value
Picture of perthpawat

perthpawat

Subjective Value

เรามักจะได้ยินคำกล่าวว่า “Bitcoin นั้นไม่มีมูลค่าที่แท้จริง” อยู่บ่อยๆ แต่พอเราลองมาคิดดูแล้วมูลค่า ( Value ) ที่เราพูดถึงมันคืออะไรกันแน่? แท้จริงแล้วเราเข้าใจมันแค่ไหนกัน ?

มูลค่า (Value) คืออะไรกันแน่? 

ถ้าเราอยากได้ความหมายตรงๆ แบบง่ายๆ เราสามารถค้นหาเอาใน google ก็ได้ และถ้าเราเอาคำถามนี้.. ไปถามคนที่อยู่ในสายงานต่างๆ เราก็มักจะได้คำตอบที่ต่างกันไปมากมายหลายคำตอบ 

แต่เมื่อเราเอาคำตอบเหล่านั้นมาจัดกลุ่มแล้ว จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ

หนึ่ง.. กลุ่มที่บอกว่ามูลค่านั้นมาจากวัตถุวิสัย (Objective) สามารถวัดและคำนวนได้อย่างแม่นยำ เช่น กลุ่มนักลงทุนจะบอกว่ามันมาจากปัจจัยพื้นฐาน / คุณสมบัติของสิ่งของนั้นๆ ที่ทำให้มันมีค่า หรือ นักเศรษฐศาสตร์ บางกลุ่มที่บอกว่ามันมาจากแรงงาน, เวลาที่เราใส่ลงไปในสิ่งของ เขียนเป็นสมการที่ประกอบไปด้วยตัวแปรมากมายสำหรับคำนวณมูลค่าของสิ่งของนั้นๆ 

ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มสำนักเศรษฐศาสตร์แบบออสเตรียน (Austrian school of Economic) ที่เชื่อว่ามูลค่านั้นเป็น อัตวิสัย (Subjective) ไม่สามารถวัดได้อย่างแม่นยำ และเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากจิตสำนึก และการพิจารณาของปัจเจกบุคคลที่สังเกตการณ์เหตุการณ์นั้นๆ

มูลค่านั้นเป็นอัตวิสัย ( Value is subjective )

อัตวิสัย (Subjective) คือ ขึ้นอยู่กับความคิด, ความชอบ, อารมณ์ส่วนตัว, เป็นนามธรรม, ไม่แน่นอน และสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามความคิด / ประสบการณ์ / อารมณ์ / เวลา / สถานการณ์ 

มูลค่านั้นไม่สามารถอยู่นอกการประเมินค่าและการเลือกของมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความชอบของปัจเจกบุคคล และการประเมินมูลค่าของมนุษย์เองนั้นไม่สามารถเป็น วัตถุวิสัย (Objective) ได้ แต่เป็นปรากฏการณ์อยู่ในจิตใจของเรา 

ซึ่งการที่มูลค่านั้นเป็น อัตวิสัย (Subjective) นั่นไม่ได้หมายความว่ามูลค่านั้นไม่จริง

Ordinal valuation VS Cardinal valuation

เราลองมาเปรียบเทียบวิธีการประเมินมูลค่า 2 แบบกันดูครับ ว่ามนุษย์นั้นคิดแบบไหน

Ordinal valuation” เป็นการประเมินค่าโดยเปรียบเทียบระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนี่ง 

เช่น A มีค่ามากกว่า B และ B มีค่ามากกว่า C 

Cardinal valuation” จะเป็นการประเมินค่าตัวเลขที่แม่นยำ 

เช่น การบอกว่า A = 14.372x, ค่าของ B = 4.258x หรือ ค่าของ C = 1.273x

ในการประเมินมูลค่าแบบ “Cardinal valuation” นั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดหน่วยวัดที่คงที่ (Fixed objective unit) 

แต่การประเมินค่าของมนุษย์นั้นไม่สามารถทำการสร้างหน่วยวัดแบบนั้นได้ และการที่ไม่มีหน่วยวัด หมายความว่า เรานั้นไม่สามารถเปรียบเทียบได้ด้วยการ บวก, ลบ, คูณ, หาร 

ดังนั้น.. มันจึงไม่ได้มีความสัมพันธ์คงที่ในทางเศรษฐศาสตร์ 

มนุษย์นั้นไม่ได้ทำการประเมินค่าแบบ Cardinal และในความเป็นจริงแล้ว.. หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเราไม่สามารถตั้งราคา หรือ สร้างออกมาเป็นสมการสูตรคำนวนได้ด้วยซ้ำ เช่น ครอบครัว, พ่อ, แม่, ลูก ฯลฯ 

ดังนั้นเมื่อมูลค่าเป็น ” Subjective “ หมายความว่า มนุษย์จะใช้การประเมินมูลค่าแบบ “Ordinal valuation” ไม่ใช่ “Cardinal valuation”

ลองนึกภาพว่า.. เราประเมินความรักที่มีให้พ่อกับแม่เป็นแบบ Cardinal valuation ดูสิครับ…  

พ่อ = 5 รัก + X,  แม่ = 3Xรัก 

แค่หน่วยวัดพวกนี้มาจากไหน, วัดยังไง เรายังไม่รู้เลย? 

ถ้าอยากทำให้เห็นภาพขึ้นมาหน่อยก็ลองยกตัวอย่างคำถามที่นักปรัชญาชอบใช้ เช่นถ้า ลูก กับ แม่ จมน้ำอยู่ เราจะเลือกช่วยใคร?

ที่ยกตัวอย่างคำถามนี้ขึ้นมา ไม่ได้เพื่อจะหาคำตอบว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร แต่มันแสดงให้เห็นว่าในทุกการกระทำในจังหวะชีวิต ที่เราเลือกจะทำ, กิน, เดิน, หายใจ หรือแม้แต่กระทั่งการไม่ทำอะไรเลย ก็คือการกระทำ ที่เป็นผลจากการตัดสินใจประเมินมูลค่าแล้ว 

เรื่องของมูลค่าเหล่านี้ยังนำมาซึ่งความสับสน และความเข้าใจผิดในเรื่องมูลค่าและราคา โดยอาจเข้าใจว่ามันคือสิ่งเดียวกัน..

Value ≠ Market prices

มูลค่า กับ ราคาตลาด นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน.. 

การที่เราไปซื้อหนังสือ The Bitcoin Standard ในราคา 350 บาท และเรายอมจ่ายเงิน 350 บาท เพื่อซื้อหนังสือนั้น

หมายความว่าอะไร..? 

หากเป็น Mainstream economists จะอธิบายว่า.. การที่เราจ่ายเงินไป 350 บาท เพื่อซื้อหนังสือ The Bitcoin Standard หมายความว่า หนังสือนี้มี value = 350 บาท

…ซึ่งนั่นเป็นวิธีคิดที่ผิด 

เพราะถ้าหนังสือนี้มีค่า 350 บาท เป๊ะๆ นั่นแปลว่า.. เราไม่ได้มีความแตกต่างระหว่างการแลกเปลี่ยน

ไม่อย่างนั้นเราจะแลกเปลี่ยนไปทำไม ถ้าของที่เราต้องการแลกมีค่าเท่ากับเงินที่เราจ่าย ?

ซึ่งการที่เรายอมไปที่ร้านหนังสือแล้วจ่ายเงินไป 350 บาท เพื่อแลกกับหนังสือ หมายความว่า.. เราประเมินค่าหนังสือ The Bitcoin Standard มากกว่าเงิน 350 บาท.. และเช่นเดียวกัน.. การที่คนขายยอมขายหนังสือเพื่อแลกกับเงิน 350 บาท คือ คนขายให้มูลค่าเงิน 350 บาท มากกว่าหนังสือ The Bitcoin Standard

ราคาตลาด (Market prices) นั้น เป็นแค่ตัวบ่งชี้ขอบเขตด้านบนหรือล่างของการประเมินมูลค่าของบุคคลในแต่ละรายการเท่านั้น ไม่ได้มีตัวเลขกำหนดชัดเจนแบบ Cardinal valuation 

ดังนั้น.. เมื่อเราซื้อหนังสือ.. สิ่งเดียวที่เรารู้ได้ คือ เราให้ค่าหนังสือมากกว่า 350 บาท และคนขายให้ค่าหนังสือน้อยกว่า 350 บาท 

และถ้าหนังสือนี้ราคา 600 บาท เราก็อาจจะยังซื้อ เพราะเราประเมินมูลค่าของหนังสือนี้ไว้ที่ประมาณ 1,500 บาท และต่อให้หนังสือนี้มีราคา 2,000 บาท เราก็ยังคงจะซื้อ เพราะหนังสือเล่มนี้ อาจเป็นหนังสือที่สำคัญกับเรามากๆ มีประโยชน์ต่อเราในอนาคต เหตุผลส่วนตัวมากมายประกอบกันให้เราประเมินค่ามันมากกว่าราคานั้น 

แต่ในตอนนี้หนังสือเล่มนี้ มีพร้อมขายในราคา 350 บาท 

ดังนั้น 350 บาทบอกเราได้เพียงอย่างเดียวว่า.. เราให้มูลค่าหนังสือนี้มากกว่า 350 บาท และคนขายให้มูลค่ามันน้อยกว่า 350 บาท

..และนั่นคือสิ่งเดียวที่เราสามารถสรุปได้

ในอดีตเองก็มีตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ อย่างเช่น น้ำมัน (Oil) ซึ่งถือเป็นสิ่งสกปรกที่คุณต้องจ่ายเพื่อกำจัดมันออกไปจากที่ดิน เลยถือว่า น้ำมัน ที่ว่านั้นมีค่า ติดลบ ด้วยซ้ำ 

แต่หลังจากมีการประดิษฐ์เครื่องยนต์สันดาป พื้นฐานและคุณสมบัติของตัวน้ำมันเองยังคงเหมือนเดิม แต่การประเมินค่าของมนุษย์ได้เปลี่ยนไปโดยมีปัจจัยจากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี วิถีชีวิต และเหตุผลมากมายที่ทำให้มนุษย์ในยุคถัดมามีความต้องการน้ำมัน และเห็นมูลค่าของมัน จึงทำให้น้ำมันกลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีมูลค่าสูง และจำเป็นต่อมนุษยชาติมากนั่นเอง

ในมุมมองของคนบางคน.. มันอาจเป็นเพียงแค่สินค้าเก็งกำไร, เครื่องมือในการฟอกเงิน, เงินสำหรับมิจฉาชีพ, แชร์ลูกโซ่ และอื่นๆ อีกมากมาย 

แต่ในอีกมุมของโลก.. Bitcoin เป็นเครื่องมือที่ทำให้พวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนความต้องการกันได้โดยไม่ต้องมีคนกลาง, เป็นตัวเลขที่ผู้อพยพจะจำให้ขึ้นใจ เพื่อใช้เป็นตั๋วในการหนีจากประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์, เป็นทรัพย์สินเดียวที่เด็กตัวเล็กๆ จะสามารถมี และเก็บซ่อนได้จากแก๊งโจร 

หรือเป็นอาวุธที่ใช้ต่อกรกับรัฐบาลโลกที่กำลังปล้นเราทุกวัน ..โดยที่เราไม่สามารถปฎิเสธได้ 

ช่องทางติดตามให้กำลังใจผู้เขียนทาง Facebook: Pawat Petchdee

perthpawat

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

Economic

“สถาบันรัฐ” ความย้อนแย้งที่คนมองข้าม

หลายครั้งที่เราเห็นความผิดปกติของเรื่องหลอกลวงจากความไม่สมเหตุสมผลของมัน มีบางอย่างที่เรารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง เมื่อเราเริ่มใช้ตรรกะไล่เรียงความไม่สมเหตุสมผลนี้ ก็จะเริ่มเห็นความจริงและตั้งคำถามกับการมีอยู่ของมัน ..นั่นสิทำไมต้องมีรัฐ?

Read More »