การซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ในปัจจุบัน เรามีทางเลือกในการจ่ายเงินได้มากมายหลายวิธี เช่น การจ่ายด้วยเงินสด การสแกนจ่ายด้วย QR Code ผ่านแอปของธนาคารต่าง ๆ
ซึ่งวิธีที่สะดวกและเป็นที่นิยมมากคือจ่ายด้วย “บัตรเครดิต” หรือ “บัตรเดบิต” และในปัจจุบันบัตรเหล่านี้ทั้ง Visa และ Mastercard ต่างก็มีเทคโนโลยีการชำระเงินแบบไร้การสัมผัส (Contactless Payment) ช่วยให้เราชำระเงินได้ง่ายด้วย “การแตะบัตร” ทำให้ประสบการณ์ในการจ่ายเงินสะดวกมากขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหาที่จะมีร้านค้าทุจริตแอบนำเอาเลขบัตรของเราไปใช้
ซึ่งในโลกของไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก (Bitcoin Lightning Network) การจ่ายเงินที่เราใช้งานกันบ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นการสแกน QR Code ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Invoice หรือ LNURL ซึ่งให้ประสบการณ์ในการใช้งานนั้นไม่แตกต่างจากแอปธนาคารสักเท่าไหร่นัก
แต่การแตะ “บัตร Bolt Card” เพื่อจ่ายเงินเป็นบิตคอยน์บนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก ถือเป็นอะไรที่แปลกใหม่น่าสนใจยิ่งนัก เราไปลองทำความรู้จักเจ้าบัตรนี้กันดีกว่าครับ
บัตร Bolt Card คืออะไร?
“Bolt Card” คือ บัตรที่ใช้สำหรับชำระเงินเป็นบิตคอยน์บนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กนั่นเอง ดูได้จากคลิปด้านล่างนี้ ที่จะแสดงให้เห็นว่าวิธีแตะบัตรเพื่อจ่ายเงินนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย!
บัตร Bolt Card นั้นเปิดตัวโดยบริษัท CoinCorner ในปี 2022 เพื่อเสนอการชำระเงินด้วยการแตะบัตรแบบไร้สัมผัส ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย และทำให้ผู้ใช้บิตคอยน์ทั่วไปสามารถใช้จ่ายผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ง่ายยิ่งขึ้น
แล้วไอ้บัตร Bolt Card ที่ว่ามันทำงานอย่างไร?
เพราะโดยปกติแล้วการจ่ายเงินบนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กนั้น จำเป็นต้องใช้วอลเล็ท (Wallet) หรือโหนดไลท์นิ่ง (Lightning Node) ที่เก็บบิตคอยน์เอาไว้เพื่อใช้ในการโอนเงิน แต่บัตรที่ดูธรรมดา ๆ ที่ไม่สามารถติดตั้งแอปใด ๆ ทำไมถึงสามารถใช้โอนเงินให้กันได้ล่ะ?
เรามาลองไขข้อข้องใจในกระบวนการทำงานของมันกันครับ..
บัตร Bolt Card ทำงานอย่างไร?
การทำงานของบัตร Bolt Card ใช้เทคโนโลยี 2 อย่างทำงานร่วมกัน ได้แก่ NFC (Near Field Communication) และ LNURL
- NFC – ตัวบัตร Bolt Card นั้นจริง ๆ แล้วก็คือบัตร NFC ธรรมดามาตรฐาน ซึ่งบัตร NFC สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ที่รองรับการอ่าน NFC ได้ และใช้การสื่อสารผ่าน NFC ในการส่งข้อมูลสำหรับชำระเงินได้เช่นกัน
- LNURL – ในบัตร Bolt Card มีข้อมูลการชำระเงินอยู่ภายในบัตร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็คือ LNURL-w (ซึ่งผมได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียดในบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ LNURL แล้วครับ หากสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้)
กระบวนการชำระเงินด้วยบัตร Bolt Card ก็คือลูกค้านำบัตร Bolt Card ไปแตะกับเครื่องอ่านบัตรของร้านค้า จากนั้นบัตร Bolt Card จะส่ง LNURL-w ผ่านการสื่อสารด้วย NFC ให้กับเครื่องอ่านบัตร และเครื่องอ่านบัตรจะใช้ LNURL-w ดังกล่าวไปถอนเงินของลูกค้าผ่านบริการ “Bolt Card Service” และเกิดการโอนเงินบนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กระหว่างกัน
โดยกระบวนการทั้งหมดเป็นดังรูปต่อไปนี้ :
Reference: https://www.boltcard.org/
จะเห็นว่าบิตคอยน์ไม่ได้ถูกเก็บอยู่ในบัตร Bolt Card แต่ สิ่งที่อยู่ในบัตรคือ LNURL-w และเฉพาะตัวบัตรเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำงานได้ จำเป็นต้องมี Bolt Card Service และโหนดไลท์นิ่งด้วย เนื่องจากบิตคอยน์จะถูกเก็บอยู่บนโหนดไลท์นิ่ง ดังนั้นเมื่อเกิดการชำระค่าสินค้าหรือบริการขึ้น โหนดไลท์นิ่งจะโอนเงินบนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กไปยังวอลเล็ทของร้านค้า
อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงจะคิดว่าการใช้งานบัตร Bolt Card จำเป็นต้องเป็นแบบ Custodial เท่านั้นหรือเปล่า?
แต่ความจริงเราสามารถเลือกใช้งานได้ทั้ง Custodial และ Non-custodial ขึ้นอยู่กับความต้องการของเรา
ถ้าเปรียบเทียบการใช้งานบัตร Bolt Card อาจเทียบได้กับ “บัตรเดบิต” เนื่องจากเราต้องโอนบิตคอยน์ไปเก็บไว้บนโหนดไลท์นิ่งเสียก่อน แล้วเมื่อเกิดการชำระเงินด้วยบัตร Bolt Card ตัวบิตคอยน์ที่โอนมาเก็บไว้ก็จะถูกตัดไปตามจำนวนที่ต้องการชำระ
ซึ่งหากบิตคอยน์ที่เก็บไว้ในโหนดไลท์นิ่งมีไม่เพียงพอกับราคาสินค้าหรือบริการ การทำธุรกรรมนั้นก็จะไม่สำเร็จ
วิธีสร้างบัตร Bolt Card ทำอย่างไร?
อย่างที่ผมอธิบายไว้ข้างต้นว่าบัตร Bolt Card จำเป็นต้องทำงานร่วมกับ Bolt Card Service แปลว่าเมื่อเราต้องการใช้งานบัตร Bolt Card เราจำเป็นต้องมีทั้ง 2 สิ่งนี้ :
1. บัตร Bolt Card
สิ่งแรกคือตัวบัตร Bolt Card ที่คุณสามารถหาซื้อได้จากหลายแหล่ง เช่น CoinCorner หรือในเว็บ boltcard.org ที่มีแหล่งขาย Bolt Card อยู่หลายเจ้าให้คุณเลือกซื้อได้ตามความชอบ
คุณอาจสงสัยว่าบัตร Bolt Card มันเป็นของ CoinCorner ไม่ใช่เหรอ? ถ้าซื้อจากที่อื่นจะใช้งานได้หรือเปล่า?
ผมต้องบอกว่าจริง ๆ แล้วบัตร Bolt Card มันก็คือบัตร NFC Card แบบ “NXP NTAG424DNA” ธรรมดา ๆ นี่แหละครับ ดังนั้นบัตร NFC ที่อยู่ในมาตรฐานนี้สามารถนำมาใช้เป็นบัตร Bolt Card ได้ทั้งหมด เพียงแต่สิ่งที่แตกต่างกันคือลวดลายบนบัตรเท่านั้น เพราะการทำงานของมันเหมือนกันทุกประการ
ตัวอย่างลวดลายบัตร Bolt Card (Reference: https://www.coincorner.com/TheBoltCard)
บัตร Bolt Card ที่นิยมใช้กันส่วนใหญ่น่าจะซื้อมาจาก CoinCorner ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 4.99 Euro (ประมาณ 180 บาท) แต่บัตร Bolt Card ของเจ้าอื่นก็มีลูกเล่นในการใช้งานและมีราคาที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Laser Eyes Cards ที่ตัวบัตรจะเปล่งแสงสีแดงทุกครั้งที่แตะบัตรเพื่อชำระเงิน เหมือนกับตาเลเซอร์ที่กำลังเปล่งแสง (ดูตัวอย่างได้ในคลิปยูทูบด้านล่างนี้) ซึ่งราคาบัตรจะสูงกว่าของ CoinCorner ด้วยครับ
นอกจากบัตร Bolt Card ที่เป็นบัตรพลาสติกคล้ายกับบัตรเดบิตแล้ว ยังมีการประยุกต์นำตัวรับสัญญาณ NFC ไปใช้ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น แหวน เพื่อให้มันสามารถจ่ายเงินได้เหมือนบัตร Bolt Card (บางคนเรียกแหวนนี้ว่า Bolt Ring) ซึ่งแทนที่จะแตะบัตรก็เปลี่ยนเป็นแตะด้วยแหวนเพื่อชำระเงิน
The #BoltRing has an antenna that goes around inside the ring. It tracks best if you make a fist and put your knuckles on the reader. That´s why it looks like that. pic.twitter.com/6kIk5BF3sH
— Bitcoin Ring (@bitcoin_ring) October 17, 2022
ซึ่งเราสามารถประยุกต์นำ NFC ไปใช้กับอุปกรณ์อะไรก็ได้ตามความต้องการ ทำให้การจ่ายเงินมีรูปแบบที่แปลกใหม่น่าสนใจกว่าเดิมมาก
2. Bolt Card Service
สิ่งที่ 2 ที่จำเป็นก็คือ Bolt Card Service ซึ่งเราสามารถใช้งานแบบ Custodial เช่น ใช้งาน Bolt Card Service ที่รันอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์ของ CoinCorner ก็ได้ ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการใช้งาน
แต่อีกวิธีที่ผมแนะนำคือ lnbits
โดยบน lnbits นั้นมี Extension ชื่อ Bolt Card Service ซึ่งทำงานกับ Bolt Card ได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง lnbits จะมีทั้งแบบ Custodial ที่รันอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของคนอื่นให้เลือกใช้งานเช่นกัน (เช่น lnbits.lightningok.win ของพี่เดชา) หรือถ้าใครมีโหนดไลท์นิ่งอยู่แล้ว ก็สามารถติดตั้ง lnbits มาเชื่อมต่อกับโหนดของตัวเองก็จะเป็นแบบ Non-custodial (คือดูแลเองและจัดการเองทั้งหมด) อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน ซึ่งรูปแบบการใช้ Bolt Card Service เป็นไปตามตารางด้านล่างนี้ :
Reference: https://lasereyes.cards/how-to-use/
จากตารางคุณจะเห็นว่ามีทั้งหมด 4 วิธีในการใช้งาน Bolt Card Service
สองวิธีแรกเป็นแบบ Custodial คือใช้งานที่ CoinCorner และ lnbits Demo Server (หรือ Node ของพี่เดชาก็ถือเป็น Custodial) เป็นวิธีที่ค่อนข้างง่ายแต่ต้องไว้ใจผู้อื่น
ส่วนอีกสองวิธีคือ “lnbits Own Server” และ “Bolt Card Service” ซึ่งจะเป็นแบบ Self-custodial (หรือ Non-custodial) ที่เราต้องติดตั้ง ดูแล และจัดการด้วยโหนดของตัวเอง ซึ่งมีความยุ่งยากกว่า
บัตร Bolt Card แบบไหนเหมาะกับคนไทย?
สำหรับคนไทยที่ต้องการใช้บัตร Bolt Card ผมแนะนำ lnbits สำหรับทั้งแบบ Custodial และ Non-custodial ทั้งนี้เพราะในปัจจุบัน (ปี 2023) CoinCorner ไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย และ Bolt Card Service ที่เป็นซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส (Open-source) นั้นติดตั้งค่อนข้างยาก
จากขั้นตอนที่ผมศึกษาดูมาแล้ว คือคุณต้องติดตั้ง Go, Postgres Database, Bolt Card Service ด้วยตัวเอง แล้วยังต้อง Config อะไรอีกมากเพื่อใช้งานบัตร Bolt Card เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่คุ้มค่าเลย!
(ดูวิธีการได้ที่ https://github.com/boltcard/boltcard/blob/main/docs/INSTALL.md)
สำหรับใครที่จะใช้แบบ Non-custodial ซึ่งต้องมีโหนดไลท์นิ่งของตัวเองอยู่แล้ว ผมขอแนะนำว่าให้ติดตั้ง lnbits ไปเลยดีกว่า เพราะแม้จะติดตั้งยากเหมือนกัน แต่ก็มีฟังก์ชันอื่น ๆ ให้ใช้งานเยอะกว่ามาก
สรุปว่าผมแนะนำ lnbits ในการใช้งาน Bolt Card Service ซึ่งสามารถดูวิธีการ Config ต่าง ๆ ได้จากช่องยูทูบของ lnbits ครับ
การใช้บัตร Bolt Card ปลอดภัยหรือเปล่า?
คุณอาจเห็นว่าการใช้งานบัตร Bolt Card นั้นแค่แตะบัตรก็สามารถตัดเงินจากเราทันที ซึ่งมันง่ายก็จริง แต่ก็อาจจะทำให้หลายคนเกิดความกังวลถึงความปลอดภัยในการใช้งาน
ผมต้องย้ำว่าตัวบัตร Bolt Card คือ NFC Card แบบ NXP NTAG424DNA ซึ่งมีการเข้ารหัสข้อมูลแบบ AES-128 ซึ่งทุกครั้งที่แตะบัตรเพื่อจ่ายเงิน ข้อมูลที่ส่ง คือ LNURL-w ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง และค่านี้จะถูกตรวจสอบบน Bolt Card Service เพื่อยืนยันว่ามาจากบัตร Bolt Card ของเราจริง ๆ
จุดนี้ช่วยป้องกันการนำ LNURL-w ที่เคยใช้งานแล้วมาเก็บเงินซ้ำ เพราะร้านค้าที่รับเงินจากเราไปแล้ว ไม่สามารถนำ LNURL-w ที่เคยเรียกเก็บเงินแล้วมาเก็บเงินซ้ำอีกครั้งได้
ปัจจุบันนี้บัตร NFC Card มีหลายมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่ที่ใช้งานในประเทศไทยน่าจะเป็นมาตรฐาน NTAG215 ทั้งนี้เพราะมีราคาถูกและสามารถเก็บข้อมูลได้มาก แต่มาตรฐานนี้ไม่รองรับ Dynamic URL ทำให้ไม่ปลอดภัยเมื่อนำมาใช้สำหรับเป็นบัตรจ่ายเงิน ดังนั้นถ้าคุณจะนำบัตร NFC Card ทั่วไปมาใช้เป็นบัตร Bolt Card ก็จำเป็นต้องใช้บัตรที่เป็นมาตรฐาน NXP NTAG424DNA เท่านั้น
และอีกเรื่องนึงที่คุณอาจกังวล คือการเก็บรักษาบัตร Bolt Card
ในปัจจุบันเรามีอุปกรณ์ที่ป้องกันการส่งคลื่น NFC ได้ เช่น กระเป๋าสตางค์แบบป้องกัน NFC หรือซองใส่บัตรป้องกัน NFC เราจำเป็นต้องเก็บบัตร Bolt Card ไว้ในซองใส่บัตรหรือประเป๋าสตางค์แบบป้องกัน NFC เพื่อกันไม่ให้ใครแอบเอาอุปกรณ์อ่านบัตรมาใช้โดยเราไม่รู้ตัว เพราะ ข้อเสียของบัตร Bolt Card ในเวลานี้ คือ แค่เพียงแตะบัตรก็จ่ายเงินได้โดยไม่มีรอการยืนยันจากเจ้าของบัตรเลย
เนื่องจากบัตร Bolt Card มีไว้ใช้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เราจึงไม่ควรเก็บเงินที่จะใช้งานบัตร Bolt Card ไว้จำนวนมากเกินไป เราอาจเก็บเงินไว้แค่พอใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น และเงินเก็บระยะยาวควรเก็บในรูปแบบอื่นน่าจะปลอดภัยกว่าครับ
จะใช้บัตร Bolt Card ได้ที่ไหนบ้าง?
ในปัจจุบันร้านที่รับชำระด้วยบัตร Bolt Card ยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป (ในประเทศไทยผมยังไม่เคยเห็นนะครับ) โดยเราสามารถเช็คร้านค้าที่รับบัตร Bolt Card ได้ที่ https://btcmap.org/map# ซึ่งร้านที่รับบัตรก็จะมีไอค่อนรูป ปรากฏที่โปรไฟล์ของร้านค้าครับ
จากรูปตัวอย่างร้านขายอาหารสัตว์ในฟิลิปปินส์นั้นรับชำระด้วยบิตคอยน์แบบ “On-chain” แบบไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก และรับผ่านบัตร Bolt Card ด้วยครับ
แล้วร้านค้าที่สนใจจะรับชำระด้วยบัตร Bolt Card ต้องทำอย่างไร?
สำหรับร้านค้าที่สนใจรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์ผ่านบัตร Bolt Card สามารถทำได้ไม่ยากครับ โดยอย่างแรกที่ต้องมี คือ อุปกรณ์ที่สามารถอ่าน NFC ได้ ซึ่งทุกคนน่าจะมีอยู่แล้ว นั่นก็คือโทรศัพท์มือถือ! (แต่ต้องเป็นรุ่นที่มี NFC นะ)
โดยคุณสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันที่รองรับระบบชำระเงินด้วย NFC ได้ เช่น Breez VoltPay และ LNbits TPoS เป็นต้น ตรวจสอบรายการแอปที่รองรับบัตร Bolt Card ที่เริ่มมีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ได้ที่ https://www.boltcard.org/
คุณจะเห็นได้ว่ารูปแบบการใช้งานไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กนั้นมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และบัตร Bolt Card ก็แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอันรวดเร็วของไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก มันทำให้การใช้จ่ายนั้นง่ายมาก ๆ อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้ทั้ง Custodial และ Non-custodial ซึ่งมีความปลอดภัยในระดับที่พอยอมรับได้ โดยยังคงคุณสมบัติของบิตคอยน์เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน
บัตร Bolt Card ทำให้เห็นแล้วว่าเราจะได้เห็นพัฒนาการของไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กที่น่าตื่นเต้นอีกมากในอนาคตครับ!
Reference: