ฟังไจ
Picture of Right Shift

Right Shift

Right Shift Co., Ltd. Official Team

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 2 : บิตคอยน์เป็นสิ่งมีชีวิตเชิงสังคม (เหมือนเห็ด)

มาค้นหาคำตอบว่า บิตคอยน์ นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมได้อย่างไร ด้วยการพิจารณาผ่านมุมมองของเห็ดที่น่าพิศวง สำรวจวงจรการเกิดใหม่ (หรือ Hype Cycles) เห็ดราวิทยาในวิถีชีวิต (หรือ Ethnomycology) และเหล่ากลุ่มสาวกลัทธิซาโตชิ

ผู้เขียน : Brandon Quittem 
บทความต้นฉบับ : Bitcoin is The Mycelium of Money // เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2020
เกี่ยวกับผู้เขียน : ผู้ก่อตั้ง @SwanBitcoin | เป็นโฮสต์รายการ Bitcoin Meetups in Minneapolis @BitcoinersMPLS | เป็นที่ปรึกษาที่ @sazmining

เกริ่นนำก่อนเข้าบทที่ 2

ในบทความก่อนหน้านี้ของผมเรื่อง “บิตคอยน์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้ศูนย์กลาง” เราได้สำรวจถึงสถาปัตยกรรมที่ไร้ศูนย์กลางของบิตคอยน์ ด้วยการเปรียบเทียบมันกับ “เครือข่ายไมซีเลียม” ซึ่งเราพูดครอบคลุมถึงแกนหลักของสถาปัตยกรรมแบบไร้ตัวกลางควบคุม, ความต้านทานต่อสภาวะแวดล้อม, พรูฟ-ออฟ-เวิร์ก, การอาร์บิทราจ, บทบาทหน้าที่ของบิตคอยน์ในระบบนิเวศของมันเอง และคุณค่าของการไร้ตัวกลางควบคุม

แต่เรื่องราวฟังไจของเรายังไม่จบแค่นั้น เพราะขั้นต่อไปในวงจรชีวิตของฟังไจคือ “การขยายพันธุ์” และกระบวนการนี้เกิดขึ้นและเสร็จสิ้นภายในส่วนของฟังไจที่เรียกว่า “เห็ด” โดยหลังจากเห็ดเติบโตเต็มวัย มันจะปล่อยเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ที่เรียกว่า “สปอร์” ออกมา ซึ่งเจ้าสปอร์เล็ก ๆ พวกนี้สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง

แม้อาณาจักรฟังไจจะค่อนข้างแปลกแยกจากสิ่งมีชีวิตอื่นในอาณาจักรสัตว์ แต่มนุษย์เรากลับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเห็ดมานานกว่าที่คิด โดยในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น เห็ดเป็นตัวแทนของความลึกลับ ความหวาดกลัว โอกาสวาสนา หรือความไม่จีรังยั่งยืน และสำหรับบางสังคมนั้น เห็ดถือเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนเคารพสักการะ

ในตอนที่ 2 ของบทความนี้ เราจะไปค้นหาคำตอบว่า บิตคอยน์นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมได้อย่างไร ด้วยการพิจารณาผ่านมุมมองของเห็ดที่น่าพิศวงนี้

ในส่วนบทความซีรีส์นี้ของผมมี 4 ตอนดังนี้ครับ :

สำหรับเวอร์ชันอัปเดตปี 2020 : ผมได้เผยแพร่เนื้อหาทั้งซีรีส์นี้ไว้ในบทความเดี่ยวที่ชื่อว่า “The Mycelium of Money” แล้ว ไปลองอ่านกันได้เลย!

เอาล่ะ เราไปเข้าสู่เนื้อหาของตอนนี้กัน!

สารบัญบทความ

เห็ดรา

บิตคอยน์เป็นระบบสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ด้วยโค้ด

เครือข่ายบิตคอยน์ประกอบไปด้วยส่วนประกอบยิบย่อยมากมาย ที่ต่างฝ่ายต่างก็มีความเห็นและมุมมองของตัวเอง มีแรงจูงใจที่ไม่เหมือนกัน และมีความสามารถที่แตกต่างกัน แต่พอมาอยู่ร่วมกันแล้ว พวกเขากลับสร้างฉันทามติร่วมกันภายใต้กติกาของบิตคอยน์ได้ ซึ่งโค้ดของบิตคอยน์นี่เองคือสิ่งที่ทำให้เกิดฉันทามติทางสังคมที่ว่า

อ้างอิงจากบางส่วนจากบทความของคุณ Hasu เรื่อง Unpacking Bitcoin’s Social Contract ว่า :

โปรโตคอลของบิตคอยน์นั้นสร้างข้อตกลงร่วมกันในระดับสังคมได้โดยอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันสังคมนั้นก็จะเลือกใช้กฎข้อต่าง ๆ ของบิตคอยน์ ตามฉันทามติของเหล่าผู้ใช้งานบิตคอยน์ด้วยเช่นกัน ทุกฝ่ายเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีฝ่ายใดอยู่รอดได้หากไม่มีฝ่ายอื่น ๆ อยู่ด้วย

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่อารมณ์ยุ่งเหยิง แปรปรวน แต่ก็เต็มไปด้วยความไร้เหตุผลที่คาดเดาได้ ซึ่งการที่บิตคอยน์คือเครือข่ายของมนุษย์จำนวนมาก มันก็เลยมีลักษณะทางธรรมชาติที่ไม่ต่างจากมนุษย์นัก

เนื้อหาส่วนที่ #1 : จิตวิทยามนุษย์ วงจรการเกิดใหม่ และแนวทางของเห็ด

ฟังไจ เกิดขึ้นมาตอนแรกในรูปของ “ไมซีเลียม” ซึ่งคุณอาจจะนึกภาพมันเป็นเหมือนระบบของรากต้นไม้และพืชที่โยงใยกันใต้พื้นดิน มนุษย์คงแทบไม่รู้เลยว่ามีไมซีเลียมอยู่บนโลกนี้ เพราะพวกมันเติบโตอย่างเงียบ ๆ อยู่ใต้ดินเกือบทั้งชีวิต

แต่ทว่าเมื่อ ฟังไจ รับรู้ได้ถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (เช่น อุณหภูมิและความชื้นที่พอเหมาะ) มันก็จะส่งเห็ดขึ้นไปอยู่บนผืนดิน เห็ดพวกนี้คืออวัยวะสืบพันธุ์ของฟังไจ เรียกได้ว่าเป็นเหมือนระบบอวัยวะเพศผู้สำหรับปล่อยสปอร์ (หรือเมล็ดพันธุ์) ของฟังไจนั่นเอง

แต่ก่อนที่เห็ดจะแทงยอดขึ้นไปอยู่เหนือผืนดินได้นั้น ฟังไจต้องเก็บสะสมพลังงานรวมไว้ ณ กลุ่มเซลล์เล็ก ๆ ใต้ดินที่เรียกว่า Pinhead หรือ “หัวหมุด” ซึ่งกลุ่มเซลล์นี้จะอดทนรอเวลาที่เหมาะเจาะ ก่อนจะกลายเป็นเห็ดทิ่มพรวดขึ้นมาอยู่เหนือผืนดิน จากนั้นเห็ดที่ว่านี้ก็จะมีขนาดที่เติบโตเป็นสองเท่าทุกวันจนกระทั่งมันโตเต็มวัย

สาระฟังไจ #1
รู้หรือไม่ว่าฟังไจบางจำพวกสามารถสร้างเห็ดที่แข็งแรงมาก ขนาดที่สามารถแทงทะลุพื้นยางมะตอยได้เลย

หลังจากที่เห็ดโตเต็มวัยแล้ว มันก็จะเริ่มขั้นถัดไปในการปล่อยสปอร์ (หรือเมล็ดพันธุ์ของเห็ด) นับล้านออกไป ก่อนที่เห็ดจะย่อยสลายตัวเองกลับสู่ผืนดินอย่างรวดเร็ว

เจ้าเห็ดพวกนี้มีชีวิตที่น่าตื่นตาตื่นใจเพียงไม่กี่วัน และสปอร์ของมันส่วนมากก็สิ้นชีพก่อนจะไปงอกเงยที่ไหน แต่ก็ยังพอมีสปอร์จำนวนเล็กน้อยที่จะออกเดินทางไปพื้นที่ใกล้ ๆ และเริ่มต้นสร้างอาณานิคมฟังไจแห่งใหม่ ซึ่งอาณานิคมใหม่นี้อาจต้องเติบโตอยู่ใต้ดินไปอีกนานหลายปี กว่าที่มันจะเริ่มวงจรการสืบพันธุ์ได้ใหม่อีกครั้ง

สาระฟังไจ #2
รู้หรือไม่ว่าสปอร์นั้นเบากว่าอากาศรอบตัวมัน จนทำให้มันลอยออกไปได้ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว ถ้าสปอร์ลอยไปกับแรงลมที่พัดขึ้นสู่ท้องฟ้า มันก็สามารถลอยหลุดไปนอกโลกได้เลยล่ะ แถมมันยังเป็นสสารทางชีววิทยาไม่กี่ชนิด ที่ทนต่อสภาวะสุญญากาศเย็นยะเยือก และทนต่อรังสีในอวกาศได้ หรือนี่หมายความว่าสิ่งมีชีวิตนอกโลกจะมีอยู่จริงนะ? แต่ตอนนี้ผมขอให้คุณเก็บหมวกฟอยล์ดีบุก สำหรับป้องกันมนุษย์ต่างดาวอ่านใจเอาไว้ จนกว่าจะถึงตอนที่ 3 นะครับ 🙂

วงจรการเกิดใหม่ของบิตคอยน์ดูคล้ายกับการขยายพันธุ์ของฟังไจ

ในสายตาคนทั่วไปแล้ว วงจรชีวิตของบิตคอยน์นั้นสุดแสนจะน่าเบื่อ มันสามารถอยู่นิ่งไม่ทำอะไรเลยเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่จู่ ๆ เมื่อสภาวะทุกอย่างเหมาะสม มันก็เติบโตพรวดพราด ขยายขนาดมหึมา และทำให้ผู้คนตะลึงงัน จากนั้นสื่อต่าง ๆ จะละเลงข่าวแข่งกันว่าราคาบิตคอยน์กำลังจะ “ทู เดอะ มูน” แล้วก็มีคอมเมนต์ประเภท “อยากลงทุนบิตคอยน์ครับ inbox ไปนะครับ” ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด

และแทบจะทันทีที่มันกำลังเริ่มไต่ระดับ บิตคอยน์ก็จะค่อย ๆ หมดแรง และกลับสู่ความไม่แน่นอนเหมือนเดิม เพราะผู้คนทั่วไปจะพูดว่าบิตคอยน์เป็นแค่กระแสชั่วคราว เป็นเหรียญกาว หรือไม่ก็เป็นการทดลองที่ล้มเหลว นี่มันเหมือนสปอร์ของเห็ดเลยล่ะ เพราะผู้ใช้งานใหม่ ๆ เกือบทั้งหมดจะหายไปจากระบบนิเวศ เหลือรอดเพียงเล็กน้อยที่จะสร้างอาณานิคมหรือชุมชนใหม่ในดินแดนของบิตคอยน์ ผู้รอดชีวิตจากตลาดหมีจะกลายมาเป็นพวกที่ “ถือบิตคอยน์เพราะเชื่อมั่นว่ามันคือที่หลบภัยที่ดีที่สุด”

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่ในระหว่างภาวะตลาดหมีนั้น ผู้คนจะพูดถึงบิตคอยน์เฉพาะในแง่มุมผิวเผิน อย่างเช่นการขยับของราคา

นักด่าบิตคอยน์มักเข้าใจผิด ว่าวงจรการเกิดใหม่ (แบบเห็ด) คือภาพรวมทั้งหมดของบิตคอยน์ (ซึ่งที่จริงเหมือนเครือข่ายไมซีเลียมมากกว่า)

เหล่ากูรูความจำเสื่อมทั้งหลาย ดูจะภูมิใจเหลือเกินในการรุมด่าว่าบิตคอยน์นั้นตายแล้ว (ซึ่งในตอนที่เขียนบทความนี้มันก็ตายไปแล้ว 335 ครั้ง) ในขณะที่ชาว Fiat Maximalist ต่างก็ประกาศชัยชนะบนทวิตเตอร์ ด้วยการโพสต์กราฟราคาบิตคอยน์ 12 เดือนย้อนหลังกันรัว ๆ

ซึ่งคุณ Nic Carter ถึงกับเคยทวีตตอบโต้เอาไว้ว่า “พวกเอ็งกำลังสับสนระหว่างไมซีเลียมกับเห็ดอยู่นะ!”
ในขณะที่ศาสตราจารย์ “นูเรียล รูบินี่” ถึงกับฉลองบิตคอยน์ตายแล้วด้วยปาร์ตี้บาร์บีคิวรับตลาดหมีครั้งที่ 3 ของตัวเอง นี่เป็นปาร์ตี้ที่เหล่านักด่าบิตคอยน์มารุมด่าเจ้าเห็ด (หรือบิตคอยน์) นี้ พร้อมกับอวยความฉลาดหลักแหลมของพวกเดียวกันเองอย่างสนุกปาก


ศาสตราจารย์นูเรียล รูบินี่เคยทวิตถึงบิตคอยน์ไว้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2013 ว่า
“ทองคำสิของแท้แน่นอน เพราะในขณะที่ทุกคนสนใจทองคำและแร่เงิน แต่บิตคอยน์กลับร่วงไป 40% จนราคาต่ำกว่า 58 ดอลลาร์แล้ว”
ซึ่งภายหลัง อาจารย์เซฟดีน อัมมุสได้ทวิตตอบโต้อย่างดุเดือดว่า “ความจริงก็คือ : รูบินี่ไม่ได้เพิ่งมาแซะบิตคอยน์ตอนที่มันราคา 600 ดอลลาร์ เพราะเขาแซะมันมาตั้งแต่ราคา 58 ดอลลาร์แล้ว นี่คนเราต้องสมาธิสั้นและประสาทหลอนเบอร์ไหน ถึงได้ตามจองล้างจองผลาญบิตคอยน์ ทุกครั้งที่ราคามันย่อลงมาตั้งแต่ตอน 58 ดอลลาร์ จนถึงตอนที่มันราคา 7,000 ดอลลาร์”

แต่ถ้าจะให้พูดอย่างยุติธรรมสักหน่อย ก็เข้าใจได้ว่าบิตคอยน์นั้นเป็นเรื่องซับซ้อน “พวกสมองคริปโทฯ” ยังคิดไปเองอยู่เลยว่าบิตคอยน์เป็นเหมือน “มายสเปซ” และเหรียญ Ripple นั้นเป็น “มาตรฐานใหม่” และก็ไม่น่าแปลกใจที่นักข่าวจำนวนมากไม่รู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่เชื่อคุณลองนึกภาพนักข่าวธรรมดาคนนึงได้รับมอบหมายให้ทำสกู๊ปข่าวแนว “ชีพจรบิตคอยน์” ดูสิครับ

เมื่อเห็ดตาย (เหมือนวงจรการเกิดใหม่ที่เพิ่งพ้นไป) เจ้าไมซีเลียม (หรือเครือข่ายบิตคอยน์) ก็จะเจริญงอกงามอยู่ใต้ผืนดินสืบไป

บิตคอยน์ก็เหมือนกับเห็ดที่ผ่านช่วงโตเต็มวัยแล้ว พอมันขึ้นถึงจุดสูงสุดก็จะค่อย ๆ เหี่ยวเฉาลง พร้อมกับราคาที่ดิ่งเหว ตลาดหมีจะสลัดพวกอ่อนแอออกไป กองทุนต่าง ๆ จะล้ม พวกโปรเจกต์ ICO จะต้องยอมคืนเงินให้นักลงทุน หรือแย่กว่านั้นคือโปรเจกต์จำนวนมากจะพัง และพวกปลิ้นปล้อนก็จะถูกเปิดโปง

แต่สำหรับเหล่า Hodler ที่ถือบิตคอยน์อย่างเชื่อมั่น ไม่ว่าจะหน้าใหม่หรือหน้าเก่า พวกเขาจะรวมตัวกันใต้ดินเงียบ ๆ เพื่อช่วยกันทำให้บิตคอยน์นั้นแข็งแกร่งขึ้น พวกเขาจะร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ เรียนรู้ไปด้วยกัน และสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็ง

บิตคอยน์นั้นพัฒนาตัวเองขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2018 โดยเกิดสิ่งต่าง ๆ มากมาย อาทิ

  • ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กเริ่มมีการใช้งานมากขึ้น
  • มีการใช้งาน SegWit มากขึ้นแตะหลัก 40% ซึ่งช่วยให้การทำธุรกรรมของระบบนั้นดีขึ้น
  • เกิดนักพัฒนาบิตคอยน์หน้าใหม่ที่คุณ “จิมมี่ ซง” และคุณ “จัสติน มูน” ช่วยกันปั้นขึ้นมาเพิ่มอีกหลายคน
  • เว็บไซต์ The Block วางมาตรฐานการเป็นสื่อมวลชนให้กับสังคมบิตคอยน์
  • บริษัทอย่าง Casa, Pierre, Nodl และอีกหลายบริษัท ช่วยพัฒนาให้การรันบิตคอยน์ฟูลโหนดกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น
  • เว็บไซต์ Nomics รวบรวมและนำเสนอข้อมูลที่มีคุณภาพมากกว่าเว็บไซต์ CoinMarketCap
  • เกิดการวางรากฐานทางการเงินรูปแบบใหม่ (เช่น Fidelity, Bakkt และอื่น ๆ อีกมากมาย)
  • เกิดการพัฒนา Schnorr Signature
    (*ซึ่งมีการนำมาใช้ควบคู่กับ ECDSA เป็นการอัปเกรดที่พิสูจน์ให้เห็นว่าระบบบิตคอยน์สามารถมี digital signature algorithm มากกว่าหนึ่งรูปแบบได้ และสามารถทำงานย้อนหลังกันได้ นอกจากนี้ Schnorr Signature ยังเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมบิตคอยน์ ซึ่งเป็นการเปิดประตูให้สามารถใช้งาน Taproot และ Tapscript ได้ในเวลาต่อมา–ผู้แปล)
  • คุณ “เทรซ เมเยอร์” รณรงค์เรื่อง “พรูฟ-ออฟ-คีย์ส” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน (หรือ Rehypothecation) และความเสี่ยงเรื่อง Stress Test อีกทั้งยังเป็นการย้ำเตือนถึงผู้ใช้บิตคอยน์หน้าใหม่ให้เข้าใจถึงเรื่องอธิปไตยทางการเงินของตนเอง
  • บริษัท Blockstream เปิดใช้งานการทำธุรกรรมบิตคอยน์ผ่านระบบดาวเทียม ซึ่งดูน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อใช้งานร่วมกับ Mesh Network (หรือระบบเครือข่ายไร้สายที่โหนดเชื่อมโยงถึงกันหมด)
  • มีการคิดค้นวิธีใหม่ ๆ ในการประเมินคุณภาพของเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี เช่น วิธี Realized Cap (หรือการประเมินมูลค่าของบิตคอยน์ทั้งระบบจากราคาต้นทุน), วิธี Economic Throughput (หรือการคำนวณปริมาณการผลิตเหรียญเพิ่มในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ), วิธี Economic Density (หรือการประเมินมูลค่าของเหรียญต่อขนาดข้อมูลธุรกรรมในหน่วยไบต์), รวมถึงวิธี MVRV ซึ่งเป็นการนำเอาสัดส่วนของ Market Cap Value มาเทียบกับ Realized Cap Value ของบิตคอยน์
  • การรวมศูนย์ของเหมืองขุดบิตคอยน์ผ่านจุดพีค และเริ่มเข้าช่วงขาลง (ลาก่อนนะ Bitmain)
    เว็บไซต์ Coinshares รายงานว่ากว่า 77% ของการใช้พลังงานในเครือข่ายบิตคอยน์นั้นมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
  • เกิดเหล่านักคิด นักเขียน และสื่อหน้าใหม่ ที่พยายามจะอธิบายบิตคอยน์ให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเรียนรู้จากบิตคอยเนอร์รุ่นพี่ที่ถ่ายทอดความรู้เอาไว้ให้ก่อนหน้านี้

และยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไหร่ มุมมองใหม่ ๆ ที่ผู้คนพูดถึงบิตคอยน์ ก็ยิ่งเปิดเผยตัวเธอ (เอ๊ะ หรือตัวเขา หรือจะตัวมันดีนะ?) ให้คนภายนอกเริ่มสนใจบิตคอยน์มากยิ่งขึ้น

(Hodl Waves by Dhruv Bansal at Unchained Capital)

และท้ายที่สุดเมื่อตลาดร่วงถึงก้นเหว เหล่า Hodler ผู้เชื่อมั่นในบิตคอยน์ก็จะยิ่งกลมเกลียวกันราวกับ “เพื่อนตายสหายศึก” ซึ่งสิ่งนี้ได้วางรากฐานที่สำคัญของการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคตของบิตคอยน์

และเมื่อเหล่า Hodler ถือครองบิตคอยน์ไว้กับตัวมากขึ้น อุปทานของบิตคอยน์ที่อยู่บนกระดานซื้อขายก็ค่อย ๆ ลดปริมาณลง เมื่ออุปทานลดลง ผู้ใช้งานบิตคอยน์หน้าใหม่ก็จะสร้างแรงผลักดันต่อราคาของบิตคอยน์ และเมื่อราคามันพุ่งสูงขึ้น สื่อต่าง ๆ ก็สาดสปอตไลต์มาที่บิตคอยน์ ซึ่งจะยิ่งดึงผู้ใช้งานบิตคอยน์หน้าใหม่เข้ามาอีก และเผลอแค่แป๊บเดียว เราก็กลับเข้าสู่วงจรการเกิดใหม่ (หรือ Hype Cycle) รอบถัดไปกันอีกครั้ง

เนื้อหาส่วนที่ #2 : โรคกลัวเห็ดรา, มาเรีย ซาบิน่า (หมอผีผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดวิเศษ) และกลุ่มสาวกของซาโตชิ

มันมีอยู่หลายครั้งที่คนมักพูดว่าคริปโทฯ นั้นเป็นเรื่อง “เฉพาะกลุ่ม” เหลือเกิน คำพูดนี้ทั้งเป็นเรื่องจริงและเป็นคำพูดในแง่บวก แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงแง่มุมว่าบิตคอยน์เป็นเหมือนศาสนาอย่างไร เราต้องไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเห็ดกันก่อน

ในโลกตะวันตกยุคปัจจุบัน ดูเหมือนผู้คนจะมีอาการของ “โรคกลัวเห็ดรา” หรือ “Mycophobia” กันเสียมาก นี่คือโรคที่ทำให้คนกลัวฟังไจอย่างไม่มีเหตุผล เพราะคนเรามักกลัวสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ และยอมรับมันเถอะว่าคนจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่าเห็ดก็คือ “ผัก” ชนิดหนึ่ง

เห็ดนั้นแปลกประหลาด มันเป็นตัวแทนของวงจรการเกิด การตาย และความไม่เที่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์หวาดกลัวอยู่ลึก ๆ ภายในจิตใต้สำนึก เพราะการเผชิญหน้ากับความตายนั้นไม่สนุกเลย เลี่ยงได้ยิ่งดี

แต่ทว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด เพราะในความเป็นจริงแล้วมนุษย์มีความเกี่ยวพันกับเห็ดมานานแสนนาน เราใช้มันเป็นอาหาร เป็นยา เป็นวัตถุมงคล และเรายังใช้เห็ดในทางศาสนาอีกด้วย เห็ดบางชนิดช่วยชีวิตคุณ บางชนิดก็ฆ่าคุณ บางชนิดใช้เป็นอาหาร และบางชนิดก็ทำให้คุณมีสติสตังที่ผิดเพี้ยนได้

หลักฐานทางมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่า มนุษย์กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับฟังไจนั้นมีความได้เปรียบในเชิงวิวัฒนาการสูงกว่ามนุษย์กลุ่มอื่น และยิ่งมีจำนวนคนเข้าใจฟังไจ (และบิตคอยน์) มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งตระหนักได้ว่าตนเองอาจมีความสำคัญมากขนาดไหน

มนุษย์กลุ่มที่ใช้ชีวิตร่วมกับฟังไจนั้นมีความได้เปรียบทางวิวัฒนาการมากกว่าใคร

บรรพบุรุษของเราต้องพึ่งพาเห็ดเพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้ โดยในบริเวณเทือกเขาแอลป์สทางตอนเหนือของอิตาลี เราเคยขุดพบศพของคุณเอิ๊ตซี มนุษย์น้ำแข็งซึ่งเสียชีวิตไปราว ๆ 5,300 ปีก่อน สภาพศพของเขาพบว่ามีการพกเห็ด 2 ชนิดเอาไว้ด้วยสายรัดที่ทำมาจากหนังสัตว์ ซึ่งเห็ดดังกล่าวคือเห็ดแอมาดู และเห็ดเบิร์ช อันนึงเอาไว้สำหรับจุดไฟ และอีกอันเอาไว้ใช้เป็นยาช่วยกำจัดปรสิตที่ตรวจพบในลำไส้ของคุณเอิ๊ตซี

และเมื่อย้อนกลับไปราว 19,000 ปีที่แล้ว หญิงสาวในชนชั้นสูงที่เรียกขานกันว่า “สตรีชุดแดง” นั้นบริโภคเห็ดกันเป็นเรื่องปกติ โดยมีหลักฐานให้เห็นว่ามีซากสปอร์ที่ฟันของเธอ แต่ไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าเห็ดดังกล่าวใช้บริโภคเป็นอาหาร หรือใช้ในพิธีทางศาสนา หรือใช้ทำอะไรกันแน่

นอกจากนี้ยังมีหนึ่งในตัวอย่างภาพวาดบนผนังถ้ำที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งถูกค้นพบที่แอลจีเรีย ซึ่งคาดว่าน่าจะเก่าแก่มากกว่า 6,000 ปี ภาพวาดดังกล่าวเป็นรูปของ “มนุษย์ผึ้ง” ที่ถือเห็ดไว้ทั้ง 2 มือ แถมยังมีเห็ดงอกออกมาจากทั่วร่างกาย

มนุษย์
Cave painting: “Bee man” covered in mushrooms. Circa 4,000 BC

และในดินแดนไซบีเรียนั้นมีชนเผ่าพื้นเมืองอย่าง “ชาวคอร์เรียค” ซึ่งบูชา “เห็ดเมาสีแดง” (หรือที่บ้านเราเรียกว่าเห็ดระโงกหิน) เจ้าเห็ดชนิดนี้มีจุดเด่นที่สีแดงแต้มจุดขาว ซึ่งตัวมันเองถูกใช้เป็นตัวร้ายในเกมซูเปอร์ มาริโอ บราเธอร์ และภาพยนตร์อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ชาวคอร์เรียคนั้นคลั่งไคล้เห็ดชนิดนี้มาก ถึงขนาดที่พร้อมจะดื่มฉี่ของคนหรือกวางเรนเดียร์ที่เพิ่งกินเห็ดนี้เข้าไป ซึ่งคุณสามารถเอาฉี่มาหมุนเวียนดื่มได้ถึง 5 รอบ โดยยังได้ฤทธิ์ความเมาอย่างที่ต้องการได้ ส่วนเรื่องที่ว่าชาวคอเรียคค้นพบวิธีดื่มฉี่แบบนี้ได้อย่างไรนั้น คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังต้องหาคำตอบกันต่อไป…

เอาล่ะ เตรียมหมวกฟอยล์ดีบุกให้พร้อม เพราะเจ้าเห็ดเมาสีแดงนี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเทศกาลคริสต์มาสที่เราคุ้นเคยก็เป็นไปได้!

ในวัฒนธรรมมาซาเท็กในประเทศเม็กซิโกยุคปัจจุบันนั้น มีการบูชาเห็ดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเรื่องนี้เพิ่งถูกค้นพบโดยคุณกอร์ดอน วัสสัน ซึ่งเขาบรรยายไว้อย่างละเอียดในบทความที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารไลฟ์เมื่อปี 1955 บทความนี้ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างเดินทางไปในพื้นที่นี้ของประเทศเม็กซิโก เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเห็ดจากหมอผีชื่อดังอย่าง “มาเรีย ซาบิน่า” และชาวเผ่าของเธอ

Maria Sabina
Mushroom artifacts from Central America

เห็นได้ชัดเลยล่ะว่าเห็ดนั้นเป็นที่สนใจของบรรพบุรุษของเรามายาวนานแล้ว

บิตคอยน์สร้างแรงศรัทธาราวกับเป็นอีกศาสนาหนึ่ง

คุณยูวาล โนอาห์ ฮารารี เคยอธิบายไว้อย่างลงตัวว่า โฮโมเซเปียนส์นั้นมีความสามารถพิเศษในการร่วมมือกันในกลุ่มสังคมขนาดใหญ่ได้ ความสามารถนี้ทำให้พวกเราตกลงร่วมกันในแนวคิดที่เป็นนามธรรม เช่น ความเป็นชาติ การมีอยู่ของพระเจ้า และการมีมูลค่าของเงิน

และก็เหมือนกับที่มนุษย์เคยมีลัทธิที่บูชาเห็ด ทุกวันนี้เราก็สามารถอธิบายบิตคอยน์ในเชิงการปฏิวัติทางการเงินที่ศักดิ์สิทธิ์ ราวกับเป็นอีกศาสนาหนึ่งได้เช่นกัน

 

ความลึกลับของ ซาโตชิ นากาโมโตะ นั้น สร้างรากฐานชั้นดีในการพิจารณาบิตคอยน์เป็นคล้ายศาสนา

เนื่องจากบิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบ “Immaculate Conception” หรือ “การปฏิสนธินิรมล” ** โดยบุคคลหรือกลุ่มคนลึกลับนามแฝงว่า “ซาโตชิ” ซึ่งให้กำเนิดบิตคอยน์นั้น ก็ได้ทำการเสียสละตนเองเพื่อให้ระบบบิตคอยน์เติบโตต่อไปได้

(**หมายเหตุผู้แปล : การปฏิสนธินิรมล หรือ จุดกำเนิดที่สมบูรณ์แบบ มีที่มาจากความเชื่อทางศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ที่กล่าวถึงพระนางมารีย์ผู้มีพรหมจารีได้ทรงปฏิสนธิตั้งครรภ์พระเยซู ถือว่าเป็นการให้กำเนิดโดยปราศจากมลทินใด ๆ ของบาปกำเนิด)

ผู้แปล : ศึกษา Immaculate Conception ของบิตคอยน์ได้จากคลิปสั้น ๆ ของ อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์ ด้านล่างนี้ได้ครับ

กลุ่มสาวกของซาโตชินั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกลุ่มคนที่คลั่งไคล้และพร้อมทุ่มเทชีวิตในการเผยแผ่ “คำสอน” แต่ไม่ใช่ว่าบิตคอยเนอร์ทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับมุมมองที่ว่าบิตคอยน์เป็นศาสนา เพราะแม้บางคนจะยึดมั่นกับบัญญัติดั้งเดิม (ที่อยู่ในไวท์เปเปอร์) แต่บางส่วนก็พยายามตีความวิสัยทัศน์ของซาโตชิ ที่เขาเคยโพสต์เอาไว้ในฟอรัมออนไลน์ในช่วงแรก ๆ

มันมีความเห็นขัดแย้งที่เห็นได้ชัด จากการถกเถียงกันว่าจะขยายเครือข่ายบิตคอยน์อย่างไรดี ซึ่งความขัดแย้งนี้นำไปสู่การฮาร์ดฟอร์กหลายครั้ง และยังทำให้เกิดบิตคอยเนอร์กลุ่มย่อย ๆ ที่แตกแยกกัน ซึ่งมันต่างจากสมัยที่ศาสตราจารย์มาร์ติน ลูเธอร์แบ่งแยกศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ด้วยการสลัก “Ninety-five Theses” หรือ “ข้อปัญหา 95 ข้อ” ลงบนประตูโบสถ์ในปี 1517
เกิดคนอย่าง “โรเจอร์ แวร์” ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “พระเยซูแห่งบิตคอยน์” เนื่องจากเขาเผยแผ่คำสอนด้วยการแจกซาโตชิมากมาย ให้กับเจ้าของร้านอาหารที่ประสบปัญหาด้านการเงิน

และมี “ซาโตชิเก๊” ที่มีบุคลิกราวกับพระผู้มาโปรดอย่าง “เครก ไรท์” ที่อ้างว่าตัวเองเป็น “ซาโตชิ นากาโมโตะ ตัวจริง” และยังอ้างว่าคำสอนของเขานั้นเป็น “วิสัยทัศน์ของซาโตชิ” ซึ่งเป็นบิตคอยน์ที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว ตรงตามที่จารึกไว้ในคัมภีร์ “ไบเบิ้ล” อย่างบิตคอยน์ไวท์เปเปอร์ 

แต่ ซาโตชิ นากาโมโตะ เคยกล่าวไว้ว่า..

“รายละเอียดการทำงานของบิตคอยน์นั้นจะไม่ถูกพูดถึงในไวท์เปเปอร์ ส่วนซอร์สโค้ดการทำงานของมันนั้นจะถูกเปิดเผยเร็ว ๆ นี้”

ไม่ว่าไวท์เปเปอร์จะมีความไม่สมบูรณ์ หรือมีข้อผิดพลาดตรงไหนบ้างหรือไม่ แต่ “ซาโตชิเก๊” ก็อ้างแล้วว่าการฟอร์กของเขานั้นเป็น “วิสัยทัศน์ของซาโตชิอย่างแท้จริง” และถึงแม้การฟอร์กนั้นจะใกล้เคียงกับวิสัยทัศน์ดังกล่าวแค่ไหน (ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใกล้เคียงเลยนะ) แต่คำอ้างนั้นมันสำคัญด้วยหรือ?

เพราะจริง ๆ แล้วมันไม่ได้สำคัญอะไรเลย เนื่องจากแก่นแท้ของบิตคอยน์นั้นอยู่ที่ฉันทามติทางสังคม ที่วิวัฒน์ไปโดยไม่เปลี่ยนแปลงโปรโตคอลของระบบ

แต่ละกลุ่มที่แตกแยกก็ถือเป็นข้อตกลงทางสังคมอย่างหนึ่ง

ข้อตกลงทางสังคมของบิตคอยน์นั้นหลอมรวมอยู่ด้วยกฎที่เรียบง่ายเพียงไม่กี่ข้อ ซึ่งจุดที่เกิดการตกลงกันที่เรียกว่า “จุดเชลลิง” นั้นก่อให้เกิดฉันทามติทางสังคมบนโปรโตคอลของบิตคอยน์

(หมายเหตุผู้แปล : จุดเชลลิง (หรือ Schelling point) คือ จุดสมดุลที่ผู้คนสามารถเดาใจกันได้อย่างถูกต้อง นำมาซึ่งความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย เป็นทฤษฎีเกมที่สำคัญว่าด้วยเรื่องการตัดสินใจจากการเดาใจ)


กฎของบิตคอยน์ : 1. ไม่มีการยึดทรัพย์ 2. ไม่มีการเซ็นเซอร์ 3. ไม่มีเงินเฟ้อ 4. ทุกคนสามารถพิสูจน์กฎทั้ง 3 ข้อนี้ได้ (ที่มา : Bitcoin as a Social Contract)

เราลองใช้การถกเถียงครั้งใหญ่เรื่อง “การขยายเครือข่ายบิตคอยน์” เป็นตัวอย่างดู จะพบว่ามีคนกลุ่ม Bitcoin Cash ที่เชื่อว่าเราควรโฟกัสเรื่อง “ค่าโอนถูก” โดยแลกกับการลด “ความไร้ศูนย์กลาง” ของระบบลง แต่ก็มีคนกลุ่ม Bitcoin ดั้งเดิม ที่เชื่อว่าเราต้องให้ความสำคัญของ “การไร้ศูนย์กลาง” ในเลเยอร์ฐานของบิตคอยน์เป็นอันดับแรก แล้วค่อยไปพัฒนาเรื่องการทำธุรกรรมนอกเชนแทน

ซึ่งก็เหมือนกับการแข่งขันกันของนิกายทางศาสนาในระบบตลาดเสรี ชาวแก๊ง Bitcoin Cash ก็มีเสรีภาพเต็มที่ในการฟอร์กโค้ดของบิตคอยน์ไปทดสอบสมมติฐานของตัวเอง ซึ่งหนึ่งปีหลังจากนั้น ฉันทามติทางสังคมของบิตคอยน์ก็ชัดเจนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของ Bitcoin Cash และตลาดเองก็ไม่ให้ค่ากับการฟอร์กนี้หรือฟอร์กไหน ๆ ของบิตคอยน์

นักด่าบิตคอยน์บางส่วนอาจจะพูดว่า “การฟอร์กบิตคอยน์ทำให้อุปทานของมันเฟ้อ”

ซึ่งการพูดแบบนี้มันเหมือนกับพูดว่า ถ้าพิมพ์เงินซิมบับเวเพิ่มจะทำให้เงินดอลลาร์เสื่อมค่าลง (ซึ่งผู้ใช้ทวิตเตอร์นามว่า Murad เคยเถียงในประเด็นนี้เอาไว้แล้ว)

และในกรณีที่การฟอร์กล้มเหลว เช่น BCash ที่พวกเขาแค่ก็อบปี้เอาโค้ดของบิตคอยน์ไปใช้งาน แต่พวกเขาดึงดูดคน (ซึ่งเป็นเลเยอร์ทางสังคมของบิตคอยน์) ให้ไปใช้งานฟอร์กนี้ไม่ได้ ผลคือตัวมันเองก็แทบไม่มีมูลค่าอะไรเลย นี่เป็นข้อพิสูจน์สำคัญว่าบิตคอยน์นั้นสามารถต้านทานการคอรัปชันจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ เพราะการจะเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบนั้นต้องผ่านฉันทามติทางสังคมเสียก่อน

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ บิตคอยน์นำหลักคณิตศาสตร์มาแทนที่การทึกทักกันไปเองในหมู่ผู้คน ซึ่งเราจะมาพูดถึงประเด็นนี้กันในตอนที่ 3 ว่ามันส่งผลต่อการขยายตัวทางสังคมของบิตคอยน์ได้อย่างไร

หรือว่าพฤติกรรมคลั่งศาสนาจะเป็นตัวชี้วัดว่าบิตคอยน์จะประสบความสำเร็จได้?

พวกเราทุกคนกำลังได้เห็นด้วยตาตัวเอง ว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีจำนวนจำกัดชนิดใหม่นี้ มันกำลังค่อย ๆ กลายร่างเป็นเงิน ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ยังมีชีวิตอยู่เคยสัมผัสกับปรากฏการณ์ระดับนี้ด้วยตาตัวเองมาก่อน

แต่การที่จะทำให้บิตคอยน์ประสบความสำเร็จนั้น มันต้องอาศัยการตื่นรู้ของผู้คนทั่วโลก มันต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการจะเปลี่ยนใจคนให้เข้าใจว่า เงินไม่ใช่กระดาษสีเขียว ๆ ที่เคยใช้ และเงินนั้นไม่จำเป็นต้องผลิตโดยรัฐบาล

การจะเอาชนะอุปสรรคที่เลี่ยงไม่ได้ ในการสร้างสกุลเงินสำรองของโลกสกุลใหม่ เราอาจต้องพึ่ง “ความคลั่งศาสนา” ของบิตคอยน์พอสมควร เพราะทุกครั้งที่มีคนเข้าร่วมเป็นสาวกในลัทธิซาโตชิเพิ่ม โอกาสที่โลกจะเข้าสู่ยุคบิตคอยน์ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ถึงกระนั้นก็เถอะ มันก็ยังมีความเสี่ยงว่าเราจะแบ่งฟากทางการเมืองมากเกินไปสำหรับบิตคอยน์ (ตามข้อถกเถียงในทวิตเตอร์ของคุณ Hasu)

เพราะคนบางกลุ่มในชุมชมบิตคอยน์นั้น เปรียบบิตคอยน์เป็นเหมือนสมาคมของเหล่านักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน ที่จะรับประทานเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ล่ามาด้วยอาวุธของตัวเองเท่านั้น คือมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดอะไรหรอก แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้การเป็นบิตคอยเนอร์มันเลิศเลอกว่าชาวบ้านเขาด้วย เราไม่ควรนำ 2 เรื่องนี้มาปนกัน จนจะกลายเป็นไปขับไล่คนที่มีโอกาสจะเป็นบิตคอยเนอร์หน้าใหม่ออกไปเสียก่อน

แต่ตอนนี้ก็อย่าลืมโน้มน้าวให้เพื่อนและครอบครัวของคุณทุกคน ได้อ่านคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ (อย่างหนังสือ The Bitcoin Standard) สัก 2 รอบ ก่อนที่คุณจะออกไปร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ในกองทัพรับมือข่าวโจมตีบิตคอยน์อีกคำรบ

 

ลัทธิความเชื่อที่ดีจะมีแรงจูงใจให้คนหันมานับถือได้ไม่ยาก

ระบบเงินนั้นคือสุดยอดของอาณุภาพแห่งเครือข่าย เนื่องจากมูลค่าของเงินขึ้นอยู่กับจำนวนผู้คนที่คุณใช้งานมันด้วย
ซึ่งสำหรับบิตคอยน์นั้น มันเป็นยิ่งกว่าการทำให้ผู้คนสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ราวกับศาสนาของมัน แต่มันยังมีแรงจูงใจทางการเงินมากพอจะดึงดูดผู้คนใหม่ ๆ ให้ใช้งานมัน โดยทุกครั้งที่มีผู้ใช้งานบิตคอยน์รายใหม่ซื้อมัน มูลค่าของมันก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับเหล่า Hodler ที่เชื่อมั่นและถือครองมันมาก่อนหน้านี้แล้ว และผู้ใช้งานหน้าใหม่ก็จะมีแรงจูงใจในการชักชวนให้เพื่อนมาถือครองบิตคอยน์เพิ่ม และก็จะเป็นวงจรแบบนี้ต่อไปไม่รู้จบ

เมื่อราคาของบิตคอยน์เพิ่มสูงขึ้น ก็จะเกิดแรงจูงใจในการเพิ่มความปลอดภัยให้ระบบ ดังหลักฐานที่เห็นได้ชัดจากอัลกอริธึมการปรับความยากในการขุดบิตคอยน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสุดยอดความอัจฉริยะที่ซาโตชิมอบให้ไว้แก่ระบบ
โดยเมื่อราคาบิตคอยน์พุ่งสูง → การขุดบิตคอยน์ก็ทำกำไรได้มากขึ้น → ทำให้มีนักขุดมาร่วมกันขุดมากขึ้นจนกำลังการแฮชเพิ่มสูง → ซึ่งจะทำให้ระบบบิตคอยน์ยิ่งแข็งแกร่งปลอดภัยมากขึ้น และทำให้บิตคอยน์ยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้นไปอีก

เครือข่ายฟังไจกำลังแพร่ขยายตัวมันเองไปทั่ว

ถ้าบรรยากาศหดหู่ของตลาดหมีทำให้คุณเศร้า ขอให้คุณมองลึกลงไปใต้ผืนดิน คุณจะพบว่ามีการพัฒนาบิตคอยน์ที่น่าตื่นเต้นจำนวนมากกำลังเดินหน้าอยู่ (ซึ่งบางส่วนถูกพูดถึงไปข้างต้นในบทความนี้แล้ว)


คุณ Nic Carter เคยทวีตถึง 2 มุมมองของคนที่มีต่อบิตคอยน์เอาไว้ว่า “คนกลุ่มที่เจ๊งจากการเทรด” มองบิตคอยน์เป็น “ทองคำดิจิทัล” ส่วน “คนกลุ่มที่เข้าใจบิตคอยน์แล้ว” จะมองมันเป็นดั่ง “เครือข่ายราเมือกดิจิทัล”

เครือข่ายฟังไจของบิตคอยน์กำลังแพร่ขยายตัวเองอยู่ใต้ดินอย่างเงียบ ๆ ในขณะนี้

และทุกวันคืนที่ผ่านพ้นไป บิตคอยน์ก็จะค่อย ๆ เขมือบเงินเฟียต จนตัวมันเองแข็งแกร่งขึ้น ไร้ศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น และอยู่ยั้งยืนยงได้อย่างยั่งยืน

เพราะแม้จะเป็นค่ำคืนที่ท้องฟ้าจะมืดสนิทเพียงไหน สุดท้ายคืนนั้นจะสิ้นสุด และพระอาทิตย์จะสาดแสงในวันใหม่อย่างแน่นอน

ปิดท้ายบทที่ 2

ถ้าคุณชื่นชอบบทที่ 2 นี้ อย่าพลาดบทที่ 3 ด้วยนะครับ เราจะไปสำรวจกันว่าบิตคอยน์นั้นทำหน้าที่เป็นยาต้านไวรัสในระบบการเงินปัจจุบันได้อย่างไร และถ้าคุณยังไม่ได้อ่านบทที่ 1 สามารถย้อนอ่านได้ที่นี่ครับ

ขอเกริ่นยั่วน้ำลายถึงตอนที่ 3 กันสักหน่อย : บิตคอยน์นั้นเป็นผลกระทบทางธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้ ในการที่จะจัดระเบียบโครงสร้างอันซับซ้อนขั้นสูง บิตคอยน์ในฐานะเลเยอร์การสื่อสารที่ตัดความเชื่อใจกันออกไปให้เหลือน้อยที่สุด มันจะแทรกซึมไปได้ทุกซอกทุกมุมทั่วโลก และโครงสร้างพื้นฐานของมันที่ใครก็ยับยั้งไม่ได้นั้น จะทำให้เราสามารถสร้างสังคมมนุษย์ที่ขยายตัวได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหากมนุษย์อยากร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เคย ทั้งการร่วมมือกันทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และการเป็นเผ่าพันธุ์ที่อาจสร้างอาณานิคมอยู่บนดาวหลายดวงได้

คุณสามารถติดตามผมได้ทั้งบน Medium และ Twitter

ขอบคุณที่อ่านบทความของผม
ลงชื่อ แบรนดอน

ป.ล. 1 ผมรวบรวมบทความในซีรีส์นี้ไว้ให้แล้วในชื่อเรื่อง บิตคอยน์ : เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงินอย่าพลาดนะครับ

ป.ล. 2 สำหรับคนที่อยากศึกษาต่อเรื่องของฟังไจ :

  • ผมแนะนำดูคลิป Paul Stamets on Joe Rogan’s podcast
  • แต่ถ้าคุณมีเวลาแค่ 17 นาที ขอให้ดู TED Talk ของ Paul Stamets ตอน 6 Ways Mushrooms can Save the World
  • ถ้าคุณชอบอ่านหนังสือ ผมแนะนำ Mycelium Running ของคุณ Paul Stamets เช่นกัน
  • และถ้าสนใจว่าป่าทั้งผืนนั้นสื่อสารกันอย่างไร ลองฟังคลิปของ Radiolab เรื่อง Free Tree to Shining Tree

กิตติกรรมประกาศ

  • ขอบคุณ Dan Held, Nic Carter และ Rob Fox ที่ช่วยตรวจสอบร่างแรกของบทความนี้
  • ขอบคุณ Hasu, Murad Mahmudov, Vijay Boypati, Mart Bent, Pierre Rochard, Jameson Lopp และอีกหลายคนที่กระตุ้นความเข้าใจบิตคอยน์ของผมให้มากขึ้น
  • และขอบคุณ Paul Stamets ที่ผลักดันความรู้ด้านเห็ดราวิทยา และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมตลอดมา (ชุมชนบิตคอยน์ยินดีต้อนรับคุณนะครับ)

ขอบคุณคุณ Dan Held ด้วยครับ

ฟังไจ ปาร์ตี้

รายชื่อทีมงานร่วมแปลบทความ

  • อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์ (ปิรันย่า)
  • จักรพันธ์ วันดี (ตั้ม)
  • จัตตุพร ใจกล้า (นิว)
  • สิรภพ นิลบดี (ขิง)
  • วัชรพงศ์ ฤทธิ์คัมภีร์ (อิสร)
  • ปิยะพงษ์ ภู่ขำ (จิงโจ้)
  • ภัทรพล นวลใย (อั๋น)
Right Shift

Right Shift Co., Ltd. Official Team

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

บิตคอยน์
Opinion
Right Shift

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 4 : บิตคอยน์คือตัวเร่งวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (เหมือนการพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิต)

สำรวจบิตคอยน์ผ่านมุมมองของการคัดเลือกทางธรรมชาติ การวิวัฒนาการ และความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน (หรือภาวะซิมไบโอซิส)

Read More »
rabbit whole
Technical & Fundamental
Right Shift

คู่มือเข้าสู่โพรงกระต่าย สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจบิตคอยน์ : The Bitcoin Manual

Bitcoin Manual eBook ฉบับภาษาไทย มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งข้อมูล คำแนะนำเบื้องต้นง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นการเดินทางในโลกบิตคอยน์ ครบถ้วน ครอบคลุม และสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย

Read More »
ฟังไจ
Opinion
Right Shift

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 3 : บิตคอยน์คือแอนตี้ไวรัส (เหมือนยา)

มาสำรวจภาพรวมของสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์พร้อมต่อการเติบโต และความสามารถในการเอาตัวรอดขั้นสูงสุดของบิตคอยน์ผ่านมุมมองของฟังไจ (ระบบการทำงานของเห็ดรา) เครือข่ายสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงทำให้บิตคอยน์กลายเป็นยาต้านไวรัสของระบบการเงินโลกที่ล้มเหลว ทางออกเดียวของมวลมนุษยชาติ มาร่วมหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ครับ

Read More »
บิตคอยน์
Opinion
Right Shift

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 1 : บิตคอยน์คือสิ่งมีชีวิตที่ไร้ศูนย์กลาง (เหมือนไมซีเลียม)

สำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง บิตคอยน์ กับ หน่วยย่อยของฟังไจอย่าง ไมซีเลียม (Mycelium) ซึ่งเป็นเสมือน “ระบบอินเทอร์เน็ตแห่งธรรมชาติของโลก” สองสิ่งนี้ต่างก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าอัศจรรย์

Read More »