เรียบเรียงจากบทความต้นฉบับเรื่อง How Knowing Austrian Economics Makes You Mindful ของคุณ Matthew Geiger
ผู้คนมากมายที่กังขาในหลักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน (Austrian Economics) มักจะตั้งคำถามว่าการเรียนรู้ข้อมูลและทฤษฎีอะไรพวกนี้จะมีประโยชน์ในชีวิตจริงได้อย่างไร? หรือถ้าจะให้เจาะจงกว่านั้นก็คือการรู้หลักเศรษฐศาสตร์ออสเตียนจะช่วยพวกเขาหาเงินได้อย่างไร?
ความจริงก็คือ “เงิน” นั้นเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ที่สร้างคุณค่าต่อผู้บริโภคได้เหนือกว่าคู่แข่ง และเป็นผลตอบแทนให้แก่ผู้ที่มีความสามารถด้านธุรกิจมากพอที่จะคาดการณ์ได้ว่าควรลงทุนอย่างไรเพื่อให้ประสบความสำเร็จในอนาคต แต่ตัวหลักการและตัวนักเศรษฐศาสตร์เองนั้นไม่อาจหยั่งรู้ได้ถึงอนาคต ดังนั้นการจะทำเงินได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือการวิเคราะห์และคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่การเก็งกำไรโดยไม่มีข้อมูลหรือสมมติฐานมารองรับ
หากกล่าวว่าความน่าเชื่อถือของแพทย์นั้นควรพิจารณาจากความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องหน้าได้ทันท่วงที ไม่ใช่จากการที่เขามีความรู้ลึกซึ้งทุกทฤษฎีทางการแพทย์ในโลก และแตกฉานประวัติศาสตร์การรักษาโรคหลายแขนงมากแค่ไหน ฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์และผู้ศึกษาในหลักเศรษฐศาสตร์ก็ควรต้องมีความรู้เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และตระหนักว่ามันกำลังส่งผลต่อโลกอย่างไร
ไม่ใช่รู้เพียงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้แค่ความเป็นไปของสังคมเล็ก ๆ สักแห่งโดยไม่สนใจภาพรวม
เนื่องด้วยโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันนั้นได้รับอิทธิพลจากหลากหลายสิ่ง ทั้งจากการเมือง สังคมวัฒนธรรม และเหล่าสาริกาลิ้นทองจิตทราม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการชักจูงสังคมเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองที่ดันเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางการเมือง (Political Money) ได้ง่าย ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการที่บ่อนทำลายโลกของเราอยู่ในเวลานี้ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ในโลกสมัยใหม่ที่ระบบเศรษฐกิจถูกแปรสภาพให้อยู่ภายใต้การบังคับควบคุม และเผชิญกับการถูกแทรกแซงมากมาย ประชาชนทุกคนสมควรได้รู้ว่าจะเอาชีวิตรอดอย่างไร ท่ามกลางความผันผวนวุ่นวายในยุคสมัยที่อารยธรรมมนุษย์ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องการเมืองไปเสียฉิบ
ผู้ศึกษาหลักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนและเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นั้น ควรรู้ซึ้งว่าความผิดพลาดที่นักเศรษฐศาสตร์ยุคคลาสสิกเคยทำเอาไว้ ก็คือการเชื่อว่ามูลค่า (Value) นั้นวัดและคำนวณได้เชิงวัตถุวิสัย (Objective) จนกระทั่ง “คาร์ล เมงเกอร์” (Carl Menger) และนักเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นในยุคหลังปี 1871 ค้นพบว่ามูลค่านั้นเป็นอัตวิสัย (Subjective) โดยพวกเขาค้นพบเรื่องนี้ผ่านวิวัฒนาการทางความคิดที่เรียกว่า Marginalist Revolution* ซึ่งอธิบายไว้ว่าสิ่งที่บุคคลหนึ่งกระทำหรือมีความต้องการนั้นอาจไม่เป็นที่พึงปรารถนาทั้งทางกายและทางจิตใจสำหรับให้บุคคลอื่นกระทำตาม
และมีใจความสำคัญที่สุดคือ “ไม่ใช่ทุกสิ่งจะเหมาะสำหรับทุกคน”
*หมายเหตุผู้แปล : “Marginalist Revolution” คือวิวัฒนาการทางความคิดซึ่งนำทฤษฎีแคลคูลัสมาใช้เป็นแบบจำลองอธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์
และเมื่อคุณเริ่มมองโลกด้วยสมมติฐานนี้ ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ก็ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจและแจกแจงได้ง่ายขึ้น ว่าทำไมวัฒนธรรมถึงเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เรื่องนี้มีประโยชน์มากในการพิจารณาว่าเหตุและผลของคลื่นทางวัฒนธรรมอันหลากหลายนั้น มันได้พัดพาให้เรามาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร นอกเหนือไปจากนี้ มุมมองเชิงอัตวิสัยยังช่วยให้คุณสามารถสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในสังคมและเศรษฐกิจภายใต้ระบบการเมืองสมัยใหม่ และเข้าใจถึงการแปรเปลี่ยนของราคาและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ว่าสิ่งเหล่านี้จะนำพาพวกเขาไปสู่ทิศทางไหนในอนาคตที่ใกล้จะมาถึง
อย่างไรก็ตามหลักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะความงดงามขององค์ความรู้ออสเตรียนนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันของคุณได้เช่นกัน
เมื่อใดก็ตามที่คุณเข้าใจว่าการที่ผู้คนแสวงหาเงินตราและความพึงพอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุดนั้น เป็นเพราะแท้ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนต้องการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เมื่อนั้นคุณก็สามารถสังเกตการกระทำของมนุษย์ส่วนใหญ่ได้อย่างมีสติตื่นรู้มากขึ้น
ดังที่ “เมอร์เรย์ ร็อธบาร์ด” (Murray Rothbard) ชี้ให้เห็นในหนังสือเล่มสำคัญของเขาอย่าง “An Austrian Perspective on the History of Economic Thought” ว่านักคิดทางเศรษฐศาสตร์และนักอนาธิปไตยกลุ่มแรก ๆ ของโลกก็คือเหล่าผู้ศึกษาศาสตร์จีนโบราณอย่างตำราเล่าจื๊อและเต๋าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5-6 ซึ่งคนกลุ่มนี้เข้าใจชัดแจ้งว่าชีวิตนั้นโดยแท้เป็นผลผลิตของจักรวาล ในขณะเดียวกันมันก็ไม่คงทนถาวร หรือนัยหนึ่งคือชีวิตนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นชีวิตของคุณจึงแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อย่างที่ “ลุดวิก ฟอน มิเซส” (Ludwig von Mises) เคยกล่าวไว้ในงานชิ้นเอกของเขาอย่าง “Human Action” ว่า “ทุกช่วงอายุนั้นคือวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง”
เพราะสิ่งที่คนให้ค่าในวันนี้ อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าในอีกช่วงเวลาหนึ่งก็ได้
หลักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดแบบ Praxeology** ซึ่งเป็นการใช้หลักวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายการกระทำของมนุษย์ (Human Action) และการทำความเข้าใจว่าคุณค่าแบบอัตวิสัย (Subjective Value) คือสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ โดยจะช่วยให้นักสังเกตการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดด้วยหลักออสเตรียนนั้น สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงความพึงพอใจของผู้คนที่แตกต่างกัน รวมถึงเข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมในภาพกว้างได้ชัดเจนขึ้น
**หมายเหตุผู้แปล : “Praxeology” คือวิทยาศาสตร์นิรนัย (Deductive) เป็นการศึกษาการกระทำของมนุษย์บนสมมติฐานที่มั่นใจว่าเป็นความจริงตามทฤษฎีหรือปรัชญา เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์
และแทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตามแบบฉบับคนหัวโบราณในทำนองว่า “ทำไมเจ้าเด็กพวกนี้ถึงทำพฤติกรรมแบบนี้นะ!?” หลักออสเตรียนจะช่วยให้เราถอยหลังกลับมามองภาพกว้าง และเข้าใจได้ว่าคนเราทุกคนล้วนมีพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของตัวเองเป็นหลัก และการกระทำของผู้คนเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาชื่นชอบทางเลือกใด ท่ามกลางทุก ๆ ทางเลือกที่มี ตัวอย่างเช่น ผู้ประท้วงสาดสีใส่ภาพวาดของแวนโก๊ะห์ และเอากาวตราช้างทามือของตัวเองติดกับกำแพง ก็เป็นการกระทำที่สะท้อนแนวคิดที่พวกเขาเชื่อมั่น แต่ไม่ว่าแนวคิดและความเชื่อเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จตามที่พวกเขาเรียกร้องหรือไม่ มันก็แล้วแต่มุมมองของพวกเขา ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับข้าพเจ้า (ผู้เขียน)
โดยสรุปแล้ว ทุกวิชาทางสังคมศาสตร์นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดแบบ Praxeology ดังนั้นหากคุณเข้าใจมัน คุณก็จะเข้าใจอารยธรรมมนุษย์ได้แจ่มแจ้งกว่าเพื่อนในเฟซบุ๊กของคุณ เพราะไม่ว่าใครจะเชื่ออะไรแบบไหนก็ไม่มีผลใด ๆ ต่อความสุขและความพึงพอใจของคุณ มวลอารมณ์ทางการเมืองที่กระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ไม่ได้กระทบอันใดกับใจของคุณ คุณสามารถตั้งอยู่ในความสงบสันติได้ ไม่ว่าบุคคลอื่นจะมีความคิดความเชื่อแบบไหน และสามารถใช้ชีวิตของคุณได้อย่างมีความสุขในแบบที่คุณเลือกที่จะเป็น
แหล่งที่มา :
- Mises, L.v. (1999). Human Action. Auburn, Alabama: Ludwig von Mises Institute. (Re-issue of the 1949 edition).
- Rothbard, M. (2006). Economic Thought Before Adam Smith: An Austrian Perspective on the History of Economic Thought, Volume I. Cheltenham, United Kingdom: Edward Elgar Publishing. (Original Work published in 1995).