The_Matrix_cover_1_1
Picture of Siraphop N.

Siraphop N.

Bitcoin, The Matrix and The Rabbit Hole

ยาส้ม? หลุมกระต่าย? คำเหล่านี้มีความหมายแฝงอย่างไร และทำไมชาวบิตคอยน์จึงควรไปหาภาพยนตร์เรื่อง The Matrix มาดูสักครั้งในชีวิต

‘แจกยาส้ม’

ทำไมต้องยา? ทำไมต้องส้ม? นั่นคือหนึ่งในประเด็นสำหรับบทความนี้

บิตคอยน์มีความมหัศจรรย์ในแง่มุมทางเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์ นั่นคือสองประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นส่วนมากเวลาที่พูดถึงบิตคอยน์ แต่นั่นเองก็ได้ดึงดูดผู้ที่มีความสนใจร่วมกันจากทั่วโลกให้มารวมตัวกัน และเมื่อผู้คนมารวมตัวกัน วัฒนธรรมก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้น

ชุมชนบิตคอยน์มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง

ด้วยความที่เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยและก่อกำเนิดขึ้นในยุคอินเตอร์เน็ต วัฒนธรรมนี้จึงมีความเป็นหนึ่งเดียวในระดับโลกและมีความเป็น pop-culture สูง แสดงออกผ่านวิธีการต่างๆ ที่สามารถกระทำได้บนอินเตอร์เน็ต อย่างเช่นการใช้คำสแลงเฉพาะกลุ่ม และการเล่นมีม (meme)

และหากพูดถึงสื่อร่วมสมัยที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของชาวบิตคอยน์มากที่สุด คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากภาพยนตร์ไตรภาคชุด The Matrix ซึ่งประกอบไปด้วย The Matrix (1999), The Matrix Reloaded (2003), และ The Matrix Revolutions (2003) (ซึ่งผมจงใจไม่กล่าวถึงภาคต่อที่เข้าฉายในปี 2021)

เราจะไปดูกันว่าภาพยนตร์ชุดนี้ได้ฝังอิทธิพลแบบไหนบ้างไว้ในชุมชนบิตคอยน์ และทำไมชาวบิตคอยน์จึงควรหามาดูสักครั้ง

1. เนื้อเรื่อง

The Matrix คงครองใจชาวบิตคอยน์ไม่ได้ถ้ามันมีดีแค่สไตล์และฉากต่อสู้ เพราะสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดคือแก่นสารเนื้อเรื่อง ซึ่งกล่าวถึงการต่อสู้ปลดแอกมนุษยชาติจากการถูกจองจำในโลกแห่งมายาคติ โลกที่มนุษย์ทั้งหลายไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการเป็นแหล่งพลังงานที่ให้ประโยชน์แก่ผู้สร้างระบบซึ่งคอยกดขี่พวกเราอยู่

“จะบอกให้ว่าคุณมานี่ทำไม คุณมาเพราะคุณรู้บางอย่าง และคุณอธิบายไม่ได้ แต่คุณรู้สึกได้ คุณรู้สึกทั้งชีวิตคุณว่ามีความไม่ถูกต้องในโลก คุณไม่รู้ว่าอะไร แต่มันมีอยู่ มันมีเสี้ยนตำใจ ทำให้คุณคลั่ง ความรู้สึกนึ้นำคุณมาหาผม รู้ไหมผมพูดถึงอะไรอยู่”
— มอร์เฟียซ

เมทริกซ์ เหรอ?”
— นีโอ

“คุณอยากรู้ไหมว่า มันคืออะไร… เมทริกซ์อยู่ในทุกที่ อยู่รอบๆ ตัวเรา ตอนนี้มันก็อยู่ในห้องนี้ด้วย คุณเห็นมันเมื่อมองไปที่หน้าต่าง หรือเมื่อเปิดดูโทรทัศน์ สัมผัสมันได้ ตอนออกไปทำงาน ตอนไปที่โบสถ์ ตอนคุณเสียภาษี มันก็คือโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลวงคุณให้มืดมนจากความจริง”
— มอร์เฟียซ

“ความจริงอะไร?”
— นีโอ

“ว่าคุณเป็นทาสคนหนึ่ง นีโอ เหมือนคนอื่นที่เกิดมาเพื่อถูกจองจำ เกิดมาในคุกที่คุณไม่สามารถสูดดมหรือลิ้มรสหรือสัมผัส… เรือนจำ ขังจิตใจคุณ”
— มอร์เฟียซ

มอร์เฟียซพูดคุยกับนีโอเมื่อพบกันครั้งแรก

ฟังดูคล้ายกับระบบเงินเฟียตดีนะ ว่าไหม?

เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่ยังไม่เคยดู หรืออาจเคยดูนานมากจนจำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้ว เราคงไปต่อกันไม่ได้หากไม่มาทบทวนเนื้อหาของภาพยนตร์กันเสียก่อน — อย่างคร่าว ๆ ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เรื่องราวทั้งหลายเปิดฉากขึ้นในเมืองนิวยอร์กซึ่งดูเหมือนจะเป็นปี 1999 (คือยุคปัจจุบัน ตามช่วงเวลาเข้าฉายของภาพยนตร์ภาคแรก) ชายที่ชื่อ โทมัส เอ แอนเดอร์สัน (Thomas A. Anderson) อาศัยอยู่ที่นี่ มีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งเขาใช้นามแฝง ‘นีโอ (Neo)’ รับงานเป็นแฮ็กเกอร์ผ่านอินเตอร์เน็ต

จนกระทั่งนีโอได้รับการติดต่อจากอาชญากรที่ใช้นามแฝงว่า มอร์เฟียซ (Morpheus) และได้รับ ทางเลือก ว่าจะไปต่อกับเขาเพื่อเข้าถึงความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังความไม่ชอบมาพากลในโลกนี้ หรือว่าจะถอยหลังและกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ซึ่งลงเอยด้วยการที่นีโอถูกมอร์เฟียซพาออกจาก โลกเสมือน ที่ชื่อว่า เดอะ เมทริกซ์ (The Matrix) ซึ่งเขาอาศัยอยู่ในนี้มาตลอดชีวิต

นีโอได้รับการเฉลยจากมอร์เฟียซว่าปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงประมาณปี 2199 แล้ว เป็นโลกอนาคตหลังจากที่มนุษย์ให้กำเนิด ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งในที่สุดแล้วนำไปสู่สงครามระหว่างฝ่าย มนุษยชาติ (Mankind) กับฝ่าย เครื่องจักร (Machine)

Deus Ex Machina ปัญญาประดิษฐ์ ราชาของเหล่าเครื่องจักร

ฝ่ายมนุษย์พยายามจบสงครามด้วยการใช้กระบวนการบางอย่างบิดเบือนชั้นบรรยากาศของโลกให้เกิดเมฆฟ้าคะนองหนาทึบตลอดเวลา ด้วยความหวังว่าจะสามารถเผด็จศึกฝ่ายเครื่องจักรซึ่งในขณะนั้นใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลัก แต่ปรากฎว่าฝ่ายเครื่องจักรประสบความสำเร็จในการหาแหล่งพลังงานใหม่ นั่นคือ ร่างกายของมนุษย์

นั่นจึงเป็นที่มาของการทำ ฟาร์มมนุษย์ ของฝ่ายเครื่องจักร โดยการดัดแปลงร่างกายมนุษย์ที่หาได้ให้เชื่อมต่อกับระบบพยุงชีพ และเชื่อมต่อระบบประสาทเข้ากับเครือข่ายเพื่อเพาะเลี้ยงไว้ในอ่างแก้ว มนุษย์เหล่านั้นเกิด เติบโตและตายไปโดยไม่สัมผัสถึงความผิดปกติใดๆ ด้วยการที่จิตของมนุษย์เหล่านั้นถูกกักขังไว้ในเดอะ เมทริกซ์ ในขณะที่ร่างกายของพวกเขาทำหน้าที่เป็นเซลล์พลังงานให้กับวงศ์วานจักรกล

ฟาร์มเพาะเลี้ยงมนุษย์

ส่วนฝ่ายมนุษย์ที่เหลือรอด ถูกบีบให้ต้องถอยร่นลงไปสร้างเมืองลับอยู่ใต้ดินชื่อ ไซออน (Zion) เฝ้ารอการมาถึงของ ผู้ปลดปล่อย (The One) ตามคำทำนายถูกกล่าวไว้ว่าจะเป็นคนที่มาปลดปล่อยมนุษยชาติจากการกดขี่ของเครื่องจักร

นั่นคือสาเหตุที่มอร์เฟียซตามหาตัวนีโอและพาเขาออกจากเดอะ เมทริกซ์ เพื่อมาเข้าร่วมการต่อสู้กับฝ่ายมนุษยชาติ ด้วยความเชื่อที่ว่า นีโอ คือผู้ถูกเลือกคนนั้น

2. ยาส้ม (Orange Pills)

ทางเลือก ที่มอร์เฟียซเสนอให้แก่นีโอถูกแสดงออกมาในรูปของ ‘เม็ดยา’ สองเม็ด

“นี่คือโอกาสสุดท้าย หลังจากนี้ไม่มีทางหวนกลับ
ถ้าเลือกกินเม็ดสีฟ้า เรื่องก็จบ คุณจะตื่นมาและเชื่อในสิ่งที่คุณอยากเชื่อ
ถ้าเลือกเม็ดแดง คุณจะอยู่แดนมหัศจรรย์ และผมจะให้ดูว่า โพรงกระต่าย มันลึกแค่ไหน”
— มอร์เฟียซ

มอร์เฟียซเสนอทางเลือกให้นีโอ

ยาส้ม หรือ ยาเม็ดส้ม ที่ชาวบิตคอยน์ชอบใช้กัน คือการเปรียบเทียบกับยาเม็ดสีแดงในฉากนี้เอง (ซึ่งถูกเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีส้มซึ่งเป็นสีของบิตคอยน์)

ในภาพยนตร์ หลังจากที่นีโอเลือกกลืนยาเม็ดสีแดงเข้าไป จิตของเขาก็เข้าสู่กระบวนการถอนตัวออกจากเดอะ เมทริกซ์ และตื่นขึ้นมาในโลกแห่งความจริงด้วยกายเนื้อจริงๆ ของเขา

คำว่า ‘ยาส้ม’ เอง ก็ถูกใช้งานในความหมายใกล้เคียงกัน คือเป็นการเปรียบเปรยสำหรับ สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายมาเป็นชาวบิตคอยน์ เช่น บทความ คลิปวิดีโอ หรือบทสนทนาใดๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความคลางแคลงสงสัยในระบบเงินเฟียตอันบิดเบี้ยว และกระตุ้นให้เกิดความพยายามหาคำตอบ รวมไปถึงเรายังสามารถเรียกคนที่ผลิตสื่อหรือบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ว่าเป็น ‘นักแจกยาส้ม’ ได้อีกด้วย

คลิป “ถามตรงๆ Bitcoin! รัฐอยากกำจัด กฏหมายไม่รองรับ ไม่มีค่าแท้จริง? x อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์”
คือยาเม็ดส้มที่ทำให้ผมกลายมาเป็นชาวบิตคอยน์เมื่อราว 1 ปีก่อน

3. อลิซ โพรงกระต่าย และดินแดนมหัศจรรย์

มอร์เฟียซแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาเป็นแฟนคลับของวรรณกรรมคลาสสิค อลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventures in Wonderland) ซึ่งกล่าวถึงการผจญภัยของเด็กหญิงที่ตามกระต่ายขาวเข้าไปในโพรง และได้พบกับดินแดนแฟนตาซีที่อยู่อีกฟากหนึ่ง

ในคำพูดเปรียบเปรยของมอร์เฟียซมักจะมีวลีเปรียบเปรยจากอลิซในแดนมหัศจรรย์อยู่เสมอ คำเชิญชวนให้นีโอเลือกยาเม็ดสีแดงข้างต้นก็เป็นหนึ่งในนั้น และยังมีจุดอื่นอีก เช่น

“จงตามกระต่ายขาวไป” — ส่วนหนึ่งจากข้อความชุดแรกที่มอร์เฟียซใช้ติดต่อนีโอผ่านการแฮ็กคอมพิวเตอร์ของเขา
“ผมเดาเอาว่า ตอนนี้คุณคงรู้สึกเหมือนตอนที่อลิซตกลงไปในโพรงกระต่าย” — คำพูดแรกๆ ที่มอร์เฟียซพูดกับนีโอเมื่อพบกัน

เช่นเดียวกับในวรรณกรรมที่ โพรงกระต่าย เป็นทางเข้าเล็กๆ ที่นำไปสู่โลกอันยิ่งใหญ่ซับซ้อนเหนือจินตนาการ ในบริบทของบิตคอยน์ เมื่อพูดถึง ‘โพรงกระต่าย’ หรือ ‘การลงหลุมกระต่าย’ ก็หมายถึงการที่ใครสักคนหนึ่งกำลังพาตัวเองขุดคุ้ยเข้าไปในความเป็นจริงอันยิ่งใหญ่และน่าพรั่นพรึง

ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการได้รับรู้ความจริงเกี่ยวกับระบบเงินเฟียตที่กดขี่ตัวเองให้เป็นทาสมาตลอดชีวิต เช่นเดียวกับการที่นีโอกำลังจะได้รับรู้ถึงความเป็นจริง ว่าโลกที่เขาเข้าใจว่าจริงแท้นั้นเป็นเรื่องหลอกลวงเพียงใด และโลกความจริงนั้นเป็นอย่างไร

นอกจาก ‘โพรงกระต่าย’ หรือ ‘หลุมกระต่าย’ จะถูกใช้เป็นคำสแลงในการพูดคุยทั่วไปแล้ว แอปพลิเคชั่นสำหรับอ่านบทความเกี่ยวกับบิตคอยน์จาก Bitcoin Magazine ก็เลือกใช้คำว่า ‘Carrot’ เป็นชื่อแอปโดยนัยยะของการสื่อถึงหลุมกระต่ายด้วยเช่นเดียวกัน

The_Matrix_11
แอปพลิเคชั่น Carrot

4. ความบิดเบี้ยวในระบบจอมปลอม

หากเราอาศัยอยู่ในโลกแห่งความจริง กฎเดียวที่กำกับความเป็นไปของสรรพสิ่งคือกฎแห่งฟิสิกส์

ในขณะที่ใน เดอะ เมทริกซ์ กฎที่ดูคล้ายกฎฟิสิกส์ในโลกเสมือนนั้นเป็นเพียงการจำลองขึ้นโดยระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าของระบบ นั่นหมายความว่ามันสามารถถูกยกเว้นหรือบิดเบือนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของระบบเองได้

ในเรื่องเราจะได้รู้จักกับกลุ่มตัวละครที่ถูกเรียกว่า สายลับ (Agents) คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฝ่ายเครื่องจักรที่มีหน้าที่ต่อต้านความพยายามของฝ่ายมนุษย์ในการแทรกซึมกลับเข้ามาในเดอะ เมทริกซ์

สายลับเหล่านี้จึงสามารถปฏิบัติการในเดอะ เมทริกซ์ ได้อย่างมีอภิสิทธิ์ มีทั้งพละกำลังและความเร็วเหนือมนุษย์ทั่วไป พวกมันสามารถต่อยกำแพงทะลุได้ หลบกระสุนได้ ย้ายตำแหน่งตัวเองได้อย่างรวดเร็วโดยการขโมยร่างมนุษย์ที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่พวกมันต้องการจะไป แถมยังฆ่าไม่ตายอีกด้วย

สายลับหลบกระสุนที่นีโอยิงด้วยความรวดเร็ว

เช่นเดียวกับระบบเงินเฟียตที่กฎต่างๆ สามารถถูกบิดเบือนหรือถูกละเว้นได้ขึ้นกับการตัดสินใจของผู้คุมกฎ และเลือกเอื้อประโยชน์ให้กับใครคนใดคนหนึ่งได้ นำมาสู่สถานะ ‘too big to fail’ ของบางคน หรือบางกลุ่มธุรกิจที่บางมุมก็ดูคล้ายกับ บั๊ก (Bug) ของระบบอยู่ไม่น้อย

ในขณะเดียวกัน มนุษย์ที่เคยอาศัยอยู่ในเดอะ เมทริกซ์ แล้วได้รับการ ‘ถอดปลั๊ก’ ก็ถือว่าได้ปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของระบบในระดับหนึ่ง นั่นทำให้ตัวละครฝ่ายมนุษย์อย่าง นีโอ มอร์เฟียซ ทรีนิตี้ และคนอื่นๆ เมื่อกลับเข้าไปในเดอะ เมทริกซ์ ก็พอจะมีความสามารถเหนือมนุษย์ทั่วไปอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเผชิญหน้าตรงๆ กับสายลับอยู่ดี ทำได้แค่พอเอาตัวรอดเท่านั้น (จนกระทั่งนีโอเข้าถึงศักยภาพที่เหนือกว่านั้นไปอีกขั้นจากการเป็นผู้ถูกเลือก จึงเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถเผชิญหน้ากับสายลับโดยตรงและเอาชนะได้)

เช่นเดียวกับชาวบิตคอยน์ที่ปลดปล่อย มายด์เซ็ท (Mindset) และ ความมั่งคั่ง ของตนเองออกจากระบบเงินเฟียตแล้ว ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมและสังคมที่ถูกทำให้เชื่อว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องปกติ บางทีการมีไทม์ เพรเฟอเรนซ์ ที่ต่ำ (Low Time Preference) และรอดได้จากการถูกลดค่าเงินเก็บออม ก็อาจดูเป็นพลังเหนือมนุษย์ในสายตาคนอื่นก็เป็นได้

มอร์เฟียซสาธิตการกระโดดข้ามตึกระหว่างการฝึกให้กับนีโอ

5. คนที่ไม่พร้อมถอดปลั๊ก

สำหรับมนุษย์ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในเดอะ เมทริกซ์ ด้วยการเพาะพันธุ์ของเครื่องจักร พวกเขาถูกดัดแปลงให้มีปลั๊กติดตั้งอยู่ในจุดต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยจุดที่สำคัญที่สุดคือปลั๊กอันใหญ่ที่สุดบริเวณท้ายทอย มันคือปลั๊กสำหรับเชื่อมต่อระบบประสาทเข้ากับเครือข่าย และส่งจิตเจ้าของร่างเข้าไปยังเดอะ เมทริกซ์ การถอดปลั๊กทำให้จิตและร่างกายนั้นเป็นอิสระจากเดอะ เมทริกซ์ และจะไม่สามารถถูกพวกสายลับสิงสู่ใช้งานได้อีกต่อไป แต่ใช่ว่าทุกคนจะยินดีหรือยินยอมพร้อมใจที่จะทำเช่นนั้น

“เมทริกซ์คือระบบ นีโอ ระบบนี้เป็นศัตรูของเรา เมื่อเข้าไปข้างใน มองไปรอบๆ คุณเห็นอะไร? คุณเห็นนักธุรกิจ อาจารย์ ทนาย พวกช่างไม้ จิตของผู้คนที่เราพยายามจะช่วยเหลือ แต่จนกว่าจะทำได้ พวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นศัตรูของเรา คุณต้องเข้าใจไว้ คนพวกนี้ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะถอดปลั๊ก พวกเขาส่วนใหญ่เฉื่อยชา พึ่งพาระบบอย่างสิ้นหวัง และจะต่อสู้เพื่อปกป้องมัน”
— มอร์เฟียซ

มอร์เฟียซสอนหลักคิดให้นีโอในโปรแกรมจำลอง

มีม Bitcoin จากฉากเดียวกัน

แม้ชาวบิตคอยน์จะภาคภูมิใจที่จะบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับเงินเฟียตและวิธีที่ที่บิตคอยน์เข้ามาช่วยแก้ปัญหา แต่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการ ‘แจกยาส้ม’ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ในความเห็นของผม ยาส้มไม่ใช่ยาวิเศษที่เปลี่ยนใครก็ได้ให้กลายเป็นชาวบิตคอยน์

ยาส้มเป็นเพียง ตัวเร่งปฏิกิริยา เท่านั้น ปฏิกิริยาจะเกิดได้ สารตั้งต้น ต้องมีคุณภาพด้วย

เช่นเดียวกับที่มอร์เฟียซกล่าวกับนีโอตอนที่พบกันครั้งแรก ว่าเขารู้ว่าในใจของนีโอนั้นสำนึกอยู่ลึกๆ ว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากล ผิดปกติ ค้างคา น่าอึดอัดในโลกนี้ แต่อธิบายออกมาไม่ได้ว่าทำไม ผู้ที่พร้อมจะรับยาส้มก็มีความรู้สึกแบบเดียวกันจากการใช้ชีวิตในระบบเงินเฟียต คนที่มีความพร้อมเหล่านี้เพียงรอเวลาได้รับยาเม็ดส้มเท่านั้น ก็พร้อมจะปลดปล่อยตัวเองออกจากระบบเงินเฟียตทันที

“แม่ง Something Wrong! แม่งไม่แฟร์!” — พ.อ.ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า

แต่ไม่ใช่ทุกคน…

สำหรับบางคน ความจริงก็ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เขาอยากจะรับรู้ ในหลายแง่มุม การใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริงด้วยกำลังของตัวเองก็เป็นเรื่องที่โหดร้ายยากเข็ญ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ถูกหล่อหลอมให้เชื่อไปแล้วว่าตนเองจำเป็นต้องพึ่งพาระบบระบอบ (อย่างเช่นรัฐ) เพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการถูกกล่อมเกลาให้เชื่อไปเอง หรือจากการที่ตัวระบบได้พรากเอาความสามารถในการยืนหยัดด้วยตัวเองออกไปจากปัจเจกบุคคล

ลองพิจารณาดูดีๆ การต่อสู้ทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็เหมือนกับจะช่วยกันผลักดันให้รัฐมีอำนาจมากขึ้น ส่วนที่ขัดแย้งจะฆ่ากันตายก็แค่การเถียงกันว่าจะให้ใครได้ครองอำนาจนั้นและใช้อำนาจนั้นอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่า จะเอาชีวิตของตัวเองไปฝากไว้ในมือใคร เท่านั้นเอง

ใครที่ลุกขึ้นมาพูดว่ารัฐควรถูกลดอำนาจ และควรยุ่มยามกับชีวิตของผู้คนให้น้อยลง ก็มักจะลงเอยด้วยการถูกปฏิเสธจากทุกขั้วการเมืองอย่างน่าประหลาด ราวกับไม่มีที่ทางสำหรับแนวคิดนี้ในการเคลื่อนไหวของฝ่ายใดเลย

แต่หากเราอธิบายว่านั่นคือปฏิกิริยาจากผู้ศรัทธาในระบบที่มีต่อทางเลือกในการปลดแอกตัวเองออกมา ก็เป็นคำอธิบายที่ดูสมเหตุสมผลดี

สำหรับมนุษย์ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ การมีคนให้อาหารกินสามมื้อ จัดสรรห้องไว้ให้ซุกหัวนอน ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร และได้ฟังนิทานกล่อมนอนเรื่องผู้ปกครองทรงคุณธรรม เป็นเรื่องน่าพึงใจมากกว่าการได้รับผิดชอบชะตาชีวิตตัวเอง และยืนหยัดในโลกนี้อย่างอิสระ

ดังนั้น ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการพยายามแจกยาส้มให้คนที่คุณรัก อย่าเพิ่งพยายามคะยั้นคะยอต่อไปจนเกิดอาการดื้อยา แต่ลองเปลี่ยนวิธีเป็นการแสดงให้เขาเห็นว่าโลกจอมปลอมใบนี้มันเน่าเฟะและเลวร้ายอย่างไร

แฟร์แล้วหรือ… ที่ใครบางคนมีอภิสิทธิ์ให้ไม่ต้องรับผิดชอบความผิดพลาดที่ทำเพียงเพราะพวกเขายิ่งใหญ่เกินจะล้มเหลว
แฟร์แล้วหรือ… ที่เราถูกกำหนดชะตากรรมและควบคุมความประพฤติ โดยใครบางคนบนหอคอยงาช้างที่ไม่ต้องรับผลกระทบอะไรจากการตัดสินใจของตัวเอง
แฟร์แล้วหรือ… ที่เงินที่เราพากเพียรทำงานเก็บออมมากลับถูกพรากเอามูลค่าไป ทั้งที่อยู่ในกระเป๋าของเราเอง

ก่อนจะให้ยาส้ม ต้องทำให้เขาอยากออกจากระบบอันบิดเบี้ยวมาสู่โลกแห่งความจริงเสียก่อน โลกที่แม้จะดีจะร้าย แต่เราก็ได้ยืนหยัดรับผิดชอบตัวเอง

เมื่อนั้นเขาจึงจะพร้อม และยาส้มจึงจะได้ผล

แต่หากได้รู้ทุกอย่างแล้ว เข้าใจทุกสิ่งแล้ว แต่เขายังคงเห็นว่าการอยู่ภายใต้ระบบนั้นน่ารื่นรมย์กว่าการเป็นอิสระ เราก็คงได้แต่ปล่อยให้เขาได้อยู่กับ ‘ทางเลือก’ นั้นต่อไป..

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะถอดปลั๊ก

Siraphop N.

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Privacy & Security
Siraphop N.

Self-custody Checklist

คิดว่าซื้อ Metal Seed Backup แพง ๆ มาใช้แล้ววอลเล็ทจะอยู่ยงคงกระพันงั้นหรือ? อย่าเพิ่งมั่นใจไป มาลองเช็กจุดอ่อนของวิธีการเก็บรักษา Seed ที่คุณใช้อยู่ดูสักหน่อยไหม?

Read More »
Lightning Network
Siraphop N.

Lightning Network (ฉบับผู้ใช้งาน)

จะเข้าใจไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กนั้นไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินไปสำหรับคุณ และนี่คือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กที่ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างคุณควรรู้เอาไว้!

Read More »
Opinion
Siraphop N.

เลิกเถียงกันได้แล้วว่าบิตคอยน์เป็นเงินหรือเปล่า!

การมัวเถียงกันว่าบิตคอยน์เป็นเงินหรือไม่คือสิ่งที่ไร้สาระและสิ้นเปลืองเวลาที่สุดอย่างหนึ่ง และนี่คือเหตุผลว่าทำไม

Read More »
Technical & Fundamental
Siraphop N.

UTXO ทำงานอย่างไร?

“ทำไมโอนบิตคอยน์ต้องมีเงินทอน
ทำไมไม่โอนให้พอดีไปเลย”

สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินคำว่า UTXO มาก่อน หรือว่าอาจจะเคยได้ยินแล้วแต่ก็ไม่เข้าใจ โพสต์นี้ผมมีการเปรียบเทียบมาประกอบ เผื่อจะให้ความเข้าใจได้มากขึ้น หรือนำไปใช้อธิบายเพื่อนที่ยังไม่เข้าใจให้เขาเข้าใจขึ้นมาได้…

Read More »