หน้าปก-1-3.png
shopperkimpy

shopperkimpy

ศุภณัฏฐ์ วงศ์ศิริธร
กลุ่มจำลองประวัติศาสตร์ 2483 Reenactment

หอยเบี้ย และ เงินตราของอยุธยา

“ในเวลาที่ผู้ปกครองไร้ซึ่งอำนาจในการควบคุมตลาดอย่างสิ้นเชิง มูลค่าของหอยเบี้ยพุ่งสูงขึ้น เสมือนชะตาที่กำหนดว่าอาณาจักรกำลังอยู่ในกลียุค”

อยุธยา เมืองท่าสำคัญแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ หากเปรียบเทียบความเข้มแข็งทางด้านการเมือง  และการปกครองเป็นเหมือนสมองและหัวใจของอาณาจักร ระบบเศรษฐกิจต่างหากที่เป็นเส้นเลือดใหญ่คอยหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ทำให้เมืองที่มิอาจถูกพิชิตลงได้นี้ขยายตัวกลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่าสองล้านคนในศตวรรษที่ 17   

ทว่าหน่วยของเงินที่เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจอยุธยากลับเป็น หอย และมูลค่าของหอยสามารถทำนายชะตาอาณาจักรแห่งนี้ได้แม่นยำกว่าดรรชนีใด ๆ

เบี้ยน้อย หอยน้อย

“หอยเบี้ย” เปลือกหอยชนิดพิเศษซึ่งชาวสยามใช้เป็น “เงิน” เพื่อสื่อสารมูลค่าระหว่างกัน โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าที่มีมูลค่าไม่มากนัก 

ชาวสยามสามารถนำเบี้ยใส่ในถุงหรือย่ามติดตัวเขาไปจ่ายตลาด เพื่อหาซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ คนรวยนั้นใช้เบี้ยโปรยเป็นทานให้กับคนจน และหากมีหอยเบี้ยตกหล่นอยู่บนพื้นย่อมมีผู้เก็บมันขึ้นมาเสมอเพราะถือว่าหอยเบี้ยเป็น “ของมีค่า” 

ชาวสยามเลือกใช้ หอยเบี้ย เป็นสื่อกลาง เพราะ หอยเบี้ย นั้นหาได้จากธรรมชาติ ไม่สามารถถูกเสกขึ้นได้ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งห่างไกลจากทะเล ทำให้หอยเบี้ยเป็นสิ่งที่ “หายาก” สำหรับชาวเมืองอยุธยา 

แต่เมื่อมีการนำหอยเบี้ยคุณภาพต่ำจากชายฝั่งทะเลโดยพ่อค้าต่างชาติหัวใสผู้หวังความร่ำรวยเข้ามาในพระราชอาณาจักร โดยพวกเขานำเข้าเบี้ยจากหมู่เกาะมัลดีฟส์ หมู่เกาะบอร์เนียว และฟิลิปปินส์ มาแลกเปลี่ยน มูลค่าของหอยเบี้ยก็ลดลง 

และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ความต้องการหอยเบี้ยมีมากขึ้น รัฐรวมศูนย์จึงได้ผลิตเงินขึ้นเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนภายใต้การควบคุมของรัฐเอง

หอยเบี้ย

“ออมไว้สองไพเบี้ย จ่ายเสียตำลึงทอง”

ในทางตรงกันข้ามกับ หอยเบี้ย เงินของรัฐในสมัยอยุธยานั้น มีชื่อว่า “เงินพดด้วง” เป็นเงินทำจากแร่เงินบริสุทธิ์ 90-95% 

โดยเงินพดด้วงจะถูกผลิตขึ้นตามหน่วยมาตราเงินไทย คือ ไพ เฟื้อง สลึง บาท และตำลึง ประทับด้วยตราของพระมหากษัตริย์ประจำรัชกาล ถือเป็น “เงินตรา” 

ถึงแม้อาณาจักรอยุธยาจะตรากฎหมายขึ้นเพื่อกำหนดมูลค่าของเบี้ย โดยกำหนดให้ “800 เบี้ยหอย มีมูลค่าเท่ากับ 1 เฟื้อง” โดย 1 เฟื้อง มีมูลค่าเท่ากับ ครึ่งสลึง 

อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเบี้ยกับเงินพดด้วงในหน่วยเฟื้องนั้นแปรผันขึ้นลงตามกลไกตลาด โดยขึ้นกับ “อุปสงค์และอุปทาน” 

ความแตกต่างที่สำคัญ คือ หอยเบี้ยนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนเงินพดด้วงนั้นรัฐสามารถผลิตขึ้นได้เสมอ หากเพียงถูกจำกัดไว้ด้วยปริมาณแร่เงินบริสุทธิ์ที่รัฐสามารถหาได้ ผสมกับ “คำสัญญา” ของรัฐว่าจะผลิตเงินพดด้วงโดยมีสัดส่วนแร่เงินบริสุทธิ์ตามที่กำหนด

หอยเบี้ย พดด้วง
ภาพที่ 2 : พดด้วงเงินสมัยอยุธยา ตราวัว ราคา 1 เฟื้อง (กรมธนารักษ์)

ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ล้ำสมัยไปมากกว่าการใช้ม้าเร็วส่งใบบอกข่าวไปยังเมืองต่าง ๆ และการรู้หนังสือยังอยู่ในวงจำกัด ชาวสยามรู้จักการใช้มูลค่าของหอยเบี้ยต่อเงินเฟื้องเป็นมาตรวัดของความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวเมืองทั่วไปพอจะวิเคราะห์สภาพความเป็นไปทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้บ้าง

“ครั้นเมื่อเบี้ยขึ้นถึงแปดร้อยต่อเฟื้องแล้ว ท่านทั้งปวงที่รู้พระราชกำหนดกฎหมาย และกาลโบราณก็ชื่นชมยินดีว่า บัดนี้บ้านเมืองสมบูรณ์ขึ้นจนเบี้ยขึ้นไปถึงแปดร้อยต่อเฟื้อง” 5

รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง 800 เบี้ยแลกเงินได้ 1 เฟื้อง

ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า4 ค่าอาหารของชาวสยามในวันหนึ่ง ๆ สามารถหาซื้อข้าวพร้อมทั้งกับแกล้มและปลาเค็ม ปลาแห้ง โดยเสียเงินไม่ถึง 50 เบี้ย แบ่งรับประทานได้ทั้งวันจนอิ่ม 

แน่นอนว่าผู้รับราชการเป็นขุนนางแม้ระดับต่ำก็สามารถใช้ชีวิตอย่างหรูหราหากเทียบอำนาจการใช้จ่ายจากเบี้ยหวัดที่พวกเขาได้รับพระราชทานซึ่งคล้ายกับเงินบำเหน็จในปัจจุบัน เพราะขุนนางชั้นผู้น้อยจะได้รับเบี้ยหวัดประจำปี 1-5 ชั่ง หากคิดเป็นเบี้ยได้ไม่ต่ำกว่า 42,666 เบี้ยต่อเดือน 

ซึ่งเบี้ยหวัดนี้ในแต่ละปีขุนนางได้รับพระราชทานมากน้อยแปรผันตามพระราชอัธยาศัย นอกจากนั้นขุนนางยังมีสิทธิได้ส่วนแบ่งในภาษีตามตำแหน่งอีกด้วย

เล่นเบี้ย

ภาพที่ 3 : การจำลองใช้หอยเบี้ยเป็นอุปกรณ์การพนันเรียกว่า “เล่นเบี้ย”
(John Thompson. Photograph album of Siam, 1865-1866. Cornell digital collections)

ในบางห้วงเวลา เบี้ยก็มีราคาตกต่ำลงถึง 1,600 หอยเบี้ยต่อหนึ่งเฟื้อง ในเวลานั้นชาวเมืองย่อมประสบกับความทุกข์ร้อน เพราะไม่สามารถคงอำนาจการจับจ่ายได้ดังเดิม 

เมื่อเกิดเหตุภัยธรรมชาติโดยเฉพาะภัยแล้ง ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น โดยเบี้ย 800 อาจแลกข้าวได้เพียง 1 ทะนาน เทียบได้กับปริมาณข้าวสารใส่ลงในกะโหลกมะพร้าวจนเต็ม

“ก็เมื่อเวลาเบี้ยพันหนึ่งพันสองร้อย พันสามร้อยต่อเฟื้องนั้น มีผู้บ่นว่าแต่ก่อนมีเบี้ยห้าเบี้ยสิบเบี้ยก็ซื้อของกินได้อิ่มหนึ่ง บัดนี้มีถึงร้อยเบี้ยซื้อกินก็ไม่ใคร่จะได้เต็มอิ่ม ของแพงไป กว่าจะซื้อกินได้ต้องทนแสบท้องนับอยู่นาน” 5

เอนเยลเบิร์ต แกมเฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมันบันทึกไว้ในช่วงปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ต่อต้นรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา 1 ว่าราคาของเบี้ยนั้นมีความผันผวน 500 ถึง 800 เบี้ยต่อหนึ่งเฟื้อง 

น่าสังเกตว่าทั้ง ๆ ที่มีผู้นำเข้าหอยเบี้ยจากหมู่เกาะมัลดีฟส์เข้ามาขายในยุคสมัยดังกล่าว แต่หอยเบี้ยกลับมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าที่รัฐกำหนด 

อาจสะท้อนถึงความต้องการหอยเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโต หรือเหตุการณ์อาจกลับตาลปัตรคือเงินพดด้วงของรัฐในหน่วยเฟื้องเสื่อมค่าลงอย่างรุนแรงด้วยสาเหตุบางประการ จนทำให้เบี้ยน่าจะแข็งค่ามากขึ้นจนถึงเหตุการณ์เสียกรุง

ตลาดน้ำ

ภาพที่ 4 : ภาพวาดตลาดน้ำบางกอกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
(Frank Elias, The gorgeous East : India, Burma, Ceylon, and Siam. Cornell digital collections)

จากข้อมูลอาจพอสรุปได้ว่า ชาวสยามก็ต้องประสบกับภัยจากเงินเฟ้อ อันหมายถึงอำนาจในการจับจ่ายของพวกเขาลดลงในบางช่วงเวลา โดยสาเหตุที่ชัดแจ้งคือการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์โดยเฉพาะในยามภัยภิบัติ 

ส่วนปัจจัยจากการผลิตเงินเพิ่มของรัฐนั้นยังขาดหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน ทว่ามีข้อสันนิษฐานว่าอยุธยาก็อาจมีการทำการผลิตเงินเพิ่มในบางห้วงเวลา เช่น การผลิตประกับดินเผาทดแทนหอยเบี้ยในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

แต่การที่เงินตราหลักของอยุธยานั้นผลิตขึ้นจากแร่เงิน ทำให้ความหายากของแร่เงินนั้นเป็นตัวกีดกันให้รัฐผลิตเงินในปริมาณจำกัด ร่วมกับเทคโนโลยีการผลิตซึ่งชาวสยามยังไม่มีเครื่องจักรผลิต ต้องใช้เตาหลวงของพระคลังมหาสมบัติ และเทคโนโลยีล้าสมัยนี้ทำให้สยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังคงผลิตเงินพดด้วงได้ไม่เกิน 2,400 บาทต่อวัน อุปมานได้ว่าการผลิตเงินตราในสมัยอยุธยาย่อมน้อยกว่านั้น

เหรียญประกับ

ภาพที่ 4 : ประกับดินเผา ตราดอกบัว สมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2287 หรือราว 23 ปีก่อนเสียกรุง
มีการผลิตประกับดินเผาขึ้นใช้แทนเบี้ยหอย อาจจะเป็นหลักฐานของการแทรกแซงทางการเงินสมัยอยุธยา

(พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์)

“ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง สาระพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่”

เมื่ออำนาจของอาณาจักรอยุธยาเสื่อมถอยลง ข้าศึกชาวพม่าเข้าล้อมประชิดกำแพงเมืองหลวง…  

ถึงยามเข้าตาจน เงินของรัฐไม่สามารถถูกใช้แลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่จำเป็นได้ ชาวอยุธยาส่วนหนึ่งกลับเลือกที่จะเข้าทุบทำลายองค์พระพุทธรูปและเจดีย์ภายในวัด 

ซึ่งในยามปกติชาวพุทธผู้มีศรัทธาจะนำเงินและทองบรรจุไว้ในเจดีย์เป็นพุทธบูชา เพื่อค้นหา “เงิน” ที่แท้จริงของยุคสมัย คือ “แร่ทองและเงิน” 

ปีแยร์ บรีโก (Pierre Brigot) มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยา6 ได้บันทึกถึงสภาพความปั่นป่วนวุ่นวายภายหลังการเสียกรุง โดยกล่าวว่า ข้าว หัวเผือก หัวมัน และหน่อไม้ ราคาพุ่งสูงขึ้น จนไม่สามารถแลกซื้อได้แม้จะมีเงินเท่าใดก็ตาม…

คนยากไร้เลือกที่จะกินซากศพมนุษย์แทนข้าว

ในเวลาที่ผู้ปกครองไร้ซึ่งอำนาจในการควบคุมตลาดอย่างสิ้นเชิง กลไกอุปสงค์และอุปทานทำงานโดยไร้การควบคุมจากศูนย์กลาง ชาวสยามหันหน้าเข้าหาเงินที่มั่นคง ส่งผลให้ราคาเบี้ยพุ่งสูงขึ้นเป็น 200 หอยเบี้ยต่อหนึ่งเฟื้อง 

นั่นหมายถึงเงินของรัฐด้อยค่าลง เมื่อมูลค่าของเบี้ยพุ่งสูงขึ้นเสมือนชะตาที่กำหนดว่าอาณาจักรกำลังอยู่ในกลียุค

หอยเบี้ย

ภาพที่ 5 : ซากปรักหักพังของอยุธยา
(Maxwell Sommerville. Siam : on the Meinam from the gulf to Ayuthia :
together with three romances illustrative of Siamese life and customs)

หอยเบี้ย เปลือกหอยธรรมชาติซึ่งโดยตัวมันเองแล้วไม่ได้มีอรรถประโยชน์อะไรไปมากกว่าการทำเป็นสร้อยคล้องคอ หรือการใช้เป็นตัวหมากบนกระดาน ด้วยคุณสมบัติการเป็นสิ่งที่หายากและความง่ายในการใช้งาน ชาวสยามเลือกใช้มันเป็นเครื่องมือสื่อสารมูลค่าตั้งแต่วันแรกจนถึงวันล่มสลายของอาณาจักร 

หอยเบี้ย มิอาจถูกปลอมแปลงได้แต่ก็สามารถถูกเพิ่มอุปทานได้ ทำให้มูลค่าของ หอยเบี้ย มีความแปรปรวน 

แม้รัฐจะใช้อำนาจในการกำหนดมูลค่าของ หอยเบี้ย ก็มิอาจขัดขวางตลาดได้ ตลาดคือผู้กำหนดราคาหอยเบี้ยที่แท้จริง 

ถึงกระนั้นในยามวิกฤติ หอยเบี้ยกลับแสดงคุณสมบัติบางอย่างของการเป็นเงินที่ดีออกมานั่นคือ การรักษาอำนาจการใช้จ่าย นี่อาจเป็นข้อสรุปบทเรียนที่ประวัติศาสตร์ได้มอบไว้แด่ชนรุ่นหลัง…

เมื่อถึงยามวิกฤติตลาดเสรีจะเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งใดคือ “เงิน” ที่แท้จริง

และหากชาวสยามสามารถมีเงินมั่นคง ถูกสร้างได้ยาก ปลอมแปลงไม่ได้ โดยรัฐไม่มีอำนาจในการกำหนดมูลค่า ในขณะเดียวกันก็ง่ายต่อการใช้งาน และรักษาอำนาจการใช้จ่ายไว้ได้ตลอด 

กงล้อประวัติศาสตร์อาจจะไม่หมุนซ้ำรอยเดิม..


 

อ้างอิง

 1เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์.  (2508). ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์.  แปลโดย อัมพร สายสุวรรณ. หน้า 99.

       2กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์.  (2525). เหรียญกษาปณ์ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2525.  หน้า 14-43.

       3เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ).  2356-2413 (2477). ๑๐๓. ทำเงินตราใช้แทนเบี้ยและหอย. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พศ 2394-2411 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์.

       4ซีมง เดอ ลาลูแบร์.  ค.ศ. 1642-1729 (2457). จดหมายเหตุลาลูแบร์ พงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช.  แปลโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. หน้า 322.

       5พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.  2347-2411 (2472). ภาคที่ ๓ หมวดราชจารีตโบราณ, ๕ ว่าด้วยการใช้เบี้ย. ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. 

       6ฟรองซัวส์ อองรี ตุรแปง.  (2559). ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม และประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง.  แปลโดย ปอล ซาเวียร; และ สมศรี เอี่ยมธรรม. หน้า 193.

       7Reginald Le May.  (1932).  The Coinage of Siam. p. 194.

ติดตามผลงาน และให้กำลังใจเจ้าของผลงานได้ที่นี่

ฝึกทหารแบบยุคสงครามโลก

ฝึกทหาร แบบยุคสงครามโลก ท่าตรง ท่าเคารพ

สดุดีทหารอาสา สงครามโลกครั้งที่ 1 @krubenwarhistory

จับ FARB - พิบูลสวัสดี / ทิดน้อย / ขุนพันธ์ 3 (เอาปากกามาวง EP1)

123...3839
1...39
Next
loading

shopperkimpy

ศุภณัฏฐ์ วงศ์ศิริธร กลุ่มจำลองประวัติศาสตร์ 2483 Reenactment

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

One comment

  1. ชอบเรื่องแนวประวัติศาสตร์เข้ม ๆ แบบนี้มาก

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts