Note : เนื้อหาในบทความนี้ได้ทำการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่จากต้นฉบับการแปลที่เคยทำไว้เมื่อต้นปี คศ. 2022 เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น และปรับสำนวนภาษาให้เป็นมิตรกับผู้อ่านทั่วไปมากขึ้น หากท่านต้องการอ่านฉบับแปลที่มีสำนวนตรงไปตรงมากับเนื้อหาต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านได้ >> ที่นี่ <<
อย่างไรก็ตาม… เนื้อหาที่เรียบเรียงขึ้นใหม่นี้ก็ไม่ได้ทำให้สาส์น หรือความหมายของต้นฉบับผิดเพี้ยนไปแต่อย่างใด หวังว่าท่านจะได้รับความรู้ และอรรถรสในการอ่านเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย
ทำไมจึงควรเลือกลงทุนใน Bitcoin เป็นเหรียญแรก?
เมื่อพูดถึงตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (ตลาดคริปโตฯ) นักลงทุนมักจะมีคำถามว่า “เราจะลงทุนในเหรียญอะไรดี?” ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเหรียญแรกในตลาดที่เต็มไปด้วยสินทรัพย์เกิดใหม่นับร้อยนับพันนี้ก็คือ Bitcoin
การที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตัวแรก ก็ทำให้นักลงทุนต่างกังวลถึงความเสี่ยงที่ Bitcoin อาจจะโดนแทนที่ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ในอนาคต (เหมือนอย่างที่ MySpace เคยโดน Facebook แทนที่มาแล้ว) นอกจากนี้นักลงทุนก็ยังคงสงสัยว่า Bitcoin ที่ราคาขึ้นมาสูงมากแล้วนับจากวันแรกๆ จะยังคงมีอัพไซต์มากพอให้ทำกำไรมากมายได้อีกหรือไม่? Bitcoin ยังคงน่าสนใจมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับคริปโตเหรียญใหม่ๆ ที่ยังคงมีมูลค่าไม่แพงนัก?
บทวิจัยโดย:
Chris Kuiper, CFA, Director of Research // Jack Neureuter, Research Analyst // มกราคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย:
Piraya Sambandaraksa // Jakkrapan Wandee
สารบัญบทความ
คำแนะนำของบทวิจัยนี้:
💡 อย่างที่ทราบกันดีว่า Bitcoin คือ สินค้าประภทเงิน ที่ดีที่สุด และหนึ่งในเหตุผลหลักที่ถูกนำมาพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์อย่าง Bitcoin คือ คุณสมบัติใน การเก็บรักษามูลค่า (Store of value) ไว้ในโลกดิจิทัลที่กำลังเติบโต
💡 คุณสมบัติขั้นพื้นฐานของ Bitcoin แตกต่างจากเหรียญอื่นๆ เหรียญคริปโตฯ อื่นๆ ไม่ว่าเหรียญใด ก็ไม่สามารถเป็นเงินที่ดีเหมือนอย่าง Bitcoin ได้ เหตุผลก็เพราะระบบของ Bitcoin นั้น มีความปลอดภัย, กระจายศูนย์อย่างแท้จริง และเป็นเงินดิจิทัลที่มีความมั่นคงสูงสุด (เมื่อเทียบกับเหรียญอื่นๆ)
💡 เหรียญอื่นๆ นั้นไม่จำเป็นต้องเลียนแบบความสำเร็จของ Bitcoin โดยอาจมุ่งเน้นพัฒนาไปในด้านอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันออกไป หรือเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ Bitcoin ไม่อาจทำได้
💡 หากต้องการกระจายการลงทุนในตลาดคริปโต นักลงทุนควรพิจารณาลงทุนใน Bitcoin เป็นเหรียญแรก
💡 ควรแยกมุมมองการลงทุนให้ชัดเจน อันดับแรกควรมองว่า Bitcoin เป็นเงิน จากนั้นจึงค่อยพิจารณาลงทุนในเหรียญอื่นๆ เหมือนการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ
Bitcoin คืออะไร?
บทวิจัยนี้ไม่ได้มีเจตนาจะอธิบายอย่างละเอียดว่า Bitcoin คืออะไร แต่เราก็เชื่อว่าผู้อ่านควรได้ทำความเข้าใจกับพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะในแง่ที่ Bitcoin จะยังคงแข็งแกร่งอยู่ในตลาดในฐานะของ เงินดิจิทัล ที่ไม่ถูกอำนาจใดแทรกแซง ได้อย่างไร?
ระบบ Bitcoin vs เหรียญ bitcoin
บ่อยครั้งที่คำว่า ” Bitcoin “ มักจะสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนมือใหม่ในตลาด เพราะคำนี้สามารถถูกนำไปใช้ในบริบทที่มีความหมายแตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง
ในบทวิจัยนี้เราจะใช้คำว่า Bitcoin (ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่) ในการสื่อถึง “ระบบเครือข่าย” หรือ “ระบบการชำระเงิน” และกำหนดให้คำว่า bitcoin (ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์เล็ก) ใช้เรียกแทน “ตัวสินทรัพย์” หรือ “ตัวเหรียญบิตคอยน์”
แนวคิดตั้งต้นของ Bitcoin เกิดจากความพยายามมุ่งแก้ปัญหาในการแลกเปลี่ยนเงินสดระหว่างบุคคลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง (Truly peer-to-peer electronic cash system) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงๆ มาก่อนบนโลกดิจิทัล แม้ในชีวิตจริงเราจะยังสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยเงินสดแบบไม่ต้องมีตัวกลางกันอยู่แล้วก็ตาม (เช่น การซื้อของโดยใช้ธนบัตร)
จนกระทั่งไอเดียดังกล่าวถูกนำไปเขียนขึ้นด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อให้กำเนิดเป็น Bitcoin นั่นเอง ดังนั้น Bitcoin จึงเป็นเพียงโค้ด และมีคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่องที่รันซอฟต์แวร์นี้ จนประกอบกันขึ้นมาเป็นเครือข่ายของระบบ Bitcoin
โค้ดดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นเสมือน โปรโตคอล และ กฏ ที่คอยควบคุมระบบของ Bitcoin และระบบนี้เองที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรับ-ส่งเหรียญดิจิทัลระหว่างกันได้ ซึ่งเหรียญนั้นมีชื่อว่า bitcoin
ระบบ Bitcoin ไม่สามารถทำงานร่วมกันกับระบบอื่นๆ ได้
ใครๆ ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในระบบ ฺBitcoin ได้ ตราบใดที่ยังคงปฏิบัติตามกฏของระบบ หรือจะออกจากระบบเมื่อไหร่ก็ได้ และใครก็ตามที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงกฏของ Bitcoin โดยไม่ได้รับ ฉันทามติ (Consensus) จากสมาชิกคนอื่นๆ ในจำนวนที่มากพอ ก็จำเป็นจะต้องแยกตัวออกไปจากระบบโดยปริยาย
ถึงแม้ตัวโค้ดของซอฟแวร์ Bitcoin จะมีลักษณะเป็นโอเพ่นซอร์ส (สามารถถูกคัดลอกและแก้ไขได้) แต่หากมีการแก้ไขโค้ดเกิดขึ้น ทั้งตัวสำเนา และ แหล่งเก็บโค้ดดังกล่าว จะกลายเป็นระบบที่ถูกแยกตัวออกจาก Bitcoin ดั้งเดิมในทันที และจะไม่สามารถย้อนกลับไปทำงานร่วมกันกับระบบ Bitcoin เดิมได้อีกต่อไป
ตัวเหรียญ bitcoin จะมาจากระบบของ Bitcoin เอง (Native) ไม่สามารถถูกลบออกจากระบบ หรือ ส่งไปยังระบบบล็อคเชนอื่นๆ ได้ เราจะกล่าวถึงความสำคัญของเรื่องนี้กันอีกครั้งในภายหลัง ในเนื้อหาของบทวิจัยส่วนที่จะกล่าวถึง อานุภาพของเครือข่าย (Network effect) และ เพราะอะไรเราจึงคิดว่ามีเครือข่ายที่จะสามารถครองตลาดได้เพียงหนึ่งเดียว
ทำไมเราจึงเชื่อว่า Bitcoin เป็นสินค้าประเภทเงิน ที่ดีที่สุด?
เงิน คือ อะไร? ..เราเชื่อว่า “เงิน” เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าระบบการแลกเปลี่ยนในอดีตแบบ บาร์เธอร์ (Barter) ตลอดประวัติศาสต์ของมนุษยชาติ เราต้องพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการควานหาสิ่งที่จะถูกนำมาใช้เป็น “เงินที่ดีที่สุด”
เงิน คือ สินค้าที่ทำหน้าที่ในการกำหนดมูลค่าการแลกเปลี่ยนให้กับสินค้าประเภทอื่นๆ ในอดีตนั้นมีสินค้าหลากหลายชนิดถูกนำมาใช้เป็นเงิน เช่น เปลือกหอย, ลูกปัด, หิน, ขนนก และลูกปัดที่ทำมาจากเปลือกหอย (Wampum) ซึ่งก็เกิดคำถามตามมาว่าสินค้าบางอย่างทำไมจึงกลายเป็นเงินที่ดีได้ แต่ทำไมบางอย่างกลับไม่สามารถเป็นเงินที่ดีได้?
นักเศรษฐศาสตร์ และ นักประวัติศาสตร์ ได้นำเสนอ “คุณลักษณะของการเป็นเงินที่ดี” [1] เอาไว้หลายประการด้วยกัน สินค้าใดก็ตามที่ยิ่งมีคุณสมบัติต่างๆ ตามที่ระบุไว้มากเท่าไหร่ จะยิ่งมีโอกาสกลายเป็นเงินที่ดีได้มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับการยอมรับในฐานะ “เงิน” มากยิ่งขึ้นด้วย
ทองคำ | บิตคอยน์ | เงินเฟียต | ความคิดเห็น | |
---|---|---|---|---|
Durable (ความคงทน) | ✅ | ✅ | ❌ | แม้เงินทุกประเภทจะสามารถรักษาลักษณะทางกายภาพเอาไว้ได้ก็จริง แต่เงินเฟียตก็ไม่เคยรักษากำลังซื้อของตัวเองเอาไว้ได้เลย |
Divisible (แบ่งเป็นหน่วยย่อย) | ❌ | ✅ | ✅ | ทองคำสามารถแบ่งได้เพียงเป็นชิ้นที่มีขนาดเล็กลงได้เท่านั้น แต่ Bitcoin บิตคอยน์แบ่งหน่วยย่อยได้มากถึงทศนิยม 8 ตำแหน่ง |
Fungible (ทดแทนกันได้) | ✅ | ✅ | ❌ | ทุกหน่วยของทองคำและ Bitcoin นั้นมีลักษณะเหมือนกัน และยังสามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่เงินเฟียตไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้ (เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ จะนำไปใช้แทนดอลลาร์แคนาดาไม่ได้) |
Portable (การพกพา) | ❌ | ✅ | ✅ | เมื่อนำ ทองคำ ไปเทียบกับเงินประเภทอื่นแล้ว เราจะพบว่าทองคำมีน้ำหนักค่อนข้างสูง และพกพาไปไหนมาไหนได้ค่อนข้างลำบาก |
Verifiable (ตรวจสอบได้) | ❌ | ✅ | ❌ | ทองคำ และ เงินเฟียต สามารถถูกนำไปปลอมแปลงได้ อีกทั้งการตรวจสอบคุณภาพของทองคำก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากๆ ด้วย |
Scrace (ความหายาก) | ✅ | ✅ | ❌ | ทองคำนั้นหายาก ในขณะที่ Bitcoin นั้นทั้งหายากและมีปริมาณจำกัด ส่วนเงินเฟียตกลับถูกผลิตออกมาตามความพอใจของรัฐบาลหรือธนาคารกลางได้อย่างไม่จำกัด |
Track reccord (ประวัติการใช้งาน) | ✅ | ❌ | ❌ | ความเป็นเงิน และ กำลังซื้อ ของทองคำถูกพิสูจน์มาในหน้าประว้ติศาสตร์แล้วอย่างยาวนาน โดย Bitcoin มีประวัติสั้นที่สุด ในขณะที่เงินเฟียตมีประวัติที่ไม่ค่อยดีนัก [2] |
ชัดเจนว่า Bitcoin นั้นมีคุณสมบัติของการเป็นเงินที่ดีอยู่หลายข้อ ประกอบไปด้วย ความหายาก และ ความทนทาน ในแบบเดียวกันกับทองคำ อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้ง่าย รวมถึงเก็บรักษา และ พกพาได้สะดวก เหมือนกันกับเงินเฟียต (แถม Bitcoin ยังได้รับการพัฒนามาให้ดีกว่าเงินเฟียตอีกด้วย)
นอกจากนี้ Bitcoin ยังมีจุดที่น่าสังเกตแบบเดียวกันกับเงินประเภทอื่นๆ นั่นคือ Bitcoin ไม่ใช่บริษัท ไม่มีการจ่ายเงินปันผล และไม่ได้มีการสร้างกระแสเงินสดแต่อย่างใด ดังนั้น คุณค่าของ Bitcoin ต้องมาจากคุณสมบัติใน การทำหน้าที่เป็นเงิน ของมัน เมื่อเทียบกับทางเลือกดั้งเดิมก่อนหน้านี้
Bitcoin มีคุณค่า เพราะถูกทำให้ขาดแคลน
ความหายาก หรือ Scarcity นับเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Bitcoin (ปัจจุบัน Bitcoin มีอัตราความเฟ้อของจำนวนซัพพลายอยู่ที่ 1.8% ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับทองคำ)
นอกจากจะหายากแล้ว Bitcoin ยังต่างจาก ทองคำ ตรงที่ปริมาณซัพพลายสูงสุดที่จะถูกผลิตตออกมา ได้ถูกจำกัดเอาไว้อย่างแน่นอนที่จำนวน 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ไม่มีเหรียญใดที่มี นโยบายทางการเงินที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แบบเดียวกับ Bitcoin (Immutable monetary policy) หรือจะกล่าวว่า Bitcoin มีนโยบายทางการเงินที่น่าเชื่อถือที่สุดก็ได้
แล้วความหายากของ bitcoin เกิดขึ้นได้อย่างไร? (ปริมาณถูกจำกัดไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ)
มี 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Bitcoin มีความน่าเชื่อถือในเรื่องนี้ และเรายังต้องทำความเข้าใจกลไกที่ทำให้เหรียญมีปริมาณจำกัด รวมไปถึงเหตุผลที่ Bitcoin ทำไมจึงแตกต่างจากเหรียญอื่นๆ ด้วย..
ข้อแรก คือ การกระจายศูนย์ของ Bitcoin (Decentralized)
ระบบของ Bitcoin นั้น ไม่มีบุคคล, องค์กร หรือรัฐบาลใดเป็นเจ้าของ หรือคอยควบคุมกฏเกณฑ์ต่างๆ ในระบบได้ สาเหตุก็เพราะ Bitcoin นั้นรันอยู่บนซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส และเป็นเครือข่ายของระบบที่มีการกระจายศูนย์อย่างสมบูรณ์นั่นเอง
ในเมื่อบิตคอยน์ทำงานได้โดยอาศัยแค่โค้ดเพียงอย่างเดียว มันก็ต้องถูกแก้ไขได้สิ?
แน่นอนว่าการแก้ไขโค้ด Bitcoin เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ก็ต้องมาจากการได้รับฉันทามติจากสมาชิกที่เข้าร่วมในระบบก่อนเท่านั้น (กลุ่มนักขุด หรือ โหนดที่รันซอฟต์แวร์อยู่) การแก้ไขอัตราการผลิต bitcoin หรือปริมาณเหรียญสูงสุดที่จะถูกผลิตออกมาได้ จึงเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สิ่งนี้แทบยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย
เหตุผลแรก คือ การได้รับฉันทามตินับเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะระบบ Bitcoin เกิดมาจากผู้เข้าร่วมที่ล้วนกระจัดกระจายกันไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก มันไม่มี “กลุ่มสมาคมใหญ่” ใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะมีพลังอำนาจในการโหวต หรือลงคะแนนเสียงเพื่อให้ได้รับฉันทามติได้ตามอำเภอใจ
ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ระบบได้ถูกออกแบบแรงจูงใจเอาไว้ ที่ทำให้สมาชิกผู้เข้าร่วมจะไม่ทำการเปลี่ยนแปลงเพดานการผลิตเหรียญ เพราะการทำแบบนั้นก็เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนเหรียญ bitcoin ในระบบ ซึ่งจะทำให้มูลค่าเหรียญที่พวกเขาถือครองอยู่ลดลงไปโดยปริยาย ในกรณีของนักขุดการเปลี่ยนเพดานการผลิตเหรียญก็จะส่งผลให้พวกเขาได้รับค่าตอบแทนจากการขุดลดลงด้วยเช่นกัน
นี่เป็นทฏษฎีเกมอันทรงพลังที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของระบบ Bitcoin ผลลัพธ์ที่มอบให้ คือ ผลตอบแทนที่ดีที่สุดสำหรับสมาชิกทุกคนที่ประสานงาน ให้ความร่วมมือกัน และไม่ยอมทำการเปลี่ยนแปลงจำนวนซัพพลายหรือเพดานการผลิตเหรียญ
ข้อที่สอง คือ Bitcoin มีความสามารถในการต่อต้านการโดนแบน (Censorship resistance)
ความสามารถนี้ได้มาจากการที่ไม่มีกลุ่มบุคคล องค์กร หรือแม้แต่รัฐบาลใดๆ ที่เป็นเจ้าของ หรือควบคุมระบบ Bitcoin จึงกลายเป็นเรื่องยากมากๆ ที่ Bitcoin จะถูกแบนอย่างราบคาบ นอกจากนี้ Bitcoin ไม่ได้มีขอบเขตทางภูมิศาสตร์ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐชาติจะเข้ามาควบคุม จัดการกำกับดูแลระบบ และซอฟต์แวร์ของมันได้
คราวนี้เราลองมาทบทวนเหตุผลกันทีละข้อ ว่าเหตุใดเราจึงเชื่อว่า bitcoin นั้นเป็นสินค้าประเภทเงินที่มีมูลค่า? :
- สินค้าที่เป็นเงิน คือ สิ่งที่มีคุณค่าในด้านอื่นมากกว่าแค่ประโยชน์ใช้สอยของตัวมันเอง หรือเพียงแค่การนำไปบริโภค ซึ่งแม้ “ระบบการชำระเงินของ Bitcoin” จะมีคุณค่าชัดเจนในเชิงอรรถประโยชน์ แต่ผู้คนก็ยังให้คุณค่าแก่ bitcoin ในแง่ของ “การเป็นเงิน” เพิ่มขึ้นมาอีกข้อด้วย
- ความหายาก ของ bitcoin เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่นักลงทุนต่างก็ให้ความสำคัญ และการที่ bitcoin มีจำนวนจำกัดแบบตายตัว ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มันมีความสามารถใน การเก็บรักษามูลค่า ได้เป็นอย่างดี
- ความหายากของ Bitcoin ถูกหนุนด้วย การกระจายศูนย์ (Decentralization) และคุณสมบัติที่ต่อต้านการโดนแบน
- ลักษณะเหล่านี้ได้ถูกเขียนขึ้น (Hardcode) เป็น Bitcoin ซึ่งแทบไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเลย เพราะกลุ่มคนที่เล็งเห็นความสำคัญและถือครอง bitcoin ต่างก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำเช่นนั้น ในความจริงแล้วผู้คนที่เข้าร่วมในระบบล้วนได้รับ แรงจูงใจให้ช่วยกันปกป้องคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ เพื่อคงไว้ซึ่งการเป็นสินทรัพย์ที่หายาก และ การบันทึกบัญชีที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ (Immutable ledger)
เพราะอะไร bitcoin จึงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นเงินสกุลหลักได้
แม้นักลงทุนต่างก็เห็นด้วยว่า bitcoin นั้นมีคุณสมบัติหลายประการในการเป็นเงินที่ดี แต่คงไม่มีใครกล้าพูดว่า bitcoin จะเป็นเพียงเหรียญเดียวที่จะทำแบบนั้นได้ (เป็นเงินที่ดี) เราเองก็เช่นกัน (หมายถึงนักวิเคราะห์ของ Fidelity) เราไม่กล้าฟันธงว่าในอนาคตจะมีเพียงบิตคอยน์ที่เป็นแบบนั้น แต่เราเชื่อว่าจะมีเพียงเหรียญเดียวเท่านั้น ที่จะก้าวขึ้นมากลายเป็นเงินที่โดดเด่นเหนือเหรียญอื่นๆ ในตลาดคริปโตฯ อันเนื่องมาจาก อานุภาพเครือข่าย (Network effect) อันทรงพลังของตัวมันเอง (ซึ่งเหรียญนั้นอาจจะเป็น bitcoin ก็ได้)
