เมื่อเรามองไปยังระบบเงินเฟียต เราจะมองเห็นอะไร?
กลุ่มอุตสาหกรรมทหาร (Military-industry complex)
สงครามได้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการผลิตเงินเฟียตเพิ่ม เพื่อสร้างกองกำลังทหาร ที่ออกไปทำสงคราม สร้างความไม่สงบไปทั่วโลก ผู้คนทั่วโลกต่างบาดเจ็บ อดอยาก.. ล้มตายกันนับไม่ถ้วน
อุตสาหกรรมทางการทหารได้พัฒนา และผลิตอาวุธสงคราม เพื่อขายให้กับกลุ่มคนที่ขัดแย้งกันในหลายๆประเทศ เปิดทางให้ผู้คนหาซื้ออาวุธเหล่านั้นมาเข่นฆ่ากันเอง สงครามที่โดยทั่วไปแล้วมักจะจบลงโดยเร็ว ซึ่งโดยปกติเมื่อผู้คนไม่สามารถจัดหาอาวุธมาสู้กันได้ พวกเขาจะมานั่งโต๊ะเจรจาหาทางออกร่วมกัน แต่กลายเป็นว่าพวกเขากลับถูกติดอาวุธจำนวนมากขึ้น ความรุนแรงมากขึ้น และอาจจะถูกยุยงให้ขัดแย้งกันมากขึ้นไปอีก สงครามขนาดเล็กก็กลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ ผู้คนต่างสู้รบกันอย่างไม่รู้จบ ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะหากสงครามจบลง อาวุธเหล่านั้นจะเอาไปขายให้กับลูกค้าที่ไหนกันเล่า?
“ U.S. and allied air forces have dropped over 337,000 bombs and missiles on other countries. That is an average of 46 strikes per day for 20 years” “กองทัพอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรได้ทิ้งระเบิด และขีปนาวุธจำนวน 337,000 ลูกในประเทศต่างๆ เฉลี่ยแล้วประมาณ 46 ลูกต่อวัน เป็นเวลา 20 ปี”
https://www.codepink.org/hey_hey_usa_how_many_bombs_did_you_drop_today
การใช้ระบบเงินเฟียตเพื่อเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ และลงโทษ ประเทศอื่น
การใช้ระบบเงินทำให้ประเทศที่เป็นพวกของตัวเองร่ำรวยขึ้น และทำให้ประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับตัวเองยากจนลงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อตัดขาดประเทศนั้นออกจากระบบการค้าของระบบเงินเฟียต เกิดการใช้ระบบการเงินเพื่อขโมยทรัพยากรในประเทศที่ไม่มีทางเลือก ด้วยการทำให้พวกเขาต้องกู้ยืมเงินในระบบสากลภายใต้สกุลเงินเฟียตที่เรียกว่า “ดอลลาร์” หากประเทศที่กู้ยืมเงินไปแล้วเกิดปัญหาถูกทำให้ขาดสภาพคล่อง อาจจะโดยวิธีการขึ้นดอกเบี้ย หรือการออกนโยบายอื่นๆ ในท้ายที่สุดแล้วพวกเขาจะถูกบังคับให้ขายทรัพย์สิน ขายทรัพยากรของประเทศในราคาถูกเพื่อคืนเงินที่กู้ยืมมา หรือไม่ก็ต้องยอมรับข้อตกลงที่ไม่ยุติธรรม
“ประเทศไทยก็เคยโดนบังคับให้ทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อย่างเช่น “กฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับปี 2542” ที่มีอีกชื่อเรียกที่อาจจะคุ้นหูกันมากกว่าในชื่อ “กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ” ที่ให้ประเทศไทยยอมรับข้อตกลงเพื่อแลกกับการได้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ”
คนไร้บ้านนอนอยู่ริมถนนเต็มไปหมด
ระบบเงินเฟียตที่เก็บมูลค่าไม่ได้ และถูกลดมูลค่าตลอดเวลานั้น ได้ทำให้ผู้คนต้องมองหาสินทรัพย์อื่นเพื่อใช้เป็นที่เก็บมูลค่า และหนึ่งในนั้นก็คือ “บ้าน” ผมคิดว่าในปัจจุบันผู้คนไม่ได้มองมันเป็นแค่ที่อยู่อาศัยอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นที่เก็บมูลค่าระยะยาว กลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงได้กว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นที่เก็บความมั่งคั่งของตนเอง การกระทำเหล่านั้นได้ผลักดันราคาบ้านให้สูงขึ้นมากอย่างไม่ควรเป็น ผู้คนที่จำเป็นต้องใช้บ้านเพื่ออยู่อาศัยจึงหมดหนทางหาบ้านซักหลังเพื่อซุกหัวนอน
“มันยากเหลือเกิน… ที่คนรุ่นใหม่จะมีบ้านสักหลังหนึ่งเพื่ออยู่อาศัย ไม่น่าแปลกใจที่เรามองไปทางไหนก็เห็นคนไร้บ้าน ไร้ที่อยู่เต็มไปหมด”
ชนชั้นกลางไม่อยากมีลูก
