254125 (1)
perthpawat

perthpawat

“สถาบันรัฐ” ความย้อนแย้งที่คนมองข้าม

หลายครั้งที่เราเห็นความผิดปกติของเรื่องหลอกลวงจากความไม่สมเหตุสมผลของมัน มีบางอย่างที่เรารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง เมื่อเราเริ่มใช้ตรรกะไล่เรียงความไม่สมเหตุสมผลนี้ ก็จะเริ่มเห็นความจริงและตั้งคำถามกับการมีอยู่ของมัน ..นั่นสิทำไมต้องมีรัฐ?

ในโลกที่ความโกลาหล ความโลภ ความเกลียดชัง และความหวาดกลัวค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นทุกวัน มันทำให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างบุคคลและกลุ่มคนต่าง ๆ ท่ามกลางโลกที่ยังเต็มไปด้วยโจร อาชญากร และฆาตกรข่มขืน คำถามที่ตามมาคือแล้วเราจะจัดการกับคนพวกนี้ได้อย่างไร? ใครที่จะทำหน้าที่นี้? ใครจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าคนร้ายเหล่านี้จะถูกจัดการให้อยู่ภายใต้ระเบียบของสังคม?

คำตอบแรกที่แล่นเข้ามาในหัวของผู้คนส่วนมาก ก็คงจะหนีไม่พ้นการให้ “รัฐ” เป็นผู้รับหน้าที่จัดการปัญหาดังกล่าว นี่เป็นคำตอบที่แม้แต่ตัวของ Ludwig von Mises (นักเศรษฐศาสตร์/ปรัชญาสายออสเตรียน) เองก็เคยตอบไว้สำหรับคำถามที่ว่านี้เช่นกัน

แม้การบังคับใช้กฎหมายและการรักษาความสงบเรียบร้อยถือเป็นหน้าที่แรกและหน้าที่หลักของรัฐ แต่การมองว่ารัฐคือคำตอบของคำถามนี้จะเป็นมุมมองที่ถูกต้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่านิยามคำว่า “รัฐ” ในมุมมองของเรานั้นคืออะไร? บทความนี้ผมจะอภิปรายคำจำกัดความว่ารัฐคืออะไร โดยไม่ใช้คำจำกัดความไร้ที่มาที่ผมคิดเพ้อขึ้นมาเอง แต่นี่คือคำจำกัดความที่คุณจะพบได้ในหนังสือเรียนทั่วไปแทบทุกเล่ม

รัฐคืออะไร?

รัฐเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะเฉพาะ 2 ประการ ดังนี้ :

  1. รัฐเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจผูกขาดการตัดสินใจขั้นสูงสุดในทุกกรณีของความขัดแย้ง รัฐเป็นสถาบันที่มีอำนาจในการตัดสินว่า “ใครถูกและใครผิด” ไม่มีใครอยู่เหนือไปกว่ารัฐได้ทั้งสิ้น รัฐเป็นผู้ชี้ขาดในทุกกรณีและทุกรูปแบบของความขัดแย้ง รวมไปถึงความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับตัวรัฐเองด้วย กล่าวคือถ้ารัฐหรือตัวแทนของรัฐเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งใด ๆ รัฐหรือตัวแทนของรัฐก็จะเป็นผู้ตัดสินว่าใครถูกและใครผิดในความขัดแย้งนั้นเองด้วย
  2. รัฐเป็นผู้ผูกขาดการเก็บภาษีอากร และเป็นผู้กำหนดว่าประชาชนต้องจ่ายอะไรให้กับรัฐสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในข้อที่ 1

ความจำเป็นของสถาบันรัฐ ในฐานะผู้ให้บริการทางกฎหมายและดูแลความสงบเรียบร้อย

จากแนวคิดทางกฎหมาย พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ และศีลธรรมในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญาแต่ละสำนักอาจมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น แต่มีข้อโต้แย้งอยู่ 2 ข้อที่พวกเขาแทบทั้งหมดเห็นตรงกัน นั่นคือ :

1. การผูกขาดนั้นไม่ดี

หากในมุมมองของผู้ผลิตนั้น ผู้ผลิตทุกคนย่อมชอบที่จะเป็นผู้ผูกขาด ซึ่งตรงข้ามกับมุมมองของผู้บริโภคที่มองว่าการผูกขาดนั้นไม่ดี

การ “ผูกขาด” ในความหมายดั้งเดิม คือ ผู้ประกอบการที่มีสิทธิพิเศษ (Exclusive Privilege) ตัวอย่างเช่น “ฉันผู้ประกอบการ A เป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตสินค้าหรือบริการบางอย่างที่ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ผลิตสินค้าหรือบริการนี้”

แล้วทำไมการผูกขาดถึงแย่?

