การแยกศาสนาออกจากรัฐ
ตลอดประวัติศาสตร์ศาสนาเข้ามาเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจมาโดยตลอด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา หรือเทพเจ้ามีอิทธิพลทางความเชื่อกับมนุษย์เป็นอย่างมาก ความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถแผ่ขยายสังคมและอาณาเขตได้รวดเร็วและกว้างไกลกว่าสัตว์ Primates ชนิดอื่น ๆ
Dunbar’s Number เป็นตัวเลขที่แสดงถึงขีดจำกัดของมนุษย์ในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่สังคมมนุษย์เริ่มมีขนาดใหญ่กว่า 150 คน สังคมนั้นก็จะเริ่มอยู่ด้วยกันลำบาก และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดนี้ได้ก็คือความเชื่อ และศาสนา ที่สามารถทำให้มนุษย์รู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกันได้
ชาวคาทอลิกที่ไม่เคยรู้จักกัน อาจพร้อมใจบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลเพราะพวกเขาต่างก็เชื่อเรื่องบุตรของพระเจ้า ที่ลงมาเกิดเป็นมนุษย์และยอมสละชีพเพื่อไถ่บาปให้แก่พวกเราทุกคน
ทนายความสองคนที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน อาจจะร่วมมือกันว่าความให้จำเลยที่เขาไม่รู้จัก เพราะพวกเขาต่างเชื่อเรื่อง “ความยุติธรรม” และ “สิทธิมนุษยชน”
พิธีงานศพเองก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่ใช้ความเชื่อว่าเมื่อมนุษย์เสียชีวิตลงแล้ว ก็จะเปรียบเสมือนกับการได้กลับไปอยู่กับพระเจ้าบนสวรรค์ และมีชีวิตใหม่ที่เป็นนิรันดร์ ความเชื่อนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้นำชุมชนสามารถทำสงครามสู้รบกับชนเผ่าอื่น ๆ ได้อีกด้วย
สงครามมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพื่อสร้างชาติให้มีความมั่นคง แต่ “สงครามเบ็ดเสร็จ” เลวร้ายกว่านั้นมาก มันคือการที่รัฐหลอกลวงประชาชนให้ออกไปรบ เพื่อแลกกับคำมั่นสัญญาถึงชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต เมื่อรัฐต่าง ๆ ไม่ได้ทำสงครามเพื่อความอยู่รอดและอธิปไตย แต่กลับใช้อำนาจในการควบคุมประชาชนผ่านกลไกทางความเชื่อไปกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและการล่าอาณานิคม ความเชื่อกลายเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ มันทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ปกครองของพลเมืองผู้ซื่อสัตย์ เป็นผู้พิทักษ์ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวผู้รุกรานจากต่างแดน
ผู้มีอำนาจได้ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและความเชื่อ เป็นกลไกเครื่องมือในการปกครองประเทศในฐานะรัฐบาล แต่เราผู้คนต้องเข้าใจว่า “รัฐบาล” ไม่ใช่ “ชาติ” หลายศตวรรษที่ผ่านมาในหลาย ๆ ประเทศ รัฐบาลได้ใช้ความเชื่อเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการปกครองประชาชน โดยรัฐมักอ้างว่าผู้ปกครองหรือผู้นำนั้นเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงใกล้ชิดกับพระเจ้า บ้างก็เชื่อว่าผู้ปกครองเป็น “สมมติเทพ” หรือ “เทวราชา” ผู้มีบุญบารมีสูงส่ง แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ต่างอะไรกับลาที่คลุมหนังสิงโตเลย
การตั้งอาณานิคมในทวีปอเมริกา สร้างปัญหาใหม่ให้กับชนชั้นปกครอง เมื่อผู้คนที่มีความหลากหลายทางศาสนา ได้มารวมตัวกันจนทำให้เกิดรัฐต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่จำนวนมาก สอดคล้องกับแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ ที่ชื่อว่า John Locke
Locke ได้ให้เหตุผลว่าศาสนาคือเสรีภาพในระดับปัจเจกบุคคล ส่วนการเมืองเป็นเรื่องสาธารณะ เว้นแต่การกระทำนั้นได้ล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น จึงต้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาปกป้องทุกคน แนวคิดของล็อคสัมพันธ์กับข้อเสนอที่ว่า รัฐไม่ควรใช้อำนาจแทรกแซงความเชื่อทางศาสนาของประชาชน
แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องยอมรับอำนาจของผู้ปกครองที่พวกตนเลือกเข้ามาบริหารกิจการสาธารณะ จึงกลายเป็นว่าข้อเสนอของล็อคสนับสนุนอำนาจทางการเมืองแก่รัฐ เพราะได้ให้ความชอบธรรมในการลงโทษแก่ผู้ที่เป็นภัยและสร้างความเสียหายต่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งเมื่อการปฏิบัติตามหลักความเชื่อทางศาสนาของผู้คนบางกลุ่มถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อสาธารณประโยชน์ด้วยเช่นกัน ก็เท่ากับว่าทั้งรัฐและประชาชนต้อง “อดกลั้นซึ่งกันและกัน” ซึ่งได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ในโลกของศาสนาและการเมือง
โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ ได้บอกว่า รัฐไม่ควรบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการก่อตั้งศาสนา หรือการห้ามไม่ให้ประชาชนใช้ศาสนาอย่างเสรี ซึ่งได้นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพการพูด เสรีภาพของสื่อ สิทธิในการชุมนุมและร้องเรียน นำไปสู่การถือกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่ารัฐฆราวาส (Secular State) ที่ส่งผลให้สังคมแถบยุโรปแทบทั้งหมดได้เปลี่ยนฐานทางความชอบธรรมจากเดิมที่อิงอยู่กับศาสนา มาเป็นฆราวาสหรือรัฐในนามผลประโยชน์แห่งชาติแทน
แนวคิดฆราวาสนิยมคือการแบ่งแยกระหว่างศาสนาและรัฐ โดยแนวคิดฆราวาสนิยมมิใช่ข้อเสนอซึ่งต่อต้านศาสนา หากแต่เป็นหนทางหนึ่งในการปลดแอกระหว่างรัฐและศาสนา เป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ที่จะรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลาง โดยมิให้สิทธิพิเศษแก่ศาสนาใดเป็นพิเศษ หน้าที่หลักของรัฐฆราวาสคือการสร้างสังคมเป็นปึกแผ่น ควบคู่กันไปกับการอำนวยความสะดวกให้พลเมืองของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือผู้ไม่ศรัทธาให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ อย่างสมานฉันท์
เมื่อเสรีภาพทางความคิดผลักดันมนุษยชาติไปข้างหน้าด้วยวิธีการที่ไม่เคยมีมาก่อน การกล่าวว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ก็ไม่ใช่อาชญากรรมอีกต่อไป
ความเชื่ออย่างไร้เหตุผลของศาสนาไม่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อีกต่อไป
ในที่สุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลจึงเป็นที่ประจักษ์
มนุษยชาติได้ละทิ้งความเชื่อทางไสยศาสตร์ ชนชั้นนำไม่สามารถหลอกผู้คนให้ยอมจำนนต่อคำโกหกของพวกเขาได้อีกต่อไป….หรือเปล่านะ!
การแยกอำนาจการควบคุมเงินออกจากมือรัฐ
เงินตรา ประเทศ ศาสนา ความเชื่อ ทั้งหมดคือสิ่งสมมติที่ทรงพลังมากที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา
เงินคือสินค้าที่ทุกคนต้องการ มันถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เงินถูกขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเงินกระดาษหรือเปลือกหอย เพียงทุกคนเชื่อว่าเงินนี้สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าที่เราต้องการได้ เงินก็จะสามารถเป็นเงินได้ ถ้าไม่มีเงินเราก็จะไม่สามารถมีสังคมได้อย่างทุกวันนี้ หากปราศจากเงิน สังคมมนุษย์จะยังคงเป็นสังคมที่ทุกคนจำเป็นต้องทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการล่าสัตว์ เดินทางหาแหล่งน้ำ หรือแสวงหาที่หลบภัยต่าง ๆ ในอดีตมนุษย์เลือกใช้หลายสิ่งหลายอย่างเป็นเงิน ความสำคัญของเงินคือความยากในการผลิต อารยธรรมของมนุษย์จะเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาที่มีเงินมั่นคงหรือเงินที่สร้างยาก ขณะที่เงินเฟียต หรือเงินตรารัฐบาลที่เป็นเงินสร้างง่าย สุดท้ายแล้วมักจะนำไปสู่การถดถอยของอารยธรรมและการล่มสลายของสังคมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์จีน จักรวรรดิโรมัน เงินตราของรัฐบาลเสื่อมค่าจากการพิมพ์เงินเพิ่มโดยที่รัฐบาลมีทองคำเท่าเดิม
ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะในยุโรปหรืออเมริกาเอง รัฐบาลก็ทำแบบเดียวกัน พวกเขาอาศัยกลไกของระบบธนาคารกลางในการพิมพ์เงินเพิ่มทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีทองคำเพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินที่พิมพ์ สงครามเป็นข้ออ้างที่ดีที่สุดสำหรับการพิมพ์เงิน นำมาสู่การแสวงหาสงครามที่จะนำมาสู่โอกาสในการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน จนเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 ลุกลามจากสงครามเล็ก ๆ กลายเป็นสงครามระดับโลกที่กินเวลานานหลายปี
หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เงินที่ถูกผลิตขึ้นไม่ได้กระจายไปยังประชาชน แต่มันกลับไหลเข้าสู่ตลาดทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในเวลาต่อมาจากปริมาณเงินที่เฟ้อขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อการพิมพ์เงินต้องหยุดชะงักลงด้วยข้อจำกัดของทองคำ ที่กำหนดไว้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจำเป็นต้องรักษาสัดส่วนทองคำในคลังเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 35% ของสินทรัพย์ทั้งหมด เศรษฐกิจก็พังทลายลงมาเกิดเป็นวิกฤติการณ์เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 1929
แต่แทนที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาด รัฐบาลสหรัฐกลับเลือกหนทางของการแทรกแซงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยการพยายามผลิตเงินเพิ่มขึ้น จนนำมาสู่การยึดคืนทองคำจากประชาชนในปี 1933 สองปีให้หลังจากที่ประเทศพันธมิตรอย่างสหราชอาณาจักรตัดสินใจละทิ้งระบบมาตรฐานทองคำ ตามคำสั่งพิเศษจากประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ ที่ทำให้การถือครองทองคำกลายเป็นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และบังคับให้ประชาชนนำทองคำมาคืนธนาคารที่อัตราแลกเปลี่ยน $20.67 ต่อออนซ์ ตามมาด้วยการยึดทองคำจากธนาคารกลางสหรัฐ มาไว้ในมือของกระทรวงการคลังสหรัฐในปีต่อมาก่อนที่จะปรับอัตราแลกเปลี่ยนทองคำเป็น $35 ต่อออนซ์เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสหรัฐสามารถผลิตเงินเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นจำนวนมาก การกระทำดังกล่าวเปรียบเสมือนการลดมูลค่าเงินดอลลาร์ลงถึง 41% ภายในพริบตา ไม่ต่างอะไรกับการปล้นเงินของประชาชน และถือเป็นการก้าวออกจากระบบมาตรฐานทองคำก้าวแรกของสหรัฐอเมริกา
ก้าวสำคัญต่อมาเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะจากสงครามโลกครั้งที่สอง การกำหนดมาตรฐานการเงินใหม่ในข้อตกลงเบรตตันวูดส์ ทำให้กลุ่มประเทศอื่น ๆ ยอมมอบทองคำให้สหรัฐเป็นผู้เก็บรักษา โดยแลกกับเงินดอลลาร์ เกิดเป็นระบบการเงินใหม่ที่ตั้งอยู่บนเงินดอลลาร์ที่ได้รับการขนานนามว่า ‘ดีเท่ากับทองคำ’ ในเวลาดังกล่าว การทำเช่นนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกามีทองคำเพิ่มขึ้นจำนวนมาก นำมาสู่ความสามารถในการผลิตเงิน และอำนาจทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนชาวอเมริกันจะไม่สามารถถือครองทองคำได้ แต่ประเทศอื่น ๆ ที่ถือเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินทุนสำรอง ยังคงสามารถนำเอาดอลลาร์ที่พวกเขามีมาแลกคืนเป็นทองคำได้ที่ $35 ต่อออนซ์ได้ตามเดิม
จนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1971 ภายใต้ความกดดันของภาระหนี้สินจากสงครามเวียดนาม โครงการ Great Society และอุปทานเงินของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นายกรัฐมนตรี ชาร์ลส์ เดอโกล แห่งประเทศฝรั่งเศสที่มีความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับความมั่นคง และความสามารถในการเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศของเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ตัดสินใจส่งเรือรบเข้าไปในสหรัฐเพื่อขนเอาทองคำของฝรั่งเศสกลับมา และจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จึงได้ประกาศระงับการแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำชั่วคราว ที่ได้กลายมาเป็นถาวรในเวลาต่อมา นับเป็นการก้าวออกจากระบบมาตรฐานทองคำ เข้าสู่ระบบมาตรฐานเงินตรารัฐบาลหรือเงินเฟียตอย่างเป็นทางการ
จากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐจะพิมพ์เงินดอลลาร์เท่าไรก็ได้ โดยไม่ต้องอิงกับปริมาณทองคำที่มีอยู่ พวกเขาสามารถใช้ตราสารหนี้ของรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ในการผลิตเงิน โดยอ้างว่าเงินดอลลาร์มีมูลค่าในตัวมันเอง เป็นเงินตราที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและที่สำคัญสหรัฐประสบความสำเร็จในการบังคับให้ทุกประเทศต้องใช้เงินดอลลาร์เท่านั้นในการซื้อขาย “น้ำมัน” ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในยุคนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น เงินดอลลาร์ถูกกำหนดให้ใช้เป็นสกุลเงินในการชำระหนี้ต่าง ๆ ระหว่างรัฐบาลโดยแพร่หลาย ส่งผลให้แม้ว่าเงินดอลลาร์จะถูกผลิตเพิ่มได้ง่ายเท่าใด มันก็ยังคงเป็นที่ต้องการด้วยกลไกทางกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ เกิดเป็นระบบการเงินที่ตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจรัฐ และอำนาจในเวทีการค้าระหว่างประเทศ
ผลกระทบที่ตามมาคือการทำลายความมั่งคั่งของประชาชนผู้เก็บออม เมื่อเงินที่เราถืออยู่ในมือสามารถถูกทำให้ด้อยค่าลงได้ตามการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินของเหล่าผู้บริหารธนาคารกลาง การประชุม Fed กลายมาเป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนทั่วทั้งโลกต่างจับตามองกันอยู่ตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริง ๆ ประชุมยังไงมันก็ลงเอยด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มและเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นทุก ๆ ครั้ง
ตลอดกว่า 40 ปี เงินถูกผลิตเพิ่มขึ้นเพื่ออัดฉีดเข้ามาในระบบด้วยเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ แต่ทุกครั้ง เงินที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ก็มักไหลไปกองรวมกันอยู่ในตลาดทุน อยู่ในมือของคนกลุ่มเล็ก ๆ และไม่นาน ผลกระทบของมันก็ค่อย ๆ ปรากฎขึ้นในรูปแบบของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เงินในมือของประชาชนมีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือระดับคุณภาพชีวิตที่ถดถอย ผู้คนไม่สามารถเก็บออมเพื่ออนาคตได้เนื่องจากรายได้ของพวกเขาไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาข้าวของเครื่องใช้ พวกเขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และถูกระบบบีบบังคับให้จำเป็นต้องเป็นหนี้ และจำเป็นที่จะต้องตรากตรำทำงานที่ไม่มีอนาคตเพื่อใช้หนี้ที่ถูกยัดเยียดต่อไปเรื่อย ๆ
เราใช้ “เวลา” ทำงานเพื่อเปลี่ยนเป็น “เงิน”
และ “เงิน” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เราเอาไว้ใช้เก็บ “เวลา” เพื่อใช้จ่ายในอนาคต
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาจะจบลง แต่วันหยุด และพิธีกรรมทางศาสนากลับยังถูกกำหนดโดยรัฐบาล ยกตัวอย่างวันหยุดของศาสนาคริสต์เช่นคริสต์มาสและอีสเตอร์ตามปฎิทินเกรกอเรียน รวมไปถึงวันอาทิตย์อันศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมทางศาสนายังคงปรากฎอยู่ในทุกหนทุกแห่ง แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของความเชื่อเกี่ยวกับการปกครองประเทศที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่สิ่งใดคือสิ่งที่ทำให้รัฐบาลยังคงอำนาจเอาไว้ได้ อะไรที่ทำให้ใคร หรือผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถอ้างสิทธิ์ว่าเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองผู้อื่นได้โดยชอบธรรม?
ผู้ใดที่ควบคุมเงิน ผู้นั้นควบคุมโลก
จากการใช้ความเชื่อทางศาสนาครอบงำความคิด สู่การควบคุมปกครองประชาชนด้วยอาวุธแส้โซ่ตรวน การทำสงครามเบ็ดเสร็จ การบังคับใช้กฎหมาย จนมาสู่การปกครองผู้คนด้วยระบบการเงินภายใต้ระบบเงินเฟียต เงินเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้ในการปกครองประชาชนที่ทรงพลังที่สุดในยุคนี้ มันทำให้ประชาชนตกเป็นทาสการทำงานที่ไม่วันสิ้นสุดแบบไม่รู้ตัว แม้ว่าพวกเขาพยายามตั้งใจทำงานอย่างหนักหน่วงเพื่อหวังจะยกระดับฐานะของตัวเองได้ แต่ความเป็นจริงคือแค่เอาตัวรอดไปวัน ๆ ก็ยากแล้ว ความร่ำรวยมันกลายเป็นเป็นเป้าหมายที่ยากมาก ๆ สำหรับคนส่วนใหญ่ ด้วยภาวะเงินเฟ้อจากรัฐที่ทำการแทรงแซงเศรษฐกิจ ทำลายความมั่งคั่งและทรัพย์สินของผู้คนที่เก็บออม ผู้คนยิ่งไหลลงสู่ความยากจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ตราบใดที่รัฐมีอำนาจในการควบคุมเงิน เราก็จะไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง”
เงินที่มั่นคงจะรักษามูลค่าเอาไว้ข้ามผ่านกาลเวลาได้ มันสามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนคิดถึงอนาคตมากขึ้น เห็นแก่ผลตอบแทนระยะสั้นลดลง เงินที่มั่นคงจะนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรือง พัฒนาการทางอารยธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
คำว่า “In God We Trust” ที่อยู่บนธนบัตรดอลลาร์ทุกใบ เป็นการตอกย้ำว่าเรายังไม่เคยได้เป็นรัฐฆราวาสอย่างแท้จริง เรายังคงเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิความเชื่อทางศาสนา เรายังต้องมอบความเชื่อใจให้กับผู้มีอำนาจ ถ้าเราอยากได้รัฐฆราวาสที่แท้จริง เราจำเป็นต้องแยกอำนาจการเงินออกจากรัฐ มันไม่มีทางเลือกอื่นและดูเป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ตลอดประวัติศาสตร์ เมื่อใดที่อำนาจในการผลิตเงินอยู่ในมือของมนุษย์ มนุษย์ผู้มีอำนาจไม่เคยต้านทานความเย้ายวนของอำนาจในการผลิตเงินได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว อำนาจในการควบคุมอุปทานเงินของรัฐบาล เป็นต้นเหตุของคอร์รัปชั่นต่าง ๆ เสมอมา แต่ในขณะที่เราเห็นนักการเมืองใช้สงครามต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นเครื่องมือในการหาเสียง เรากลับไม่เคยได้ยินนักการเมืองคนใดพูดถึงปัญหาของระบบเงินของรัฐบาล และเสนอว่าเราจำเป็นต้องแยกอำนาจในการควบคุมเงินออกจากมือรัฐ เพื่อปลดปล่อยประชาชนให้เป็นอิสระจากระบบที่ออกแบบมาเพื่อการควบคุมกดขี่อันเฮงซวยนี้เลยสักครั้ง
1802 Thomas Jefferson แยกศาสนาออกจากรัฐ
2008 Satoshi Nakamoto แยกเงินออกจากรัฐ
หากคุณต้องการอิสรภาพ ต้องการที่จะควบคุมโชคชะตาของตัวเองได้ ต้องการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระไม่ให้ใครมาบงการชีวิตของคุณ ไม่อยากอ้อนวอนร้องขอผู้มีอำนาจไม่ให้ปล้นเงินของคุณไป Bitcoin คือทางออกสำหรับคุณ
Bitcoin คือสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นในปี 2008 โดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโต เพื่อใช้เป็นระบบการเงินใหม่ที่ไร้ศูนย์กลาง ถูกออกแบบมาเพื่อต่อต้านระบบการเงินโลกในปัจจุบันที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชนให้ตกเป็นทาส ไม่มีผู้ใดสามารถควบคุม แก้ไข เปลี่ยนแปลงและแทรกแซงมันได้ แม้กระทั่งรัฐบาลหรือผู้ที่กุมอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ตาม เป้าหมายของบิตคอยน์คือการปลดแอกมนุษย์สู่อิสรภาพจากเงื้อมมือของรัฐบาลอย่างแท้จริง
และนี่คือสินค้าดิจิตอลชนิดแรกของโลกใบนี้ที่มีจำนวนจำกัดอย่างแท้จริง ไม่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้ไม่ว่าด้วยวิธีใด เป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติมีเงินสดดิจิตอลที่มีอุปทานจำกัด ทำให้เรามีหน่วยเก็บรักษามูลค่าที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษยชาติได้ค้นพบมา
- เป็นระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง ไม่มีใครควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายของมันได้ จะไม่มีใครหน้าไหนสามารถผลิตเงินได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป
- เป็นเงินที่ไม่ต้องอาศัยหลักความเชื่อหรือศาสนาใด ๆ มาครอบงำทางความคิด
- เป็นเงินที่ไม่ต้องใช้อำนาจกฎหมายใด ๆ มาบังคับให้เราต้องใช้มัน
- เป็นเงินที่ให้เสรีภาพแก่ผู้คนในการทำธุรกรรมได้อย่างอิสระไร้ขอบเขต และมีต้นทุนต่ำมาก ๆ
- เป็นระบบการเงินที่ตัดตัวกลางออกไป ไม่จำเป็นต้องมีมือที่สามมาคอยสอดส่องดูแลและควบคุมระบบเพื่อกอบโกยส่วนต่าง
- เป็นเงินที่มีศักยภาพจะเข้ามาแทนที่ระบบการเงินที่ผูกขาด
- เป็นเงินที่มีความสามารถในการต่อต้านการยึด, การอายัดเงิน และการปิดกั้นในการใช้เงิน
- เป็นเงินที่ให้อธิปไตยทางการเงินส่วนบุคคล ทำให้อำนาจการต่อรองของรัฐต่อประชาชนจะน้อยลง
- เป็นสันติวิธีที่สุดในการใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับกลุ่มผู้มีอำนาจ
- เป็นเงินที่ไร้พรมแดนทำให้เราจะเลือกอยู่ที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความมหัศจรรย์ที่ ซาโตชิ นากาโมโต ได้ค้นพบระบบการเงินใหม่ไร้ศูนย์กลางที่มีศักยภาพครบถ้วนสามารถกลายมาเป็นระบบการเงินหลักของโลก และกำลังค่อย ๆ ท้าทายอำนาจระบบเงินเฟียตมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายแล้วมันจะสำเร็จหรือล้มเหลว “เวลา” จะเป็นเครื่องพิสูจน์
แต่ก็ใช่ว่าบิตคอยน์ในวันนี้จะมีแต่ข้อดีเสมอไป หากคุณอ่านบทความนี้แล้วเกิดสนใจอยากจะลงทุน คุณควรคำนึงถึงความเสี่ยงที่ตามมาด้วย เพราะบิตคอยน์แม้จะเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 10 กว่าปี แต่ก็ยังมีอนาคตอีกหลายสิบปีหรือหลักร้อยปีรอมันอยู่ ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับความผันผวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเงินเฟียต รวมถึงความไร้ศูนย์กลางของบิตคอยน์มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารหรือเก็บไว้ในตู้เซฟ เพื่อรักษาเงินของเราให้ปลอดภัยไม่ให้สูญหายและถูกขโมยได้ การลงทุนที่ดีที่สุดเกี่ยวกับบิตคอยน์ จึงหนีไม่พ้นการลงทุนในความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจ และเก็บรักษาทรัพย์สินของคุณเอาไว้ได้อย่างปลอดภัย
IN MATH WE TRUST.
https://thestatestimes.com/post/2021071707
https://anontawong.com/2016/12/18/sapiens-2/
https://www.wreathmala.com/พิธีงานศพ-ชาวคริสต์/
https://medium.com/@thaihumanities/toleration-a94152c6d58e
https://hmong.in.th/wiki/Religious_views_of_Thomas_Jefferson
http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AboutStudent/Document/Pol_Regime/USA/PolHist_3.pdf
The Peace of Augsburg in 1555 and decline of “the Christian International Society”
https://constitutioncenter.org/the-constitution/amendments/amendment-i
https://www.mtsu.edu/first-amendment/article/885/establishment-clause-separation-of-church-and-state
https://www.cambridge.org/core/books/abs/secular-states-religious-politics/paradoxes-of-the-secular-state/972F0F748C3440F455B6C8759E1BE41C#
สามัญสำนึก Common sense เขียนโดย Thomas Paine
https://www.youtube.com/watch?v=ci-7o-1aIBo