ผมคิดว่าพ่อแม่ในปัจจุบันไม่สามารถวางแผนการเงินเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ว่าตนจะสามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างดี แน่นอนว่าเพียงแค่ทำให้ลูกที่เกิดมามีชีวิตอยู่มีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ มันก็ทำได้ไม่ยาก แต่ลึกลงไปยังจิตใจของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ย่อมอยากให้ลูกมีชีวิตที่ดี ได้เรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด ได้ทานอาหารที่มีโภชนาการอันครบถ้วน ได้นอนหลับในบ้านที่ปลอดภัย ได้มีพ่อแม่อยู่เลี้ยงดูเป็นตัวเป็นตนจริงๆ ในยามที่เขายังเด็ก แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถทำได้ในยุคของระบบเงินเฟียต พ่อแม่ในยุคนี้แค่เอาตัวเองให้รอดยังเป็นเรื่องยาก พวกเขาต้องออกจากบ้านแต่เช้าทุกวันเพื่อไปหาเงิน พวกเขาฝากลูกไว้กับสถานเลี้ยงเด็ก หรือพี่เลี้ยงชาวต่างชาติ ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่อัตราการเกิดของประชากรในหลายประเทศกำลังลดลงอย่างน่าใจหาย
“ผมคิดว่าในใจของใครหลายคนก็อยากจะมีใครสักคนมาสืบทอดวิชาความรู้ที่ได้มาจากปู่ย่าตายาย สืบทอดวงศ์ตระกูลให้คงอยู่ต่อไป แต่พอลองมองสังคม มองสภาพแวดล้อมที่พวกเขาต้องออกมาใช้ชีวิตอยู่แล้ว การไม่ปล่อยให้เขาต้องเกิดมา.. ก็อาจจะเป็นทางเลือกดีกว่า”
เงินเก็บเพื่อการเกษียณอายุของผู้คนกำลังถูกทำลาย
ผู้สูงอายุที่เก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อเตรียมไว้ใช้ในยามหมดเรี่ยวแรงไม่สามารถทำงานได้ เตรียมไว้เพื่อส่งต่อไปยังลูกหลานให้ได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ในท้ายที่สุดพวกเขาจะพบว่า.. เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตอาจจะกลายเป็นเพียงแค่เศษเงินที่ใช้ได้แค่เพียงไม่กี่วัน เราจะมั่นใจได้ไหม? ว่าเงินเก็บหลายล้านบาทในวันนี้ อีก 20 ปี 30 ปีข้างหน้า รัฐบาลของเราจะไม่ผลิตเงินเพิ่มออกมาจำนวนมาก หรือบริหารงานผิดพลาดจนเกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation), หรือ แค่เกิดเงินเฟ้อปีละ 5 % ที่เมื่อผ่านไป 10 ปี เงิน 1 ล้านบาทก็ต้องเสียกำลังในการจับจ่ายใช้สอยไปกว่า 40% แล้ว และขณะนี้เงินเฟ้อก็ไม่ใช่แค่ 5% แล้วนะครับ!
“ไม่มีใครรับประกันอนาคตของสกุลเงินเฟียตได้ว่าจะคงอยู่ไปตลอด เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่น ประเทศศรีลังกา ประเทศเวเนซุเอลาหรือประเทศใกล้บ้านเราอย่าง ประเทศลาว ที่กำลังเผชิญหน้ากับเงินเฟ้อรุนแรงอยู่ในขณะนี้ อะไรจะสามารถรับประกันได้ว่ามันจะไม่เกิดกับเงินเฟียตในประเทศของเรา ? ”
ผู้มีความเชี่ยวชาญต้องมาเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
แพทย์, วิศวกร, ครู, ศิลปิน และหลายอาชีพที่มีความสามารถเฉพาะทาง พวกเขาต้องพยายามสร้างผลงานโดยให้ความสนใจไปที่ผลตอบแทนจำนวนมากเอาไว้ก่อน งานที่มีคุณภาพสูงแต่ผลตอบแทนน้อยกลับไม่มีใครสนใจอยากจะทำ ทั้งที่ผลงานเหล่านั้นอาจสร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติมากมายนัก พวกเขาไม่สามารถทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ทุ่มเทเวลาไปกับการสร้างผลงานได้อย่างเต็มที่ เต็มศักยภาพ พวกเขาถูกบีบบังคับให้เสียเวลามาเรียนวิธีลงทุน ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ถนัดในด้านนี้ แต่ก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ.. เงินเฟียตที่เก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้เอามาเสี่ยง มันจะถูกเงินเฟ้อกัดกิน มันจะเสื่อมค่าลงไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
“คนกลุ่มนี้ควรจะใช้เวลาไปกับการทำงานตามความถนัดได้อย่างเต็มที่ แต่พวกเขากลับต้องถูกบังคับให้มาเรียนการลงทุน และ พวกเขาส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มคนที่ขาดทุนในการลงทุนเยอะอีกด้วย เพราะการลงทุนไม่ใช่งานถนัดของพวกเขา..”
