BT100PP1
Picture of Krittanai P.

Krittanai P.

Why Bitcoin? (BitcoinTalk 100)

ทำไมต้องบิตคอยน์ และทำไมบิตคอยน์ถึงทำให้คนเปลี่ยนไปได้? มันไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ หรือเป็นเพียงการพัฒนาจากระบบการเงินหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งเท่านั้น แล้วคำตอบของเรื่องนี้คืออะไรล่ะ?

Why Bitcoin?

“ทำไมต้องบิตคอยน์ และทำไมบิตคอยน์ถึงทำให้คนเปลี่ยนไปได้?”

หลายคนที่ได้หลงเข้ามารู้จักกับบิตคอยน์ มักจะมีความตะขิดตะขวงในใจกันทุกคนว่าระบบของโลกมันเป็นแบบนี้จริงๆ เหรอ? มันควรจะเป็นแบบนี้จริงๆ เหรอ? และมันจะเป็นต่อไปได้เหรอ? มันมีอะไรที่วิปริตและผิดธรรมชาติอยู่หรือเปล่า? 

การได้รู้จักกับบิตคอยน์เลยกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ให้คำตอบหลายๆ อย่างกับความตงิดใจเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม, การเมือง หรือแม้แต่ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 

แน่นอนว่าคำตอบของปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่บิตคอยน์ แต่มันอยู่ที่ว่าบิตคอยน์ได้ฉายแสงไปยังปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นในสังคม 

ก่อนจะกล่าวถึงปัญหาอยากให้ทุกคนได้ทบทวนกันก่อนว่า “บิตคอยน์” คืออะไร ถ้าว่ากันตามคำจำกัดความของ Michael Saylor ที่อาจารย์พิริยะได้กล่าวไว้ใน Bitcoin Talk #100 : Why Bitcoin? ว่า… 

“บิตคอยน์ เป็นเงินสกุลแรกของโลกที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์” [1]

มันไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ หรือการพัฒนาจากระบบการเงินหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง แต่มันคือระบบการเงินใหม่ที่ถูกออกแบบใหม่ตั้งแต่จุดเริ่มต้น มันเป็นการออกแบบเชิงวิศวกรรม เป็นการออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากเงินรัฐบาล

ย้อนกลับไปตั้งแต่ในสมัยของจักรวรรดิโรมัน อะไรที่ทำให้เหรียญเดนาเรียส (denarius) หรือ แม้แต่เหรียญออเรียส (aureus) ต้องเสื่อมสลายลง? [2] 

สิ่งนั้นคือ การทำ “coin clipping” ที่ได้เริ่มเกิดขึ้นในยุคสมัยของจักรพรรดิแนโร 

ซึ่งการทำ coin clipping หรือ การลดมูลค่าของเหรียญ คือ การลดปริมาณของโลหะมีค่าในเหรียญลง ในขณะที่ยังส่งมันให้หมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจตามมูลค่าที่ได้มีการตราไว้ [3]

แล้วปริมาณโลหะมีค่าที่ถูกเอาออกมานั้นมันหายไปไหน?

โลหะมีค่าเหล่านั้นได้ถูกนำกลับมาหลอมใหม่ ทำให้ปริมาณอุปทานของเหรียญในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างมหาศาลในยุคถัดมา 

และเนื่องจากเงินผลิตได้ง่าย ก็ทำให้ราคาข้าวของสูงขึ้น แต่เงินที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ หรือการสร้างมูลค่าจากการค้าขายแลกเปลี่ยน แต่เกิดจากการที่รัฐบาลผลิตเงินเพิ่มจากการลดปริมาณแร่เงิน และแร่ทองคำในเหรียญของรัฐลง 

ทำให้ในที่สุดอาณาจักรก็อ่อนแอ ประชาชนต่างก็เสื่อมศรัทธาในรัฐ ระบบเศรษฐกิจขาดความเชื่อมั่นขาดความเชื่อถือ เงินไม่เกิดการเปลี่ยนมือ ทำให้เกิดการล่มของระบบเศรษฐกิจในท้ายที่สุด  

และเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะในเหรียญโซลิดัส [4] หรือแม้แต่เหรียญฟลอริน ก็เสื่อมสลายไปโดยการลดปริมาณทองคำในเหรียญลงเฉกเช่นเดียวกับเหรียญออเรียส นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเรายกอำนาจในการผลิตเงินไปไว้กับโรงกษาปณ์ซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐบาล 

จุดสำคัญของปัญหานี้ คือ การที่มีคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจในการผลิตเงินทำให้เกิดการผลิตเงินเท่าไหร่ก็ได้โดยที่ประชาชนไม่มีความจำเป็นจะต้องรับรู้

การทำลายเงินออมของประชาชน

แล้วการเพิ่มอุปทานของเงินอย่างมหาศาลที่รัฐบาลทำกับเหรียญต่างๆ ในอดีต หรือแม้แต่กับเงินเฟียตที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอย่างไร? 

สิ่งเหล่านี้เป็นการทำลายเงินเก็บเงินออมของประชาชนลง ทำให้คนไม่สามารถมองการณ์ไกลได้ เนื่องจากเราไม่มีทางมองได้เลยว่าวันนี้เราจะทำอะไร, พรุ่งนี้เราจะทำอะไร, ปีหน้า หรือแม้แต่ 5 ปีข้างหน้าเราจะทำอะไร? 

คนทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อที่จะให้มีชีวิตอยู่ในวันนี้ ในยุคสมัยปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคที่เราใช้ชีวิตทั้งวัน และทุกวันในการทำงาน เพื่อที่จะให้มีชีวิตอยู่รอดได้ในเดือนนั้น 

คนรุ่นใหม่ไม่มีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง นั่นก็เป็นปัญหาที่มาจากการที่คนเราไม่สามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้ 

เมื่อไม่สามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้ ก็ทำให้เกิดการที่ผู้คนเลิกที่จะคิดการณ์ไกล หันมามองเฉพาะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า จึงทำให้เกิดการทำธุรกิจหรือกิจการที่ไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ แต่กลับคิดถึงเฉพาะผลตอบแทนที่อยู่ตรงหน้า 

เศรษฐกิจที่ผู้คนต้องทำงานเพื่อมีชีวิตรอด ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงกับหลายๆ อย่าง ไม่เว้นแม้แต่สถาบันครอบครัว

แล้วบิตคอยน์มาแก้ปัญหาเหล่านี้ยังไง?

บิตคอยน์ไม่ได้ย้อนกลับไปหาระบบเงินก่อนหน้านี้เท่าไหร่นัก สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ในการออกแบบบิตคอยน์ คือ การพยายามลอกเลียนแบบทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสกุลเงินที่สามารถรวมใจคนทั้งโลกเข้ามาให้คุณค่ากับมันได้โดยที่คนเรานั้นไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน 

บิตคอยน์พยายามเลียนแบบทองคำในแง่ของการเป็นเงินที่พิสูจน์ได้ง่ายและปลอมแปลงไม่ได้ และกลไกในการพิสูจน์ของบิตคอยน์นั้น ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาของทองคำในแง่ของการพิสูจน์ 

เนื่องจากการพิสูจน์ของทองคำนั้นทำได้ช้า แต่ในบิตคอยน์เราสามารถตรวจสอบประวัติการเดินทางของบิตคอยน์ได้ตั้งแต่จุดกำเนิดของมันมาจนถึงวันที่เราใช้งานมันไม่ว่ามันจะผ่านมือมาแล้วกี่คนก็ตาม 

ระบบในการพิสูจน์ถูกใส่เข้ามาอยู่ในวิธีการใช้งานบิตคอยน์ ซึ่งเกิดขึ้นภายในเสี้ยววินาทีผ่านการใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์มาคำนวณสมการทางคณิตศาสตร์อย่างรวดเร็ว 

สิ่งนี้ทำให้สามารถลดเวลาในการพิสูจน์ลง และเพิ่มประสิทธิภาพในการพิสูจน์ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับทองคำ

และเนื่องจากเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าบิตคอยน์ที่เราได้รับนั้นเป็นบิตคอยน์จริงๆ ทำให้เราไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อใจในตราสิงโตคำรามของจักรพรรดิ หรือเชื่อใจในรัฐบาลว่าเขามีทองคำค้ำประกันในการออกเงิน แต่เราสามารถพิสูจน์ได้ สิ่งนี้คือกฏข้อหนึ่งในการออกแบบบิตคอยน์ 

นอกจากนี้บิตคอยน์ยังมีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาในการส่งข้ามผ่านระยะทางไกลของทองคำหรือแม้แต่เหรียญทอง 

เนื่องจากบิตคอยน์เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์, คำสั่งในการส่ง, การตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งสมุดบัญชีของบิตคอยน์นั้นต่างก็เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น 

ทำให้เราสามารถอาศัยระบบต่างๆทางโทรคมนาคมในการรับและส่งบิตคอยน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียม, อินเทอร์เน็ต ฯลฯ 

สิ่งเหล่านี้ทำให้บิตคอยน์สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งผ่านระยะทางไกลของทองคำลงได้

สรุป

ด้วยการที่บิตคอยน์สามารถส่งผ่านระยะทางไกลได้โดยมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำ และการที่บิตคอยน์นั้นสามารถตรวจสอบหรือพิสูจน์ได้ง่าย จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อใจ 

สองสิ่งนี้ประกอบให้บิตคอยน์นั้นไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง เนื่องจากการผลิตเหรียญและการใช้บริการทางการเงินผ่านธนาคาร ทั้งคู่ต่างทำให้ระบบการเงินที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อใจในตัวกลาง 

แต่เนื่องด้วยบิตคอยน์แก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไปทำให้บิตคอยน์นั้นสามารถตัดตัวกลางออกไปจากระบบได้

การอ้างอิง

[1] P. Sambandaraksa, Interviewee, Bitcoin Talk #100 : Why Bitcoin?. [Interview]. 14 12 2021.
[2] S. Ammous, The Bitcoin Standard: The Decentralized Alternative to Central Banking, wiley, 2561.
[3] river financial, [Online]. Available: https://river.com/learn/terms/c/coin-clipping/. [Accessed 14 11 2022].
[4] R. C. Sabino, “Cat. 24 Solidus Portraying Emperor Constantine I: Technical Report,” [Online]. Available: https://publications.artic.edu/roman/reader/romanart/section/512. [Accessed 14 11 2022].
Krittanai P.

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Nostr

Nostr 101 เจ้านกกระจอกเทศนี้มีดีอะไร?

รู้จักกลไกและองค์ประกอบของ Nostr โปรโตคอลทางเลือกใหม่ สำหรับโซเชียลมีเดียที่เป็นอิสระ ไร้การเซ็นเซอร์และการควบคุมจากตัวกลาง อ่านง่ายสไตล์หลามไรท์ชิฟท์

Read More »