SDM1
Picture of SecretmanDF

SecretmanDF

ทำไมต้องเป็น “บิตคอยน์”  ไม่เป็น “ชิตคอยน์”?

บิตคอยน์ไม่เหมือนชิตคอยน์ แล้วทำไมต้องเป็นบิตคอยน์? ก่อนที่เราจะเริ่มพิจารณาเหรียญดิจิทัลอื่น ๆ ก็ควรแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันให้เป็นเสียก่อน ถ้าคุณอยากรู้ว่ามันต่างกันอย่างไรแล้วล่ะก็ ตามผมมาได้เลย!

Table of Contents

Why bitcoin, not shitcoin?

แม้คุณจะไม่เคยได้มาศึกษาเรื่องราวของสกุลเงินดิจิทัลอย่างลึกซึ้ง แต่อย่างน้อยก็น่าจะเคยได้ยินชื่อของ บิตคอยน์ (Bitcoin) กันมาบ้าง และถ้าได้ลองเข้ามาศึกษาสักพักก็จะพบว่า

ทำไมเงินดิจิทัลถึงได้มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีชื่อเรียกและมีรายละเอียดการทำงานที่แตกต่างกัน?

หลังจากที่ผมได้ศึกษาเหรียญดิจิทัลอื่น ๆ จนเข้าใจแล้วนำไปเทียบกับบิตคอยน์ ผมก็ได้พบกับข้อแตกต่างมากมาย ซึ่งข้อแตกต่างเหล่านี้ทำให้ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมใครหลายคนจึงเรียก เหรียญทางเลือก (Alternative Coins หรือ Altcoins) เหล่านั้นว่าเป็น ชิตคอยน์ (Shitcoin) หรือที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เหรียญขยะ”

และนี่คือข้อแตกต่างทั้งสิ้น 8 ข้อที่ผมได้เจอ และทำให้ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่า “ทำไมต้องเป็นบิตคอยน์ ไม่เป็นชิตคอยน์”

ถ้าอยากรู้ล่ะก็..ตามผมมาได้เลย!

1. บิตคอยน์เป็นระบบถูกสร้างขึ้นมาเสร็จสมบูรณ์แล้ว

บิตคอยน์ นั้นสามารถใช้งานได้ตั้งวันแรกที่มันเริ่มทำงาน (Finished Product) ส่วน ชิตคอยน์เป็นได้แค่ โปรเจกต์ทดลอง” (Experimental Project) ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่

บิตคอยน์ ถือว่าเป็นเครือข่ายทางการเงินสำหรับใช้รับส่งมูลค่า ซึ่งระบบของมันมีนโยบายทางการเงินแกนกลางเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่วันแรกที่มันเริ่มทำงาน บิตคอยน์สามารถส่งมูลค่าผ่านระยะทางไกล จากบุคคลถึงบุคคล ได้โดยไม่มีพึ่งพาตัวกลาง นโยบายทางการเงินที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่วันแรกที่มันถูกสร้างขึ้นมานั้นไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งแม้มันอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง (โดยเฉพาะในยุคแรก ๆ) เพราะการใช้งานในกลุ่มคนที่ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง

แต่ภายหลังก็ได้มีการพัฒนาบิตคอยน์ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น และสามารถรองรับรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น และสิ่งนั้นก็คือ “ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก” (Lighting Network) นั่นเอง

ส่วน ชิตคอยน์ นั้นคือ โปรเจกต์ทดลอง ที่กลไกการทำงานและนโยบายทางการเงินยังไม่นิ่ง และสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อยู่ตลอดเวลา แม้แต่ชิตคอยน์อันดับที่ 2 (ถ้าจัดลำดับกันตาม market cap) ในปัจจุบันก็ไม่ใกล้เคียงกับคำว่า “ประสบความสำเร็จ” เพราะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการทำงาน นโยบายการผลิตเหรียญ การเผาทำลายเหรียญ หรือแม้กระทั่งการบันทึกบัญชีที่เปลี่ยนจาก “พรูฟ-ออฟ-เวิร์ก” (Proof of Work) เป็น “พรูฟ-ออฟ-สเตก” (Proof of Stake) เป็นต้น

2. จุดกำเนิดของบิตคอยน์ เป็นจุดกำเนิดที่สมบูรณ์แบบ (Immaculate Conception)

ไม่มีเหรียญดิจิทัลไหนจะสามารถลอกเลียนแบบ บิตคอยน์ ได้เลย และ ชิตคอยน์ ต่างก็เกิดในยุคที่หลายคนต่างจับจ้องเหรียญดิจิทัลที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อแสวงหาผลกำไร

จุดกำเนิดที่สมบูรณ์แบบ (Immaculate Conception) หมายถึง ช่วงเวลาในยุคแรกที่เกิดขึ้นมา ทั้งผู้สร้างและผู้ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยนั้น เป็นกลุ่มคนที่มีเจตนาที่บริสุทธิ์ ไม่มีผู้ที่มีจิตมุ่งร้าย

คำว่า จุดกำเนิดที่สมบูรณ์แบบ มีที่มาจากความเชื่อทางศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกที่กล่าวถึงพระนางมารีย์ผู้มีพรหมจารีได้ทรงปฏิสนธิตั้งครรภ์พระเยซู ถือว่าเป็นการให้กำเนิดโดยปราศจากมลทินใด ๆ ของบาปกำเนิด

แล้วทำไมจุดกำเนิดของ บิตคอยน์ ถึงสามารถนำไปเทียบกันได้?

ในวันที่ บิตคอยน์ ถูกสร้างขึ้นมา เป็นช่วงที่แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “เงินดิจิทัล”  ทำให้บิตคอยน์เปรียบเสมือนกับเด็กแรกเกิดที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ทุกคนที่ได้รู้จักกับมัน หรือได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต่างก็มีแต่ความรักความเอ็นดู คอยเฝ้ามอง และดูแลเอาใจใส่ โดยไม่คิดแสวงหาผลกำไร ไม่มีใครคิดมุ่งร้ายจ้องจะทำลายมัน เราอาจบอกได้ว่ามันเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะมีมูลค่าอะไรซะด้วยซ้ำ เพราะเงินดิจิทัลที่มีการทดลองสร้างก่อนหน้าบิตคอยน์นั้นไม่เคยมีโปรเจกต์ไหนสำเร็จมาก่อน

หากมีใครมีจิตใจมุ่งร้ายคิดจะทำลายบิตคอยน์ คนนั้นจะต้องรีบทำลายมันตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่มันกำลังเกิดขึ้น เพราะในตอนนั้นบิตคอยน์ยังคงอ่อนแออยู่

แต่ในตอนนี้ เด็กน้อยคนนั้นได้ค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นจนมีอายุ 13 ปีแล้ว มันแข็งแกร่งจนเกินกว่าที่ใครสักคนจะสามารถทำลายมันได้ มันสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกลไกที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี โดยไม่ต้องพึ่งพาใครในการดูแลมันเป็นพิเศษอีกต่อไป

แต่ ชิตคอยน์ นั้นต่างออกไป ในวันนี้แทบทุกคนคงพอจะได้ยินชื่อ “สกุลเงินดิจิทัล”กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เหรียญดิจิทัลที่เกิดใหม่ในตอนนี้ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกจับตาดู ผู้คนต่างจ้องจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หรือเคราะห์ร้าย มันอาจจะถูกคนโจมตี ทำลาย เพียงเพราะหมั่นไส้

…แล้วอย่างนี้หากมีคนคอยดูแล ปกป้องมันตอนแรกเกิดเสียก่อนล่ะ?

หากเป็นแบบนั้น เหรียญดิจิทัลดังกล่าวก็จะเป็นเหรียญที่มีศูนย์กลาง มีบริษัทที่เข้ามาควบคุมดูแล ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานดังกล่าว แล้วพวกเขาจะยอมเสียเงินเพื่อทำแบบนั้นทำไมนะ? นอกเสียจากว่าผู้ที่สร้างมันขึ้นมาจะหวังเอาเงินคืนจากคนที่เข้ามาซื้อเหรียญเหล่านั้นต่อจากพวกเขา (Exit Liquidity)

แน่นอนว่าอาจมีเหรียญดิจิทัลบางเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ซึ่งผู้เขียนก็ให้ความเคารพบุคคลที่สร้างเหรียญเหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงความเสียใจด้วย เพราะเหรียญเหล่านั้นไม่สามารถจะมี “จุดกำเนิดที่สมบูรณ์แบบ” ได้เหมือนกับบิตคอยน์

3. บิตคอยน์อาศัยความเชื่อมั่นใน “คณิตศาสตร์” ส่วนชิตคอยน์นั้นเชื่อมั่นใน "ตัวบุคคล"

บิตคอยน์ เชื่อใจ “โค้ดคอมพิวเตอร์” เชื่อในหลักคณิตศาสตร์ เชื่อว่า 1+1 จะต้องเท่ากับ 2 ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน “กฎ”ต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นมาจากโค้ดคอมพิวเตอร์ มันเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานในระบบทุกคนต้องปฏิบัติตาม โดยไม่มีใครได้รับข้อยกเว้น หากมีใครคนหนึ่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหรือพยายามเปลี่ยนแปลงกฎ โดยที่ผู้ใช้งานคนอื่นในระบบไม่ได้ยินยอม ใครคนนั้นก็คือผู้ที่ได้ตัดตัวเองออกไปจากระบบของบิตคอยน์

ในขณะที่ ชิตคอยน์ เป็นระบบที่ต้องเชื่อใจ “ตัวบุคคล” เช่น นักพัฒนาโปรแกรม ว่าพวกเขาจะพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ตามที่เคยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ คำสัญญาเหล่านั้นมันเป็นเพียงแค่ลมปาก เพราะหลายครั้งที่เราเห็นผู้พัฒนาละทิ้งโปรเจกต์ไป พวกเขาหักหลังผู้ใช้งานและปรับการทำงานของระบบผิดพลาด จนมีหลายโปรเจกต์ที่ล้มเหลว บ้างก็กำลังจะปิดตัว หรือได้ปิดตัวลงไปแล้ว และที่สำคัญมันอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้คนจำนวนมากได้

4. กฎของบิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานจากทฤษฎีเกม (Game Theory)

ทฤษฎีเกม คือ สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ชนิดหนึ่ง เป็นการศึกษาการตัดสินใจของผู้เล่นหลายฝ่ายที่มีการปฏิสัมพันธ์กัน โดยผลลัพธ์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เล่นแต่ละคน

บิตคอยน์ เชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์มักเห็นแก่ตัว มนุษย์ส่วนใหญ่นั้นมักจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างโดยจะใช้วิธีการที่สามารถให้ผลประโยชน์แก่ตัวเองมากที่สุด

บิตคอยน์ ได้สร้างผู้เล่นด้วยกัน 3 ฝ่าย นั่นคือ “ผู้ใช้งาน” (User) “นักขุด” (Miner) และ “นักพัฒนาโปรแกรม” (Developer) ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีบทบาทที่ต่างกัน และแต่ละฝ่ายจะถ่วงดุลอำนาจกัน* และที่สำคัญกฎต่าง ๆ ที่เป็นข้อบังคับในระบบได้ถูกออกแบบมาให้เอื้อประโยชน์สูงสุดให้กับ “ผู้ที่ทำตามกฎ” และลงโทษ “ผู้คนที่ไม่ทำตามกฎ” เพราะพวกที่คดโกงและหาทางลัดจะแทบไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย มิหนำซ้ำพวกเขาอาจจะเสียเงินอีกด้วย ส่วนผู้ที่ใช้งานระบบก็ไม่มีความจำเป็นต้องคิดหาทางโกงระบบ เพราะในเมื่อพวกเขาสามารถได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการทำตามกฎของระบบอย่างเรียบ ๆ ตรงไปตรงมา

*รายละเอียดว่าการถ่วงดุลอำนาจของบิตคอยน์ มีส่วนประกอบ และมีความซับซ้อนมากกว่ามากกว่านี้ ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะเขียนบทความอีกอันหนึ่งเพื่ออธิบายสิ่งเหล่านี้อย่างละเอียดอีกทีนะครับ 🙂

ในขณะที่ ชิตคอยน์ ส่วนใหญ่สร้างกฎที่ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บน ทฤษฎีเกม ผู้เล่นที่มีบทบาทในระบบนั้นไม่มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน และจะมีบางผู้เล่นที่มีอำนาจมากกว่าผู้เล่นในระบบคนอื่น ๆ อย่างชิตคอยน์บางเหรียญนั้นมอบอำนาจสูงสุดแก่ผู้พัฒนาให้สามารถเปลี่ยนกฎได้ตามใจชอบ โดยอ้างว่ามันคือ “การอัปเกรดระบบ”

ในความเห็นของผมนั้น ชิตคอยน์ ส่วนใหญ่มีสภาพที่ไม่ต่างกับ “ระบบเงินเฟียต” ที่ผู้ผลิตเงินสามารถผลิตเงินเพิ่มเท่าไหร่ก็ได้ตามต้องการ ทั้งยังสามารถดึงเงินออกจากระบบ และสามารถขึ้นหรือลดดอกเบี้ยได้ตามใจ ผู้มีอำนาจสามารถจะเข้าไปครอบงำตัวกลางที่ควบคุมระบบ เพื่อสร้างเงินให้ตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎต่าง ๆ ให้เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง หรือคนบางจำพวกก็จะหาทางเข้าใกล้แหล่งผลิตเงินเพื่อที่จะได้รับเงินที่ผลิตขึ้นมาใหม่ก่อนใครอื่น

สรุปโดยรวมแล้ว ผู้ที่ใช้งานระบบของชิตคอยน์หรือระบบเงินเฟียตอย่าง “ซื่อตรง” กลับถูกลงโทษ แต่ผู้ที่ใช้วิธีที่ “คดโกง” อะไรบางอย่าง กลับได้ผลประโยชน์มหาศาล

“บิตคอยน์เป็นเงินชนิดแรกที่ถูกออกแบบมาอย่างชาญฉลาดโดยมนุษย์ โดยหยิบหลักคณิตศาสตร์ และใช้แรงผลักดันตามธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้มันทำให้ระบบของบิตคอยน์สามารถทำงานได้ด้วยเอง โดยไม่ต้องมีใครมาควบคุมดูแล”

5. บิตคอยน์ ไม่ได้สร้างเหรียญให้ตัวผู้สร้าง (Pre-mine)

บิตคอยน์ ไม่มีการแจกจ่ายให้แก่ใครบางคนที่เอาเงินมาให้ลงทุนล่วงหน้า (Pre-sale) ตั้งแต่ก่อนที่จะเปิดให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งาน แต่ ชิตคอยน์ ส่วนใหญ่นั้นมักมีการสร้างเหรียญจำนวนมากให้แก่ผู้สร้างและนักลงทุนก่อนเสมอ

ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ผู้สร้าง บิตคอยน์ ไม่ได้สร้างเหรียญให้แก่ตัวเขาเอง และไม่ได้ให้สิทธิพิเศษบางอย่างกับใครบางคน บิตคอยน์นั้นไม่มีกลุ่มนักลงทุน มันจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอื้อผลประโยชน์ให้กับใครทั้งนั้น ทุกอย่างจึงสามารถพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนที่ใช้งานในระบบ

แต่ ชิตคอยน์ นั้นมักจะมีการสร้างเหรียญขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายให้ตัวเองและกลุ่มนักลงทุน ก่อนที่จะเปิดการใช้งานให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งมันเป็นการกระทำที่แสดงเจตนาไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้าง การกระทำนี้ก็เหมือนกับการที่บริษัทแจกจ่ายหุ้นให้แก่นักลงทุนที่นำเงินมาให้เป็นทุนในทำการประกอบธุรกิจ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลาย

ครั้งทิศทางการพัฒนาตัวเหรียญดิจิทัล มีจำเป็นที่จะต้องเป็นไปในแนวทางที่นักลงทุนคาดหวัง เพราะผู้สร้างต้องทำบางอย่างเพื่อเอาใจ “ผู้ถือหุ้น” เหล่านั้น เพื่อผลกำไรสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนก่อนเสมอ

6. นโยบายทางการเงินที่เป็นแก่นของบิตคอยน์ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่ชิตคอยน์นั้นมีนโยบายที่โลเล

บิตคอยน์ มีนโยบายทางการเงินที่แน่นอน

“มีอุปทานที่จำกัด 21 ล้านเหรียญ มีปรับความยากในการผลิต ทำให้การผลิตบิตคอยน์ใหม่ทุก ๆ ประมาณ 10 นาที และมีอัตราการผลิตบิตคอยน์ที่จะลดลงครึ่งหนึ่งทุก ๆ ประมาณ 4 ปี”

นโยบายเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ยากมาก จนแทบจะสามารถเรียกได้ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยน” สิ่งเหล่านี้ได้ระบุไว้ในโค้ดที่โปร่งใส่ และทุกคนสามารถตรวจสอบได้

หากต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของบิตคอยน์ มันต้องเรื่องที่มีความสำคัญมาก หรือเป็นสิ่งที่สร้างผลประโยชน์ให้ทุกคนในระบบพอใจ จึงจะสามารถโน้มน้าวผู้ใช้งานในระบบทุกคนให้พร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงกฎตามได้

ส่วน ชิตคอยน์ นั้นก็ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่ามีนโยบายทางการเงิน (ที่ผมขออนุญาตใช้คำว่า)โลเล” ซึ่งมีความหมายว่า ไม่มีความแน่นอน และ ไม่มีความมั่นคง เพราะจะมีกลุ่มคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎเหล่านั้นได้ รวมถึงนโยบายการใช้งานและนโยบายการผลิต แถมชิตคอยน์บางตัวยังสามารถเพิ่มอัตราการผลิตหรืออัตราการเผาทำลายเหรียญได้ ซ้ำร้ายยังมีความสามารถที่จะระงับธุรกรรมของคนบางกลุ่ม หรือผู้คนในบางประเทศได้อีกด้วย

7. บิตคอยน์ อำนาจอธิปไตยทางการเงินแก่ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

คุณลองนึกภาพว่าหาก “เงิน” ที่เราใช้หยาดเหงื่อแรงกายไปแลกมา แต่วันหนึ่งกลับพบว่าเงินนั้นมันไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง เราไม่สามารถย้ายเงินของเราไปต่างประเทศได้ เราไม่สามารถจะชำระเงินได้เพราะระบบมีปัญหา เราโดนระงับเงินในบัญชีธนาคารเพราะเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เราโดยอายัดเงินเพราะอาจเป็นเงินที่พัวพันกับสิ่งที่รัฐบอกว่าผิดกฎหมาย หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เงินของเราที่ไปพึ่งพาตัวกลางในการใช้งาน สามารถมีใครสักคนมาทำให้เราไม่สามารถใช้ “เงินของเรา” ที่เราหามาได้เองแท้ ๆ

…มันน่าเจ็บใจนะ

แต่ บิตคอยน์ ทำให้เราสามารถเป็นธนาคารของตัวเอง เก็บเงินได้ด้วยตัวเอง อนุมัติธุรกรรมทั้งหมดได้เอง โดยที่การทำงานทั้งหมดนี้ไม่ต้องพึ่งตัวกลาง

นี่อาจจะฟังดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ สำหรับประเทศไทยที่มีระบบการทำธุรกรรมที่ดีเยี่ยมเป็นระดับต้น ๆ ของโลก จนทำให้เราอาจยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้

หากยังนึกไม่ออกว่าอำนาจอธิปไตยทางการเงินนั้นสำคัญอย่างไร อาจจะให้ลองนึกถึงช่วงสิ้นเดือนที่แอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ มักจะล่ม เพราะมีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่ถ้าการล่มครั้งนี้มันกินระยะเวลายาวนานหลายเดือนล่ะ! จะดีกว่าไหมที่เราจะมีระบบการเงินที่ไม่ต้องพึ่งใครทั้งนั้น?

ส่วน ชิตคอยน์ นั้นไม่สามารถมอบอำนาจอธิปไตยให้เราได้อย่างแท้จริง เพราะเงินของเรายังคงต้องอาศัยอยู่บนระบบที่ยังถูกควบคุมโดยใครบางคนอยู่ ถ้าผู้ควบคุมระบบสั่งห้ามบัญชีหรือแอสเดรสของเราล่ะ? ถ้าเขาไม่อนุมัติธุรกรรมของเราล่ะ? ซึ่งเขาสามารถทำได้ และทำได้ทันที

เพราะระบบของชิตคอยน์นั้น..เงินของเรามันไม่ใช่เงินของเราจริง ๆ

8. บิตคอยน์มีความไร้ศูนย์กลางอย่างแท้จริง (Decentralized)

บิตคอยน์ นั้นเป็นอิสระจากศูนย์กลางควบคุม ส่วน ชิตคอยน์ ที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นเหรียญที่มีศูนย์กลาง (Centralized) หรือมีกลุ่มคนคอยดูแล คอยควบคุม ที่รอวันล่มสลาย

(ความสำคัญของ ความไร้ศูนย์กลาง (Decentalization) ผมได้เขียนเรื่องนี้อย่างละเอียดเอาไว้แล้ว ท่านสามารถเข้าไปอ่านบทความได้ที่นี่ครับ https://rightshift.to/2022/secretmandf/5289/)

“เงินที่มีศูนย์กลาง มันอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ความจริงแล้วมันไม่จริงเลย “Centralization” คำนี้ ผมขอเปรียบเทียบมันว่าเป็น “ปรสิต” ที่ในตอนแรกอาจจะดูไม่มีพิษมีภัย แต่ในที่สุดแล้วมันจะค่อย ๆ บ่อนทำลายระบบจากภายใน จนในที่สุดระบบที่มีศูนย์กลางนั้นก็จะล่มสลายไป”

บทสรุปว่าทำไมต้องเป็นบิตคอยน์ ไม่เป็นชิตคอยน์

บิตคอยน์ มันได้มอบอธิปไตยทางการเงินให้แก่เราอย่างแท้จริง! มันมีคุณสมบัติพิเศษมากมายที่แตกต่างกับ ชิตคอยน์ อย่างสิ้นเชิง เพราะบิตคอยน์มีจุดกำเนิดที่ไม่มีใครเทียบได้ มันมีแกนกลางระบบที่เสร็จสมบูรณ์ทำงานได้จริงแล้ว มีโยบายทางการเงินที่มันคงไม่โลเล มีการใช้งานที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจในตัวบุคคล บิตคอยน์ไม่ให้สิทธิพิเศษแก่ใครคนไหน ระบบของมันมีกลไกที่ถูกออกแบบอย่างชาญฉลาด โดยการนำทฤษฎีเกมมาประยุกต์ใช้เพื่อถ่วงดุลอำนาจผู้เล่นในระบบ บิตคอยน์มีการกระจายเหรียญเป็นไปตามกฎของระบบ เพราะแม้แต่ผู้สร้างอย่าง “โซโตชิ นากาโมโตะ” เองก็ยังต้องมาขุดเหรียญบิตคอยน์แข่งกับผู้เล่นคนอื่นๆ

แต่ ชิตคอยน์ นั้นเนื้อแท้ของมันเป็นโปรเจกต์ทดลอง ที่ยังมีนโยบายทางการเงินและกลไกการทำงานที่ยังมีความโลเล และมักจะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ที่ไม่ซื่อตรง มันมักจะมีเจ้าของ มันจะมีนักลงทุนที่หวังจะเข้ามาแสวงหาผลกำไร น้อยคนนักที่จะมีเจตนาในการสร้างเหรียญด้วยความบริสุทธิ์ใจ และถึงแม้ว่าคุณจะหวังดีสร้างเหรียญที่ไร้ศูนย์กลางขึ้นมาใหม่ มันก็ไม่มีทางสำเร็จได้เลย เพราะจะมีคนที่ต่างจับจ้องและหวังจะเข้ามาสร้างผลกำไรจากเหรียญดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาใหม่กันอยู่เต็มไปหมด นอกจากนี้การออกแบบระบบที่ไม่ดีก็จะทำให้เหรียญดิจิทัลดังกล่าวนั้นมีศูนย์กลาง หรือมีใครบางคนที่มีอำนาจเหนือผู้เล่นคนอื่น ๆ ในระบบอีกด้วย

หลังจากได้อ่านข้อมูลข้างต้น คุณคงจะพอเห็นภาพว่า..

“ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ คุณคงจะพอเห็นภาพว่า ทำไมต้องเป็น “บิตคอยน์” เท่านั้น!  จะไม่มี “ชิตคอยน์” ตัวไหนที่จะประสบความสําเร็จในระยะยาว ทุกเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น มันแค่รอวันที่จะถูกนักพัฒนาโปรแกรมทอดทิ้ง รอให้นักลงทุนมาเทขายทำกำไร และมันจะล่มสลายในที่สุด”

Disclaimer บทความนี้เป็น ความเห็นส่วนตัว ของผู้เขียนหลังจากได้เข้ามาศึกษาเหรียญดิจิทัลมาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการชักชวนให้ลงทุนซื้อขายเหรียญดิจิทัลใดทั้งนั้น เพราะการตัดสินใจในการลงทุนควรจะเกิดจากการศึกษาและตัดสินใจด้วยตัวของท่านเองเท่านั้นครับ

SecretmanDF

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Psychology
SecretmanDF

Personal challenge

สิ่งที่มีความจำกัดอย่างแท้จริงของมนุษย์ที่เป็นความสัจจริงนั่นก็คือ “เวลาของมนุษย์เอง” เพราะไม่มีมนุษย์คนใดที่จะมีชีวิตอยู่ยงคงกระพันไปตลอดได้ น่าเสียดาย ที่มนุษย์ใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไปกับสิ่งที่ตัวเองไม่มีความสุข ไม่มีโอกาสทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตของเขาต้องการอะไร..

Read More »