DALLE_2022-12-14_16-compressed
Picture of Isaycheese

Isaycheese

บิตคอยน์ กับ พุทธศาสนา เหมือนกันอย่างไร?

กระบวนการแสวงหาความจริงที่ถูกบิดเบือนนั้น ทำให้ “บิตคอยน์” มีลักษณะเหมือนกับสิ่งหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมา 2,600 ปีก่อนด้วยการมีเป้าหมายไม่ต่างกันแม้แต่น้อย และสิ่งนั้นถูกเรียกว่า “ธรรมะ” บทความนี้จะชวนคุณไปค้นหาคุณค่าและความหมายที่เหมือนกันอย่างอัศจรรย์ของ 2 สิ่งนี้

การเบิกเนตรครั้งบรรพกาล

ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคสมัยที่แสนจะบิดเบี้ยว เราทุกคนล้วนถูกบีบบังคับให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบบที่คอยกัดกินพลังงานที่เราเก็บสะสมมาตลอดทั้งชีวิต โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังถูกขโมยแหล่งพลังงานของตัวเองอยู่ เราถูกเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการที่ต้อง ทำงาน ทำงาน ทำงาน และดิ้นรนเพื่อให้ประคองชีวิตอยู่ได้แบบเดือนชนเดือน (หรือแม้แต่วันต่อวัน) จนลืมไปว่าแหล่งพลังงานที่เราเก็บสะสมไว้นั้นกำลังระเหยออก ซึ่งคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะตระหนักถึงความเลวร้ายและพยายามที่จะแสวงหาหนทางเพื่อหนีจากวงจรอุบาทว์นี้ โดยที่ผ่านมาเคยมีผู้เสนอทางออกในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวและถูกกำจัดไปในที่สุด

แต่กระนั้นความพยายามของมนุษย์ก็ยังไม่สูญสิ้น…

จนกระทั่งวันนึง..มีแสงสว่างปรากฏขึ้นบนโลก เหล่าผู้คนที่ตั้งคำถามและพยายามหาทางออกจากโลกแห่งมายา ก็ได้พบกับแสงสว่างที่เรียกว่า “บิตคอยน์”

ทั้งหมดนี้คือกระบวนการอย่างหนึ่งที่มนุษย์เริ่มตระหนักถึงสภาวะที่ตนดำรงอยู่ และตั้งคำถามกับสภาวะนั้น จนพบว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งจอมปลอม คือ “ความทุกข์” จึงมีความพยายามที่จะแสวงหาหนทางที่จะหนีออกจากความทุกข์เหล่านี้

ซึ่งการค้นพบทางออกอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นกันเมื่อราว ๆ 2,600 ปีก่อน โดยทางออกนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” โดยมีเรื่องราว สาเหตุ รูปแบบ และเป้าหมายที่ไม่ต่างจาก “บิตคอยน์” เลยแม้แต่น้อย

ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากพูดถึงและชี้ให้เห็นถึงความเหมือนกันอย่างน่าประหลาดของทั้ง 2 สิ่งนี้ แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นในเวลาห่างกันนับพันปี และเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้เลยก็ตาม

ดวงตาเห็นธรรม

บิตคอยน์ คือสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปลดแอกมนุษยชาติจากโลกแห่งมายาที่เรานั้นล้วนถูกหลอก

หลอกให้เข้าใจ..

  • ว่าทุกคนล้วนมีเสรีภาพทางความคิดและการกระทำ
  • ว่าทุกคนล้วนเท่าเทียม
  • ว่าทุกคนล้วนได้รับความคุ้มครองและดูแลอย่างปลอดภัย

แต่ผู้ปกครองนั้นกลับมีอำนาจเบ็ดเสร็จ..

  • ในการกำหนดว่าสิ่งใดถูกหรือผิด
  • ในการยื่นบันไดให้คนบางกลุ่มปีนขึ้นมา ในขณะที่คนบางส่วนกลับไม่ได้รับการเหลียวแล และหนำซ้ำคนบางส่วนยังถูกถีบให้ตกลงไปเบื้องล่าง
  • ในการสำเร็จโทษผู้ใดก็ตามที่พวกเขามองว่า “เป็นภัย”

ด้วยเหตุนี้ “โลกแห่งมายา” คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใด

“เราทุกคนล้วนไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ถูกป้อนด้วยสิ่งที่เรียกว่ารัฐสวัสดิการเป็นอาหาร และใช้ชีวิตภายใต้กฏเกณฑ์ที่เจ้าของฟาร์มเป็นผู้กำหนด ทำงานเก็บเงินวันแล้ววันเล่าหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตที่แสนสุขในยามชรา ไม่ต่างจากแม่ไก่ที่ฟักไข่ออกมาให้เจ้าของฟาร์ม จำนวนประชากรถูกควบคุมโดยผู้ปกครองผ่านนโยบายต่าง ๆ ไม่ต่างจากเจ้าของฟาร์มที่คอยควบคุมประชากรสัตว์ในฟาร์มของตน”

ส่วน “พุทธศาสนา” นั้นคือหลักปรัชญาที่ถูกค้นพบ เพื่อปลดแอกมนุษยชาติจากโลกแห่งมายาที่เรานั้นล้วนถูกหลอก

หลอกให้เข้าใจ..

  • ว่าชีวิตนั้นมีสุข ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ที่พึงพอใจ
  • ว่าชีวิตนั้นเป็นของเรา ด้วยการที่เรามีความคิดและความรู้สึก ทั้งที่พึงพอใจและไม่พึงพอใจ
  • ว่าชีวิตนั้นเป็นของจริง ด้วยการที่เรามีร่างกาย ความคิด ความทรงจำ และความรู้สึก ซึ่งสามารถตอบสนองและมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งภายนอกได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว..

  • ชีวิตนั้นมีแต่ทุกข์ ด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่พึงพอใจ แม้จะพึงพอใจ แต่ความพอใจนั้นอยู่ได้ไม่นาน จากนั้นก็จะไม่พึงพอใจ เช่น นั่งตรงนี้สบายดีนะ แต่หากนั่งนาน ๆ ไป จากสบายก็จะกลายเป็นเมื่อยและไม่รู้สึกสบาย หรือหนังเรื่องนี้สนุกดีนะ แต่หากดูซ้ำหลายรอบ ความสนุกก็จะหายไป เพราะความพึงพอใจมักจะวิ่งหนีสิ่งหนึ่งไปอยู่กับอีกสิ่งเสมอ
  • ชีวิตนั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่สามารถบังคับให้ตนเองรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจได้ ไม่สามารถบังคับให้อาการปวดหลังหายไปได้ ไม่สามารถบังคับให้ตนเองหยุดคิดได้ ไม่สามารถบังคับให้ตนเองไม่แก่ชราได้
  • ชีวิตนั้นไม่ใช่ของจริง ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเสมอ ไม่มีสิ่งใดสามารถอยู่ถาวรได้ แม้แต่การเกิดขึ้นของจักรวาล (Big Bang) ก็มีการระเบิดขึ้นและขยายตัวออกไปเกิดเป็นดาวต่าง ๆ และสุดท้ายก็จะหดตัวกลับและดับสูญสิ้นทั้งหมด

ทั้ง บิตคอยน์ และ พุทธศาสนา ล้วนมีเป้าหมายในการชี้ให้เห็นความจริงของสิ่งลวงหลอกและหลักในการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นออกจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งการจะเข้าใจในหลักการพื้นฐานของทั้ง 2 สิ่งนี้ได้ เราต้องเข้าใจสิ่งลวงหลอกเหล่านั้นเสียก่อน

สำหรับ บิตคอยน์ นั้นเราต้องเข้าใจว่าระบบการเงินปัจจุบันเลวร้ายอย่างไร และบิตคอยน์ช่วยให้เราพ้นจากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร

สำหรับ พุทธศาสนา นั้นเราต้องเข้าใจว่าโลกนี้เป็นทุกข์อย่างไร และธรรมะช่วยให้เราหลุดพ้นจากกองทุกข์เหล่านั้นได้อย่างไร

จุดกำเนิด

Satoshi Nakamoto (ซาโตชิ นากาโมโตะ)

นามแฝงของผู้ประดิษฐ์คิดค้น Bitcoin (บิตคอยน์) ซึ่งไม่เปิดเผยตัว และไม่มีใครรู้ว่าเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เขาได้อธิบายหลักการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ของเขาใน Whitepaper ผ่านทางฟอรัมออนไลน์บนเว็บไซต์ P2P foundation

โดยที่ทุกคนสามารถตรวจสอบการทำงานของบิตคอยน์ทั้งหมดได้ผ่าน Source code ซึ่งเปิดเผยทั้งหมด (Open source) ทุกคนสามารถตรวจสอบว่าบิตคอยน์ทำงานอย่างไรได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจใครทั้งสิ้น

บิตคอยน์ ได้ถือกำเนิดขึ้นและทำหน้าที่ของมันในวันที่ 4 มกราคม 2009 โดยซาโตชิได้ทิ้งข้อความเอาไว้ใน Genesis block (บล็อกแรกของบิตคอยน์) ดังนี้

“The Times 03/Jan/2009 Chancellor on brink of second bailout for banks”

หรือก็คือ “วันที่ 3 ม.ค. ปี 2009 หนังสือพิมพ์ The Times รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเตรียมจ่ายเงินช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์เป็นครั้งที่ 2”

ซึ่งข้อความนี้มาจากหน้าหนังสือพิมพ์ The Times ฉบับวันที่ 3 ม.ค.ปี  2009 เพื่อเป็นการยืนยันว่าบิตคอยน์นั้นได้เริ่มทำงานขึ้นครั้งแรกหลังจากหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวตีพิมพ์ เป็นการยืนยันว่าซาโตชิไม่ได้แอบรันโปรแกรมก่อนหน้านั้น (ไม่มีการแอบขุดเหรียญ (Premined) ก่อนที่จะประกาศให้ชุมชนทราบ)

The Times

Siddhartha (สิทธัตถะ)

นามเดิมก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า (ศาสดาในศาสนาพุทธ) สำหรับประวัติความเป็นมานั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ผู้เขียนจึงไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้

โดยหลังจากตรัสรู้เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ก็ได้แสดงธรรมครั้งแรกแก่เหล่าผู้บำเพ็ญตนที่แสวงหาหนทางแห่งการดับทุกข์ทั้ง 5 (ปัญจวัคคีย์) ซึ่งก็คือการอธิบายและชี้แนะวิธีในการปฎิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง หรือที่เรียกกันว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งไม่ต่างจาก Whitepaper ที่ซาโตชิได้เสนอแก่ผู้ที่แสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้นจากระบบเฟียต (Fiat) โดยที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจใด ๆ 

หลักธรรมของพระพุทธเจ้าสามารถพิสูจน์ได้จากการปฏิบัติ เช่นเดียวกับการตรวจสอบ Source code ของบิตคอยน์

Fun fact: ผู้ที่เข้าใจถึงหลักธรรมคนแรกของพระพุทธเจ้า คือ “พระอัญญาโกณฑัญญะ” เช่นเดียวกันกับ “Hal Finney” ที่เข้าใจบิตคอยน์ของซาโตชิ และยังเป็นคนแรกที่ช่วยเหลือซาโตชิในการขุดบิตคอยน์ในยุคแรก

ระบบนิเวศ

การทำงานและดำรงอยู่ของบิตคอยน์และพุทธศาสนานั้นมี “ระบบนิเวศ” เป็นของตัวเอง

ระบบนิเวศในธรรมชาติประกอบไปด้วยสมดุลของผู้ผลิต (พืช) ผู้บริโภค (สัตว์) และผู้ย่อยสลาย (เห็ด รา แบคทีเรีย และจุลินทรีย์) ทั้ง 3 สิ่งจะคอยรักษาสมดุลซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดหรือผู้ใดเป็นผู้ควบคุมหรือกำหนด

ระบบนิเวศของ บิตคอยน์ ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ กฎ (Consensus), ผู้รักษากฎ (Nodes), ผู้ดำเนินการ (Miners) และ ผู้ใช้งาน (Users) โดยที่แต่ละคนสามารถเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง สองอย่าง หรือทั้งสามอย่างในคนเดียวกันได้ (ไม่นับรวมกฎ)

ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้จะดำรงอยู่ร่วมกันตาม ทฤษฎีเกม (Game Theory) ซึ่งว่าด้วยการที่ทุกคนนั้นแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนสูงสุดเป็นที่ตั้ง ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต

สำหรับระบบนิเวศของ พุทธศาสนา นั้นประกอบไปด้วย คัมภีร์ (หลักธรรม) และ ผู้สืบทอด (พุทธบริษัท 4 ได้แก่ ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก และอุบาสิกา) โดยที่อุบาสก/อุบาสิกา สามารถบวชเป็นภิกษุ/ภิกษุณีได้เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบวชเป็นสามเณรได้หากอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นวัยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้* และสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็นอุบาสก/อุบาสิกาเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ**

*เนื่องจากการบวชนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทางกายภาพ หากอายุน้อยเกินไปจึงอาจยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

**สำหรับฤกษ์บวชและฤกษ์สึกนั้นไม่ปรากฏอยู่ในคำภีร์หรือหลักคำสอนของศาสนาพุทธแต่อย่างใด

ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือปุถุชนนั้นต่างก็ถือเป็นผู้สืบทอดและรักษา ‘หลักธรรม’ ร่วมกันทั้งสิ้น และอาจเปรียบได้ว่านักบวชและชาวพุทธนั้นคือ Nodes และ Miners ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและทำตามหลักปรัชญาที่เรียกว่า ‘ธรรมะ’

  • โดยหน้าที่ในการศึกษาและเผยแผ่ ธรรมะ นั้นเปรียบเสมือน Nodes
  • หน้าที่ในการปฎิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพพานนั้นเปรียบเสมือน Miners
  • ส่วนผู้นับถือศาสนาพุทธหรือยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะเปรียบเสมือน Users

โดยที่ทั้งปุถุชนและนักบวชนั้นถือเป็น Users ซึ่งผู้ใดจะเป็น Nodes หรือ Miners ควบคู่ไปด้วยก็ได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น

  • พระประจำวัดต่าง ๆ ในอำเภอที่มีการติดต่อและจัดกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน ถือเป็น Public Nodes ซึ่งหากมีการปฎิบัติธรรมเพื่อบรรลุควบคู่ไปด้วย ก็จะถือเป็น Miners ควบคู่กันไป
  • พระบางส่วนที่ปลีกวิเวกหรือออกธุดงค์เพียงลำพัง และนาน ๆ ครั้งจะกลับวัดหรือติดต่อกับพระรูปอื่น ก็ถือเป็น Miners ที่นาน ๆ ครั้งจะรัน Nodes และกลับมา Sync กับ Nodes อื่น ๆ บ้างเป็นบางโอกาส
  • ชาวพุทธทั่วไปที่ปฏิบัติธรรมก็ถือเป็น Miners และถ้าหากนำหลักธรรมไปเผยแผ่ด้วยก็จะถือเป็น Nodes เช่นกัน ซึ่งบางส่วนอาจเผยแผ่ผ่านช่องทาง Social Media ต่าง ๆ แบบไม่เปิดเผยตัวตนก็จะถือเป็น Private Nodes

แนวคิดแบบไร้ศูนย์

สาเหตุที่ทั้ง ซาโตชิ และ พระพุทธเจ้า ไม่อยู่ในระบบนิเวศนี้ก็เพราะไม่มีความสำคัญในการคงอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่มีความสำคัญในฐานะ “ผู้คิดค้น” และ “ผู้ค้นพบ” เท่านั้น

เนื่องจากบิตคอยน์สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยองค์ประกอบดังกล่าว ซึ่งตัวของซาโตชินั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใด และสำหรับพุทธศาสนาก็เช่นกัน พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ก่อนจะปรินิพพานว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถ” 

ซึ่งแปลว่า “ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย  ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป”

กล่าวคือพระพุทธเจ้ายกให้หลักธรรมและข้อปฎิบัติต่าง ๆ ที่ท่านเคยพูดเอาไว้เป็น “ศาสดา” เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นกฎและฉันทามติ (Consensus) แทนพระองค์ ไม่มีการแต่งตั้งบุคคล กลุ่มบุคคลหรือตำแหน่งใด ๆ มารับช่วงต่อ

พระสูตรนี้แสดงถึงแนวคิดไร้ศูนย์กลาง (Decentralized) อย่างแท้จริง

เสรีภาพของนวัตกรรม

เป็นที่ทราบกันดีสำหรับบิตคอยน์ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎต่าง ๆ หรือการแก้ไข Code นั้น ทุกคนสามารถทำได้อย่างอิสระและไร้ขอบเขต ถึงกระนั้นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนอื่น ๆ ทั้ง Nodes, Miners รวมถึง Users จะยอมรับมันหรือไม่ 

โดยการเปลี่ยนแปลงที่ขัดแย้งกับกฎเดิม ก็จะถูกแยกตัวออกไปจากระบบเดิม และเกิดเป็นระบบใหม่ (Hardfork) ซึ่งหากมีผู้เห็นด้วยน้อยกว่าระบบเดิม ระบบใหม่ก็จะมีขนาดเล็กกว่าและอ่อนแอกว่า

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่ยังคงไว้และไม่กระทบต่อกฎเดิม ก็จะเป็นเพียงการเสนอทางเลือกให้แก่ระบบนิเวศเท่านั้น (Softfork)

สำหรับศาสนาพุทธนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาในยุคแรกเคยตรัสเอาไว้ว่า “ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้” (ที่มา)

กล่าวคือหากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว และเหล่าสาวกยังคงอยู่ ก็ให้สามารถยกเลิกหรือถอดข้อปฏิบัติบางส่วนได้ตามความเหมาะสม

ซึ่งสิกขาบทก็คือ ศีล 227 ข้อสำหรับภิกษุ และศีล 311 ข้อสำหรับภิกษุณีเท่านั้น ไม่รวมถึงหลักธรรมอื่น ๆ ซึ่งจะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

Fun fact: ในยุคแรกนั้น ทั้งซาโตชิและพระพุทธเจ้า ล้วนเป็นผู้ผูกขาดอำนาจในระบบ เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างและขยายชุมชนออกไปให้กว้างขวาง จากนั้นจึงถอนตัวจากระบบ ซาโตชิหายตัวไปในปี 2011 ซึ่งเวลานั้นระบบเริ่มแข็งแกร่ง และสามารถอยู่ได้โดยไม่มีเขาแล้ว ส่วนพระพุทธเจ้าเองในช่วงบั้นปลาย ก็ได้ยกอำนาจทั้งหมดไปที่พระธรรมในการเป็นแก่นหลักของศาสนา และมอบอำนาจทั้งหมดให้แก่เหล่าสาวกในการตัดสินใจกันเอง หลังจากท่านปรินิพพานไปแล้ว

อิสรภาพสู่การเปลี่ยนแปลง

เมื่อเวลาผ่านไป ทุกสิ่งก็ย่อมเปลี่ยนแปลง เหล่าสาวกเริ่มเสียงแตกและเห็นต่างกันไปในทุกยุคทุกสมัย ไม่ต่างจากการเปลี่ยนแปลงของระบบสังคม การปกครอง และการเงินของโลก ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติทั้งสิ้น

จากคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า “ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ถ้าสงฆ์ต้องการก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้” จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “แล้วแค่ไหนเรียกว่าเล็กน้อย?” เป็นเหตุให้ภิกษุบางส่วนไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับการสังคายนามาตั้งแต่ครั้งแรก และเหตุการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับการสังคายนาทุกครั้ง จนมีกลุ่มแยกตัวทำสังคายนาต่างหาก เป็นการแตกแยกทางความคิดและส่งผลให้เกิดนิกายต่าง ๆ มากมาย

(การสังคายนา คือ การประชุมของสงฆ์เพื่อรวบรวมหลักธรรมและคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แต่ละคนได้ยินได้ฟังจากพระองค์มา เพื่อเขียนและบรรจุลงในคัมภีร์เพื่อสืบทอดต่อไป)

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งการ Softfork และ Hardfork ในศาสนาพุทธอยู่เรื่อยมา ซึ่งทำให้เกิดนิกายและความเชื่อต่าง ๆ แตกตัวออกมามากมาย 

โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างมาบางส่วน ดังนี้

ตัวอย่างการ Softfork

“นิกายมหายาน” เนื่องจากคำสอนแบบดั้งเดิมมุ่งเน้นไปที่การศึกษาและปฎิบัติเพื่อพ้นจากความทุกข์เพียงอย่างเดียว การจะเผยแผ่หรือช่วยเหลือผู้อื่นให้นั้นจะทำหรือไม่ ไม่มีข้อบังคับใด ๆ

ฝ่ายมหายานนั้นมองว่า ในเมื่อมนุษยชาติได้พบกับหนทางแห่งการดับทุกข์อย่างแท้จริง ซึ่งหาได้ยากยิ่ง จึงควรที่จะร่วมกันเผยแผ่ และช่วยเหลือผู้อื่นให้เห็นทางสว่างตามไปด้วยให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการปฎิบัติเช่นกัน โดยมุ่งเน้นในเรื่องของพระโพธิสัตว์ (*พระโพธิสัตว์ จัดอยู่ในหมวดพระพุทธและพระสงฆ์ ที่มา)

นิกายมหายานเป็นที่แพร่หลายในหลายประเทศ ส่วนมากพบได้ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

อย่างไรก็ตาม แต่ละนิกายนั้นยังคงมีเป้าหมายสูงสุดเดียวกัน นั่นคือการบรรลุนิพพานเพื่อสลัดออกจากความทุกข์ทั้งปวง แม้ว่าจะมีข้อแตกต่างกันบ้างในหลักการปฎิบัติ กฎระเบียบ หรือวินัยต่าง ๆ บางบท ซึ่ง

สิ่งเหล่านี้ไม่กระทบต่อฉันทามติ (Consensus) หรือขัดแย้งต่อกฎใด ๆ ของแก่นหลักในพุทธศาสนา

ความแตกต่างของนิกายเปรียบเสมือนการส่งธุรกรรมด้วยวิธีแบบ Legacy, Native segwit หรือ Taproot ของบิตคอยน์ เหล่า Nodes Miners และ Users ในแต่ละนิกายยังคงมีการติดต่อ แลกเปลี่ยน และร่วมมือกันอยู่เสมอ

ตัวอย่างการ Hardfork

สำหรับการ Hardfork นั้นอาจไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เนื่องจากนิกายหลัก ทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยาน จัดอยู่ในรูปแบบการ Softfork และนิกายอื่น ๆ นอกจากนี้ไม่ปรากฏหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจนและไม่เป็นที่นิยม (ไม่มีผู้นับถือในวงกว้าง) 

(นิกายเถรวาท คือนิกายดั้งเดิมที่ยึดหลักคำสอนและหลักปฎิบัติแบบเดียวกับสมัยพุทธกาลทุกข้อ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นนิกายที่พบมากในไทย ลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น)

อย่างไรก็ตาม พอจะมีกลุ่มตัวอย่างในเหล่าสาวกที่มีความเข้าใจที่ผิดและขัดแย้งต่อกฎและฉันทามติของพุทธศาสนา ซึ่งรวมตัวกันเกิดเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งและแทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ จนเวลาผ่านไปก็เริ่มจะกลายเป็นศาสนาใหม่ เปรียบเสมือนเชื้อราที่กัดกินให้คอมมูนิตี้ของศาสนาพุทธเสื่อมลง อาทิ

  • การที่เหล่าสาวกเคารพสักการะต่อองค์เทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผี หรือเจ้าที่เจ้าทาง* ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขัดต่อฉันทามติที่ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะเท่านั้น อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ (ที่มา : พระรัตนตรัย)
  • การเชื่อเรื่องฤกษ์ ดวงชะตา เลขมงคล หรือการเชื่อว่าชีวิตถูกกำหนดโดยบางสิ่งหรือบางอย่างที่มีอำนาจเหนือทุกสิ่ง ศาสนาพุทธนั้นเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และต่อต้านเรื่องฤกษ์และดวงชะตามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล (ที่มา: ขุททกนิกาย มหานิทเทส ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค)
  • มีความเชื่อว่าต้องหมั่นทำบุญและสะสมบุญ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการขึ้นสวรรค์ ซึ่งขัดแย้งต่อเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนาที่มีเป้าหมายสูงสุดที่ชัดเจน นั่นคือ “นิพพาน” ในขณะที่นรกและสวรรค์เป็นเพียงองค์ประกอบ 1 ใน 31 ภพภูมิสำหรับเวียนว่ายตายเกิดของผู้ที่ยังไม่หลุดพ้น ซึ่งนิพพานไม่จัดรวมอยู่ในนั้น (ที่มา : 31 ภพภูมิ)

การยืดถือในความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาเหล่านี้ ทำให้เกิดอคติและถูกบังตาโดยม่านแห่งมายา ซึ่งไม่ต่างอะไรจากชุมชนของเหรียญต่าง ๆ ที่ถูก Hardfork ออกจากบิตคอยน์ ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin Cash, Bitcoin SV, Bitcoin Gold และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่ชุมชนเหล่านี้ได้หลงเชื่อว่าสิ่งนั้นคือบิตคอยน์ที่แท้จริง (*รายชื่อโปรเจกต์ที่ถูก Fork ออกมาจากบิตคอยน์)

ส่วนหนึ่งของการเกิด Fork ในศาสนาพุทธ (ที่มา)

ส่วนหนึ่งของการเกิด Fork ในบิตคอยน์

หมายเหตุ : ประเด็น Softfork และ Hardfork ในพุทธศาสนาเป็นมุมมองส่วนบุคคลของผู้เขียนเท่านั้น ผู้สนใจในประเด็นนี้ควรศึกษาด้วยตนเองเพิ่มเติม

บทสรุป

จุดเริ่มต้น

บิตคอยน์ และ พุทธศาสนา มีจุดเริ่มต้นมาจากการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบกับสภาวะที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น ซึ่งพบคำตอบว่าสภาวะที่เป็นอยู่นั้นมีแต่ทุกข์ จึงนำไปสู่การแสวงหาทางออกเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์เหล่านั้น หลังจากเกิดความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงเกิดเป็นผลผลิตที่ผ่านการเจียระไนจากความพยายามของมนุษยชาติในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งผลผลิตนั้นก็คือ บิตคอยน์ และ ธรรมะ

หลักการและแนวคิด

บิตคอยน์ และ พุทธศาสนา มีหลักการและแนวคิดที่สอดคล้องกัน ดังนี้ :

  • ไร้ศูนย์กลาง ไม่มีการแต่งตั้งหน้าที่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีอำนาจในการควบคุมระบบ
  • การมีส่วนร่วม มอบอิสระให้แก่ชุมชนในการตัดสินใจที่จะเข้าร่วม ปรับปรุง แก้ไข หรือออกจากระบบได้อย่างเสรี
  • เป้าหมาย เพื่อชี้ให้เห็นว่าสภาวะที่เป็นอยู่นั้นเป็นทุกข์ เป็นสิ่งมายา พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขที่สามารถพิสูจน์ได้และมีความโปร่งใส

สำหรับบิตคอยน์แล้ว ประโยคที่ซ่อนไว้ใน Genesis block ได้บอกเราว่าอะไรคือความทุกข์ และจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไรด้วยวิธีใดผ่าน Whitepaper ซึ่งตรวจสอบได้ผ่าน Source code

และสำหรับพุทธศาสนานั้น ก็มีการอธิบายความทุกข์ สาเหตุ และแนวทางในการแก้ไขทั้งหมดผ่าน อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่แตกย่อยออกไปเป็นคำสอนอีกมากมาย โดยสามารถตรวจสอบได้จากการศึกษาและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

และด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม บิตคอยน์ และ พุทธศาสนา จึงเหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์

สำหรับพุทธศาสนานั้นถือเป็นโปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเองได้ ซึ่งก็คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างหมดจด แต่สำหรับบิตคอยน์นั้นยังเพิ่งจะเริ่มต้น การต่อสู้ระหว่างแสงสว่างอันบริสุทธิ์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อคอยปัดเป่าหมอกที่ชั่วร้ายให้จางลงทีละนิด ๆ นั้น อาจจะอ่อนกำลังริบหรี่ลงและหมดแรงในที่สุด หรืออาจจะสามารถแผ่ขยายแสงสว่างออกเป็นวงกว้าง จนลบล้างหมอกชั่วร้ายที่ยิ่งใหญ่นี้ได้สำเร็จ และทำให้มนุษยชาติหวนคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง 

ซึ่งเราคงต้องให้เวลาและมนุษยชาติเป็นผู้ตัดสิน

Isaycheese

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

3 Comments

  1. 💔ประเด็น Softfork และ Hardfork
    เทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้เลยเพราะคำสอนของท่านที่เปล่งวาจาออกมาแล้ว
    ไม่ต้องมีการแก้ไข และพระสูตรที่บอกว่า
    🚫”ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้”
    💯ก็จะขัดกันกับอีกพระสูตรซึ่งเป็นไปไม่ได้คือ
    ✅”ภิกษุทั้งหลายจักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติแล้ว”

    https://84000.org/tipitaka/read/?23/21/21

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts