หากคุณรู้จักบิตคอยน์มากกว่าการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เทรดไปมาได้ คุณย่อมต้องเคยได้ยินคำว่า ‘ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก (Lightning Network)’ เป็นแน่ บางคนก็ว่ามัน ใช้ง่ายยิ่งกว่าพร้อมเพย์เสียอีก และบางที คุณอาจสนใจที่จะลองใช้งานเจ้าสิ่งนี้ดู
กระนั้นไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กก็เป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่อยู่มากและเข้าใจยากพอสมควร ถึงแม้ว่าเราจะสามารถใช้งานเทคโนโลยีใด ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร แต่ก็เป็นการดีกว่า (โดยเฉพาะสำหรับชาวบิตคอยน์) ที่จะทำความเข้าใจเทคโนโลยีที่เรากำลังใช้งาน เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าเราไม่ได้กำลังทำอะไรมั่วซั่ว และบางทีอาจจะได้ช่วยอธิบายให้คนอื่น ๆ ได้เข้าใจด้วยว่าเจ้าสิ่งนี้คืออะไร
เพราะฉะนั้นในบทความนี้ เราจะโฟกัสที่ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กที่คนธรรมดาในฐานะผู้ใช้งานควรจะรู้ไว้ เพื่อที่จะใช้งานไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้อย่างสบายใจ แต่ก่อนที่จะพยายามเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร เราควรถอยมาเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร
ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กคืออะไร? และมีดียังไง
สารบัญบทความ
ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา สเกลอบิลิตี้ (Scalability : ความสามารถในการขยายศักยภาพเพื่อรองรับธุรกรรมจำนวนมาก) ของบิตคอยน์ หรือก็คือเกิดขึ้นมาเพื่อตบปากพวกที่ชอบพูดพล่อย ๆ ทำนองว่า “ยี๊ บิตคอยน์โอนช้าจัง ต้องรอตั้งสิบนาที เอาไปซื้อกาแฟกว่าเงินจะถึงแม่ค้าน้ำแข็งก็ละลายหมดแล้ว”
ปัญหาสเกลอบิลิตี้เป็นหนามยอกอก (อ่านว่า ยอก-อก) สำหรับชุมชนบิตคอยน์มาหลายต่อหลายปี และมีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ในหลาย ๆ แนวทาง บ้างก็ว่าเราต้องแก้ไขระบบของบิตคอยน์เองให้สามารถรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การกำเนิดขึ้นของเหรียญอย่าง บิตคอยน์แคช (Bitcoin Cash) หรือ ไลต์คอยน์ (Litecoin) ซึ่งเราจะไม่พูดถึงแนวทางนี้อีกเพราะทันทีที่ผู้สนับสนุนแนวทางนี้ได้ทำการ ฮาร์ดฟอร์ก (hard fork) สร้างขึ้นเป็นเหรียญใหม่ พวกเขาก็ละทิ้งการเป็นชาวบิตคอยน์ไปด้วย
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่ยืนหยัดจะไม่แก้ปัญหานี้บนระบบหลักของบิตคอยน์ แต่โฟกัสไปที่การสร้างระบบรองที่เราจะสามารถโอนบิตคอยน์กันบนนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องบันทึกข้อมูลบนบล็อกเชนหลักทุกครั้งที่เราทำธุรกรรม ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กจัดอยู่ในประเภทนี้ และยังมีคู่แข่งรายอื่นอีกอย่างเช่น ลิควิดเน็ตเวิร์ก (Liquid Network) หรือถ้าจะใจกว้างหน่อย เราอาจมองว่าบริการอย่าง ไบแนนซ์เพย์ (Binance Pay) หรือการเอาบิตคอยน์ไป แร็พ (Wrap) เป็นโทเคนบนบล็อกเชนอื่นที่ทำธุรกรรมได้รวดเร็วกว่า ก็เป็นการแก้ปัญหาในแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน
แล้วในเมื่อไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กไม่ใช่ความพยายามหนึ่งเดียวที่เกิดขึ้น ทำไมมันจึงได้รับความนิยมมากมายนัก?
เพราะว่าในขณะที่ระบบรองอื่น ๆ ไม่ว่าจะเรียกว่า ‘เลเยอร์ 2 (Layer2)’ หรือ ‘ไซด์เชน (Side Chain)’ ก็ตาม ระบบเหล่านั้นเกิดขึ้นมาโดยการมีผู้สร้างระบบเป็นตัวเป็นตน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ก็ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของชาวบิตคอยน์ผู้ยึดมั่นในหลักการ ‘ไม่เชื่อใจใคร’ ความพยายามทั้งหลายที่ตามมาในการกระจายอำนาจควบคุมระบบออกไปจากตัวผู้สร้างล้วนเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ที่แม้ระบบจะทำงานได้ดีและพอจะไว้วางใจได้ มันก็เป็นระบบที่ด่างพร้อยมีมลทินมาแต่กำเนิด ซึ่งส่งผลให้การยอมรับในวงกว้างเป็นไปได้ช้าด้วย
แต่ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กไม่เป็นเช่นนั้น
ทั้ง ไลท์นิ่ง และ บิตคอยน์ เป็นโปรโตคอล (Protocol) นั่นหมายความว่าผู้ประดิษฐ์คิดค้นสองสิ่งนี้ไม่ได้สร้างระบบหรือโครงสร้างพื้นฐานอะไร แต่พวกเขาเพียงแค่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับระเบียบวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คน (ซึ่งที่จริงก็คือคอมพิวเตอร์ของพวกเขา) ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายนี้
ทั้ง ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก และ บิตคอยน์เน็ตเวิร์ก เป็น โครงข่ายกระจายศูนย์ นั่นหมายความว่าเครือข่ายนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดขึ้นมาเองเมื่อคนที่ยอมรับโปรโตคอลเดียวกัน นำคอมพิวเตอร์ของตัวเองเข้ามา สร้างการเชื่อมต่อแบบ เพียร์-ทู-เพียร์ (Peer-to-peer) กับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย
ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กจึงเป็นเครือข่ายที่มีความกระจายศูนย์อย่างแท้จริงเช่นเดียวกับบิตคอยน์ ทลายข้อจำกัดการใช้งานบิตคอยน์จากอัตรา 7 ธุรกรรมต่อวินาทีให้กลายเป็นเร็วที่สุดเท่าที่อินเตอร์เน็ตจะเร็วได้ และให้ความเป็นส่วนตัวสูงกว่า โดยที่ยังสืบทอดคุณสมบัติความแข็งแกร่งมาจากเครือข่ายหลักของบิตคอยน์
ด้วยประสิทธิภาพที่น่าประทับใจ และด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกับระบบหลักของบิตคอยน์ตั้งแต่ในระดับรากฐาน ทำให้ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วและเต็มใจจากชาวบิตคอยน์ทั่วโลก มีนักพัฒนา ธุรกิจ บริษัท ไปจนถึงประเทศ ที่วางใจจะเข้ามาลงทุน เข้ามาใช้งาน เข้ามาวางรากฐาน สร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการของตนบนระบบใหม่นี้ กลายเป็น สโนว์บอล เอฟเฟกต์ (Snowball Effect) ที่จะเร่งให้เกิดการยอมรับทั้งไลท์นิ่งและบิตคอยน์ไปพร้อม ๆ กัน
Lightning Network ทำงานอย่างไร
เช่นเดียวกับที่บิตคอยน์เน็ตเวิร์กประกอบขึ้นจากคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรม ‘Bitcoin Implementation’ (อย่างเช่น Bitcoin Core) แล้วสร้างการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายของคอมพิวเตอร์จำนวนมากขึ้นมา ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กก็เกิดจากเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรม ‘Lightning Implementation’ (อย่าง LND หรือ C-Lightning) แล้วทำการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายในลักษณะเดียวกัน
ในไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กเราเรียกคอมพิวเตอร์เหล่านั้นว่า ‘ไลท์นิ่งโหนด (Lightning Node)’
แต่ว่าในขณะที่ บิตคอยน์โหนด (Bitcoin Node) รับส่งกันเพียงแค่ข้อมูลธุรกรรมและบล็อกเชน ไลท์นิ่งโหนดนั้นรับส่งบิตคอยน์
เมื่อไลท์นิ่งโหนดสองเครื่องเชื่อมต่อกัน การเชื่อมต่อนั้นคือช่องทางการส่งเงินระหว่างกันที่เรียกว่า ‘ไลท์นิ่งแชนแนล (Lightning Channel)’ หรือ ‘เพย์เมนต์แชนแนล (Payment Channel)’
ป๊อก ๆ แป๊ก ๆ (เสียงดีดลูกคิดไปมา)
แชนแนลนี้เกิดจากการโอนบิตคอยน์เข้าไปใน ‘บิตคอยน์แอดเดรส (Bitcoin Address)’ แบบพิเศษที่สร้างขึ้นจาก ‘พับลิคคีย์ (Public Key)’ ของโหนดทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่า ‘2-of-2 Multisignature Contract’
เมื่อมีแชนแนลเกิดขึ้นและมีเงินอยู่ในแชนแนลนั้น เงินส่วนหนึ่งก็จะเป็นของโหนดฝั่งหนึ่ง และส่วนที่เหลือก็จะเป็นของโหนดอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละฝั่งสามารถผลักเงินที่อยู่ฝั่งตัวเองไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้ นั่นคือการโอนเงิน
หากอยากจินตนาการเป็นภาพ ลองนึกถึงแถวของลูกคิดดูก็ได้ (เอ๊… คนอ่านเกิดทันกันไหมนะ?)
ถ้าเห็นภาพเป็นรูปธรรมอย่างนี้แล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจธรรมชาติของไลท์นิ่งแชนแนลหลาย ๆ อย่างได้โดยไม่ต้องอธิบายยืดยาว
- จำนวนเงินที่กองอยู่ฝั่งเรา คือจำนวนเงินสูงสุดที่เราส่งให้อีกฝ่ายได้ / จำนวนเงินที่กองอยู่ฝั่งเขา คือจำนวนเงินสูงสุดที่เรารับได้
- เราไม่สามารถส่งเงินได้ ถ้าเงินไปกองอยู่ฝั่งเขาหมด และเราไม่สามารถรับเงินได้ ถ้าเงินทั้งหมดกองอยู่ฝั่งเรา
- เมื่อเขาส่งเงินให้เรา เงินที่รับมานั้นก็จะกลายเป็นเงินของเราที่สามารถส่งกลับให้เขาได้ และเงินที่เราส่งให้เขา ก็จะกลายเป็นเงินที่เขาสามารถส่งกลับให้เราได้เช่นกัน
เจ้าแถวลูกคิดนี้ (แชนแนล) เกิดขึ้นมาและสามารถใช้งานอยู่ได้ด้วยความร่วมมือของโหนดทั้งสองฝั่ง หากมีฝั่งใดฝั่งหนึ่งตัดสินใจที่จะตัดความสัมพันธ์นี้ ก็เหมือนเราสับมีดลงไปตรงลวดแกนลูกคิด แชนแนลก็จะถูกทำลาย และบิตคอยน์ที่ถูกล็อคไว้ใน 2-of-2 Multisignature Contract ก็จะถูกปลดปล่อยออกมาและถูกแบ่งให้กับทั้งสองฝั่งตามสัดส่วนว่าล่าสุดมีลูกคิดกองอยู่ฝั่งใครเท่าไร
นั่นคือนั่นคือเงินของแต่ละฝั่งก็จะถูกส่งเข้าแอดเดรสส่วนตัวของโหนดแต่ละฝั่งบนบิตคอยน์เน็ตเวิร์กนั่นเอง
เห็นไหม เข้าใจง่ายจะตาย
ป๊อก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ (เสียงดีดลูกคิดไปทางเดียวหลาย ๆ ที)
สมมุติว่าคุณกำลังสั่งซื้อ ฮาร์ดแวร์วอลเล็ต (Hardware Wallet) แล้วคุณอยากจะชำระเงินผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก นั่นคือคุณต้องเปิดแชนแนลระหว่างโหนดของคุณกับโหนดของร้านขายฮาร์ดแวร์วอลเล็ต เพียงเพื่อที่จะจ่ายเงินค่าสินค้าแค่ครั้งเดียว… งั้นเหรอ?
ไม่จำเป็นเลย เพราะแม้โหนดของเราจะไม่ได้เชื่อมต่อกับโหนดปลายทางโดยตรง เราก็สามารถ ‘ฝากส่งเงิน’ ผ่านคนอื่น ๆ ได้!
สมมุติว่า เราเป็นโหนด [A] ต้องการจ่ายค่าฮาร์ดแวร์วอลเล็ตให้ร้านค้า คือโหนด [D] แต่ตอนนี้มันไม่มีแชนแนล[A]===[D] เพราะฉะนั้น [A] จะส่งเงินถึง [D] โดยตรงไม่ได้
แต่บังเอิญ! ตอนนี้มีช่อง [A]===[B] แล้วก็มีช่อง [B]===[C] แถมยังมีช่อง [C]===[D] อีกด้วย
ดังนั้น ถ้า [A] อยากส่งลูกคิด 1 ลูก ให้ [D] สิ่งที่ต้องทำ คือ [A] ก็จะดีดลูกคิด 1 ลูกให้ [B] แล้ว [B] ก็ดีดลูกคิด 1 ลูกให้ [C] และ [C] ก็ดีดลูกคิด 1 ลูกให้ [D]
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ [A] จะมีลูกคิดน้อยลง 1 ลูก ในขณะที่ [D] มีลูกคิดมากขึ้น 1 ลูก ส่วน [B] และ [C] มีจำนวนลูกคิดเท่าเดิม แล้ว [A] ก็นอนตีพุงรอรับสินค้าที่บ้านได้เลย
ต้องขอบคุณโหนด [B] และ [C] เพราะถ้าไม่มี 2 โหนดนี้ [A] จะต้องเสียเวลาและ ค่าธรรมเนียมธุรกรรม (Transaction Fee) ในการสร้างแชนแนลใหม่เพื่อส่งเงินให้ [D] แต่เพราะมี 2 โหนดนี้ [A] จึงสามารถส่งเงินให้ [D] ได้อย่างรวดเร็วและฟรีอีกด้…
อะไรนะ..? ไม่ฟรีหรอ…
ขอค่าผ่านทางด้วยครับ
บ้าหรือเปล่า ใครจะเปิดคอมตัวเองทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืนเพื่อเป็นทางผ่านให้เงินของคนอื่นโดยไม่มีค่าตอบแทนล่ะ (ฮา)
เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน โหนดที่อุทิศตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเส้นทางส่งเงินสาธารณะเหล่านี้ มีสิทธิ์ที่จะเก็บ ‘ค่าผ่านทาง’ หรือ ’Routing Fee’ โดยหักออกจากเงินที่ผ่านพวกเขาไป คิดเป็นสัดส่วนจากยอดเงินนั้น
แต่มันไม่แพงเลย เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมของเครือข่ายบิตคอยน์ และยิ่งน้อยนิดเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมของระบบการเงินดั้งเดิม
เมื่อพูดถึงค่าธรรมเนียมบนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก เรามักจะใช้หน่วย ppm (Part per million) คือเก็บกี่หน่วยจากยอดหนึ่งล้านหน่วย เพราะฉะนั้น 10,000 ppm จะมีค่าเท่ากับ 1%
โดยปกติ โหนดที่พยายามทำกำไรจากการเก็บค่าผ่านทางจะตั้งค่าผ่านทางกันอยู่ที่ 100-500 ppm ก็คือ 0.01 – 0.05% เท่านั้น และหลายๆ โหนดที่ไม่ได้พยายามจะมุ่งเน้นการทำกำไรขนาดนั้น ก็อาจจะตั้งไว้ต่ำกว่านี้ หรือไม่อย่างนั้นก็ไม่ตั้งเลย
ใช่แล้ว มันก็พอจะมีคนที่รันโหนดเป็นการกุศลอยู่บ้างแหละ…
ทำไมถึงต่ำขนาดนี้ล่ะ? ก็เพราะว่าไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กเป็นเครือข่ายเปิดที่ใครก็สามารถเข้าร่วมได้ เราจึงมีไลท์นิ่งโหนดมหาศาลที่แข่งขันด้านราคากันอยู่ตลอดเวลา ใครที่ตั้งค่าผ่านทางแพงกว่าคนอื่นก็จะไม่มีใครส่งเงินผ่านและไม่สามารถทำกำไรได้ เพราะผู้ใช้งานก็จะพยายามเลือกส่งเงินผ่านเส้นทางที่ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุดเสมอ
แล้วใครคือคนที่ช่วยเราหาเส้นทางที่ถูกที่สุดในแต่ละครั้งที่เราอยากส่งเงินกันนะ..?
กรุณาจัดส่งพัสดุไปยังที่อยู่นี้ด้วยค่ะ
หากเปรียบเทียบกับการส่งพัสดุ สิ่งที่ควรจะเป็น คือผู้รับบอกผู้ส่งว่าจะให้จัดส่งพัสดุไปที่ไหน หลังจากนั้นผู้ส่ง (หรือบริการส่งพัสดุที่ผู้ส่งใช้งาน) จะเป็นคนที่มีหน้าที่ต้องคิดหาทางว่าจะส่งพัสดุไปให้ถึงปลายทางด้วยเส้นทาง หรือวิธีการแบบไหน
การส่งเงินผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กก็เช่นเดียวกัน
เมื่อมีคนตั้งใจจะจ่ายเงินให้กัน นั่นหมายถึงโหนดหนึ่งจะต้องส่งเงินให้อีกโหนดหนึ่งบนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก โหนดที่เป็นผู้รับจะต้องสร้างรหัสชุดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ไลท์นิ่งอินวอยซ์ (Lightning Invoice)’ แล้วส่งให้กับผู้ส่งเงิน โดยอาจจะส่งข้อความเป็นรหัสยาว ๆ ที่ขึ้นต้นว่า ‘lnbc1…’ หรืออาจจะแปลงรหัสนี้เป็น QR code เพื่อให้ง่ายสำหรับการสแกนด้วยกล้องก็ใช้ได้เหมือนกัน
เปรียบเทียบง่าย ๆ ไลท์นิ่งอินวอยซ์นี้ก็เปรียบเสมือนที่อยู่สำหรับจัดส่งพัสดุนั่นเอง
ทีนี้เมื่อผู้ส่งเงินได้รับอินวอยซ์มาแล้วก็ให้โหนดฝั่งตัวเองส่งเงินด้วยรหัสนี้ โหนดฝั่งผู้ส่งเงินก็จะพยายามหาเส้นทางที่ดีที่สุดเท่าที่มันจะทำได้แล้วส่งเงินออกไป เงินก็จะถูกส่งต่อผ่านโหนดอื่น ๆ ในโครงข่ายไปจนถึงโหนดปลายทาง เป็นอันเสร็จพิธี
อีกเรื่องที่ควรรู้ก็คืออินวอยซ์นี่มันก็มีปัญหาในการใช้งานอยู่เหมือนกัน ที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นอินวอยซ์ที่สร้างมาจะสามารถถูกใช้ส่งเงินได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น อยากจะส่งเงินกันใหม่ก็ต้องสร้างอินวอยซ์ใหม่ แถมยังมีเวลาหมดอายุเสียด้วย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพิมพ์ไลท์นิ่งอินวอยซ์เป็น QR code แปะไว้หน้าร้านให้ลูกค้าทุกคนสแกนป้ายเดียวกันแล้วรับเงินรัว ๆ ได้เหมือน พร้อมเพย์ (PromptPay) นี่เป็นปัญหาใหญ่พอสมควร และยังมีความต้องการใช้งานรูปแบบอื่น ๆ อีกที่ชาวบิตคอยน์อยากจะทำด้วยไลท์นิ่ง แต่อินวอยซ์ทำไม่ได้
ดังนั้นตอนนี้ก็เลยมีความพยายามแก้ปัญหานี้ อย่างเช่น LNURL และมาตรฐานใหม่ที่ชื่อว่า BOLT12 ซึ่งคุณ Teemie1 ได้เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้วในบทความ LNURL ช่วยให้การจ่ายเงินบน Lightning Network ง่ายขึ้นได้อย่างไร
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ได้ก็ขอแสดงความยินดีด้วย คุณคงเข้าใจหลักการทำงานของไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กดีเกินมาตรฐานแล้วสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป และแน่นอนว่าต้องเข้าใจว่า ไลท์นิ่งโหนด คือสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยไม่ว่าจะเป็นผู้รับหรือผู้ส่งเงินก็ตาม
ทีนี้ คุณคงอยากจะมีไลท์นิ่งโหนดไว้ใช้งานบ้างแล้ว และอาจจะกำลังคิดว่าจะหาคอมพิวเตอร์แบบไหนมารันโหนดดี ‘ราสเบอร์รี่ ไพ (Raspberry Pi)’ ไหม? หรือใช้ ‘มินิพีซี (mini PC)’ ดี? หรือจะไปคุ้ยหาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเก่า ๆ ในห้องเก็บของมาลองดู…
หรือไม่อย่างนั้น ก็พึ่งโหนดของคนอื่นไปพลาง ๆ ก่อนละกัน…
ไลท์นิ่งวอลเล็ต (Lightning Wallet)
การใช้งานไลท์นิ่งไม่เหมือนบิตคอยน์ตรงที่ในระบบบิตคอยน์เราสามารถ ‘เก็บรักษาบิตคอยน์ด้วยตัวเอง (Self-custody)’ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโหนดของตัวเอง แต่สำหรับไลท์นิ่งแล้วการ Self-custody นั้นเป็นไปไม่ได้เลยถ้าคุณไม่มีโหนด
เพราะว่าบิตคอยน์ที่อยู่ในไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กนั้นก็คือบิตคอยน์ที่อยู่ในไลท์นิ่งแชนแนล ซึ่งคุณจะมีแชนแนลไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีไลท์นิ่งโหนด
แต่ข่าวดีข้อแรกก็คือ ในทางเทคนิคแล้ว สมาร์ทโฟน ของเราก็เป็นคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถใช้สมาร์ทโฟนเป็นไลท์นิ่งโหนดได้
และข่าวดีข้อที่สอง คือถ้าเราไม่ซีเรียสกับการ Self-custody มากนัก เราก็สามารถใช้งานไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กแบบ คัสโตเดียล (Custodial) ได้เช่นกัน และสะดวกสบายมาก ๆ ด้วย
นอน-คัสโตเดียล วอลเล็ต (Non-custodial Wallet)
ไลท์นิ่งโหนดก็เช่นเดียวกับบิตคอยน์โหนด คือเมื่อเราติดตั้งแล้วก็จะได้วอลเล็ตมาใช้งานด้วย ดังนั้นหากคุณอยากจะหา ราสเบอร์รี่ ไพ สักตัวมารัน ‘Routing Node’ พร้อมกับฝากตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิของพี่เดชาละก็ คุณก็จะได้ นอน-คัสโตเดียล วอลเล็ต มาใช้โดยอัตโนมัติแล้วเราก็คงไม่ต้องห่วงเรื่องนั้นกันอีก แต่วันนี้เราจะยังไม่พูดถึงเรื่องแบบนั้น แล้วก็จะยังไม่พูดถึงแอปวอลเล็ตประเภทที่เชื่อมต่อเพื่อควบคุมโหนดของเราเองด้วย อย่างที่บอก วันนี้เราจะคุยกันแค่ความรู้ระดับผู้ใช้งานทั่วไปเท่านั้น
(อะไรนะ? ยังไม่รู้จักพี่เดชางั้นหรอ… ไปทำความรู้จักเขาได้ที่บทความนี้ : สัมภาษณ์ นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล Lightning Expert ของไทย
ทีนี้ ถ้าคุณไม่ใช่สายแข็งขนาดนั้น แต่ก็แข็งพอที่จะอยากใช้งานไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กแบบนอน-คัสโตเดียล มันก็มีแอปพลิเคชั่นบางตัวใน App Store ที่คุณสามารถติดตั้งในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพื่อให้โทรศัพท์ของคุณกลายเป็นโหนดได้ ยกตัวอย่างเช่น Breez, Phoenix และ Blixt wallet เป็นต้น
ซึ่งราคาของความไม่เชื่อใจที่คุณต้องจ่าย คือการที่คุณต้องบริหารจัดการไลท์นิ่งแชนแนลเอง ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร รวมไปถึงการเก็บ ‘Seed’ และไฟล์ ‘Stage Channel Backup (SCB)’ ให้ดีเผื่อไว้กู้คืนเงินในกรณีที่เกิดปัญหากับโทรศัพท์ของคุณ ความผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้นอาจลงเอยด้วยการที่คุณสูญเสียเงินทั้งหมดในนั้น และไม่มีใครสามารถช่วยเหลือคุณได้เลย (แต่เราจะยังไม่ลงลึกเรื่องความปลอดภัยเหล่านั้นกันในตอนนี้)
นอกจากนี้ อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าโหนดมีภาระหน้าที่ในการคำนวณหาช่องทางส่งเงินในทุก ๆ ครั้งที่เราจะส่งเงิน และมีหน้าที่สร้างอินวอยซ์ในกรณีที่เราจะรับเงิน รวมไปถึงเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในส่วนของไลท์นิ่งและออนเชนที่จำเป็น ภาระเหล่านี้ก็จะกินสเปคโทรศัพท์มือถือของเราพอสมควร แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็มากกว่าการใช้วอลเล็ตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งคุณคงพอเดาได้แล้วว่าคือประเภทไหน
คัสโตเดียล วอลเล็ต (Custial Wallet)
‘Not your keys, not your coins’ คือคำจำกัดความสำหรับ Custodial Service ทั้งหมดรวมถึง คัสโตเดียล วอลเล็ต ด้วย เพราะว่าคัสโตเดียล วอลเล็ต ก็คือบริการที่เราจะต้องฝากเงินของเราไว้กับผู้ให้บริการวอลเล็ต โดยยอดเงินที่เราเห็นผ่านหน้าจอ ที่จริงแล้วเป็นเพียงยอดเงินใน บัญชี (Account) ที่เรามีกับผู้ให้บริการ ไม่ต่างกับบัญชีธนาคาร แอปเป๋าตัง หรือทรูมันนี่วอลเล็ต
ราคาของความเชื่อใจ คือการแบกรับความเสี่ยงที่ว่าผู้ให้บริการวอลเล็ตอาจยักยอกหรือขโมยเงินในบัญชีของเราไปได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือประสบการณ์ใช้งานที่ดี รวดเร็ว และลื่นไหลกว่านอน-คัสโตเดียล วอลเล็ต เพราะว่าแอปพลิเคชั่นที่เราติดตั้งในโทรศัพท์นั้นเป็นเพียงแค่ ‘ฉากหน้า (Front-end)’ ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานอย่างเรากับเซิร์ฟเวอร์และไลท์นิ่งโหนดของผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงและได้รับการบริหารจัดการอย่างดี
วอลเล็ตประเภทนี้ ยกตัวอย่างเช่น Wallet of Satoshi, Muun, BlueWallet หรือ VoltPay
หากในอนาคตมีไลท์นิ่งวอลเล็ตชื่ออื่น ๆ โผล่ออกมาอีก และคุณอยากได้วิธีแยกอย่างง่ายว่าอันไหนเป็นคัสโตเดียล หรืออันไหนเป็นนอน-คัสโตเดียลละก็ หลักการคือไลท์นิ่งโหนดฝั่งผู้รับเงินจะต้องออนไลน์อยู่ในขณะที่รับเงิน ดังนั้นถ้าวอลเล็ตไหนสร้างอินวอยซ์แล้วบังคับให้คุณเปิดหน้าแอปไว้จนกว่าเงินจะเข้า ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าแอปนั้นทำให้โทรศัพท์ของคุณกลายเป็นไลท์นิ่งโหนดที่คุณดูแลเอง และคุณกำลังใช้งานนอน-คัสโตเดียลวอลเล็ตอยู่ แต่ถ้าแอปไหนสร้างอินวอยซ์เสร็จแล้วเราปิดแอปปิดหน้าจอไป แต่คนอื่นยังสามารถใช้อินวอยซ์นั้นส่งเงินได้ ก็แปลว่าโหนดตัวจริงที่รับเงินให้คุณน่ะกำลังออนไลน์อยู่ที่อื่น และคุณกำลังใช้งานคัสโตเดียลวอลเล็ตอยู่
ทีนี้เมื่อคุณเข้าใจความแตกต่างระหว่างไลท์นิ่งวอลเล็ตสองประเภทนี้ดีแล้ว และอยากพิจารณาให้ละเอียดขึ้นว่าจะเลือกดาวน์โหลดวอลเล็ตตัวไหนมาใช้ดี ลองดูรีวิววอลเล็ตแต่ละตัวได้ที่บทความ แนะนำ Lightning Wallet น่าใช้งาน
ใช้เวลาไม่นานนัก คุณก็คงได้วอลเล็ตที่เหมาะกับตัวเองมาติดตั้งไว้ในโทรศัพท์มือถือแล้วเรียบร้อย ทีนี้ คำถามต่อไป… เราจะทำอย่างไรกับยอดเงิน ‘0 satoshi’ ในนั้นดี?
วิธีเติมเงินเข้าไลท์นิ่งวอลเล็ต
ก่อนที่เราจะส่งบิตคอยน์ผ่านไลท์นิ่งให้ใคร เราก็ต้องมีบิตคอยน์ในไลท์นิ่งวอลเล็ตเสียก่อน ซึ่งการเติมเงินก็มีอยู่หลายวิธีให้เลือกใช้ แต่ละวิธีก็มีความยากง่ายและค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน
วิธีที่ 1 เปิดไลท์นิ่งแชนแนลด้วยตัวเอง
วิธีนี้คือต้นกำเนิดของทุก ซาโตชิ (Satoshi) ที่โลดแล่นอยู่บนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่าการเปิดไลท์นิ่งแชนแนล คือการโอนบิตคอยน์เข้าไปในบิตคอยน์แอดเดรสแบบพิเศษ ซึ่งจะเป็นการล็อคบิตคอยน์ไว้ในนั้นและก่อให้เกิดเป็นช่องทางรับส่งเงินที่มีบิตคอยน์ไลท์นิ่งอยู่ในนั้นเท่ากับจำนวนที่ถูกล็อคเอาไว้
หากคุณใช้วอลเล็ตที่เป็นโหนดในตัวและมีฟังก์ชั่นครบครันอย่าง Blixt Wallet คุณก็สามารถที่จะเปิดแชนแนลกับโหนดอื่นได้ผ่านตัวแอปได้เลย โดยการเปิดแชนแนลนี้แท้จริงแล้วก็คือการทำธุรกรรมบนระบบหลักของบิตคอยน์เน็ตเวิร์ก ค่าใช้จ่ายของกระบวนการนี้ก็คือค่าธรรมเนียมสำหรับส่งธุรกรรมไปบรรจุลงในบล็อกนั่นเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกรรมและความใจร้อนของคุณ ค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดที่เป็นไปได้ก็อยู่ที่เพียง 166 sats เท่านั้น หากคุณใช้เพียง 1 UTXO เป็น อินพุท (input) และจ่ายค่าธรรมเนียมด้วยอัตราขี้เหนียวที่สุดที่ 1 sat/vB
(อ๊ะ ๆ งงล่ะสิว่า UTXO คืออะไร ตามไปอ่านดูได้ที่บทความนี้เลย UTXO ทำงานอย่างไร?)
เนื่องจากคุณเป็นฝ่ายที่เปิดแชนแนล เมื่อแชนแนลถูกเปิดสำเร็จเงินทั้งหมดในแชนแนลก็จะอยู่ที่ฝั่งของคุณ ซึ่งคุณสามารถส่งให้กับโหนดอีกฝั่ง หรือฝากส่งไปยังโหนดใด ๆ บนไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ทันที
วิธีที่ 2 ให้คนอื่นเปิดไลท์นิ่งแชนแนลมาหา แล้วผลักเงินมาฝั่งเรา
ใช่ว่าไลท์นิ่งวอลเล็ตที่เป็นโหนดในตัวทุกอันจะให้เราสามารถเป็นฝ่ายเปิดแชนแนลเองได้เหมือนอย่าง Blixt หากเป็น Phoenix หรือ Breez ละก็ เราจะไม่สามารถเปิดแชนแนลเองได้ แต่ว่าสามารถให้คนอื่นเปิดแชนแนลมาหาเราได้
วิธีแรกก็คือการใช้บริการเสริมของตัวผู้ให้บริการวอลเล็ตนั้น อย่างเช่นในกรณีของ Phoenix และ Breez หากเราพยายามจะรับเงินมากกว่า Inbound Capacity (จำนวนเงินในแชนแนลที่เปิดกับเราและกองอยู่ฝั่งตรงข้าม คือจำนวนเงินที่เราสามารถรับโอนได้) เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการจะนำยอดเงินที่ถูกโอนเข้ามานั้นไปทำธุรกรรม เปิดแชนแนลระหว่างโหนดของตัวเขาและโหนดของเรา จากนั้นก็จะผลักยอดเงินที่เรารับโอนนั้นมาทางฝั่งเราโดยหักค่าบริการสำหรับการเปิดแชนแนล เราก็จะมีแชนแนลใหม่กับโหนดของผู้ให้บริการวอลเล็ตโดยมีเงินพร้อมใช้กองอยู่ฝั่งเรา (เรียกว่า Outbound Capacity)
อีกวิธีหนึ่งคือแทนที่จะพึ่งพาระบบอัตโนมัติของผู้ให้บริการวอลเล็ต เราสามารถให้โหนดอื่น ๆ เปิดแชนแนลมายังโหนดของเราได้ โดยนำ พับลิคคีย์ ของโหนดเราไปให้กับโหนดฝั่งตรงข้าม หากเราไม่มีโหนดอื่น หรือรู้จักใครที่เขาอยากจะเปิดแชนแนลกับเรา ก็สามารถใช้บริการ LSP (Lightning Service Provider) ให้โหนดของเขาเปิดแชนแนลมาถึงโหนดเราได้แลกกับค่าบริการจำนวนหนึ่ง ยกตัวอย่าง LSP ที่ใช้งานง่ายก็อย่างเช่น Blocktank ซึ่งเราสามารถสั่งซื้อแชนแนลได้ผ่านหน้าเว็บไซต์และชำระค่าบริการได้ด้วยบิตคอยน์ โดยที่เราสามารถกำหนดให้ Blocktank ผลักเงินในแชนแนลที่เปิดใหม่มาทางเราได้ด้วย เราก็จะสามารถส่งเงินด้วยแชนแนลใหม่นั้นได้เลย
วิธีที่ 3 ใช้ไลท์นิ่งวอลเล็ตที่สามารถแปลงบิตคอยน์ออนเชนเป็นไลท์นิ่งได้
ข่าวดีสำหรับคนใช้วอลเล็ตอย่าง Wallet of Satoshi, Muun และ BlueWallet คือวอลเล็ตเหล่านี้มีบริการแปลงบิตคอยน์ออนเชนเป็นไลท์นิ่งได้
อย่างในกรณีของ Wallet of Satoshi และ Muun เมื่อคุณกด ‘รับเงิน (Receive)’ คุณจะสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงิน ไลท์นิ่งอินวอยซ์ หรือ บิตคอยน์แอดเดรส และเนื่องจากสองแอปนี้มียอดเงินเดียวที่ใช้ร่วมกันระหว่างไลท์นิ่งและออนเชน ดังนั้นเมื่อคุณโอนบิตคอยน์เข้าวอลเล็ตผ่านบิตคอยน์เน็ตเวิร์กได้สำเร็จ คุณก็สามารถใช้ยอดเงินนั้นโอนออกผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิรกได้ทันที!
ส่วนในกรณีของ Blue Wallet เขามีบริการแปลงยอดเงินจาก ออนเชนวอลเล็ต มายัง ไลท์นิ่งวอลเล็ต ได้โดยการกดปุ่ม ‘Manage Funds’
นับว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกสบายพอสมควร แต่บางวอลเล็ตก็คิดค่าบริการ อย่าลืมดูให้ดี ๆ ก่อนล่ะ
วิธีที่ 4 ใช้บริการตัวกลางสำหรับแปลงสกุลเงิน
วิธีนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเรามีแชนแนลที่พร้อมรับเงินอยู่แล้ว หรือเราไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องแชนแนลเพราะเราใช้บริการคัสโตเดียลวอลเล็ต
ตัวกลางอย่างที่ว่าซึ่งได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้คือ FixedFloat ซึ่งเราสามารถโอนชิตคอ… เอ้ย! อัลท์คอยน์ (Altcoin) สกุลอื่นเข้าไปยังเว็บไซต์นี้เพื่อแปลงเป็นบิตคอยน์ไลท์นิ่งส่งเข้าวอลเล็ตของเราได้
คุณจึงสามารถเติมเงินบาทเข้าไปใน เอ็กซ์เชนจ์ (Exchange) ที่คุณใช้งานอยู่ เปลี่ยนเงินบาทเป็นอัลท์คอยน์สักตัวที่ค่าถอนถูกและโอนไวเพื่อโอนไปยัง FixedFloat วิธีการนี้คุณ Notoshi เคยเขียนคู่มือไว้แล้วในบทความ วิธีแลกเปลี่ยน Lightning ด้วย FixedFloat
วิธีที่ 5 ใช้บริการเอ็กซ์เชนจ์ที่สามารถถอนบิตคอยน์ผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้
คล้ายกับวิธีการที่แล้ว คือเราอาจต้องใช้เอ็กซ์เชนจ์ไทยหรือไม่ก็ใช้ฟังก์ชั่น P2P ในเอ็กซ์เชนจ์แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนเงินบาทเป็นเหรียญดิจิทัลสักตัว จากนั้นก็โอนเหรียญที่ว่าไปยังเอ็กซ์เชนจ์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถถอนบิตคอยน์ผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ เพื่อที่จะได้เทรดเหรียญที่โอนมานั้นเป็นบิตคอยน์และถอนเข้าสู่ไลท์นิ่งวอลเล็ตของเรา
เอ็กซ์เชนจ์ที่สามารถทำอย่างนี้ได้ เช่น Kraken และ OKX นอกจากนี้ก็ยังมีเอ็กซ์เชนจ์อื่น ๆ อีกแต่เป็นเอ็กซ์เชนจ์ขนาดเล็กที่ดูไม่ค่อยปลอดภัยนักที่จะใช้งาน
//คำแนะนำสำหรับชาวบิตคอยน์! – อย่าเก็บเงินไว้ในเอ็กซ์เชนจ์!!!
วิธีที่ 6 ให้ผู้ใช้งานไลท์นิ่งคนอื่นส่งบิตคอยน์ให้เรา
แล้ว… ทำไมเขาจะต้องส่งบิตคอยน์ให้คุณด้วยล่ะ? บางทีคุณอาจจะขอซื้อต่อจากเพื่อนคุณที่มีบิตคอยน์ไลท์นิ่งในวอลเล็ตไหม หรือถ้าคุณขายของอะไรบางอย่างอยู่ ก็สามารถเปิดรับชำระค่าสินค้าเป็นไลท์นิ่งได้นะ หรือไม่อย่างนั้นก็ลองมาเขียนบทความลงใน RightShift.io เหมือนผมบ้าง ก็สามารถรับทิปเป็นไลท์นิ่งได้ด้วย
ชักสนใจแล้วล่ะสิ ลองอ่านรายละเอียดการส่งบทความที่ลิงค์นี้ดู : ทำไมเราจึงควรเผยแพร่บทความผ่าน Right Shift ?
เป็นอย่างไรบ้าง..? มีให้เลือกตั้งหกวิธี ไม่ยากเกินไปใช่ไหม
ตอนนี้เราถึงไหนกันแล้วนะ คุณรู้แล้วว่าไลท์นิ่งคืออะไรมีประโยชน์อย่างไร คุณรู้แล้วว่าไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กทำงานอย่างไร คุณดาวน์โหลดวอลเล็ตแล้ว มีบิตคอยน์ในวอลเล็ตแล้ว จนถึงตอนนี้คุณคงรับส่งเงินได้อย่างรวดเร็วและสนุกสนานแล้ว
ทีนี้ ขั้นตอนสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ เพราะจนถึงจุดหนึ่งคุณจะต้องสงสัยแน่ ๆ ว่าคุณจะเอาบิตคอยน์ในไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กกลับมายังบิตคอยน์เน็ตเวิร์กได้อย่างไร
วิธีนำบิตคอยน์ออกจากไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก
งานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกรา สักวันบิตคอยน์ที่ใช้ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กโอนไปมาก็ต้องกลับสู่ ‘Cold Storage’ หัวข้อสุดท้ายสำหรับบทความนี้คือเราจะมาดูกันว่าคุณสามารถนำบิตคอยน์ในไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กกลับมายังบิตคอยน์เน็ตเวิร์กได้กี่วิธี
วิธีที่ 1 ปิดแชนแนล
เช่นเดียวกับวิธีแรกในหัวข้อก่อน ที่การเปิดแชนแนลคือแม่แบบของการนำบิตคอยน์เข้าสู่ไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก การปิดแชนแนลก็คือแม่แบบของการนำบิตคอยน์ออกจากไลท์นิ่งเน็ตเวิร์ก แต่ละหน่วยซาโตชิที่ถูกส่งไปส่งมาเป็นหมื่นเป็นแสนรอบในแชนแนล จะกลับไปพักผ่อนในบิตคอยน์เน็ตเวิร์กได้ก็ด้วยการปิดแชนแนลนี่เอง
เมื่อปิดแชนแนล บิตคอยน์ที่ถูกล็อคไว้ในแอดเดรส 2-of-2 Multisignature Contract จะได้รับการปลดปล่อย และถูกแบ่งให้กับโหนดทั้งสองฝั่ง จำนวนที่แต่ละฝ่ายจะได้รับก็ขึ้นกับว่าล่าสุดในแชนแนลนั้นมีเงินกองอยู่ฝั่งไหนเป็นจำนวนเท่าไร โดยที่เงินที่ถูกปลดออกมาก็จะถูกส่งไปยังบิตคอยน์แอดเดรสของแต่ละฝั่ง
หากคุณใช้งาน Blixt Wallet หรือ Phoenix คุณก็สามารถที่จะสั่งปิดแชนแนลที่คุณมีได้ผ่านหน้าแอป จากนั้นก็รอให้ธุรกรรมการปิดแชนแนลนั้นถูกบรรจุลงในบล็อกเชน บิตคอยน์ก็จะถูกโอนเข้าแอดเดรสของคุณ
วิธีที่ 2 ใช้ไลท์นิ่งวอลเล็ตที่สามารถแปลงบิตคอยน์ไลท์นิ่งเป็นออนเชนได้
ถ้า Wallet of Satoshi และ Muun ให้คุณส่งเงินเข้าไปด้วยบิตคอยน์เน็ตเวิร์กและส่งเงินออกมาด้วยไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ ทำไมเราจะทำกลับกันไม่ได้?
หากคุณก็อบปี้บิตคอยน์แอดเดรสไว้ในคลิปบอร์ดของโทรศัพท์ หรือเปิดกล้องสแกน QR code ที่เป็นบิตคอยน์แอดเดรส ทั้งสองวอลเล็ตนี้จะรู้ได้เองว่าคุณต้องการส่งบิตคอยน์ไปยังแอดเดรสนั้นผ่านบิตคอยน์เน็ตเวิร์ก
ข้อแตกต่างที่คุณควรรู้ไว้คือ Wallet of Satoshi จะคิดค่าโอนออกออนเชนเป็นตัวเลขกลม ๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน บางวันผมก็เห็น 7,000 ซาโตชิ บางวันก็ 12,000 ซาโตชิซึ่งค่อนข้างสูงทีเดียว ในขณะที่ Muun นั้นคุณสามารถเลือกอัตราค่าธรรมเนียมที่ต้องการจ่ายเองได้
วิธีที่ 3 ใช้บริการตัวกลางสำหรับแปลงสกุลเงิน
คุ้น ๆ ใช่ไหม เพราะวิธีนี้ก็คือการใช้เว็บไซต์ FixedFloat แปลงบิตคอยน์ไลท์นิ่งกลับเป็นบิตคอยน์ออนเชนนั่นเอง คงไม่ต้องอธิบายให้มากมายล่ะ
วิธีที่ 4 ใช้บริการเอ็กซ์เชนต์ที่สามารถฝากบิตคอยน์ด้วยไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้
ก็ถ้า Kraken และ OKX ให้คุณสามารถถอนบิตคอยน์ผ่านไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้ เขาก็ต้องให้คุณสามารถฝากบิตคอยน์เข้าบัญชีด้วยไลท์นิ่งเน็ตเวิร์กได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณก็สามารถทำตรงกันข้ามกับวิธีการในข้อที่แล้วได้เลย คือฝากบิตคอยน์เข้าบัญชีด้วยไลท์นิ่ง แล้วถอนออกทางออนเชน ก็จะเสียค่าถอนนิดหน่อยเป็นค่าผ่านทาง
สำหรับช่วงนี้ผมค่อนข้างแนะนำ Kraken เพราะว่าค่าถอนบิตคอยน์ออกทางออนเชนก็ถูกมากเมื่อเทียบกับเอ็กซ์เชนจ์อื่น ๆ คือครั้งละ 1,000 sats เท่านั้นเอง
//เตือนอีกครั้งสำหรับชาวบิตคอยน์! – อย่าเก็บเงินไว้ในเอ็กซ์เชนจ์!!!
วิธีที่ 5 แลกเปลี่ยนแบบ OTC (Over the Counter)
พูดให้หรูไปเท่านั้นแหละ ที่จริงแล้วก็หมายถึงให้ไปหาคนที่มีบิตคอยน์ออนเชนแล้วอยากได้บิตคอยน์ไลท์นิ่ง คุณโอนไลท์นิ่งให้เขา เขาโอนออนเชนให้คุณ ก็เท่านั้นเอง (ระวังโดนโกงด้วยล่ะ)
สำหรับใครที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ได้ คุณสุดยอดมาก และตอนนี้คุณพร้อมที่จะโลดแล่นในจักรวาลไลท์นิ่งแล้ว และยิ่งกว่านั้นคือคุณพร้อมที่จะพาคนอื่นเดินทางไปพร้อมกับคุณด้วย!
แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากการใช้ไลท์นิ่งทำอะไร เลื่อนลงไปข้างล่างสักหน่อย เห็นปุ่มที่เขียนว่า ‘Donate sats’ ใต้รูปแมวส้มข้างล่างนั่นไหม นั่นแหละ ๆ ลองกดดูเลย!!!
3 Comments
บทความดีงามอลังการ
สุดยอดไปเลยครับ อ่านแล้วเข้าใจเลยทีเดียว 🙂
[…] การมาถึงของ Lightning Network ช่วยให้การใช้งานหลากหลายมากขึ้น […]