ถ้าคุณคือซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ซึ่งเป็นนามแฝงของบุคคลหรือกลุ่มผู้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ได้ทำการค้นพบบิตคอยน์ (Bitcoin) คุณจะแจกจ่ายบิตคอยน์ออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างไร?
คุณจะเสกบิตคอยน์ขึ้นมาแล้วส่งให้เพื่อนของคุณไปเลยง่าย ๆ ไหม? แต่นั่นก็จะหมายความว่าคุณกำลังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนเล็ก ๆ แค่บางกลุ่ม และกำลังทำลายความน่าเชื่อถือของบิตคอยน์ทั้งระบบ คุณอาจจะมีอำนาจในการทำเช่นนั้นโดยอ้างสิทธิ์ในการเป็นผู้สร้างเหรียญขึ้นมาก็ได้ ซึ่งมันก็ไม่ต่างอะไรกับระบบเงินเฟียตที่เป็น “เงินสร้างง่าย” (Easy Money) ซึ่งมีเพียงบุคคลกลุ่มหนึ่งที่สามารถควบคุมแทรกแซงนโยบายทางการเงินของระบบได้ เช่น การลดค่าของเงินด้วยการเพิ่มอุปทานของเงินอยู่ตลอดเวลา
แทนที่จะใช้วิธีแจกบิตคอยน์ให้ทุกคนแบบฟรี ๆ แต่ซาโตชิเลือกใช้วิธีการแจกบิตคอยน์ด้วยการสร้างเกมคนงานเหมืองขุดที่ทุกคนต้องลงมือ “ทำงาน” อย่างจริงจัง ด้วยการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นบิตคอยน์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่คล้ายกับเหมืองขุดทองคำ
“ทองคำ” นั้นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ใต้ดิน มนุษย์ต้องใช้แรงงาน เวลา และพลังงานมหาศาลในการสกัดเอาแร่ทองคำออกมาจากใต้ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ทำให้ทองคำเคยเป็นเงินที่ดีในอดีต เพราะมันผลิตยาก โดยการขุดบิตคอยน์นั้นก็มีความยากคล้ายกับการขุดทองคำ แต่แทนที่เราต้องไปขุดเจาะทำเหมืองจริง ๆ เราสามารถขุดบิตคอยน์ผ่านการแก้สมการทางคณิตศาสตร์ได้ด้วยหลักการ “พรูฟ-ออฟ-เวิร์ก” (Proof of Work)
บิตคอยน์เป็น “เงินสร้างยาก” (Hard Money) ที่มีต้นทุนในการผลิตมาจากการใช้ทรัพยากร 2 สิ่งที่ไม่มีใครสามารถเสกขึ้นมาหรือโกงได้ นั่นก็คือ “พลังงาน” และ “เวลา”
บิตคอยน์เป็นเงินสดดิจิทัล (Electronic Cash) ที่ต้องเข้าใจให้ลึกและกว้างกว่าความรู้ที่สอนกันในระบบการศึกษาของรัฐ (Fiat Education) ว่า “เงินของรัฐเท่านั้นคือเงินที่ถูกกฎหมาย” หรือ “คุณสมบัติของสิ่งที่จะเป็นเงินนั้นต้องใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” ซึ่งคำพูดเหล่านี้มันหมายถึงเงินตราของรัฐบาล (Fiat Money) นั่นเอง
ในขณะที่บิตคอยน์เป็นการแยกอำนาจในการควบคุมเงินออกจากรัฐ หากคุณต้องการเข้าใจความหมายของ “เงิน” ให้ถ่องแท้กว่าเดิม อยากให้คุณอ่านหนังสือ The Bitcoin Standard : ระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง และ Inventing Bitcoin : ไขกลไกนวัตกรรมเงินเปลี่ยนโลก ซึ่งอธิบายกลไกการทำงานและการเป็นสินค้าประเภทเงินของบิตคอยน์ได้แบบเข้าใจง่าย
มนุษย์ทำโลกร้อนจริง ๆ หรือแค่วาทกรรมลวงโลก?
มีข้อถกเถียงมานานว่ามนุษย์เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใช่ไหม? และการใช้พลังงานฟอสซิลทำให้โลกร้อนจริงไหม? เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราลองย้อนดูสถิติในช่วงที่รัฐบาลทั่วโลกสั่งให้ทุกคนล็อกดาวน์อยู่บ้าน มันเป็นช่วงที่การคมนาคมเกือบทั้งหมดหยุดชะงัก การบินและการขับขี่ยานพาหนะลดลงอย่างมาก
ฉะนั้นหากรถยนต์และเครื่องบินคือ 2 ตัวการหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ทำไมจากข้อมูลเราจะเห็นว่าการล็อกดาวน์ไม่มีผลใด ๆ ต่อแนวโน้มสภาพอากาศเลย หรือนี่คือความโอหังของรัฐบาลที่คิดว่าอำนาจที่พวกเขามีสามารถควบคุมสภาพอากาศได้
ทั้งที่ผลลัพธ์นั้นคือความล้มเหลว!
Figure 11. Recent monthly mean CO2 at Mauna Loa Observatory.
Source: “Trends in Atmospheric Carbon Dioxide.” Global Monitoring Laboratory, National Oceanic and Atmospheric Administration. Web. 3 Oct. 2021.
Figure 12. Atmospheric CO2 at Mauna Loa Observatory.
Source: “Trends in Atmospheric Carbon Dioxide.” Global Monitoring Laboratory, National Oceanic and Atmospheric Administration. Web. 3 Oct. 2021.
(The Fiat Standard หน้า 178)
ข้อถกเถียงถัดมาคือโลกร้อนจากการใช้พลังงานไฮโดรคาร์บอนจริงหรือเปล่า? หรือที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่การใช้วาทกรรม “โลกร้อน” (Global Warming) จากรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนเงินทุนเพื่อผลประโยชน์แอบแฝงของนักการเมืองให้กลุ่มทุนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีความเสถียร และมีต้นทุนการผลิตรวมถึงการใช้งานที่แพงมาก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) และพลังงานลม (Wind Energy)
และที่สำคัญคือรัฐบาลนั้นไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเป็นหลัก
คำถามคือคุณสามารถเชื่อในคำพูดของนักการเมือง หรือข้อมูลจากนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลหรือเปล่า? ดังเช่นที่ อ.พิริยะ ได้กล่าวในงาน Blockchain Thailand Genesis 2022 | Road to Web 3 ในหัวข้อ Why Bitcoin, Not Shitcoin (บิตคอยน์ต่างจากเหรียญขยะอย่างไร?) ว่า :
“ถ้าคุณจะเชื่อในพันธบัตรรัฐบาล คุณต้องเชื่อในนักการเมือง ซึ่งการเชื่อนักการเมืองเป็นสิ่งที่โง่ที่สุดที่มนุษย์จะทำได้”
บิตคอยน์ พลังงาน เสรีภาพ
เมื่อหลายคนพูดถึงการขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) เรามักจะเจอการเสนอข่าวซ้ำไปซ้ำมาว่าการขุดบิตคอยน์เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะบิตคอยน์ใช้พลังงาน “สิ้นเปลือง” และ “แพง” มาก
แต่เมื่อพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของ “การขุดบิตคอยน์” แล้ว ต้นทุนในการใช้จ่ายพลังงานและเวลาที่เสียไปนั้น มันแลกมากับการได้อธิปไตยทางการเงิน ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง สร้างความปลอดภัยและความมั่นคงให้กับเครือข่ายของบิตคอยน์ และสร้างระบบการกระจายรายได้ที่ยุติธรรม (ทำงานมากได้มาก ทำงานน้อยได้น้อย)
“พลังงานที่ถูกใช้ไปเพื่อแลกกับอิสรภาพ ย่อมคุ้มค่าเสมอ”
หมายเหตุ : ตามไปอ่านรายละเอียดกันต่อนะครับว่าคุ้มค่าหรือไม่กับสิ่งที่เราแลกมา ในบทความ Bitcoin: A natural disaster? ของ อ.พิริยะ
เมื่อการขุดบิตคอยน์มันสิ้นเปลืองพลังงานมาก คงไม่มีใครอยากขุดบิตคอยน์ด้วยต้นทุนที่สูงหรอกจริงไหม?
ข้อมูลจากศูนย์การเงินทางเลือกแห่งเคมบริดจ์ได้บอกว่า “จีน” เป็นศูนย์กลางของเหมืองขุดบิตคอยน์ มีข้อมูลที่น่าสนใจมากคือกำลังการผลิตพลังไฟฟ้าพลังน้ำในมณฑลเสฉวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
Chart Source: University of Cambridge
โดยปกติเขื่อนจะมีการผลิตไฟฟ้าออกมามากเกินความต้องการเสมอ เพื่อป้องกันภาวะการขาดไฟฟ้าใช้ และไฟฟ้าส่วนเกินนี้โดยปกติแล้วจะทำการปล่อยทิ้ง นี่คือความลับที่ทำให้จีนเป็นศูนย์กลางของเหมืองขุดบิตคอยน์ได้ เพราะการนำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินนี้มาใช้ ทำให้มีต้นทุนในการขุดถูกกว่าประเทศอื่น ๆ และนี่คือตัวอย่างของการนำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินนี้มาใช้ขุดบิตคอยน์
“บิตคอยน์กระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดที่มั่นคง พลังงานหมุนเวียนที่มีความเสถียร มีประสิทธิภาพสูง และอุดหนุนพลังงานเหลือใช้ที่มีต้นทุนต่ำ”
โครงข่ายพลังงานไฟฟ้ามักตั้งอยู่ตามแหล่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก การผลิตไฟฟ้านั้นต้องผลิตให้มากกว่าความต้องการใช้งาน ทำให้การผลิตไฟฟ้ามักอยู่ในที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก นอกจากนี้การผลิตไฟฟ้าแต่ละแห่งทั่วโลกก็มีต้นทุนไม่เท่ากัน เช่น ในที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่มาก ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็จะสูง ส่งผลให้มีราคาแพง ซึ่งการขุดบิตคอยน์นั้นจะวิ่งหาแหล่งพลังงานที่ต้นทุนต่ำเสมอ เพราะเมื่อต้นทุนต่ำลงก็สามารถสร้างผลกำไรให้นักขุดได้มากขึ้น
โลกเรานั้นมีแหล่งพลังงาน (ทั้งสะอาดและไม่สะอาด) ที่สามารถนำมาใช้ได้เยอะเกินกว่าที่เราจะจินตนาการถึง โดยพื้นผิวโลก 71% นั้นปกคลุมด้วยน้ำ ส่วนอีก 29% ที่เหลือคือแผ่นดินที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่อาศัย ซึ่งมีอีกหลายพื้นที่ที่ความเจริญยังเข้าไม่ถึง ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปศึกษาหาแหล่งพลังงานที่ถูกกักเก็บเอาไว้ในสถานแห่งนั้น หรือแม้แต่พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ แต่เราอาจใช้สถานที่เหล่านี้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้
“ที่ใดมีพลังงาน ที่นั่นย่อมสามารถผลิตบิตคอยน์ได้”
การสร้างระบบโครงข่ายส่งผ่านกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนที่แพงมาก ทั่วโลกสูญเสียพลังงานไฟฟ้าไปกับการส่งผ่านระยะไกลประมาณ 8% เนื่องจากเกิดปัญหาการสูญเสียแรงดันและกำลังไฟฟ้าระหว่างทาง เพราะพลังงานไฟฟ้านั้นเดินทางได้ไม่ดีในระยะทางไกล
ประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพจำนวนมาก เช่น ไอซ์แลนด์ กลายเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานด้วยการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ นั่นคือ “อะลูมิเนียม” ซึ่งไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มีแหล่งกำเนิดมาจากธรรมชาติได้เกือบ 100% ส่งผลให้มีไฟฟ้าเหลือใช้จำนวนมาก จนกลายเป็นประเทศผู้ผลิตอะลูมิเนียมส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก
และเช่นเดียวกันกับเหมืองขุดบิตคอยน์ แทนที่เราจะปล่อยพลังงานส่วนเกินทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เราสามารถนำเอาพลังงานส่วนเกินที่ได้มาขุดบิตคอยน์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนพลังงานให้กลายเป็นแหล่งกักเก็บมูลค่า (Store of Value) ได้อีกด้วย
“การขุดบิตคอยน์เป็นการใช้ไฟฟ้าที่คุ้มค่าที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา การเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นบิตคอยน์ เป็นการแปลงพลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่มวลมนุษยชาติ”
บิตคอยน์และวีซ่า (Visa)
มีบทความเปรียบเทียบการใช้งานพลังงานระหว่างบิตคอยน์กับวีซา (Visa) ที่บอกว่าการทำธุรกรรมของบิตคอยน์ 1 ธุรกรรมนั้นจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับการรูดบัตรวีซ่าถึง 706,765 ครั้ง
นี่เป็นข้อมูลที่เข้าใจผิด!
เพราะคิดแค่เพียงค่าไฟฟ้าในการรูดบัตรเพื่อรับส่งข้อมูลเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของระบบอีกมากมายซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการขนย้ายเงินร่วมกับตัวกลางต่าง ๆ ที่มีต้นทุนมหาศาล และยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าทำการตลาด และค่าใช้จ่ายอีกมากมาย
นี่ต่างหากคือต้นทุนที่แท้จริงในการดำเนินธุรกิจของวีซ่า ไม่ใช่ “ค่าไฟฟ้า”
ระบบการทำงานของบิตคอยน์และวีซ่า (Visa) มีความแตกต่างกันมาก
บิตคอยน์เป็นเงินสดดิจิทัลที่มีความเสร็จสิ้นสมบูรณ์ด้วยตัวมันเองในการทำธุรกรรม โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจใด ๆ ในบุคคลที่สาม
“เงิน” ออกจากมือ “ผู้ให้” ไปถึงมือ “ผู้รับ” อย่างแท้จริง
ในขณะที่วีซ่านั้นเป็นธุรกรรมเครดิตที่ต้องอาศัยระบบภายนอกอื่น ๆ เช่น การโอนเงินผ่านธนาคารแบบ ACH, Fedwire, SWIFT, ระบบธนาคารตัวแทนต่างประเทศ และธนาคารกลางสหรัฐ (FED หรือ Federal Reserve) กล่าวคือเงินที่ออกจากมือผู้ให้ไปถึงมือผู้รับนั้นเป็นเพียงแค่ “ตัวเลขทางบัญชี” แต่ตัวเงินจริง ๆ ยังไม่ได้ถูกส่งไป
และเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดมีความมั่นคงและทำงานได้อย่างราบรื่น ถ้าจะเปรียบเทียบการใช้งานพลังงานระหว่างบิตคอยน์กับวีซ่า ต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ด้วย ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของระบบเงินเฟียตที่ทำกับกับระบบวีซ่า ก็คือความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงทางการทูตของรัฐบาลสหรัฐฯ
Source: U.S. Energy Information Administration, Short-Term Energy Outlook (STEO), February 2021
สหรัฐฯ กำลังจะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบที่มีความต้องการมากขึ้นจากเดิมในทุกปีจากการใช้เงินดอลลาร์ โดยหากย้อนกลับไปตั้งแต่ปรากฏการณ์ Nixon Shock สิ่งที่ทำให้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักของโลก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนด้านความมั่นคงทางการทหารแก่ประเทศซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันรายอื่น (OPEC) ที่เรียกว่าระบบ “Petrodollar” ซึ่งมีข้อตกลงการซื้อขายน้ำมันดิบด้วยเงินดอลลาร์เท่านั้น
ประเทศอื่น ๆ จึงจำเป็นจะต้องนำเงินสกุลของชาติตัวเองไปแลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อซื้อน้ำมัน นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาปริมาณเท่าไรก็ได้ ตราบใดที่น้ำมันยังคงเป็นที่ต้องการของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพราะอุปทาน (Supply) ที่ถูกผลิตเพิ่ม มีอุปสงค์ (Demand) จากทั้งโลกมารองรับ
Source: The United States has 800 military installations in dozens of countries around the world.
เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมกองทัพของสหรัฐฯ ถึงมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นอย่างมาก การมีอยู่ของกองทัพที่กระจายไปอยู่ทั่วทุกมุมโลกก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจที่สามารถลงโทษผู้เห็นต่าง และเพื่อการสนับสนุนระบบเงินดอลลาร์ ซึ่งตอนนี้สหรัฐฯ กำลังจะขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
“ผู้ใดที่ควบคุมพลังงาน ผู้นั้นควบคุมอำนาจ”
โลกใช้ไฟฟ้าขุดบิตคอยน์เทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าของเนเธอร์แลนด์ทั้งประเทศ
นี่เป็นพาดหัวข่าว (Headline) ของสื่อที่ใช้โจมตีบิตคอยน์กับประเด็นการสิ้นเปลืองพลังงานตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งประเด็นการใช้ไฟฟ้าเป็นจุดที่ง่ายต่อการโจมตี เพราะสามารถนำเพียงตัวเลขการใช้ไฟฟ้าของบิตคอยน์มาเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าของหลาย ๆ ประเทศเพื่อวิจารณ์บิตคอยน์อย่างบิดเบือน
Source: Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index
Source: Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index
เพราะเมื่อพิจารณาดี ๆ จะเห็นว่าหลาย ๆ ประเทศที่นำมาเปรียบเทียบเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่การใช้ไฟฟ้าน้อยมาก ๆ ซึ่งอันที่จริงแล้วมันเล็กน้อยมากกับการใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงเท่านี้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ระบบการเงินที่ดีที่สุดที่โลกเคยมีมา” และการเปรียบเทียบแบบนี้มีจุดประสงค์เพียงต้องการโจมตีประเด็นการใช้พลังงานของบิตคอยน์ โดยไม่มีการเปรียบเทียบหรือพูดถึงการใช้พลังงานของระบบเงินดอลลาร์แม้แต่นิดเดียว
ทั่วโลกใช้พลังงานมากกว่า 170,000 TWH ต่อปี หมายความว่าการขุดบิตคอยน์ทั้งหมดใช้พลังงานน้อยกว่า 0.1% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของโลก การใช้พลังงานของบิตคอยน์นั้นน้อยกว่าที่โลกสูญเสียพลังงานไฟฟ้าไปกับการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าระยะทางไกลถึง 15 เท่า และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซ์ของบิตคอยน์ก็น้อยกว่าสิ่งที่เราคาดไม่ถึง เช่น เครื่องอบผ้าหรือการผลิตสังกะสีเสียอีก
Source: Nic Carter, Demystifying Bitcoin
“บิตคอยน์ทำให้เกิดแรงจูงใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ ในด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีวันหมด มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลัก Kardashev Scale”
*หมายเหตุ : Kardashev Sscale คือมาตรวัดความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในจักรวาล
การใช้ “พลังงาน” และ “เวลา” ในการแลกเป็นเงินเฟียต
การเลือกตั้งสหรัฐในปี 1932 เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) หาเสียงด้วยนโยบายความโหยหาผลตอบแทนระยะสั้น (High Time-preference) นโยบายที่สามารถกำหนดควบคุมทิศทางการใช้จ่ายได้ โดยสามารถควบคุมราคาสินค้าและค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเกินจริงทำให้อัตราว่างงานพุ่งสูง และสินค้ามีราคาสูงขึ้น
จากนั้นได้ทำลายมูลค่าของสกุลเงินตัวเอง ด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องแลกมากับงบประมาณขาดดุลทุกปี เพื่อหวังเพียงตัวเลข GDP สูง ๆ พร้อมด้วยการตบหัวทำร้ายประชาชนที่เก็บออม แล้วลูบหลังด้วยการให้รัฐสวัสดิการ เพื่อหวังคะแนนเสียงในการกลับเข้าไปมีอำนาจด้วย “ประชาธิปไตยไม่เสรี” (Illiberal Democracy) กับระบอบการเมืองที่เน้นผลการเลือกตั้ง ที่นำไปสู่แนวคิดประชานิยมทางเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถูกครอบงำด้วยปัจจัยทางการเมืองที่สนับสนุนการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐ มากกว่าความเชื่อมั่นในกลไกตลาดเสรี หรือที่ฟรีดริช ฮาเย็ก (Friedrich Hayek) เรียกว่า “ลัทธิชาตินิยมทางการเงิน” นั้นเป็นโลกใบที่ผู้มีอำนาจกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการสร้างหนี้และความเชื่อว่า GDP คือพระเจ้า จนเกิดภาวะเงินเฟ้อทำลายความมั่งคั่งและทรัพย์สินของประชาชนที่เก็บออมมาทั้งชีวิต
แล้วเรายังต้องเชื่อใจและไว้ใจให้รัฐแทรกแซงเศรษฐกิจอยู่หรือไม่?
เหตุที่ไม่มีใครหยุดการเฟ้อของเงินเฟียตได้ อาจเพราะมนุษย์เสพติดกับการใช้อำนาจฉ้อฉลที่ง่ายต่อการสร้างหนี้ด้วยเงินที่สร้างง่าย เงินกำลังระเหยเหมือนไอน้ำ เงินกำลังเสื่อมค่าลงอยู่ตลอดเวลา และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม Bitcoin ต้องแยกอำนาจการเงินออกจากรัฐ และทำไมรัฐบาลทั่วโลกกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมองว่าบิตคอยน์คือผู้ร้ายที่กำลังทำลายสิ่งแวดล้อม
“เรากำลังถูกผู้มีอำนาจขโมย “เวลา” และ “พลังงาน” ไปด้วยระบบเงินเฟียต นี่เป็นการหลอกลวงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์”
ข้อมูลอ้างอิง :