Bitcoin ยังมีปัญหา ‘Scalability’ (ความสามารถในการรองรับธุรกรรมจำนวนมาก) อธิบายเพิ่มเติม คือ การที่เราส่งเงินภายในระบบบิตคอยน์นั้น คือการสร้าง ‘ข้อมูลธุรกรรม’ ขึ้นมา ซึ่งนักขุดจะนำไปตรวจสอบและบรรจุลงบล็อก แต่เนื่องจากบล็อกของบิตคอยน์มีขนาดจำกัดอยู่ที่ประมาณ 1MB เมื่อมีธุรกรรมรอคิวรับการบรรจุลงบล็อกจำนวนมาก ก็ทำให้นักขุดต้องเลือกธุรกรรมที่จ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่ามาบรรจุก่อน ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ค่าธรรมเนียมสูงขึ้นเมื่อมีคนจำนวนมากต้องการส่งเงินพร้อมๆ กัน
ด้วยเหตุนี้เลเยอร์หลักของบิตคอยน์จึงไม่สะดวกนักสำหรับการทำธุรกรรมขนาดเล็ก (Micropayment) เป็นที่มาของวิธีแก้ไขปัญหาอย่าง Lightning Network
Lightning Network เข้ามาแก้ปัญหา Scalability ของบิตคอยน์ด้วยการให้ผู้ใช้งานสองคนสร้างช่องทางที่สามารถใช้ส่งเงินระหว่างกันได้ เรียกว่า Payment Channel ซึ่งเมื่อ Channel นี้จำนวนมากเชื่อมต่อกัน ก็จะเกิดเป็นเครือข่ายสำหรับการชำระเงินขึ้น ทั้งหมดนี้ทำงานอยู่บน Layer 2 นั่นหมายความว่าเราสามารถทำธุรกรรมสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องบันทึกข้อมูลลงในบล็อกเชน เราจึงสามารถส่งเงินได้รวดเร็วขึ้น ระบบสามารถรองรับจำนวนธุรกรรมได้มากขึ้น และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำลงมาก
เราจะโอนบิตคอยน์ให้กันได้ผ่าน Lightning Network เราจำเป็นต้องใช้แอปพลิเคชั่นที่เรียกว่า Lightning Wallet ซึ่งมีอยู่หลายตัวให้เลือกใช้ และสามารถเริ่มใช้งานได้ง่ายๆ ด้วยการดาวน์โหลดจากแอปสโตร์ มีทั้งบน IOS และ Android
Table of Contents
Lightning Wallet คืออะไร
Lightning Wallet คือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เราเชื่อมต่อ และสามารถใช้งาน Lightning Network ได้
ฟังก์ชั่นทั่วไปของ Lightning wallet ได้แก่การเก็บรักษายอดเงินที่เป็นบิตคอยน์ของเรา สามารถรับเงิน และส่งเงินได้ แต่บางวอลเล็ตก็จะมีฟังก์ชั่นพิเศษ ซึ่งก็จะเป็นจุดขายที่แตกต่างกันในแต่ละวอลเล็ต
Lightning Wallet แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ Custodial Wallet และ Non-custodial Wallet
*** Lightning Wallet นั้นแตกต่างจาก Bitcoin Wallet การแยก Custodial กับ Non-Custodial ปกติเราแยกกันที่การถือไพรเวทคีย์ (Private Key) แต่ใน Layer ของ Lightning ไม่มีไพรเวทคีย์เราจึงแยก Custodial กับ Non-Custodial กันที่ Node Management ***
Custodial Wallet
Custodial Wallet คือ Wallet ที่เราไว้ใจฝากเงินของเราไว้ให้ผู้ให้บริการ Wallet ดูแล โดยเราไม่ได้ดูแลจัดการ Node และบริหาร Channel ด้วยตัวเอง หากทำโทรศัพท์หาย หรือ เผลอลบแอปพลิเคชั่นไป ก็ยังสามารถเข้าถึงเงินได้ด้วยการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการ อาจจะด้วยอีเมล์ที่ลงทะเบียนไว้
นอกจากนั้นวอลเล็ตประเภทนี้จะใช้ทรัพยากรในเครื่องน้อยกว่า เพราะว่าตัวแอปไม่จำเป็นต้องเก็บประวัติธุรกรรมอะไรไว้ และเป็นเพียงฉากหน้าที่ส่งข้อมูลไปประมวลผลธุรกรรมที่เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเท่านั้น แต่แลกมากับการที่เราจำเป็นต้องไว้ใจผู้ให้บริการวอลเล็ตว่าจะไม่ยักยอกเงินของเรา
และที่สำคัญคือ.. แอปจำพวก Custodial Wallet จะสามารถให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าได้ เพราะว่าธุรกรรมของเราจะถูกดำเนินการโดยเซิร์ฟเวอร์ที่ได้รับการดูแลอย่างดี ทำให้รับส่งเงินได้รวดเร็วลื่นไหล และเราไม่ต้องมาบริหารจัดการเรื่องเฉพาะทางอย่าง Payment Channel อีกด้วย รวมไปถึงผู้ให้บริการบางรายอาจเสนอบริการเสริมอื่นๆ เช่นการแปลงบิตคอยน์จากไลท์นิ่งเป็นบิตคอยน์ออนเชนได้อย่างง่ายดายโดยคิดค่าบริการเพียงเล็กน้อย
ยกตัวอย่างเช่น
Wallet of satoshi เป็น Custodial Wallet ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากใช้งานง่ายที่สุด รับ-ส่ง ได้ทั้ง On-chain และ Lightning เหมาะสมมากสำหรับผู้ใช้งานมือใหม่ UX/UI เข้าใจง่าย ใช้แค่ E-mail ผูกกับกระเป๋าเงิน
มีให้บริการในระบบ iOS และ Android
- ยอดเงินเดียว ใช้งานร่วมกันทั้ง Lightning / On-chain
- receive/sent bitcoin via LIGHTNING
- receive/sent bitcoin via ON-CHAIN
- LNURL & Lightning Address
- NFC
Blue Wallet เป็นแอปกระเป๋าเงินอีกตัวนึงที่มีฟังชั่นการใช้งานที่หลากหลาย สร้างกระเป๋าได้หลายประเภท และสร้างหลายกระเป๋าพร้อมกันได้ โดยที่ Lightning Wallet ของ Blue จะเป็นกระเป๋าประเภท Custodial ส่วนกระเป๋าประเภทอื่นที่ Blue ทำได้ ได้แก่ Bitcoin On-chain Wallet ซึ่งเป็นกระเป๋าแบบ Non-custodial, กระเป๋า Watch-only wallet และยังสามารถสร้างกระเป๋าแบบ Multi-sig ได้อีกด้วย
โดยที่ยอดเงินในแต่ละกระเป๋าจะแยกขาดจากกัน Lightning Wallet ของ Blue จะสามารถรับส่งเงินได้ผ่าน Lightning Network เท่านั้น แต่สามารถเติมเงินเข้า Lightning Wallet จากยอดเงินในกระเป๋า Bitcoin On-chain Wallet ได้
มีให้บริการในระบบ iOS และ Android
- receive/sent bitcoin via LIGHTNING
- receive/sent bitcoin via ON-CHAIN
- LNURL
- Watch-only wallet
- Transactions Control (ON-CHAIN)
Muun เป็นวอลเล็ตลูกผสมซึ่งมีความเป็น Custodial มากกว่า แต่ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน เนื่องจากใช้งานง่าย ใช้ยอดเงินเดียว รับ-ส่ง ได้ทั้ง On-chain และ Lightning สิ่งที่น่าสนใจของ Muun คือ การโอน Bitcoin กลับ On-chain มีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า Wallet of Satoshi และสามารถปรับค่าธรรมเนียมเองได้ว่าอยากให้ไปเร็วหรือช้า ทาง MUUN มี Cold Recovery Code เป็น Backup ให้เราเก็บเอาไว้กู้คืนกระเป๋าได้
มีให้บริการในระบบ iOS และ Android
- ยอดเงินเดียว ใช้งานร่วมกันทั้ง Lightning / On-chain
- receive/sent bitcoin via LIGHTNING
- receive/sent bitcoin via ON-CHAIN
Voltpay เป็น Custodial Wallet ที่โดนเด่นด้านระบบ POS (Point of Sale) เหมาะสำหรับร้านค้าที่ต้องการเริ่มรับ Lightning Network ภายใน Voltpay เราสามารถสร้างรายการสินค้าได้ สามารถตั้งราคาเป็น Fiat หรือ Sats ก็ได้ และยังรองรับระบบ NFC อีกด้วย
Voltpay ใช้วิธีการ Login เพื่อเข้าใช้งานโดยใช้ E-mail/Password โดยการถอนเงินออกจากกระเป๋าทาง Voltpay จะต้องใช้รหัส 2FA ซึ่งถูกส่งมายัง E-mail เราเพื่อให้ยืนยันการถอนทุกครั้ง
ด้วยวิธีการนี้ทำให้พนักงานขายในร้านค้าของคุณสามารถล็อกอิน Voltpay Wallet ไว้ใช้รับเงินจากการขายสินค้าได้ ในขณะที่เจ้าของร้านเท่านั้นที่จะสามารถโอนเงินออกได้
มีให้บริการในระบบ iOS และ Android
- receive/sent bitcoin via LIGHTNING
- LNURL
- NFC
- POS / สร้างรายการสินค้า
นอกจากที่กล่าวไปแล้ว Custodial Wallet ยังมีอีกมากมายให้เราลองเลือกใช้งาน เช่น Alby, Bitcoinbeach, Strike, Chivo, Cash App หรือ Zebedee เป็นต้น
Non-custodial Wallet
Non-custodial Wallet คือ Wallet ที่เราดูแลจัดการ Channel ด้วยตัวเอง และเนื่องจากเป็นไลท์นิ่งวอลเล็ต การเป็น Non-custodial Wallet ย่อมหมายถึงโทรศัพท์ของเราจะต้องทำหน้าที่เป็น Lightning Node ในตัว ซึ่งจะนำไปสู่ภาระในการเปิด-ปิด Lightning Channel และการบริหาร Liquidity ใน Channel ด้วย (หากคุณยังไม่เข้าใจสิ่งที่กล่าวไปและยังไม่พร้อมจะเรียนรู้ เราขอแนะนำให้หยุดอยู่ตรงนี้แล้วเลือกใช้ Custodial Wallet จะดีกว่า)
การใช้ Non-custodial Wallet หมายความว่าหากโทรศัพท์หายหรือเผลอลบแอป ถ้าเราไม่ได้สำรองคีย์และไฟล์ Stage Channel Backup (SCB) ก็หมายถึงการสูญเงินไปตลอดกาลไม่มีใครสามารถกู้คืนได้ และยังหมายความว่าโทรศัพท์ของเราจะต้องจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมที่จำเป็น จะต้องประมวลผลหาเส้นทางส่งเงินผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก จะต้องซิงค์กับบิตคอยน์บล็อกเชนให้เป็นปัจจุบันก่อนจึงจะใช้งานได้ การใช้งานจึงยุ่งยากกว่า
และใช้ทรัพยาการในเครื่องมากกว่า Custodial Wallet จึงทำให้วอลเล็ตประเภทนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเป็นอย่างยิ่ง
ยกตัวอย่างเช่น
Breez เป็น Non-custodial Wallet ที่มีฟังก์ชั่นหลากหลายในตัว ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักเนื่องจากมีความยุ่งยากสำหรับผู้ใช้งานใหม่และยังไม่มีความเข้าใจ
สำหรับการเปิดใช้งานกระเป๋าครั้งแรกเราต้องโอน Bitcoin On-chain หรือ Lightning เข้าเพื่อเปิด Payment Channel โดยมีขั้นต่ำประมาณ 5322 Sats แต่ไม่เกิน 4000000 Sat มีค่าธรรมเนียม 0.4% (ขั้นต่ำ 2000 sat) หลังจากนั้นจึงจะสามารถรับส่งเงินได้ด้วยค่าธรรมเนียมตามมาตรฐานไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก
ภายใน breez มีฟีเจอร์หลากหลายกว่าใคร ทั้ง podcasts ทั้งฟังชั่น POS ที่น่าสนไปกว่านั้นคือการเชื่อมต่อไปยังบริการที่ใช้จ่ายด้วย Lightning เช่น Bitrefill, Fixedfloat, Kollider และอื่นๆอีกมากมาย
Breez มี Backup 2 ส่วนที่เราจำเป็นต้องเก็บไว้ ส่วนแรกคือ Data เราเลือกได้จะเก็บใน Google Drive หรือ Server ส่วนตัว ส่วนที่ 2 คือ Seed 12 คำไว้กู้คืนกระเป๋า
มีให้บริการในระบบ iOS และ Android
- receive/sent bitcoin via Lightning
- receive/sent bitcoin via On-chain
- LNURL
- POS (point of sale)
Phoenix เป็น Non-custodial Wallet ที่ใช้งานง่ายอีกตัวไม่ต้องตั้งค่ามาก ในการเปิดใช้งานกระเป๋าครั้งแรกเราต้องโอน Bitcoin On-chain หรือ Lightning เข้าโดยมีขั้นต่ำ 10000 sats มีค่าธรรมเนียม 1% (ขั้นต่ำ 3000 sats) ในการเปิด Channels ซึ่งเราสามารถดู Capacity และ Balance ของ Channels เราได้ ทาง Phoenix มี Backup เป็น Seed 12 คำไว้กู้คืนกระเป๋า
มีให้บริการในระบบ iOS และ Android
- receive/sent bitcoin via LIGHTNING
- receive/sent bitcoin via ON-CHAIN
- LNURL
Non-custodial Wallet ตัวอื่นๆ เช่น Bilixt Wallet, Eclair, Naguta หรือ Simple Bitcoin Wallet จะยิ่งใช้งานยากขึ้นกว่านี้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างมาก และไม่เหมาะสำหรับมือใหม่เลย
** Blue/ Blixt/ Breez หรือ Phoenix ถ้าไม่ได้ตั้งค่าอะไรเลยก็ยังคงเป็น Custodial เพราะยังใช้เซิร์ฟเวอร์ของบริษัท แต่ถ้า Setup ให้เชื่อมเข้ากับ Database ของโหนดที่เราจัดการเอง มันก็จะกลายเป็น Non-custodial เพราะเราดูแลเองทุกอย่าง **
นอกจากนี้ยังมี Wallet ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับ Lightning Node เครื่องอื่นและใช้บริหารจัดการ Node เหล่านั้นจากทางไกลได้ เช่น Zap, Zeus และ Spark นิยมใช้กันในกลุ่มคนที่มี Node เป็นของตัวเอง
ไม่ว่าจะเลือกใช้แบบไหน Lightning Wallet ก็เป็นแอปพลิเคชั่นจำเป็นที่ช่วยให้เราเข้าถึงไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ และได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ถ้าสนใจลงลึกมากขึ้น ไปศึกษาเพิ่มเติมกันได้ วันหนึ่งเพื่อนๆ อาจเป็นหนึ่งคนมี Lightning Node เป็นของตัวเองก็ได้
เป็นยังไงกันบ้างครับ Lightning Wallet ที่นำมาฝากเพื่อนๆ ทดลองใช้กันได้เลย อย่าลืมมาแชร์ประสบการณ์การใช้งานให้ฟังกันด้วยล่ะ
One comment
Good read. Thanks krub!