ในมุมมองของผู้บริโภคเราสามารถคาดเดาได้ง่าย ๆ ว่าการผูกขาดนั้นไม่ดี เพราะผู้ประกอบการ A จะสามารถป้องกันการเกิดขึ้นของคู่แข่งที่มีศักยภาพในการเสนอสินค้าหรือบริการแบบเดียวกันในราคาที่ต่ำกว่าได้ การผูกขาดจะทำให้ราคาสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการ A สูงกว่าที่ควรจะเป็น รวมไปถึงคุณภาพสินค้าหรือบริการที่ต่ำลง เพราะไม่มีความจำเป็นต้องพัฒนาให้ดี เนื่องจากไม่มีคู่แข่ง

2. การรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่ของรัฐ

การรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย (Production of Law and Order) หรือการบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นการสร้างความปลอดภัยและความมั่นคง ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของรัฐ

อย่างที่ได้อธิบายความหมายของรัฐไปข้างต้นว่ารัฐนั้นเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจผูกขาดการตัดสินใจขั้นสูงสุด นี่ทำให้เห็นได้ชัดว่าข้อโต้แย้งทั้ง 2 ข้อนั้นขัดแย้งกันเอง เพราะในแง่หนึ่งแล้วการผูกขาดเป็นสิ่งไม่ดี แต่ทว่าในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคง เรากลับต้องการผู้ผูกขาดอย่างรัฐ

แต่นักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กลับไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับความย้อนแย้งนี้เลย พวกเขาดูเหมือนจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ด้วยซ้ำ เพราะหากพวกเขารับรู้หรือตระหนักได้ว่ามีความขัดกันระหว่างข้อโต้แย้ง 2 ข้อข้างต้นแล้ว สิ่งแรกที่พวกเขาควรทำคือการอภิปรายว่ามันมีบางอย่างผิดปกติกับคำกล่าวที่ว่า “การผูกขาดทั้งหมดนั้นไม่ดี แต่กฎหมายและระเบียบจำเป็นที่จะต้องถูกผูกขาด” แต่ทำไมพวกเขากลับไม่ทำ?

ทางผู้เขียนจึงต้องการที่จะเสนอว่า “การผูกขาดเป็นสิ่งไม่ดี” นั้นเป็นเรื่องจริง ในขณะที่ประเด็นว่ารัฐต้องเป็นผู้ผูกขาดเพื่อบังคับใช้กฎหมาย สร้างความปลอดภัย และสร้างความมั่นคงนั้นไม่ใช่เรื่องจริง

รัฐในฐานะผู้เล่นเกมที่ตนสร้าง

รัฐในฐานะผู้ผูกขาดขั้นสูงสุดในการตัดสินใจและบังคับใช้กฎหมายมีความแตกต่างจากผู้ผูกขาดรายอื่น ๆ เช่น ผู้ผูกขาดสินค้าประเภทนมวัวหรือผู้ผูกขาดรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงแต่มีคุณภาพที่ต่ำได้ แต่เนื่องจากในการที่รัฐจะดำเนินการอะไรก็ตาม รัฐจำเป็นที่จะต้องผลิตสินค้าบางอย่างขึ้นมาขึ้นมาก่อน ซึ่งผู้เขียนให้คำนิยามสินค้านี้ว่า “สินค้าไม่ดี” อาทิ การเก็บภาษี, การกู้เงิน, การพิมพ์เงิน หรือสินค้าและวิธีการอะไรก็ตามเพื่อให้รัฐได้มาซึ่งเงินทุนในการดำเนินการใด ๆ ตามที่รัฐกล่าวอ้าง

ตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น หากเปรียบตัวผมเองเป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถชี้ขาดและตัดสินความขัดแย้งทุกกรณี ซึ่งรวมถึงกรณีที่เกี่ยวข้องกับรัฐเองด้วย ในฐานะผู้ผูกขาดการตัดสินใจขั้นสูงสุด ผมจะไม่เพียงป้องกันความขัดแย้งและตัดสินความขัดแย้งให้ยุติลงเพียงอย่างเดียว

แต่ผมอาจจะยั่วยุและสร้างความขัดแย้งขึ้นเสียเองก็ได้

และแน่นอนว่าการตัดสินความขัดแย้งเหล่านี้จะต้องเป็นไปในทิศทางที่ผมเห็นชอบและพอใจ ยกตัวอย่างเช่น ผมอาจจะตีหัวคุณ แล้วคุณก็จะกล่าวโทษผมที่ทำแบบนั้น จากนั้นผมก็จะบอกกับคุณว่า “โอเค ในฐานะที่ผมเป็นผู้ตีหัวคุณ และเป็นผู้ตัดสินความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ผมขอชี้แจงสาเหตุที่ผมตีนั้นเพราะคุณมองผมด้วยสายตาไม่ปกติ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าจำเป็นต้องตีเพื่อยับยั้งการกระทำของคุณ นอกจากนั้นคุณจะต้องจ่ายเงินให้ผมด้วย เพราะผมได้ตัดสินความขัดแย้งนี้อย่างเป็นธรรมว่าคุณสมควรแล้วที่โดนผมตีหัว”

เมื่อเปรียบเทียบให้เห็นเป็นกรณีง่าย ๆ แบบนี้ คุณอาจจะเริ่มตั้งคำถามถึงกรณีที่ใหญ่และซับซ้อนกว่านี้ที่รัฐสามารถกระทำกับคุณได้อีกมากมาย

แต่ผู้คนก็ยังเพ้อฝันด้วยความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่ารัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาหรืออะไรก็ตามจะสามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ได้ แต่เดี๋ยวก่อน.. ศาลฎีกาหรือรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกตีความด้วยใช่ไหม? แล้วตีความโดยใคร? คำตอบก็คือมันถูกตีความโดยพนักงานในองค์กรเดียวกับที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเหล่านี้ยังไงล่ะ และเราสามารถคาดเดาได้เลยว่าพวกเขาจะตีความและตัดสินเข้าข้างรัฐอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานนี้

สิ่งที่เราสามารถทำนายและคาดการณ์ได้คือแทนที่รัฐหนึ่ง ๆ จะยอมรับสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินส่วนบุคคล รวมทั้งยอมรับในกฎหมายที่บังคับใช้เหมือนกันในทุก ๆ รัฐ แต่มันกลับจะถูกแทนที่ด้วยกฎหมายที่แต่ละรัฐสร้างขึ้นใหม่ประมาณว่า :

“มันไม่เป็นไร ถ้าฉันตีหัวคุณบ้างในบางครั้ง”

รัฐคือโจรภายใต้หน้ากากฮีโร่

นอกจากฐานะผู้ตัดสินขั้นสูงสุดแล้ว รัฐยังเป็นผู้ผูกขาดในการเก็บภาษีที่พวกเขามีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จฝ่ายเดียว รัฐเรียกเก็บภาษีได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน ประชาชนจะถูกบังคับว่าต้องจ่ายค่าอะไรบ้างให้กับรัฐสำหรับสินค้าและบริการที่รัฐอ้างว่าเป็นเป็นสิ่งที่รัฐจัดหาให้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐคือ “ผู้พิทักษ์ทรัพย์สินเวนคืน” (Expropriating Property Protector) ประเด็นนี้จะทำให้คุณตระหนักได้ทันทีว่านี่ก็เป็นความขัดแย้งในตัวเองอย่างชัดเจนเช่นกัน เพราะในแง่แรงจูงใจทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐเองก็จะมีแนวคิดเหมือนคนอื่น ๆ ที่ว่า “ยิ่งฉันใช้เงินได้มากเท่าไหร่ก็จะส่งผลดีต่อฉันมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และยิ่งฉันทำงานน้อยเท่าไหร่ ปริมาณงานจริง ๆ ที่ฉันต้องทำก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน” จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าจำนวนภาษีที่รัฐจัดเก็บจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การคุ้มครองที่รัฐเสนอในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับจะลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

สำหรับรัฐเอง สิ่งที่ดีที่สุดคือการเพิ่มการใช้จ่ายให้มากที่สุดไปกับสิ่งที่เรียกว่าการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน แต่ในความเป็นจริงรัฐกลับลดการผลิตสินค้าและบริการดังกล่าวลงเสียอย่างนั้น อาจกล่าวได้ว่ารัฐเหมือนกับฮีโร่จอมปลอมที่เบื้องหน้าแสร้งทำเป็นปกป้องประชาชนตาดำ ๆ แต่แท้ที่จริงเป็นแค่การเล่นละครตบตาร่วมกับเหล่าวายร้าย เพื่อสูบเลือดสูบเนื้อจากประชาชนที่พวกเขากดขี่ปกครองเท่านั้นเอง

จากบทความทั้งหมดจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อเราเริ่มที่จะตั้งคำถามง่าย ๆ และใช้ตรรกะความคิดแบบมีเหตุผลเข้ามาช่วยในการหาคำตอบของหลาย ๆ อย่าง เราจะพบว่าคำตอบที่ถูกสร้างมาอย่างไร้ตรรกะและไร้เหตุผลนั้นเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง มันขัดแย้งกันเองทั้งคำอธิบาย ที่มา และผลกระทบของมัน มันเป็นคำตอบที่เหมือนถูกสร้างมาเพื่อให้รัฐใช้เป็นเครื่องมือสำหรับโฆษณาชวนเชื่อ รวมถึงกลายไปเป็นกับดักทางความคิดที่ทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มไม่สามารถคิดหรือมองเห็นความจริงในทางอื่นได้อย่างน่าเศร้า

และตอนนี้คุณอาจเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกันว่ารัฐเป็นสิ่งจำเป็นจริง ๆ หรือ?

perthpawat

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

value
Economic

Subjective Value

เรามักจะได้ยินคำกล่าวว่า “Bitcoin นั้นไม่มีมูลค่าที่แท้จริง” อยู่บ่อยๆ แต่พอเราลองมาคิดดูแล้วมูลค่า ( Value ) ที่เราพูดถึงมันคืออะไรกันแน่? แท้จริงแล้วเราเข้าใจมันแค่ไหนกัน ?

Read More »