สาเหตุคนมีลูกกันน้อยลง
Picture of ljungdurst

ljungdurst

A senior copywriter and football columnist turned junior bitcoiner—thanks to inspirations from "Ajarn Piriya" his Architectural and Planning Faculty's senior turned bitcoin grandmaster who's been advocating the given subject for almost a decade. Now his life's calling is clear: orange-pilling the world.

“เงินเฟียต” สาเหตุน่ารังเกียจที่ทำให้คนมีลูกน้อยลง (Fiat Has Debased Having Children)

เมื่อโครงสร้างสถาบันครอบครัวที่อุ้มชูมนุษย์มาตลอดถูกแทนที่ด้วยพฤติกรรมแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกิน (rent-seeking) และการพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐ คุณค่าของครอบครัวก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

คนทุกวันนี้มีลูกกันน้อยลง อัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรกำลังดิ่งเหวทุกที่ทั่วโลก หลายประเทศทั่วยุโรปและเอเชียตะวันออกคาดการณ์แล้วว่าจำนวนประชากรของตัวเองจะลดลง และบางประเทศในขณะนี้ (เช่น ญี่ปุ่น) กำลังประสบปัญหาจำนวนประชากรในประเทศกำลังลดลงเรื่อย ๆ เพราะผู้คนมากมายตัดสินใจจะไม่มีลูก ส่วนคนที่คิดจะมีลูกก็จะมีลูกกันน้อยลง และมีลูกกันช้าลง

world population growth rate
อัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก

ผลจากอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรที่ลดลง ทำให้ประชากรโลกเฉลี่ยแล้วมีอายุมากขึ้น และสิ่งที่จะตามมาก็คือความฉิบหายทางเศรษฐกิจ เอาแค่ในเวลานี้พวกเงินบำนาญทั้งหลายแหล่ รวมถึงเงินประกันสังคมในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังขาดแคลนงบประมาณอย่างน่าขนลุก มันมีจำนวนคนทำงานเพื่อจ่ายเงินเข้าไปในระบบไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่กำลังผลาญเงินส่วนนี้

มนุษย์เรากำลังเร่งเครื่องไปสู่ยุคที่ปีระมิดอายุประชากรกลับหัวกลับหาง ยุคที่มีแต่การผิดชำระหนี้ ยุคที่เงินเฟ้อบรรลัย ยุคที่มีแต่ความฉิบหายในระบบเศรษฐกิจ

แล้วมันดูย้อนแย้งสิ้นดี เพราะย้อนไปแค่ 50 ปีที่แล้วพวกเรายังกลัวกันขี้หดตดหายกับมหันตภัยมาลธูเซี่ยน (ประชากรล้นโลกจนผลิตอาหารไม่ทัน—ผู้แปล) เพราะตอนนั้นสื่อร่วมกันปั่นประสาทเราว่าจำนวนประชากรกำลังพุ่งทะยานอย่างน่าวิตก

แล้วตอนนี้ทำไมเราอยู่ในยุคที่แทบไม่มีเด็กเกิดใหม่จนโรงเรียนอนุบาลเจ๊งกันเป็นแถบ?

เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง?

อารยธรรมมนุษย์นั้นไปต่อไม่ได้ถ้าไม่มี “มนุษย์” เนื่องจากเราต้องส่งต่อคุณค่าและสิ่งที่สร้างสรรค์ไว้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ทำไมตอนนี้เรากลับไม่ให้ค่ากับการเพิ่มจำนวนมนุษย์บนโลกใบนี้?

ครอบครัวถูกลดคุณค่า

อย่างที่จั่วหัวเอาไว้ในชื่อบทความ ทัศนคติต่อการมีลูกของคนในทุกวันนี้เป็นผลมาจากระบบเงินเฟียต นี่ไม่ใช่แผนร้ายทำลายโลกของพวกอีลีทใน World Economic Forum หรอกนะ (แม้จะมั่นใจว่าพวกนั้นพร้อมยืดอกรับว่าทำ) แต่มันเป็นเพราะระบบเงินเฟียตมีสิ่งจูงใจจอมปลอมมากมายไว้ล่อลวงคนต่างหาก

กว่าร้อยปีที่เงินเฟียตทำให้ผู้คนต้องพึ่งพิงรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ระบบประกันสังคมที่ตอนแรกอ้างว่าเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จริง ๆ แล้วเหตุผลคือเอาไว้ดูแลประชากรที่แก่เฒ่า ไหนจะยังมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบสวัสดิการอีกเป็นกระบุง รวมไปถึงโอกาสได้เสวยสุขกับ Cantillon Effect* กับเขาบ้าง (*เมื่อมีการเพิ่มอุปทานเงิน ผู้อยู่ใกล้แหล่งพิมพ์เงินสามารถกอบโกยผลประโยชน์ได้ก่อนใคร-ผู้แปล)

ตัวอย่างที่ว่านี้คือวิธีการที่ระบบเงินเฟียตใช้ปรนเปรอผู้คน ให้ได้เปรมปรีดิ์กับพฤติกรรมแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินจากระบบราชการและหน่วยงานรัฐที่อุ้ยอ้ายเทอะทะเกินจำเป็น และสิ่งที่เห็นกันมาตลอดยุคสมัยแห่งเงินเฟียตคือการที่ครอบครัวต่าง ๆ นั้นมีขนาดเล็กลง ..และเล็กลง

ครอบครัวเดี่ยวแบบ nuclear family

ทั้งที่เมื่อร้อยปีก่อนหน้านี้ ครอบครัวไม่ได้เป็นไปในลักษณะ “nuclear family” (ครอบครัวเดี่ยวที่มีแค่พ่อแม่ลูก-ผู้แปล) แต่จะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีทั้งพี่ป้าน้าอาลูกหลานเหลนโหลนเต็มไปหมด การได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหรือวงตระกูลเป็นสิ่งที่มีความหมาย ชื่อสกุลของคุณนั้นมีชื่อเสียงที่สั่งสมมานาน และการได้ตบแต่งให้ลูกหลานได้มีชื่อสกุลที่ดีคือสิ่งที่หลายคนปรารถนา

ส่วนทุกวันนี้น่ะเหรอ? เหลือแค่ตระกูลโคตรรวยอย่าง “ร็อกกี้เฟลเลอร์” หรือตระกูลมีเส้นสายทางการเมืองอย่าง “คลินตัน” หรือ “บุช” ที่ยังคงความสำคัญ

และตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 เป็นต้นมา เราเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่าครอบครัวเดี่ยวแบบ nuclear family หน้าตาเป็นอย่างไร เพราะผู้คนเริ่มเชื่อมโยงตัวเองได้แค่กับพ่อแม่และพี่น้อง การเชื่อมโยงตัวตนในลักษณะครอบครัวขนาดใหญ่นั้นลดน้อยถอยลงทุกที เพราะผู้คนมีลูกกันน้อยลงเหลือเกิน

จนกระทั่งถึงทศวรรษที่ 80 อัตราการหย่าร้างก็ถีบตัวสูงขึ้น มีครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มเต็มไปหมด และในทุกวันนี้คนก็เลือกที่จะไม่แต่งงานกันอีกแล้ว มันยิ่งทำให้ตัวเลขสมาชิกครอบครัวเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ..นั่นคือแค่ 1 คน

เมื่อคนต้องพึ่งพิงรัฐ

เรื่องน่าตระหนกในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาคือนอกจากครอบครัวจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ครอบครัวยังกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น

ทั้งที่ครอบครัวขนาดใหญ่นั้น โดยปกติแล้วจะเป็นเหมือนหลักประกันไว้ช่วยเหลือสมาชิกครอบครัวที่ประสบความยากลำบากในชีวิต หลายครอบครัวมีลูกหลานจำนวนมากเนื่องจากเด็ก ๆ เหล่านี้เป็นเหมือน “สินทรัพย์” ของสมาชิกทั้งครอบครัว ครอบครัวใหญ่นั้นได้ประโยชน์จากการมีผู้สืบทอดและปกป้องมรดกของตระกูล และยังช่วยในเรื่องคอนเน็กชั่นการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

การสร้างครอบครัวนั้นเคยเป็นวิถีปกติของการขยายธุรกิจ และการทำงานกับคนที่คุณไว้ใจได้

พวกเด็ก ๆ เองก็สามารถช่วยเหลือคนแก่ชราภายในบ้านได้ และแทนที่คุณจะต้องเก็บออมเพื่อรอวันเกษียณ คุณสามารถเลี้ยงลูกหลานที่มีความกตัญญูเพียงพอที่จะช่วยเหลือคุณในยามแก่เฒ่า ซึ่งครอบครัวขนาดใหญ่นั้นก็เป็นหลักประกันที่ดีหากมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะโรคภัย ไฟไหม้บ้าน หรือวิกฤติเศรษฐกิจ การแต่งงานคือการขยายขนาดครอบครัวของคุณเพิ่มเป็นสองเท่า และช่วยเพิ่มข้อดีอีกมายจากการรวมกันของสองตระกูล

แต่ข้อดีของการมีครอบครัวขนาดใหญ่ที่ว่ากลับถูกรัฐเข้ามาแทรกแซงหน้าตาเฉย รัฐเสนอหน้าเข้ามาเสนอประกันสุขภาพ ประกันสังคม ประกันการว่างงาน ไหนจะเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และยังเสนอสวัสดิการให้อีกเพียบ ทั้งหมดนี้คือการที่รัฐพยายามจะเข้ามาแทนที่ข้อดีที่ครอบครัวขนาดใหญ่เคยมอบให้สมาชิกในครอบครัว มันเลยไม่น่าแปลกใจนักที่สิ่งล่อลวงมากแบบนี้จะล่อหลอกให้ผู้คนเลือกพึ่งพิงรัฐ แทนที่จะพึ่งพิงครอบครัวอย่างที่เคย

แต่แน่นอนว่า “ของฟรี” ย่อมมาพร้อม “ราคาที่ต้องจ่าย”

นั่นคือการที่คุณต้องก้มหน้ายอมรับข้อบังคับต่าง ๆ ที่รัฐกำหนด และนโยบายมากมายของรัฐไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากไม่ใช่เพราะระบบเงินเฟียต รัฐทำให้ผู้คนพึ่งพาตัวเองไม่ได้ด้วยการแอบสูบความมั่งคั่งของประชาชนผ่านเงินเฟ้อ น้ำพักน้ำแรงของคนทำงานถูกปล้นไปปรนเปรอพวกที่ไม่ทำงานแต่อยู่ได้เพราะการพึ่งพิงรัฐ ทั้งที่ในครอบครัวขนาดใหญ่นั้นพวกขี้เกียจและเป็นภาระจะถูกตัดหางปล่อยวัด แต่ในระบอบประชาธิปไตยคนพวกนี้กลับมีเสียงดังกว่าคนอื่นหน้าตาเฉย การพึ่งพิงรัฐไม่ใช่แค่เรื่องที่ยอมรับกันได้ แต่กลับได้รับการเห็นดีเห็นงามไปเสียฉิบ ซึ่งในมุมมองของอารยธรรมมนุษย์แล้ว การที่เราละทิ้งครอบครัวไปพึ่งรัฐมันคือการขายวิญญาณให้ซาตานชัด ๆ

เรายอมเสียความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีคุณค่าของครอบครัวเพื่อนโยบายทางการเมืองที่สูบความมั่งคั่งของผู้คนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันนึงมันจะพังพินาศ

แนวคิดต่อต้านครอบครัวของพวกซ้ายจัด

ที่น่าแปลกใจคือการที่รัฐเข้ามาแทนที่ครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันเป็นเป้าหมายสำคัญของสำนักแนวคิดทางสังคมศาสตร์ที่มีอิทธิพลสูงมานานนับร้อยปีอย่างสำนักแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt School)

การเจาะลึกแนวคิดของคนกลุ่มนี้คงจะเกินขอบเขตของเรื่องที่เราจะคุยกันไปหน่อย แต่ที่ควรรู้คือจุดเริ่มต้นของสำนักนี้เกี่ยวโยงกับลัทธิมาร์กซิสม์และลัทธิฟรอยด์ ถ้ามันฟังดูเป็นส่วนผสมที่พิลึกพิลั่นล่ะก็ ใช่..มันโคตรพิลึก เพราะพวกเขาเอาสองขั้วความคิดมารวมกันด้วยเหตุผลบางอย่าง และดูจะเป็นการฝืนให้มันรวมร่างกันให้ได้เสียอย่างนั้น

สำนักแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt School)

สำนักแฟรงก์เฟิร์ต

ลัทธิมาร์กซิสม์ในช่วงทศวรรษที่ 20-30 นั้นมีช่องโหว่รูเบ้อเริ่ม เพราะคาร์ล มาร์กซ์เขียนเอาไว้ว่าหากมีวิกฤติเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมเกิดขึ้น มันจะทำให้เกิดความสำนึกเรื่องชนชั้น (class consciousness) ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติสังคมสู่ระบอบสังคมนิยม

ในทศวรรษที่ 20 นั้นมีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกิดขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะวิกฤติเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) ในประเทศออสเตรีย เยอรมนี และฮังการี แต่ก็ไม่เห็นจะมีการปฏิวัติอะไรเกิดขึ้น จากนั้นในทศวรรษที่ 30 ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา แต่ก็ไม่เห็นจะมีใครหน้าไหนลุกขึ้นมาปฏิวัติ ใช่แหละว่ามันมีวิกฤติในระบบทุนนิยม แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสู่ระบอบสังคมนิยม

สรุปแล้วมันยังไงกันแน่?

เหตุการณ์นี้ทำให้สาวกมาร์กซิสม์จำนวนมากในเวลานั้นกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถ้าศาสดาเคราดกพูดถูก สเต็ปต่อไปของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่แกคาดไว้ก็ควรจะเกิดได้แล้วสิ

แล้วทำไมระบอบสังคมนิยมถึงไม่เกิด?

ลองฟังคำตอบจากสาวกมาร์กซิสม์ในสำนักแฟรงก์เฟิร์ตที่ครุ่นคิดถึงปัญหาแทงใจดำนี้มายาวนาน พวกเขาบอกว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเข้าใจถึงสำนึกเรื่องชนชั้น หรือถ้าจะจี้จุดให้ชัดคือการปฏิวัติแบบนองเลือดที่จะผลักดันให้สังคมเข้าสู่ยุคสรวงสวรรค์ของแรงงานนั้น ต้องสร้างความสำนึกเรื่องชนชั้นให้เกิดขึ้นในเหล่าชนชั้นกรรมาชีพให้ได้เป็นอันดับแรกเสียก่อน

ความเชื่อของลัทธิมาร์กซิสม์ในยุคก่อนทศวรรษที่ 20 ที่ว่าสำนึกเรื่องชนชั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจนั้น โดนสำนักแฟรงก์เฟิร์ตตอกกลับว่ามันไม่จริงเสมอไป พร้อมโบ้ยว่ามันเป็นเพราะสถาบันครอบครัวต่างหากที่ทำให้สำนึกเรื่องชนชั้นจุดไม่ติด แถมยังอ้างไปถึงแนวคิดของฟรอยด์ที่ว่าผู้คนตกเป็นทาสจิตสำนึกว่าคนเราต้องผูกมัดตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

..และคนพวกนี้ต้องถูกเบิกเนตรได้แล้ว!

กลุ่ม “woke” หรือ “เบิกเนตร”

ประโยคข้างต้นฟังดูคุ้น ๆ ใช่มั้ย? ก็เพราะเทรนด์ของโลกทุกวันนี้มันก็เป็นแบบนี้นี่แหละ คำว่า “woke” หรือ “เบิกเนตร” คือการล่อหลอกผู้คนให้เกิดสำนึกเรื่องชนชั้นและรู้สึกหลงใหลได้ปลื้มกับอุดมการณ์มาร์กซิสม์ เพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติสู่ระบอบสังคมนิยมอย่างที่ท่านบิดาของลัทธิชี้นำไว้

แต่สิ่งที่บิดามาร์กซ์อ้างไว้จะเป็นความจริงได้นั้น ฝ่ายซ้ายต้องหาวิธีปลูกฝังแนวคิดจอมปลอมว่าการปฏิวัติสู่ระบอบสังคมนิยมจะเกิดขึ้นแน่ แนวคิดที่ว่านี้คือทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory) ซึ่งลามให้เกิดทฤษฎีเชื้อชาติวิพากษ์ (Critical Race Theory) ทฤษฎีเพศวิพากษ์ (Queer Theory) และแนวคิดอำนาจทับซ้อน (Intersectionality) ที่แผ่ซ่านในทุกอณูของนโยบายทางการเมืองของพวกซ้ายจัดในปัจจุบัน

การที่สำนักแฟรงก์เฟิร์ตโทษว่าครอบครัวนั่นแหละคือสาเหตุที่การปฏิวัติสู่ระบอบสังคมนิยมยังไม่เกิด ทำให้สาวกมาร์กซิสม์ต่อต้านการสร้างครอบครัวอย่างรุนแรง และเมื่อรวมกับแรงหนุนจากระบบเงินเฟียต ในที่สุดพวกเขาก็ลดทอนคุณค่าของสถาบันครอบครัวได้เป็นที่เรียบร้อยตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

การแทรกซึมของสาวกมาร์กซิสม์

ชาวมาร์กซิสม์ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อในการยัดเยียดแนวคิดของตัวเองไปทั่ว โดยเฉพาะในวงการฮอลลีวู้ด สถาบันการศึกษา และสื่อต่าง ๆ ที่เหล่าสหายคอมมิวนิสต์เล็งเป้าโจมตีเป็นพิเศษตลอดทศวรรษที่ 20-30 คนจำนวนมากรับเงินจากสหภาพโซเวียตเพื่อแทรกซึมเผยแพร่ลัทธิมาร์กซิสม์ไปทุกที่ทั่วโลก แล้วความสำเร็จของพวกเขาก็ชัดเจนเหลือเกินในอีก 100 ปีให้หลัง เพราะทุกวันนี้หนังฮอลลีวู้ด สถาบันการศึกษา และสื่อกระแสหลักคือหนึ่งในศิษย์เอกที่น่าภูมิใจที่สุดของสำนักแฟรงก์เฟิร์ตเลยล่ะ

และในทางกลับกัน คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ก็มีอิทธิพลอย่างสูงในการถกเถียงประเด็นทางการเมือง (โดยเฉพาะในประเด็นแนวคิดฝ่ายซ้าย) จนในที่สุดก็ทำให้ผู้คนค่อย ๆ พึ่งพิงรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งมีเงินเฟียตเป็นทุนในการเดินเกม ลัทธินี้ก็ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้คนแยกตัวออกมาจากครอบครัว และทำให้ความสัมพันธ์ภายในบ้านของผู้คนนั้นแตกสลาย เป้าหมายของพวกนี้บรรลุแล้วด้วยการทำให้สถาบันครอบครัวหมดความสำคัญ

ส่วนผลลัพธ์น่ะเหรอ? พวกเราก็อยู่ในโลกที่จำนวนประชากรกำลังลดลงเรื่อย ๆ ยังไงล่ะ

หลักเศรษฐศาสตร์ป่วย ๆ แบบมาร์กซิสม์

ลัทธิมาร์กซิมส์นั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปยังไง สุดท้ายแล้วกลยุทธ์หลักของมันคือการปล้นเอาทรัพย์สินออกจากมือประชาชนที่เป็นเจ้าของมันแท้ ๆ ให้ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐว่าจะแจกจ่ายให้ใครบ้าง ผลกระทบต่อครอบครัวคือคนที่มีลูกจะเสียเปรียบทางเศรษฐกิจมากกว่าคนที่ไม่มีลูก การมีครอบครัวจึงหมดความจำเป็นและการพึ่งพิงรัฐกลายเป็นแรงจูงใจเดียวทางเศรษฐกิจ เพราะจุดมุ่งหมายของลัทธิมาร์กซิสม์คือการทำให้ประชาชนเกิดสำนึกเรื่องชนชั้น รู้สึกเบิกเนตร และพร้อมจะอ้าแขนรับระบอบสังคมนิยม โดยแลกกับการที่ประชาชนไม่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจอะไรอีก

สังคมนิยม

ผลลัพธ์ที่น่าอนาถคือมันกระตุ้นพฤติกรรม rent-seeking ให้คนจำนวนมาก และยังทำให้คนไม่สนใจจะสร้างครอบครัวอีกต่อไป เพราะในโลกของระบบเงินเฟียตนั้นการมีคนเพิ่มคือการเพิ่มภาระให้สังคม และทำให้คนอื่น ๆ ในระบบได้รับสวัสดิการน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งทัศนคติแบบ zero-sum นี้อยู่ในสมองของพวกฝ่ายซ้ายที่รังเกียจการมีลูก ด้วยข้ออ้างว่าการมีลูกนั้นทำร้ายโลกและทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด พวกนี้มีความรักความเห็นใจมนุษย์ที่อยู่บนโลกทุกคน แต่ไม่มีความรักแม้แต่นิดให้กับมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาใหม่

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กนั้นพุ่งทะยานหยุดไม่อยู่ เอาแค่ค่าผดุงครรภ์ก็โหดแล้ว ไหนจะมีค่ารักษาพยาบาลหลังคลอด ค่ากุมารแพทย์ และค่าใช้จ่ายอีกบานเบอะที่รัฐบังคับและสังคมกดดันให้พ่อแม่ต้องดูแลเด็กให้ดี สาวกมาร์กซิสม์ประสบความสำเร็จแล้วล่ะในการทำให้การเลี้ยงลูกมีราคาที่ต้องจ่ายหนักหนาขนาดนี้ แปลกใจไหมล่ะที่ทุกวันนี้แทบไม่มีเด็กเกิดใหม่เลย?

เพราะถ้าไม่พึ่งพิงนโยบายต่าง ๆ ของรัฐในเรื่องสิทธิโน่นนี่นั่น คนก็ต้องหาเหตุผลร้อยแปดประการว่าจะมีลูกและสร้างครอบครัวดีไหม ทั้งที่การมีลูกก็เหมือนการมีโหนด (node) ที่ใกล้ตัวคุณที่สุดในโครงข่ายความสัมพันธ์ในชีวิต และทักษะที่ลูก ๆ จะเรียนรู้ในอนาคตนั้นก็จะมีประโยชน์สำหรับตัวพ่อแม่เอง การมีครอบครัวขนาดใหญ่ช่วยกระจายความเสี่ยงและเป็นเหมือนหลักประกันชีวิต หากเกิดหายนะระบบเศรษฐกิจล่มสลาย

เพราะลูกนั้นถือเป็น “ทรัพย์สิน” ในระบบเงินที่มั่นคง (sound money) ไม่ได้เป็น “หนี้สิน” แบบในระบบเงินเฟียต

ระบบเงินเฟียตนั้นทำสำเร็จแล้วในการบิดเบือนธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการมีลูกไว้สืบสกุล สาวกมาร์กซิสม์คงสุขสมใจแล้วสินะ

สัญชาตญาณแบบเฟียต

เงินเฟียตทำให้คนมีความเห็นแก่เวลาที่สูง (high time-preference) คนหนุ่มสาววัย 20-30 ไม่แคร์หรอกว่าชีวิตตอน 70-80 จะเป็นยังไง กลับกันถ้าคุณลองไปถามคนอายุ 70-80 ดู ท่านจะบอกชัดเจนเลยล่ะว่าทุกสิ่งที่คุณเคยแคร์ตอนอายุ 20-30 น่ะไม่มีความหมายอะไรเลยตอนแก่ การหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจในงานระดมทุนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรอีกแล้ว ตำแหน่งใหญ่โตก็ไม่มีความหมาย คอนโดหรูกลางกรุงนั้นก็ไร้สาระ เพราะสิ่งสำคัญในวัยไม้ใกล้ฝั่งคือสุขภาพที่แข็งแรงและการได้อยู่กับลูกหลาน การที่ทุกวันนี้มีคนน้อยเหลือเกินคิดเรื่องวางแผนอนาคต ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมเห็นแก่เวลาที่สูงนั้นแทรกซึมไปทุกแห่งหนแล้ว

และที่แย่กว่านั้นคือผู้หญิงที่เลือกการมีลูก จะต้องถูกตราหน้าว่าทำไมไม่เลือกความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การมีลูกถูกด้อยค่าอย่างรุนแรงในระบบเงินเฟียต เพราะการจะอุ้มชูมนุษย์เพิ่มขึ้นสักคนในโลกใบนี้ถูกด้อยค่าให้ต่ำกว่าการนั่งทำงานรับส่งอีเมลไปวัน ๆ เสียอีก

ทั้งที่ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น “การเป็นแม่” คือความสำเร็จที่น่ายกย่องสูงสุดและเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่มีมนุษย์ในโลกนี้ มันก็จะไม่มีอารยธรรมมนุษย์อีกต่อไป

คุณค่าของการมีลูก

การสร้างชีวิตใหม่

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) บอกภรรยาว่าทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยทำ ที่เคยประสบความสำเร็จ หรือที่เคยสร้างสรรค์ขึ้น ไม่มีสิ่งไหนเลยจะเปรียบได้กับการที่เธอพาลูก ๆ ของเรามาสู่โลกใบนี้ ไม่มีสิ่งไหนจะยิ่งใหญ่และสลักสำคัญไปกว่าการสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว และนี่เป็นทัศนคติของทุกวัฒนธรรมและทุกอารยธรรมในสมัยก่อน แล้วทำไมจู่ ๆ สิ่งที่มีเกียรติ มีคุณค่า และเติมเต็มชีวิตของมนุษย์ถึงกลายเป็นสิ่งไร้ค่าในวันนี้? นี่มันฝีมือแรงจูงใจจากเงินเฟียตกับลัทธิมาร์กซิสม์ชัด ๆ

ระบบเงินเฟียตและการพึ่งพิงสวัสดิการที่มันสร้างขึ้นนั้นเป็นมะเร็งร้ายต่อต้านการมีลูก และอย่าแปลกใจที่มันจะนำพาอารยธรรมมนุษย์ไปถึงจุดจบ

การที่บิตคอยน์โฟกัสไปที่การสร้างคุณค่าที่แท้จริงจะนำเราไปสู่ยุค renaissance ของการมีลูกและสร้างครอบครัว มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะยิ่งศึกษาบิตคอยน์คุณจะยิ่งพิจารณาได้ว่า “คุณค่า” นั้นคืออะไร และมนุษย์จะสร้างคุณค่าผ่านการทำงานจริง ๆ ได้อย่างไร ความถดถอยของแนวคิดแบบเฟียตใกล้เข้ามาแล้ว

บิตคอยเนอร์ทั้งหลายเอ๋ย จงมีลูกมีหลานและสร้างครอบครัวกันสืบไป.

แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับ : https://bitcoinmagazine.com/culture/fiat-money-debased-having-children เผยแพร่ครั้งแรกที่ : https://ljungdurst.wordpress.com

ยังไม่หนำใจ? อ่านบทความทั้งหมดของผมได้ที่ rightshift/author/ljungdurst

ljungdurst
ljungdurst

A senior copywriter and football columnist turned junior bitcoiner—thanks to inspirations from "Ajarn Piriya" his Architectural and Planning Faculty's senior turned bitcoin grandmaster who's been advocating the given subject for almost a decade. Now his life's calling is clear: orange-pilling the world.

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

One comment

  1. อ่านแล้วอยากมีลูกเพิ่มอีกซัก 10 คนเลยฮะ

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Lightning Network

ง่ายกว่าพร้อมเพย์? แชร์ประสบการณ์ใช้ Lightning ซื้อหนังสือครั้งแรก

มีเงินบาท แต่ไม่มี LN (Bitcoin Lightning Network) แล้วจะซื้อหนังสือหรือให้ทิปนักเขียนบน Right Shift ยังไงล่ะทีนี้? ผมมีคำตอบ

Read More »
honey badger bitcoin digital art
Opinion

6 เหตุผลที่บิตคอยน์คือตัวฮันนี่แบดเจอร์แห่งเงิน

ตัวฮันนี่แบดเจอร์ (honey badger) นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความอึดตายยากและความแข็งแกร่งสมบุกสมบันยิ่งกว่าอะไร และนี่คือ 6 เหตุผลว่าทำไมลักษณะอันน่าทึ่งของมันถึงเอามาเปรียบเทียบกับบิตคอยน์ (Bitcoin) ได้เป็นอย่างดี

Read More »
nayib bukele
Bitcoin Adoption

“เลิกหลงเชื่อคำลวงของพวกอีลีทได้แล้ว” นายิบ บูเคเล่ ผู้นำเอลซัลวาดอร์

ถามตัวคุณเองว่าทำไมพวกอีลีทมากอำนาจทั้งหลายในโลกถึงต่อต้านการใช้งานบิตคอยน์ของประเทศเล็ก ๆ อย่างเอลซัลวาดอร์? ทำไมพวกเขาถึงต้องแคร์?

Read More »
Fiat

ความจริงอันเน่าเฟะของที่ดิน และ อสังหาริมทรัพย์ (Fiat Reality of Real Estate)

เมื่อที่อยู่อาศัยของมนุษย์กลับกลายเป็นการลงทุน และสินทรัพย์สำหรับเก็บรักษามูลค่า (store of value) สิทธิ์ในการครอบครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จึงถูกบิดเบือนและควบคุมโดยอำนาจรัฐ

Read More »