บิตคอยน์
Picture of Right Shift

Right Shift

Right Shift Co., Ltd. Official Team

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 4 : บิตคอยน์คือตัวเร่งวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (เหมือนการพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิต)

สำรวจบิตคอยน์ผ่านมุมมองของการคัดเลือกทางธรรมชาติ การวิวัฒนาการ และความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน (หรือภาวะซิมไบโอซิส)

ผู้เขียน : Brandon Quittem 
บทความต้นฉบับ : Bitcoin is The Mycelium of Money // เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2020
เกี่ยวกับผู้เขียน : ผู้ก่อตั้ง @SwanBitcoin | เป็นโฮสต์รายการ Bitcoin Meetups in Minneapolis @BitcoinersMPLS | เป็นที่ปรึกษาที่ @sazmining

นี่คือเรื่องราวที่จะแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ทางชีวภาพสามารถพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไปตลอดกาลได้อย่างไร

เช่นเดียวกับที่ฟังไจและพืชสามารถเติบโตบนผืนดินอันแห้งแล้งได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน มนุษย์เองก็สามารถจะร่วมมือกับบิตคอยน์เพื่อพัฒนาตัวเอง และยกระดับเผ่าพันธุ์ของพวกเราได้เช่นเดียวกัน

ในบทนี้ เราจะมาสำรวจบิตคอยน์ ในฐานะตัวเร่งวิวัฒนาการของมนุษย์ ผ่านมุมมองทางธรณีวิทยา, การวิวัฒนาการ และกระบวนการซิมไบโอซิส

ภาวะซิมไบโอซิส (Symbiosis) หมายถึง ภาวะที่สิ่งมีชีวิตซึ่งมีความแตกต่างกัน สองชนิดได้มาอาศัยอยู่ร่วมกันจนเกิดความสัมพันธ์ต่อกัน (เช่น ภาวะปรสิต หรือภาวะพึ่งพากัน) ตัวอย่างเช่น ปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเล เป็นต้น

ในส่วนบทความซีรีส์นี้ของผมมี 4 ตอนดังนี้ครับ :

สารบัญบทความ

ก้าวแรกแห่งชีวิตบนดาวนิรนาม

500 ล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตทั้งหมดยังอาศัยอยู่ภายใต้มหาสมุทร และเท่าที่เรารู้ บนแผ่นดินนั้นยังเป็นเพียงกองเถ้าภูเขาไฟอันรกร้างปราศจากสิ่งมีชีวิต มันยังคงเป็นเช่นนั้นจนกระทั่งเมื่อพืชและฟังไจรวมตัวกันสร้างพันธมิตรแห่งโชคชะตาขึ้นมา และพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล

ความสัมพันธ์ทางชีวภาพนี้ได้สร้างกระแสธารแห่งวิวัฒนาการ นำไปสู่การสรรค์สร้างสิ่งมีชีวิตบนผืนดินทั้งหมด รวมถึงโฮโมเซเปียนส์ด้วย (สปีชีส์ของสายพันธุ์มนุษย์)

กลับมาสู่ยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคแห่งความทันสมัย มนุษย์ได้ก่อร่างสร้างสังคมขึ้นบนเครือข่ายของเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตและบิตคอยน์ เสมือนเป็นการกำเนิดใหม่ของแม่แบบไมซีเลียมจากยุคที่เราได้เคยถือกำเนิดขึ้นมา

พักหายใจกันสักหน่อย.. ชีวิตนี่มันสุดยอดไปเลยใช่ไหมล่ะ?

สังคมมนุษย์

โอเค.. แล้วพวกเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

มาเริ่มกันที่ชีววิทยาฉบับรวบรัด สิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ออโตโทรฟิค (Autotrophic) กับ เฮทเทอโรโทรฟิค (Heterotrophic)

ออโตโทรฟ (Autotroph) คือ สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้ เช่น พืชต่าง ๆ ที่แปลงคาร์บอนไดออกไซด์และแสงแดดไปเป็นสารอาหาร ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง

เฮทเทอโรโทรฟ (Heterotroph) คือ สิ่งมีชีวิตที่ต้องหาอาหาร เช่น สิงโตที่กินละมั่ง หรือฟังไจที่ผลิตเอนไซม์ออกมาเพื่อย่อยสสารต่าง ๆ รอบตัว เป็นต้น

เช่นเดียวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่เริ่มสร้างอาณานิคมในพื้นที่ใหม่ ๆ มักจะอ่อนแอที่สุดในช่วงแรก การที่ฟังไจจะสามารถอาศัยอยู่บนผืนดินแห้งแล้งบนโลกได้นั้น พวกมันต้องการแหล่งอาหารที่ยั่งยืนและสามารถวางใจได้ในระยะยาว

ฟังไจดูแลสาหร่ายซึ่งเป็นเครื่องสังเคราะห์แสงของตนอย่างดี และใช้สาหร่ายเป็นแหล่งอาหารเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราสามารถเปรียบสาหร่ายว่าเป็นดั่งแผงโซล่าเซลล์ขนาดจิ๋วที่คอยส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อไปหล่อเลี้ยงเครือข่ายฟังไจ ซึ่งช่วยให้ความพยายามในการตั้งอาณานิคมบนพื้นที่แห้งแล้งนี้มีความเป็นไปได้

หลังการสร้างอาณานิคมผ่านไปไม่นาน ฟังไจก็เริ่มย่อยหินภูเขาไฟในบริเวณที่พวกมันไปเกาะอยู่ โดยกระบวนการนี้ได้ปลดปล่อยสารอาหารอันล้ำค่าออกมา ซึ่งจะถูกนำไปแลกเปลี่ยนกับฟังไจ สาหร่าย แบคทีเรีย และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ผู้บุกเบิกยุคแรกร่วมกันสรรค์สร้างชีวิตให้เกิดขึ้นบนผืนดินแห้งแล้ง มาดูกันว่าเราจะเปรียบเทียบเรื่องนี้กับบิตคอยน์ได้อย่างไร

ซาโตชิเลี้ยงดูทารกบิตคอยน์ในช่วงแรกอย่างไร

เพื่อการจัดตั้งอาณานิคมบนดินแดนนิรนาม ที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตด้วยเงินรูปแบบใหม่ ซาโตชิจำเป็นจะต้องสร้างความสัมพันธ์ทางชีวภาพบางอย่างขึ้นมา

โชคดีที่เขาได้พบเจอกับคู่หูที่สมบูรณ์แบบและได้ร่วมกันตัดสินใจอย่างชาญฉลาดมากมาย ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดขั้นสูงสุดให้บิตคอยน์ในช่วงเริ่มต้น

ซาโตชิ “สร้างความร่วมมือกับสาหร่าย (พันธมิตรแวดล้อม)” เพื่อวางรากฐานชีวิตให้บิตคอยน์บนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร?

  • อัตราการผลิตบิตคอยน์ที่สูงในช่วงเริ่มต้น ถือเป็นรางวัลให้แก่ผู้ที่สนใจมันในช่วงแรก (ซึ่งอัตราการผลิตในช่วงเริ่มต้น อาจจะดูมากเกินไปหน่อย)
  • ซาโตชิเลือกเปิดตัวบิตคอยน์ในกลุ่มผู้ใช้อีเมลแบบเข้ารหัส (ถ้าจะมีใครที่สามารถฟูมฟักบิตคอยน์ได้ ก็คงเป็นเหล่าไซเฟอร์พังก์ (Cypherpunks) ที่อยู่ในรายชื่อเหล่านั้น)
  • วางกำหนดการเปิดตัวในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008-2009 (ซึ่งอาจเป็นเพียงความบังเอิญหรือเปล่า?)
  • ซาโตชิฝังข้อความ “รัฐมนตรีคลังจ่อใช้มาตรการพิมพ์เงินเข้าอุ้มพวกธนาคารเป็นครั้งที่ 2 (Chancellor on brink of second bailout for banks) ในบล็อกแรก (เพื่อเรียกความสนใจจากเหล่าผู้สนับสนุนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน)

พึ่งพากันหรือเป็นเพียงแค่ปรสิต : วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างซาโตชิกับกลุ่มไซเฟอร์พังก์ (Cypherpunk)

สาหร่ายได้รับประโยชน์อะไรจากภาวะพึ่งพากันผ่านความสัมพันธ์กับฟังไจ หรือมีเพียงแค่ฟังไจที่ได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว จากภาวะปรสิตที่มันใช้ความสามารถในการผลิตอาหารของสาหร่าย?

ดูเหมือนว่านี่จะเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันมากกว่า ถึงแม้ในช่วงแรกจะดูเหมือนว่าสาหร่ายนั้นถูกฟังไจลักพาตัวไป แต่อย่างไรก็ตามเพื่อแลกกับการสังเคราะห์แสง สาหร่ายก็ได้รับระบบความปลอดภัยจากเส้นใยราด้วยเช่นกัน ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายอาณานิคมไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ

กลุ่มไซเฟอร์พังก์ได้รับประโยชน์จากภาวะพึ่งพากันภายใต้ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้หรือไม่? หรือมีเพียงซาโตชิที่ได้ประโยชน์จากภาวะปรสิตโดยใช้งานเหล่าไซเฟอร์พังก์ให้ช่วยกันผลักดันระบบในช่วงแรก?

“เป็นเรื่องน่าสนใจมากหากเราสามารถอธิบายมันในมุมมอง แบบเสรีนิยมได้ แต่ผมสื่อสารผ่านโค้ดได้ดีกว่าการใช้คำพูด”

- ซาโตชิ นากาโมโตะ

กลุ่ม Cypherpunk ส่วนใหญ่เลือกที่จะปฏิเสธบิตคอยน์ในช่วงแรก แต่ก็มีบางคนที่กระโจนเข้ามาร่วมวงด้วย ซึ่งคนที่โดดเด่นที่สุด คือ ฮัล ฟินนีย์ (Hal Finney) เมื่อพิจารณาว่าพวกเขาคือคนกลุ่มแรกที่หันมาสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับบิตคอยน์ พวกเขาจึงย่อมมีโอกาสที่จะได้รับบิตคอยน์จำนวนมากโดยมีต้นทุนค่าไฟฟ้าในการขุดที่ต่ำ (ซึ่งจริง ๆ แล้วต้นทุนค่าไฟฟ้านั้นต่ำจนแทบจะฟรีเลยด้วยซ้ำในช่วงเริ่มต้น) ซึ่งด้วยความได้เปรียบนี้ การสะสมบิตคอยน์ในช่วงปีแรก ๆ จึงนำพวกเขาไปสู่ความมั่งคั่งเกินจะประเมินค่าได้

“การสร้างเหรียญในวันนี้ด้วยค่าใช้จ่ายในการประมวลผลเพียงไม่กี่เซ็นต์ อาจ เป็นการวางเดิมพันที่ดี สำหรับสิ่งที่จะให้ผลตอบแทน 100 ล้าน ต่อ 1!”

- ฮัล ฟินนีย์

เศรษฐศาสตร์คือวิวัฒนาการผ่านการคัดเลือกทางธรรมชาติ

ชาร์ล ดาร์วิน

“มันไม่ใช่เงินที่แข็งแกร่งที่สุด และไม่ใช่เงินที่ชาญฉลาดที่สุดที่จะสามารถอยู่รอด แต่เป็นเงินที่สามารถปรับตัวได้มากที่สุดต่างหากที่จะเอาตัวรอดได้” — ชาร์ล ดาร์วิน

เมื่อสภาพแวดล้อมตั้งต้นสำหรับการดำรงชีวิตบนบกเริ่มเข้าที่เข้าทาง กลุ่มพันธมิตรระหว่างฟังไจและพืชก็เริ่มให้การต้อนรับสิ่งมีชีวิตหน้าใหม่ ๆ เข้าสู่ระบบนิเวศ

ฟังไจโต้ตอบกับโลกผ่านกระบวนการทางเคมี พวกมันหลั่งเอนไซม์เพื่อย่อยสิ่งแวดล้อมรอบตัว หินภูเขาไฟเป็นเหมือนกับร้านอาหารแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เหล่าฟังไจกลุ่มแรกเหล่านี้ได้ปลดปล่อยแหล่งพลังงานระดับโมเลกุลออกมาผ่านการย่อยหินภูเขาไฟที่พวกมันต่างเกาะอยู่

สิ่งนี้ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจตัวต้นแบบที่ประกอบไปด้วย ฟังไจ, พืช และ แบคทีเรีย พวกมันแลกเปลี่ยนโมเลกุลที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ (คาร์บอน, ไนโตรเจน, ออกซิเจน ฯลฯ )

ฟังไจมีหน้าที่หลักในการแปรสภาพก้อนหินให้อยู่ในรูปของ “โทเคนชีวภาพชนิดหนึ่ง” ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ โทเคนชีวภาพเหล่านี้แลกเปลี่ยนกันผ่านระบบรางของไมซีเรียมที่เชื่อมต่อกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในบริเวณโดยรอบ การที่ฟังไจสร้างทั้งระบบตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนนั้น ได้นำความหลากหลายทางชีวภาพมาสู่ผืนดินอันแห้งแล้งอย่างรวดเร็ว

หมายเหตุผู้แปล* – Fungible Biology Token หรือ โทเคนชีวภาพ คือ กระบวนการที่ฟังไจได้แปรสภาพสสารรอบตัวให้กลายเป็นพลังงาน และกักเก็บเอาไว้ในรูปของ “หน่วยพลังงานแบบพิเศษ” ที่พืชทุกสายพันธุ์ในระบบสามารถนำไปใช้ได้

ลมหายใจแรกของโลก

ลมหายใจแรกของโลก

ก่อนที่พืชจะเข้ามาครอบครองผืนดินอันแห้งแล้ง ชั้นบรรยากาศของโลกเรายังไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยเท่าใดนัก อย่างที่คุณทราบว่าพืชดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และคายออกซิเจนออกมา สุดยอดกระบวนการนี้ได้ทำให้เกิดการก่อตัวของชั้นบรรยากาศโลกที่ปกคลุมไปด้วยออกซิเจน – ดาวเคราะห์โลกกำลังเริ่มสูดรับลมหายใจอันบริสุทธิ์

ในมุมหนึ่ง ฟังไจได้ทำให้ตลาดแห่งใหม่เติบโตขึ้นอย่างเสรี ซึ่งนำไปสู่การแผ่ขยายของสิ่งมีชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อ ลองมาสำรวจความคล้ายคลึงกับบิตคอยน์ในเรื่องนี้กันบ้างดีกว่า

บิตคอยน์ทำให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ทางเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับการอุบัติขึ้นผ่านกระบวนการกำเนิดสปีชี่ส์ของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เพื่อการครอบครองแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งใหม่บนพื้นที่แห้งแล้ง บิตคอยน์ได้วิวัฒนาการดีเอ็นเอ หรือโค้ดของมัน เพื่อสร้างลักษณะทางพันธุกรรม หรือฟีเจอร์ใหม่ ๆ สำหรับกุมความได้เปรียบเหนือบริเวณดังกล่าว

กล่าวคือ.. บิตคอยน์ได้ทำให้เกิดระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน สิ่งนี้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจมีขนาดเติบโตขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคม

ความแปลกใหม่ที่บิตคอยน์ได้มอบไว้ให้

  • เป็นโปรเจกต์แรก และเป็นเงินดิจิทัลเพียงหนึ่งเดียวที่มีความหายากอย่างแท้จริง (ซึ่งไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด)
  • เป็นระบบชำระเงินที่ไร้พรมแดน, ธุรกรรมเกิดขึ้นเร็วในชั่วพริบตา และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
  • เป็นเงินที่เป็นกลาง ไม่มีความเอนเอียง
  • เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่ต่อต้านการปิดกั้นจากผู้มีอำนาจ ที่ใช้ได้ทั้งตลาดสีเทา และตลาดมืด
  • สร้างระบอบประชาธิปไตยของบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน
  • เป็นแหล่งเก็บสะสมมูลค่าที่ไม่ขึ้นตรงกับใคร พร้อมกับการเข้าถึงที่ทำได้ง่าย

บิตคอยน์และไมซีเลียมช่วยเพิ่มศักยภาพในการแลกเปลี่ยน

เครือข่ายไมซีเลียมทำหน้าที่เป็นผู้จัดส่งทรัพยากร และเป็นเครือข่ายการติดต่อสื่อสารที่เชื่อมต่อสิ่งมีชีวิตใน*ชีวภาค (Biosphere) ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตแลกเปลี่ยนทรัพยากรและความรู้ข้ามผ่านสปีชีส์กันได้โดยสมัครใจ การแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การเกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (การแบ่งงาน) และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ (ความมั่งคั่งและความยืดหยุ่น) ให้กับระบบนิเวศ

*หมายเหตุผู้แปล – Biosphere ชีวภาคหรือชีวมณฑล คือส่วนของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก ทั้งพืช สัตว์ แบคทีเรีย เชื้อราและสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว รวมถึงมนุษย์ จากองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ได้แก่ ธรณีภาค อุทกภาค และชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดการสร้างสมดุลและสภาวะล้อมที่เหมาะสม กลายเป็นจุดกำเนิดของชีวมณฑล

อ้างอิงจาก : https://ngthai.com/science/23489/earth-components/3/

ในปัจจุบัน รัฐบาลของเราสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการขัดขวางไม่ให้ประชาชนจำนวนมากสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้

ลองนึกถึงศักยภาพทั้งหมดของมนุษย์ที่ไม่ถูกนำมาใช้งานจากการถูกปิดผนึกไว้ในประเทศอย่างอิหร่าน, เวเนซูเอล่า หรืออาร์เจนตินาดูสิ เมื่อไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารทางเศรษฐกิจอย่างบิตคอยน์ ผู้คนมากมายจึงไม่สามารถมีส่วนร่วมในตลาดโลกได้

เมื่อบิตคอยน์กลายเป็นสิ่งที่ถูกใช้งานแพร่หลายมากขึ้น มันจะปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรม ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการค้าขาย เราได้เห็นตัวอย่างมาบ้างแล้ว เช่น เหล่าฟรีแลนซ์ในเวเนซูเอล่าต่างใช้บิตคอยน์เป็นสะพานเชื่อมในการเข้าถึงดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งสามารถหลบเลี่ยงการถูกควบคุมทางการเงินได้เป็นอย่างดี

เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า “บิตคอยน์จะถูกใช้เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างสกุลเงิน” ซึ่งจะนำเราไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในอนาคตที่ทุกคนล้วนใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสารทางเศรษฐกิจ ตลาดระดับโลกสำหรับผู้ที่มีศักยภาพ จะก่อให้เกิดการแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นในราคาที่ถูกลง นี่ยังไม่รวมถึงการค้าขายที่จะขยายตัวขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจน

บิตคอยน์ เศรษฐกิจ

บิตคอยน์ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจผ่านการคัดเลือกทางธรรมชาติ

ทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติของ ชาร์ล ดาร์วิน เป็นเครื่องมือทางชีวภาพที่ออกแบบมาเพื่อให้รางวัลกับผู้ที่มีความแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จ ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่าก็จะถูกกำจัดไป เมื่อตัวแอนทิโลป (ละมั่ง) ถูกสิงโตจับกิน มันจะต้องตาย ไม่มีใครจะช่วยมันได้แบบที่รัฐช่วยอุ้มธนาคารจากวิกฤติทางการเงิน การที่ธรรมชาตินั้นมีส่วนได้ส่วนเสียกับกระบวนการวิวัฒนาการ ทำให้ “*วงจรการตอบสนองกลับ” (หรือ Feedback Loop) นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ย่อมมีความเปราะบางและอ่อนแอ เพื่อให้ระบบสามารถคัดเลือกให้เหลือแต่ผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้

*หมายเหตุผู้แปล – Feedback Loop หรือ วงจรการตอบสนองกลับ คือการพูดถึงทุก ๆ การกระทำนั้นจะมีผลสะท้อนกลับมาเสมอ การทำธุรกิจที่ผิดพลาดจนประสบกับความล้มเหลว ก็ควรได้รับผลจากความล้มเหลวนั้น คือการล้มละลาย แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะหลาย ๆ บริษัทที่ไปต่อไม่ได้และควรจะล้มละลายได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ส่งผลให้เกิดความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจที่เน้นให้ตลาดเกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะให้รางวัลกับกิจการที่ประสบความสำเร็จ และให้บทลงโทษแก่ผู้ที่ล้มเหลวอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามระบบ “ทุนนิยม” ในตอนนี้ ดูคล้ายจะเป็นระบบแห่งพวกพ้องเสียมากกว่า หรืออย่างที่ ทราวิส คลิง (Travis Kling) เคยได้กล่าวเอาไว้ว่าเป็นระบบ “สังคมนิยมสำหรับคนรวย”

แทนที่จะปล่อยให้บริษัทที่ล้มเหลวเหล่านั้นประสบกับความล้มละลาย เรากลับให้ความช่วยเหลือพวกเขาเสียอย่างนั้น ผลลัพธ์จากแรงจูงใจผิด ๆ เหล่านี้ ได้สร้างความบิดเบี้ยวทางศีลธรรม ซึ่งทำให้ระบบทั้งหมดเปราะบางลงไปอีก นี่ยังไม่รวมถึงการทำร้ายชนชั้นแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ดังสำนวนที่ว่า “ถ้าโยนเหรียญออกหัว ผมชนะ แต่ถ้าออกก้อย คุณแพ้” ไม่ว่าจะเลือกทางไหนคุณก็แพ้อยู่ดี

ระบบเงินที่มั่นคงอย่างบิตคอยน์ ช่วยปรับปรุงกลจักรทางเศรษฐกิจนี้ให้ดีขึ้นได้ โดยใช้กลไกการให้รางวัลแก่การสร้างมูลค่า และลงโทษความล้มเหลว ในโลกของบิตคอยน์ การพิมพ์เงินเพื่ออุ้มใครสักคนนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะปริมาณเงินที่ถูกจำกัดโดยนโยบายทางการเงินที่มั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลงของมัน บิตคอยน์ช่วยทำให้แน่ใจว่าใครหรือบริษัทแห่งใดที่มีความเปราะบางจนไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะอยู่รอดก็จำเป็นต้องล้มหายไป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบเศรษฐกิจจะยังคงเข้มแข็งปราศจากผู้อ่อนแอที่กำลังเอาเปรียบระบบ (หรือมีความ Antifragile นั่นเอง)

อีกนัยหนึ่ง บิตคอยน์นั้นเพิ่ม “Skin in the game” หรือ “การมีส่วนได้ส่วนเสีย” ทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ “วงจรการตอบสนองกลับ” มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นำไปสู่วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น …ขอให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวทางของดาร์วินจงเจริญ!

พัฒนาการของตัวเท็นเรค (Tenrec)

Tenrec

เท็นเรคเป็นบรรพบรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั้งหมด

เริ่มจากความสัมพันธ์ทางชีวภาพระหว่างฟังไจกับพืช ต่อด้วยวิวัฒนาการผ่านการคัดสรรโดยธรรมชาติ ตอนนี้เจ้าจุดสีน้ำเงินซีด ๆ ของพวกเราได้เปลี่ยนก้อนหินในดินแดงที่แห้งแล้งให้กลายเป็นสวนอีเดนเขียวขจีแล้ว ช่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ

ทีนี้เราลองมาดูในช่วงปลายแห่งยุคครีเตเชียส เมื่อราว ๆ 65 ล้านปีก่อนกันบ้าง ดาวดวงนี้ถูกไดโนเสาร์ยึดครองทั้งบนบกและในน้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยในเวลานั้น (ถึงท่อนนี้ควรมีเสียงผู้บรรยายสารคดีพูดขึ้นว่า ‘แต่สิ่งต่าง ๆ นั้นกำลังจะเปลี่ยนไป!’)

อุกกาบาตขนาดยักษ์ที่พุ่งเข้าชนบริเวณพื้นที่ของประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน มันได้คร่าชีวิตไดโนเสาร์และเกือบทุกชีวิตบนดาวโลก แรงระเบิดจากการปะทะของอุกกาบาตส่งผลให้อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้นมาชั่วขณะ จากนั้นตามมาด้วยความหนาวเหน็บอันยาวนาน ซึ่งเกิดจากกลุ่มฝุ่นควันที่ลอยขึ้นไปบดบังแสงอาทิตย์

แม้ว่าสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะสูญพันธ์ไปในช่วงของภัยพิบัติ แต่ก็มีบางสายพันธ์ุที่ยังคงเจริญเติบโตได้แม้ในช่วงเวลาโกลาหลดังกล่าว นั่นคือสิ่งมีชีวิตที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องราวของเรา (ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องเป็น) ฟังไจ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กซึ่งลักษณะคล้ายหนู ที่รู้จักกันในชื่อ “เท็นเรค” (ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง)

เมื่อปราศจากแสงแดด พืชส่วนใหญ่ก็จะเฉาตายอย่างรวดเร็ว แต่ฟังไจยังอยู่รอดได้เพราะพวกมันไม่พึ่งพาแสงแดด ฟังไจย่อยสลายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ตายลงไปอย่างเอร็ดอร่อยและเพลิดเพลิน (เพราะอย่าลืมว่าพวกมันสามารถหาอาหารเองได้)

แล้วเจ้าตัวเท็นเรคล่ะ?

สืบเนื่องมาจากอุณหภูมิที่ลดลงและอาหารกลายเป็นสิ่งที่หายาก สัตว์ส่วนใหญ่ที่รอดจากแรงปะทะมาได้ก็ถูกฆ่าด้วยโรคจากเชื้อรา หรือไม่ก็ต้องอดตายเนื่องจากห่วงโซ่อาหารถูกทำลาย แต่ไม่ใช่สำหรับเจ้าเท็นเรค

เท็นเรคเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะคล้ายหนู ซึ่งอาศัยอยู่ใต้ดินที่ซึ่งคอยปกป้องพวกมันจากสภาพอากาศอันเลวร้ายบนพื้นโลก อาหารโปรดของพวกมันอย่างแมลงและพืชน้ำ ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นกัน

เท็นเรคสามารถจำศีลแต่ละครั้งได้นานถึง 9 เดือน สิ่งนี้เองที่ช่วยป้องกันพวกมันจากสภาวะแวลล้อมที่ผันผวนในระยะสั้น และทำให้พวกมันสามารถอยู่รอดในเกมการแข่งขันนี้ได้นานกว่า การป้องกันที่ดีคือการโจมตีที่ยอดเยี่ยมที่สุด

บิตคอยน์ทำให้ผมนึกถึงเท็นเรค ทั้งสองสิ่งนี้มีชีวิตอยู่ใต้พื้นดินและเจริญเติบโตภายใต้ความไม่แน่นอน บิตคอยน์ก็ต้องการอยู่รอดให้ได้นานกว่าคู่แข่งเช่นเดียวกับเท็นเรค

ดังที่ “ซูน วู” เคยกล่าวไว้ว่า :

“เมื่อเจ้ารอที่ริมแม่น้ำได้นานพอ ร่างของศัตรูก็จะลอยผ่านเจ้าไป”

ต้องขอบคุณเจ้าเท็นเรค

ปรากฏว่าเท็นเรคเป็นบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด หรือกล่าวคือ เหตุผลเดียวที่ผมและคุณยังมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ได้ ก็เพราะเจ้าเท็นเรคตัวจิ๋วสามารถเอาชีวิตรอดจากหายนะ ที่จบชีวิตไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนมาได้..

ยืนหยัดบนไหล่ของไมซีเลียม

แม้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะเริ่มต้นได้ช้า แต่พวกเราก็สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทได้ภายในช่วงล้านปีที่ผ่านมา หนึ่งเดียวจากสายพันธุ์วานรนามว่า “โฮโมเซเปียนส์ (สายพันธุ์ของมนุษย์ยุคปัจจุบัน) สามารถครอบครองโลกใบนี้ได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียงไม่นาน

หลักฐานในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์มนุษย์มีอายุเพียงแค่ราว ๆ 5 แสนปีเท่านั้น ซึ่งทำให้เราเป็นสปีชีส์ที่ยังค่อนข้างใหม่ และเพื่อให้คุณเห็นภาพชัดขึ้น สายพันธุ์ของช้างยุคใหม่นั้นมีอายุอยู่ที่ราว 5 ล้านปีเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเราอย่าง “ฟังไจ” มนุษย์ได้สร้างความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาโดยตลอด นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน อันที่จริงแล้ว พวกเราต่างก็ติดหนี้บุญคุณของสิ่งมีชีวิตแบบเครือข่ายที่เราเรียกพวกมันว่าฟังไจ

มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐาน

ฟังไจที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง มีชื่อว่า “เซคคาโรไมซีส เชเรวิเชีย” (Saccharomyces Ccerevisiae) หรือที่รู้จักกันในนาม “ยีสต์หมักเบียร์”

การทำเกษตรกรรมของมนุษย์เริ่มมีปรากฏให้เห็นเมื่อประมาณ 11,500 ปีก่อน (แม้ว่าที่จริงมันอาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมานานแล้วก็ตาม) สิ่งที่น่าสนใจคือผลผลิตของพืชชนิดแรกที่เราเพาะปลูกจะเป็นธัญพืช ที่ดันเหมาะที่สุดสำหรับการทำเบียร์ ทำให้เกิดคำถามที่ว่า : นี่พวกเราปักหลักตั้งถิ่นฐานเพื่ออาหารและความมั่นคง หรือจริง ๆ เพื่อหมักเบียร์เพิ่มกันแน่นะ?

ผลจากการศึกษาพบว่า เครื่องดื่มจากการหมักบ่ม (เช่น เบียร์, ไวน์ และสุราอื่น ๆ) เป็นวิธีที่ทำให้สามารถดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากน้ำดื่มในสมัยนั้นมักจะมีเชื้อโรคที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้

แม้ว่าตอนนั้นเราอาจจะยังไม่รู้ตัวกันก็ตาม แต่มนุษย์ก็ได้สร้างความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับฟังไจขึ้นมาแล้ว เพื่อผลิตเครื่องดื่มทางเลือกที่ช่วยชีวิตผู้คนอีกมากมายได้

และแม้ในปัจจุบันฟังไจจะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่พวกเรายังคงจำเป็นต้องพึ่งพาพันธมิตรอย่างฟังไจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะหากไม่มีฟังไจแล้วล่ะก็ เราก็คงต้องบอกลาเบียร์, ไวน์, ช็อคโกแลต, ขนมปัง รวมถึงยารักษาโรค เช่น เพนิซิลิน และยาอีกมากมายได้เลย

เช่นเดียวกันกับคนยุคโบราณที่ร่วมมือกับฟังไจเพื่อเอาชีวิตรอด คนสมัยใหม่อย่างพวกเราก็ได้รับโอกาสที่คล้ายคลึงกันที่จะได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบิตคอยน์…

มนุษ์เริ่มตั้งถิ่นฐาน

การสร้างภาวะซิมไบโอซิสกับบิตคอยน์ให้สำเร็จลุล่วง

อย่างที่พวกเราได้ทราบว่าทั้งฟังไจและบิตคอยน์ต่างจับมือเป็นพันธมิตรทางชีวภาพกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพื่อเริ่มต้นชีวิต และสร้างระบบที่มีความสามารถในการขจัดความเปราะบาง เรามาปิดท้ายกันด้วยการสำรวจว่ามนุษย์จะสามารถร่วมมือกับบิตคอยน์ เพื่อพัฒนาตนเองและยกระดับเผ่าพันธุ์ของพวกเราได้อย่างไร

“ปัญหาที่แท้จริงของมนุษย์มีดังนี้ : เรามีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างจากคนยุคหิน; เรามีแบบแผนและสถาบันต่าง ๆ ที่ล้าหลังค่ำครึ; แต่เรากลับมีเทคโนโลยีสุดล้ำขั้นเทพ”

- อี.โอ. วิลสัน

เงินเป็นกลไกแห่งความร่วมมือที่สำคัญในสังคม และระบบเงินเฟียตที่มีอยู่ในปัจจุบันกำลังผลักสายพันธุ์ของเราให้ตกลงสู่หน้าผา แทนที่เราจะมานั่งเถียงกันระหว่างฝั่งแดงกับฝั่งน้ำเงิน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจัดการกับต้นตอที่สร้างความป่วยภายในสังคม ถึงเวลาแล้วที่เราจะปลดปล่อยเงินให้เป็นอิสระ

เงินเฟียตเริ่มมีบทบาทเป็นระยะ ๆ ตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตามมันถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาไม่นาน เพราะตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ มนุษย์จะทำงานร่วมกันในตลาดเสรีเพื่อเงิน ซึ่งมีทองคำและแร่เงินเป็นเงินสกุลหลัก ถึงเวลาแล้วที่เราจะฟื้นขึ้นจากอาการโคม่าของเงินเฟียต

บิตคอยน์คือฟีโนไทป์ (Phenotype) ที่เพิ่มขึ้นมาของมนุษยชาติ

การเพิ่มขึ้นของ “ฟีโนไทป์” (หรือลักษณะที่ปรากฎออกมาที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า) นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ขยายความสามารถตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต เราอาจพิจารณา “เขื่อนที่สร้างมาจากเจ้าตัวบีเวอร์” เป็นตัวอย่างที่ดีในประเด็นนี้ได้ บิตคอยน์เองก็คือฟีโนไทป์ที่เพิ่มขึ้นมาของมนุษยชาติ มันลดการอาศัยความเชื่อใจกันในสังคมระดับโลกด้านการส่งมูลค่าระหว่างกัน ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือกันแบบตรงไปตรงมามากขึ้นได้

นี่เป็นโอกาสสุดพิเศษในการกำหนดโครงสร้างทางสังคมขึ้นมาใหม่ ด้วยการใช้เงินที่แยกตัวออกมาจากอำนาจรัฐ หรือที่รู้จักกันในนามของ “เงินที่เป็นธรรมชาติ” มันคือชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะสร้างภาวะซิมไบโอซิสกับขุมพลังดังกล่าว

อนุญาตให้คุณพักหายใจหายคอกันอีกสักครั้ง เพราะเราโชคดีเหลือเกินที่มีชีวิตอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้

ทุกอย่างมันเริ่มจากการที่ผู้คนสร้างภาวะซิมไบโอซิสกับบิตคอยน์

บิตคอยน์ เป็นสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มันได้สร้างความมั่งคั่งเหนือจินตนาการให้กับเหล่าผู้บุกเบิกในช่วงแรก โดยนอกจากผลกำไรแล้ว แต่ละคนก็ยังได้รับประโยชน์จากบิตคอยน์ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เป็นที่น่าสนใจว่ามูลค่าที่ถูกฝังอยู่ในบิตคอยน์นั้น ดูเหมือนจะมีผลต่อเหล่าสาวกของมันด้วยเช่นกัน

ในฐานะสินทรัพย์ที่มีภาวะเงินฝืด บิตคอยน์สอนให้เราชะลอการบริโภคลงในวันนี้ เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้นในวันข้างหน้า (หรือให้เรามี Low time preference นั่นเอง)

ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน บิตคอยน์ยังคงทิ้งแง่คิดดี ๆ ให้กับเรา ซึ่งแทนที่เราจะเข้าไปเปลี่ยนระบบที่เป็นอยู่จากภายใน เราสามารถขนย้ายพลังงานของเราไปไว้ยังระบบคู่ขนานได้

บิตคอยน์บังคับให้พวกเราต้องรับผิดชอบต่อความมั่งคั่งของตัวเอง มันสามารถเป็นได้ทั้งคำอวยพรและคำสาป ในโลกที่คนไม่มีความรับผิดชอบในตัวเอง บิตคอยน์จะเป็นสิ่งที่คอยทำหน้าที่เตือนสติพวกเขา

การเป็นพันธมิตรกับบิตคอยน์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับแต่ละบุคคล แต่ทว่า.. มันจะดีสำหรับมนุษยชาติโดยรวมหรือเปล่า?

การเข้ารหัสเป็นศาสตร์ขั้นพื้นฐานของการป้องกันตัว

บิตคอยน์นับเป็นการนำเอา “Public Key Cryptography” หรือศาสตร์การเข้ารหัสด้วยพับลิกคีย์ มาใช้งานครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา โลกที่มีการเข้ารหัสอันแข็งแกร่งจะเปลี่ยนสมดุลทางอำนาจให้กลายมาเป็นโล่คอยป้องกัน ต่อต้านเหล่าเผด็จการ, การปกปิดข้อมูลข่าวสาร, รัฐบาลบ้าอำนาจ และระบบทุนนิยมสอดแนม (หรือ Surveillance Capitalism)

ศาสตร์การเข้ารหัสช่วยให้เราอ้างสิทธิที่ควรมีตามธรรมชาติของเราได้ บิตคอยน์ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก, ทำให้มั่นใจว่าเราสามารถ “โหวตด้วยเงินของเรา” ได้ ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกคือรากฐานของสังคมที่เปิดกว้าง การสร้างภาวะซิมไบโอซิสกับบิตคอยน์จะดำรงไว้ซึ่งอิสรภาพให้กับลูกหลานของเราสืบไป และนี่คือเหตุผลที่ควรค่าแก่การต่อสู้

บิตคอยน์ย่อยสลายโครงสร้างสังคมเฟียต

เราสามารถใช้ฟังไจเพื่อขจัดคราบน้ำมัน, ป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน, สร้างสารกำจัดศัตรูพืชทางธรรมชาติ หรือแม้แต่ย่อยสลายกากนิวเคลียร์ในเชอร์โนบิลได้ และในทำนองเดียวกัน บิตคอยน์ก็สามารถถูกนำมาใช้เพื่อเก็บกวาดซากปรักหักพังและเสื่อมโทรมของระบบเงินเฟียตได้เช่นกัน

สาระความรู้เกี่ยวกับฟังไจ : ฟังไจแก้ปัญหาของพวกเรามาแล้วมากมาย
โดยที่เราแทบไม่ได้เข้าใจปัญหาเหล่านั้นเลย การบำบัดทางชีวภาพโดยเชื้อ
รา (Mycoremediation) เป็นความรู้สาขาใหม่ที่จะช่วยยกระดับความเข้าใจ
ของพวกเราเกี่ยวกับเชื้อรา เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น หรือเรียกว่า
“เชื้อราวิทยาแบบประยุกต์” นั่นเอง

ทุกวันนี้เรากำลังประสบกับการเพิ่มปริมาณของอุปทานเงินในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ บิตคอยน์เป็นสินค้าประเภทเงินที่มีอุปทานอยู่อย่างจำกัด มันจึงทำหน้าที่ต่อต้านการพิมพ์เงินอย่างไร้การควบคุมไปโดยปริยาย ในระยะสั้น ผู้คนจะใช้บิตคอยน์เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกควบคุมเงินทุนส่วนบุคคลโดยรัฐบาล และป้องกันความเสี่ยงจากสกุลเงินประเทศตัวเองล้มเหลว ส่วนในระยะยาว บิตคอยน์จะปลูกฝังแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมให้กับเหล่าธนาคารกลาง โดยจะเริ่มจากประเทศที่กำลังพัฒนา

ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่างอเมริกา คนทั่วไปทำงานเป็นเวลา 40 ปี และไม่เคยได้รับความก้าวหน้าในชีวิต ระบบที่เป็นอยู่ถูกออกแบบมาเพื่อสูบเอาความมั่งคั่งจากคนกลุ่มล่างขึ้นสู่คนกลุ่มบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตทางการเงินแต่ละครั้งมันยิ่งทำให้เห็นได้ชัดเจน เนื่องจาก “เวลาคือเงิน” ระบบการถ่ายโอนความมั่งคั่งนี้จึงควรถูกพิจารณาว่าเป็นระบบที่คอยขโมยเวลาของผู้คน ..อย่าอย่ายอมให้มันเอาเปรียบ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสู้กลับ

ทุกครั้งที่คุณซื้อบิตคอยน์ นั่นหมายถึงคุณกำลังขายดอลลาร์ มันถึงเวลาแล้วที่เราจะเข้าร่วมในการปฏิวัติอย่างสันติ จงครอบครอง UTXO กันเถอะ!

ค่าเสียโอกาสของการไม่ยอมรับบิตคอยน์

ลองนึกถึงของเสียทั้งหมดที่เกิดจากระบบเฟียต ทั้งการพิมพ์เงินออกมาช่วยอุ้มธนาคาร สงครามการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น และการจัดสรรเงินทุนอย่างไม่เป็นธรรม ของเสียเหล่านี้จะลดลงอย่างมาก (หากไม่โดนกำจัดออกไปจนหมดสิ้น) ภายใต้ระบบการเงินที่มั่นคง

ในแต่ละปีที่เราล่าช้า เราจะจ่ายค่าเสียโอกาสที่กำลังเพิ่มขึ้น แทนที่เราจะถูกทำลายความมั่งคั่งไปโดยไม่จำเป็น เราจะสามารถนำเงินอันมีค่านี้มาลงทุนให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง?

“เราให้คำมั่นว่าจะสร้างรถที่บินได้ และสุดท้ายสิ่งที่เราทำได้กลับมีเพียงโซเชียลแพลตฟอร์มที่พิมพ์ได้แค่ 140 ตัวอักษร”

- ปีเตอร์ ธีล

แล้วการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารล่ะ? หรือการลดความเสี่ยงจากการ “ล่มสลาย” ของอารยธรรมจากโรคระบาดหรือสงครามนิวเคลียร์? ทรงกลมไดสันล่ะเป็นยังไง?
การทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อยล่ะ? หรือแม้แต่การจัดการกับโรคติดต่อ และการลดอัตราการตายของทารกแรกเกิด?

มาขานรับยุคเรเนซองส์แห่งบิตคอยน์ไปด้วยกันเถอะ..

บิตคอยน์เผยให้เห็นความเสี่ยงอย่างหมดเปลือก

แทนที่จะคงอยู่ในระบบการเงินอันมืดมน ซึ่งถูกออกแบบให้ความร่ำรวยของคนเพียงไม่กี่คนเกิดมาจากการเสียสละของคนส่วนใหญ่ ได้เวลาขานรับกับระบบการเงินที่มีความโปรงใสมากขึ้น ระบบที่จะเปิดเผยให้ทุกคนได้พบกับความเสี่ยงที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้ระบบราชการ และการหลอกลวง

เงินเฟียตเป็นระบบสารเคมี เปรียบได้กับการทำฟาร์มเกษตรเชิงเดี่ยว ที่วางแผนการเพาะปลูกจากส่วนกลาง อ่อนแอต่อโรค ไม่ยั่งยืนและเปราะบาง เฟียตให้เสถียรภาพด้านราคาได้ในระยะสั้น โดยแลกกับความเสี่ยงเชิงระบบในระยะยาว อีกนัยหนึ่งคือ เราไม่ได้คำนึงถึง “ความเสี่ยงหางอ้วน หรือ Fat tail risks” เช่น ธนาคารล้มละลายหรือโรคระบาดทั่วโลก ทั้งสองตัวอย่างที่ว่ามาจะนำไปสู่การถ่ายโอนความมั่งคั่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

บิตคอยน์นั้นมีลักษณะตรงกันข้าม มันเป็นระบบธรรมชาติคล้ายกับป่าฝนดึกดำบรรพ์ มีการแข่งขันอย่างดุเดือด มีการเจริญเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป มีความยั่งยืนและขจัดความเปราะบาง บิตคอยน์ยอมรับความผันผวนของราคาในระยะสั้นเพื่อแลกกับเสถียรภาพของระบบในระยะยาว

บิตคอยน์ทำให้เกิดระบบการเงินที่มีความสามารถในการขจัดความเปราะบาง นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติอย่างแท้จริง

บิตคอยน์ส่งเสริมอิสรภาพด้านพลังงาน

บิตคอยน์ต้องการใช้พลังงานต้นทุนต่ำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหล่าผู้ขุดต่างเสาะหาพลังงานราคาถูกจากทั่วทุกมุมโลก สิ่งนี้กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการผลิตพลังงานราคาถูก เช่น การใช้ก๊าซธรรมชาติส่วนเกิน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นต้น

กำลังแฮชของระบบบิตคอยน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ราคาจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ตาม เหล่านักขุดบิตคอยน์กำลังเปิดสัญญาซื้อในบิตคอยน์กันอย่างพร้อมเพรียง พวกเขารู้อะไรที่คุณยังไม่รู้หรือเปล่า? แทนที่เราจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ มันถึงเวลาแล้วที่เราจะเป็นพันธมิตรกับความเป็นจริง (หมายเหตุผู้แปล : บทความนี้อ้างอิงข้อมูลภายใต้บริบท ณ ช่วงเวลาที่ถูกเขียนขึ้น คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2020)

Mining hash rate

กำลังแฮชของบิตคอยน์ยังคงพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ (อ้างอิงจาก www.bitcoinvisuals..com)

สมมติว่าบิตคอยน์ยังคงเส้นทางการสร้างรายได้แบบนี้ได้ต่อไป ในที่สุดแล้ว การขุดบิตคอยน์จะกลายเป็นเรื่องของความมั่นคงระดับประเทศชาติ ประเทศใดก็ตามที่สามารถผลิตพลังงานเองได้ และนำพลังงานนั้นมาขุดบิตคอยน์ ก็จะมีข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าประเทศที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน

สาระความรู้เกี่ยวกับฟังไจ : เชื้อเพลิงฟอสซิล (หรือเชื้อเพลิงที่มีสารประกอบไฮโดรคาร์บอน) ได้กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในยุคโบราณผ่านการดูดซับของพืชในกระบวน การสังเคราะห์ด้วยแสง สิ่งที่น่าสนใจ คือ ถ่านหินทั้งหมดในโลกก่อตัวขึ้นในยุค “คาร์บอนิเฟอรัส” กระบวนการนี้สิ้นสุดลงเมื่อราวๆ 300 ล้านปีก่อน หลังจากฟังไจเรียนรู้วิธีที่จะย่อยสลายลิกนิน ลิกนินเป็นพอลิเมอร์ที่ทำให้พืชมีโครงสร้างที่แข็งแรง และเป็นสารตั้งต้นในการเกิดถ่านหิน ถ่านหินเป็นเพียงซากพืชที่ถูก “ย่อยสลายเพียงครึ่งเดียว” โดยฟังไจดึกดำบรรพ์ ในขณะที่ฟังไจยุคใหม่สามารถย่อยสลายลิกนินได้ ทำให้กระบวนการสร้างถ่านหินต้องหยุดลงไปในที่สุด

สิ่งนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการจัดหาแหล่งพลังงานระดับท้องถิ่นไม่ว่าจะมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล, เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์, พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกอื่น ๆ และในระยะยาวที่โลกเต็มไปด้วยแหล่งพลังงานระดับท้องถิ่น ย่อมก่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน บิตคอยน์เองก็เป็นเช่นเดียวกับฟังไจ ตัวมันคือ เนื้อเยื่อล่องหนที่ช่วยเพิ่มสุขภาวะของทุกระบบนิเวศที่มันเข้ายึดครอง

มนุษยชาติจะรวมกันเป็นปึกแผ่นด้วยเงินที่เป็นกลาง

สภาวการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันได้มอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีอำนาจเหนือการพิมพ์เงิน ซึ่งก็หมายถึงรัฐที่ทรงอิทธิพลในระดับโลก, ธุรกิจการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ที่กำลังแก่งแย่งชิงดีกันอยู่เบื้องหลัง

“ปล่อยให้ฉันได้ควบคุมเงินทั้งประเทศ และฉัน ไม่แคร์ว่าใครจะเป็นคนเขียนกฎหมายทั้งนั้น”

- เมเยอร์ อัมเชล รอธส์ไชลด์

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น บิตคอยน์เป็นเงินที่มีความเป็นกลาง และถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ใครมีสิทธิพิเศษในการใช้อำนาจควบคุมเงินได้ มันทำให้เกิดการแข่งขันที่มีความยุติธรรมมากขึ้น

เหตุใดรัฐบาลจึงจะยอมละทิ้งแท่นพิมพ์เงินของพวกเขาล่ะ?

ในโลกหลังยุคสมัยของระบบสกุลเงินดอลล่าร์ รัฐชาติทั้งหลายจะไม่เห็นด้วยกับเงินสำรองสกุลใหม่ ตามหลักเหตุผลแล้ว แต่ละรัฐย่อมต้องการชำระหนี้ด้วยสกุลเงินของตนเอง เราได้เริ่มเห็นรอยร้าวในการครอบครองอำนาจของสกุลเงินดอลล่าร์ในหลายประเทศ เช่น จีน, รัสเซีย และอิหร่าน บิตคอยน์ตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวอย่างลงตัว


บิตคอยน์สามารถตรวจสอบได้ทุกกระบวนการ, มีขีดจำกัดของจำนวนอุปทานคงที่ และเสนอระบบการชำระเงินที่มีความรวดเร็ว มันเป็นเงินที่เป็นกลางอย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับใช้ในการชำระหนี้ภายใต้รัฐชาติที่ไม่มีความน่าไว้วางใจ ในมุมมองนี้บิตคอยน์จึงเปรียบเสมือนเงินสำหรับเหล่าศัตรู

มันถึงเวลาแล้วที่เราจะยกระดับมนุษยชาติผ่านการสร้างภาวะซิมไบโอซิสกับบิตคอยน์

สังคม เห็ด รา

เรามาสรุปเรื่องราวทั้งหมดกันดีกว่า

เรื่องราวของชีวิตบนโลกสามารถสรุปได้ดังนี้ว่า : ความสำเร็จมักเกิดขึ้นกับเหล่าผู้ที่สร้างความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับสิ่งมีชีวิตแบบเครือข่าย (โดยเฉพาะกับ ฟังไจ)

ในฐานะเผ่าพันธุ์วานรผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะสร้างภาวะซิมไบโอซิสกับบิตคอยน์ เราต้องพยายามทำความเข้าใจในปรากฏการณ์นี้ เพื่อที่เราจะได้ดูแลบิตคอยน์ตลอดชีวิตในช่วงวัยรุ่นของมัน

เช่นเดียวกับขณะที่ฟังไจกำลังเริ่มตั้งรกรากบนพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งเป็นเสมือนการเร่งวิวัฒนาการทางชีวภาพให้เกิดขึ้นบนดาวโลก บิตคอยน์ก็เป็นเสมือนตัวเร่งสำหรับวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์เช่นเดียวกัน

เราจะโอบกอดบิตคอยน์ไปด้วยกัน หรือจะรอรับชะตากรรมแบบเดียวกับที่พวกไดโนเสาร์เคยเจอ…?

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน
แบรนดอน

ป.ล. ใครคือผู้ผลักดันเรื่องนี้?

ฟังไจทำให้เกิดชีวิตที่มีความซับซ้อนขึ้นบนโลก ซึ่งในที่สุดก็ได้เปิดทางให้กับมนุษย์ ปัจจุบันเรากำลังสร้างอินเทอร์เน็ตและบิตคอยน์ ซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีลักษณะคล้ายกับต้นแบบเครือข่ายไมซีเลียมที่เราเพิ่งได้ศึกษากันไป

ในการออกแบบระบบดังกล่าว เราไม่ได้ตั้งใจเลียนแบบเครือข่ายของไมซีเลียม อย่างไรก็ตาม สัตว์ได้ถูกจำแนกพวกแยกจากฟังไจตั้งแต่เมื่อหลายล้านปีก่อนแล้วตามอนุกรมวิธาน มนุษย์ได้วนกลับมาบรรจบกับเหตุการณ์นี้อีกครั้ง นักเรียนในอดีตได้กลายมาเป็นครูแล้วในวันนี้

มันคือสิ่งที่เราไม่อาจเลี่ยงได้ใช่ไหม?

ดูเหมือนต้นแบบไมซีเลียมจะถูกฝังอยู่ในสายพันธุ์ของเรา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงสร้างแบบเครือข่ายได้ปรากฎออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่ามันจะเกิดบนความตั้งใจหรือเป็นเพียงเหตุบังเอิญ ไมซีเลียมเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าเทคโนโลยีแบบเครือข่ายทั้งหลาย เมื่อมันได้ถูกพวกเราค้นพบแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้จะยังคงอยู่ได้จากความสามารถในการขจัดความเปราะบางของพวกมันนั่นเอง

ผู้คนมากมายกล่าวอ้างว่าพวกเรา “ค้นพบบิตคอยน์” ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว แต่มันน่าจะถูกต้องกว่านี้หากเราจะบอกว่า “พวกเราได้ค้นพบบิตคอยน์อีกครั้ง” มันเป็นสิ่งที่คล้ายกับต้นแบบไมซีเลียมซึ่งเหมือนเป็นมรดกตกทอดทางธรรมชาติ นั่นหมายความว่า บิตคอยน์เป็นสิ่งที่พวกเราไม่อาจเลี่ยงได้…

ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในบิตคอยน์ และสนับสนุนผลงานของพวกเรา Right Shift เสมอมา อย่าลืมแบ่งปันบทความที่มีเนื้อหาสาระดี ๆ ให้คนที่คุณรักกันนะครับ

รายชื่อทีมงานร่วมแปลบทความ

  • อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์ (ปิรันย่า)
  • จักรพันธ์ วันดี (ตั้ม)
  • จัตตุพร ใจกล้า (นิว)
  • สิรภพ นิลบดี (ขิง)
  • วัชรพงศ์ ฤทธิ์คัมภีร์ (อิสร)
  • ปิยะพงษ์ ภู่ขำ (จิงโจ้)
  • ภัทรพล นวลใย (อั๋น)
Right Shift

Right Shift Co., Ltd. Official Team

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

บิตคอยน์
Exclusive Interview
Right Shift

New year Gift : บทสัมภาษณ์ อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์

เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว นับจากวันที่ “อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์” ตัดสินใจบอกลาระบบเฟียตเพื่อหันมาทุ่มเทให้กับสิ่งที่เจ้าตัวเชื่อมั่น วันนี้คงไม่มีใครในวงการบิตคอยน์ไทยที่ยังไม่รู้จักกับปูชนียบุคคลท่านนี้ จากจุดเริ่มต้น ณ รายการ “เลิกเม่า” จนโด่งดังสุด ๆ ไปกับรายการ “CDC BitcoinTalk” การเดินทางอันแสนยาวไกลของ อ.พิริยะ ได้พาให้พวกเราทุกคนมาพบกับ “Right Shift” ในวันนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็น “Bitcoin Only Company” แห่งแรกของไทยที่เปิดตัวออกสู่สายตาสาธารณชน

Read More »
Bitcoin เดชา
Exclusive Interview
Right Shift

สัมภาษณ์ นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล Lightning Expert ของไทย

ผมมองว่า Fundamental ของ Bitcoin กับ Use case ของ Bitcoin มันเป็นด้าน 2 ด้านที่เป็นเสาหลักของมัน Bitcoin มันจะมีมูลค่าเป็นที่สะสมความมั่งคั่งได้ ไม่ใช่เพราะเรื่อง Fundamental หรือเรื่อง Proof of work อะไรนั่นอย่างเดียวหรอก มูลค่าของมันไม่ใช่แค่เพียงในฐานะ Store of value แต่เพราะมันมีความสามารถในการถูกนำมาใช้เป็น เงิน ที่ใช้ได้ดีกว่าเงินดั้งเดิมในหลายๆ ด้าน จนมันมีประโยชน์จริงกับโลกใบนี้

Read More »
Announcement
Right Shift

ทำไมเราจึงควรเผยแพร่บทความผ่าน Right Shift ?

ฮั่นแน่! ในหัวมีแต่เรื่องบิตคอยน์ใช่ไหม สนใจอยากลองเขียนมาลงใน rightshift ให้เพื่อนๆ ได้อ่านบ้างไหมล่ะ? ใครสนใจลองเข้ามาดูรายละเอียดตรงนี้ได้เลย และบอกเลยว่าเราไม่ได้จะให้เขียนให้เราฟรีๆ หรอกนะ!!!

Read More »
Privacy & Security
Right Shift

Bitcoin Wallet

พื้นฐานความเข้าใจในการรักษาความปลอดภัยให้บิตคอยน์ แต่ก่อนทีเราจะไปเรียนรู้วิธีการใช้งานวอลเล็ต เราควรศึกษาวิธีการทำงานของวอลเล็ตเสียก่อน เพื่อทำความเข้าใจในแต่ละขั้นตอนว่ามีความสำคัญอย่างไร และลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดที่จะนำมาซึ่งความเสียหายในอนาคต

Read More »