4 (1)
Anonymous

Anonymous

แถลงการณ์ของไซเฟอร์พังค์ (A Cypherpunk’s Manifesto แปลไทย)

แถลงการณ์ครั้งสำคัญของไซเฟอร์พังค์ กลุ่มคนผู้เชื่อมั่นว่าความเป็นส่วนตัวของมนุษย์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมยุคอิเล็กทรอนิกส์

แปลและเรียบเรียงจากแถลงการณ์ต้นฉบับเรื่อง “A Cypherpunk’s Manifesto” โดยคุณอิริค ฮิวจ์ส (Eric Hughes)

ความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่เปิดกว้างในยุคอิเล็กทรอนิกส์ ความเป็นส่วนตัวไม่ใช่ความลับ เรื่องส่วนตัวคือเรื่องเราที่ไม่ต้องการให้คนทั้งโลกรู้ แต่ความลับคือเรื่องที่เราไม่ต้องการให้ใครรู้ ความเป็นส่วนตัวคือพลังในการเลือกที่จะเปิดเผยตัวเองแก่โลก

หากบุคคลสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างก็จะมีความทรงจำเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของพวกเขา แต่ละฝ่ายสามารถพูดถึงความทรงจำของตนเองในเรื่องนี้ ใครจะห้ามพวกเขาได้ เราอาจผ่านกฎหมายเพื่อสกัดกั้นการพูดได้ แต่เสรีภาพในการพูดเป็นพื้นฐานของสังคมที่เปิดกว้างยิ่งกว่าความเป็นส่วนตัวเสียอีก ดังนั้นเราจึงพยายามให้ไม่เกิดการจำกัดคำพูดใด ๆ เลย หากบุคคลหลายฝ่ายร่วมสนทนากันในห้องสนทนาเดียวกัน แต่ละคนจะสามารถพูดคุยกับคนอื่น ๆ ได้ทุกคน และมีความรู้ร่วมกันเกี่ยวกับตัวบุคคลและฝ่ายอื่น ๆ พลังของการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เอื้อให้เกิดการพูดในรูปแบบกลุ่มดังกล่าว และมันจะไม่หายไปเพียงเพราะเราอาจต้องการให้เป็นเช่นนั้น

และเพราะเราต้องการความเป็นส่วนตัว เราจึงต้องแน่ใจว่าแต่ละฝ่ายในธุรกรรมมีความรู้เฉพาะที่จำเป็นต่อธุรกรรมโดยตรงเท่านั้น เพราะเราสามารถพูดข้อมูลใด ๆ ก็ได้ เราจึงต้องแน่ใจว่าเราจะเปิดเผยข้อมูลให้น้อยที่สุด ในกรณีส่วนใหญ่แล้วอัตลักษณ์ส่วนบุคคลมักจะไม่สะดุดตา เมื่อฉันซื้อนิตยสารที่ร้านค้าและยื่นเงินสดให้กับพนักงาน เขาไม่จำเป็นต้องรู้ว่าฉันเป็นใคร เมื่อฉันขอให้ผู้ให้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่งและรับข้อความ ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องรู้ว่าฉันกำลังพูดกับใคร ฉันกำลังพูดอะไร หรือคนอื่นกำลังพูดอะไรกับฉัน ผู้ให้บริการต้องการเพียงรู้วิธีส่งข้อความไปสู่ปลายทางและรู้ว่าฉันค้างชำระค่าบริการเท่าไร เมื่อใดที่ตัวตนของฉันถูกเปิดเผยโดยกลไกพื้นฐานของการทำธุรกรรม ฉันจะไร้ซึ่งความเป็นส่วนตัว ฉันจะไม่สามารถเลือกการเปิดเผยตัวตนได้ ฉันจะต้องเปิดเผยตัวตนเสมอ

ดังนั้นความเป็นส่วนตัวในสังคมที่เปิดกว้างจึงจำเป็นต้องมีระบบธุรกรรมที่ไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบันเงินสดเป็นรูปแบบพื้นฐานของระบบเช่นนั้น ระบบธุรกรรมนิรนามไม่ใช่ระบบธุรกรรมลับ ระบบนิรนามให้อำนาจปัจเจกบุคคลในการเปิดเผยตัวตนได้ตามต้องการ และเฉพาะในเวลาที่ต้องการเท่านั้น นี่คือสารัตถะของความเป็นส่วนตัว

ความเป็นส่วนตัวในสังคมที่เปิดกว้างยังต้องอาศัยการเข้ารหัส หากฉันพูดบางอย่าง ฉันต้องการให้มีเพียงคนที่ฉันเจาะจงเท่านั้นที่ได้ยิน หากเนื้อหาของคำพูดของฉันเปิดให้คนทั้งโลกรับรู้ได้ ฉันก็จะไม่มีความเป็นส่วนตัว การเข้ารหัสคือการแสดงออกซึ่งความต้องการความเป็นส่วนตัว และการเข้ารหัสแบบไม่รัดกุมก็เป็นการบอกให้รู้ว่าไม่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากนัก นอกจากนี้เมื่อค่าเริ่มต้นถูกตั้งเป็นนิรนาม การเปิดเผยตัวตนด้วยความมั่นใจจำเป็นต้องอาศัยลายเซ็นแบบเข้ารหัส

