตคอยน์จะแบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองให้แก่กัน และเมื่อได้ฉันทามติคร่าว ๆ ก็จะส่งสัญญาณให้เหล่านักพัฒนาเห็นว่าควรหยิบยกเรื่องใดมาพิจารณา และหากข้อเสนอมีแรงจูงใจมากพอก็อาจมีผู้พัฒนาบางคนสร้างข้อเสนอที่เรียกว่า “ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบิตคอยน์” หรือ “BIP” (Bitcoin Improvement Proposal) ขึ้นมา จากนั้น BIP เหล่านี้จะถูกทดสอบและตรวจสอบเพิ่มเติมจากชุมชนบิตคอยน์ ซึ่งสุดท้ายแล้วข้อเสนอเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้งานหรือไม่ก็ได้ กระบวนการข้างต้นนี้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อฉันทามติทางสังคมแก่โปรโตคอล

อย่างไรก็ตาม เมื่อการพูดคุยในที่สาธารณะไม่ได้นำมาซึ่งฉันทามติ ผู้คนส่วนน้อยที่ไม่มีความอดทนมากพอก็มีอิสระที่จะทดสอบไอเดียของพวกเขาในตลาด ผ่านการสร้าง “ฟอร์ก” ซึ่งหมายถึงใคร ๆ ก็สามารถสร้างโทเคนขึ้นมาแข่งขันกับบิตคอยน์ได้ โดยคัดลอกโค้ดของบิตคอยน์แล้วเปิดใช้งานด้วยตนเอง

ในทางทฤษฎีแล้ว ความสามารถในการฟอร์กจะช่วยป้องกันการโต้เถียงที่วุ่นวาย และอนุญาตให้ตลาดสามารถตัดสินมูลค่าแนวความคิดของโทเคนใหม่ได้เอง ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เสนอขึ้นจะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ตาม กล่าวคือชุมชนดั้งเดิมสามารถเลือกด้านที่ตนเองต้องการสนับสนุน และให้ราคาตลาดเป็นตัวกำหนดผู้ชนะ

ความสามารถในการฟอร์กโค้ดของบิตคอยน์ยังมีประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายจากภัยคุกคามบางรูปแบบ  แต่เรื่องนั้นเราจะเอาไว้พูดคุยกันวันหลัง

จุดอ่อนหนึ่งในการกำกับดูแลอย่างไม่เป็นทางการของบิตคอยน์ ก็คือการได้รับฉันทามติทางสังคมที่ยากลำบากในทุกประเด็นที่ถกเถียงกัน จะนำพาบิตคอยน์ไปสู่แนวทางอนุรักษ์นิยม ซึ่งอาจทำให้บิตคอยน์เชื่องช้าเกินไปที่จะนำเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ และอาจถูกเหรียญคู่แข่งอื่นแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไปนั่นเอง

โดยจุดอ่อนนี้ได้นำมาซึ่งการเสนอรูปแบบการกำกับดูแลอื่น ๆ เช่น การลงคะแนนเสียงผ่านเชน (On-chain voting) และโปรโตคอล “ต่อต้านการฟอร์ก” อย่างดีเครด (Decred)

ถึงกระนั้นก็ตาม ความสำเร็จในการเป็นเงินถูกกำหนดโดยอิทธิพลของเครือข่าย (Network effect) ซึ่งบิตคอยน์เป็นผู้นำในการแข่งขันนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ที่น่าสนใจคือชาวบิตคอยน์บางคนเชื่อว่าโปรโตคอลพื้นฐานควรจะถูกโบกปูนในอีกไม่ช้า ซึ่งตามหลักแล้วจะช่วยลดความเสี่ยงจากเหตุร้าย และผลักการทดลองต่าง ๆ ไปยังเลเยอร์ถัดไป รวมทั้งปลูกฝังความเชื่อมั่นต่อเลเยอร์ชั้นฐาน (Base layer) ในฐานะผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรม

ทางแยกบนถนน

เมื่อไม่สามารถยุติความขัดแย้งผ่านการพูดคุยได้ คนส่วนน้อยที่ไม่อดทนสามารถฟอร์กบิตคอยน์ออกไปได้หากมีแรงจูงใจมากพอ แต่ผู้ที่รัน บิตคอยน์ฟูลโหนด (Bitcoin full node) จะเลือก “เวอร์ชั่นของบิตคอยน์” ที่เขาสนับสนุนได้ ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ที่บังคับใช้ชุดกฏที่พวกเขาต้องการ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกลุ่ม บิตคอยน์แคช (Bitcoin Cash) ซึ่งให้ความสำคัญกับเครือข่ายการชำระเงินในเลเยอร์ชั้นฐานมากกว่าการกระจายตัวของกลุ่มผู้รันโหนดเสียอีก

แทนที่จะขุดเรื่อง การขยายบล็อก (Block) มาถกเถียงกัน ผมจะพยายามกำจัดข่าว FUD (Fear, Uncertainty & Doubt) แล้วมาสรุปบทเรียนที่ได้จากการฟอร์กที่ล้มเหลวนี้ และอธิบายถึงประโยชน์ที่พวกเราได้รับอย่างน่าแปลกใจทั้ง 3 ประการของ “สงครามวัฒนธรรม” ที่เกิดขึ้น

FUD ข้อที่ 1 :
การฟอร์กคือการเฟ้อของอุปทานรูปแบบหนึ่ง

หนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบิตคอยน์ คือการสร้างสินทรัพย์ขาดแคลนที่สามารถพิสูจน์ความขาดแคลนนั้นได้ แต่การฟอร์กบิตคอยน์ทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นมิใช่หรือ? มองผิวเผินก็อาจใช่ และถ้าผมฟอร์กบิตคอยน์ออกมารันด้วยตัวเอง (เอาเป็นชื่อ “แบรนดอน คอยน์” ละกัน) ก็เท่ากับว่าตอนนี้เราจะมี “บิตคอยน์” เพิ่มเป็นเท่าตัว 

อย่างไรก็ตาม แค่เพราะผมสร้างฟอร์กบิตคอยน์ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีค่าอะไร ที่จริงผมกล้าพนันเลยว่า “แบรนดอน คอยน์” ของผมนั้นจะไม่มีมูลค่าใด ๆ มันไม่มีนักพัฒนา ไม่มีความเชื่อมั่นในโทเคน ไม่มี Exchange ไหนลิสต์เหรียญผมขึ้นกระดานเทรด แล้วมีเหตุผลอะไรที่ผู้คนจะอยากได้มันกันล่ะ?

เห็นได้ชัดว่าแบรนดอน คอยน์จะพังเละไม่เป็นท่า เพราะผมคัดลอกบิตคอยน์ได้เพียงด้านเทคนิคโดยปราศจากฉันทามติทางสังคมของมัน ดังนั้นคำถามว่าการฟอร์กบิตคอยน์จะทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นไหม? 

คำตอบคือ “ไม่”

FUD ข้อที่ 2 :
การฟอร์กสร้างความสับสนและทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ในบทความของฟอร์บส์เมื่อไม่นานมานี้ ฟรานเซส คอปโปล่า อ้างว่าการฟอร์กของบิตคอยน์หมายความว่าบิตคอยน์ไม่มีความมั่นคง

ต่อให้บิตคอยน์จะมีเพียงหนึ่งเดียวหรือนับสิบ ก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ความเสถียรของมันใช่มั้ยล่ะ”

ผมเข้าใจว่าเธอได้รับข้อมูลนี้มาจากช่วงเวลาไหน เมื่อคุณมองย้อนกลับไปยังจุดปะทะในสงครามบนทวิตเตอร์ จะดูราวกับว่าชุมชนนี้พังเสียหายเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ คุณยังสามารถมองเห็นกลุ่มบิตคอยน์แคชซึ่งทำการแบ่งออกเป็น ABC และ SV เมื่อช่วงปลายปี 2018 และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะหยุดด้วย

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งใหญ่โตที่ถูกเผยแพร่ไปยังสาธารณชนนั้นสร้างความเสียหายได้เพียงเศษเสี้ยวต่อชุมชน ความจริงแล้วผู้คนส่วนมากเห็นพ้องในสิ่งที่สำคัญต่อบิตคอยน์ และเข้าร่วมมือกับ “บิตคอยน์ คอร์ (Bitcoin Core) ความเห็นพ้องนี้เป็นเหมือนจุดเชลลิ่ง* (Schelling point) ร่วมกันของพวกเรา (*จุดเชลลิ่ง คือจุดสมดุลที่ผู้คนสามารถเดาใจกันได้อย่างถูกต้อง นำมาซึ่งความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย เป็นทฤษฎีเกมที่สำคัญว่าด้วยเรื่องการตัดสินใจจากการเดาใจ-ผู้แปล)

ไม่ต้องพูดถึงประชากรส่วนใหญ่ของโลกซึ่งไม่สนใจ “การโต้เถียงอย่างรุนแรง” ซึ่งเกิดขึ้นตามทวิตเตอร์เกี่ยวกับคริปโทฯ เว็บไซต์ Reddit หรือฟอรัมออนไลน์ต่าง ๆ นอกจากนั้นการอภิปรายอย่างเข้มงวดเช่นนี้เป็นผลดีอย่างมากต่อบิตคอยน์ (รายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ในบทถัดไป)

แต่คำถามหนึ่งยังค้างคาอยู่ : เกิดอะไรขึ้นกับบิตคอยน์เนอร์ที่เข้าร่วมกับ “ฟอร์กที่ล้มเหลว”

พวกเขาจะยอมแพ้แล้วกลับมาสู่ชุมชนบิตคอยน์ไหม? 

หรือพวกเขาจะพ่ายแพ้เป็นทวีคูณ? ..มันก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินของพวกเขาแล้วล่ะ

บทเรียนที่ได้รับจากการฟอร์กของบิตคอยน์

  • การฟอร์กนั้นไม่ใช่การผลิตบิตคอยน์เพิ่ม
  • มันไม่สำคัญว่าเสียงส่วนน้อยที่สนับสนุนเชนรอง ๆ จะว่าอย่างไร พวกเขาเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของชุมชนบิตคอยน์ทั้งหมด
  • ตลาดไม่ให้ค่ากับฟอร์กอย่าง BCH, BCH SV, Bitcoin gold/Private/Diamond
  • หากมีสองเชนที่ใช้อัลกอริทึมในการขุดเหมือนกัน เชนรองย่อมมีโอกาสถูก 51% attack มากกว่า (เช่น Verge, ETC ฯลฯ)

เมื่อการฟอร์กออกจากบิตคอยน์ทั้งหมดเป็นสิ่งล้มเหลวในตลาด เราพอจะสรุปได้ว่าสงครามวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น จะจบลงด้วยการฟอร์กเพื่อแข่งขันกับบิตคอยน์ แต่ตราบใดที่ความโลภนั้นทรงพลัง และการฟอร์กสามารถทำเงินได้ เหตุการณ์เช่นนี้จะยังคงเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป 

แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็สามารถยุติการถกเถียงเรื่องการขยายบล็อกลงได้เสียที..ใช่ไหม?

แม้ว่าการฟอร์กจะไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่สงครามวัฒธรรมในบิตคอยน์ยังคงดำเนินต่อไป สงครามถัดมาคือ : ความสามารถในการทดแทนกัน (Fungibility) ปะทะกับ อุปทานที่สามารถพิสูจน์ได้ กล่าวคือ.. บิตคอยน์ควรมีความเป็นส่วนตัว และความสามารถในการทดแทนกันบนเชนหลักมากกว่าการสามารถพิสูจน์ปริมาณอุปทานทั้งหมดได้ใช่หรือไม่?

การโต้เถียงครั้งนี้เดือดดาลราวกับจะผ่าชุมชนบิตคอยน์ออกเป็นเสี่ยง ๆ

หากประวัติศาตร์ยังดำเนินต่อ บิตคอยน์จะเลือกหนทางแห่งการอนุรักษ์ไว้ โดยส่วนตัวผมเลือกรักษาอุปทานที่พิสูจน์ได้เอาไว้ ในขณะที่มีความสามารถในการทดแทนกันได้เพียงพอผ่านเทคโนโลยีบนเลเยอร์ชั้นที่สองอย่าง ไลท์นิ่ง เน็ตเวิร์ก (Lightning network) และบริการอย่าง คอยน์จอยน์ (Coin join)

ประโยชน์ที่ได้รับจากสงครามวัฒนธรรมในบิตคอยน์ที่ยังคงดำเนินต่อไป

เรามาลองนึกถึงผลดีที่ได้รับจากสงครามนี้กัน

1. ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ล้มเหลวช่วยลดพื้นที่โจมตี

ชุมชนบิตคอยน์มีชื่อเสียงในเรื่องคำพูดที่ตรงไปตรงมา และการเข้าหาไอเดียใหม่ ๆ อย่างแข็งขัน ซึ่งไม่พบในชุมชนคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ บางครั้งนิสัยนี้ถูกมองว่า “เป็นพิษ” (Toxic) จากบุคคลภายนอก อย่างไรก็ตามหากชุมชนไม่ยอมรับการสนทนาอย่างตรงไปตรงมา พวกเขาก็มีความเสี่ยงจะกลายเป็นสังคมที่อ่อนแอและเปราะบาง

การต่อสู้ภายในที่ดุเดือดนี้ ทำให้บิตคอยน์สามารถทดลองไอเดียใหม่ ๆ ภายในชุมชนของมันซึ่งมีความเสี่ยงต่ำได้ การถกเถียงกันภายในนี้เป็นเหมือน “การซ้อมรบทางวัฒนธรรม” ที่ซึ่งไอเดียแย่ ๆ จะถูกตีแผ่ก่อนที่มันจะหลุดรอดไปติดตั้งบนโปรโตคอล สิ่งนี้ช่วยลดขนาดช่องโหว่ที่ใช้โจมตีบิตคอยน์ลงได้

ชาวบิตคอยน์ส่วนใหญ่เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงในโปรโตคอลควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ซึ่งนี่คือขั้วตรงข้ามกับคำคมยอดนิยมจากซิลิคอนวัลเล่ย์ที่ว่า

“พุ่งไม่ยั้ง พังให้ไว สร้างขึ้นใหม่ ไฉไลกว่าเดิม
(Move fast and break things)”

2. การต่อสู้ภายในได้เจียระไนใจความสำคัญ

สนามซ้อมรบทางวัฒนธรรมของบิตคอยน์อนุญาตให้ผู้คนได้ปลดปล่อยไอเดียแย่ ๆ และเจียระไนใจความสำคัญหลักได้ ตัวอย่างเช่น การขยายขนาดบล็อกโดยกลุ่มบิตคอยน์แคช ซึ่งตอนนี้ทุกคนรู้ว่าเป็นความล้มเหลว

หากในอนาคตมีใครเสนอ “การขยายขนาดเครือข่าย” ขึ้นมา พวกเราก็สามารถชี้ให้เห็นบทเรียนจากการฟอร์กที่ล้มเหลวในครั้งนั้นได้ และเรื่องนี้จะตราตรึงใจของชาวบิตคอยน์ไปอีกนานเท่านาน แต่กระนั้นเพื่อความยุติธรรม การโต้เถียงที่สำคัญส่วนใหญ่ได้ถูกพุดคุยโดยบิตคอยน์เนอร์รุ่นบุกเบิกอย่างยัสซึน เอลมันดิรา ที่ได้รวบรวมบางส่วนของการถกเถียงซึ่งเป็นที่พูดถึงเอาไว้

การพูดคุยนี้เป็นเรื่องราวการถกเถียงภายในชุมชน เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดในการนำเสนอบิตคอยน์สู่สายตาชาวโลก

สงครามวัฒนธรรมในครั้งนี้ไม่ได้หยุดเพียงชุมชนของบิตคอยน์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชุมชนเหรียญคริปโทฯ ทั้งหมดที่กำลังต่อสู้เพื่อเข้าร่วมกับกระแสนิยมในครั้งนี้

สุดท้ายข้อความไหนจะน่าสนใจมากกว่ากันระหว่าง
“ใช้บล็อกเชนกับทุกสิ่ง” หรือ “การมีเงินที่ดีกว่า”?

และเนื่องจากโลกภายนอกมีพื้นที่รับข้อมูลจำกัด ข้อความที่ชนะจะกวาดพื้นที่สื่อต่อหน้าผู้คนใหม่ ๆ ที่เริ่มสนใจเหรียญคริปโทฯ ไปครองไว้ได้มากที่สุด

3. ท้ายสุดแล้ว ข้อความที่ถูกเผยแพร่ออกไปจะลดต้นทุนการได้มาซึ่งผู้ใช้งาน

คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้ยินเกี่ยวกับบิตคอยน์ 3-4 ครั้งก่อนจะตัดสินถือครองมันบ้าง ที่เป็นเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก ปรากฏการณ์ลินดี้ (Lindy Effect) ประมาณว่า… 

“โอ้! ว้าว! มีบิตคอยน์อยู่ทุกที่เลย ฉันก็น่าจะมีมันไว้บ้างนะ”

อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือ : สาส์นที่ขัดแย้งไม่สอดคล้องกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับบิตคอยน์เมื่อไหร่ คำพูดที่ได้ยินอาจเป็นหนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ สกุลเงินดิจิทัลไร้ตัวตนสำหรับการซื้อยาเสพติดบนออนไลน์ ระบบการชำระเงินที่ถูกและรวดเร็ว หรือแม้แต่ทองคำดิจิทัล

คำจำกัดความของบิตคอยน์ที่น่าสับสน ทำให้การทำความเข้าใจบิตคอยน์ยิ่งดูเป็นเรื่องยากซับซ้อนขึ้นไปอีก

ด้วยการเจียระไนใจความหลัก เราสามารถตัดจุดข้อมูลที่ไม่จำเป็นก่อนที่ผู้ใช้งานรายใหม่จะตัดสินใจ อีกนัยหนึ่งคือสงครามวัฒนธรรมของบิตคอยน์ช่วยลดต้นทุนการได้มาของผู้ใช้งานหน้าใหม่ และยังสร้างมูลค่าให้เครือข่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อะไรก็ตามที่ฆ่าบิตคอยน์ไม่ตาย จะยิ่งทำให้มันแข็งแกร่งขึ้น

บิตคอยน์ได้วิวัฒนาการผ่านการแสดงออกของผู้คนในตลาด ซึ่ง “สงครามวัฒนธรรม” ทั้งหลายนี้อาจดูเป็นพิษ แต่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และยังส่งผลดีต่อระบบ

สงครามวัฒนธรรมช่วยลดช่องโหว่ของบิตคอยน์ ช่วยขัดเกลาใจความหลัก และท้ายที่สุดมันยังช่วยลดต้นทุนการได้มาซึ่งผู้ใช้งานรายใหม่ ซึ่งทำให้บิตคอยน์มีมูลค่ามากขึ้นไปอีก

และทุกครั้งที่บิตคอยน์รอดพ้นจากสนามซ้อมรบมาได้ มันจะยิ่งพร้อมสู้ศึกใหญ่ในอนาคตมากยิ่งขึ้น และเม็ดเงินเดิมพันก็เพิ่มขึ้นตามเช่นกัน…

(..บทความนี้ยังไม่จบนะครับ – มี End credit..)

ขอบคุณบทความจากคุณ Brandon Quittem

ติดตามผลงานคุณ Brandon ได้ที่ :

ทวิตเตอร์: @Bquittem

ไอจี: Brandon_quittem

เว็บไซต์: https://brandonquittem.com

อ่านบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ > ที่นี่

(มีต่อเล็กน้อย)

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่ช่วง “น้ำชาหลังอ่าน” ช่วงที่เราจะพูดคุยกันเล็กน้อยหลังอ่านบทความจบ ซึ่งเนื้อหาจะเป็นการพูดเรื่อยเปื่อยของผู้แปลซึ่งก็คือ กระผมเอง (โบกมือสองข้าง) โดยจุดประสงค์ก็เพื่อผ่อนคลายจากการอ่านบทความที่เนื้อหาอัดแน่น และเพื่อเป็นที่ระบายของตัวผู้แปลเองด้วยครับ 555

เมื่อพร้อมกันแล้ว จึงขอเชิญทุกท่านจิบน้ำชาเบา ๆ พร้อมขนมหวานที่ผมจัดเตรียมไว้ให้ ขอให้มีความสุขกับมื้ออาหารครับ!!!

ก่อนอื่นผมต้องขอพูดถึงที่มาของบทความแปลนี้ก่อน ด้วยความที่ผมเพิ่งเริ่มหัดแปลได้ไม่นาน และยังอยู่ในช่วงมีไฟอยากแปลเพิ่ม ผมจึงหาบทความภาษาอังกฤษที่มีการใช้ภาษาไม่ยากจนเกินไปแต่ยังคงความน่าสนใจของเนื้อหาเกี่ยวกับบิตคอยน์ไว้ ทำให้นึกถึงบทความของคุณ Brandon Quittem ซึ่งเป็นงานแปลครั้งแรกของผมที่ทำร่วมกับพี่ ๆ อีกหลายคนในบทความชื่อ “Bitcoin is The Mycelium of Money”

ด้วยความที่แต่ละย่อหน้ามีความยาวไม่มาก ภาษาเข้าถึงง่าย เวิ่นเว้อพอประมาณ (แอบนินทาคนเขียนเล็กน้อย) และเนื้อหาที่ราวกับจะพาเราเข้าไปสู่สารคดีท่องโลกกว้างยังไงยังงั้น ผมจึงกดเข้าเว็บของเขาแล้วเลือกหาบทความที่น่าสนใจ จนมาสะดุดกับภาพนักรบสปาร์ตัน 2 คนที่กำลังเข้าห้ำหั่นกัน พร้อมข้อความ “Bitcoin Culture Wars: What Doesn’t Kill You Makes You Stronger” ผมตัดสินใจจะแปลบทความนี้ทันที โดยที่ยังไม่รู้เนื้อหาข้างในแม้แต่น้อย และงานแปลนี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

ด้วยความคุ้นเคยกับสำนวนของคุณเบรนดอน การแปลในช่วงแรกจึงไม่เป็นปัญหานักและคิดว่าน่าจะเสร็จภายใน 1-2 วัน หลังจากแปลได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ผมจึงส่งให้ Editor ของ Right Shift ตรวจงานด้วยความภาคภูมิใจในผลงาน

แต่… ตัวผมที่พักงานแปลไประยะหนึ่งนั้น กลับลืมความสำคัญของงานแปลไป ทำให้งานแปลของผม “ขาดความเป็นธรรมชาติ” และ “แข็งทื่อ” เพราะผมยึดแต่ความหมาย จนลืมนึกถึงความสนุกน่าสนใจที่จะมอบให้ผู้อ่าน ความมีชีวิตชีวาของบทความ ต้องขอบคุณทีมงานจากทาง Right Shift ที่ช่วย “ลดขนาดพื้นที่โจมตี” และ “ขัดเกลาใจความสำคัญ” จนออกมาเป็นบทความในวันนี้ได้ ขอบคุณพี่ ๆ ทีมงานทุกท่านครับ

พอพูดถึงตัวบทความแล้ว ส่วนที่ผมตราตรึงใจที่สุดคือ “พุ่งไม่ยั้ง พังให้ไว สร้างขึ้นใหม่ ไฉไลกว่าเดิม” ซึ่งเป็นคำแปลของ “Move fast and break things.” คำคมยอดฮิตจากซิลิคอนวัลเลย์นั่นเองครับ ส่วนเหตุผลนะเหรอ.. ก็เพราะผมคิดเองยังไงล่ะ ยังคงความหมายไว้และได้ความคล้องจองอีกต่างหาก สมกับเป็นคำคมฉบับภาษาไทยจริง ๆ ใจเย็น ๆ ก่อนนะทุกคน อย่าเพิ่งหมั่นไส้ผมล่ะ.. เพราะเดี๋ยวบทความหน้าก็จะมีอะไรแบบนี้อีก (ถ้าทุกท่านชอบนะครับ 555)

แล้วคุณล่ะครับ ประทับใจช่วงไหนของบทความบ้าง อย่าลืมคอมเมนต์มาพูดคุยกัน หรือท่านใดคิดคำแปลของ “Move fast and break Things” ที่เจ๋ง ๆ เท่ ๆ ฮา ๆ ได้ ก็อย่าลืมคอมเมนต์มาให้ผู้แปลดูด้วยนะครับ

ดูเหมือนว่าจะพูดคุยกันพอสมควรแก่เวลา ข้อมูลที่ได้รับจากบทความน่าจะจัดเรียงได้เข้าที่เข้าทางแล้ว (หวังว่าจะไม่ถูกช่วง “เวลาน้ำชาหลังอ่าน” นี้เบียดข้อมูลที่ท่านเพิ่งได้อ่านทิ้งไปเสียก่อนนะครับ) 

ขอบคุณที่อ่านจนจบ ขอให้พลานุภาพแห่ง Proof of Work จงสถิตอยู่กับทุกท่านทุกคนครับ!

ITSsara

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts