rttrtrt (1)
Picture of OtoyaSmith

OtoyaSmith

ทำไมค่าแรงขั้นต่ำถึงส่งผลกระทบต่อชนชั้นรากหญ้า?

ทบทวนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำว่า “การปรับค่าแรงขึ้น” หรือ “การปรับค่าแรงลง” มีผลกระทบในทางเศรษฐกิจอย่างไร? และอะไรเป็นตัวกำหนดค่าแรงที่เหมาะสมกันแน่?

“เสียใจด้วย.. แต่ค่าแรงขั้นต่ำจริง ๆ คือศูนย์ ไม่ว่ากฎหมายจะพูดว่าอย่างไรก็ตาม และนั่นคือค่าจ้างที่คนงานจำนวนมากได้รับจากการกำหนดหรือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐบาล เนื่องจากพวกเขาจะตกงานหรือไม่สามารถหางานได้เมื่อเข้าสู่กำลังแรงงาน การจ่ายเงินน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดนั้นผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ทำให้ผลิตภาพของพนักงานคุ้มค่ากับค่าแรงที่กำหนด และหากเป็นเช่นนั้น พนักงานคนนั้นก็ไม่น่าจะถูกจ้างงานอีก”

 

–Thomas Sowell, Basic Economics: A Citizen's Guide to the Economy

ในวาระทางการเมืองของประเทศไทยในปี 2023 เราจะพบเห็นว่าหลายพรรคการเมืองมีแนวโน้มที่ใช้นโยบายแบบประชานิยม เพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนคนไทยในประเทศให้โหวตพรรคของตนเองเป็นรัฐบาล หรือ เข้าไปทำงานในรัฐสภา โดยหนึ่งในนโยบายที่มีการชูขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องอย่าง “การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ” (Minimum Wage) ได้กลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมว่า :

  • ถ้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ..คนจะตกงานไหม?
  • ถ้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ..ต่างชาติจะมาลงทุนในประเทศไทยหรือเปล่า?
  • และคำถามอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นข้อสงสัยต่อนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

ค่าแรงขั้นต่ำ คืออะไรกันแน่?

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านกลับมาทบทวนหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานของเรื่องค่าแรงขั้นต่ำว่า “การปรับค่าแรงขึ้น” และ “การปรับค่าแรงลง” มีผลกระทบในทางเศรษฐกิจอย่างไร? และอะไรเป็นตัวกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่กันแน่?

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปนั้น “อัตราค่าแรงถูกกำหนดโดยผลิตภาพ” (Productivity determines the wage rate.) หมายถึงสิ่งที่แรงงานผลิตออกมา (Output) เป็นตัวกำหนดอัตราค่าแรงของแรงงานต่อชั่วโมง โดยทั่วไปธุรกิจจะจ้างแรงงานส่วนเกินตามผลิตภาพส่วนเพิ่ม* (Marginal Productivity) มากกว่ากำหนดตามอัตราค่าแรง

แต่ในเศรษฐกิจตามความเป็นจริงย่อมต้องมีการแข่งขันระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง ซึ่งย่อมส่งผลต่อการปรับอัตราค่าแรงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับผลิตภาพที่ต้องการ

*หมายเหตุผู้เขียน : ผลิตภาพส่วนเพิ่ม (Marginal Productivity) คือ อินพุตสุทธิ (Net Input) ที่ทำกับการผลิตทั้งหมดโดยการสร้างหน่วยเอาต์พุตเพิ่มเติม (Additional Output) อย่างปัจจัยนำเข้าที่ประกอบด้วยที่ดิน แรงงาน ทุน เทคโนโลยี และการประกอบการ กล่าวคือธุรกิจจะต้องมีปัจจัยประกอบเหล่านี้เป็นส่วนช่วยในการยกระดับอัตราค่าแรงของแรงงาน

ในขณะที่อัตราค่าแรงที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายของรัฐ ถือเป็นการสร้างแนวกั้นเพื่อกีดกันไม่ให้แรงงานไร้ทักษะหรือมีทักษะต่ำกว่าแรงงานทั่วไปมีโอกาสได้ทำงาน เนื่องจากโดยทั่วไปการปรับขึ้นค่าแรงในระบบเศรษฐกิจจะเป็นไปตามกฎอุปสงค์-อุปทานเสมอ ดังนั้นการมีอยู่ของค่าแรงที่เหมาะสมกับแรงงานคนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ในระบบตลาดเสรีทุนนิยม แต่เมื่อใดที่รัฐเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจแล้ว กลไกโดยทั่วไปในระบบตลาดเสรีย่อมเกิดความแปรปรวนได้

ผลกระทบ 4 ข้อจากกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ

หากไล่เรียงผลกระทบของกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ เราจะพบว่ามันไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวนายจ้างและลูกจ้าง และโดยทั่วไปจะพบเจอผลกระทบจากการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐดังนี้ :

1. กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ บังคับให้คนตกงาน

กฎหมายกล่าวว่า “นายจ้างจะกระทำผิดก็ต่อเมื่อให้ค่าแรงต่ำกว่า X (สกุลเงิน) ต่อชั่วโมงหรือต่อวัน” หมายความว่าในตลาดแรงงานทั่วไปที่มีนายจ้างและลูกจ้างเห็นพ้องต้องกันอย่างสมัครใจ ว่าอยากได้ค่าแรงในจำนวนที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดอยู่แล้วนั้น การตกลงอย่างสมัครใจดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สิ่งนี้จะส่งผลทำให้เกิดการตกงานในจำนวนมากเกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าแรงงานต่างด้าวต้องการค่าแรงในจำนวน X ที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และนายจ้างตกลง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำทันที เพราะนายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ในกรณีนี้จะส่งผลให้มีการตกงานเกิดขึ้น และในบางกรณีที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่สูงเกินกว่าที่นายจ้างจะรับไหว นายจ้างอาจต้องใช้วิธีลดจำนวนแรงงานลง เพื่อให้สามารถประคับประคองต้นทุนของกิจการให้อยู่ต่อไปได้

*หมายเหตุผู้เขียน : ตามกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ของประเทศไทยปี พ.ศ. 2562 ระบุว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานต่างด้าวเทียบเท่ากับค่าแรงที่จ่ายให้คนไทย โดยแต่ละจังหวัดจะมีอัตราค่าจ้างที่แตกต่างกันออกไป และในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินเดือนหรือค่าแรง หรือมีการจ่ายในอัตราต่ำกว่ากฎหมายได้กำหนดเอาไว้ (เช่น ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าจ้างในวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นต้น) ถือว่าเป็นความผิดที่สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะต้องเสียค่าดอกเบี้ยให้กับลูกจ้าง และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ติดต่อกรมแรงงานได้ทันที)

2. กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้โอกาสในการจ้างงานน้อยลง

เนื่องจากในตลาดแรงงานภายใต้สภาวะที่มีกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำนั้นส่งผลให้อุปสงค์แรงงานลดลง และผลักดันให้อุปทานของแรงงานเพิ่มขึ้น และโดยทั่วไปตลาดแรงงานมักจะมีแรงงานทักษะต่ำอยู่เป็นจำนวนมาก กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำจะบังคับแรงงานที่มีความสามารถให้ต้องยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่าที่ควรได้รับ และกีดกันแรงงานบางส่วนออกจากตลาดแรงงาน ส่งผลให้เป็นการลิดรอนโอกาสการทำงานของแรงงาน

ตามกฎของอุปสงค์และอุปทาน เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น ความต้องการจ้างของนายจ้างก็จะลดลง ทำให้ปริมาณของแรงงานที่เป็นที่ต้องการก็จะลดลง ในทางตรงกันข้ามเมื่อค่าแรงถูกลง ความต้องการจ้างของนายจ้างก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณของแรงงานก็ย่อมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

แต่ทันทีที่รัฐกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลให้นายจ้างจำเป็นต้องจ้างแรงงานเข้ามาในจำนวนที่สวนทางกับปริมาณความต้องการแรงงาน (Demand for Labor) และเกิดการบิดเบือนความสามารถของแรงงาน เพราะนายจ้างจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการจ่ายค่าแรงที่ต่ำกว่าความสามารถของแรงงาน

นอกจากนี้ยังทำให้นายจ้างต้องยอมรับค่าแรงตามกฎหมายที่เกินกว่าจะจ่ายไหว พร้อมกับได้แรงงานที่ไม่มีผลิตภาพมากพอต่อการสร้างรายได้ให้แก่นายจ้าง

การแทรกแซงกลไกตลาดของกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำยังมีต้นทุนแฝง (Hidden Cost) เช่น การลดความพร้อมของการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ (On-the-job Training) เนื่องจากนายจ้างจะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อการจ้างงานและรักษาพนักงานเอาไว้ รวมถึงการแทรกแซงเพิ่มเติมในตลาดแรงงาน เช่น กฎระเบียบด้านความปลอดภัย และภาษีเงินเดือนได้ ซึ่งทำให้การจ้างแรงงานมีค่าใช้จ่ายสูง ภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทำให้บริษัทมีความต้องการที่จะจ้างแรงงานในระยะยาวลดลง และจะลดโอกาสได้งานของแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นในการทำงานอีกด้วย

3. กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ลดรายได้ของคนงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำอยู่แล้ว

หลักฐานจากการศึกษาเรื่องผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำกล่าวว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้มากขึ้นนั้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะผลกระทบต่อรายได้ของคนงานที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพียงเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายได้ของแรงงานลดลงพร้อมกันกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สะท้อนถึงผลกระทบด้านลบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อการจ้างงานและชั่วโมงการทำงาน (Minimum wage, p.139)

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าหากแรงงาน A สามารถสร้างผลิตภาพให้แก่บริษัทได้ 10 ดอลลาร์ และแรงงาน B สามารถสร้างผลิตภาพให้แก่บริษัทได้ 15 ดอลลาร์ โดยทั่วไปนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างตามผลิตภาพที่แรงงานผลิตออกมา เช่น 10 ดอลลาร์/ชั่วโมง หรือ 15 ดอลลาร์/ชั่วโมง แต่แล้วเมื่อกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำได้กำหนดว่าค่าแรงที่ควรจ่ายให้กับแรงงานต่อวันควรจะเป็น 11 ดอลลาร์/ชั่วโมง

คำถามก็คือ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อแรงงานคนไหนระหว่างแรงงาน A หรือแรงงาน B?

นายจ้างอาจไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องทำให้แรงงาน A ออกจากงานนั้น แล้วหันไปหาแรงงาน B หรือแรงงาน C ที่มีผลิตภาพสูงกว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้นเมื่อใดที่รัฐปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้แรงงานที่มีผลิตภาพต่ำต้องหลุดออกจากงาน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วรายได้ที่เคยได้รับมาอยู่ก่อนนี้จึงลดลง

4. กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น

หลักฐานเชิงประจักษ์ของผลการศึกษาผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำบ่งชี้ว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทำให้ราคาสินค้าและบริการที่ผลิตด้วยแรงงานด้อยทักษะนั้นปรับตัวสูงขึ้น (Minimum wage, p. 247-248) เป็นเรื่องทั่วไปที่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่ผู้ประกอบการต้องเสาะหาวิธีป้องกันไม่ให้แรงงานต้องถูกไล่ออก (Layoff) หนึ่งในวิธีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “การเพิ่มราคาสินค้าและบริการ”

ยิ่งกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำมีการกำหนดให้ค่าแรงยิ่งสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ผลกระทบต่อผู้บริโภคก็จะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

ข้อโต้แย้งจากนักเศรษฐศาสตร์บางราย

ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็มีหลากหลายคนที่พยายามปฏิเสธแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์บางสำนัก เพื่อผลักดันวาระทางการเมืองและเศรษฐกิจบางอย่างเข้าไปในวงการการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก

ยกตัวอย่าง เช่น การปฏิเสธหลักการเศรษฐศาสตร์พื้นฐานอย่าง Ceteris Paribus และ “Demand-Supply Analysis” ด้วยวิธีวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความคล้ายคลึงกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและการปฏิเสธความถูกต้องภายนอก เช่น คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์บลูมเบิร์ก (Bloomberg) นามว่าโนอาร์ สมิธ (Noah Smith) ที่ได้เขียนบทความชื่อ Econ 101 No Longer Explains the Job Market เพื่อโต้แย้งด้วยหลักฐานเพียงเล็กน้อยว่าหลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการตกงาน และยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเศรษฐศาสตร์พื้นฐานนั้นใช้อธิบายเรื่องการตกงานไม่ได้

อีกทั้งยังมีนักเศรษฐศาสตร์อีก 2 คนที่ถูกอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งว่า “เป็นผู้พิสูจน์เรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตกงานแต่อย่างใด” อย่าง เดวิด การ์ด (David Card) นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2021 และ อลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน

David Card and Alan Krueger

เดวิด การ์ด และ อลัน ครูเกอร์ ใช้วิธีการศึกษาวิจัยด้วยการทดลองแบบธรรมชาติ (Natural Experiment) ในกรณีศึกษาที่ชื่อ Minimum Wages and Employment: A Case Study of the Fast-Food Industry in New Jersey and Pennsylvania ที่จัดทำในปี 1994

โดยทดลองให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในรัฐนิวเจอร์ซีย์จาก 4.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงเป็น 5.05 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด) ในขณะที่รัฐเพนซิลเวเนียไม่เพิ่มค่าแรง หากคิดตามปกติแล้วการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำในรัฐนิวเจอร์ซีย์จะต้องทำให้เกิดการตกงาน

แต่ผลการศึกษานี้กลับบอกว่าพื้นที่ที่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

การ์ดและครูเกอร์ให้ความเห็นว่า “โดยรวมแล้วการค้นพบนี้ยากที่จะอธิบายด้วยแบบจำลองการแข่งขันมาตรฐาน หรือด้วยแบบจำลองที่นายจ้างเผชิญกับข้อจำกัดด้านอุปทาน (เช่น แบบจำลองการผูกขาดหรือการค้นหาดุลยภาพ) และที่สำคัญที่สุดพวกเขายังได้บอกอีกว่า :

“ราคาอาหารของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เพิ่มสูงขึ้นในนิวเจอร์ซีย์เมื่อเทียบกับเพนซิลเวเนีย บ่งชี้ว่าภาระส่วนใหญ่ของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค”

นอกจากนี้การ์ดและครูเกอร์ยังกล่าวถึงในภายหลัง ว่าพวกเขาไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า “การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำในรัฐนิวเจอร์ซีย์ทำให้การจ้างงานในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดลดลง”

การศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็น “ค่ามัธยฐาน” ในช่วงอัตราค่าแรงของรัฐนิวเจอร์ซีย์ ดังนั้นธุรกิจหลายแห่งในรัฐนิวเจอร์ซีย์จึงมีการจ่ายค่าแรงให้มากกว่าที่กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำกำหนด และการเพิ่มค่าแรงขึ้นนั้นไม่ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันมากต่อผู้บริโภค แม้ว่าจะไม่เห็นการตกงานเพิ่มขึ้นในรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องไม่ลืมถึงกระทบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในผลการศึกษานั้น เช่น ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น และธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากธุรกิจฟาสต์ฟู้ดมีรายได้ลดลง (เนื่องจากผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับอาหารฟาสต์ฟู้ด) ซึ่งธุรกิจจะลงทุนน้อยลงในการเพิ่มผลผลิต เพราะลดต้นทุนได้ยากเนื่องจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และจำเป็นต้องเพิ่มราคาสินค้าและบริการเพื่อรักษาคนงานไว้ นอกจากนี้ธุรกิจจะจ้างงานน้อยลง จนถึงขั้นที่ต้องไล่ลูกจ้างบางคนออก

ภายหลังได้มีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาโต้แย้งงานศึกษาของเดวิด การ์ดและอลัน ครูเกอร์ อาทิ เดวิด นอยมาร์ค (David Neumark) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต และวิลเลียม วอสเชอร์ (William Wascher) จากคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐที่ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชื่อ Myth or Measurement: What Does the New Minimum Wage Research Say about Minimum Wages and Job Loss in the United States?

โดยมีข้อสรุปว่า “แม้การเพิ่มค่าแรงจะเป็นการส่งเสริมการจ้างงาน แต่ในขณะเดียวกันการขึ้นค่าจ้างตามกฎหมาย กลับทำให้รัฐนิวเจอร์ซีย์จำเป็นต้องลดค่าแรงในงานต่าง ๆ ลง อันเนื่องมาจากผลกระทบของค่าแรงขั้นต่ำที่มีต่อธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นไปตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่สามารถคาดการณ์ได้*

*หมายเหตุผู้เขียน : ทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ที่คาดการณ์ได้ หมายถึงทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ยอมรับกันทั่วไปอย่าง Ceteris Paribus ที่กล่าวถึง “all other things being equal” หรือ “ปัจจัยอื่น ๆ คงที่” ตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ หากราคาข้าวแพงขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อข้าวของผู้บริโภคจะต้องลดลง เป็นต้น

Friedrich Hayek

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นสาเหตุของการตกงาน” เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน (Austrian Economics) อย่างฟรีดริช ฮาเย็ก (Friedrich Hayek) ที่กล่าวว่า :

"การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำนั้นคือการคาดการณ์ที่มีลักษณะเป็นเชิงคุณภาพและเชิงทฤษฎีโดยเฉพาะ รวมทั้งอ้างถึงการทำนายที่ไม่ตรงกันและผลกระทบของการขาดการประสานงานทางสังคม อันเนื่องมาจากการบีบบังคับของลัทธิสังคมนิยมและการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ"

หากจะยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุด เช่น การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาสินค้าและบริการทั่วไปเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าระดับของอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งแม้รัฐบาลจะประกาศดัชนีราคาเงินเฟ้อหลายอย่างออกมา (เช่น CPI) แต่ด้วยปัจจัยมากมาย เช่น หากสินค้าหรือบริการใดมีการปรับราคาขึ้นสูงมากก็จะถูกถอดออกจากการคำนวณดัชนีเงินเฟ้อ ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อของรัฐไม่ได้แสดงถึงราคาที่แท้จริง

ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้ออย่าง CPI คืออะไร?

ตัวอย่าง “ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อ” อย่าง CPI หรือ Consumer Price Index (ดัชนีราคาผู้บริโภค) นั้นตามแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนมองว่า “มันไม่มีตัววัดใดที่สามารถบ่งบอกเงินเฟ้อได้อย่างแท้จริง” ตรงกันข้ามกับที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่ามันคือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไป แต่สำนักออสเตรียนพิจารณาว่า “เงินเฟ้อถือเป็นเรื่องทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นจากการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ”

หนึ่งในปัญหาของ CPI คือ รัฐสามารถกำหนดราคาที่จะวัดและ “น้ำหนัก” ต่อสินค้าอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างราคาของสินค้าผ่านคณิตศาสตร์มีความเชื่อมโยงกัน แต่แท้จริงแล้วมันไม่สามารถหาความสัมพันธ์กันได้ ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นอัตวิสัย แล้วด้วยเหตุนี้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจอย่าง CPI จึงไม่สามารถบอกหรือวัดประมาณค่าได้อย่างแม่นยำว่าเงินเฟ้อที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไหร่ และเฟ้อเพราะอะไร

ผลกระทบจากนโยบายของรัฐ

การเก็บภาษีสร้างผลกระทบอันเลวร้ายต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลมักสูญเสียทรัพยากรไปกับการลงทุน (ด้วยเงินภาษี) ที่ไม่จำเป็นและไม่ยั่งยืน มันอาจจะมาพร้อมกับปัญหาคอรัปชั่นจากการทำให้รัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น และโดยธรรมชาติของรัฐที่ไม่ได้ดำเนินการภายใต้กลไกกำไร/ขาดทุนเหมือนเอกชน

แม้ว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำจะสร้างผลกระทบให้ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น เกิดการตกงาน และปัญหาอื่น ๆ แต่ก็มีการอ้างว่าการแทรกแซงของรัฐนั้นก็เพื่อไม่ให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างจนเกินไป แต่เนื่องด้วยรัฐและคนทั่วไปไม่มองถึงภาพรวมของเศรษฐกิจที่รัฐเข้าไปบิดเบือนกลไกตลาดว่าอาจทำให้เกิดผลกระทบดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำของพรรคก้าวไกล

สำหรับประเทศไทยเองที่มีผู้สนับสนุนการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่าปัจจุบันเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่การเพิ่มค่าแรงนั้นย่อมมีสิ่งที่ต้องแลกด้วยเสมอ (Trade-off) โดยเฉพาะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทของพรรคก้าวไกล (ทางผู้เขียนขอยกมาพูดถึงเพียง 2 ข้อแรก เนื่องจากข้อที่เหลือเป็นประเด็นปลีกย่อยเกี่ยวกับแรงงานและสวัสดิการ)

ข้อแรกที่ต้องพูดถึงคือ "ระบบค่าแรงปรับขึ้นทุกปี"

โดยคำนึงถึง 1) ค่าครองชีพ และ 2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาคือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะสามารถรองรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร หากเพิ่มค่าแรงในขณะที่ค่าครองชีพสูงและเงินเฟ้อสูงจะยิ่งสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจและแรงงานมากกว่าจะช่วยเหลือพวกเขา

รวมไปถึงที่มีการอ้างเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Expansion) ซึ่งหลายพรรคการเมืองจะดำเนินการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Economic Stimulus) เพื่อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัว เกิดการบริโภคและการลงทุนในภาคประชาชนเพิ่มสูงขึ้น สิ่งสำคัญคือการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐนั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลทวีคูณทางเศรษฐกิจที่มีชื่อเรียกว่า “ตัวคูณทางการคลัง” (Fiscal Multiplier) คือการที่รัฐใช้จ่ายเงินในเศรษฐกิจเพื่อทำให้คนมีเงินในมือมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่าการใช้จ่ายมากขึ้นย่อมทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นตาม

สิ่งที่นักวางแผนจัดทำนโยบายที่มีหัวคิดแบบเคนส์เซียน (Keynesianism) มักจะละเลยก็คือ “การใช้จ่ายของรัฐนั้นไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ให้กับผู้คน แต่มันมาพร้อมกับการทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ ที่รัฐใช้จ่ายเข้าไปนั้นปรับตัวสูงขึ้นตาม”

กล่าวได้ว่า “รายได้ = ต้นทุน”

เมื่อรัฐใช้จ่ายมากขึ้น วิกฤติที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นตามกลไกของการเพิ่มค่าแรงตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจย่อมจะมีแต่ปัญหาตามมา (เช่น นโยบายสวัสดิการต่าง ๆ ที่ปรากฏในงบประมาณ 650,000 ล้านบาท เป็นต้น)

*หมายเหตุผู้เขียน : กฎการใช้จ่ายในทางเศรษฐศาสตร์ (Expenditure) มีความสัมพันธ์กับรายได้และต้นทุน เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้จ่ายมากขึ้นก็จะคิดเป็นต้นทุนสำหรับผู้ซื้อและรายได้สำหรับผู้ขาย (รายได้ = ต้นทุน หรือ Income equals costs) และตามกลไกการใช้จ่ายภาครัฐหรือ “ตัวคูณทางการคลัง” (Fiscal Multiplier) จะเพิ่มผลผลิตรวมทั้งหมด (Overall Output)

ยกตัวอย่าง เช่น หากผู้บริโภค A มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น 100 ล้านดอลลาร์ รายได้ของผู้ค้าขายปลีกเพิ่มขึ้น 100 ล้านดอลลาร์เช่นกัน ผู้ค้าปลีกก็จะใช้เงินของผู้บริโภค A ในจำนวน 90% ของ 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ กล่าวคือพวกเขาเพิ่มค่าใช้จ่ายในสินค้าและบริการประมาณ 90 ล้านดอลลาร์

กุญแจสำคัญคือ “ค่าใช้จ่าย” ของคนหนึ่งจะกลายเป็น “รายได้” ของอีกคนหนึ่ง

และเมื่อเกิดตัวคูณทางการคลังขึ้น จะเป็นสถานการณ์ที่เกิดห่วงโซ่การใช้จ่าย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศใช้จ่ายประมาณ 90% ของรายได้ (โดยที่รายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้น) พร้อมกับผลผลิตมวลรวม* ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (10 x 100 ล้าน) มากกว่าเมื่อก่อนที่ผู้บริโภคจะเพิ่มค่าใช้จ่ายเริ่มต้นถึง 100 ล้านดอลลาร์ (ผลคูณที่เพิ่มขึ้นคือ 10)

*หมายเหตุผู้เขียน : ผลผลิตมวลรวม และผลคูณที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างที่คิดได้ทั่วไป

การที่รัฐบาลใช้จ่ายในเศรษฐกิจไม่ว่าจะในภาคส่วนใดก็ตาม จะส่งผลทำให้ต้นทุนในภาคส่วนนั้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น การที่รัฐบาลใช้จ่ายในภาคสาธารณสุขเพื่อทำให้คนป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้ แต่ผลลัพธ์กลับทำให้ต้นทุนของสาธารณสุขและค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ สูงขึ้น เช่น ในประเทศอังกฤษที่มีระบบสาธารณสุขอย่าง NHS (National Health Service) ที่รัฐบาลอังกฤษใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลแพงขึ้นและประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตกต่ำ อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นการบั่นทอนแรงจูงใจของบุคลากรทางการแพทย์ให้ลดน้อยลง อันเป็นผลมาจากปริมาณงานและจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา เพื่อทำให้คนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ แต่ในสภาพความเป็นจริงคือการใช้จ่ายทางการศึกษาของรัฐกลับทำให้คุณภาพทางการศึกษาแย่ลง นักเรียนมีแรงจูงใจน้อยลงและไม่สามารถค้นหาตัวเองได้ (โดยเฉพาะในโรงเรียนของรัฐ) อีกทั้งหัวใจสำคัญสำหรับการใช้จ่ายของรัฐคือมันทำให้ต้นทุนทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่โรงเรียนจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายไปกับสิ่งต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะเป็นการบำรุงการศึกษาให้แก่บุคลากรของตน แต่นั่นกลับส่งผลทำให้ต้นทุนแพงขึ้นทุกปี ซึ่งจะปรากฏในรูปของค่าเทอมของนักเรียน/นักศึกษา ค่าอาหารกลางวัน หรือค่าหนังสือและสมุดต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดจำหน่าย เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจมีเป้าหมายเพื่อทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว โดยที่การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะต้องอาศัยการที่รัฐต้อง “ใช้จ่าย” ซึ่งการใช้จ่ายอะไรก็ตามในแนวคิดแบบเคนส์ก็มีเป้าหมายเพื่อทำให้อุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) เติบโตเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น

..ซึ่งแท้จริงแล้วนี่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

ข้อสองที่ต้องพูดถึงคือ “ขึ้นค่าแรง 450 บาททันทีในปีนี้”

โดยที่ “รัฐจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในช่วง 6 เดือนแรก พร้อมสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้างและแรงงาน โดยใช้งบ 16,000 ล้านบาทต่อปี”

ประเด็นสำคัญ คือ พรรคก้าวไกลรู้ดีว่าถ้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทันที จะมี “ผลกระทบ” อย่างแน่นอน ก็เลยจำเป็นต้องใช้งบประมาณของรัฐมารองรับผลกระทบตรงนั้น คำถามก็คือถ้ามันมีผลกระทบหากเพิ่มทันที แล้วทำไมพรรคถึงไม่ใช้นโยบายค่อย ๆ ปรับไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้สภาวะช็อกเกิดขึ้น?

..ไม่มีใครทราบคำตอบ

การขึ้นค่าแรงทันทีจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมไปถึงแรงงาน กล่าวคือการเพิ่มค่าแรงทันทีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ได้ผลดี มันอาจทำให้ธุรกิจเหล่านั้นปรับตัวไม่ได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว และเมื่อมีการปรับกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำทันทีก็จะทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง แม้ในช่วง 6 เดือนแรกจะมีการประกันและแบ่งเบาภาระโดยรัฐเพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง แต่ในระยะยาวผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้จะทวีความรุนแรงจนเรื้อรังมากขึ้น ผลจากต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้การช่วยเหลือระยะสั้นของรัฐไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์และปัจจัยของการเพิ่มค่าแรงนั้นก็ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ดี รวมไปถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานที่อาจจะตกต่ำลงมากกว่าเดิม

หากกล่าวโดยสรุปก็คือ “การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจ” ไม่ว่าจะทำให้เกิดการตกงาน การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในประเทศที่มีสัดส่วนการแทรกแซงของรัฐสูงกว่าการปล่อยให้เป็นตลาดเสรี

ประเทศแบบไหนที่คุณต้องการ?

คำถามที่ผู้เขียนอยากส่งถึงผู้อ่าน คือ คุณอยากอยู่ในประเทศที่..

  • คุณสามารถต่อรองค่าแรงกับนายจ้างได้อย่างอิสระ โดยที่นายจ้างและลูกจ้างรับผิดชอบความเสี่ยงที่สร้างด้วยตัวเอง 

          หรือ

  • คุณไม่สามารถต่อรองอะไรได้เลย แต่มีรัฐเป็นคนกำหนดทั้งค่าแรงและให้สิทธิประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

การมีอยู่ของกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ คือ สัญลักษณ์ของการกดขี่แรงงานและการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ผู้คนไม่สามารถต่อรองค่าแรงและสิทธิประโยชน์ได้อย่างมีอิสระ เพราะมันจะต้องถูกรัฐประกันสิทธิ์ตรงนั้นให้คนบางกลุ่ม โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิ์ของคนอีกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ แต่จะเป็นทางออกที่ดีกว่าไหม? ถ้าเราปล่อยให้ผู้คนมีอิสรภาพในการตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเอง มันง่าย ๆ เพียงยกเลิกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำเสียแล้วปล่อยให้ค่าแรงเป็นไปตามความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้าง

ประเทศไทยจะดีขึ้นได้ต้องเกิดจากการที่ผู้มีอำนาจปล่อยให้คนได้เลือกและตัดสินชะตากรรมของตัวเอง ไม่ใช่ปฏิบัติต่อประชาชนเหมือนเพียงนกที่เลี้ยงไว้ในกรง ดูแลถนอมรักษาอย่างไร้หัวใจ และรอวันตายจากไปเท่านั้นเอง

อ้างอิง

  • Bylund, Per. Yes, Economic Laws Still Apply to the Minimum Wage. Auburn, AL: Mises Institute, 2018
  • David Card and Alan B. Krueger, “Minimum Wages and Employment: A Case Study of the Fast-Food Industry in New Jersey and Pennsylvania,” American Economic Review 84, no. 4 (1994): 792. A later book expanded on these results, see David Card and Alan B. Krueger, Myth and Measurement: The New Economics of the Minimum Wage (Princeton: Princeton University Press, 1995)
  • David Neumark & Peter Shirley, 2022. “Myth or measurement: What does the new minimum wage research say about minimum wages and job loss in the United States?,” Industrial Relations: A Journal of Economy and Society, vol 61(4), pages 384-417.
  • Klein, Peter G. The 2021 Nobel Prize and the Trend of Economic Thinking. Auburn, AL: Mises Institute, 2021.
  • Martínez, M. ; Martínez, M. (2021). Are the effects of minimum wage on the labour market the same across countries? A meta-analysis spanning a century. Economic Systems, (45)1. Retrieved from https://doi.org/10.1016/j.ecosys.2020.100849.
  • Marques, André. Yes, the Minimum Wage Harms the Economy. Auburn, AL: Mises Institute, 2023.
  • Nemeth, Mitch. Why the Minimum Wage Is so Bad for Young Workers. Auburn, AL: Mises Institute, 2020. 
  • Ohanian, Lee. The Implications Of A Minimum Wage. Stanford, CA: Hoover Institution at Stanford University, 2020.
  • Reisman, George. How Minimum Wage Laws Increase Poverty. Auburn, AL: Mises Institute, 2014.
  • Shostak, Frank. Understanding Minimum Wage Mandates: Empirical Studies Aren’t Enough. Auburn, AL: Mises Institute, 2021.
  • Shostak, Frank. What the New Nobel Winners Get Wrong about Economics. Auburn, AL: Mises Institute, 2021.
OtoyaSmith

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

One comment

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Economic & Historical

อิสรนิยมที่แท้จริงคืออะไร? ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพของมนุษย์

“อิสรนิยม” เป็นปรัชญาการเมืองและเศรษฐกิจที่ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการครอบครองทรัพย์สิน รวมไปถึงการกำหนดสิทธิ์ในชีวิตและร่างกายของตัวเอง (Self-ownership) บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่าทำไมอิสรนิยมถึงสำคัญในโลกปัจจุบัน

Read More »