DALL·E 2022-12-13 00.23.53 - a baby god of thunder holding lightning jumping into battlefield, pacifiers in mouth, dark lightning storm cloud background, glowing eyes, digital art cc
Siraphop N.

Siraphop N.

Lightning Network (ฉบับผู้ใช้งาน)

จะเข้าใจไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กนั้นไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินไปสำหรับคุณ และนี่คือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กที่ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างคุณควรรู้เอาไว้!

หากคุณรู้จักบิตคอยน์มากกว่าการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เทรดไปมาได้ คุณย่อมต้องเคยได้ยินคำว่า ‘ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก (Lightning Network)’ เป็นแน่ บางคนก็ว่ามัน ใช้ง่ายยิ่งกว่าพร้อมเพย์เสียอีก และบางที คุณอาจสนใจที่จะลองใช้งานเจ้าสิ่งนี้ดู

กระนั้นไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กก็เป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่อยู่มากและเข้าใจยากพอสมควร ถึงแม้ว่าเราจะสามารถใช้งานเทคโนโลยีใด ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร แต่ก็เป็นการดีกว่า (โดยเฉพาะสำหรับชาวบิตคอยน์) ที่จะทำความเข้าใจเทคโนโลยีที่เรากำลังใช้งาน เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าเราไม่ได้กำลังทำอะไรมั่วซั่ว และบางทีอาจจะได้ช่วยอธิบายให้คนอื่น ๆ ได้เข้าใจด้วยว่าเจ้าสิ่งนี้คืออะไร

เพราะฉะนั้นในบทความนี้ เราจะโฟกัสที่ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กที่คนธรรมดาในฐานะผู้ใช้งานควรจะรู้ไว้ เพื่อที่จะใช้งานไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้อย่างสบายใจ แต่ก่อนที่จะพยายามเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร เราควรถอยมาเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร

ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กคืออะไร? และมีดียังไง

สารบัญบทความ

ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา สเกลอบิลิตี้ (Scalability : ความสามารถในการขยายศักยภาพเพื่อรองรับธุรกรรมจำนวนมาก) ของบิตคอยน์ หรือก็คือเกิดขึ้นมาเพื่อตบปากพวกที่ชอบพูดพล่อย ๆ ทำนองว่า “ยี๊ บิตคอยน์โอนช้าจัง ต้องรอตั้งสิบนาที เอาไปซื้อกาแฟกว่าเงินจะถึงแม่ค้าน้ำแข็งก็ละลายหมดแล้ว”

ปัญหาสเกลอบิลิตี้เป็นหนามยอกอก (อ่านว่า ยอก-อก) สำหรับชุมชนบิตคอยน์มาหลายต่อหลายปี และมีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ในหลาย ๆ แนวทาง บ้างก็ว่าเราต้องแก้ไขระบบของบิตคอยน์เองให้สามารถรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การกำเนิดขึ้นของเหรียญอย่าง บิตคอยน์แคช (Bitcoin Cash) หรือ ไลต์คอยน์ (Litecoin) ซึ่งเราจะไม่พูดถึงแนวทางนี้อีกเพราะทันทีที่ผู้สนับสนุนแนวทางนี้ได้ทำการ ฮาร์ดฟอร์ก (hard fork) สร้างขึ้นเป็นเหรียญใหม่ พวกเขาก็ละทิ้งการเป็นชาวบิตคอยน์ไปด้วย

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่ยืนหยัดจะไม่แก้ปัญหานี้บนระบบหลักของบิตคอยน์ แต่โฟกัสไปที่การสร้างระบบรองที่เราจะสามารถโอนบิตคอยน์กันบนนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องบันทึกข้อมูลบนบล็อกเชนหลักทุกครั้งที่เราทำธุรกรรม ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กจัดอยู่ในประเภทนี้ และยังมีคู่แข่งรายอื่นอีกอย่างเช่น ลิควิดเน็ตเวิร์ก (Liquid Network) หรือถ้าจะใจกว้างหน่อย เราอาจมองว่าบริการอย่าง ไบแนนซ์เพย์ (Binance Pay) หรือการเอาบิตคอยน์ไป แร็พ (Wrap) เป็นโทเคนบนบล็อกเชนอื่นที่ทำธุรกรรมได้รวดเร็วกว่า ก็เป็นการแก้ปัญหาในแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน

แล้วในเมื่อไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กไม่ใช่ความพยายามหนึ่งเดียวที่เกิดขึ้น ทำไมมันจึงได้รับความนิยมมากมายนัก?

เพราะว่าในขณะที่ระบบรองอื่น ๆ ไม่ว่าจะเรียกว่า ‘เลเยอร์ 2 (Layer2) หรือ ‘ไซด์เชน (Side Chain) ก็ตาม ระบบเหล่านั้นเกิดขึ้นมาโดยการมีผู้สร้างระบบเป็นตัวเป็นตน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ก็ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของชาวบิตคอยน์ผู้ยึดมั่นในหลักการ ‘ไม่เชื่อใจใคร’ ความพยายามทั้งหลายที่ตามมาในการกระจายอำนาจควบคุมระบบออกไปจากตัวผู้สร้างล้วนเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ที่แม้ระบบจะทำงานได้ดีและพอจะไว้วางใจได้ มันก็เป็นระบบที่ด่างพร้อยมีมลทินมาแต่กำเนิด ซึ่งส่งผลให้การยอมรับในวงกว้างเป็นไปได้ช้าด้วย

แต่ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กไม่เป็นเช่นนั้น

ทั้ง ไลท์นิ่ง และ บิตคอยน์ เป็นโปรโตคอล (Protocol) นั่นหมายความว่าผู้ประดิษฐ์คิดค้นสองสิ่งนี้ไม่ได้สร้างระบบหรือโครงสร้างพื้นฐานอะไร แต่พวกเขาเพียงแค่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับระเบียบวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คน (ซึ่งที่จริงก็คือคอมพิวเตอร์ของพวกเขา) ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายนี้

ทั้ง ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก และ บิตคอยน์เน็ตเวิร์ก เป็น โครงข่ายกระจายศูนย์ นั่นหมายความว่าเครือข่ายนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดขึ้นมาเองเมื่อคนที่ยอมรับโปรโตคอลเดียวกัน นำคอมพิวเตอร์ของตัวเองเข้ามา สร้างการเชื่อมต่อแบบ เพียร์-ทู-เพียร์ (Peer-to-peer) กับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย

ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กจึงเป็นเครือข่ายที่มีความกระจายศูนย์อย่างแท้จริงเช่นเดียวกับบิตคอยน์ ทลายข้อจำกัดการใช้งานบิตคอยน์จากอัตรา 7 ธุรกรรมต่อวินาทีให้กลายเป็นเร็วที่สุดเท่าที่อินเตอร์เน็ตจะเร็วได้ และให้ความเป็นส่วนตัวสูงกว่า โดยที่ยังสืบทอดคุณสมบัติความแข็งแกร่งมาจากเครือข่ายหลักของบิตคอยน์

ด้วยประสิทธิภาพที่น่าประทับใจ และด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกับระบบหลักของบิตคอยน์ตั้งแต่ในระดับรากฐาน ทำให้ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วและเต็มใจจากชาวบิตคอยน์ทั่วโลก มีนักพัฒนา ธุรกิจ บริษัท ไปจนถึงประเทศ ที่วางใจจะเข้ามาลงทุน เข้ามาใช้งาน เข้ามาวางรากฐาน สร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการของตนบนระบบใหม่นี้ กลายเป็น สโนว์บอล เอฟเฟกต์ (Snowball Effect) ที่จะเร่งให้เกิดการยอมรับทั้งไลท์นิ่งและบิตคอยน์ไปพร้อม ๆ กัน

Lightning Network ทำงานอย่างไร

เช่นเดียวกับที่บิตคอยน์เน็ตเวิร์กประกอบขึ้นจากคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรม ‘Bitcoin Implementation’ (อย่างเช่น Bitcoin Core) แล้วสร้างการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายของคอมพิวเตอร์จำนวนมากขึ้นมา ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กก็เกิดจากเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรม ‘Lightning Implementation’ (อย่าง LND หรือ C-Lightning) แล้วทำการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายในลักษณะเดียวกัน

ในไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กเราเรียกคอมพิวเตอร์เหล่านั้นว่า ‘ไลท์นิ่งโหนด (Lightning Node)

แต่ว่าในขณะที่ บิตคอยน์โหนด (Bitcoin Node) รับส่งกันเพียงแค่ข้อมูลธุรกรรมและบล็อกเชน ไลท์นิ่งโหนดนั้นรับส่งบิตคอยน์

เมื่อไลท์นิ่งโหนดสองเครื่องเชื่อมต่อกัน การเชื่อมต่อนั้นคือช่องทางการส่งเงินระหว่างกันที่เรียกว่า ‘ไลท์นิ่งแชนแนล (Lightning Channel) หรือ ‘เพย์เมนต์แชนแนล (Payment Channel)

ป๊อก ๆ แป๊ก ๆ (เสียงดีดลูกคิดไปมา)

แชนแนลนี้เกิดจากการโอนบิตคอยน์เข้าไปใน ‘บิตคอยน์แอดเดรส (Bitcoin Address) แบบพิเศษที่สร้างขึ้นจาก ‘พับลิคคีย์ (Public Key) ของโหนดทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่า ‘2-of-2 Multisignature Contract’

เมื่อมีแชนแนลเกิดขึ้นและมีเงินอยู่ในแชนแนลนั้น เงินส่วนหนึ่งก็จะเป็นของโหนดฝั่งหนึ่ง และส่วนที่เหลือก็จะเป็นของโหนดอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละฝั่งสามารถผลักเงินที่อยู่ฝั่งตัวเองไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้ นั่นคือการโอนเงิน

หากอยากจินตนาการเป็นภาพ ลองนึกถึงแถวของลูกคิดดูก็ได้ (เอ๊… คนอ่านเกิดทันกันไหมนะ?)

ไลท์นิ่งแชนแนลที่สร้างขึ้นระหว่างโหนด [A] และโหนด [B]

ถ้าเห็นภาพเป็นรูปธรรมอย่างนี้แล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจธรรมชาติของไลท์นิ่งแชนแนลหลาย ๆ อย่างได้โดยไม่ต้องอธิบายยืดยาว

  • จำนวนเงินที่กองอยู่ฝั่งเรา คือจำนวนเงินสูงสุดที่เราส่งให้อีกฝ่ายได้ / จำนวนเงินที่กองอยู่ฝั่งเขา คือจำนวนเงินสูงสุดที่เรารับได้
  • เราไม่สามารถส่งเงินได้ ถ้าเงินไปกองอยู่ฝั่งเขาหมด และเราไม่สามารถรับเงินได้ ถ้าเงินทั้งหมดกองอยู่ฝั่งเรา
  • เมื่อเขาส่งเงินให้เรา เงินที่รับมานั้นก็จะกลายเป็นเงินของเราที่สามารถส่งกลับให้เขาได้ และเงินที่เราส่งให้เขา ก็จะกลายเป็นเงินที่เขาสามารถส่งกลับให้เราได้เช่นกัน

เจ้าแถวลูกคิดนี้ (แชนแนล) เกิดขึ้นมาและสามารถใช้งานอยู่ได้ด้วยความร่วมมือของโหนดทั้งสองฝั่ง หากมีฝั่งใดฝั่งหนึ่งตัดสินใจที่จะตัดความสัมพันธ์นี้ ก็เหมือนเราสับมีดลงไปตรงลวดแกนลูกคิด แชนแนลก็จะถูกทำลาย และบิตคอยน์ที่ถูกล็อคไว้ใน 2-of-2 Multisignature Contract ก็จะถูกปลดปล่อยออกมาและถูกแบ่งให้กับทั้งสองฝั่งตามสัดส่วนว่าล่าสุดมีลูกคิดกองอยู่ฝั่งใครเท่าไร

เมื่อปิดแชนแนล บิตคอยน์ที่ถูกล็อคไว้จะถูกแบ่งตามสัดส่วนให้กับโหนดทั้งสองฝั่ง

นั่นคือนั่นคือเงินของแต่ละฝั่งก็จะถูกส่งเข้าแอดเดรสส่วนตัวของโหนดแต่ละฝั่งบนบิตคอยน์เน็ตเวิร์กนั่นเอง

เห็นไหม เข้าใจง่ายจะตาย

ป๊อก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ (เสียงดีดลูกคิดไปทางเดียวหลาย ๆ ที)

สมมุติว่าคุณกำลังสั่งซื้อ ฮาร์ดแวร์วอลเล็ต (Hardware Wallet) แล้วคุณอยากจะชำระเงินผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก นั่นคือคุณต้องเปิดแชนแนลระหว่างโหนดของคุณกับโหนดของร้านขายฮาร์ดแวร์วอลเล็ต เพียงเพื่อที่จะจ่ายเงินค่าสินค้าแค่ครั้งเดียว… งั้นเหรอ?

ไม่จำเป็นเลย เพราะแม้โหนดของเราจะไม่ได้เชื่อมต่อกับโหนดปลายทางโดยตรง เราก็สามารถ ‘ฝากส่งเงิน’ ผ่านคนอื่น ๆ ได้!

สมมุติว่า เราเป็นโหนด [A] ต้องการจ่ายค่าฮาร์ดแวร์วอลเล็ตให้ร้านค้า คือโหนด [D] แต่ตอนนี้มันไม่มีแชนแนล[A]===[D] เพราะฉะนั้น [A] จะส่งเงินถึง [D] โดยตรงไม่ได้

โหนด [A] กับโหนด [D] ยังไม่มีแชนแนลระหว่างกัน

แต่บังเอิญ! ตอนนี้มีช่อง [A]===[B] แล้วก็มีช่อง [B]===[C] แถมยังมีช่อง [C]===[D] อีกด้วย

โหนด [A] กับโหนด [D] เชื่อมถึงกันได้ผ่านโหนดอื่น ๆ

ดังนั้น ถ้า [A] อยากส่งลูกคิด 1 ลูก ให้ [D] สิ่งที่ต้องทำ คือ [A] ก็จะดีดลูกคิด 1 ลูกให้ [B] แล้ว [B] ก็ดีดลูกคิด 1 ลูกให้ [C] และ [C] ก็ดีดลูกคิด 1 ลูกให้ [D]

โหนด [A] ส่งเงินถึงโหนด [D] โดยฝากส่งผ่านโหนด [B] และ [C]

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ [A] จะมีลูกคิดน้อยลง 1 ลูก ในขณะที่ [D] มีลูกคิดมากขึ้น 1 ลูก ส่วน [B] และ [C] มีจำนวนลูกคิดเท่าเดิม แล้ว [A] ก็นอนตีพุงรอรับสินค้าที่บ้านได้เลย

ต้องขอบคุณโหนด [B] และ [C] เพราะถ้าไม่มี 2 โหนดนี้ [A] จะต้องเสียเวลาและ ค่าธรรมเนียมธุรกรรม (Transaction Fee) ในการสร้างแชนแนลใหม่เพื่อส่งเงินให้ [D] แต่เพราะมี 2 โหนดนี้ [A] จึงสามารถส่งเงินให้ [D] ได้อย่างรวดเร็วและฟรีอีกด้…

อะไรนะ..? ไม่ฟรีหรอ…

ขอค่าผ่านทางด้วยครับ

บ้าหรือเปล่า ใครจะเปิดคอมตัวเองทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืนเพื่อเป็นทางผ่านให้เงินของคนอื่นโดยไม่มีค่าตอบแทนล่ะ (ฮา)

เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน โหนดที่อุทิศตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเส้นทางส่งเงินสาธารณะเหล่านี้ มีสิทธิ์ที่จะเก็บ ‘ค่าผ่านทาง’ หรือ ’Routing Fee’ โดยหักออกจากเงินที่ผ่านพวกเขาไป คิดเป็นสัดส่วนจากยอดเงินนั้น

แต่มันไม่แพงเลย เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมของเครือข่ายบิตคอยน์ และยิ่งน้อยนิดเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมของระบบการเงินดั้งเดิม

เมื่อพูดถึงค่าธรรมเนียมบนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก เรามักจะใช้หน่วย ppm (Part per million) คือเก็บกี่หน่วยจากยอดหนึ่งล้านหน่วย เพราะฉะนั้น 10,000 ppm จะมีค่าเท่ากับ 1%

โดยปกติ โหนดที่พยายามทำกำไรจากการเก็บค่าผ่านทางจะตั้งค่าผ่านทางกันอยู่ที่ 100-500 ppm ก็คือ 0.01 – 0.05% เท่านั้น และหลายๆ โหนดที่ไม่ได้พยายามจะมุ่งเน้นการทำกำไรขนาดนั้น ก็อาจจะตั้งไว้ต่ำกว่านี้ หรือไม่อย่างนั้นก็ไม่ตั้งเลย

ใช่แล้ว มันก็พอจะมีคนที่รันโหนดเป็นการกุศลอยู่บ้างแหละ…

ทำไมถึงต่ำขนาดนี้ล่ะ? ก็เพราะว่าไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กเป็นเครือข่ายเปิดที่ใครก็สามารถเข้าร่วมได้ เราจึงมีไลท์นิ่งโหนดมหาศาลที่แข่งขันด้านราคากันอยู่ตลอดเวลา ใครที่ตั้งค่าผ่านทางแพงกว่าคนอื่นก็จะไม่มีใครส่งเงินผ่านและไม่สามารถทำกำไรได้ เพราะผู้ใช้งานก็จะพยายามเลือกส่งเงินผ่านเส้นทางที่ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุดเสมอ

แล้วใครคือคนที่ช่วยเราหาเส้นทางที่ถูกที่สุดในแต่ละครั้งที่เราอยากส่งเงินกันนะ..?

กรุณาจัดส่งพัสดุไปยังที่อยู่นี้ด้วยค่ะ

หากเปรียบเทียบกับการส่งพัสดุ สิ่งที่ควรจะเป็น คือผู้รับบอกผู้ส่งว่าจะให้จัดส่งพัสดุไปที่ไหน หลังจากนั้นผู้ส่ง (หรือบริการส่งพัสดุที่ผู้ส่งใช้งาน) จะเป็นคนที่มีหน้าที่ต้องคิดหาทางว่าจะส่งพัสดุไปให้ถึงปลายทางด้วยเส้นทาง หรือวิธีการแบบไหน

การส่งเงินผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กก็เช่นเดียวกัน

เมื่อมีคนตั้งใจจะจ่ายเงินให้กัน นั่นหมายถึงโหนดหนึ่งจะต้องส่งเงินให้อีกโหนดหนึ่งบนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก โหนดที่เป็นผู้รับจะต้องสร้างรหัสชุดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ไลท์นิ่งอินวอยซ์ (Lightning Invoice) แล้วส่งให้กับผู้ส่งเงิน โดยอาจจะส่งข้อความเป็นรหัสยาว ๆ ที่ขึ้นต้นว่า ‘lnbc1…’ หรืออาจจะแปลงรหัสนี้เป็น QR code เพื่อให้ง่ายสำหรับการสแกนด้วยกล้องก็ใช้ได้เหมือนกัน

ตัวอย่าง Lightning Invoice ที่สร้างโดย Muun Wallet

เปรียบเทียบง่าย ๆ ไลท์นิ่งอินวอยซ์นี้ก็เปรียบเสมือนที่อยู่สำหรับจัดส่งพัสดุนั่นเอง

ทีนี้เมื่อผู้ส่งเงินได้รับอินวอยซ์มาแล้วก็ให้โหนดฝั่งตัวเองส่งเงินด้วยรหัสนี้ โหนดฝั่งผู้ส่งเงินก็จะพยายามหาเส้นทางที่ดีที่สุดเท่าที่มันจะทำได้แล้วส่งเงินออกไป เงินก็จะถูกส่งต่อผ่านโหนดอื่น ๆ ในโครงข่ายไปจนถึงโหนดปลายทาง เป็นอันเสร็จพิธี

อีกเรื่องที่ควรรู้ก็คืออินวอยซ์นี่มันก็มีปัญหาในการใช้งานอยู่เหมือนกัน ที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นอินวอยซ์ที่สร้างมาจะสามารถถูกใช้ส่งเงินได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น อยากจะส่งเงินกันใหม่ก็ต้องสร้างอินวอยซ์ใหม่ แถมยังมีเวลาหมดอายุเสียด้วย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพิมพ์ไลท์นิ่งอินวอยซ์เป็น QR code แปะไว้หน้าร้านให้ลูกค้าทุกคนสแกนป้ายเดียวกันแล้วรับเงินรัว ๆ ได้เหมือน พร้อมเพย์ (PromptPay) นี่เป็นปัญหาใหญ่พอสมควร และยังมีความต้องการใช้งานรูปแบบอื่น ๆ อีกที่ชาวบิตคอยน์อยากจะทำด้วยไลท์นิ่ง แต่อินวอยซ์ทำไม่ได้

ดังนั้นตอนนี้ก็เลยมีความพยายามแก้ปัญหานี้ อย่างเช่น LNURL และมาตรฐานใหม่ที่ชื่อว่า BOLT12 ซึ่งคุณ Teemie1 ได้เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้วในบทความ LNURL ช่วยให้การจ่ายเงินบน Lightning Network ง่ายขึ้นได้อย่างไร 

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ได้ก็ขอแสดงความยินดีด้วย คุณคงเข้าใจหลักการทำงานของไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กดีเกินมาตรฐานแล้วสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป และแน่นอนว่าต้องเข้าใจว่า ไลท์นิ่งโหนด คือสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยไม่ว่าจะเป็นผู้รับหรือผู้ส่งเงินก็ตาม

ทีนี้ คุณคงอยากจะมีไลท์นิ่งโหนดไว้ใช้งานบ้างแล้ว และอาจจะกำลังคิดว่าจะหาคอมพิวเตอร์แบบไหนมารันโหนดดี ‘ราสเบอร์รี่ ไพ (Raspberry Pi)’ ไหม? หรือใช้ ‘มินิพีซี (mini PC)’ ดี? หรือจะไปคุ้ยหาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเก่า ๆ ในห้องเก็บของมาลองดู…

หรือไม่อย่างนั้น ก็พึ่งโหนดของคนอื่นไปพลาง ๆ ก่อนละกัน…

ไลท์นิ่งวอลเล็ต (Lightning Wallet)

การใช้งานไลท์นิ่งไม่เหมือนบิตคอยน์ตรงที่ในระบบบิตคอยน์เราสามารถ ‘เก็บรักษาบิตคอยน์ด้วยตัวเอง (Self-custody)’ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโหนดของตัวเอง แต่สำหรับไลท์นิ่งแล้วการ Self-custody นั้นเป็นไปไม่ได้เลยถ้าคุณไม่มีโหนด

เพราะว่าบิตคอยน์ที่อยู่ในไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กนั้นก็คือบิตคอยน์ที่อยู่ในไลท์นิ่งแชนแนล ซึ่งคุณจะมีแชนแนลไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีไลท์นิ่งโหนด

แต่ข่าวดีข้อแรกก็คือ ในทางเทคนิคแล้ว สมาร์ทโฟน ของเราก็เป็นคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถใช้สมาร์ทโฟนเป็นไลท์นิ่งโหนดได้

และข่าวดีข้อที่สอง คือถ้าเราไม่ซีเรียสกับการ Self-custody มากนัก เราก็สามารถใช้งานไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กแบบ คัสโตเดียล (Custodial) ได้เช่นกัน และสะดวกสบายมาก ๆ ด้วย

นอน-คัสโตเดียล วอลเล็ต (Non-custodial Wallet)

ไลท์นิ่งโหนดก็เช่นเดียวกับบิตคอยน์โหนด คือเมื่อเราติดตั้งแล้วก็จะได้วอลเล็ตมาใช้งานด้วย ดังนั้นหากคุณอยากจะหา ราสเบอร์รี่ ไพ สักตัวมารัน ‘Routing Node’ พร้อมกับฝากตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิของพี่เดชาละก็ คุณก็จะได้ นอน-คัสโตเดียล วอลเล็ต มาใช้โดยอัตโนมัติแล้วเราก็คงไม่ต้องห่วงเรื่องนั้นกันอีก แต่วันนี้เราจะยังไม่พูดถึงเรื่องแบบนั้น แล้วก็จะยังไม่พูดถึงแอปวอลเล็ตประเภทที่เชื่อมต่อเพื่อควบคุมโหนดของเราเองด้วย อย่างที่บอก วันนี้เราจะคุยกันแค่ความรู้ระดับผู้ใช้งานทั่วไปเท่านั้น

(อะไรนะ? ยังไม่รู้จักพี่เดชางั้นหรอ… ไปทำความรู้จักเขาได้ที่บทความนี้ : สัมภาษณ์ นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล Lightning Expert ของไทย

ทีนี้ ถ้าคุณไม่ใช่สายแข็งขนาดนั้น แต่ก็แข็งพอที่จะอยากใช้งานไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กแบบนอน-คัสโตเดียล มันก็มีแอปพลิเคชั่นบางตัวใน App Store ที่คุณสามารถติดตั้งในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพื่อให้โทรศัพท์ของคุณกลายเป็นโหนดได้ ยกตัวอย่างเช่น Breez, Phoenix และ Blixt wallet เป็นต้น

ซึ่งราคาของความไม่เชื่อใจที่คุณต้องจ่าย คือการที่คุณต้องบริหารจัดการไลท์นิ่งแชนแนลเอง ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร รวมไปถึงการเก็บ ‘Seed’ และไฟล์ ‘Stage Channel Backup (SCB) ให้ดีเผื่อไว้กู้คืนเงินในกรณีที่เกิดปัญหากับโทรศัพท์ของคุณ ความผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้นอาจลงเอยด้วยการที่คุณสูญเสียเงินทั้งหมดในนั้น และไม่มีใครสามารถช่วยเหลือคุณได้เลย (แต่เราจะยังไม่ลงลึกเรื่องความปลอดภัยเหล่านั้นกันในตอนนี้)

นอกจากนี้ อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าโหนดมีภาระหน้าที่ในการคำนวณหาช่องทางส่งเงินในทุก ๆ ครั้งที่เราจะส่งเงิน และมีหน้าที่สร้างอินวอยซ์ในกรณีที่เราจะรับเงิน รวมไปถึงเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในส่วนของไลท์นิ่งและออนเชนที่จำเป็น ภาระเหล่านี้ก็จะกินสเปคโทรศัพท์มือถือของเราพอสมควร แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็มากกว่าการใช้วอลเล็ตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งคุณคงพอเดาได้แล้วว่าคือประเภทไหน

คัสโตเดียล วอลเล็ต (Custial Wallet)

‘Not your keys, not your coins’ คือคำจำกัดความสำหรับ Custodial Service ทั้งหมดรวมถึง คัสโตเดียล วอลเล็ต ด้วย เพราะว่าคัสโตเดียล วอลเล็ต ก็คือบริการที่เราจะต้องฝากเงินของเราไว้กับผู้ให้บริการวอลเล็ต โดยยอดเงินที่เราเห็นผ่านหน้าจอ ที่จริงแล้วเป็นเพียงยอดเงินใน บัญชี (Account) ที่เรามีกับผู้ให้บริการ ไม่ต่างกับบัญชีธนาคาร แอปเป๋าตัง หรือทรูมันนี่วอลเล็ต

ราคาของความเชื่อใจ คือการแบกรับความเสี่ยงที่ว่าผู้ให้บริการวอลเล็ตอาจยักยอกหรือขโมยเงินในบัญชีของเราไปได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือประสบการณ์ใช้งานที่ดี รวดเร็ว และลื่นไหลกว่านอน-คัสโตเดียล วอลเล็ต เพราะว่าแอปพลิเคชั่นที่เราติดตั้งในโทรศัพท์นั้นเป็นเพียงแค่ ‘ฉากหน้า (Front-end)’ ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานอย่างเรากับเซิร์ฟเวอร์และไลท์นิ่งโหนดของผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงและได้รับการบริหารจัดการอย่างดี

วอลเล็ตประเภทนี้ ยกตัวอย่างเช่น Wallet of Satoshi, Muun, BlueWallet หรือ VoltPay

หากในอนาคตมีไลท์นิ่งวอลเล็ตชื่ออื่น ๆ โผล่ออกมาอีก และคุณอยากได้วิธีแยกอย่างง่ายว่าอันไหนเป็นคัสโตเดียล หรืออันไหนเป็นนอน-คัสโตเดียลละก็ หลักการคือไลท์นิ่งโหนดฝั่งผู้รับเงินจะต้องออนไลน์อยู่ในขณะที่รับเงิน ดังนั้นถ้าวอลเล็ตไหนสร้างอินวอยซ์แล้วบังคับให้คุณเปิดหน้าแอปไว้จนกว่าเงินจะเข้า ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าแอปนั้นทำให้โทรศัพท์ของคุณกลายเป็นไลท์นิ่งโหนดที่คุณดูแลเอง และคุณกำลังใช้งานนอน-คัสโตเดียลวอลเล็ตอยู่ แต่ถ้าแอปไหนสร้างอินวอยซ์เสร็จแล้วเราปิดแอปปิดหน้าจอไป แต่คนอื่นยังสามารถใช้อินวอยซ์นั้นส่งเงินได้ ก็แปลว่าโหนดตัวจริงที่รับเงินให้คุณน่ะกำลังออนไลน์อยู่ที่อื่น และคุณกำลังใช้งานคัสโตเดียลวอลเล็ตอยู่

ทีนี้เมื่อคุณเข้าใจความแตกต่างระหว่างไลท์นิ่งวอลเล็ตสองประเภทนี้ดีแล้ว และอยากพิจารณาให้ละเอียดขึ้นว่าจะเลือกดาวน์โหลดวอลเล็ตตัวไหนมาใช้ดี ลองดูรีวิววอลเล็ตแต่ละตัวได้ที่บทความ แนะนำ Lightning​​ Wallet น่าใช้งาน 

ใช้เวลาไม่นานนัก คุณก็คงได้วอลเล็ตที่เหมาะกับตัวเองมาติดตั้งไว้ในโทรศัพท์มือถือแล้วเรียบร้อย ทีนี้ คำถามต่อไป… เราจะทำอย่างไรกับยอดเงิน ‘0 satoshi’ ในนั้นดี?

วิธีเติมเงินเข้าไลท์นิ่งวอลเล็ต

ก่อนที่เราจะส่งบิตคอยน์ผ่านไลท์นิ่งให้ใคร เราก็ต้องมีบิตคอยน์ในไลท์นิ่งวอลเล็ตเสียก่อน ซึ่งการเติมเงินก็มีอยู่หลายวิธีให้เลือกใช้ แต่ละวิธีก็มีความยากง่ายและค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน

วิธีที่ 1 เปิดไลท์นิ่งแชนแนลด้วยตัวเอง

วิธีนี้คือต้นกำเนิดของทุก ซาโตชิ (Satoshi) ที่โลดแล่นอยู่บนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่าการเปิดไลท์นิ่งแชนแนล คือการโอนบิตคอยน์เข้าไปในบิตคอยน์แอดเดรสแบบพิเศษ ซึ่งจะเป็นการล็อคบิตคอยน์ไว้ในนั้นและก่อให้เกิดเป็นช่องทางรับส่งเงินที่มีบิตคอยน์ไลท์นิ่งอยู่ในนั้นเท่ากับจำนวนที่ถูกล็อคเอาไว้

หากคุณใช้วอลเล็ตที่เป็นโหนดในตัวและมีฟังก์ชั่นครบครันอย่าง Blixt Wallet คุณก็สามารถที่จะเปิดแชนแนลกับโหนดอื่นได้ผ่านตัวแอปได้เลย โดยการเปิดแชนแนลนี้แท้จริงแล้วก็คือการทำธุรกรรมบนระบบหลักของบิตคอยน์เน็ตเวิร์ก ค่าใช้จ่ายของกระบวนการนี้ก็คือค่าธรรมเนียมสำหรับส่งธุรกรรมไปบรรจุลงในบล็อกนั่นเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกรรมและความใจร้อนของคุณ ค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดที่เป็นไปได้ก็อยู่ที่เพียง 166 sats เท่านั้น หากคุณใช้เพียง 1 UTXO เป็น อินพุท (input) และจ่ายค่าธรรมเนียมด้วยอัตราขี้เหนียวที่สุดที่ 1 sat/vB

(อ๊ะ ๆ งงล่ะสิว่า UTXO คืออะไร ตามไปอ่านดูได้ที่บทความนี้เลย UTXO ทำงานอย่างไร?)

เนื่องจากคุณเป็นฝ่ายที่เปิดแชนแนล เมื่อแชนแนลถูกเปิดสำเร็จเงินทั้งหมดในแชนแนลก็จะอยู่ที่ฝั่งของคุณ ซึ่งคุณสามารถส่งให้กับโหนดอีกฝั่ง หรือฝากส่งไปยังโหนดใด ๆ บนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ทันที

วิธีที่ 2 ให้คนอื่นเปิดไลท์นิ่งแชนแนลมาหา แล้วผลักเงินมาฝั่งเรา

ใช่ว่าไลท์นิ่งวอลเล็ตที่เป็นโหนดในตัวทุกอันจะให้เราสามารถเป็นฝ่ายเปิดแชนแนลเองได้เหมือนอย่าง Blixt หากเป็น Phoenix หรือ Breez ละก็ เราจะไม่สามารถเปิดแชนแนลเองได้ แต่ว่าสามารถให้คนอื่นเปิดแชนแนลมาหาเราได้

วิธีแรกก็คือการใช้บริการเสริมของตัวผู้ให้บริการวอลเล็ตนั้น อย่างเช่นในกรณีของ Phoenix และ Breez หากเราพยายามจะรับเงินมากกว่า Inbound Capacity (จำนวนเงินในแชนแนลที่เปิดกับเราและกองอยู่ฝั่งตรงข้าม คือจำนวนเงินที่เราสามารถรับโอนได้) เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการจะนำยอดเงินที่ถูกโอนเข้ามานั้นไปทำธุรกรรม เปิดแชนแนลระหว่างโหนดของตัวเขาและโหนดของเรา จากนั้นก็จะผลักยอดเงินที่เรารับโอนนั้นมาทางฝั่งเราโดยหักค่าบริการสำหรับการเปิดแชนแนล เราก็จะมีแชนแนลใหม่กับโหนดของผู้ให้บริการวอลเล็ตโดยมีเงินพร้อมใช้กองอยู่ฝั่งเรา (เรียกว่า Outbound Capacity)

อีกวิธีหนึ่งคือแทนที่จะพึ่งพาระบบอัตโนมัติของผู้ให้บริการวอลเล็ต เราสามารถให้โหนดอื่น ๆ เปิดแชนแนลมายังโหนดของเราได้ โดยนำ พับลิคคีย์ ของโหนดเราไปให้กับโหนดฝั่งตรงข้าม หากเราไม่มีโหนดอื่น หรือรู้จักใครที่เขาอยากจะเปิดแชนแนลกับเรา ก็สามารถใช้บริการ LSP (Lightning Service Provider) ให้โหนดของเขาเปิดแชนแนลมาถึงโหนดเราได้แลกกับค่าบริการจำนวนหนึ่ง ยกตัวอย่าง LSP ที่ใช้งานง่ายก็อย่างเช่น Blocktank ซึ่งเราสามารถสั่งซื้อแชนแนลได้ผ่านหน้าเว็บไซต์และชำระค่าบริการได้ด้วยบิตคอยน์ โดยที่เราสามารถกำหนดให้ Blocktank ผลักเงินในแชนแนลที่เปิดใหม่มาทางเราได้ด้วย เราก็จะสามารถส่งเงินด้วยแชนแนลใหม่นั้นได้เลย

วิธีที่ 3 ใช้ไลท์นิ่งวอลเล็ตที่สามารถแปลงบิตคอยน์ออนเชนเป็นไลท์นิ่งได้

ข่าวดีสำหรับคนใช้วอลเล็ตอย่าง Wallet of Satoshi, Muun และ BlueWallet คือวอลเล็ตเหล่านี้มีบริการแปลงบิตคอยน์ออนเชนเป็นไลท์นิ่งได้

อย่างในกรณีของ Wallet of Satoshi และ Muun เมื่อคุณกด ‘รับเงิน (Receive)’ คุณจะสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงิน ไลท์นิ่งอินวอยซ์ หรือ บิตคอยน์แอดเดรส และเนื่องจากสองแอปนี้มียอดเงินเดียวที่ใช้ร่วมกันระหว่างไลท์นิ่งและออนเชน ดังนั้นเมื่อคุณโอนบิตคอยน์เข้าวอลเล็ตผ่านบิตคอยน์เน็ตเวิร์กได้สำเร็จ คุณก็สามารถใช้ยอดเงินนั้นโอนออกผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิรกได้ทันที!

ส่วนในกรณีของ Blue Wallet เขามีบริการแปลงยอดเงินจาก ออนเชนวอลเล็ต มายัง ไลท์นิ่งวอลเล็ต ได้โดยการกดปุ่ม ‘Manage Funds’

นับว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกสบายพอสมควร แต่บางวอลเล็ตก็คิดค่าบริการ อย่าลืมดูให้ดี ๆ ก่อนล่ะ

วิธีที่ 4 ใช้บริการตัวกลางสำหรับแปลงสกุลเงิน

วิธีนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเรามีแชนแนลที่พร้อมรับเงินอยู่แล้ว หรือเราไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องแชนแนลเพราะเราใช้บริการคัสโตเดียลวอลเล็ต

ตัวกลางอย่างที่ว่าซึ่งได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้คือ FixedFloat ซึ่งเราสามารถโอนชิตคอ… เอ้ย! อัลท์คอยน์ (Altcoin) สกุลอื่นเข้าไปยังเว็บไซต์นี้เพื่อแปลงเป็นบิตคอยน์ไลท์นิ่งส่งเข้าวอลเล็ตของเราได้

คุณจึงสามารถเติมเงินบาทเข้าไปใน เอ็กซ์เชนจ์ (Exchange) ที่คุณใช้งานอยู่ เปลี่ยนเงินบาทเป็นอัลท์คอยน์สักตัวที่ค่าถอนถูกและโอนไวเพื่อโอนไปยัง FixedFloat วิธีการนี้คุณ Notoshi เคยเขียนคู่มือไว้แล้วในบทความ วิธีแลกเปลี่ยน Lightning ด้วย FixedFloat

วิธีที่ 5 ใช้บริการเอ็กซ์เชนจ์ที่สามารถถอนบิตคอยน์ผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้

คล้ายกับวิธีการที่แล้ว คือเราอาจต้องใช้เอ็กซ์เชนจ์ไทยหรือไม่ก็ใช้ฟังก์ชั่น P2P ในเอ็กซ์เชนจ์แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนเงินบาทเป็นเหรียญดิจิทัลสักตัว จากนั้นก็โอนเหรียญที่ว่าไปยังเอ็กซ์เชนจ์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถถอนบิตคอยน์ผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ เพื่อที่จะได้เทรดเหรียญที่โอนมานั้นเป็นบิตคอยน์และถอนเข้าสู่ไลท์นิ่งวอลเล็ตของเรา

เอ็กซ์เชนจ์ที่สามารถทำอย่างนี้ได้ เช่น Kraken และ OKX นอกจากนี้ก็ยังมีเอ็กซ์เชนจ์อื่น ๆ อีกแต่เป็นเอ็กซ์เชนจ์ขนาดเล็กที่ดูไม่ค่อยปลอดภัยนักที่จะใช้งาน

//คำแนะนำสำหรับชาวบิตคอยน์! – อย่าเก็บเงินไว้ในเอ็กซ์เชนจ์!!!

วิธีที่ 6 ให้ผู้ใช้งานไลท์นิ่งคนอื่นส่งบิตคอยน์ให้เรา

แล้ว… ทำไมเขาจะต้องส่งบิตคอยน์ให้คุณด้วยล่ะ? บางทีคุณอาจจะขอซื้อต่อจากเพื่อนคุณที่มีบิตคอยน์ไลท์นิ่งในวอลเล็ตไหม หรือถ้าคุณขายของอะไรบางอย่างอยู่ ก็สามารถเปิดรับชำระค่าสินค้าเป็นไลท์นิ่งได้นะ หรือไม่อย่างนั้นก็ลองมาเขียนบทความลงใน RightShift.io เหมือนผมบ้าง ก็สามารถรับทิปเป็นไลท์นิ่งได้ด้วย

ชักสนใจแล้วล่ะสิ ลองอ่านรายละเอียดการส่งบทความที่ลิงค์นี้ดู : ทำไมเราจึงควรเผยแพร่บทความผ่าน Right Shift ?

เป็นอย่างไรบ้าง..? มีให้เลือกตั้งหกวิธี ไม่ยากเกินไปใช่ไหม

ตอนนี้เราถึงไหนกันแล้วนะ คุณรู้แล้วว่าไลท์นิ่งคืออะไรมีประโยชน์อย่างไร คุณรู้แล้วว่าไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กทำงานอย่างไร คุณดาวน์โหลดวอลเล็ตแล้ว มีบิตคอยน์ในวอลเล็ตแล้ว จนถึงตอนนี้คุณคงรับส่งเงินได้อย่างรวดเร็วและสนุกสนานแล้ว

ทีนี้ ขั้นตอนสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ เพราะจนถึงจุดหนึ่งคุณจะต้องสงสัยแน่ ๆ ว่าคุณจะเอาบิตคอยน์ในไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กกลับมายังบิตคอยน์เน็ตเวิร์กได้อย่างไร

วิธีนำบิตคอยน์ออกจากไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก

งานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกรา สักวันบิตคอยน์ที่ใช้ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กโอนไปมาก็ต้องกลับสู่ ‘Cold Storage’ หัวข้อสุดท้ายสำหรับบทความนี้คือเราจะมาดูกันว่าคุณสามารถนำบิตคอยน์ในไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กกลับมายังบิตคอยน์เน็ตเวิร์กได้กี่วิธี

วิธีที่ 1 ปิดแชนแนล

เช่นเดียวกับวิธีแรกในหัวข้อก่อน ที่การเปิดแชนแนลคือแม่แบบของการนำบิตคอยน์เข้าสู่ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก การปิดแชนแนลก็คือแม่แบบของการนำบิตคอยน์ออกจากไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก แต่ละหน่วยซาโตชิที่ถูกส่งไปส่งมาเป็นหมื่นเป็นแสนรอบในแชนแนล จะกลับไปพักผ่อนในบิตคอยน์เน็ตเวิร์กได้ก็ด้วยการปิดแชนแนลนี่เอง

เมื่อปิดแชนแนล บิตคอยน์ที่ถูกล็อคไว้ในแอดเดรส 2-of-2 Multisignature Contract จะได้รับการปลดปล่อย และถูกแบ่งให้กับโหนดทั้งสองฝั่ง จำนวนที่แต่ละฝ่ายจะได้รับก็ขึ้นกับว่าล่าสุดในแชนแนลนั้นมีเงินกองอยู่ฝั่งไหนเป็นจำนวนเท่าไร โดยที่เงินที่ถูกปลดออกมาก็จะถูกส่งไปยังบิตคอยน์แอดเดรสของแต่ละฝั่ง

หากคุณใช้งาน Blixt Wallet หรือ Phoenix คุณก็สามารถที่จะสั่งปิดแชนแนลที่คุณมีได้ผ่านหน้าแอป จากนั้นก็รอให้ธุรกรรมการปิดแชนแนลนั้นถูกบรรจุลงในบล็อกเชน บิตคอยน์ก็จะถูกโอนเข้าแอดเดรสของคุณ

วิธีที่ 2 ใช้ไลท์นิ่งวอลเล็ตที่สามารถแปลงบิตคอยน์ไลท์นิ่งเป็นออนเชนได้

ถ้า Wallet of Satoshi และ Muun ให้คุณส่งเงินเข้าไปด้วยบิตคอยน์เน็ตเวิร์กและส่งเงินออกมาด้วยไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ ทำไมเราจะทำกลับกันไม่ได้?

หากคุณก็อบปี้บิตคอยน์แอดเดรสไว้ในคลิปบอร์ดของโทรศัพท์ หรือเปิดกล้องสแกน QR code ที่เป็นบิตคอยน์แอดเดรส ทั้งสองวอลเล็ตนี้จะรู้ได้เองว่าคุณต้องการส่งบิตคอยน์ไปยังแอดเดรสนั้นผ่านบิตคอยน์เน็ตเวิร์ก

ข้อแตกต่างที่คุณควรรู้ไว้คือ Wallet of Satoshi จะคิดค่าโอนออกออนเชนเป็นตัวเลขกลม ๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน บางวันผมก็เห็น 7,000 ซาโตชิ บางวันก็ 12,000 ซาโตชิซึ่งค่อนข้างสูงทีเดียว ในขณะที่ Muun นั้นคุณสามารถเลือกอัตราค่าธรรมเนียมที่ต้องการจ่ายเองได้

วิธีที่ 3 ใช้บริการตัวกลางสำหรับแปลงสกุลเงิน

คุ้น ๆ ใช่ไหม เพราะวิธีนี้ก็คือการใช้เว็บไซต์ FixedFloat แปลงบิตคอยน์ไลท์นิ่งกลับเป็นบิตคอยน์ออนเชนนั่นเอง คงไม่ต้องอธิบายให้มากมายล่ะ

วิธีที่ 4 ใช้บริการเอ็กซ์เชนต์ที่สามารถฝากบิตคอยน์ด้วยไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้

ก็ถ้า Kraken และ OKX ให้คุณสามารถถอนบิตคอยน์ผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ เขาก็ต้องให้คุณสามารถฝากบิตคอยน์เข้าบัญชีด้วยไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณก็สามารถทำตรงกันข้ามกับวิธีการในข้อที่แล้วได้เลย คือฝากบิตคอยน์เข้าบัญชีด้วยไลท์นิ่ง แล้วถอนออกทางออนเชน ก็จะเสียค่าถอนนิดหน่อยเป็นค่าผ่านทาง

สำหรับช่วงนี้ผมค่อนข้างแนะนำ Kraken เพราะว่าค่าถอนบิตคอยน์ออกทางออนเชนก็ถูกมากเมื่อเทียบกับเอ็กซ์เชนจ์อื่น ๆ คือครั้งละ 1,000 sats เท่านั้นเอง

//เตือนอีกครั้งสำหรับชาวบิตคอยน์! – อย่าเก็บเงินไว้ในเอ็กซ์เชนจ์!!!

วิธีที่ 5 แลกเปลี่ยนแบบ OTC (Over the Counter)

พูดให้หรูไปเท่านั้นแหละ ที่จริงแล้วก็หมายถึงให้ไปหาคนที่มีบิตคอยน์ออนเชนแล้วอยากได้บิตคอยน์ไลท์นิ่ง คุณโอนไลท์นิ่งให้เขา เขาโอนออนเชนให้คุณ ก็เท่านั้นเอง (ระวังโดนโกงด้วยล่ะ)

สำหรับใครที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ได้ คุณสุดยอดมาก และตอนนี้คุณพร้อมที่จะโลดแล่นในจักรวาลไลท์นิ่งแล้ว และยิ่งกว่านั้นคือคุณพร้อมที่จะพาคนอื่นเดินทางไปพร้อมกับคุณด้วย!

แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากการใช้ไลท์นิ่งทำอะไร เลื่อนลงไปข้างล่างสักหน่อย เห็นปุ่มที่เขียนว่า ‘Donate sats’ ใต้รูปแมวส้มข้างล่างนั่นไหม นั่นแหละ ๆ ลองกดดูเลย!!!

Siraphop N.

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

2 Comments

  1. สุดยอดไปเลยครับ อ่านแล้วเข้าใจเลยทีเดียว 🙂

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Privacy & Security
Siraphop N.

Self-custody Checklist

คิดว่าซื้อ Metal Seed Backup แพง ๆ มาใช้แล้ววอลเล็ทจะอยู่ยงคงกระพันงั้นหรือ? อย่าเพิ่งมั่นใจไป มาลองเช็กจุดอ่อนของวิธีการเก็บรักษา Seed ที่คุณใช้อยู่ดูสักหน่อยไหม?

Read More »
Bitcoin
Siraphop N.

Bitcoin, The Matrix and The Rabbit Hole

ยาส้ม? หลุมกระต่าย? คำเหล่านี้มีความหมายแฝงอย่างไร และทำไมชาวบิตคอยน์จึงควรไปหาภาพยนตร์เรื่อง The Matrix มาดูสักครั้งในชีวิต

Read More »
Opinion
Siraphop N.

เลิกเถียงกันได้แล้วว่าบิตคอยน์เป็นเงินหรือเปล่า!

การมัวเถียงกันว่าบิตคอยน์เป็นเงินหรือไม่คือสิ่งที่ไร้สาระและสิ้นเปลืองเวลาที่สุดอย่างหนึ่ง และนี่คือเหตุผลว่าทำไม

Read More »
Technical & Fundamental
Siraphop N.

UTXO ทำงานอย่างไร?

“ทำไมโอนบิตคอยน์ต้องมีเงินทอน
ทำไมไม่โอนให้พอดีไปเลย”

สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินคำว่า UTXO มาก่อน หรือว่าอาจจะเคยได้ยินแล้วแต่ก็ไม่เข้าใจ โพสต์นี้ผมมีการเปรียบเทียบมาประกอบ เผื่อจะให้ความเข้าใจได้มากขึ้น หรือนำไปใช้อธิบายเพื่อนที่ยังไม่เข้าใจให้เขาเข้าใจขึ้นมาได้…

Read More »