เราไม่สามารถคาดหวังให้รัฐบาล บริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่ไร้ซึ่งใบหน้ามอบความเป็นส่วนตัวให้กับเราเพื่อเป็นการกุศล พวกเขาได้ผลประโยชน์จากการพูดถึงเราและเราน่าจะคาดการณ์ได้ว่าพวกเขาจะพูด การพยายามขัดขวางคำพูดของพวกเขาคือการต่อสู้กับความเป็นจริงของข้อมูล ข้อมูลไม่ได้ต้องการเพียงแค่เป็นอิสระ แต่ปรารถนาที่จะเป็นอิสระด้วย ข้อมูลจะขยายตัวจนเต็มพื้นที่จัดเก็บที่มีอยู่ ข้อมูลคือลูกพี่ลูกน้องของข่าวลือ ข้อมูลแข็งแกร่งกว่า เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วกว่า มองเห็นมากกว่า รับรู้มากกว่า และเข้าใจน้อยกว่าข่าวลือ

เราต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราเอง หากเราคาดหวังสิ่งนี้ เราต้องร่วมมือกันและสร้างระบบที่อนุญาตให้มีการทำธุรกรรมโดยไม่ระบุตัวตนได้ ผู้คนปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเองมานานหลายศตวรรษ ผ่านเสียงกระซิบ ความมืด ซองจดหมาย ประตูที่ปิดมิดชิด การจับมือกันแบบลับ ๆ และการใช้ผู้ส่งสาร เทคโนโลยีในอดีตไม่อนุญาตให้มีความเป็นส่วนตัวสูง แต่เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำได้

พวกเรา “ไซเฟอร์พังค์” ทุ่มเทให้กับการสร้างระบบนิรนาม เรากำลังปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราด้วยการเข้ารหัส ด้วยระบบส่งต่อจดหมายที่ไม่ระบุตัวตน ด้วยลายเซ็นดิจิทัล และด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์

ไซเฟอร์พังค์เขียนโค้ด เรารู้ว่าต้องอาศัยใครสักคนเขียนซอฟต์แวร์เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว และเราจะไม่ได้รับความเป็นส่วนตัวเว้นแต่เราจะลงมือทำเองทั้งหมด เราจึงจะเขียนมันขึ้นมาเอง เราเผยแพร่รหัสของเราเพื่อให้เหล่าเพื่อนพ้องไซเฟอร์พังค์ของเราสามารถฝึกฝนและเล่นกับมันได้ โค้ดของเราใช้งานได้ฟรีสำหรับทุกคน เราไม่ได้สนใจหากคุณไม่เห็นด้วยกับซอฟต์แวร์ที่เราเขียน เรารู้ดีว่าซอฟต์แวร์ไม่สามารถถูกทำลายลงได้ และระบบที่กระจายอยู่ทั่วทุกที่นั้นไม่สามารถถูกปิดลงได้

ไซเฟอร์พังค์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฏหมายควบคุมการเข้ารหัส เนื่องจากการเข้ารหัสเป็นอำนาจกระทำการส่วนบุคคลโดยพื้นฐาน ในความเป็นจริงแล้วการเข้ารหัสเป็นการเอาข้อมูลออกจากพื้นที่สาธารณะ แม้แต่กฎหมายต่อต้านการเข้ารหัสก็ครอบคลุมได้แค่ภายในขอบเขตพรมแดนชาติและอำนาจการใช้กำลังเท่านั้น การเข้ารหัสจะแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อม ๆ กับระบบธุรกรรมไม่ระบุตัวตนที่เกิดขึ้นได้เพราะการเข้ารหัส

ความเป็นส่วนตัวจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประชาคม เพื่อขยายออกไปในวงกว้าง ผู้คนต้องเข้ามาและร่วมกันใช้ระบบเหล่านี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความเป็นส่วนตัวจะขยายออกตราบเท่าที่มีความร่วมมือของเหล่าพวกพ้องในสังคม พวกเราไซเฟอร์พังค์อยากฟังคำถามและข้อกังวลใจของคุณ และหวังว่าเราอาจจะได้รับความสนใจและความร่วมมือจากคุณ เพื่อที่เราจะได้ไม่หลอกตัวเอง อย่างไรก็ตามเราจะไม่เปลี่ยนทิศทางเพียงเพราะมีผู้ที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายของเรา

ไซเฟอร์พังค์มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการทำให้เครือข่ายปลอดภัยยิ่งขึ้นเพื่อความเป็นส่วนตัว ขอให้เรามุ่งหน้าไปพร้อมกัน

ก้าวต่อไป

Eric Hughes <hughes@soda.berkeley.edu>

9 มีนาคม 1993

Anonymous

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts