บิตคอยน์เป็นเงิน หรือไม่เป็นเงินกันแน่ เป็นหัวข้อที่เคยร้อนแรงบนพื้นที่อินเทอร์เน็ตในไทยในช่วงปี 2021-2022 ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการผลักดันวาระโดยชาวบิตคอยน์ไทย รวมไปถึงความพยายามของกระดานเทรด (exchange) ในการสนับสนุนให้มีการใช้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) ผ่านการประกาศสร้างความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจต่างๆ ก่อนจะต้องรามือไปจากการสั่งห้ามโดย ก.ล.ต. ซึ่งถูก ‘ขอความร่วมมือ’ มาจาก ธปท. อีกทอดหนึ่ง
นำไปสู่การถกเถียง ก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์ สกู๊ปข่าว คลิปสัมภาษณ์และดีเบตอีกมากมายนับไม่ถ้วนเพื่อพยายามหาข้อสรุปว่าบิตคอยน์นั้นเป็นเงิน หรือไม่เป็นเงินกันแน่
ทั้งหมดที่ว่ามานั้น เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์
มันไม่มีทางมีข้อสรุปว่าบิตคอยน์เป็นเงินหรือไม่เป็นเงินกันแน่ และนี่คือเหตุผล
1. ของบางอย่างไม่ได้เป็นเงิน เพียงเพราะมีใครบางคนบอกให้มันเป็นเงิน
Bitcoin : A peer-to-peer electronic cash system
ข้อความชุดแรกจาก Bitcoin whitepaper โดย Satoshi Nakamoto
ข้อความนี้ถูกหยิบยกและใช้โดยชาวบิตคอยน์ทั่วไปในช่วงเวลาแห่งการปะทะคารม เพื่อยืนยันว่าบิตคอยน์นั้นเป็น “เงินสด” ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของ “เงิน” ตามเจตนารมณ์ของผู้สร้าง
กระนั้น ข้อความนี้ไม่ได้มีน้ำหนักอะไร
เพราะหากชาวบิตคอยน์สามารถอ้างเช่นนี้ได้ โปรเจกต์เหรียญอื่นๆ ก็คงสามารถเป็นเงินได้เช่นกันด้วยการประกาศข้อความลักษณะนี้ลงใน whitepaper ของพวกเขา
รวมไปถึงเครื่องมือสอดส่องประชาชนอย่าง CBDC (Central Bank Digital Currency) ของรัฐบาลต่างๆ ก็คงเป็นเงินด้วยเช่นเดียวกัน
ในทางกลับกัน เหล่าเงินบรรพกาลต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ หรือถูกผลิตขึ้นตามวัฒนธรรมโดยไม่ปรากฎผู้ประดิษฐ์คิดค้นเป็นตัวตน ก็คงไม่มีทางเป็นเงินได้ เพียงเพราะว่าไม่มีบุคคลสำคัญมาประกาศเป็นหลักฐานว่าให้สิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นเงิน กระนั้นหรือ?
เช่นนั้นแล้ว การที่วัตถุประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเงินมาก่อน หรืออาจดำรงอยู่มาก่อนการกำเนิดของเผ่าพันธุ์มนุษย์เสียด้วยซ้ำ ได้เปลี่ยนบทบาทมาสู่การเป็นเงินสำหรับกลุ่มชนใดๆ ด้วยฝีมือของใครกันแน่?
2. ของบางอย่างเป็นเงิน เพราะว่าผู้คนให้มันเป็นเงิน
ปัจจุบันหินรายเป็นเงินหรือไม่? – ไม่
ปัจจุบันเกลือเป็นเงินหรือไม่? – ไม่
ปัจจุบันวัวเป็นเงินหรือไม่? – ไม่
ปัจจุบันลูกปัดอักรีเป็นเงินหรือไม่? – ไม่
ปัจจุบันแร่เงินเป็นเงินหรือไม่? – ไม่
ของเหล่านี้ “เคย” เป็นเงิน
ดูเหมือนว่า “ความเป็นเงิน” จะเป็นคุณลักษณะที่สามารถ “ได้มา” และ “สูญเสีย” ได้
หากกัปตันโอ’ คีฟ (David O’Keefe) มีเหรียญทองคำในกระเป๋า เขาสามารถคาดหวังได้ว่าผู้คนในเมืองท่าของทุกคาบสมุทรที่เขาแล่นสำเภาไปเทียบท่าจะยอมแลกสินค้ากับพวกมัน แต่เมื่อเรืออับปาง และเขาบังเอิญลอยไปเกยตื้นที่เกาะแยป ทำไมเหรียญทองคำชิ้นเดียวกันกลับสูญเสียความเป็นเงินไปเสียสิ้น
ดูเหมือนว่า “ความเป็นเงิน” สามารถเกิดขึ้นกับของอย่างใดอย่างหนึ่งในบางพื้นที่ แต่เพียงแค่ข้ามดินแดนไปก็กลับอันตรธานไปเสียอย่างนั้น
มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเหรียญทองคำพวกนั้นหรือ? ไม่เลย สิ่งที่เปลี่ยนคือผู้คนที่รายล้อมมันต่างหาก
3. มีคน ก็มีเงิน
หากคุณเคยอ่านหนังสือ The Bitcoin Standard มาแล้ว คุณคงจะพอเห็นภาพมาบ้างว่าเงินนั้นมีหน้าที่อย่างไร และคุณสมบัติใดบ้างที่ทำให้ของบางสิ่งสามารถทำหน้าที่เหล่านั้นได้ดี
พัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ก็เวียนวนอยู่กับการมองหาเงินที่ดีกว่าเช่นนี้เอง
กระนั้นคำถามชวนคิดก็คือ หากในพื้นที่หนึ่งไม่มีสิ่งของที่มีความสามารถในการเป็นเงินที่ดีอยู่เลย มนุษย์ในพื้นที่นั้นจะเป็นอย่างไร พวกเขาจะไม่ใช้เงินเพราะไม่มีเงินให้ใช้งั้นหรือ?
เปล่าเลย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างเช่นในเรือนจำ ที่ซึ่งคนไม่สามารถเข้าถึงเงินโดยปกติที่สังคมภายนอกใช้กันได้ ภายใต้สภาวะเช่นนั้น บุหรี่ หรือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกเลือกมาใช้เป็นเงินโดยฉันทามติในหมู่ผู้ต้องขังทั้งหลาย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสองสิ่งนี้ห่างไกลจากนิยามของ ‘เงินที่ดี’ เป็นอย่างมากและเราคงไม่ใช้มันเป็นเงินในสภาวะปกติแน่ๆ แต่เพียงแค่ ‘ดีที่สุดที่หาได้’ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สังคมเลือกใช้สิ่งนั้นเป็นเงิน
ตราบใดที่มนุษย์ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สิน ยังมีความคิดเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน มนุษย์นั้นย่อมต้องการใช้บางสิ่งเป็นตัวกลางในการสื่อสารมูลค่าระหว่างกัน นั่นคือเงิน และสิ่งที่ดีที่สุดที่หาได้ก็จะถูกหยิบฉวยมาใช้เป็นเงินเสมอ
4. ไม่มีสิ่งใดเป็นเงิน มีแต่สิ่งที่ถูกใช้เป็นเงิน
ด้วยการพิจารณาอย่างถ้วนถี่ตามนี้เราย่อมไปถึงข้อสรุปที่ว่า ความเป็นเงินไม่ได้เป็นคุณสมบัติเชิงวัตถุวิสัยของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
หรือกล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ ไม่มีอะไรเลยที่มีความเป็นเงินอยู่ในตัวมันเอง สิ่งที่เป็นเงิน ก็เพราะว่าผู้คนใช้มันเป็นเงิน และสิ่งที่ไม่ได้เป็นเงิน ก็เพราะว่าผู้คนไม่ได้ใช้มันเป็นเงิน
ยกตัวอย่างเช่นทองคำ หากเรากล่าวว่าทองคำเป็นโลหะ นั่นคือคุณสมบัติเชิงวัตถุวิสัย เพราะความเป็นโลหะของทองคำนั้นเป็นความจริงโดยไม่ขึ้นกับผู้สังเกต
แต่หากใครซื้อทองคำมาเก็บไว้ แล้วให้นิยามทองคำนั้นเป็น ‘สินทรัพย์’
หรือซื้อสร้อยทองคำมาสวมใส่ แล้วให้นิยามทองคำนั้นเป็น ‘เครื่องประดับ’
หรือหยิบก้อนทองมาฟาดหัวใคร แล้วให้นิยามทองคำนั้นเป็น ‘อาวุธ’
ความเป็นสิ่งต่างๆ ของทองคำอย่างที่กล่าวมานั้น เป็นคุณสมบัติเชิงอัตวิสัย เพราะความเป็นจริงในลักษณะนั้นขึ้นอยู่กับตัวผู้สังเกต ว่าจะใช้ ว่าจะมองให้ทองคำเป็นอะไร
หากจะกล่าวว่าทองคำเป็นเงิน ก็เพราะมีคนใช้มันเป็นเงิน ซึ่งอาจจริงสำหรับบางคนในบางพื้นที่ และไม่จริงสำหรับบางคนในบางพื้นที่ พร้อม ๆ กันก็ได้
ความเป็นเงินของบิตคอยน์ก็เช่นเดียวกัน
‘ความเป็นเงิน’ มันไม่สนว่าใครจะตีตราว่าบิตคอยน์เป็นเงินหรือไม่ หากมีใครใช้งานบิตคอยน์เป็นเงิน บิตคอยน์ก็เป็นเงินสำหรับพวกเขาแล้ว
สำหรับผู้คนในประเทศที่ค่าเงินล่มสลาย
สำหรับผู้คนที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดเมืองนอน
สำหรับผู้คนที่ถูกรัฐสอดส่องเส้นทางการเงิน
สำหรับผู้คนที่เหนื่อยหน่ายกับเงินที่สามารถพิมพ์ได้จากอากาศ และเสื่อมค่าได้ตามลมปากของคนไม่กี่คน
บิตคอยน์ก็เป็นเงินแล้ว
ความพยายามในการยกเหตุผลร้อยแปดเพื่อโน้มน้าวว่าบิตคอยน์ไม่สามารถเป็นเงิน ดูน่าขันพอๆ กับการเผชิญหน้าชายที่มีทองก้อนใหญ่ในมือ แล้วพยายามเอาตัวรอดโดยการพูดโน้มน้าวว่าทองคำไม่มีคุณสมบัติในการเป็นอาวุธ
รู้ตัวอีกทีก็ถูกก้อนทองฟาดหัว ลงไปนอนจมกองเลือดอยู่ที่พื้นแล้ว
เปล่าประโยชน์
One comment
ทำเป็นเล่นไป ภาพประกอบอย่างดี