ก่อนที่ผมจะมีโอกาสได้ศึกษาเรื่อง “เงิน” (Money) ผมไม่เคยถามตัวเองมาก่อนว่า “เงินคืออะไร” (What is money?) รู้แค่ว่าผมทำงานให้ได้เงิน นำเงินที่ได้มาเลี้ยงดูครอบครัว เก็บออมเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ลงทุนให้เงินงอกเงย และสามารถส่งมอบให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่พวกเขาในอนาคต นี่คือ “เงิน” ในแบบที่ผมเข้าใจ ผมเชื่อว่าแต่ละคนก็มีคำจำกัดความและมุมมองที่มีต่อเงินไม่เหมือนกัน
“หลายคนอาจไม่เคยถามตัวเองว่า เงิน คืออะไร”
การจะทำความเข้าใจบิตคอยน์ที่เกิดมาเพื่อเป็นระบบการเงินใหม่ ที่ไม่มีผู้ใดสามารถควบคุม แก้ไข แทรกแซง หรือเปลี่ยนแปลงมันได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มันคืออะไร เกิดขึ้นมาได้ยังไงและเกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์
ระบบบาร์เตอร์ (Barter System) คืออะไร?
ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังไม่ได้ใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน การค้าขายในสังคมเกิดขึ้นผ่านการใช้ระบบสินค้าแลกสินค้าหรือ “ระบบบาร์เตอร์” (Barter System) โดยวิธีการคือนำสินค้าที่มีมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ต้องการจากผู้อื่น เช่น นำผักผลไม้แลกกับเนื้อสัตว์ นำปลาแลกกับธัญพืช
หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการ “ยื่นหมูยื่นแมว” ก็คงไม่ผิด
สันนิษฐานกันว่าระบบบาร์เตอร์อยู่กับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่บรรพกาล โดยบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เริ่มมีปรากฏตั้งแต่ในยุคอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamian Civilization) ซึ่งประกอบไปด้วยอาณาจักรสุเมเรีย (Sumeria) อัคเคเดีย (Akkadia) บาบิโลน (Babylon) และอัสซีเรีย (Assyria)
โดยชื่ออาณาจักรเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับพันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์ (The Old Testament) ที่มีการกล่าวถึงระบบบาร์เตอร์อยู่บ้างประปรายในเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมท้องถิ่น และบรรยากาศการค้าขายในตลาด นอกจากนี้อีกยุคหนึ่งคือช่วงอารยธรรมกรีกโบราณ (Ancient Greece Civilization) ก็มีการกล่าวถึงระบบบาร์เตอร์เช่นกัน
โดยระบบบาร์เตอร์ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการค้าขายแลกเปลี่ยนมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามมันก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อาทิ :
1. ผู้คนที่จะทำการแลกเปลี่ยนกันมักจะต้องเป็นคนที่รู้จักกัน
หรืออยู่ในชุมชนเดียวกัน เพราะมันคงยากน่าดูถ้าจะไปแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยวิธีการนี้กับคนที่ไม่รู้จักกัน หรือคนที่อยู่ต่างเมือง ทำให้การค้าขายถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ทำให้ขาดนวัตกรรมในการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรนอกชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่
2. การตั้ง “ราคา” สินค้าให้เป็นมาตรฐานเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
หรือเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากไม่มี “หน่วยกลาง” ในการแลกเปลี่ยน ทำให้การตีราคาขึ้นอยู่กับความต้องการ ณ ขณะนั้น พูดให้เห็นภาพมากขึ้นคือ การบาร์เตอร์จะเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ที่แลกเปลี่ยนกันเป็นหลัก เช่น วันนี้ฉันต้องการแลกเสื้อ 1 ตัวกับแอปเปิ้ล 5 ผล เพราะฉันอยากกินแอปเปิ้ล แต่อีกวันฉันไม่อยากกินแล้ว ฉันอยากกินปลา 2 ตัวแทน ดังนั้นหากใครจะเอาแอปเปิ้ลมาแลกกับเสื้อ ฉันจะยอมแลกก็ต่อเมื่อได้แอปเปิ้ล 10 ผลเท่านั้น (เพราะฉันไม่อยากได้แอปเปิ้ลในวันนี้ แอปเปิ้ลจึงมี “มูลค่า” ลดต่ำลงสำหรับฉัน)
3. ความไม่แน่นอนในการแลกเปลี่ยน
ลองคิดภาพว่าชายคนหนึ่งต้องการขายเนื้อสัตว์เพื่อแลกกับรองเท้า เขาต้องเดินหาพ่อค้าขายรองเท้าซักคนที่ต้องการเนื้อสัตว์ในตลาด หรือไม่ก็ต้องตั้งร้านและเฝ้ารอให้ใครคนนั้นเดินผ่านมาเพื่อทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันจนเกิด “ความต้องการที่สอดคล้องกัน” (Coincidence of Wants)
ถ้าโชคดีชายคนนี้ก็อาจจะได้รองเท้าคู่ใหม่โดยแลกกับปริมาณเนื้อสัตว์ที่เหมาะสม แต่อะไรจะเป็นหลักประกันได้เล่าว่าการค้าขายแบบนี้มันจะสมหวังทุกครั้ง
ถ้าใครเคยเล่นเกมแนว MMORPG ให้นึกถึงเวลาเข้าเกมไปตั้งร้านขายของ รอแล้วรอเล่าก็ยังขายของไม่ออกสักชิ้น คงจะเข้าใจความรู้สึกตรงนี้ดี แต่ถึงอย่างนั้นในโลกของเกมมันก็ยังมีเงินให้ใช้ แต่ในชีวิตจริงของผู้คนในยุคสมัยที่ยังไม่มีเงินเป็นสื่อกลาง มันยากลำบากจนอาจจะส่งผลร้ายแรงถึงความเป็นความตายของคนในครอบครัว
4. ผู้คนแทบไม่มีแหล่งในการเก็บความมั่งคั่ง (Store of Wealth) ใด ๆ สำหรับอนาคต
การค้าขายแลกเปลี่ยนในสังคมชุมชนเล็ก ๆ มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ได้สินค้ามากินมาใช้เพื่อให้อยู่รอดไปวัน ๆ เช่น อาหาร หรือสินค้าประเภททุน (Capital Goods) ซึ่งเป็นสินค้าที่เอาไว้ทุ่นแรงในการผลิตสินค้า เช่น เลื่อยไม้, ธนูล่าสัตว์, ค้อนตอกตะปู, เข็มเย็บปักถักร้อย, เบ็ดตกปลา ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นของที่ใช้แล้วหมดไปหรือเสื่อมลงตามอายุการใช้งาน
ซึ่งตามสัญชาตญาณพื้นฐานแล้ว มนุษย์ต้องการแสวงหาอะไรสักอย่างมาเป็นภาชนะในการเก็บออมความมั่งคั่งเอาไว้สำหรับอนาคต และส่งมอบให้รุ่นลูกรุ่นหลาน วิธีการแลกเปลี่ยนแบบนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ยาก ทำให้เกิดการลองผิดลองถูกมากมายในการเก็บสะสมความมั่งคั่งเอาไว้ในสิ่งของต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก ซึ่งของบางอย่างก็ทำหน้าที่ตรงนี้พอได้ แต่บางอย่างก็เน่าเสียและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งเป็นสิ่งไร้ค่า
“ระบบบาร์เตอร์ (Barter System) ไม่มีสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นเงิน จึงจำกัดขอบเขตการค้าขายแลกเปลี่ยน ทำให้วันพรุ่งนี้มีแต่ความไม่แน่นอน”
สินค้าประเภทเงิน (Money)
เมื่อสังคมมนุษย์ดำเนินไปจึงเริ่มมีการใช้สินค้าบางประเภทที่ “ทุกคนต้องการ” และมีคุณสมบัติเป็นสื่อกลางในการค้าขายแลกเปลี่ยน ซึ่งฝั่งผู้ขายยินดีที่จะรับมาเพื่อแลกกับสินค้าที่เขาอยากจะขาย
สินค้าประเภทนี้ คือ “เงิน”
“เงิน” เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของอารยธรรมมนุษยชาตินับพัน ๆ ปี มันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงคุณค่าที่มอบอำนาจให้แก่ผู้ถือครอง ก่อให้เกิดความสามารถในการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เงินยังส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิด, การตัดสินใจ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างกันในสังคมมนุษย์ ผู้ที่เก็บออมและนำเงินไปลงทุนอย่างชาญฉลาดเป็นกระบวนการที่สะท้อนให้เห็นถึงการวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุมเป็นระเบียบรอบคอบ เพื่อสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของชีวิตในระดับบุคคลและครอบครัว จนสามารถเก็บออมเพื่อส่งต่อหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้แก่ชนรุ่นหลังได้
เงินยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาทักษะความสามารถเฉพาะทางของผู้คน ทำให้เกิดอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน บางคนถนัดทำการเกษตร บางคนถนัดงานช่างไม้ บางคนถนัดในการล่าสัตว์จับปลา และยังมีความถนัดเฉพาะทางสาขาอื่น ๆ อีกมากมายในสังคม สิ่งนี้ทำให้เกิดการผสมผสานวิถีชีวิตและชุมชน ทำให้สังคมมีชีวิตชีวา มีความหลากหลาย และมีจังหวะท่วงทำนองของการใช้ชีวิตที่ช่วยแต่งแต้มสีสันให้เกิดวิวัฒนาการทางสังคม จนกลายเป็นวัฒนธรรมและอารยธรรมต่าง ๆ ตามมา
“เงินจึงเป็นอะไรที่พิเศษมากกว่าการเป็นแค่กระดาษใบหนึ่งหรือเหรียญโลหะเล็ก ๆ เหรียญหนึ่ง มันคือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการของมนุษยชาติจวบจนปัจจุบัน”
“ผู้คนพัฒนาความสามารถเฉพาะทางจนเกิดอาชีพต่าง ๆ มากมายที่ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยกันในสังคม”
คุณสมบัติของสิ่งที่ใช้เป็นเงินคืออะไร?
คาร์ล เมงเกอร์ (Carl Menger) นักเศรษฐศาสตร์ และบิดาแห่งแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน (Austrian School of Economics) ทำการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนในช่วงยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งมีสภาพตลาดที่แตกต่างกัน เพื่อมองหาความสัมพันธ์และนำเสนอแนวคิดซึ่งเป็น “คุณสมบัติ” ที่สำคัญของเงินที่สามารถใช้ได้อย่างเสรีในตลาด นั่นคือ “ศักยภาพในการแลกเปลี่ยน” (Salability) 3 ประการ ได้แก่ :
1. ศักยภาพในการแลกเปลี่ยนเชิงปริมาตรหรือเชิงขนาดและปริมาณ (Salability Across Scale)
สินค้าใด ๆ ก็ตามที่ทำหน้าที่เป็นเงิน ต้องมีคุณสมบัติที่ตัวของมันเองสามารถแบ่งหรือแตกย่อยลงเป็นหน่วยเล็ก ๆ ได้ โดยสามารถมีมูลค่าเป็นมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วกัน ทำให้การค้าขายแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นได้กับสินค้าทุกช่วงราคา ตั้งแต่สินค้าที่มีมูลค่าเล็กน้อย ไปจนถึงสินค้าที่มีมูลค่าสูง ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีเงิน คงไม่มีใครสามารถแยกส่วนบ้านเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อมาแลกเปลี่ยนกับอาหาร การมีสินค้าประเภทเงินนั้นช่วยแก้ปัญหาดั้งเดิมของระบบบาร์เตอร์ตรงประเด็นเรื่องความต้องการที่สอดคล้องกัน (Coincidence of Wants)
2. ศักยภาพในการแลกเปลี่ยนเชิงระยะทาง (Salability Across Space)
การที่เงินมีขนาดเล็กพอที่จะนำติดตัวไปได้ทุกที่ ทำให้สามารถทำการค้าขายกับดินแดนที่อยู่ห่างไกลได้ เพียงพกเงินตามจำนวนที่จำเป็นต้องใช้ไป ถึงแม้จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะโดนดักปล้นระหว่างทาง
3. ศักยภาพในการแลกเปลี่ยนเชิงกาลเวลา (Salability Across Time)
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เงินก็ยังรักษามูลค่าของมันไว้ได้ ทนทานต่อการผุพังผุกร่อนจากสภาพแวดล้อมตามกาลเวลา เป็นการบอกว่าเงินที่ดีจะต้องมีความสามารถในการเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า (Store of Value) ได้ ซึ่งประเด็นนี้เดี๋ยวจะมีการพูดถึงต่อไปอย่างละเอียดครับ
“Carl Menger (1840-1921)”
บทบาทหน้าที่ของเงิน
เมื่อเงินเข้ามาสู่สังคมมนุษย์ มันสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนในการค้าขายลดลง การทำธุรกรรมที่เร็วขึ้น มาตรฐานการใช้ชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนภาพอนาคตจากวันพรุ่งนี้ที่มีแต่ความไม่แน่นอน ให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนทางการเงิน การเก็บออม และการลงทุน โดยบทบาทหน้าที่ของเงินที่แทรกตัวอยู่อย่างแนบเนียนนี้แสดงออกใน 3 ประการ ได้แก่ :
1. สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange)
ข้อนี้เป็นบทบาทที่เงินทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีเงินเข้ามาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน มันได้ทำลายข้อจำกัดของระบบบาร์เตอร์ ทำให้การค้าขายไม่ได้จำกัดอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ อีกต่อไป การค้าขายสามารถข้ามดินแดนได้ เกิดการผลิตและขนส่งสินค้าที่หลากหลายมากกว่าเดิม ทำให้มีสินค้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น ส่งผลให้อารยธรรมของมนุษย์เจริญก้าวหน้า ระยะเวลาในการตกลงซื้อขายกันระหว่างผู้คนสั้นลงอย่างมาก ไม่ต้องรอให้ผู้ที่ต้องการซื้อและผู้ที่ต้องการขายโคจรมาเจอกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาขนาดไหน เป็นการแก้ปัญหาเรื่องความต้องการที่สอดคล้องกัน (Coincidence of Wants)
นอกจากนี้เงินยังมอบความสามารถในการคาดการณ์การค้าขายในแต่ละวัน ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเจรจาตกลงการค้ากันล่วงหน้าก่อนถึงวันส่งมอบสินค้าได้ กล่าวคือผู้ขายสามารถรู้ได้ว่าจะต้องนำสินค้าปริมาณเท่าไหร่มาขาย ในขณะที่ผู้ซื้อก็รู้ล่วงหน้าได้ว่าจะต้องเตรียมเงินมาเท่าไหร่ เพื่อซื้อสินค้าในปริมาณที่เขาต้องการ เป็นการได้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
2. แหล่งเก็บรักษามูลค่า (Store of Value)
บทบาทหน้าที่นี้เป็นสิ่งสำคัญ (… อาจจะสำคัญที่สุดด้วย …) แสดงถึงความสามารถในการรักษามูลค่าของมันไว้ได้ข้ามผ่านกาลเวลาไม่ว่าจะนานแค่ไหน ผู้คนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจและน้ำพักน้ำแรงในการทำงาน เพื่อผลิตสินค้าและบริการ และสร้างสรรค์ผลงานทั้งสิ่งประดิษฐ์หรืองานศิลปะนั้นได้ส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคม และสังคมย่อมตอบแทนเขาเป็นรางวัลด้วยเงินหรือสิ่งมีค่าอื่น ๆ แต่ในสมัยที่ยังไม่มีเงินนั้น มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะเก็บรักษามูลค่าที่ได้รับเป็นสิ่งตอบแทนการทำงานของเขาข้ามผ่านกาลเวลาได้ เพราะมันไม่มีภาชนะใด ๆ ที่จะบรรจุและกักเก็บมูลค่าเหล่านั้นไว้ได้ดีมากพอ
จนกระทั่งถึงสมัยที่เงินเข้ามามีบทบาทในสังคมมนุษย์ ปัญหาเรื่องการแลกเปลี่ยนก็ค่อย ๆ ถูกแก้ไข แต่มันก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จในเวลาสั้น ๆ เนื่องจากมนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะคัดเลือกสินค้าที่มีคุณสมบัติเพียงพอต่อการเป็นเงินที่ดี มีการทดลอง มีการลองผิดลองถูก มีคนที่สูญเสียความมั่งคั่งไป และก็มีคนที่รักษาความมั่งคั่งไว้ได้ ทั้งหมดนี้เพื่อแก้โจทย์ทางธรรมชาติข้อหนึ่งให้ได้ คือ
“ทำอย่างไรถึงจะสามารถเก็บความมั่งคั่งเอาไว้ได้ โดยไม่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา?”
- หากมีใครซักคนได้รับ “ผลไม้” หรือ “ข้าวเปลือก” เป็นสิ่งตอบแทนการทำงานและคุณค่าที่เขามอบให้แก่สังคม ก็เท่ากับว่าความมั่งคั่งของเขากำลังลดลงทุก ๆ วัน เนื่องจากผลไม้และข้าวเปลือกย่อมทยอยเน่าเสียไปเรื่อย ๆ จนไม่เหลือค่าใด ๆ ในท้ายที่สุด
- หากใครเลือกเก็บความมั่งคั่งของเขาไว้ใน “สัตว์” เช่น วัว ความมั่งคั่งของเขาก็มีโอกาสถูกปล้นได้ นอกจากนี้ความมั่งคั่งก็อาจจากเขาไปเพราะวัวนั้นขยับเคลื่อนที่ได้ ไม่ว่าจะเดินออกจากคอกไปด้วยตัวมันเองหรือถูกผู้อื่นปล้นแย่งชิงไป และที่สำคัญก็คือวัวดังกล่าวจะต้องตายไปตามอายุขัยของมันในที่สุด
- หากใครเลือกเก็บความมั่งคั่งของเขาเอาไว้ใน “ทองคำ” บางทีเขาอาจจะเป็น “ผู้ที่ทำสำเร็จ” ในการทดลองนี้
“มนุษย์ต้องลองผิดลองถูกอย่างยาวนาน จนค้นพบสิ่งที่สามารถเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าที่ดีได้”
การที่ผักเน่าเสียได้ หรือการที่วัวตายได้ (หรือเดินหนีหายออกไปจากคอกได้) สะท้อนให้เห็นถึงการเสื่อมสลายทางกายภาพไปตามกาลเวลา และความไม่แน่นอนของสิ่งที่ใช้เป็นเงิน ดังนั้นการเลือกเงินที่มีความแข็งแรงคงทน เช่น ทองคำ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีในการใช้เป็น “ภาชนะเก็บรักษามูลค่า”
ถึงแม้ว่ามนุษย์จะค้นพบสิ่งที่มีคุณสมบัติทางกายภาพเหมาะสมในการทำหน้าที่เป็นเงินได้ แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับแรงกระทำจากภายนอกที่อาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ผู้คนเลือกใช้เปลือกหอยเป็นเงิน โดยอุปทานของเปลือกหอยเมื่อแรกเริ่มอาจจะมีปริมาณไม่มาก เนื่องจากเราไม่สามารถหาเปลือกหอยมาเพิ่มได้ง่ายจนเกินไป เพราะมีวงจรชีวิตของหอยที่มีธรรมชาติเป็นผู้กำหนด สิ่งนี้ทำให้เปลือกหอยมีค่า และตัวมันเองก็มีคุณสมบัติทางกายภาพที่มีความคงทนไม่เสื่อมสลายง่ายในระดับหนึ่ง
แต่เมื่อเทคโนโลยีทางการประมงก้าวหน้า เรือประมงสามารถเดินเรือจับหอยได้เป็นจำนวนมาก เมื่อมีเปลือกหอยปริมาณมหาศาลอัดฉีดเข้ามาสู่ระบบการค้าขายเดิม ในที่สุดก็จะเกิดเงินเฟ้อ (หรืออาจจะรุนแรงถึงระดับเงินเฟ้อครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Hyperinflation) ทำให้เปลือกหอยซึ่งเดิมทีเป็นสิ่งที่มีค่านั้นถูกทำลายมูลค่าจนหมดสิ้นและตายสนิท
ผู้คนที่เก็บความมั่งคั่งเอาไว้ในเปลือกหอย จึงถูกปล้นความมั่งคั่งออกไปจากมือ จนสิ้นเนื้อประดาตัว
วิธีหนีตายก็คือผู้ที่เก็บออมจะต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอด เพื่อให้รู้ได้ว่าสินค้าประเภทไหนมีโอกาสทำหน้าที่เป็นเงินได้ดีกว่าสิ่งที่เขามีอยู่ แล้วนำเงินออมของเขาไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินที่ดีกว่า แล้วถือครองไว้เพื่อรักษามูลค่าเงินออมของเขาให้อยู่รอด เราสามารถเปรียบเทียบได้เหมือนกับการลงทุนในยุคปัจจุบัน ที่เรานำเงินสดไปซื้อสินทรัพย์ทางการลงทุนที่คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ดังนั้นเงินที่ดีจำเป็นต้องมีคุณสมบัติในการเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าที่ดี มีลักษณะทางกายภาพที่ทนทานข้ามผ่านกาลเวลา มีความคงทน ไม่เน่าเสีย ไม่ขึ้นสนิมหรือเสื่อมสลายได้ง่าย รวมทั้งยังต้องสามารถต้านทานการเสื่อมมูลค่าจากอุปทานเงินที่เพิ่มขึ้นมากและรวดเร็วเกินไป (Over Supply) ได้อีกด้วย
3. หน่วยวัดทางบัญชี (Unit of Account)
บทบาทของเงินในฐานะหน่วยวัดทางบัญชี ทำหน้าที่เป็น “เครื่องมือ” ให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถสื่อสารกันเข้าใจโดยใช้เงินเป็น “ภาษากลาง” ร่วมกัน ซึ่งภาษาที่ว่าก็คือ “ราคา” ที่ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบคุณภาพและราคาของสินค้าชนิดเดียวกันที่มีผู้ผลิตหลายรายได้ สินค้าใดที่ตอบโจทย์ผู้คนได้ดี เขาก็จะยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่า ในขณะที่ทางฝั่งผู้ผลิตสินค้าเองก็ต้องแข่งกันในการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ การแข่งขันนี้จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้คน
หากมนุษย์ไม่มีภาษากลางที่เอาไว้สื่อสารกันเรื่องราคาแล้ว การค้าขายย่อมเติบโตได้ช้าลง ทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาต่อยอดความรู้ของมนุษย์ไปอีกหลายมิติ อารยธรรมของมนุษย์ที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าก็จะโดนเตะตัดขาให้ล้มคว่ำอยู่กับที่ หรือไม่ก็ก้าวถอยหลังกลับสู่สิ่งเดิม ๆ ในอดีตกาล
แต่การจะทำให้การตั้งราคามีความเที่ยงตรงและมีมาตรฐานน่าเชื่อถือได้ กระบวนการทั้งหมดจำเป็นจะต้องมีเงินที่ดีและมั่นคง เพื่อทำหน้าที่เป็นโครงสร้างระดับรากฐานที่แข็งแกร่ง ก่อนที่เราจะสามารถสร้างอะไรใหม่ ๆ ซ้อนทับบนฐานรากนี้ได้อีกชั้นหนึ่ง
เพราะคงไม่มีกษัตริย์ฟาโรห์องค์ใดอยากจะสร้างพีระมิดบนพื้นทรายที่อ่อนยวบ โดยยังไม่ได้ปรับสภาพฐานรากให้มั่นคงเสียก่อน
ซึ่งระบบการค้าขายแลกเปลี่ยนก็เช่นกัน เราต้องการเงินที่ดีเพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของอารยธรรมมนุษย์
ทำไมการมีเงินที่ดีถึงสำคัญต่ออารยธรรมมนุษย์?
หนึ่งในสิ่งที่เป็นกลไกเบื้องหลังพัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ก็คือ ”เงิน” แต่การที่มีเงินอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ มนุษย์จำเป็นต้องมี “เงินที่ดี” หรือ “เงินที่มั่นคง” (Sound Money) ที่นอกจากจะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและมาตรวัดทางบัญชีแล้ว อีกบทบาทที่ดูเหมือนจะสำคัญที่สุดก็คือการเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า เป็นภาชนะบรรจุผลรวมของความทุ่มเทแรงกายแรงใจและน้ำพักน้ำแรงของผู้ที่ทำงานเพื่อสร้างคุณค่าให้สังคม และเป็นเครื่องมือให้ผู้คนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการแปลง ”เวลา” เป็นความมั่งคั่ง…เวลาซึ่งเป็นต้นทุน “ที่มีจำกัดและมีค่าที่สุด” ของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุก ๆ การทำงานและลงมือลงแรง ล้วนแต่ต้องใช้เวลาแลกมาทั้งสิ้น
“เวลาเป็นสิ่งที่ใช้แล้วเสียไป และไม่สามารถนำกลับมาได้”
เมื่อมีเงินที่ดี มนุษย์ก็มีความสามารถที่จะแปลงเวลาอันมีค่ามาอยู่ในแหล่งกักเก็บความมั่งคั่งในระยะยาวได้ ซึ่งเงินที่ดีก็ไม่ควรจะหักหลังความตั้งใจและน้ำพักน้ำแรงของผู้คน
แต่ความเป็นจริงในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมา เงินนั้นถูกทดสอบ ถูกบดขยี้ และถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น :
- สงครามโลก
- การทำลายมูลค่าและฆ่าให้ตายสนิท (Debasement)
- การทำให้ปริมาณอุปทาน (Money Supply) ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเสียสมดุล (เช่น พิมพ์เงินเพิ่ม) ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ (Hyperinflation)
- การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis)
ถึงกระนั้นก็ดี เงินก็มีการปรับตัวและมีวิวัฒนาการวิ่งเป็นเส้นคู่ขนานมากับอารยธรรมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งในกลไกตลาดเสรี (Free Market) ตามธรรมชาติ ผู้คนในสังคมจะคัดเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่เป็นเงินได้เอง โดยปราศจากการแทรกแซง (… อย่างน้อย ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์มันก็ไม่เคยถูกแทรกแซง …) ทำให้เงินมีการเปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นหินรายแห่งหมู่เกาะแยป (Rai Stones of the Yap Islands) ลูกปัด เปลือกหอย ข้าวสาร เกลือ เหรียญโลหะ โลหะมีค่า (เช่น ทองคำ แร่เงิน) ตั๋วแลกทองคำ จนมาจบที่เงินรัฐบาล (เงินเฟียต) ในปัจจุบันที่สกุลเงินทั้งหมดถูกควบคุมโดยระบบเงินดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar หรือ USD) ระบบที่เต็มไปด้วยการแทรกแซงจากอำนาจรัฐบาลและธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve หรือ FED) ผู้กุมอำนาจเหนือระบบการเงินโลกอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 1971 จากเหตุการณ์นิกสันช็อก (Nixon Shock)
เงินเฟียตเป็นเนื้อร้ายที่บ่อนทำลายเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นวงกว้าง มันฆ่าระบบการเงินของประเทศที่อ่อนแอให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะอำนาจในการพิมพ์เงินอยู่ในมือของนักการเมืองและ FED ในขณะที่ประชาชนตาดำ ๆ ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหนัก ต่อสู้ดิ้นรนปากกัดตีนถีบ แลกหยาดเหงื่อแรงกาย อดหลับอดนอน ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อที่จะมีเงิน บางคนยอมกู้เงินเป็นหนี้เพื่อสร้างกิจการ โดยแบกรับความเสี่ยงที่จะล้มเหลวและหมดตัว
แต่กลับมีกลุ่มคนบางกลุ่มสามารถดีดนิ้วสั่งพิมพ์เงินเพิ่มได้ไม่จำกัดเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ
จากนั้นค่อยออกมาชี้แจงเหตุผลต่อสาธารณชนด้วยถ้อยแถลงที่เต็มไปด้วยคำโกหก แถมไม่ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นอีกด้วย
“FED กุมอำนาจการเงินเบ็ดเสร็จ สามารถพิมพ์เงินเพิ่มได้อย่างไม่จำกัด”
หลังจากที่คุณได้อ่านบทความตอนนี้จบแล้ว ผมอยากฝากให้ทุกคนนำไปคิดต่อว่าเงินเฟียตคู่ควรแก่การขึ้นชื่อว่าเป็นเงินที่ดีสำหรับมนุษยชาติหรือไม่? และบิตคอยน์ที่เกิดมาเพื่อเป็นระบบการเงินใหม่นั้นมีคุณสมบัติในการเป็นเงินที่ดีกว่าหรือเปล่า? โดยใช้โมเดลที่ผมเล่ามาในบทความนี้เป็นแนวทางในการพิจารณาได้ครับ :
- คุณสมบัติของเงิน ตามที่คาร์ล เมงเกอร์เสนอเรื่องศักยภาพในการแลกเปลี่ยนทั้ง 3 สถานะ ได้แก่ ปริมาตร ระยะทาง และเวลา
- บทบาทหน้าที่ทั้ง 3 ประการของเงิน ได้แก่ สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แหล่งเก็บรักษามูลค่า และมาตรวัดทางบัญชี
- คุณสมบัติของ “เงินที่ดี” มีความคงทนทางกายภาพ และต้านทานการถูกลดมูลค่าจากการผลิตเพิ่มจนเกิดเงินเฟ้อ
สำหรับบทความ Basic Bitcoin The Series ตอนต่อไป ผมจะมาเล่าเกี่ยวกับเงินสร้างง่าย (Easy Money) เงินสร้างยาก (Hard Money) และเงินที่แข็งแกร่งมั่นคง (Sound Money) ว่าในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้นมันเคยมีเกิดปรากฏอยู่หรือไม่ รวมถึงวิธีวิเคราะห์ว่าเงินชนิดไหนคือเงินที่แข็งแกร่ง หรือเงินที่อ่อนแอ
ไว้พบกันตอนต่อไป สวัสดีครับ
ถ้าคุณยังไม่ได้อ่านบทความ “เกิดอะไรขึ้นในโลก…ทำไมบิตคอยน์ถึงได้ถือกำเนิดขึ้น? [Basic Bitcoin The Series ตอนที่ 1]” ผมแนะนำให่อ่านด้วยนะครับ ผมได้เล่าอย่างละเอียดไว้ว่าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มันเกิดอะไรขึ้นและทำไม FED จึงได้กุมบังเหียนระบบการเงินโลกอย่างเบ็ดเสร็จ จนทำให้ระบบการเงินโลกผิดเพี้ยน ผิดปกติ และวิปลาศมาถึงปัจจุบัน เมื่ออ่านแล้วจะทำให้เข้าใจเนื้อหาและเห็นภาพมากขึ้นครับ!