ระบบการเงินมีอานุภาพเครือข่ายอันทรงพลัง
นักลงทุนต่างก็คุ้นเคยกับคำว่า “อานุภาพเครือข่าย” หรือ Network effect ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันดีว่ามูลค่าของเครือข่ายจะเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้น ในระบบการเงินเองก็แทบไม่ต่างกัน แต่มักจะมีอานุภาพมากกว่าเครือข่ายแบบอื่นๆ นั่นก็เพราะการเลือกเงินที่เหมาะสม ก็เท่ากับเป็นการช่วยเสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายตัวเองให้เหนือกว่าเครือข่ายอื่นๆ ไปในตัวด้วย ตัวอย่างเหล่านี้สามารถพบได้ในเครือข่ายโซเชียลมีเดีย หรือเครือข่ายโทรศัพท์ เป็นต้น
หากนักลงทุนจะมองหาสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะทำหน้าที่เป็นเงิน และมีคุณสมบัติในการเก็บรักษามูลค่าได้เป็นอย่างดี พวกเขาย่อมต้องเลือกระบบที่ใหญ่ที่สุด มีความปลอดภัยที่สุด มีการกระจายศูนย์มากที่สุด และยังทำงานได้อย่างราบรื่นด้วย
นอกจากนี้ระบบการเงินยังมีคุณสมบัติตาม กฏการสะท้อนกลับ (Reflexive property) อีกด้วย กล่าวคือ คนที่คอยเฝ้าสังเกตการเลือกระบบการเงินของผู้อื่น จะถูกกระตุ้น และ ถูกดึงดูด ให้อยากเข้าร่วมใช้งานระบบการเงินดังกล่าวตามไปด้วย พวกเขาย่อมต้องการใช้งานระบบที่คนรู้จัก หรือเพื่อนของตัวเองกำลังใช้งานอยู่ ตัวอย่างนี้สามารถพบได้ในระบบการชำระเงินบางอย่างในเสกลที่เล็กลง เช่น แพลตฟอร์มอย่าง PayPal และ Venmo ที่ต่างก็เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
แต่ในกรณีของ bitcoin เราจะเห็นผลลัพธ์ตามทฤษฎีการสะท้อนกลับได้ชัดเจนกว่า เพราะไม่เพียงแค่กลุ่ม ผู้ถือครองระยะยาว (Hodlers) ที่ช่วยกันเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอานุภาพของเครือข่ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดา นักขุด ทั้งหลายอีกด้วย ซึ่งมันจะส่งผลให้ราคาเหรียญปรับตัวสูงขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิงเมื่อ bitcoin นั้นมีจำนวนเหรียญที่ตายตัว และไม่มีการผลิตเหรียญออกมาเพิ่มเพื่อตอบสนองต่อราคาตลาดแต่อย่างใด) เหล่านักขุดเองก็จะได้รับแรงจูงใจให้ทำการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังในการขุด นั่นก็เพราะราคาเหรียญที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้พวกเขาได้รับผลกำไรจากการขุดมากขึ้นด้วยนั่นเอง
เมื่อนักขุดต่างก็เพิ่มกำลังการขุด ระบบก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น และนั่นจะไปช่วยเพิ่มความสนใจให้กับตัวเหรียญเอง ซึ่งจะดึงดูดให้มีผู้ใช้งาน และมีนักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากอีกครั้ง
การแข่งขันกันของระบบต่างๆ จะมีแนวโน้มนำไปสู่สถานการณ์ที่มี ผู้ชนะได้กินรวบทั้งตลาด (The winner-take-all) เมื่อเครือข่ายนั้นเติบโตขึ้น และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นั่นเพราะการหันไปเลือกใช้งานระบบอื่นๆ ที่ไม่มีแววจะได้กลายเป็นดาวเด่น ก็อาจทำให้นักลงทุนสูญเสียเม็ดเงินได้
เหล่านักลงทุนที่ต้องการจะเก็บรักษามูลค่าของเงินตัวเอง จึงจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกเครือข่ายที่ดี ต่อให้พวกเขาจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันเลยก็ตาม
สินค้าประเภทเงินที่เกิดขึ้นในภายหลังจะเป็นการ “ประดิษฐ์วงล้อขึ้นมาใหม่”
สำนวนที่ว่า “อย่าประดิษฐ์วงล้อขึ้นมาใหม่” (Don’t reinventing the wheel) เป็นสำนวนที่เราคุ้นหูกันอย่างดี แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังคงใช้ได้กับ bitcoin ในฐานะที่มันเป็นเงินที่ดี
สำนวน “การประดิษฐ์วงล้อ” (The invention of the wheel) จะหมายถึงเทคโนโลยีทั้งหมดที่เคยถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว และยังไม่เคยถูกนำมาปรับปรุงใหม่ ในทำนองเดียวกันความหายากในโลกดิจิทัลซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ และการเแลกเปลี่ยนเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกันจริงๆ (a true peer-to-peer electronic cash) ก็เกิดขึ้นได้เพราะการมาถึงของ bitcoin
การแก้ปัญหานี้ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาต่อยอดเท่านั้น แต่นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ หรือเป็นการแก้โจทย์ในการทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีความหายากได้จริงๆ ด้วย
เนื่องจากปัจจุบัน ฺBitcoin เป็นระบบการเงินที่มีการกระจายอำนาจ และมีความปลอดภัยมากที่สุด (เทียบกับสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ ทั้งหมด) เครือข่ายบล็อคเชนใหม่ และสินทรัพย์ดิจิทัลที่พยายามพัฒนาให้เป็นเงินที่ดีกว่า bitcoin จำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง โดยต้องยอมแลกคุณลักษณะบางอย่างไป
ดังแนวคิดที่เราได้อธิบายเอาไว้ในลำดับถัดไป (the “Blockchain Trilemma”) คู่แข่งที่พยายามเพียงคัดลอกโค้ดทั้งหมดของ ฺBitcoin จะพบกับความล้มเหลว เพราะไม่มีเหตุผลที่ผู้ใช้จะเปลี่ยนจากเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไปยังเครือข่ายใหม่ ที่แทบจะเหมือนกันทั้งหมดแต่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม
Lindy Effect และคุณสมบัติอันคงทนของ Bitcoin
Lindy Effect หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กฎของ Lindy” เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงบางอย่างที่ไม่ยอมบุบสลาย และหากยิ่งสามารถเอาตัวรอดได้นานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสอยู่รอดได้มากขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างเช่น โรงละครบอร์ดเวย์ที่เปิดทำการแสดงมานับสิบปี ก็จะมีแนวโน้มที่จะดำเนินงานต่อไปได้อีกนับสิบปีเช่นกัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นที่พึงเปิดแสดงมาได้เพียงปีเดียว
เราเชื่อว่า bitcoin เองก็เช่นกัน ในทุกๆ นาที, ชั่วโมง, วัน และปีที่ Bitcoin ยังสามารถอยู่รอดได้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ bitcoin ยังคงดำเนินการต่อไปในอนาคต ซึ่งจะได้รับความไว้วางใจ และรอดพ้นจากการโจมตีได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าคุณสมบัตินี้จะเกิดควบคู่ไปกับคุณสมบัติที่คงทน (Property of antifragility) ซึ่งบางสิ่งจะยิ่งเข้มแข็ง และแข็งแกร่งขึ้นทุกครั้งที่โดนโจมตี หรือในเวลาที่ระบบต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันบางอย่าง
อันที่จริงหากนักลงทุนได้รู้จักกับ Bitcoin แล้วถามถึงข้อกล่าวหา, การโจมตี, การร่วงของราคา หรือความล้มเหลวใดๆ ที่อาจเป็นจุดจบของเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่นี้ อาจคาดไม่ถึงว่า bitcoin นั้นเคยต้องผ่านเหตุการณ์แย่ๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่อาจทำลาย bitcoin ได้เลย
บางส่วนของเหตุการณ์แย่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับ bitcoin
ถูกสร้างโดยบุคคลหรือกลุ่มคนนิรนาม ซึ่งไม่มีใครทราบแรงจูงใจ หรือต้นสังกัดที่แท้จริง | เหรียญ bitcoin บางส่วนถูก FBI ยึดไป | มี Exchange หลายแห่งถูกแฮ็ค | ถูกโจมตีโดยสื่อหลัก, คนดัง, นักลงทุน, CEO ฯลฯ ว่า bitcoin ได้ “ตายไปแล้ว” หลายร้อยครั้ง |
ถูกเว็บไซต์ด้านมืดใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งผิดกฏหมาย | ผ่าน “สงครามภายใน” ในประเด็นโค้ดหลักมาแล้ว (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อสงคราม Blocksize) | ราคาเคยร่วงมากกว่า 50% หลายครั้ง และโดยมากราคาจะร่วงมากกว่า 80% | โดนแบนในหลายๆ ประเทศ |
ถูกตีตราว่าเป็นการฉ้อโกง, เป็นแชร์ลูกโซ่ และการพนัน | ยังเป็นรูปแบบการชำระเงินหลักที่ตกเป็นเป้าของการโจมตีของ Ransomware | ผ่านการ Fork โค้ดมาแล้วหลายครั้ง | ถูกเลียนแบบโดยคู่แข่งเป็นพันครั้ง |
เหตุใดสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นจึงอาจไม่สามารถแทนที่ bitcoin ในฐานะเงินได้
นักลงทุนอาจเห็นด้วยว่าในปัจจุบัน bitcoin ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นเงินที่ดีที่สุดในตลาด และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเงินดิจิตัลเพียงหนึ่งเดียวที่โดดเด่นในตลาดเพราะอานุภาพจากเครือข่ายของมัน แต่มันจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการสร้าง bitcoin ในเวอร์ชันที่ดีกว่า หรือได้รับการปรับปรุงให้กลายเป็นเงินที่ดีกว่า
ด้วยการที่โค้ดของ bitcoin เป็นโอเพ่นซอร์ส เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเลียนแบบหรือพัฒนาสิ่งที่ดีกว่าขึ้นมาแทนที่ได้หรือไม่?
ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแบบเสรีเรื่องนี้ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ไม่มากนักที่ bitcoin จะถูกแทนที่ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลที่ “ดีกว่า” ด้วยปัจจัยหลายอย่าง และหนึ่งในเหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือการเข้าไปปรับปรุงคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งของ bitcoin
เช่น การเพิ่มความเร็วในการประมวลผล หรือความสามารถในการปรับขนาดเพื่อรองรับการใช้งาน (scalability) จะนำไปสู่การลดคุณสมบัติด้านอื่น เช่น การกระจายศูนย์ หรือความปลอดภัย ซึ่งการพัฒนาที่ต้องแลกกับต้องการสูญเสียคุณสมบัติบางอย่างนี้ เรียกว่า “The Blockchain trilemma”
The Blockchain Trilemma
ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1980 นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้ระบุว่ามี “Trilemma” อยู่ในระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized databases) [4] ในเวลาต่อมาสิ่งนี้ได้ถูกเรียกว่า “Blockchain Trilemma”
ความปลอดภัย (Security) จะหมายถึงความเป็นไปได้ที่เครือข่ายจะโดนโจมตี หรือโดนบุกรุก
ในกรณีของเครือข่ายกระจายอำนาจแบบ Bitcoin ความกังวลหลัก คือ การโดนโจมตีแบบ 51% Attack โดยบุคคล หรือพลังในการประมวลผล (Hash rate) มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งระบบ
หากเกิดการโจมตีในลักษณะนี้ ผู้โจมตีจะสามารถเข้าควบคุมเครือข่าย หรือทำการเปลี่ยนแปลงบัญชีภายในระบบได้ เช่น การใช้จ่ายซ้ำซ้อน (double spending) หรือ การทำธุรกรรมแบบย้อนกลับ (Reversing transactions) ทำให้เครือข่ายต้องเสียความน่าเชื่อถือ และอาจโดนยุบเครือข่ายทั้งหมดทิ้งได้
แต่เมื่อเครือข่าย Bitcoin ใหญ่ขึ้นก็จะมีจำนวนโหนดมากขึ้น และนักขุดจะกระจายตัวกันออกไปตามที่ต่างๆ ส่งผลให้เครือข่ายจะโดนโจมตีได้ยาก และผู้โจมตีต้องใช้ต้นทุนที่มากขึ้นในการโจมตี
Bitcoin เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัยสูงสุดเมื่อวัดด้วยอัตราการแฮช หรือพลังในการประมวลผล ซึ่งเป็นเสมือนเกราะที่คอยป้องกันระบบ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่มีการใช้อัลกอริธึมการแฮชแบบเดียวกัน สามารถดูได้จากกราฟด้านล่าง
เป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากความแตกต่างของอัลกอริธึมที่ใช้ในการแฮช ทำให้อัตราการแฮชของ Bitcoin ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับอัตราการแฮชของสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ ได้โดยตรง โดยเฉพาะ Ethereum ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับสอง
อย่างไรก็ตามเราสามารถเปรียบเทียบปริมาณพลังงานที่ถูกใช้ไปในการสร้างความปลอดภัยให้แก่ระบบตลอดทั้งปีได้ ซึ่งการใช้พลังงานที่มากขึ้น จะบ่งบอกถึงการทุ่มเททรัพยากรลงไปในการขุดเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบ การประเมินด้วยวิธีนี้ bitcoin จะใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 137 TWh [6] (เทราวัตต์-ชั่วโมง) ต่อปี ในขณะที่ Ethereum จะใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 25 TWh [7] ต่อปี
การกระจายอำนาจ (Decentralization) จะหมายถึงอำนาจในการควบคุม ที่บุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจมีในระบบ หรือเครือข่าย
ในเครือข่ายแบบกระจายอำนาจ การได้รับฉันทามติจะมาจากระบวนการโหวต ในระบบนี้จะไม่มีหน่วยใดสามารถควบคุม หรือจำกัดสิทธิ์ข้อมูลได้ ในเครือข่ายกระจายอำนาจแบบเปิด ใครๆ ก็สามารถเข้าร่วมในเครือข่ายได้อย่างอิสระโดยไม่มีใครสามารถกีดกันได้ ตราบใดที่พวกเขายอมปฏิบัติตามกฎ หรือโปรโตคอลของเครือข่าย ซึ่งช่วยให้เครือข่ายทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง
เครือข่ายที่มีการกระจายอำนาจมากๆ อาจต้องใช้เวลาในการประมวลผลธุรกรรมมากขึ้น หรือมีความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลเพื่อกระจายให้ทั่วถึงทั้งระบบอาจลดลง เพราะความต้องการตามฉันทามติที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นนั่นเอง
ขั้วตรงข้ามของเครือข่ายแบบกระจายอำนาจย่อมเป็นเครือข่ายรวมศูนย์ (Centralized) แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีคนกลางเพียงคนเดียวคอยควบคุมในทุกๆ ด้านของเครือข่าย ข้อดีของระบบนี้ คือ ความเร็วอันน่าทึ่ง และสามารถรองรับธุรกรรมได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่ต้องรอให้มีความเห็นพ้องต้องกันในระบบ แต่ก็มีข้อเสีย คือ จำเป็นต้องเชื่อใจตัวกลางที่มีเพียงหนึ่งเดียว
Bitcoin เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการกระจายอำนาจมากที่สุดโดยพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น รายงานของ Coin Metric [8] ได้ระบุไว้ว่า bitcoin มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้ถือครองเหรียญในระยะยาวเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น, แอดเดรสที่มีการใช้งานมีจำนวนมากขึ้น มีการกระจายตัวของ Mining pool ไปยังที่ต่างๆ และมีการแข่งขันกันมากขึ้น
นอกจากนี้พลังในการประมวลผลของ Bitcoin หรือที่เรียกว่า Hash rate ก็เริ่มมีการกระจายตัวที่ดีขึ้น โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการกระจุกตัวของอัตราแฮชและการขุดประมาณ 75% อยู่ในประเทศจีน โดยที่สหรัฐอเมริกาจะมีเพียง 4% เท่านั้น แต่ล่าสุดเนื่องจากการแบนกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ Bitcoin ในจีน จึงทำให้แทบไม่เหลือการขุดในจีนแล้ว และทำให้สหรัฐอมเริกาครองตำแหน่งสูงสุดในปัจจุบันที่ประมาณ 35% [9]
ความสามารถในการขยายขนาด (Scalability) หมายถึง เครือข่ายสามารถรองรับการเติบโตได้ดีเพียงใด
เช่น การเติบโตของจำนวนผู้ใช้ และจำนวนธุรกรรมที่เครือข่ายสามารถจัดการได้ในระยะเวลาที่จำกัด ความสามารถในการขยายขนาดนับว่าเป็นจุดอ่อนที่ชัดเจนมากของ Bitcoin เนื่องจากการขยายตัวของการกระจายอำนาจ และความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น แต่ผลที่ได้กลับทำให้เครือข่ายมีการรับส่งข้อมูลได้ช้าที่สุด
เครือข่ายของ Bitcoin โดยค่าเฉลี่ยจะสร้างบล็อกใหม่ และตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ในทุกๆ 10 นาที และเนื่องจากขนาดของบล็อก (Block size) ของ ฺฺBitcoin ถูกจำกัดเอาไว้ จึงมีเพียงธุรกรรมจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะถูกบรรจุลงในบล็อกได้ โดยเครือข่ายของ ฺBitcoin จะสามารถประมวลผลได้ประมาณ 3-7 ธุรกรรมต่อวินาที
ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับเครือข่ายการชำระเงินแบบ Centralized ชั้นนำอย่าง Visa ซึ่งจะประมวลผลได้ประมาณ 1,700 ธุรกรรมต่อวินาที พร้อมกับความสามารถในการปรับขนาดและประมวลผลได้หลายครั้งหากจำเป็น
คุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีคุณสมบัติใดที่ดีไปกว่ากัน ขึ้นอยู่กับกรณีการใช้งาน (Use case) ผู้ใช้บางคนอาจชอบความสามารถในการปรับขนาดมากกว่าการกระจายศูนย์ หรืออาจชอบในทางตรงข้ามก็ได้
สิ่งสำคัญสำหรับเราในเรื่องนี้ คือ ต้องเข้าใจก่อนว่ามันจำเป็นต้องได้อย่างเสียอย่าง ไม่สามารถมีคุณสมบัติที่ดีพร้อมกันทั้ง 3 ข้อได้
โดยสรุป เราเชื่อว่าปัจจุบัน bitcoin เป็นเครือข่ายของระบบการเงินที่ปลอดภัยที่สุด และมีการกระจายอำนาจมากที่สุด
ดังนั้นนี่จึงไม่ได้หมายรวมถึงเครือข่ายอื่นๆ ซึ่งกำลังแข่งขันกันในด้าน use case ที่ต่างกันออกไปนอกเหนือจากการเป็นเงิน นอกจากนี้เรายังเชื่อว่า bitcoin จะยังคงรักษาความปลอดภัย และกระจายอำนาจได้ดีที่สุดแบบนี้ต่อไปได้ในอนาคต อันเนื่องมาจาก Trilemma ที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น และได้ขยายความไว้ในหัวข้อด้านล่าง
ซึ่งเป็นกรณีศึกษาในโลกจริง (the blocksize war) เรายังเชื่อเพราะระบบการเงินมี network effect อันทรงพลังมาก โดยเมื่อเวลาผ่านไปความปลอดภัย และการ กระจายอำนาจของ bitcoin ย่อมจะต้องแข็งแกร่งมากขึ้น
ในอนาคตจะมีเครือข่ายอื่นที่พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบการเงินที่เหนือกว่า bitcoin ได้ไหม?
เรายอมรับว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่เชื่อเถอะว่าโอกาสมันน้อยมากๆ เมื่อพิจารณาจากข้อโต้แย้งที่เราได้ระบุไว้ในงานวิจัยฉบับนี้
ตัวอย่างการพยายาม “ปรับปรุง bitcoin” : สงครามขนาดบล็อก (The blocksize war)
ดังที่เราได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ปริมาณการทำธุรกรรมของ Bitcoin นั้นมีขีดจำกัด เนื่องจากช่วงเวลาในการเพิ่มบล็อก และการต้องรอให้ธุรกรรมต่างๆ ได้รับการตรวจสอบแล้วเสียก่อน (ทุกๆ 10 นาทีโดยประมาณ) รวมถึงขนาดของบล็อก หรือ Block size (มีขนาดมากกว่า 1 MB อยู่เล็กน้อย) ซึ่งเป็นการจำกัดจำนวนจำนวนธุรกรรมที่จะสามารถบันทึกลงไปได้
ผู้ใช้ และนักพัฒนาบางคนจึงเสนอวิธีที่ง่าย และตรงไปตรงมาที่สุดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การทำให้บล็อกมีขนาดมากกว่า 1 MB
แม้ว่านี่อาจดูเหมือนข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบที่เรียบง่าย และไม่น่าทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้ แต่จริงๆ แล้วมันกลับทำให้เกิดสงครามภายในชุมชนของกลุ่มนักพัฒนาอย่างรุนแรง ซึ่งกินเวลายาวนานหลายปี [10]
บทสรุปของการโต้เถียงในครั้งนั้นได้แบ่งมุมมองออกเป็น 2 ฝ่าย คือ กลุ่ม “Small blocker” ที่ต้องการบล็อกขนาดเล็ก กับกลุ่ม “Big blocker” ที่ต้องการให้บล็อกมีขนาดใหญ่ขึ้น
แม้ว่าหัวข้อหลักจะเป็นเรื่องของขนาดบล็อก แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าจริงๆ กลับเกี่ยวกับหลักการของ Bitcoin ว่าแท้จริงแล้ว Bitcoin คืออะไรกันแน่ และควรได้รับการพัฒนาต่อยอดหรือไม่?
กลุ่มที่ต้องการให้บล็อกมีขนาดเท่าเดิม หรือมีขนาดเล็ก ต้องการให้โปรโตคอลมีกฎเกณฑ์ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะยากต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นไปที่เสถียรภาพของ Bitcoin ในระยะยาว
อุดมการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไปจนวันนี้ ด้วยข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงโค้ดที่มีเข้ามาอย่างมากมาย หรือแม้กระทั่งการเสนอให้อัปเกรดที่ถือว่าเป็นการปรับปรุง และความล้มเหลวในการปรับใช้
ฝ่าย small blocker มองว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามในตัวโค้ด จะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้เครือข่าย Bitcoin โดนโจมตีด้วยแนวทางใหม่ๆ หรือวิธีการที่คาดไม่ถึงได้ พวก small blocker ยังเชื่อในพลังของการที่ผู้ใช้ทั่วไปทำการรันโหนดส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความปลอดภัย และการกระจายอำนาจของ Bitcoin
เพราะบล็อกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลให้เกิดประวัติการใช้งานจำนวนมากในระบบบล็อกเชน และจะทำให้รันโหนดได้ยากขึ้น และต้องมีต้นทุนมากขึ้น
ในทางกลับกัน กลุ่ม Big blocker ต้องการโปรโตคอลที่กฏเกณฑ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และเร็วขึ้น เพื่อมุ่งขจัดอุปสรรคในระยะสั้น หรือคว้าโอกาสที่กำลังเกิดขึ้นด้วยมุมมองแบบเดียวกับพวกสตาร์ทอัพ บล็อกขนาดใหญ่ขึ้นจะช่วยให้รองรับธุรกรรมได้มากขึ้น และทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามการเพิ่มขนาดบล็อกจำเป็นต้องแลกกับคุณสมบัติบางอย่าง อย่างแรก คือ การมีบล็อกขนาดใหญ่จะทำให้บล็อกเชนมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย
โดยปัจจุบันบล็อกเชนทั้งหมด (ธุรกรรมทั้งหมดที่เคยบันทึกไว้ในบัญชีโอเพ่นซอร์สของ Bitcoin) มีขนาดประมาณ 400 GB [11] ซึ่งทำให้ใครๆ ก็สามารถดาวน์โหลดบล็อกเชนทั้งหมดได้ และใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน หรือคอมฯ ประกอบ ราคาประมาณ 100 ดอลลาร์ ก็สามารถรันโหนดได้ หากบล็อคเชนมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีราคาแพงขึ้น และเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปในการรันโหนด และอาจทำให้การกระจายอำนาจลดลง เหลือเพียงองค์กร หรือผู้ที่มีอุปกรณ์ราคาแพงเท่านั้นที่จะสามารถรันโหนดได้
บล็อกที่ใหญ่ขึ้น ก็หมายความว่าอาจมีบางบล็อกที่บรรจุข้อมูลได้ไม่เต็มด้วย ซึ่งจะทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมถูกลง สิ่งนี้จะช่วยให้เครือข่ายสามารถขยายขนาดได้อย่างแน่นอน ในทางกลับกัน อาจลดผลตอบแทนสำหรับนักขุด เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่ลดต่ำลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินรางวัลจากการปิดบล็อก หรือ block subsidy (ส่วนแบ่งเงินรางวัลที่ผู้ขุดจะได้รับจากการช่วยปิดบล็อก) ยังคงลดลงครึ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่องในทุกๆ 4 ปี (จากกระบวนการ Halving) ซึ่งหากผู้ขุดหยุดดำเนินการ จะเป็นการลดความปลอดภัยของเครือข่าย Bitcoin
โดยสรุป สงครามขนาดบล็อกแสดงให้เห็นถึง Trilemma ของบล็อคเชนทีมีอยู่ในเครือข่ายของ Bitcoin บล็อกที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยเพิ่มการปรับขนาด และปริมาณงานได้ แต่อาจต้องสูญเสียการกระจายอำนาจ และความปลอดภัย
ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ยังมีสิ่งสำคัญอื่น คือ การเสนอให้เปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้เกิดการ Hard fork ซึ่งหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงโค้ดจะทำให้ระบบใหม่ไม่สามารถย้อนกลับไปทำงานร่วมกับระบบเดิมได้ และโหนดทั้งหมดจะต้องอัปเกรดระบบเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องถูกแยกออกจากเครือข่าย
การ hard fork ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเกิดขึ้นเพราะสงครามขนาดบล็อก ต่างก็ประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง (เช่น Bitcoin XT และ Bitcoin Classic) หรือต่างก็ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อให้ได้รับความสนใจจากตลาด (เช่น Bitcoin Cash (BCH) และ Bitcoin SV (BSV) หรือ “Satoshi’s Vision”)
กรณีศึกษา Bitcoin Cash
หนึ่งในการ Hard fork ที่โดดเด่นที่สุดที่เกิดจากสงครามขนาดบล็อก คือ Bitcoin Cash (BCH) เหล่าผู้ให้การสนับสนุนการ Hard fork ครั้งนี้ต่างก็เชื่อว่า bitcoin ควรเป็น “peer-to-peer electronic cash system” อย่างแท้จริง หรือเป็นระบบที่รองรับธุรกรรมจำนวนมากได้
กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า.. ผู้สนับสนุน Bitcoin Cash เชื่อว่า bitcoin ควรมุ่งเน้นไปที่การเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) ที่น่าเชื่อถือ มากกว่าการเป็นสินทรัพย์ที่ทำหน้าที่เก็บรักษามูลค่า (Store of value)
เราขอย้ำว่าแนวทางนี้โดยเนื้อแท้แล้ว “ไม่ผิด” แต่มันก็ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงการต้องยอมแลกเพื่อให้ได้ความสามารถในการปรับขนาดที่มากขึ้น
ยังไม่มีอะไรหยุดนักพัฒนา และตลาดจากการเลือก Bitcoin Cash เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงินที่เร็ว หรือถูกกว่า โดยที่มีความปลอดภัย และการกระจายอำนาจเป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย
อย่างไรก็ตามเราจะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดของ bitcoin นั้นสูงกว่า Bitcoin Cash (BCH) ถึง 100 เท่า แปลว่านักลงทุนยังคงเลือก bitcoin (BTC) ให้เป็นระบบการเงิน ดังนั้น มันจึงดูเหมือนว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการเก็บมูลค่าที่ปลอดภัย และมั่นคง มากกว่าการชำระเงินที่รวดเร็ว หรือถูกกว่า
Bitcoin เป็นระบบเงินที่มีคุณค่ามากกว่าการเป็นระบบการชำระเงินที่ดี
สิ่งนี้นำเราไปสู่อีกประเด็นหนึ่งที่ว่า..
ทำไมเราจึงเชื่อว่า Bitcoin ควรได้รับการพิจารณาให้เป็นระบบการเงินหลัก แทนที่จะเป็นระบบการชำระเงิน?