ผู้คนรับประทานอาหารที่ถูกลดคุณภาพลง
แม้ “เงินที่เฟ้อ” ได้ลดอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนลงไป แต่พวกเขาก็มีเงินจำนวนเท่าเดิมเพื่อซื้อหาอาหารมากินให้อิ่มท้อง ทางออกที่ง่ายที่สุดนั่นก็คือ การหันไปหาของที่มีราคาถูกซึ่งคุณภาพก็ต่ำลงไปด้วย เพื่อทำให้พวกเขาซื้อหาอาหารได้กินอิ่มท้องเหมือนอย่างเคย เมื่อผู้คนต่างพากันไปซื้ออาหารเกรดต่ำ หลายธุรกิจก็เล็งเห็นช่องทางการสร้างรายได้ทุ่มเงินลงทุนเน้นไปที่การสร้างโรงงานผลิตอาหารราคาถูก-คุณภาพต่ำ ที่มันอาจจะดูไม่ถูกสุขลักษณะ มีสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือแม้กระทั่งมีสารพิษเจือปน นอกจากนี้อาหารที่ดี กลับถูกดันราคาให้สูงขึ้นไปอีก และเมื่อผู้คนไม่มีกำลังซื้อกลุ่มผู้ผลิตอาหารคุณภาพดีก็ยิ่งลดจำนวนลง ผู้คนต้องหันไปบริโภคอาหารเกรดรองลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเข้าถึงอาหารที่ดีจึงยากขึ้นไปอีก ผมคิดว่ามันคล้ายกับเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ผู้คนต้องบริโภคอาหารที่ทำให้เสียสุขภาพในระยะยาวอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซ้ำร้ายกลุ่มธุรกิจปีศาจเหล่านั้นยังได้ใช้เงินเพื่อว่าจ้างบุคลากรทางสาธารณสุข ทำการชักจูงให้ผู้คนกินอาหารขยะเหล่านั้นเพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นด้วย
“อาหารที่ดี ที่เป็นอาหารทั้งชิ้น (whole food) อาหารที่ไม่ต้องผ่านการแปรรูป อาหารที่ไม่ต้องตัดแต่งพันธุกรรม อาหารที่ไม่ต้องใช้สารเคมีในการสกัดออกมา อาหารที่ไม่ใช้สารสังเคราะห์ในการผลิต บางทีเราอาจไม่รู้จัก อาจลืมกันไปแล้วว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร”
ชนชั้นปกครองกำลังยิ้มหัวเราะในความทุกข์ยากของเราอยู่!
ชนชั้นปกครองเหล่านี้ ไม่เคยเป็นห่วงเป็นใยความเป็นอยู่ของผู้คนภายในระบบ คนเหล่านี้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้อำนาจของพวกเขาไม่หลุดลอยไป แต่ทว่า.. อำนาจการผลิตเงินซึ่งเป็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเขากำลังถูกระบบการเงินใหม่กัดกินไปทีละเล็กทีละน้อย พวกเขาจะได้หัวเราะอีกแค่ไม่นานนักหรอกครับ ผมขอพูดตรงนี้ไว้เลย!
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับสังคมแบบเฟียต เฟียต ที่ผมพาไปดูกัน เหล่านี้เป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม ก็อย่างที่ได้ผมกล่าวไปข้างต้น สิ่งเหล่านี้เป็นแค่หัวข้อเล็กๆ หยิบยกขึ้นมาให้เห็นแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น หากคุณสนใจอยากรู้เกี่ยวกับ ระบบเงินเฟียตเพิ่มเติม ผมแนะนำให้อ่านเรื่องเหล่านี้ได้ใน หนังสือ The fiat standard ครับ (อ.พิริยะกำลังแปลไทยอยู่ครับ)