บิตคอยน์
Picture of Right Shift

Right Shift

Right Shift Co., Ltd. Official Team

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 1 : บิตคอยน์คือสิ่งมีชีวิตที่ไร้ศูนย์กลาง (เหมือนไมซีเลียม)

สำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง บิตคอยน์ กับ หน่วยย่อยของฟังไจอย่าง ไมซีเลียม (Mycelium) ซึ่งเป็นเสมือน “ระบบอินเทอร์เน็ตแห่งธรรมชาติของโลก” สองสิ่งนี้ต่างก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าอัศจรรย์

คำนำผู้แปล

Disclaimer : ผลงานมาสเตอร์พีซของ Brandon Quittem : Bitcoin is The Mycelium of Money ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในช่วงก่อนหน้านี้ ทีมงาน Right Shift ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากเจ้าของบทความให้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย *ทั้งนี้เนื่องจากเรามีผู้ร่วมแปลหลายท่าน สำนวนการแปลในแต่ละบทอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย* 

บทความนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว แบ่งออกเป็น 4 บท เนื้อหาในแต่ละบทมีความสอดคล้องเชื่อมโยงถึงกันอย่างกลมกลืน ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงตัดสินใจทะยอยนำขึ้นเผยแพร่ไปทีละบท เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามเนื้อหาได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนอ่านบทความที่ยาวจนเกินไป นอกจากนี้บทความฉบับแปลไทยของเรายังจะได้รับเกียรติให้ขึ้นไปปรากฏบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของคุณ Brandon Quittem ในอนาคตอีกด้วย  หวังว่าทุกท่านจะชื่นชอบเนื้อหาและเพลิดเพลินไปกับการอ่าน โปรดอย่าลืมแบ่งปันบทความที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระดี ๆ แบบนี้ให้กับคนที่คุณรัก 🙂

ผู้เขียน : Brandon Quittem 
บทความต้นฉบับ : Bitcoin is The Mycelium of Money // เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2020
เกี่ยวกับผู้เขียน : ผู้ก่อตั้ง @SwanBitcoin | เป็นโฮสต์รายการ Bitcoin Meetups in Minneapolis @BitcoinersMPLS | เป็นที่ปรึกษาที่ @sazmining

คำนิยม

บทความนี้เป็นการรวบรวมเอาบทความ บิตคอยน์ + ฟังไจ ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ผมยังมีเนื้อหาอีกมากที่ยังไม่ถูกนำมาเผยแพร่ ผมควรจะแปลงทั้งหมดเป็นหนังสือเลยดีไหม? ส่งข้อความของคุณเข้ามาบอกผมได้ที่ Twitter และหากคุณต้องการได้รับการแจ้งเตือนเมื่อผมเผยแพร่บทความใหม่ ๆ บนเว็บไซต์ คุณก็สามารถสมัครรับการแจ้งเตือนได้ ที่นี่

ผมต้องขอยกเครดิตให้กับคุณ แดน เฮลด์ (Dan Held) สำหรับการเผยแพร่บทความ ซึ่งเปรียบเทียบต้นกำเนิดของบิตคอยน์เสมือนกับการปลูกต้นไม้ แม้ผมจะชื่นชอบบทความดังกล่าวมากเพียงใด แต่ผมก็เชื่อว่ายังมีการเปรียบเทียบแบบอื่นที่อาจจะดูเหมาะสมมากกว่า คือ การเปรียบเทียบบิตคอยน์กับสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรฟังไจ หรือ เห็ดรา หากคุณยังไม่เคยผ่านตาในหัวข้อเหล่านี้มาก่อน ผมขออาสาพาพวกคุณไปทำความรู้จักกับโลกแห่งเห็ดราอันน่าอัศจรรย์ด้วยตัวผมเองนับจากนี้..

บทบาทของผู้รู้รอบด้าน (Polymathic responsibility) : ดังเช่นที่ ซาโตชิ นากาโมโตะ ได้ประยุกต์เอาศาสตร์ความรู้มากมายหลายแขนงมารวมกันเป็นเทคโนโลยีที่เราเรียกว่า บิตคอยน์ (Bitcoin) ผมมีความเชื่อว่าพวกเราทุกคนล้วนมีภารกิจในการออกไปสำรวจและนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ ๆ โดยบทความนี้จะเป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างฟังไจ และ บิตคอยน์ของผมเอง - ทั้งสองสิ่งนี้ต่างก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าอัศจรรย์

สารบัญบทความ

บทที่ 1 : บิตคอยน์ คือสิ่งมีชีวิตที่ไร้ศูนย์กลาง (ไมซีเลียม)

เมื่อมองไปยัง บิตคอยน์ ในครั้งแรก.. อาจดูเป็นสิ่งที่เหมือนว่าเราจะสามารถทำความเข้าใจมันได้ง่าย ๆ ทว่าการทำความเข้าใจในระบบการทำงานของมันอย่างถ่องแท้นั้น กลับกลายเป็นงานที่หนักหนาสาหัสเอาการ มันเต็มไปด้วย “กับดักทางความคิด” ที่ถูกวางเรียงรายเอาไว้ตลอดเส้นทางแห่งการเรียนรู้ คอยหลอกล่อให้ผู้คนต้องด่วนสรุปกันไปต่าง ๆ นา ๆ ผมชอบเปรียบเทียบความพยายามในการทำความเข้าใจกับบิตคอยน์ ว่าเป็นเสมือนกับนักปีนเขาที่มักจะตะเกียกตะกายขึ้นไปเจอกับ “ยอดเขาเทียม” อยู่เป็นประจำ มันทำให้พวกเขาหลงผิดชั่วขณะ พาลเข้าใจไปว่าตนเองสามารถพิชิตยอดเขาที่แท้จริงได้แล้ว

ทันทีที่คุณเริ่มรู้สึกว่าเข้าใจบิตคอยน์.. คุณก็จะพบว่าแท้จริงแล้วคุณก็ยังมีความเข้าใจมันอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น (ซึ่งเปรียบได้กับการเจอยอดเขาเทียม) หลากคำจำกัดความที่ต่างก็มีความขัดแย้งกัน ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับการศึกษาบิตคอยน์มากขึ้นไปอีก อย่างเช่นคำว่า เงินมหัศจรรย์แห่งโลกอินเทอร์เน็ต หรือไม่ว่าจะเป็น.. กระแสการเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง, การปฏิวัติแห่งวงการฟินเทค, บิตคอยน์ทำให้มหาสมุทรต้องเดือดพล่าน, ยาเบื่อหนูยกกำลังสอง, อุดมการณ์เสรีนิยม, ทองคำดิจิทัล, นักล่าผู้อยู่บนจุดสูงสุดของระบบการเงิน, ระบบของแรงจูงใจที่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน ฯลฯ

มาลองเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีกหน่อย เราอาจมองว่าบิตคอยน์นั้นเป็น “ระบบที่มีชีวิต” ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ จากภายนอก การทำความเข้าใจมันอย่างถ่องแท้จึงกลายเป็นเสมือนดั่งเป้าเคลื่อนที่ซึ่งเป็นเรื่องยากที่เราจะยิงให้โดนในนัดเดียว และในการพยายามตอบคำถามที่ว่า “บิตคอยน์คืออะไร?” ผมพบว่าการนำเอามันไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มความกระจ่างให้กับพวกเราได้มากเป็นพิเศษ

คุณลักษณะที่ดีที่สุดบางประการของ บิตคอยน์ เป็นภาพสะท้อนของกลยุทธ์แห่งการวิวัฒนาการอันแสนเรียบง่ายที่ประสบความสำเร็จและปรากฏอยู่ในธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาณาจักรของฟังไจ

องค์ประกอบส่วนใหญ่ของฟังไจ คือ “ไมซีเลียม” (Mycelium) หรือ เส้นใยเห็ดรา ซึ่งเป็นเสมือนระบบเครือข่ายสารสนเทศแบบกระจายศูนย์ที่ดำรงอยู่ใต้พื้นดิน โดย พอล สแตเม็ตส์ (Paul Stamets) ได้เคยอธิบายเอาไว้ว่า ไมซีเลียม คือ “ระบบอินเทอร์เน็ตแห่งธรรมชาติของโลก” หรือ “Earth’s natural internet.” 

Mycelium 1
ที่มา: John Upton

“ผมเชื่อว่าไมซีเลียม คือ เครือข่ายของระบบประสาทแห่งธรรมชาติ โมเสกของไมซีเลียมจำนวนมากที่เกี่ยวพันกัน ผสานแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันด้วยเส้นใยที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกันได้ เส้นใยเหล่านี้สามารถรับรู้ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการรักษาสุขภาพของแหล่งที่อยู่อาศัย ไมซีเลียมทำการสื่อสารในระดับโมเลกุลกับสภาพแวดล้อมของมันอยู่ตลอดเวลา ด้วยการสร้างเอ็นไซม์ และ สารเคมีหลากชนิดเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายอันซับซ้อน”

– พอล สแตเม็ตส์, Mycelium Running: How Mushrooms Can Help Save the World

ในซีรีส์บทความนี้ผมจะวิเคราะห์ถึงความคล้ายคลึงกันระหว่าง ฟังไจ และ บิตคอยน์ เดิมทีนั้นเนื้อหาเหล่านี้เคยถูกเผยแพร่ไว้ในลักษณะของบทความแยกตอนกัน หากคุณเคยได้อ่านบางส่วนไปแล้วก็สามารถข้ามส่วนนั้นไปได้เลย 🙂

บทที่ 1 : บิตคอยน์เป็นสิ่งมีชีวิตไร้ศูนย์กลาง (เหมือนไมซีเลียม)
บทที่ 2 : บิตคอยน์เป็นสิ่งมีชีวิตเชิงสังคม (เหมือนเห็ด)
บทที่ 3 : บิตคอยน์คือแอนตี้ไวรัส (เหมือนยา)
บทที่ 4 : บิตคอยน์คือตัวเร่งวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (เหมือนการพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิต)

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับฟังไจ

ฟังไจ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอาณาจักรเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับ พืช และ สัตว์ โดยฟังไจนั้นมีสายพันธุ์ที่หลากหลายมากกว่าสายพันธุ์ของพืชและสัตว์รวมกันเสียอีก

ฟังไจกับสัตว์นั้นมีความเกี่ยวข้องกันมากกว่าความเกี่ยวข้องของเรากับพืช ทั้งฟังไจและสัตว์ต่างหายใจเข้าเพื่อนำเอาออกซิเจนไปใช้งาน และหายใจออกเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พืชนั้นสามารถผลิตอาหารของตัวเองได้ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง หรือเรียกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวก Autotrophic ในขณะที่สัตว์และฟังไจต้องพยายามหาอาหารด้วยตัวเอง ซึ่งเรียกว่าเป็นพวก Heterotrophic วิวัฒนาการของสัตว์ทำให้พวกมันมีสมองและระบบย่อยอาหารอยู่ภายในร่างกาย ในขณะที่วิวัฒนาการของ ฟังไจ ทำให้พวกมันมีสมองและระบบย่อยอาหารอยู่ภายนอก

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับฟังไจ #1
มนุษย์มี DNA ที่คล้ายคลึงกับฟังไจมากกว่า 50% นักวิทยาศาสตร์ได้เสนออาณาจักรใหม่ที่เรียกว่า โอพิสโธคอน (Opisthokon) ซึ่งเป็นการรวมเอา เชื้อราและสัตว์ เข้าไว้ด้วยกัน

ฟังไจนั้นมีหลากหลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น “โครงสร้างรากใต้ดิน ที่เรียกกันว่า “ไมซีเลียม” ซึ่งสามารถพบได้แทบทุกที่บนโลก

เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ฟังไจจะสร้างดอกเห็ดซึ่งจะปล่อยสปอร์หรือเมล็ดพันธุ์ของตนล่องลอยออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อตั้งรกรากและขยายถิ่นฐาน ดอกเห็ดจึงเป็นเพียงอวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น ดังนั้น.. ดอกเห็ดสำหรับไมซีเลียม ก็เปรียบได้กับผลแอปเปิ้ลสำหรับต้นแอปเปิ้ลนั่นเอง

ฟังไจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทุกชีวิตบนโลก..

ฟังไจเป็นเครือข่ายสารสนเทศแบบกระจายศูนย์

เครือข่ายฟังไจไม่มีศูนย์ควบคุมอย่าง “สมอง” แต่พวกมันกลับมี “ระบบราก” ซึ่งมีผนังเซลล์เดียวที่เรียกว่า ไมซีเลียม ระบบย่อยอาหารและระบบสารสนเทศแบบกระจายศูนย์ที่อยู่ใต้ดินนี้ สามารถทำการรับส่งข้อมูลแบบสองทางข้ามระยะทางไกล หรือแม้แต่ข้ามไปยังเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ก็ได้ด้วยเช่นกัน เครือข่ายฟังไจเหล่านี้ต่างมีวิวัฒนาการที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัวมัน

ไม่ว่า ณ จุดใดก็ตาม เครือข่ายฟังไจ จะมีส่วนปลายจำนวนนับล้านที่คอยทำหน้าที่ค้นหาอาหาร, ปกป้องอาณาเขตของพวกมัน หรือ คิดค้นโมเลกุลรูปแบบใหม่เพื่อเอาชนะคู่แข่งของมัน เช่น ฟังไจชนิดอื่น ๆ หรือ พวกแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ เป็นต้น เครือข่ายเหล่านี้สามารถสร้างฉันทามติเกี่ยวกับแนวทางการบริโภคทรัพยากร, การขยายพันธุ์ และการเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมและดีที่สุดในการป้องกันตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางควบคุม

สิ่งนี้มีลักษณะเหมือนกับ ระบบฉันทามติแบบกระจายศูนย์ หรือ พันธสัญญาทางสังคม ที่เกิดขึ้นในระบบบิตคอยน์ โหนด ตัดสินใจเลือกซอฟต์แวร์ที่พวกเขาต้องการจะใช้งาน และ ทำการบังคับใช้กฎฉันทามติที่พวกเขาสนับสนุนตามซอฟต์แวร์ที่พวกเขาเลือก นักขุด ทำหน้าที่ตัดสินว่าธุรกรรมใดจะได้รับการบรรจุลงบล็อก ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน, วอลเล็ต และ ผู้ค้า ต่างดูแลกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มใหญ่ ๆ มากมาย ซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมในระบบของบิตคอยน์แต่ละคน สามารถเลือกได้โดยความสมัครใจว่าพวกเขาต้องการจะมีส่วนร่วมในรูปแบบใด และ ผลรวมของฉันทามติที่เกิดขึ้นก็จะเป็นตัวแทนของระบบเครือข่าย

Decentralized fungi

ระบบเครือข่ายแบบกระจายศูนย์นั้นมีอายุยาวนานกว่ามนุษยชาติ

ก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นบนโลก ระบบเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ นั้นมีอยู่มาก่อนเป็นเวลานานแล้ว อันที่จริงแล้ว ฟังไจ สามารถนำเอาระบบในลักษณะดังกล่าวมาใช้งานได้อย่างประสบความสำเร็จเป็นเวลากว่า 1,300 ล้านปีแล้ว ทำให้พวกมันกลายมาเป็นอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบนโลกของเรา

นอกเหนือจากฟังไจแล้ว ยังพบตัวอย่างของเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ได้ทั่วไปในธรรมชาติ เช่น ไมซีเลียม, สสารมืด, เซลล์ประสาท, อินเทอร์เน็ต, ฯลฯ เห็นได้ชัดว่ากลยุทธ์นี้ได้ผล มิฉะนั้นธรรมชาติคงไม่ยืนกรานที่จะนำมันมาใช้ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

เมื่อมองผ่านบริบททางประวัติศาสตร์อันยาวนานของเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ การเกิดขึ้นของ เงินดิจิทัลไร้ศูนย์กลาง จึงเหมือนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ยิ่งกว่านวัตกรรมที่แปลกใหม่เสียอีก

ซึ่งแม่แบบของเครือข่ายกระจายศูนย์นี้มีชื่อเรียกว่า ลินดี้

ในช่วงวิวัฒนาการนับพันล้านปี ฟังไจ ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเอาชีวิตรอด

ฟังไจมีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และยังคงรอดพ้นจากเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อราว 65 ล้านปีก่อน มีอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนโลกและได้คร่าสรรพชีวิตส่วนใหญ่บนโลกของเรา (รวมถึงไดโนเสาร์) แรงปะทะในครั้งนั้นได้ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันอันหนาทึบลอยขึ้นไปบดบังแสงอาทิตย์เอาไว้ไม่ให้ส่องลงมายังพื้นผิวโลกเป็นเวลาหลายปี เมื่อไม่มีแสงอาทิตย์ พืชต่าง ๆ ก็ล้มตายไปพร้อมกับสรรพสัตว์ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ฟังไจนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยแสงแดดเพื่อการอยู่รอด พวกมันสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และสามารถหาอาหารได้ด้วยตัวเอง

หลังเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่แต่ละครั้ง ฟังไจ ได้กลายเป็น “ผู้สืบทอดโลก” ที่คอยสร้างโลกขึ้นมาใหม่อย่างช้า ๆ จนกว่าสภาวะต่าง ๆ จะมั่นคงเพียงพอที่ชีวิตจะสามารถดำเนินต่อไปได้อีกครั้ง

บิตคอยน์ จะกลายเป็นเผ่าพันธุ์ของเงินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เนื่องจากมันมีความกระจายศูนย์, สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว (ในเชิงเปรียบเทียบ), สามารถหาอาหารได้ด้วยตัวเอง (ในที่นี้หมายถึงอุปสงค์ที่ยังไม่เคยได้รับการตอบสนอง) และ มันไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของระบบการเงิน บิตคอยน์ จะได้ก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้สืบทอดโลก”

รัฐบาลญี่ปุ่น และ ราเมือกผู้นอบน้อม

ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางที่พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือองค์กรที่มีโครงสร้างแบบลำดับชั้นที่พยายามจะรีดมูลค่าสูงสุดให้ได้ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร การวางแผนจากส่วนกลางก็ยังคงมีข้อเสียอยู่มากมาย

เมื่อจำเป็นต้องทำการตัดสินใจใน “ระบบเศรษฐกิจสารสนเทศ” องค์กรแบบกระจายศูนย์ หรือองค์กรที่มีโครงสร้างแบบแนวราบจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า เนื่องจากพวกเขาสามารถต้านทานการคอร์รัปชัน, ลดระเบียบขั้นตอนการทำงาน, และผลักภาระในการตัดสินใจไปให้กับส่วนปลายประสาทขององค์กร ที่ผู้ตัดสินใจซึ่งเปรียบเสมือนโหนด จะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัยที่สุดได้สำหรับโจทย์ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น

เรามาลองสำรวจระบบรถไฟใต้ดินของโตเกียวเพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของเครือข่ายแบบกระจายศูนย์กันดีกว่า

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองโดยนำเอาเชื้อราโบราณ คือ “ราเมือก” หรือ Slime mold มากระตุ้นด้วยการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้มันช่วยสร้างระบบรถไฟใต้ดินของโตเกียวขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำเอา เกล็ดข้าวโอ๊ต ซึ่งถือว่าเป็นอาหารจานโปรดของราเมือกไปวางไว้ตามตำแหน่งจำลองของสถานีต่าง ๆ ที่เปรียบเสมือนโหนด

หลังจากนั้นไม่นาน ราเมือก ก็เติบโตขึ้นมาจนสามารถเชื่อมต่อสถานีหรือโหนดทั้งหมดเข้าด้วยกันได้ ในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบที่ถูกออกแบบโดยทีมที่ปรึกษาทางวิศวกรรมซึ่งรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นทำการว่าจ้างมาเสียอีก

ภาพแสดงการออกแบบโครงข่ายรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียว โดยราเมือก

ข้อความจากบทคัดย่อของการทดลองดังกล่าว :

ระบบเครือข่ายการขนส่ง เป็นสิ่งที่สามารถพบได้ทั้งในระบบสังคม และระบบทางชีวภาพ ประสิทธิภาพของเครือข่ายอันแข็งแกร่งนั้น ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนในการตัดสินใจเกี่ยวกับต้นทุน, ประสิทธิภาพของการขนส่ง และรับมือกับข้อผิดพลาดต่าง ๆ ซึ่งระบบเครือข่ายทางชีวภาพ ได้รับการขัดเกลาจากแรงกดดันในการคัดเลือกทางวิวัฒนาการมาหลายวัฏจักร จึงทำให้มันมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างแนวทางแก้ปัญหา สำหรับโจทย์การคำนวณหาเส้นทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (combinatorial optimization) ได้อย่างสมเหตุสมผล ยิ่งไปกว่านั้น พวกมันยังพัฒนาได้โดยปราศจากการควบคุมจากส่วนกลาง และ อาจเป็นตัวอย่างของแนวทางการแก้ปัญหาที่สามารถรองรับการขยายตัวของระบบเครือข่ายได้เรื่อย ๆ เราได้แสดงให้เห็นว่าราเมือกสายพันธุ์ ไฟซารัม โพลีเซฟาลัม (Physarum polycephalum) สามารถสร้างโครงข่ายที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ความสามารถในการรับมือกับความผิดพลาด และต้นทุนที่มีความใกล้เคียงกับระบบเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานในโลกแห่งความเป็นจริง – โดยในกรณีนี้หมายถึงระบบรถไฟใต้ดินของโตเกียว กลไกหลักที่จำเป็นต่อการสร้างระบบเครือข่ายที่สามารถปรับตัวได้นั้น สามารถพบได้ในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากระบบชีววิทยาทางธรรมชาติ ซึ่งอาจมีประโยชน์สำหรับการใช้เป็นแนวทางในการสร้างระบบเครือข่ายในมิติอื่น ๆ

เมื่อเราคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากซับซ้อนที่จำเป็นสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับนี้ ยิ่งทำให้ได้รู้ว่าการที่ ราเมือก สามารถออกแบบเครือข่ายที่ดีกว่าได้ภายในวันเดียว ก็กลายเป็นเรื่องที่ช่วยดึงสติเราได้ไม่เบา

ซาโตชิเข้าใจถึงพลังแห่งราเมือก

บิตคอยน์ เป็นสินค้าประเภทเงินที่อยู่นอกเหนือจากการปกครองใด ๆ มันผลักดันเรื่องซับซ้อน และ การตัดสินใจต่าง ๆ ให้ไปเป็นหน้าที่ของคนที่อยู่ในส่วนปลายขอบของระบบแบบเดียวกันกับฟังไจ เมื่อเวลาผ่านไปการกระจายศูนย์บนพื้นฐานของกลไกตลาดเสรีนี้ จะทำให้ บิตคอยน์ สามารถเอาชนะระบบการเงินต่าง ๆ แบบดั้งเดิมที่แทบจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลยกับตลาด, ติดกับดักในความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของผู้ออกแบบ, เปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ตลอดเวลา, และมักจะจมอยู่ภายใต้กฏระเบียบของระบบราชการ (หรืออาจแย่ยิ่งกว่านั้น)

ชีวิตที่ปราศจากจุดตาย

ไมซีเลียมไม่มี “จุดศูนย์กลางแห่งการควบคุม” ต่อให้มีส่วนใดโดนกำจัดออกไป ระบบโดยรวมก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้เหมือนเดิม

“หากคุณหวังจะปลิดชีพพระราชา คุณต้องห้ามพลาดโดยเด็ดขาด”
- โอมาร์ ลิตเติล (The Wire)

รัฐ และ ธนาคารกลางต่าง ๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายอันย้อนแย้ง หากพวกเขาพยายามจะทำลายบิตคอยน์ พวกเขาก็จะกลายเป็นผู้ที่ไปกระตุ้นความสนใจในบิตคอยน์และความต้องการของผู้คนเสียเอง แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งพวกเขารอนานมากเท่าไหร่ บิตคอยน์ ก็จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น

แกร่งกล้าท้าปรปักษ์

ทั้งไมซีเลียม และบิตคอยน์ ต่างก็อยู่ในระบบนิเวศน์ที่มีการแข่งขันรุนแรงที่สุดในโลก และทั้งคู่ก็ต้องคอยปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอด พวกมันมีเดิมพันในการแข่งขันที่ว่านี้ และพวกมันก็แข็งแกร่งขึ้นทุกครั้งที่ต้องโดนท้าทาย

ฟังไจ อาศัยอยู่ภายในสภาพแวดล้อมของการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา พวกมันต้องต่อสู้กับศัตรูที่อยู่ใต้ดินมากมาย ทั้งแบคทีเรีย, จุลินทรีย์, และเชื้อราอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่ง

หาก “โหนด” ใดของระบบไมซีเลียมสัมผัสได้ถึงนักล่าหรือเหยื่อ มันจะส่งข้อมูลไปยังเหล่า “นักวิทยาศาสตร์เห็ด” ที่จะทำการผลิตเอ็นไซม์ชนิดใหม่ขึ้นมารับมือกับเหล่านักล่าหรือเหยื่อพวกนั้น โดยระบบเครือข่ายฟังไจจะทำหน้าที่ลำเลียงเอ็นไซม์ผลิตใหม่เหล่านี้ไปส่งยังโหนดที่มีความต้องการ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับฟังไจ #2
ในฐานะมนุษย์ เราได้รับประโยชน์จากอนุพันธ์ทางยาที่สร้างขึ้นโดยเชื้อรา ยาที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ เพนิซิลิน (Penicilin) ซึ่งมาจากการค้นพบโดยบังเอิญของ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming) ยาเพนิซิลินได้ถูกนำมาใช้เพื่อต่อกรกับแบคทีเรียซึ่งแพร่ระบาดและทำลายล้างประชากรมนุษย์ในอดีต และนับตั้งแต่ได้มีการค้นพบเพนิซิลลิน ประชากรของเราก็เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 3 เท่า

ในขณะที่บิตคอยน์เองก็ต้องคอยตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เมื่อบั๊ก/ความเสี่ยง/หรือโอกาสในระบบได้ถูกค้นพบ ข้อมูลเหล่านั้นก็จะเดินทางไปยังเหล่า “นักวิทยาศาสตร์บิตคอยน์” ซึ่งก็คือเหล่านักพัฒนาที่จะทำการสร้าง “เอ็นไซม์” หรือ แพตช์แก้ไขซอฟต์แวร์ และการอัปเดทดังกล่าวก็จะกระจายตัวไปทั่วทั้งระบบ สิ่งนี้ช่วยให้บิตคอยน์ประสบความสำเร็จในระบบนิเวศของตนด้วยเช่นกัน ทำให้บิตคอยน์เป็นสิ่งที่มีความสามารถในการ ขจัดความเปราะบาง (antifragile)

เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งฟังไจและบิตคอยน์ต่างก็ได้ทำการพัฒนาเกราะป้องกันของพวกมันให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ  และเรียนรู้ที่จะบริโภคแหล่งอาหารใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลให้ในเวลาต่อมาความสามารถในการขจัดความเปราะบางและอายุขัยของพวกมันก็เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ

ในกรณีที่สุดโต่ง เราลองมาดูสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “เห็ดน้ำผึ้ง” (Honey Mushroom, Armillaria sp) กันบ้าง มันถูกค้นพบในเทือกเขาบลูเมาน์เทนทางตะวันออกของรัฐโอเรกอน สิ่งมีชีวิตนี้มีขนาดซึ่งกินพื้นที่มากกว่า 2.4 ไมล์ หรือประมาณ 3.8 กิโลเมตร โดยคาดกันว่ามันน่าจะมีอายุราว ๆ 1,900 ถึง 8,650 ปี และมันกำลังค่อย ๆ กลืนกินผืนป่าทั้งหมดอยู่ในขณะนี้

การรับมือกับการแข่งขัน

เครือข่ายเชื้อราสามารถขโมยเอาความได้เปรียบในการแข่งขันมาจากคู่แข่งบริเวณข้างเคียงได้ ในรูปแบบของ “ข้อมูลทางพันธุกรรม” ในขณะที่บิตคอยน์เองก็สามารถดูดซับเอาคุณสมบัติที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากเหรียญอัลต์คอยน์ต่าง ๆ ได้เช่นกัน

มีความเชื่อที่เหมือนจะเป็นความหลงผิด ซึ่งผู้คนมักด่วนสรุปกันไปเองว่าอัลต์คอยน์ต่าง ๆ จะสามารถพัฒนาคุณสมบัติอันน่าตื่นเต้นใหม่ ๆ ขึ้นมาจนสามารถเอาชนะบิตคอยน์ได้

แต่กลุ่มที่มีความคิดเห็นในด้านตรงข้าม ที่เชื่อว่าในที่สุด บิตคอยน์ จะดูดซับเอาคุณสมบัติที่ดี ที่ได้ผ่านการทดสอบจากตลาดแล้วเข้ามาได้ ซึ่งจะทำให้เหรียญทางเลือกทั้งหลายไม่สามารถแข่งขันกับบิตคอยน์ได้ในระยะยาว ซึ่งผมเองก็อยู่ในกลุ่มนี้

เราลองมาดูกันว่า เชื้อราเผชิญหน้ากับศัตรูของมันอย่างไร?

ก่อนอื่น เราจำเป็นต้องเข้าใจหลักพื้นฐานบางข้อทางด้านพันธุกรรมเสียก่อน โดยทั่วไปแล้ว ยีน (gene) หรือรหัสพันธุกรรม จะถูกส่งต่อจากพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกในรูปแบบของ การถ่ายทอดทางพันธุกรรมในแนวตั้ง” (vertical gene transfer)

สิ่งที่น่าสนใจคือ ฟังไจจะทำการ “ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในแนวนอน” (horizontal gene transfer) ทำให้พวกมันสามารถดูดเอาข้อมูลทางพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่กำลังแข่งขันอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันได้

กระบวนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในแนวนอนของฟังไจ แสดงให้เห็นถึงภาพอนาคตที่บิตคอยน์จะดูดเอาแนวคิดต่าง ๆ ของอัลต์คอยน์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง

ตัวอย่างเช่น: การใช้งานส่วนต่อขยายของเบราว์เซอร์ Lightning Joule ร่วมกันกับโหนด (ไม่ว่าจะเป็นโหนดของคุณเอง หรือจะใช้ Casa หรือด้วยวิธีการอื่น ๆ) ทำให้คุณสามารถทำธุรกรรมขนาดเล็กมาก ๆ ผ่านเบราว์เซอร์ของคุณได้ ซึ่งจะทำให้โทเคนอย่าง BAT ของ Brave browser ต้องหมดประโยชน์ไปโดยปริยาย

เรายังอาจกล่าวได้ว่า บิตคอยน์นั้นได้ทำการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในแนวนอนมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ซาโตชิได้ทำการรวบรวมเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาจากความพยายามในการสร้างระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ก่อนหน้านั้น เช่น แฮชแคช (Hash Cash), อี-โกลด์ (E-Gold) ฯลฯ เข้ามารวมไว้ในระบบของบิตคอยน์

การอาร์บิทราจ แรงจูงใจ และ การค้นพบจุดยืนของตนในระบบนิเวศ

ฟังไจมีบทบาทต่อระบบนิเวศของโลกนี้อยู่สองประการ คือ พวกมันทำการแปลงสสารต่าง ๆ ทั้งหมดให้กลายเป็นอนุภาคขั้นพื้นฐาน และ ทำหน้าที่เป็นระบบภูมิคุ้มกันของโลก

“ไมซีเลียม เป็นตัวย่อยสลายที่สำคัญทางธรรมชาติ”
- พอล สแตเม็ตส์ (Paul Stamets)

ฟังไจใช้ชีวิตของมันไปกับการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุอย่างเงียบ ๆ พวกมันเปลี่ยนหิน, กิ่งไม้, เศษใบไม้, ซากสัตว์ และคราบน้ำมันที่รั่วไหลให้กลับไปสู่อนุภาคพื้นฐานของพวกมัน เช่น คาร์บอน, ไนโตรเจน, ออกซิเจน ฯลฯ จากนั้นฟังไจจึงนำเอาอนุภาคพื้นฐานเหล่านั้นไปใช้ในการแลกเปลี่ยนกับสิ่งมีชีวิตในบริเวณใกล้เคียง

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับฟังไจ #3
ผืนป่าของเราจะจมอยู่ภายใต้ซากกิ่งก้านและใบไม้หนาหลายร้อยฟุต หากฟังไจไม่ช่วยทำหน้าที่ย่อยสลายและกระจายสารอาหารเหล่านั้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ฟังไจ ได้ช่วยปลดล็อคทรัพยากรที่ติดอยู่ในสสารต่าง ๆ ต้นไม้ไม่สามารถนำเอาใบไม้ หรือ กิ้งก้านของมันกลับมาใช้ใหม่ได้เนื่องจาก คาร์บอน/ไนโตรเจน/ฟอสฟอรัส ในนั้นถูกล็อคอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ จึงกล่าวได้ว่า ฟังไจ ใช้ประโยชน์จากโอกาสในการอาร์บิทราจที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศ

บิตคอยน์ใช้กลไกพรูฟออฟเวิร์คในการปลดล็อคทรัพยากรที่ติดค้างออกมาในรูปของพลังงาน

ก่อนที่เราจะพูดถึงบิตคอยน์ เรามาสำรวจตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจกันก่อน ว่าอะลูมิเนียมเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ “ส่งออกพลังงานหมุนเวียนที่ติดค้าง” ออกมาจากประเทศอย่างไอซ์แลนด์ได้อย่างไร?

ไอซ์แลนด์ ผลิตพลังงานหมุนเวียนจากความร้อนใต้พิภพ โดยส่วนใหญ่จะผลิตได้ในพื้นที่ซึ่งห่างไกลผู้คน ส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกินที่ไม่สามารถส่งไปถึงพื้นที่ที่มีความต้องการได้ เนื่องจากการส่งพลังงานในระยะทางไกลจะทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานจำนวนมาก

ไอซ์แลนด์ใช้ประโยชน์จากพลังงานส่วนเกินนี้โดยการผลิตอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานจำนวนมาก ไอซ์แลนด์สามารถเปลี่ยนพลังงานส่วนเกินให้กลายเป็นหน่วยเก็บรักษามูลค่าที่มีความคงทนอย่าง อะลูมิเนียม ซึ่งสามารถนำไปส่งออกได้

บิตคอยน์ก็ทำเช่นเดียวกัน แทนที่จะปล่อยให้พลังงานที่ติดค้างต้อง “แห้งตายคาต้น” ผู้ผลิตพลังงานสามารถขุดบิตคอยน์ หรือแค่ขายพลังงานส่วนเกินให้กับนักขุดก็ได้ การกระทำเช่นนี้ก็จะสามารถแปลงพลังงานส่วนเกินให้กลายเป็นหน่วยเก็บรักษามูลค่าที่มีความคงทนได้เช่นกัน ผลพลอยได้ที่ตามมา คือ บิตคอยน์จะช่วยสมทบเงินสนับสนุนในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนไปโดยปริยาย

หากต้องการศึกษาแนวความคิดนี้โดยละเอียด สามารถอ่านบทความของ แดน เฮลด์ (Dan Held) ที่มีชื่อว่า PoW เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ (PoW is Efficient)

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับฟังไจ #4
การย่อยสลายและกินหินของฟังไจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเรามีหน้าดิน ดินชั้นบนทำให้เราสามารถปลูกพืชเป็นแหล่งอาหารได้ เชื้อราใช้เวลามากกว่า 1 พันล้านปีในการผลิตดินชั้นบนที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีความหนาเพียงประมาณ 18 นิ้วเท่านั้น

ฟังไจ (และบิตคอยน์) คือ ระบบภูมิคุ้มกันของระบบนิเวศ

ฟังไจ เป็นระบบภูมิคุ้มกันให้กับระบบนิเวศทั้งระบบที่มันอาศัยอยู่ รวมถึงโลกใบนี้ทั้งใบ

ฟังไจผลิตสารอนุพันธ์ทางยา และ ปกป้องระบบนิเวศของมันผ่านความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลซึ่งกันและกันอันซับซ้อน ฟังไจทำตัวเป็นนายหน้าจัดหาทรัพยากรใต้ดินระหว่างสายพันธุ์ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งระบบนิเวศผ่านระบบไมซีเลียม

ต้นไม้ในป่าแอบคุยกันได้อย่างไร?

ต้นไม้คุยเรื่องอะไรกันนะ?
เรามาแอบดูต้นไม้ในป่าสนดักลาสของประเทศแคนาดากันดีกว่า พวกมัน “พูดคุย” กันได้ด้วยการ..

กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ฟังไจ จะทำหน้าที่สกัดแร่ธาตุใต้ดินแล้วนำไปส่งให้กับต้นไม้เพื่อแลกเปลี่ยนกับน้ำตาลที่ต้นไม้ผลิตขึ้นมาผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง ต้นไม้จะได้รับการคุ้มกันเสริมเพื่อป้องกันการโจมตีจากผู้บุกรุก รวมไปถึงแร่ธาตุสำคัญที่พวกมันไม่สามารถหาได้ด้วยตัวเอง เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมต้นอ่อนของต้นโอ้คถึงสามารถอยู่รอดได้ในผืนป่าทั้ง ๆ ที่พวกมันแทบจะไม่ได้รับแสงแดดเลย?

สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่มีส่วนร่วมในระบบของแรงจูงใจดังกล่าว จะช่วยกันปรับปรุงสมรรถภาพในการวิวัฒนาการของฝืนป่า โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า “ป่า” เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ที่ประกอบขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิตมากมายหลายสายพันธุ์ ไม่ได้มีเพียงแค่ต้นไม้เท่านั้น..

บิตคอยน์ มีบทบาททางนิเวศวิทยาที่คล้ายคลึงกันกับฟังไจ

ตลาดจะส่งสัญญาณให้กับบิตคอยน์ เพื่อสร้างคุณสมบัติที่จะตอบสนองต่อความต้องการ หรือปรับปรุงความปลอดภัยของระบบเมื่อมีภัยคุกคามใหม่ ๆ เกิดขึ้น

  • เมื่อมีความต้องการใช้งานพื้นที่บล็อกเพิ่มขึ้นจนเกินขีดความสามารถของระบบ Lightning Network หรือ เครือข่ายไลท์นิง ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
  • เมื่อจีนทำการปราบปรามตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนต่าง ๆ อย่างจริงจัง บริการอย่าง LocalBitcoins.com ก็เริ่มเฟื่องฟู
  • เมื่อ เวเนซุเอลา ตุรกี และ อาร์เจนตินา ต่างก็พิมพ์เงินกันอย่างบ้าคลั่ง บิตคอยน์ก็ได้ก้าวเข้ามาเป็น หน่วยเก็บรักษามูลค่า ที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ
  • Blockstream ได้ส่งดาวเทียมอย่าง Blockstream Sattellite ที่สามารถประกาศข้อมูลการทำธุรกรรมบิตคอยน์ขึ้นบนวงโคจรรอบโลก ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้..

วงจรสะท้อนกลับในเชิงบวก

บิตคอยน์ยังได้รับประโยชน์จากแรงจูงใจที่มีความสอดคล้องกันระหว่างผู้ใช้งาน โหนด นักขุด ตลาดแลกเปลี่ยน และ ผู้ค้า เมื่อบิตคอยน์ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของมันได้ดีขึ้น มันก็จะตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่กำลังขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น “วงจรสะท้อนกลับในเชิงบวก” นี้ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเครือข่าย

บิตคอยน์กำลังเจริญเติบโต และแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกันกับ เห็ดน้ำผึ้ง ที่กำลังกลืนกินผืนป่าทั้งผืนในรัฐโอเรกอนนั่นเอง..

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับฟังไจ #5
ผมเขียนเนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความนี้ในขณะที่กำลังบริโภคเห็ดสมุนไพรที่ใช้ในการเสริมการทำงานของสมองอย่าง เห็ดปุยฝ้าย เห็ดชากา และ เห็ดถั่งเช่า

จบลงไปแล้วสำหรับปฐมบทเรียกน้ำย่อยในบทที่ 1 ของซีรีส์บทความไมซีเลียม ในบทถัดไปมีชื่อตอนว่า “บิตคอยน์เป็นสิ่งมีชีวิตเชิงสังคม (เหมือนเห็ด)” ซึ่งเราจะไปสำรวจวงจรการเกิดใหม่ (หรือ Hype Cycles) เห็ดราวิทยาในวิถีชีวิต (หรือ Ethnomycology) และเหล่ากลุ่มสาวกลัทธิซาโตชิกันครับ

หากชื่นชอบเนื้อหาในบทความนี้ สามารถส่งทิปเพื่อให้กำลังใจทีมงานของพวกเราได้ที่ปุ่มสีส้มด้านล่างได้เลยนะครับ 🙂

รายชื่อทีมงานร่วมแปลบทความ

  • อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์ (ปิรันย่า)
  • จักรพันธ์ วันดี (ตั้ม)
  • จัตตุพร ใจกล้า (นิว)
  • สิรภพ นิลบดี (ขิง)
  • วัชรพงศ์ ฤทธิ์คัมภีร์ (อิสร)
  • ปิยะพงษ์ ภู่ขำ (จิงโจ้)
Right Shift

Right Shift Co., Ltd. Official Team

** ทุกบาทหรือทุกซาโตชิที่ donate จะถูกส่งเข้ากระเป๋าของผู้เขียนโดยตรงครับ :) **

Share this post

Leave a Reply

Connect with

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Related Posts

บิตคอยน์
Opinion
Right Shift

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 4 : บิตคอยน์คือตัวเร่งวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (เหมือนการพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิต)

สำรวจบิตคอยน์ผ่านมุมมองของการคัดเลือกทางธรรมชาติ การวิวัฒนาการ และความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน (หรือภาวะซิมไบโอซิส)

Read More »
rabbit whole
Technical & Fundamental
Right Shift

คู่มือเข้าสู่โพรงกระต่าย สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจบิตคอยน์ : The Bitcoin Manual

Bitcoin Manual eBook ฉบับภาษาไทย มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งข้อมูล คำแนะนำเบื้องต้นง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นการเดินทางในโลกบิตคอยน์ ครบถ้วน ครอบคลุม และสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย

Read More »
ฟังไจ
Opinion
Right Shift

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 3 : บิตคอยน์คือแอนตี้ไวรัส (เหมือนยา)

มาสำรวจภาพรวมของสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์พร้อมต่อการเติบโต และความสามารถในการเอาตัวรอดขั้นสูงสุดของบิตคอยน์ผ่านมุมมองของฟังไจ (ระบบการทำงานของเห็ดรา) เครือข่ายสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงทำให้บิตคอยน์กลายเป็นยาต้านไวรัสของระบบการเงินโลกที่ล้มเหลว ทางออกเดียวของมวลมนุษยชาติ มาร่วมหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ครับ

Read More »
ฟังไจ
Opinion
Right Shift

บิตคอยน์ เครือข่ายเส้นใยเห็ดราแห่งระบบการเงิน – บทที่ 2 : บิตคอยน์เป็นสิ่งมีชีวิตเชิงสังคม (เหมือนเห็ด)

มาค้นหาคำตอบว่า บิตคอยน์ นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมได้อย่างไร ด้วยการพิจารณาผ่านมุมมองของเห็ดที่น่าพิศวง สำรวจวงจรการเกิดใหม่ (หรือ Hype Cycles) เห็ดราวิทยาในวิถีชีวิต (หรือ Ethnomycology) และเหล่ากลุ่มสาวกลัทธิซาโตชิ

Read More »