ข้อเท็จจริงที่ว่า ตลาดแสดงออกว่าไม่ชอบ bitcoin ในแง่ที่เป็นระบบการชำระเงินที่ทำงานได้ช้า เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ดิจิทัล และบล็อคเชนอื่นๆ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าตลาดในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการจัดเก็บมูลค่าที่มีความปลอดภัยสูง และการกระจายอำนาจมาก กว่าเครือข่ายการชำระเงิน
ดังที่เราได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การคิดค้นที่เป็นการปฏิวัติวงการของ Bitcoin กำลังแก้ปัญหาเรื่องความหายากในโลกดิจิทัล และสร้างการเก็บรักษามูลค่าในรูปแบบดิจิทัลนั้น เรื่องพวกนี้ไม่ใช่การปรับปรุงระบบการชำระเงินแต่อย่างใด
กรณีศึกษา Ethereum
การประเมินเครือข่าย Ethereum และโทเคน ether อยู่นอกเหนือขอบเขตของงานวิจัยนี้ อย่างไรก็ตาม เราควรสังเกตความเหมือน และความแตกต่างบางอย่างระหว่าง bitcoin กับ ether ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ตามมูลค่าตลาด [12]
นับจากเริ่มก่อตั้ง และหลังเผยแพร่เอกสารไวท์เปเปอร์ Bitcoin ก็มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา “เงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบ peer-to-peer อย่างแท้จริง” [13]
เครือข่ายของมันได้รับการออกแบบให้กระจายอำนาจ และมีความปลอดภัย เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อใจตัวกลาง โดยรวมเข้ากับระบบการเงินที่ถูกโปรแกรมไว้ล่วงหน้า และการกำหนดไว้อย่างน่าเชื่อถือให้ปริมาณเหรียญที่จะถูกผลิตออกมามีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ ช่วยเพิ่มความสามารถให้กับ bitcoin ในการเป็นเงิน และทำหน้าที่เก็บรักษามูลค่าได้
Ethereum ก็เริ่มต้นจากไวท์เปเปอร์เช่นกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 โดย Vitalik Buterin
โดยสรุปแล้ว Ethereum มุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนที่ถูกบุกเบิกโดย Bitcoin โดยเพิ่มความสามารถให้มากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการทำธุรกรรมที่ซับซ้อน จากเอกสารไวท์เปเปอร์ได้ระบุไว้ว่า “สิ่งที่ Ethereum ตั้งใจจะมอบให้ คือ บล็อคเชนที่มีโปรแกรมซึ่งถูกเขียนด้วยฟังก์ชัน Turingcomplete สามารถนำมาใช้สร้าง “สัญญา” ที่จะนำไปเข้ารหัสด้วย Arbitrary state transition ได้…”
นั่นทำให้เครือข่ายบล็อคเชนของ Ethereum สามารถทำหน้าที่โฮสต์ และเรียกใช้ “Smart contract” (สัญญาอัจฉริยะ) ที่ช่วยให้สามารถสร้างแอปพลิเคชันได้ทุกประเภท
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บางคนเรียกเครือข่าย Ethereum ว่าเป็น “คอมพิวเตอร์ของโลก” (distributed world computer)
เครือข่ายยังอนุญาตให้ออกเหรียญที่ต่างกันขึ้นบนบล็อคเชนของ Ethereum ได้ ระบบนี้ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มประเภทหนึ่ง ที่ผู้อื่นสามารถใช้เพื่อสร้างแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ ซึ่งประกอบด้วยแอปพลิเคชันที่เป็นระบบการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi), เกม (GameFi), โซเชียลมีเดีย ฯลฯ
ในขณะที่บางคนมองว่า Ethereum เป็นเครือข่ายที่เหนือกว่า และเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเมื่อเทียบกับ Bitcoin แต่ความสามารถที่เพิ่มขึ้นมา และความยืดหยุ่นเหล่านั้นย่อมทำให้เกิดต้นทุนตามมา โดยเฉพาะความซับซ้อนของระบบที่มากขึ้น จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ซอฟต์แวร์เกิดข้อบกพร่อง (Bugs) รวมถึงลดการกระจายอำนาจ และมีความปลอดภัยลดลงได้
Bitcoin วางตำแหน่งของตัวเองเทียบกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหลืออย่างไร
ดังที่เราได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ลักษณะที่เป็นโอเพ่นซอร์สของ Bitcoin ทำให้ใครก็สามารถคัดลอก, แก้ไข และสร้างเหรียญหรือโปรเจคของตัวเองจากโค้ดดั้งเดิมของ Bitcoin ได้อย่างง่ายดาย
ซึ่งทำให้เกิดเหรียญทางเลือก (Alternative coins หรือ “alt-coins”) จำนวนมากมายตามมา สร้างความสับสนให้กับนักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด บางครั้งก็ทำให้คนเข้าใจผิดว่า bitcoin ไม่ใช่ของหายากเพราะมีอยู่หลายร้อยเหรียญ
อย่างไรก็ตามจากการวิจัยของเราก็ได้ข้อสรุปว่า:
💡 เครือข่าย Bitcoin ทำงานร่วมกับเครือข่ายบล็อคเชนอื่นๆ ไม่ได้ และเหรียญ bitcoin นั้นไม่สามารถนำไปใช้ร่วมกับเหรียญอื่นได้ ดังนั้น เหรียญ bitcoin จึง “หายาก” ในขณะที่เหรียญอื่นอาจจะพูดแบบกว้างๆ ก็ได้ว่า “หาง่าย”
💡 ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนมูลค่าของ bitcoin คือ ความหายาก และความน่าเชื่อถือที่จำนวนเหรียญได้ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าให้มีจำนวนจำกัด
💡 เป็นที่เข้าใจกันดีว่า Bitcoin เป็นสินค้าประเภทเงิน
💡 Bitcoin น่าจะเป็นเงินสกุลหลัก และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ไม่น่าจะแทนที่ bitcoin ในบทบาทนี้ได้
นอกจากนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่า Bitcoin เป็นเครือข่ายที่ปลอดภัยที่สุด และกระจายอำนาจมากที่สุด แต่บนเลเยอร์ที่ 1 หรือ Native layer นั้น ไม่นับว่าเป็นเครือข่ายที่ปรับขนาดได้ดีที่สุด ระบบของ Bitcoin นั้นไม่อนุญาติให้มีฟังก์ชั่นเพิ่มเติม หรือไม่สามารถสร้างโปรแกรมแบบที่เราเห็นได้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ Ethereum
ด้วยการต้องแลกกับคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งนี้เอง จึงทำให้เราได้เห็นการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีโปรเจคต่างๆ เป็นร้อยเป็นพันเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่ต่างกันไป และเพื่อตอบสนองไปตามความต้องการของตลาด
แน่นอนว่าโดยปกติแล้วนักลงทุนมักจะสงสัยว่า จุดสิ้นสุดของนวัตกรรมนี้จะเป็นอย่างไร แม้จะไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น
แต่เราคิดว่าการคาดการณ์อนาคตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมี 2 เรื่องที่ควรให้ความสนใจ ซึ่งมีความโดดเด่น และกำลังกลายเป็นกระแสนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพวกเรากำลังสงสัยว่า Bitcoin จะพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร
1. โลกของ Multi-chain
การสร้างเหรียญต่างๆ ในปัจจุบันทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่ทำงานบนระบบของใครของมัน นักพัฒนาซอฟแวร์เลือกที่จะพัฒนาบล็อคเชนที่มีความเฉพาะตัว เช่น โครงสร้างพื้นฐานของระบบ Bitcoin มีความแตกต่างจาก Etereum
ส่งผลให้ Etereum และเหรียญต่างๆ หรือ NTF บนระบบนิเวศน์ของ Ether ไม่สามารถทำงานเข้ากันได้กับระบบของ Bitcoin และไม่สามารถทำงานเชื่อมโยงโต้ตอบกันไปมาได้ จนในปัจจุบันระบบ Third party ที่มีความน่าเชื่อถือได้กลายมาเป็นข้อกำหนดที่สำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิตัลกันข้ามเชน
สะพานเชื่อม (Bridge) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศน์ของบล็อคเชนต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เราได้สังเกตเห็น และคาดว่าจะดำเนินต่อไปในทุกๆ ปีต่อจากนี้ การทำงานร่วมกันระหว่างเชนต่างๆ จะเป็นพัฒนาการที่สำคัญของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งระบบ โดยสมมุติว่าระบบ Multi chain จะชนะจากการยอมแลกบางคุณสมบัติของหลายๆ เลเยอร์หลัก, use case และคุณค่าที่จะได้รับ
ในโลกที่ Multi-chain กลายเป็นผู้ชนะ ดูเหมือนว่า Bitcoin จะมีความเหมาะสมที่สุดในบทบาทของระบบการเงินที่อยู่นอกเหนืออำนาจรัฐ ภายใต้ตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างน้อยกว่าสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ ที่พยายามแข่งขันกันเพื่อตอบสนองการใช้งานในด้านต่างๆ
ซึ่งการมุ่งเน้นอย่างชัดเจนไปด้านความปลอดภัย และการกระจายอำนาจสูงสุด ช่วยเสริมกฎเกณฑ์ และทำให้ผู้ใช้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน นอกจากนี้เนื่องจากความหายาก และจำนวนเหรียญที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน
Bitcoin จึงเป็นโปรโตคอลดิจิทัลที่ใกล้เคียงที่สุดที่ทำให้ความหายากเกิดขึ้นอย่างแท้จริง กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า โปรเจค หรือเครือข่ายบล็อคเชนอื่นๆ ที่ต้องการให้ผู้ใช้เชื่อว่าพวกเขากำลังทำธุรกรรมด้วยเหรียญที่มีมูลค่าเป็นเงินจริงๆ ก็จำเป็นต้องเชื่อมต่อโดยตรง หรือทางอ้อมกับ bitcoin ซึ่งเป็นระบบการเงินที่ดีที่สุด
ตัวอย่างเช่น คนที่ใช้เหรียญที่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อความสะดวกในการใช้งาน, อรรถประโยชน์ หรือคุณสมบัติอื่นๆ ในฐานะตัวแทนของเงินดอลลาร์ ซึ่งนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้ าและรางวัลอื่นๆ ได้ แต่เมื่ออยู่นอกระบบดั้งเดิมของตน เหรียญเหล่านั้นจะมีค่าเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีค่าเลย
ในโลกแบบนี้ เหรียญอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Bitcoin จะถูกปล่อยให้แข่งขันกันสร้าง use case มากมายเพื่อเทคโนโลยีของตัวเอง พวกเขากำลังตั้งเป้าที่จะหาจุดลงตัวสำหรับการปรับขนาดบนเลเยอร์หลัก (Base layer) และกำลังต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อพัฒนาและปรับปรุงฟังก์ชั่นการใช้งาน
นี่ไม่ใช่การกล่าวหาต่อผู้ที่สร้าง หรือลงทุนในโปรเจคอื่นๆ นอกเหนือจาก Bitcoin แต่เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตถึงข้อได้เปรียบที่ชัดเจนของ Bitcoin ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ที่เก็บรักษามูลค่าเพื่อลดความเสี่ยงได้อย่างดี แม้จะอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยสินทรัพย์ดิจิตัลที่มีความน่าสนใจเต็มไปหมดก็ตาม โดยสมมุติว่าผลลัพธ์ คือ bitcoin ยังคงได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนท่ามกลางกระแสของสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด
โดยถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นระบบการเงินที่ดีที่สุด ช่วยให้ลดความเสี่ยงได้มากที่สุด และเป็นการลงทุนที่ทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด ง่ายต่อการจัดสรรเงินลงทุนในตลาดคริปโต
2. โลกที่ผู้ชนะกินเรียบ หรือ The Most World
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบล็อคเชนเป็นการสร้างเทคโนโลยีที่สำคัญ ความสามารถในการควบคุมฐานข้อมูลของตัวกลาง และมีอำนาจเด็ดขาดในการลบ third patry ไม่ใช่นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาเพิ่มเข้ามา
อย่างไรก็ตามบล็อคเชนแบบรวมศูนย์นั้นค่อนข้างง่ายต่อการแทรกแซงฐานข้อมูล เป็นการลดคุณภาพแบบที่ระบบกระจายอำนาจนั้นไม่มี ซึ่งรวมถึงการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ (Immutability), การต่อต้านการถูกยึดอำนาจ, ต่อต้านการโดนแบน และการออกแบบระบบที่ไม่ต้องเชื่อใจใคร
ดังนั้นเราจึงสามารถจินตนาการถึงการกระจายอำนาจที่จะเกิดขึ้นกับเหรียญต่างๆ ได้ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป จากเหรียญที่มีการกระจายอำนาจมากที่สุด (Bitcoin) ไปจนถึงเหรียญที่โปรโตคอลมีการกระจายอำนาจแค่ในนามเท่านั้น แต่กลับมอบอำนาจที่สูงเกินไปให้กับนักพัฒนา หรือสมาชิกในชุมชนบางราย
ดังนั้นจึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์ ที่ผู้ใช้ และนักลงทุนจะชื่นชอบเหรียญแตกต่างกัน โดยพิจารณาจากการที่ต้องลดการกระจายอำนาจลงบ้าง ซึ่งคล้ายกับโลก Multi-chain ที่ได้อธิบายไป
อย่างไรก็ตาม มีอีกสถานการณ์หนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ขึ้นกับความสามารถของแอปพลิเคชัน และโซลูชั่นที่ช่วยขยายขนาดการรองรับ ที่จะถูกสร้างขึ้นบน “เลเยอร์หลัก” หรือ “เลเยอร์ที่ 1” ของบล็อคเชน หากแอปพลิเคชันต่างๆ สามารถทำงานบนเลเยอร์ที่สูงขึ้นไปของเครือข่ายบล็อคเชนที่มีอยู่ได้ แทนที่จะถูกบังคับให้ต้องเริ่มสร้างเครือข่ายใหม่
ผู้ใช้งานย่อมต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นบนเครือข่ายที่แข็งแกร่งที่สุด และมีความปลอดภัยมากที่สุดอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นโลกที่มีเพียงหนึ่งเชน หรือไม่กี่เชน ที่สามารถสร้างมูลค่าส่วนใหญ่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ และจะถูกรับเลือกให้เป็นบล็อคเชนชั้นนำ และเนื่องจาก Bitcoin นั้นเป็นบล็อคเชนที่มีการกระจายอำนาจ และมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด จึงเหมือนจะกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกหลัก
หรืออาจเป็นผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวหากสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
BITCOIN LIGHTNING NETWORK
แอปพลิเคชันบน “เลเยอร์ที่ 2” ที่น่าสนใจตัวหนึ่งที่เราเห็นแล้วว่าถูกสร้างขึ้นมาบนเครือข่ายหลักของ Bitcoin คือ Lightning network นี่คือเครือข่ายกระจายอำนาจที่สร้างขึ้นโดยใช้ฟังก์ชัน Smart contract และอนุญาตให้ทำธุรกรรมนอกเชน (off-chain) ระหว่างบุคคลได้ แต่มีความสามารถในการจบธุรกรรมการชำระเงินบนเครือข่ายหลักของ Bitcoin
การอธิบายง่ายๆ ในเรื่องนี้ คือ ผู้เข้าร่วมเปิด Channel ส่วนตัวระหว่างกัน ทำธุรกรรมกันไปมาด้วยความรวดเร็ว โดยมีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ต่ำมาก นี่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับการใช้งานจำนวนมากบนเครือข่าย Bitcoin ได้ แต่ด้วยตัวเลือกที่จะปิดธุรกรรมทั้งหมดเมื่อไหร่ก็ได้บนเชนหลัก มันจะยังคงได้รับประโยชน์จากความปลอดภัยของ Bitcoin ด้วยนั่นเอง
อินเตอร์เน็ต และ TCP/IP ซึ่งเป็นเลเยอร์ฐาน (Base layer) ของมัน เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในเรื่องนี้
ชุดอินเตอร์เน็ตโปรโตคอลที่เรียกว่า TCP/IP เป็นเลเยอร์ฐานแบบโอเพ่นซอร์ส สำหรับการส่งผ่านข้อมูล รวมถึงแอปพลิเคชัน และเนื้อหาที่สร้างขึ้นบนโปรโตคอล
ซึ่งตัวโปรโตคอล TCP/IP ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ และในฐานะที่เป็นโอเพ่นซอร์สจึงไม่เปิดโอกาสให้ใครสามารถเป็นเจ้าของได้ ในทางกลับกันความเป็นเจ้าของจะเกิดขึ้นได้เฉพาะกับตัวแอปพลิเคชัน และเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นบน TCP/IP เท่านั้น แอปพลิเคชันยังสามารถสร้างขึ้นโดยใช้เลเยอร์ฐาน และการอัปเกรดทางเทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าที่จับต้องได้ให้กับตัวเลเยอร์ฐาน
ซึ่งนวัตกรรมของ Amazon, Facebook, Google, Netflix และแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็ได้ช่วยทำให้เลเยอร์ฐานของอินเตอร์เน็ตมีค่า ในทำนองเดียวกันนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโปรโตคอลของสินทรัพย์ดิจิทัลก็ทำให้เจ้าของเลเยอร์ฐานเหล่านั้นเติบโตในวงกว้าง มี use case และอรรถประโยชน์เพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถาปัตยากรรมดังกล่าว คือ นักลงทุนสามารถเป็นเจ้าของบางส่วนในเลเยอร์ฐานของเทคโนโลยีใหม่นี้ได้ และอาจไม่ต้องสนใจว่าจะมีแอปพลิเคชันอะไรถูกสร้างขึ้นมาบ้าง
มันคล้ายกับการสามารถครอบครองเลเยอร์ฐานของอินเตอร์เน็ต และพร้อมสำหรับการเปิดรับนวัตกรรมทั้งหมดในอนาคต (เช่น Google, Amazon เป็นต้น) โดยไม่จำเป็นต้องเลือกว่าใครจะกลายเป็นผู้ชนะ หรือผู้แพ้
Bitcoin มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ชัดเจน
แน่นอนว่าเราคงไม่รู้ว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะเป็นอย่างไรในอนาคต เราอาจจะได้เห็นโลกแบบ Multi-chain ของเหรียญที่ต่างๆ ที่มีการรวมศูนย์ต่างกันหลายระดับ หรือเราจะเห็นเหรียญผู้ชนะแบบกินรวบ ซึ่งมีหลายแอปพลิเชันถูกสร้างขึ้นบนเชนที่ปลอดภัย และกระจายอำนาจมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ Bitcoin ได้ค้นพบบทบาทของตัวเองในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ในฐานะที่มีความหายาก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่เก็บมูลค่าได้ ความสามารถของสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ทั้งหมดในการตอบสนองต่อ use case ที่จำเป็นต่างๆ เราคิดว่าอาจยังคงต้องรอดูกันต่อไป
แต่ประโยคนี้ไม่สามารถพูดได้กับ Bitcoin มันสร้างผลการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนบนความเสี่ยงที่ต่างกันมาก ระหว่าง Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ ทั้งหมด และท้ายที่สุดมันควรส่งผลต่อการพิจารณาที่ผู้จัดสรรเงินลงทุนจะเลือกสินทรัพย์ต่างๆ ไว้ในพอร์ตของตัวเอง
การจัดพอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัล
นักลงทุนที่เข้าใจเกี่ยวกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และกำลังสร้างแนวทางในการพิจารณาลงทุน มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการแยกพิจารณา bitcoin ออกจากสินทรัพย์ดิจิตัลอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากในการจัดพอร์ต และช่วยให้ผู้จัดสรรเงินลงทุนสามารถแยกการตัดสินใจออกเป็น 2 ส่วนได้
โดยให้ความสำคัญต่อการถือครองทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินที่หายากที่สุด (bitcoin) ในตลาดเกิดใหม่นี้ ในขณะเดียวกันก็พิจารณาเปิดรับนวัตกรรมที่มีศักยภาพ และโปรเจคที่กำลังทดลองพัฒนากันอย่างต่อเนื่องในตลาดนอกเหนือจาก bitcoin ได้
เพื่อให้เข้าใจถึงการกำหนดปริมาณที่เหมาะสมระหว่าง bitcoin และเหรียญอื่นๆ ที่ไม่ใช่บิตคอยน์ในพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะต้องเข้าใจปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และผลตอบแทนจากการลงทุนจากข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์ทั้งสองปัจจัย และสรุปได้ว่าจะยอมรับการลงทุนบนความเสี่ยงได้ในระดับใด
ความเสี่ยงของ Bitcoin, ที่มาของผลตอบแทน และบทบาทในพอร์ตลงทุน
ความได้เปรียบของการเป็นเจ้าแรก ทำให้ไม่มีการแข่งขันที่แท้จริงในด้าน use case หลักของ bitcoin ในฐานะสินทรัพย์ที่เป็นเงิน และแหล่งเก็บมูลค่า และ bitcoin ยังมีรูปแบบการให้ผลตอบแทนที่ต่างออกไปมาก
ความเสี่ยงมากมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างกรณีการล่มสลายของ bitcoin นั้นไม่มีแล้ว และในแต่ละวันเครือข่ายก็เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น เมื่อมีผู้ใช้, นักขุด และโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกสร้างเพิ่มขึ้น เกือบทุกความเสี่ยงที่ bitcoin ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถเห็นได้ในสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ เช่นกัน
ความเสี่ยง 2 ข้อที่สำคัญที่สุดของเครือข่ายจะมาจากการโจมตีของภาครัฐ และข้อบกพร่องของโปรโตคอลต่างๆ
ข้อบกพร่องของโปรโตคอล (Protocol Bugs) : เป็นช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นในตัวโค้ด ซึ่งมักจะเป็นภัยคุกคามเสมอ ปัญหานี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการออกแบบให้ซอฟต์แวร์มีความเรียบง่าย ทบทวนและพิจารณาโค้ดอย่างรอบคอบ
ในกรณีของ Bitcoin อาจเป็นโปรโตคอลที่มีโอกาสน้อยที่สุดที่จะพบจุดบกพร่องที่สำคัญในช่วงนี้ เนื่องจากมันอยู่มานานกว่าโปรเจคอื่น มีเจตนาเขียนโค้ดให้เรียบง่าย โดยตอนนี้ก็มีรางวัล 1 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับใครก็ตามที่สามารถเจาะระบบผ่านช่องโหว่ที่อาจค้นพบได้
การโจมตีระดับชาติ และโดยภาครัฐ (Nation-State Attacks) : ความเสี่ยงที่ได้รับการยืนยันจากหลายบทความเกี่ยวกับ bitcoin คือ โอกาสที่ประเทศมหาอำนาจจะคัดค้านการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล จากมุมมองทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีการกำกับดูแลมากกว่าการห้ามสินทรัพย์เหล่านี้
ไ่ม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม Bitcoin อยู่ในจุดที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากการร่วมมือกันโจมตี เนื่องจาก Bitcoin ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจนั่นเอง
ความเสี่ยงที่ bitcoin เผชิญอยู่ในวันนี้ ยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ เนื่องจากโค้ดที่ไม่มีความซับซ้อน และเน้นที่การกระจายอำนาจ แทบไม่มีการแข่งขันเลยในกรณีการใช้งานหลักของมัน และตลอด 13 ปี ในฐานะเหรียญที่เก็บรักษามูลค่า ช่วยให้ bitcoin จะยังคงอยู่ในฐานะรากฐานสำคัญของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไป
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราไม่ได้คิดว่าการแบ่งเงินลงทุนมาที่ bitcoin จะไร้ความเสี่ยง แต่เราคิดว่านักลงทุนบางคนประเมินความเสี่ยงของ bitcoin เอาไว้มากเกินไปเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ
เราคิดว่ามีนักลงทุนบางคนที่ทำแบบเดียวกัน แต่อาจต่างออกไปเล็กน้อย ซึ่งพวกเขาอาจประเมินผลตอบแทนที่เป็นไปได้ของ bitcoin ต่ำไป เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ มีข้อดีบางประการในแนวคิดนี้ เนื่องจาก bitcoin มีมูลค่าตลาดประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ อาจเป็นเรื่องยากที่จะให้ผลตอบแทน 100 เท่าแบบในช่วงแรกๆ ของมัน (เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง) ซึ่งยังมีมูลค่าตลาดไม่มากนัก
อย่างไรก็ตามผลตอบแทนดังกล่าวมาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้นในขณะนั้น ตามที่เราได้อธิบายไว้ข้างต้น ระดับความเสี่ยงใน bitcoin ลดลงไปอย่างมากนับจากช่วงแรกๆ และเราคิดว่าผลตอบแทนจาก bitcoin ก็ยังคงมีอยู่มาก
ผลตอบแทนของ Bitcoin นั้นได้รับแรงผลักดันจาก 2 ปัจจัย คือ การเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ผลตอบแทนเหล่านี้มีแนวโน้มจะจับต้องได้ง่ายกว่า โดยมีความเสี่ยงน้อยกว่าสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่
การเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล : เมื่อเงินไหลเข้าไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ สินทรัพย์มาตรฐานในการเก็บรักษามูลค่าย่อมได้รับความสนใจ และมีความสำคัญมากขึ้น ทุกโปรเจค, ทุกเหรียญ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกสร้างขึ้น และได้รับทุนสนับสนุนกำลังเพิ่ม use case และมูลค่าที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นกลาง, หายาก, สินทรัพย์ที่เป็นทุนสำรองในรูปดิจิทัล ในขณะที่เหรียญอื่นๆ ต่างได้ประโยชน์ทางอ้อมจากเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดคริปโต bitcoin เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดในการได้รับประโยชน์จากการเติบโตดังกล่าว
ตามที่ได้กล่าวเอาไว้ การที่ bitcoin ไม่มีการแข่งขันในการได้รับการยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ที่เก็บมูลค่าได้อย่างโดดเด่น หมายความว่า มีภัยคุกคามเพียงเล็กน้อยต่อสถานะในปัจจุบันในการเป็น “เงิน” ของระบบดิจิทัล การเติบโตที่เกิดขึ้นจากสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดจึงส่งผลดีต่อ bitcoin
ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก : การพิมพ์เงินเพิ่มขึ้น และนโยบายผ่อนคลายทางการคลังเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดความกังวลต่อเสถียรภาพโดยรวมของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ การก่อตัวของนโยบายเหล่านี้นำไปสู่หนี้ภาครัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลกแบบไม่เคยมีมาก่อน [20] การเลเวอเรจได้ขับเคลื่อนหน้าประวัติสาสตร์ทางการเงินไปสู่ความเปราะปราง
ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งซึ่งเป็นผลมากจากสภานการณ์ปัจจุบันคือการถดถอยของระบบการเงิน (อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ) [21] สภาวะที่เศรษฐกิจมหัพภาคเป็นแบบนี้ในอดีตมักส่งผลดีต่อสินทรัพย์ที่หายากซึ่งมีจำนวนจำกัด ตัวอย่างเช่น ทองคำที่ให้ผลตอบแทนได้ดีในภาวะที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง และช่วงที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบในช่วงปลายทศวรรษ 1970
ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลกฏเกณฑ์ของ Bitcoin และการกระจายอำนาจได้สร้างความขาดแคลนระดับสูงสุดในบรรดาโปรโตคอลสินทรัพย์ดิจิทัล นี่เป็นกรณีที่น่าสนใจในฐานะการป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาที่อาจต้องเผชิญจากระบบการเงินในปัจจุบัน
ด้วยความสามารถในการป้องกัน (Hedge) ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในสินทรัพย์แบบดั้งเดิม และการเติบโตในภาพรวมของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล Bitcoin จึงกลายเป็นทางเลือกที่ง่าย และมีประสิทธิภาพสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
ความเสี่ยง และผลตอบแทนของเหรียญอื่นๆ ที่ไม่ใช่ bitcoin
นักลงทุนจำนวนมากอ้างถึงศักยภาพในการให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าของสินทรัพย์ดิจิทัลทางเลือก หรือบรรดาเหรียญอื่นๆ ที่ไม่ใช่ bitcoin บางคนเลือกที่จะไม่มี bitcoin ในพอร์ตเลย แม้อัตราผลตอบแทนดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ในสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท สิ่งสำคัญ คือ ต้องพิจารณาว่าโดยรวมแล้วโปรเจคเหล่านั้นมักมีความเสี่ยงที่มากกว่า และมีโอกาสที่เหรียญจะไร้ค่าหากไม่สามรถทำตามความคาดหวังได้
ความเสี่ยงของเหรียญที่ไม่ใช่ bitcoin นั้นแตกต่างกันไปตามกรณี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเหรียญที่เกิดการเก็งกำไรสูง แต่ความเสี่ยงเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ในโปรเจคส่วนใหญ่ โดยความเสี่ยงที่สำคัญบางประการได้ระบุไว้ด้านล่างนี้
ลักษณะของการกระจายอำนาจ : อัลกอริธึม Proof of wok ของ Bitcoin, โครงสร้างในการกำกับดูแล และการเปิดตัวอย่างยุติธรรม ได้กลายเป็นต้นแบบของโปรเจคที่มีการกระจายอำนาจ และไม่จำเป็นต้องเชื่อใจใคร
เหรืยญอื่นๆ มีกลไกฉันทามติ, โครงสร้างการกำกับดูแล และการเปิดตัวโปรเจคที่ต่างออกไป ซึ่งมักจะทำให้การกระจายอำนาจลดลง เพราะเป็นหนึ่งในข้อเสนอสำคัญที่โปรโตคอลเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้สัญญาเอาไว้
นักลงทุนจึงควรพิจารณาด้านการกระจายอำนาจของโปรเจคเหล่านั้น การกระจายอำนาจที่น้อยเกินไป จะทำให้โปรโตคอลเหล่านั้นมีความอ่อนไหวต่อการถูกควบคุมกฏระเบียบ และทำให้สิทธิ์ของผู้ใช้ถูกริดรอน
ภัยคุกคามที่มาจากการแข่งขัน : การแยกความแตกต่างกลายเป็นเรื่องยาก เมื่อแพลตฟอร์มที่สร้างด้วยโค้ดโอเพ่นซอร์สสามารถถูกคัดลอกนำไปต่อยอดเป็นเหรียญใหม่ๆ ได้ ในอดีตเราเจอหลายโปรเจ็คที่ประสบความล้มเหลว และการหมุนเวียนเงินเพื่อเก็งกำไรภายใน 10-20 เหรียญดังกล่าวนั้นมักมีความรุนแรงมาก
โปรโตคอลต้องสร้าง network effect ได้มากพอจาก use case ที่ตัวเองมี โดยหวังว่าพวกมันจะสามารถปกป้องตัวเองจากคู่แข่งได้ เนื่องจากเกือบทุกเครือข่ายที่ไม่ใช่ Bitcoin กำลังเพิ่มความสามารถในการปรับขนาด หรือเพิ่มฟังก์ชันการทำงานให้กับเลเยอร์ฐานเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง
สิ่งที่ขับเคลื่อนผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดที่ไม่ใช่ bitcoin ก็ต่างกันมากเช่นกัน เนื่องจากโปรโตคอลเหล่านั้นถูกบังคับให้ต้องแลกบางอย่างเพื่อเพิ่มความเร็วในการทำงาน และคุณลักษณะอื่นๆ ที่จะรับประกัน use case ปัจจัยที่รวมอยู่ในสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่ bitcoin เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยผลักดันผลตอบแทน
การดึงดูดนักพัฒนา และการสร้าง Network effect : โปรเจคที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจะประสบความสำเร็จ และสร้างสิ่งที่ดูมีอนาคตโดยเพิ่มความสามารถพิเศษบางอย่างลงไป และรักษาฐานผู้ใช้เอาไว้ได้ Ethereum และ Solana เป็นตัวอย่างที่ดีของโปรเจคที่มีความเป็นไปได้ในการดึงดูดนักพัฒนาเข้ามา, สร้างแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ และได้รับความภักดีจากเครือข่ายผู้ใช้งาน เมื่อทำถูกต้องจะสร้างผลตอบแทนมูลค่ามหาศาลให้กับนักลงทุนได้
ด้วยอัตราการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และโอกาสล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นในหลายๆ โปรเจค การจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ใช่ bitcoin มักทำด้วยแนวคิดแบบเดียวกับธุรกิจการร่วมทุน (Venture capital) โดยแทนที่จะเลือกโปรเจคใดโปรเจคหนึ่ง ผู้จัดสรรมักจะกระจายเงินลงทุนขนาดเล็กลงไปในหลายๆ โปรเจค ซึ่งโดยทั่วไปจะทำให้เกิดการค้นหาตัวเลือกที่มีการจัดการที่ดีท่ามกลางหลายๆ โปรเจคที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางง่ายๆ อย่างการเลือกลงทุนใน bitcoin เท่านั้นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
บทสรุป
นักลงทุนแบบดั้งเดิมมักจะนำกรอบการลงทุนทางเทคโนโลยีมาใช้กับ bicoin ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปว่า bitcoin เป็นเพียงเหรียญแรกที่นำเสนอเทคโนโลยีบล็อคเชน และจะถูกแทนที่อย่างง่ายดายโดยเทคโนโลยีที่เหนือกว่าในอนาคต แถม bitcoin ยังให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า แต่ตามที่เราได้ให้ข้อมูลไว้ในงานวิจัยนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของ bitcoin ไม่ใช่ประเด็นของการเป็นระบบการชำระเงินแต่อย่างใด
แต่ bicoin เป็นระบบการเงินที่ดีกว่า ในฐานะเงิน bitcoin นั้นมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ดังนั้นเราไม่เพียงแค่เชื่อว่านักลงทุนควรพิจารณา bitcoin ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อทำความเข้าใจกับสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น แต่ควรพิจารณา bitcoin ก่อน และแยก bitcoin ออกจากสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตามมาด้วย
Disclaimer:
**การแปลบทวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการแบ่งปันและให้ข้อมูลเท่านั้น และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแนะนำ, ผู้แปลไม่มีเจตนาให้คำแนะนำในการลงทุนใดๆ และไม่ใช่ข้อเสนอ หรือการชักชวนให้ทำตามข้อเสนอเพื่อซื้อหรือขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นๆ ผู้ลงทุนโปรดศึกษาด้วยตัวเอง และขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อพิจารณาว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตัวเลือกการลงทุนที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ผู้แปลเป็นบุคคลอิสระ โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ Fidelity ซึ่งเป็นผู้จัดทำบทวิจัยนี้แต่อย่างใด**