แนวคิดอิสรนิยมคืออะไร? มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน?
จุดเริ่มต้นของ “อิสรนิยม” (Libertarianism) เป็นคำที่ประดิษฐ์โดย โจเซฟ เดจาค (Joseph Déjacque) เพื่อใช้อธิบายถึงกลุ่มขบวนการ “ฝ่ายซ้าย” ที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมแบบอนาธิปไตย (สภาวะสังคมที่ไม่จำเป็นต้องมีรัฐ) โดยคนกลุ่มนี้ต่อต้านกฎหมายปิดกั้นงานเขียนของผู้คนที่มีหัวคิดแบบอนาธิปไตยในช่วงกลางทศวรรษ 1890s แต่พัฒนาการของอิสรนิยมนั้นมีมาก่อนแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1870s ถึงต้นทศวรรษ 1880s โดย เบนจามิน ทัคเกอร์ (Benjamin Tucker) ซึ่งหลังจากนั้นนิยามของคำว่าอิสรนิยมแบบดั้งเดิมก็ถูกเปลี่ยนแปลง
เหตุการณ์ในรัฐสภาฝรั่งเศสช่วงสาธารณรัฐที่ 3 ในขณะออกกฎหมายเพื่อเสรีภาพในการทำสื่อของกลุ่มอนาธิปไตยฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส
ทำไมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงนิยามคำว่าอิสรนิยม?
จุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงของนิยามอิสรนิยมนั้น เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของคำว่า “เสรีนิยม” (Liberalism) ที่เคยมีความหมายดั้งเดิมเกี่ยวกับการสนับสนุนสิทธิ์ในทรัพย์สิน สิทธิ์ในชีวิต และสิทธิ์ในร่างกาย ซึ่งเป็นนิยามที่ยอมรับแพร่หลายในศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งนิยามดังกล่าวถูกบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายมากขึ้น ส่งผลให้เสรีนิยมแบบดั้งเดิมมีอิทธิพลทางการเมืองน้อยลง และการกระทำนี้ได้ก่อให้เกิดนิยามใหม่ ๆ ของคำว่าเสรีนิยมออกมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น : 1890s แต่พัฒนาการของอิสรนิยมนั้นมีมาก่อนแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1870s ถึงต้นทศวรรษ 1880s โดย เบนจามิน ทัคเกอร์ (Benjamin Tucker) ซึ่งหลังจากนั้นนิยามของคำว่าอิสรนิยมแบบดั้งเดิมก็ถูกเปลี่ยนแปลง
1. เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)
การเปลี่ยนแปลงนิยามคำว่า ‘เสรีนิยม’ มีจุดเริ่มต้นมาจากความไม่พอใจของกลุ่มฝ่ายซ้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ต้องการต่อต้านแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบ “Marginalist School” (สำนักคิดที่สนับสนุนทฤษฎีมูลค่าจิตวิสัย) เช่น สำนักออสเตรียน (Austrian School) และสำนักชิคาโก (Chicago School) โดยเฉพาะทฤษฎีมูลค่าจิตวิสัย (Subjective Theory of Value) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ไม่ใช่ทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมาร์กซิสต์อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดกัน ทำให้กลุ่มต่อต้านมีการประดิษฐ์คำสำหรับเรียกแทนสำนักเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนทฤษฎีมูลค่าจิตวิสัยเหล่านี้ว่า “Neoliberalismus” (Neoliberalism) หรือ “เสรีนิยมใหม่” ขึ้นมา เพื่อบิดเบือนความหมายไปในทางไม่ดี เป็นคำดูหมิ่นและถูกป้ายสีว่าเป็นสิ่งเลวร้ายในโลกสมัยใหม่
แม้คำว่า “เสรีนิยมใหม่” จะถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1938 โดย อเล็กซานเดอร์ รุสโตว์ (Alexander Rüstow) ในงานประชุมของวอลเตอร์ ลิปป์มันน์ (Walter Lippmann Conference) แต่ก็มีการกล่าวอ้างจากบางแหล่งข้อมูลว่าผู้เข้าร่วมงานบางส่วนไม่ได้สนับสนุนการประดิษฐ์คำว่าเสรีนิยมใหม่ขึ้นมา รวมไปถึงนิยามของเสรีนิยมใหม่ในการประชุมดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนเศรษฐกิจแบบ “ปล่อยให้ทำไป” (Laissez-faire)
ภายหลังนิยามของคำว่า “เสรีนิยมใหม่” ได้ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้งเพื่อต่อต้าน “นโยบายนิวดีล” ของ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ทำให้คำว่า “เสรีนิยมใหม่” กลับมามีความหมายเหมือนกับเสรีนิยมแบบดั้งเดิม ที่สนับสนุนแนวคิดตลาดเสรีทุนนิยมและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของความหมายดังกล่าวมีที่มาจากหนังสือ The Good Society โดย วอลเตอร์ ลิปป์มันน์ในปี 1937 ที่กล่าวถึงความอันตรายของนโยบายการแทรกแซงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นในโลกตะวันตก และกล่าวถึงการสนับสนุนแนวทางแบบเสรีนิยมใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีต้นตอมาจาก การดำเนินนโยบายแบบเคนส์ (Keynesianism) ในหลายประเทศ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา และความเปลี่ยนแปลงนี้ยังมีที่มาจากคอลัมน์หนังสือพิมพ์ในปี 1951 ของ มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ที่ใช้คำว่าเสรีนิยมใหม่ในลักษณะเสรีนิยมดั้งเดิมแบบช่วงศตวรรษที่ 19
2. เสรีนิยมสมัยใหม่ (Modern Liberalism)
“เสรีนิยมสมัยใหม่” เป็นแนวคิดที่ผลักดันความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) การกระจายทรัพยากรผ่านรัฐสวัสดิการขนาดใหญ่ในลักษณะระบบเศรษฐกิจแบบผสม โดยมีการแทรกแซงจากรัฐเป็นหลักแแต่ยังปล่อยให้บางส่วนทำงานไปตามกลไกตลาด
3. เสรีนิยมทางสังคม (Social Liberalism)
“เสรีนิยมทางสังคม” นั้นเป็นการปรับปรุงแนวคิดใหม่ เพื่อปกป้องแนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่ยังหลงเหลือเค้าโครงแนวคิดเสรีนิยมแบบดั้งเดิมอยู่ โดยมีความแตกต่างจาก “เสรีนิยมสมัยใหม่” ตรงที่ “เสรีนิยมทางสังคม” ให้ความสำคัญต่อกลไกตลาดมากกว่าการแทรกแซงของรัฐ ในขณะเดียวกันก็ยังคงสนับสนุนเรื่องการขยายขอบเขตสิทธิทางการเมืองและสังคม สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการรักษาพยาบาลของประชาชน แต่ก็ยังมีการแทรกแซงของรัฐในบางส่วนอยู่
โดยทั้งสามคำนี้เป็นผลมาจาก “นโยบายนิวดีล” (New Deal) ที่ต้องการบิดเบือนนิยามของคำว่า ‘เสรีนิยม’ แบบดั้งเดิมให้มีความหมายแบบใหม่ขึ้นมา
*หมายเหตุ : นโยบายนิวดีลเกิดในทศวรรษ 1930s เนื่องจากเหตุการณ์ The Great Depression นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาตามหลักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian economics) โดยให้รัฐเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายและเพิ่มอุปสงค์มวลรวมในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ 1960s นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนอย่าง เมอรี่ เอ็น. ร็อธบาร์ด (Murray N. Rothbard) มีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงนิยามของ “อิสรนิยม” ในประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของคำว่า “เสรีนิยม” ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายครั้ง โดยงานของร็อธบาร์ดได้เสนอความหมายของ “อิสรนิยม” ขึ้นมาใหม่ให้มีความหมายตรงกันข้ามกับฝ่ายซ้าย ที่มีความต้องการไร้รัฐและสถาปนาความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม นั่นคือการกลับไปมีความหมายที่เหมือนกับ “เสรีนิยมแบบดั้งเดิม” ที่ยึดมั่นในเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และตลาดเสรีทุนนิยม ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “อิสรนิยมฝ่ายขวา” (Right-Libertarianism)
อิสรนิยมฝ่ายขวา (Right-Libertarianism)
นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 กระแสอิสรนิยมฝ่ายขวาเริ่มมีความนิยมในแวดวงวิชาการในประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้น โดยเฉพาะงานเขียนของ โรเบิร์ต โนซิก (Robert Nozick) ที่รู้จักกันในชื่อ “Anarchy, State and Utopia” (ตีพิมพ์ในปี 1974) ซึ่งมีเนื้อหาสนับสนุนรัฐบาลขนาดเล็กหรือจุลรัฐนิยม (Minarchism) ที่มีบทบาทหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิ์ในทรัพย์สิน สิทธิ์ในชีวิต สิทธิ์ในร่างกาย และการบังคับใช้สัญญาทางกฎหมาย (สัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน แต่มีการบังคับใช้สัญญาโดยรัฐ ถ้าการละเมิดสัญญาเกิดขึ้นจะสามารถดำเนินการฟ้องศาลเพื่อให้ผู้ละเมิดสัญญาจ่ายค่าเสียหายได้) ทำให้รัฐบาลแบบจุลรัฐนิยมจะมีองค์กรที่จำเป็นต่อการปกป้องสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้น เช่น ศาล ทหาร ตำรวจ องค์กรเกี่ยวกับการทูต และองค์กรเกี่ยวกับการคลัง เป็นต้น
ในยุคศตวรรษที่ 21 แนวคิดอิสรนิยมมีจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางสังคม เสรีภาพทางการทูต และเสรีภาพทางการเมือง แต่มีการปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะของจุดยืนภายในแนวคิดอิสรนิยมที่แตกต่างกัน จนแบ่งแยกออกเป็นหลายรูปแบบ เช่น :
- อิสรนิยมแบบอนุรักษ์ (Paleolibertarianism) คือ อิสรนิยมที่สนับสนุนระบบตลาดเสรีทุนนิยมและความอนุรักษ์นิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Conservative) โดยผู้ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาได้แก่ เมอรี่ เอ็น. ร็อธบาร์ด และ ลูว์ ร็อกเวลล์ (Lew Rockwell) ในช่วงหลังจากจบสงครามเย็น
- อิสรนิยมแบบอนาธิปไตยทุนนิยม (Anarcho-capitalism) คือ อิสรนิยมที่สนับสนุนตลาดเสรีทุนนิยมโดยปราศจาก “รัฐ” โดยผู้ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาคือ เมอรี่ เอ็น. ร็อธบาร์ด
- อิสรนิยมแบบจุลรัฐนิยม (Minarchist) คือ อิสรนิยมในแบบที่รัฐมีอำนาจอย่างจำกัด และมีองค์กรรัฐที่จำเป็นเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้น เช่น ศาล ทหาร ตำรวจ โดยผู้ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาคือ ซามูเอล เอ็ดเวิร์ด คอนคินที่ 3 (Samuel Edward Konkin III)
- อิสรนิยมสายแก้หรืออิสรนิยมสำนักแอริโซนา (Bleeding-heart Libertarianism) คือ อิสรนิยมที่สนับสนุนตลาดเสรีทุนนิยมที่เข้ากันได้กับความยุติธรรมทางสังคม โดยเชื่อว่าเสรีภาพของปัจเจกบุคคลจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยผู้ที่ใช้คำนี้เป็นคนแรกคือ แอนดรูว์ ซาบล (Andrew Sabl)
- และอิสรนิยมสายอื่น ๆ อีกมากมาย
หัวใจสำคัญของแนวคิดอิสรนิยมคือ “ความเป็นเจ้าของตัวเอง” (Self-ownership)
ความเป็นเจ้าของตัวเองนั้นแสดงถึงความเป็นสิทธิ์ตามธรรมชาติที่ไม่สามารถถูกละเมิดได้ และเมื่อถูกละเมิดความเป็นเจ้าของตัวเองที่ประกอบไปด้วยสิทธิ์ในทรัพย์สิน สิทธิ์ในชีวิต และสิทธิ์ในร่างกาย ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์เหล่านั้นมีความชอบธรรมที่จะปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และร่างกายของตนเองได้ตามหลักการที่จะไม่ละเมิดใครก่อน (Non-aggression Principle)
ความเป็นเจ้าของตัวเองยังรวมถึงการจับจองทรัพย์สินใด ๆ ก็ตามในสภาวะธรรมชาติเป็นคนแรก (Original Appropriation) แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของเริ่มต้นจากทฤษฎีของ จอห์น ล็อค (John Locke) อย่าง Lockean Proviso ที่อธิบายไว้ว่า “การผสมแรงงานของตนเองเข้าไปในทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่มีการจับจอง จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวถูกแปรสภาพจากทรัพย์สินส่วนรวมไปสู่ทรัพย์สินส่วนบุคคล”
ซึ่งส่งผลให้เจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคลมีอำนาจในการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ให้กับผู้สืบทอด หรือสามารถทำสิ่งใดก็ตามกับทรัพย์สินของตนเองก็ได้ หมายความว่าความเป็นเจ้าของตัวเองและทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่มาคู่กันอย่างแยกขาดไม่ได้
ตัวอย่างหลักการโฮมสเตด (Homestead Principle) ที่ชาวนาครอบครองพื้นที่ที่ไม่มีเจ้าของโดยการเข้าไปสร้างพื้นที่ทำกิน ทำให้เกิดความเป็นเจ้าของเหนือพื้นที่เหล่านั้นและครอบครองในฐานะทรัพย์สินส่วนบุคคล
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอิสรนิยม
หลายครั้งแนวคิดอิสรนิยมถูกทำให้ถูกเข้าใจผิดได้ง่าย บางคำกล่าวอ้างที่ว่า “อิสรนิยมจะต้องไม่มีรัฐเสมอ” ซึ่งแม้ว่าจะถูกต้องตามจุดยืนของอิสรนิยมบางสาย (เช่น อิสรนิยมแบบอนาธิปไตยทุนนิยม) แต่ในโดยภาพรวมแล้วยังคงต้องการรัฐบาลขนาดเล็กเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจมีความเสรีมากยิ่งขึ้น และเมื่อหากมองในภาพรวมก็ไม่ผิดมากนักกับการกล่าวอ้างว่า “อิสรนิยมเป็นศัตรูตามธรรมชาติของรัฐ” (เช่น หน่วยงานจัดเก็บภาษีหรือองค์กรใด ๆ ก็ตามที่ขูดรีดทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนในประเทศ) เนื่องจากอิสรนิยมมีแนวโน้มที่เป็นปรปักษ์กับรัฐ เพราะมีจุดยืนในเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ตรงกันข้ามกับนโยบายการควบคุมและแทรกแซงเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เช่น การผลักดันรัฐสวัสดิการ เป็นต้น)
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้อิสรนิยมมีความสามารถในการดึงดูดผู้คนให้สนับสนุนได้ยาก เพราะอิสรนิยมไม่สนับสนุนการให้ผลประโยชน์ต่อผู้คนผ่านการแทรกแซงของรัฐ
ทำให้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ภายใต้การเมืองแบบเน้นนโยบายประชานิยม จะไม่ยอมรับแนวคิดอิสรนิยมให้มีอำนาจทางการเมืองเทียบเท่ากับอุดมการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นไปในการสร้าง “ผลประโยชน์ระยะสั้น” ต่อประชาชนโดยตรง (เช่น ระบบสองพรรคการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิดอิสรนิยมเป็นไปได้ยากที่จะถูกยอมรับในสังคมกระแสหลัก)
ถึงแม้ว่านโยบายตลาดเสรีทุนนิยมของอิสรนิยม จะแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในหลาย ๆ ประเทศแล้วก็ตาม แต่จุดขายหนึ่งที่อิสรนิยมต้องการผลักดันต่อสังคมคือการเสนอ “ผลประโยชน์ในระยะยาว” ซึ่งอาจดูเป็นการสวนกระแสสังคม เนื่องจากอิสรนิยมนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์เพื่อประชาชน ที่สนับสนุนนโยบายการแทรกแซงเศรษฐกิจซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนตกอยู่ภายใต้ภาพลวงตาของ “ความเห็นแก่เวลา” หรือความโหยหาผลตอบแทนระยะสั้นที่สูง (High Time-preference) ประเด็นนี้ทำให้กลุ่มอิสรนิยมนั้นยากต่อการเอาชนะทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มอิสรนิยมจึงต้องมีความพยายามอย่างหนักในการโน้มน้าวใจผู้คนในสังคม ให้รับรู้ถึงคุณค่าของผลประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าผลในระยะสั้น และความท้าทายของอิสรนิยมในการเผชิญหน้ากับ “รัฐ” ในฐานะของ “องค์กรที่ผูกขาดความรุนแรงเหนือพื้นที่” เป้าหมายเพื่อให้ขนาดของรัฐลด และสนับสนุน “เสรีภาพในปัจเจกบุคคล” ให้มากขึ้น จึงจะเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของกลุ่มผู้ที่สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ชื่อว่า “อิสรนิยม” ที่ปรารถนาเสรีภาพมากกว่าการกดขี่ข่มเหง
อิสรนิยมคือหัวใจของเสรีภาพ และเสรีภาพนี้จะไม่สามารถถูกพรากไปได้ตลอดกาล เพราะเมื่อใดที่ปราศจากเสรีภาพ หรือถูกริดรอนเพื่อให้ยอมจำนนแล้ว เมื่อนั้นเราก็ไม่ต่างจากทาสที่นายทาสจะกระทำโหดเหี้ยมและละเมิดสิทธิ์ในปัจเจกบุคคลอย่างไรก็ได้
บรรณานุกรม :
- Kinsella, Stephan. What Libertarianism Is. Auburn, AL: Mises institute, 2009.
- Deist, Jeff. “Classical Liberalism” Will Never Satisfy the Left. Auburn, AL: Mises institute, 2022.
- Gordon, David. Locke vs. Cohen vs. Rothbard on Homesteading. Auburn, AL: Mises institute, 2019.
- Rothbard, Murray N. For a New Liberty: The Libertarian Manifesto. Auburn, AL: Mises institute, 1973.
- Magness, Phillip, Coining Neoliberalism: Interwar Germany and the Neglected Origins of a Pejorative Moniker (August 26, 2020). Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=3681101 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.3681101
- Raico, Ralph. How Historians Changed the Meaning of “Liberalism”. Auburn, AL: Mises institute, 2020.
- Raico, Ralph. The “Old” vs. the “New” Liberalism. Auburn, AL: Mises institute, 2020.
- Tucker, Jeffrey A. Where Does the Term “Libertarian” Come From Anyway?. Atlanta, GA: Foundation for Economic Education, 2016.
One comment
เขียนดีมีสาระ ผมสัมผัสได้ถึงพลัง